
ชุมชนบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ชุมชนที่มีป่าชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และพืชพื้นบ้าน ยังมีการรักษาภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากของป่าและสร้างรายได้
ชื่อบ้านนางาม อาจมีที่มาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ดี ปลูกข้าวได้ดี มีผืนนาที่สวยงาม เนื่องจากดินที่อุดมสมบูรณ์
ชุมชนบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ชุมชนที่มีป่าชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และพืชพื้นบ้าน ยังมีการรักษาภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากของป่าและสร้างรายได้
บ้านนางาม มีประวัติการตั้งถิ่นฐานที่สืบเนื่องจากการอพยพของครอบครัวหรือกลุ่มเครือญาติจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะจากฝั่งประจันตคาม เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในเขตอำเภอวัฒนานคร ชื่อ "บ้านนางาม" ปรากฏในกลุ่มชุมชนที่เข้ามาพร้อมการตั้งวัดและเริ่มทำกิน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อมาในยุคสมัยใหม่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา) บ้านนางามได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการในระบบการปกครองท้องถิ่น กลายเป็นหมู่ที่ 3 ของตำบลท่าเกวียน และได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กับการก่อตั้งวัดนางามในปี พ.ศ. 2522 รวมถึงโรงเรียนบ้านนางาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน ภาพรวมของการตั้งถิ่นฐานจึงสะท้อนถึงการขยายตัวของชุมชนที่เติบโตจากการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ พึ่งพิงวิถีดั้งเดิมอย่างการเก็บหาของป่า
บ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับกับเนินเตี้ย โดยชุมชนบ้านนางาม มีป่าชุมชนบ้านนางามมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ จำนวนเนื้อที่ของป่าชุมชนทั้งหมด 1,890 ไร่ 0 งาน 11 ตารางวา โดยมีการกำหนดบริเวณให้เป็นบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เนื้อที่รวมประมาณ 1,140 ไร่ 0 งาน 22 ตาราง คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ป่าชุมชน และกำหนดบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ เนื้อที่รวมประมาณ 749 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ป่าชุมชน โดยบ้านนางาม ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเกวียน และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลห้วยโจด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอวัฒนานคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภออรัญประเทศ และอำเภอโคกสูง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเมืองสระแก้ว และอำเภอเมืองสระแก้ว
สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
