ชุมชนชาติพันธุ์จามที่อพยพมาจากประเทศกัมพูชา และยังเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้าไหม
การเคหะสถานแห่งชาติ เข้ามาจัดทำเรื่องโครงการพัฒนาปรับปรุงชุมชนแออัด โดยเลือกชุมชนบ้านครัวเป็นตัวอย่างในการดูแล ช่วงปี พ.ศ. 2521 มีการแบ่งชุมชนออกเป็น 3 ชุมชน เพื่อให้ง่ายในการจัดการดูแล จึงแบ่งเป็นชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวใต้ และชุมชนบ้านครัวตะวันตก เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านครัวเหนือ"
ชุมชนชาติพันธุ์จามที่อพยพมาจากประเทศกัมพูชา และยังเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้าไหม
ชุมชนบ้านครัวเหนือ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาจากเมืองกำปงจามประเทศกัมพูชา ตั้งแต่สมัยอยุธยาก่อนที่จะเข้าร่วมรบในสมัยสงครามเก้าทัพในนาม “กองอาสาจาม” จนได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 เพื่อตั้งครัวเรือนบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไท ปทุมวัน - ราชเทวี ริมคลองแสนแสบโดยมีปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีเเขกอีกพวกหนึ่ง ซึ่งปรากฏในกฎมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าว่า อาสาจามมีพระยาราชวังสันเป็นจางวางอาสาจามซ้ายขวาถือศักดินา 2000 หลวงวิสุทธรยาปลัด จางวางซ้ายขวาถือศักดินา 800 หลวงสรรเสนีเจ้ากรมอาสาจามขวา ถือศักดินา 1600 และมีขุนเขมฤทธิ์ไกร ขุนไชยภักดีขุนไชยเสนี หลวงศรีมหาราชา ขุนรามเดช ขุนนเรนทรภักดี ขุนพรเสนี หลวงรักษามาณ ขุนวิสุทธสงคราม และเกี่ยวกับเรื่องแขกอาสาจามนี้ได้มีปรากฏในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพว่า "เมืองเขมรหรืออีกนามหนึ่งว่า กรุงกัมพูชา เดิมทีเป็นเมืองขอมหลวงมีอำนาจมากและอาณาเขตกว้างขวางในสมัยโบราณ แต่อำนาจลดน้อยลงโดยลำดับมา จนเมื่อไทยมาตั้งเป็นใหญ่ได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายอาณาเขตรุกแดนกัมพูชาลงไปจากภาคเหนือทางหนึ่ง แว่นแคว้นกัมพูชา ซึ่งอยู่ทางริมทะเลตั้งแต่ปากน้ำโขงไปทางทิศตะวันออกเกิดเป็นประเทศอิสระขึ้นอีกประเทศหนึ่งเรียกว่า จัมปาประเทศ ตามตำนานที่เพิ่งจะรู้ได้ ไพร่พลเมืองจำปานี้ปะปนกันหลายชาติเป็นพวกขอมเดิมบ้าง เชื้อสายแขกอินเดียที่มาอยู่ในเมืองขอมบ้าง พวกมาลายูข้ามทะเลมาอยู่บ้าง เมื่อการสั่งสอนศาสนาอิสลามแพร่หลายมาทางประเทศเหล่านี้ชาวเมืองจัมปาโดยมากเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม บุคคลที่เราเรียกว่า แขกจาม คือเมืองจัมปา เมืองจัมปายังเป็นอิสระมาจนในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยาได้พบหนังสือจดหมายเหตุฝรั่งแต่งไว้ว่ามีทูตจำปาเข้ามากรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น”
ในหนังสือความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยได้กล่าวไว้ว่า
“ในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดสงครามกับเมืองปัตตานี ไทยได้ยกทัพไปปราบเมื่อ พ.ศ. 2329 การสงครามติดพันกันหลายครั้ง ไทยได้อพยพชาวปักษ์ใต้มาไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น สี่แยกบ้านแขกในจังหวัดธนบุรี ทุ่งครุในอำเภอพระประแดง ท่าอิฐในจังหวัดนนทบุรี บางคอแหลม มหานาค คลองตัน เมืองมิน หนองจอก และตามริมคลองในจังหวัดพระนคร นอกจากนี้ ยังมีพวกเชื้อสายแขกจามที่บ้านครัว แต่ก่อนเรียกว่า อาสาจาม ซึ่งผู้สูงอายุพูดภาษาเขมรเช่นเดียวกับผู้ที่สูงอายุตามตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวพูดภาษามาลายู”
ในหนังสือคติชนชาวบ้านของนายประมวญ คิดคินสัน ได้กล่าวถึงชาวมุสลิมกลุ่มนี้ว่า
