Advance search

คลองร้อยสาย

ชุมชนคลองน้อยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในด้านธรรมชาติรวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว และยังมีกิจกรรมภายในชุมชน เช่น การล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติ

หมู่ที่ 3
คลองน้อย
เมืองสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี
อบต.คลองน้อย โทร. 0-7792-6241
พรบุญญา อุไรเลิศ
20 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
คลองน้อย
คลองร้อยสาย

ชุมชนคลองน้อย เป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่คลองร้อยสาย หรือที่เรียกอีกอย่างว่า "ชุมชนในบาง" เพราะมีหลายคลองเชื่อมกัน แม่น้ำทุกสายจะไหลไปบรรจบกับ แม่น้ำตาปี เดิมมีชื่อว่า "ป่าเหล้า" เพราะในอดีตพื้นที่นี้มีป่าเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คลองน้อย"


ชุมชนชนบท

ชุมชนคลองน้อยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในด้านธรรมชาติรวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว และยังมีกิจกรรมภายในชุมชน เช่น การล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติ

หมู่ที่ 3
คลองน้อย
เมืองสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี
84000
9.161753189008877
99.25262091063772
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย

ชุมชนตำบลคลองน้อย แรกเริ่มชื่อว่า "ตำบลป่าเหล้า" โดยการตั้งชื่อตามเจ้าที่คือ พ่อตาเหล้า แม่ยายเศร้าสร้อย โดยเอาชื่อของตามาตั้งคือ พ่อตาเหล้า มาตั้งเป็นชื่อตำบลป่าเหล้า เพราะสภาพในตอนนั้นเป็นป่ามาก ตำบลป่าเหล้า สมัยนั้นมีการตั้งเป็นก๊กอั้งยี่ (เจ้าพ่อในปัจจุบัน) ที่คุ้มครองหมู่บ้านได้ และมีลูกบ้านเป็นสมาชิก  ถ้าหากใครเป็นสมาชิกจะมีที่ตักน้ำซึ่งเรียกว่า "หมาตักน้ำ" (ทำด้วยกาบหมาก) แขวนไว้ที่หน้าบ้านริมคลอง  และในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำบลป่าเหล้ามาเป็นตำบลคลองน้อย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน การตั้งถิ่นฐานมีขึ้นตั้งแต่ตอนไหนยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ชาวบ้านตำบลคลองน้อยมีทั้งคนพื้นเพดั้งเดิมและคนที่อพยพถิ่นฐานมาจากที่อื่น เช่น เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งภาษาพูดมีทั้งภาษากลางและภาษาท้องถิ่นของภาคใต้ โดยมีประเพณีดั้งเดิม คือ การทำบุญเดือนสิบ วันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันตรุษไทย การบวชนาค  

ปัจจุบันชุมชนคลองน้อยเริ่มมีการดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขึ้นในปี พ.ศ. 2549 โดยการสนับสนุนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ โดยชุมชนมีความตั้งใจที่จะสร้างความสามัคคีในการทำงานพัฒนา และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย กับชาวบ้านในตำบลคลองน้อย โดยเห็นคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น ของดีชุมชน และภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงการดำเนินวิถีชีวิตของตนเองอย่างภาคภูมิ ตลอดจนสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนคลองน้อย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ต่อไป

พื้นที่ชุมชนคลองน้อย ไม่มีทรัพยากรป่าไม้ น้ำตก ภูเขา และทะเล แต่จะมีพันธ์ุไม้ที่เจริญได้ดีในเขตน้ำกร่อย เช่น ต้นจาก ต้นลำพู และป่าโกงกาง ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่ชุมชนตำบลคลองน้อย คือ ดิน ในเขตพื้นที่ชุมชนตำบลคลองน้อย มีดินที่มีลักษณะคุณภาพสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก ซึ่งพื้นที่ในชุมชนคลองน้อยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ ตำบลบางโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ แม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน และตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ ตำบลบางไทร และตำบลบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ คลองพุนพิน อำเภอพุนพิน และตำบลบางโพธิ์  อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

จากข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2557 ระบุจํานวนครัวเรือนและประชากรชุมชนคลองน้อย จํานวน 156 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 577 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 284 คน หญิง 293 คน