อ่างศิลาศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับคลองหินสิ่ว มีลักษณะเป็นหินบริเวณรอบขอบอ่างศิลานั้นเป็นอ่างศิลาแลงขนาดใหญ่ มีเส้นรอบวงประมาณ 10 เมตร ลักษณะกลมได้สัดส่วนสวยงาม มีหลุมอีกประมาณ 7-8 หลุมซึ่งเป็นโพรงศิลาแลง บริเวณใกล้เคียงมีคลองหินศิลาแลง ที่มีลักษณะตัดหินศิลาแลงทำเป็นคลองชาวบ้านเรียกว่า "คลองหินสิ่ว" มีความยาวถึง 3,400 เมตร ลึก 1.50 เมตร เป็นคลองระบายน้ำ ในอ่างศิลาแลงมีโพรงศิลาจำนวนถึง 8 สายด้วยกัน สามารถทะลุถึงกันได้หมดทุกสาย
วัดนางาม ตั้งอยู่ที่บ้านนางาม หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
บ้านนางาม โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 3 บ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,067 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 532 คน ประชากรหญิง 535 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 311 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2568)
ประเพณีและงานประจำปี
เดือนเมษายน งานสรงน้ำผู้สูงอายุและสรงน้ำพระ (ประเพณีสงกรานต์และวันกตัญญู)
เดือนกรกฎาคม ประเพณีถวายเทียนพรรษา
เดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง
กิจกรรมการเก็บหาของป่า ที่ป่าชุมชนบ้านนางาม
ชุมชนบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีกิจกรรมการเก็บหาของป่า จากป่าชุมชนบ้านนางาม ซึ่งสามารถเก็บหาของป่าได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงเดือนที่มีการเก็บหาพืชมากที่สุด คือ เดือนกันยายน เช่น กระชายป่า กลอย ต่างไก่ และบักคัดลิ้น เป็นต้น รองลงมาคือ เดือนพฤษภาคม และ เดือนสิงหาคม เช่น ตูมกา กระโดน ชะเอม และกำลังเสือโคร่ง ช่วงเดือนที่มีการเก็บหาเห็ดมากที่สุด คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ซึ่งสามารถเก็บหาได้ทุกชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดผึ้ง และเห็ดตีนต่ำ เป็นต้น และการเก็บหาผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ไข่มดแดง และผึ้ง มีการเก็บหาในช่วงเดือน เมษายน
1.นายธวัช ลาสร้อย ผู้รู้ด้านการใช้ประโยชน์จากป่า
2.นายหนูกาฬ เลื่อมใส ผู้รู้ด้านสมุนไพรและการใช้ประโยชน์จากป่า
ทุนกายภาพ
บ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อ้างอิงจากงานวิจัยที่ทำการวางแปลงสำรวจพรรณไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านนางาม พบว่า จากการวางแปลงตัวอย่างพรรณไม้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านนางาม จำนวน 66 แปลง ผลการศึกษาพบไม้ใหญ่ทั้งหมด 2,064 ต้น 82 ชนิด 64 สกุล จาก 34 วงศ์ โดยวงศ์ถั่ว (FABACEAE) พบมากที่สุดจำนวน 17 ชนิด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของป่าชุมชนบ้านนางาม
ทุนภูมิปัญญา
การใช้ประโยชน์จากของป่า
- อาหาร ชุมชนบ้านนางามมีวิธีการใช้ประโยชน์จากการนำพืช เห็ด และสัตว์มาเป็นอาหารหลากหลายรูปแบบรายละเอียดดังนี้