“ชาวมุสลิมอีกพวกหนึ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยจากกัมพูชา ชาวมุสลิมเหล่านี้เป็นเจ้าของถิ่นอยู่ในอาณาจักรจามปา ภายหลังได้เสียอาณาจักรให้แก่ชาวอานัมใน ค.ศ. 1471 ชาวจามปาจึงหนีเข้าไปอยู่ในเขตเขมรบ้าง ชวา หรือมะละกาบ้าง ซึ่งชาวมุสลิมที่อพยพเข้าไปอยู่ในเขตเขมรหรือกัมพูชานั้นได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวกำปงธมและกำปงชะนี ใกล้ ๆ กับแม่น้ำโขงเมื่อต้นคริศต์ตวรรษที่ 19 ชาวจามมุสลิมกลุ่มเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้ตั้งบ้านเมืองอยู่แถว ๆ ตลาดเจริญผลใกล้ ๆ กับสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน ชาวมุสลิมแห่งอาณาจักรจามปาเหล่านี้เดิมเรียกกันว่า แขกครัว มีความสามารถในการทอผ้าไหม ดังนั้นเมื่อ จิม ทอมสัน แนะนำให้โลกรู้จักผ้าไหมไทยอย่างแพร่หลาย จึงได้อาศัยฝีมือของชาวบ้านครัวแห่งนี้”
นอกจากนี้ ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านครัวเหนือ ได้มีปรากฏในรายงานความเป็นมาของชุมชนบ้านครัวและวัดพระยายัง ซึ่งเป็นคำกราบบังคมทูลของคณะกรรมการชุมนุม ความว่า
เมื่อประมาณ 200 ปีเศษ ชุมชนสองแห่งนี้เรียกว่า หมู่บ้านอาสาจาม อพยพมาจากประเทศเขมรมาทำการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเลียบคลองมหานาค เขตพญาไท รวมด้วยกัน 4 กลุ่ม และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน คือกลุ่มที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเรียกว่า พุมมะเปรียง กลุ่มที่อยู่ทางทิศตะวันตกเรียกว่า เปรมสล๊อก กลุ่มที่อยู่ตรงกลางเรียกว่า พุมมะปรางค์ และอีกกลุ่มหนึ่งข้ามคลองไปอยู่ฝั่งใต้เขตปทุมวันเรียกว่า พุมมะเปรย แต่ครั้งก่อนนั้นชุมชนดังกล่าวได้อยู่ในตำบลประแจจีนปัจจุบัน คือตำบลถนนเพชรบุรี ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ในการประกอบอาชีพมักจะทำการทอผ้าไหมและยังมีความชำนาญในเรื่องของการเดินเรือ ช่างตีดาบ ย้อมผ้า และทอดแหจับปลา ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์เกิดศึกสงครามพม่ายาตราทัพ แยกย้ายเข้าตีหัวเมืองต่าง ๆ ถึง 9 ทัพ ชุมชนแออัดแห่งนี้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแห่งกรุงสยาม จึงพร้อมใจกันอาสาสมัครเข้าทำการรบจนได้รับชัยชนะ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินนอกคูเมืองให้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ฝังศพของชาวไทยมุสลิม ตราบจนถึงปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของชุมชนบ้านครัวเหนือ
ก่อนที่การเคหะแห่งชาติจะเข้ามาทำการดำเนินการปรับปรุงมีสภาพทรุดโทรม ประชาชนได้รับความลำบากเนื่องจากการขาดแคลนด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ที่ถูกคุณลักษณะ เช่น ทางเดินเท้าชำรุด ไม่มีทางระบายน้ำ ไม่มีระบบกำจัดมูลฝอย ระบบไฟฟ้า และระบบประปาไม่ทั่วถึง จนกระทั่งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 การเคหะแห่งชาติได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการปรับปรุงชุมชนแห่งนี้เป็นที่แรก และทำการร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง จัดให้มีระบบประปาทั่วชุมชน
ลักษณะพื้นที่ของชุมชนบ้านครัวเหนือ
ปัจจุบันยาวขนานไปตามชายฝั่งคลองมหานาคทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ชาวบ้านสามารถติดต่อกับชุมชนภายนอกได้อย่างสะดวก ชุมชนมีจำนวนหลังคาเรือน 623 หลัง บ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น ปลูกกันอยู่หนาแน่น อีกทั้งมีทางเดินกว้างประมาณ 70 เมตร เชื่อมติดต่อกัน เมื่อสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้นจะแบ่งพื้นที่ให้สร้างบ้าน ทำให้ที่ดินมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพื้นที่มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถขยายออกไปได้อีก จนทำให้เกิดความแออัด
ประชากร ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านครัวเหนือร้อยละ 70 เป็นไทยมุสลิม ซึ่งประกอบด้วย
(1) ไทยมุสลิมรุ่นเก่าและไทยมุสลิมรุ่นใหม่
(2) กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน และ
(3) กลุ่มคนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การทอผ้าไหม