  • กลุ่มผ้าบาติก ได้จัดตั้งกลุ่มผ้าบาติก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวของสมาชิก เมื่อยามว่างจากการทำสวน ปัจจุบันทางกลุ่มมีความเข็มแข็งสามารถสร้างรายได้ และจะสามารถให้นักท่องเที่ยว ลงมือปฏิบัติ ทำผ้าบาติก เป็นกิจกรรมที่ทำได้ด้วยตนเอง
    • กลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ได้นำกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นเศษวัสดุที่เหลือใช้จากมะพร้าว สามารถนำมาประดิษฐ์ เป็นงานศิลปะ  และของใช้ได้อย่างหลากหลาย เช่น โคมไฟ  กระบวยตักน้ำ ช้อน ซ้อม ทัพพี สามารถซื้อหาได้เป็นของขวัญ และของฝาก

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม 

  • ประเพณีชักพระ งานประเพณีชักพระทอดผ้าป่า ถือเป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมานับร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 การทอดผ้าป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 
  • วันรับส่งตายาย เดือนสิบ ประเพณีของชาวชุมชนคลองน้อยที่คำว่า ตายาย หมายถึง บุคคลที่ได้ล่วงลับไปนานแล้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของทุกคนไม่ว่าเราจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญของตัวเอง พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เป็นประเพณีที่เล่าต่อกันมาและเชื่อว่า ในวันวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปีเป็นวันที่บรรพบุรุษของเราได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยือนลูกหลานตนเองเรียกว่า "วันรับตายาย"

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

อาชีพหลักของคนในตำบลคลองน้อย คือ การทำสวนมะพร้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการปลูกมะพร้าวกันแทบทุกครัวเรือน รายได้หลักจึงมาจากมะพร้าวอาชีพรองของคนในตำบลคลองน้อย คือ การปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก พืชสำคัญที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร ได้แก่ กระท้อน มังคุด ส้มโอ มะนาว ชมพู่ทูนเกล้า กล้วย พืชผักต่าง ๆ และสวนปาล์มรับจ้าง ได้แก่รับจ้างทั่วไป และทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมนอกเขตพื้นที่ค้าขาย ได้แก่ ขายผัก ผลไม้ ขายของชำ ขายอาหาร เป็นต้น

  • นางละออง บัวแก้ว เป็นบุคคลสำคัญของชุมชนคลองน้อย  โดยเริ่มทำขนมขายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ด้วยการพายเรื่อขายตามแม่น้ำตาปี และลำคลองต่าง ๆ พอเลิกพายเรือขายขนมมาเปิดร้านขายของที่บ้านแทน จนกระทั่งเมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้วมีตลาดนัดเปิด คุณยายได้ขายขนมทุกวันที่มีตลาดนัด  ขนมที่คุณยายทำไปขายแต่ละครั้งจะมีมากถึง 10 ชนิด เช่น ขนมชั้น ข้าวเหนียวมูลหน้าต่าง ๆ  ขนมเปียกปูน ปลาแนม ข้าวต้มมัด จึงถือได้ว่าเป็นบุคคลที่สำคัญและอยู่คู่กับชุมชนมาช้านาน

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดบุญบันเทิง วัดนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2378 มีพระพุทธรูปหลวงปู่ซ่อนเป็นที่เคารพของชาวบ้าน และบริเวณท่าน้ำมีต้นไทรยืนต้นอายุกว่า 200 ปี ในอดีตเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวคลองน้อย ซึ่งชาวบ้านจะเอาอัฐิบรรพบุรุษฝากไว้บนต้นไทร ให้เทวดาคอยปกป้องรักษา และในช่วงเทศกาลบุญเดือนสิบของทุกปี ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ต้นไทรเพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภายในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่นโดยการสร้างงานกระจายรายได้ในชุมชน และมีการอนุรักษ์ส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่องเที่ยวของชุมชนเอง โดยการแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนกับนักท่องเที่ยว และพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

การท่องเที่ยวในปัจจุบันได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในแหล่งทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นได้รู้คุณค่า ตระหนักเห็นความสำคัญของทรัพยากรเพื่อพัฒนาไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรของท้องถิ่น

ชุมชนคลองน้อยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยให้นักท่องเที่ยวล่องเรือชมวิถีชีวิตของชาวคลองน้อยริมสองฝั่งคลอง และมีเแหล่งการเรียนรู้การทำประมงพื้นบ้านในลำคลองเขตอนุรักษ์ปลาเสือพ่นน้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมและให้อาหารปลาเสือพ้นน้ำให้ความเพลิดเพลินอีกรูปแบบหนึ่ง

พักผ่อนหย่อนใจในชุมชนคลองน้อย. (2556). จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก: http://homestayklongnoi.blogspot.com/2013/12/2.html.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2564). ตำบลคลองน้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก: https://xn--22cehaco3gb0etasham2az7ci5bmc7hj7av8frke8tf2c.

องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.klongnoi.go.th/travel_his.php.

อบต.คลองน้อย โทร. 0-7792-6241