พืชอาหาร สามารถนำมาใช้รับประทาน ได้แก่ ผักสำหรับทานเคียงกับน้ำพริก ซึ่งลักษณะน้ำพริกที่พบจากการสัมภาษณ์ แจ่วปลาร้า เช่น ผักสาบ รับประทานใบอ่อน และ ผล ลวกทานคู่แจ่วปลาร้า เอื้อง รับประทานต้นอ่อน ลวกทานคู่กับแจ่วปลาร้า อีหล่ำ รับประทานใบอ่อน ทานสดไม่ผ่านกระบวนการคู่กับป่นปลา ผักสะเดา นำไปต้มทานคู่น้ำปลาหวาน เป็นต้น ผักสำหรับนำไปแกงป่า โดยวิธีทำเครื่องแกง เป็นการตำหอม พริก กระเทียม ต้มรวมกันกับเนื้อสัตว์ เห็ด ไข่มดแดง ใส่ใบแมงลักให้กลิ่นหอมและใส่ผักติ้วหรือส้มป่อยเพื่อให้ความเปรี้ยว เช่น อีรอก รับประทานดอกและใบ โดยก่อนนำไปแกง ให้ปอกเปลือกและต้มน้ำสะอาดลวกอีรอก ทิ้งก่อน 1 ครั้ง เพื่อล้างความคันของผักอีรอกจากนั้นนำไปแกง กระเจียวขาว รับประทานดอก นิยมนำไปแกง ใส่เนื้อไก่ พืชที่ทานเป็นผลไม้ เช่น ข่อย คอมส้ม และ เป้ง เป็นต้น พืชที่ทานแก้กระหาย ได้แก่ กอกกัน และเหมือดแอ พืชที่เป็นของทานเล่น เช่น กระบก มะค่าแต้ และแดง ยกตัวอย่างเช่น ข่อย รับประทานผลสุก บักคอมรับประทานลูกอ่อน หมากหาดรับประทานผลสุก เป็นต้น พืชที่นำมาทำขนมหวาน ได้แก่ กลอย โดยการนำไปแช่น้ำเกลือและแช่น้ำสะอาดให้จืด จากนั้นนำไปนึงคลุกน้ำตาลและมะพร้าวเป็นขนมมันกลอย มันนก เป็นการบวชมันนกโดยการนำไปต้มกับกะทิและน้ำตาล พืชที่นำไปทำแป้งทำขนม ได้แก่ หนวดแมว และพืชสำหรับนำไปทำส้มตำ ได้แก่ หมากเม่า
เห็ด โดยมีวิธีการนำมาเห็ดมาเป็นอาหารหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การแกง นำไปทำแกงโดยการตำ หอม พริก กระเทียม เป็นเครื่องแกง ใส่ใบแมงลัก ต้มรวมกันกับเนื้อสัตว์ เห็ด ไข่มดแดง และใส่ผักติ้วหรือส้มป่อยเพื่อให้ความเปรี้ยว เช่น เห็ดตีนต่ำ เห็ดน้ำหมาก เห็ดปลวก เห็ดผึ้ง และเห็ดเผาะเป็นต้น นำไปผัด โดยการผัดกับน้ำมันหอย เช่น เห็ดตีนต่ำ เห็ดเผาะ และเห็ดมันปู เป็นต้น เห็ดสำหรับการย่าง ได้แก่ เห็ดหำฟานโดยวิธีการลอกเปลือกแล้วนำไปย่างกับเกลือ เห็ดสำหรับตำป่น หรือการนำไปทำน้ำพริก โดยมีวิธีการดังนี้ นำเห็ดไปตำจนละเอียดแล้วปรุงรสทานคู่กับผัก เห็ดที่ใช้ได้แก่ เห็ดโคลน
สัตว์ มีวิธีการนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ นำไปแกง โดยการตำ หอม พริก กระเทียม เป็นเครื่องแกง ใส่ใบแมงลัก ต้มรวมกันกับเนื้อสัตว์ เห็ด ไข่มดแดง และใส่ผักติ้วหรือส้มป่อยเพื่อให้ความเปรี้ยว ได้แก่ ไข่มดแดง และการดองนำ น้ำผึ้ง ไปดองกับบอระเพ็ด
- เชื้อเพลิง จากการสำรวจพบว่ามีวิธีการนำมาใช้ประโยชน์ 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำขี้ใต้ สำหรับจุดไฟ จาก กกสะแบง โดยมีวิธีการดังนี้ ทำให้ลำต้นเกิดแผลเป็นโพรง ขนาดประมาณ 4 นิ้ว ไฟเผาทำให้เกิดน้ำยางแล้วนำมาผสมกับไม้ผุ จากนั้นนำมาอัดเป็นก้อน ไม้สำหรับทำฟืน เช่น คูน แดง ต้นแก ทม อะรางและประดู่ เป็นต้น
- พิษต่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากการสำรวจมีการใช้ประโยชน์จาก เครือหนามหัน ใช้สำหรับเบื่อปลา
- พิษต่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จากการสำรวจพบว่ามีการใช้ประโยชน์จาก ไม้คูน นำไปแช่น้ำใช้กำจัดหอยเชอรี่ ผักขี้หนอน ขยี้ส่วนใบใส่ในปลาร้า ใช้กำจัดหนอนในปลาร้า สะเดาป่า นำไปหมักกับน้ำใช้กำจัดแมลง
- ยารักษาโรค มีการใช้ประโยชน์จากพืชเป็นยารักษาโรคหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ ต้มแก้เบาหวาน ได้แก่ ต่างไก่ บอระเพ็ด และหนามเล็บแมว เป็นต้น ต้มแก้ความดันโลหิต ได้แก่ ปอแดง อีทก และรากสามสิบ เป็นต้น ต้มเป็นยาระบาย เช่น ขี้เหล็กป่า สะเดาป่า และคูน เป็นต้น ต้มอาบรักษาผื่นในเด็ก เช่น ปอพราน และหญ้าระงับเป็นต้น