การทอผ้าไหมของชุมชนแห่งนี้ในยุคแรกจะทอเป็นผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ต่อมาเมื่อ จิม ทอมป์สัน ได้เข้ามาประกอบธุรกิจผ้าไหมส่งออกไปต่างประเทศ ก็ได้ช่วยพัฒนาปรับปรุงออกแบบลวดลายสีสันและใช้ฝีมือการทอจากชาวชุมชนเป็นหลักซึ่งจุดเด่นของผ้าไหมของชุมชนแห่งนี้ก็คือเนื้อผ้าจะมีคุณภาพสูง เส้นไหมจะเนื้อแน่นละเอียด สีจะสดสวย ใช้งานคงทนเป็นที่ถูกอกถูกใจและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดงในภาพยนตร์ยิ่งใหญ่อย่า “เบนเฮอร์” รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง โรเบิร์ด เคเนตี้ ก็ยังให้ความสนใจ จึงทำให้อาชีพทอผ้าไหมในสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก
เมื่อปี พ.ศ.2510 เหตุการณ์การหายตัวของ จิม ทอมป์สัน ที่ประเทสมาเลเซีย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก หลายครอบครัวหันไปประกอบอาชีพอื่นประกอบกับสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ในปัจจุบันนี้เหลือครัวเรือนอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ยังคงยึดอาชีพการทอผ้าไหม เนื่องจากขั้นตอนการเตรียมเส้นไหมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการทอสำเร็จเป็นผืนผ้าต้องอาศัยความชำนาญ ความอดทน และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก
อย่างไรก็ดีการทอผ้าไหมของชาว ชุมชนบ้านครัวเหนือ ยังคงคุณภาพความงดงาม และยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการคิดลายผ้าที่สวยงาม และเน้นเรื่องการใช้สีสันมากกว่าที่อื่น อาทิ ผ้าไหมฟูก ผ้าสายฝน ผ้าลายน้ำ ผ้าดิ้นฟูก ลายสายรุ้ง และลายหินอ่อน ล้วนแต่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้งานผ้าไหมทอของชุมชนแห่งนี้ดูแปลกตากว่าใคร
ภูมิปัญญาการทำผ้าทอ
อาชีพทอผ้าไหมเป็นอาชีพดั้งเดิมของผู้หญิงบ้านครัว ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ที่เขมร เมื่อถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากริมคลองมหานาคในรัชกาลที่ 3 มีการประกอบอาชีพดั้งเดิม จึงเกิดเป็นกิจการทอผ้าไหม ส่วนผู้ชายถึงแม้จะถนัดการเดินเรือแต่ยังมีส่วนร่วมในกิจการผ้าไหม เช่น ย้อมไหม, กระทบไหม รวมทั้งออกไปหาวัตถุดิบ และนำผ้าไหมไปขายต่างถิ่น ทั้งในเมืองไทยและประเทศใกล้เคียง
ในอดีตชาวบ้านบ้านครัวจะทอผ้าไหมกันทุกบ้าน ผ้าไหมบ้านครัวได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีและเป็นที่นิยม ซึ่งขั้นตอนการทำผ้าไหมในอดีตนั้นจะเริ่มด้วยการนำไหมดิบมาย้อมในหม้อต้ม โดยผสมขี้เถ้าจากไม้แสมแทนด่างจนสะอาด จากนั้นจึงบิดให้แห้งแล้วย้อมสีธรรมชาติก่อนเริ่มกระบวนการทอ สมัยนั้นแรงงานจะเป็นแรงงานภายในทั้งหมด กิจการทอผ้าไหมของบ้านครัวรุ่งเรืองสุดขีดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2510
โดย จิม ทอมสัน ซึ่งเป็นคนอเมริกันได้เข้ามาส่งเสริมธุรกิจทอผ้าไหม ทั้งการแนะนำเรื่องสี การกำหนดลาย การใช้กี่กระตุก และการให้ชาวบ้านร่วมหุ้นในรูปแบบบริษัท ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานภายนอกจากอีสานอพยพเข้ามา หลังจากการหายตัวไปของจิม ทอมสัน ธุรกิจนี้ได้ซบเซาลง และบริษัทของจิมทอมสันตั้งโรงงานเป็นของตนเอง รวมทั้งมีการกำหนดคุณภาพงานที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับภาวะค่าเงินและราคาวัตถุดิบ ทำให้ชาวบ้านหลายรายเลิกกิจการทอผ้าไหม ซึ่งจากช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบันยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทอผ้าไหมโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน และนำเข้าไหมจากประเทศญี่ปุ่น จีน บราซิล นอกเหนือจากไหมจากภาคอีสาน และประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการทอผ้าไหมบางส่วน เช่น สอยผ้าไหม และกรอไหม เป็นต้น