- วัสดุ จากการสำรวจพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากพืชเป็นวัสดุหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ใช้ทำเชือก ไถนา นำลำต้น แช่น้ำ 7 วัน จากนั้นนำมาทุบแล้วลอกเปลือกออกเป็นเส้น ตากแดดให้แห้ง 3 วัน เช่น เครือสัมพันธ์ และปอแดง เป็นต้น พืชให้สีสำหรับย้อมแห ได้แก่ กระโดน กอกกัน และทม เป็นต้น พืชที่นำไปใช้เป็นลูกกระสุน สำหรับปืนไม้ไผ่ เช่น บักคอม และคอมส้ม เป็นต้น
- สังคม จากการสำรวจพบพืชที่ใช้เพื่อจุดประสงค์ทางสังคม ดังนี้ ยาเคี้ยวใช้เคี้ยวกับหมาก เช่น อะราง หมากหาด และพะยอม เป็นต้น ไม้มงคลใช้ในพิธีขึ้นบ้านใหม่และใส่ยุ่งข้าว ได้แก่ ยอป่า และคูน เป็นต้น
- สารเติมแต่งอาหาร จากการสำรวจพบพืชที่ใช้แต่งรสชาติในอาหาร ดังนี้ สารแต่งรสเปรี้ยว เช่น ติ้วและมะกอกป่า เป็นต้น สารแต่งรสหวาน ได้แก่ ชะเอม สารแต่งรสเผ็ดร้อน ดับกลิ่นคาว สำหรับทำเครื่องแกง ได้แก่ กระชายป่า สารแก้รสฝาด ของผลอ่อนแตงไทย ได้แก่ อะราง
- สิ่งแวดล้อม จากการสำรวจพบการใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ไม้ประดับ เช่น ตะแบก บัวบก และปรง เป็นต้น ไม้ดัดสวยงาม ได้แก่ ข่อย
- อาหารสัตว์ จากการสำรวจมีการใช้ประโยชน์จากพืชเป็นอาหารสัตว์ ดังนี้ อาหารสัตว์ เช่น กระบก และบักคอม เป็นต้น อาหารนก เช่น กอกกัน และข่อยเป็นต้น อาหารวัว ได้แก่ เพ็ก
ทุนมนุษย์
- นายธวัช ลาสร้อย ผู้รู้ด้านการใช้ประโยชน์จากป่า
- นายหนูกาฬ เลื่อมใส ผู้รู้ด้านสมุนไพรและการใช้ประโยชน์จากป่า
ชาวบ้านในพื้นที่บ้านนางาม ใช้ภาษาอีสาน ในครัวเรือนและในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทย เป็นภาษาหลักในการสื่อสารทั้งในชีวิตประจำวันและติดต่อทางราชการ
จากที่มีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พบว่าการเก็บหาของป่าเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทรัพยากรที่สร้างมูลค่าสูงสุดคือเห็ดป่า โดยเฉพาะเห็ดระโงก และเห็ดปลวก ในส่วนของพืชป่าที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ อีรอก และกลอย ขณะที่สัตว์ป่าที่สร้างรายได้สูงสุดคือไข่มดแดง ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของครัวเรือน และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ป่าและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าอีกด้วย
กรมการปกครอง. (2567). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2568. https://stat.bora.dopa.go.th
ชนิตา กลึงสำโรง. (2567). ความหลากหลายและการกักเก็บคาร์บอนของพรรณไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านนางาน ตำบลหนองแวง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ญาณิศา ลาภลิขิต. (2567). การใช้ประโยชน์และการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์จากป่าชุมชนบ้านนางาม ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). ตำนานพื้นบ้าน : อ่างศิลาศักดิ์สิทธิ์. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน2568. http://www.m-culture.in.th
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเกวียน. (ม.ป.ป). ข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน2568. https://www.thakwian.go.th