ชาวไทยมุสลิมรุ่นเก่าส่วนมากพูดภาษาเขมรได้ และนิยมพูดภาษาเขมรระหว่างคนมีอายุด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อไม่ต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ตนเองสนทนา ด้วยเหตุที่คนมุสลิมเชื้อสายแขกจามที่บ้านครัวเหนือมีบรรพบุรุษที่อพยพจากเวียดนามเข้าไปอยู่ในกัมพูชา และผสมกลมกลืนกับคนเขมรจึงใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาพูด คนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ที่บ้านครัวเหนือ กล่าวว่าทราบภาษาจามแต่พูดไม่ได้ และไทยมุสลิมรุ่นใหม่ไม่รู้ภาษาเขมรเช่นกัน แต่จะเรียนภาษาอาหรับเพื่ออ่านพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน
นอกจากนี้สำหรับกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนพูดภาษาไทยและภาษาจีนกันในครอบครัว บางคนพูดเขมรได้ ส่วนคนอีสานจะใช้ภาษาถิ่นภายในครอบครัว และกับคนอีสานด้วยกัน มีบางครอบครัวที่มีลูกเกิดในกรุงเทพฯ ก็อาจพูดภาษาถิ่นและภาษากลางกับลูก
การเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐและชุมชนเรื่องการตัดทางด่วนผ่านชุมชนบ้านครัว
ในปี พ.ศ. 2530 ได้เกิดประเด็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชนชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวพยายามที่จะคัดค้านโครงการสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ - บางโคล่ เนื่องจากการดำเนินโครงการทางพิเศษนี้ทำให้มีชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดินและต้องทำการย้ายออกจากพื้นที่อยู่อาศัยกว่า 800 หลังคาเรือน ซึ่งนี่คือฉนวนของปัญหา เนื่องจากชาวบ้านได้มีการอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่บ้านครัวมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 200 ปี ทำให้ชาวบ้านมีความผูกพันกับที่ตั้งของชุมชนเป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวต้องทำการลุกขึ้นสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างถนนและเวนคืนที่ดิน การต่อสู้ระหว่างรัฐและชุมชนเกิดขึ้นเป็นเวลานาน มีการทำประชาพิจารณ์ที่ถือเป็นกรณีศึกษาในการทำประชาพิจารณ์ของเมืองไทย มีการนำข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจ ผังเมือง ประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับข้อมูลของรัฐมาหักล้างกัน ซึ่งแน่นอนว่าชุมชนต้องเผชิญกับความกดดันเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยขณะนั้น (รวมถึงปัจจุบัน) กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องการจราจรเป็นอย่างมาก คนส่วนใหญ่คิดว่าการมีทางด่วนจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เป็นเหตุให้ชุมชนถูกมองว่าขัดขวางประโยชน์ของส่วนรวมอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยง แต่เมื่อหักล้างข้อมูลกันแล้ว ในที่สุดคณะกรรมการจึงประกาศยุติการก่อสร้าง ถือเป็นชัยชนะของชุมชนบ้านครัวที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน
การทอผ้าไหมเฟื่องฟูมากในยุคที่จิม ทอมสันเข้ามามาสนับสนุน ซึ่งกิจการทอผ้าไหม ทำให้มีธุรกิจอย่างอื่นเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างงานในชุมชน เช่น การย้อมไหม ลงแป้งไหม กรอไหมยืนและไหมพุ่ง การเก็บตะกอและขึ้นหัวม้วน การทอผ้า และการรับจ้างสอยผ้าไหมแบบต่าง ๆ แต่เมื่อจิมทอมสันหายสาบสูญไป ธุรกิจจึงเริ่มมีอุปสรรคและความซบเซามากขึ้น จนส่วนใหญ่ต้องเลิกกิจการ ผู้ที่เลิกกิจการได้หันไปทำธุรกิจบ้านเช่าแทน โดยให้คนอีสานและนักศึกษาเช่า นอกจากนั้น คนในชุมชนยังทำอาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ รับจ้าง ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ และขับแท็กซี่ เป็นต้น ฉะนั้นกิจการทอไหมในบ้านครัวยังดำเนินอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชน
เหตุการณ์ไฟไหม้
ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 ชุมชนบ้านครัวเหนือได้ประสบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ จากการสืบสวนของทางตำรวจทราบว่าบ้านต้นเพลิงเป็นบ้านเช่าที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ เนื่องจากสภาพบ้านโดยทั่วไปของชาวบ้านมักเป็นบ้านไม้ที่ปลูกติดกันหลายหลัง เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จึงทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 10 หลังคาเรือน เป็นเหตุให้มีชาวบ้านหลายครัวเรือนต้องย้ายออกจากพื้นที่
การเกิดโรคระบาด covid-19
เป็นครั้งแรกที่ชาวชุมชนบ้านครัวเหนือ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีการละหมาดศพมากที่สุดในรอบหลายสิบปี เสียงสวดวิงวอนอัลลอฮ์ให้คุ้มครองคุ้มภัยตามหลักของศาสนาอิสลาม หรือการขอดุอาอ์ ถูกสวดถี่อย่างไม่มีเคยมีมาก่อน ชาวบ้านกว่า 500 ชีวิตในชุมชนได้กลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านต้องคอยช่วยเหลือกันเองเพียงในชุมชน
การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมวัฒนธรรมในชุมชนบ้านครัวเหนือ อยู่ในระดับที่ไม่รวดเร็วนัก เพราะลักษณะวัฒนธรรมมุสลิมที่ใช้หลักศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด เช่น ความสัมพันธ์ของกลุ่มเครือญาติ ขณะเดียวกันชาวชุมชนพร้อมจะปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสังคมภายนอกและมีสำนึกร่วมของความเป็นไทย ซึ่งเห็นได้จากการมีส่วนร่วมและสำนึกทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การลดบทบาทของอาชีพทอไหมของชุมชนทำให้ชาวบ้านต้องประกอบอาชีพอื่นเพื่อดำรงชีวิตอยู่ คืออาชีพการทำบ้านเช่า บ้านหลังใหญ่ที่เคยเป็นโรงงานทอผ้าได้แบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ให้คนอีสาน นักเรียน นักศึกษาเช่า ปัจจุบันชุมชนบ้านครัวเหนือจึงไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษแขกจาม แต่ยังมีกลุ่มเชื้อชาติอื่นที่เข้าไปอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยอีสาน, คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยจากภาคอื่น ๆ นอกจากนั้น เด็กรุ่นหลังที่มีโอกาสเรียนหนังสือจะไปประกอบอาชีพอื่นนอกชุมชนที่รายได้มั่นคง เมื่อคนรุ่นพ่อแม่หมดไป กิจการผ้าไหมคงจะหมดลงด้วยเช่นกัน
การร่วมมือกันระหว่างกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัวและสถาบันอาศรมศิลป์ ปี พ.ศ. 2562
จากการพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นผลให้วัฒนธรรมและวิธีดั่งเดิมของชุมชนบ้านครัวและชุมชนบ้านครัวเหนือเริ่มหายไป ทำให้ชาวบ้านในกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัวต้องลุกขึ้นมาฟื้นฟูและอนุรักษ์ชุมชนบ้านครัวให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และได้รับความร่วมมือจากสถาบันอาศรมศิลป์และงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งโครงการนี้ได้มีการปรับปรุงชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อที่จะต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านครัว โดยมีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะรวมไปถึงบ้านพักอาศัยในชุมชน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้สะพานให้กลายเป็นแกลเลอรีชุมชน โดยทางชุมชนเชื่อว่าเมื่อเกิดการพัฒนาพื้นที่แล้วจะช่วยส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนริมคลองกลับมาอีกครั้ง
เสาวภา พรสิริพงษ์ และคณะ. (2532). การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับชุมชนบ้านครัวเหนือ (บ้านแขกครัว) กรณีศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail.php?id=45.
ทีมข่าวอาชญากรรม. (2563). ไฟไหม้ชุมชนบ้านครัวเหนือย่านราชเทวี วอด 10 หลัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก https://mgronline.com/crime/detail/9630000002795.
บ้านครัวเหนือพื้นที่สีแดงใจกลางกรุงที่ยังถูกลืม. [วีดิทัศน์]. (2564, 5 สิงหาคม). กรุงเทพฯ: The Momentum.
Vanida Toonpirom. (2565). “ชุมชนบ้านครัว”เสน่ห์ชุมชนที่ยังมีลมหายใจท่ามกกลางกรอบแห่งการพัฒนาเมือง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566, จาก http://gotomanager.com/content/118053/.