Advance search

สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายท่ามกลางขุนเขาที่ บ้านแม่กลองคี จังหวัดตาก หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ วัฒนธรรมเข้มแข็ง และมิตรภาพอบอุ่น

หมู่ที่ 3
แม่กลองคี
โมโกร
อุ้มผาง
ตาก
อบต.โมโกร โทร. 0 5503 0540
ญาณิศา ลาภลิขิต
20 มิ.ย. 2025
ปัญญา ไวยบุญญา
14 ก.ค. 2025
วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
30 มิ.ย. 2025
แม่กลองคี

แม่กลองคี เพี้ยนมาจากคำว่า "แหมะกลองค" (ภาษากะเหรี่ยง) หมายความว่า บ้านหาดทรายต้นน้ำที่เป็นสนามรบ ("แหมะ" คือ หาดทราย "กลอง" คือ การต่อสู้ "คี" คือ ต้นน้ำ) เหตุที่มาของชื่อ เนื่องมาจากบริเวณหมู่บ้านเมื่อก่อน มีหาดทรายกว้างซึ่งเป็นสนามต่อสู้ของชาวบ้านกับโจร และคนต่างชาติพันธ์ุที่รุกราน


สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายท่ามกลางขุนเขาที่ บ้านแม่กลองคี จังหวัดตาก หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ วัฒนธรรมเข้มแข็ง และมิตรภาพอบอุ่น

แม่กลองคี
หมู่ที่ 3
โมโกร
อุ้มผาง
ตาก
63170
16.22831663
98.92298117
องค์การบริหารส่วนตำบลโมโกร

แม่กลองคี เพี้ยนมาจากคำว่าแหมะกลองคี ในภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งมีความหมายว่า บ้านหาดทรายต้นน้ำที่เป็นสนามรบ (แหมะ คือ หาดทราย, กลอง คือ การต่อสู้, คี คือต้นน้ำ) สาเหตุของชื่อ เนื่องมาจากบริเวณหมู่บ้านเมื่อก่อนมีหาดทรายกว้างซึ่งเป็นสนามต่อสู้ของชาวบ้านกับโจรและคนต่างเผ่าที่มารุกราน ทำให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากจึงเรียกสถานที่นี้ว่าแหมะกลองคี และต่อมาเพี้ยนเป็นแม่กลองคี พร้อมทั้งเรียกเป็นชื่อหัวยอีกด้วย หมู่บ้านนี้มีอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านได้เลือกพื้นที่นี้เนื่องจากเป็นพื้นที่สงบ ไม่มีความวุ่นวาย สามารถใช้ชีวิตได้อิสระ อยู่กับป่า จึงได้ตั้งหมู่บ้านตรงนี้ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำไหลผ่านตลอดปี ในอดีตหมู่บ้านต้องประสบภัยจากการสู้รบของคอมมิวนิสต์กับทางราชการ หลังจากคอมมิวนิสต์ได้มอบตัวกับทางการ จึงทำให้ชาวบ้านที่ได้กระจายแยกย้ายถิ่นฐานตั้งบ้านเรือนตามชายแดนหรืออยู่ตามป่าเขาได้กลับมาตั้งหมู่บ้านแม่กลองคีอีกครั้ง

สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบสูงเชิงเขา สลับกับที่ราบลุ่มและมีภูเขาสูงล้อมรอบหมู่บ้านมีพื้นที่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่กลองใหญ่ หมู่ 5 ตำบลโมโกร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านตะเปอพู หมู่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียมา

บ้านแม่กลองคี โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 3 บ้านแม่กลองคี ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,234 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,246 คน ประชากรหญิง 988 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 521 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2568)

ปกาเกอะญอ
  • ชุมชนท่องเที่ยว OTOP บ้านแม่กลองคี ที่บ้านแม่กลองคีมีศูนย์ OTOP นวัตวิถี เป็นแหล่งผลิตและจัดจำหน่ายผ้าทอปกาเกอะญอ โดยใช้สีจากธรรมชาติ ผ้าทอมือที่ประดิษฐ์ลวดลายเฉพาะถิ่น ฝีมือของชาวบ้านช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
  • อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน ในการประกอบอาชีพหลักของชาวปกาเกอะญอ คือ การปลูกข้าวในนาและทำไร่ข้าวปลูกข้าวแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งมีรอบในการหมุนเวียนจำนวน 5 ปี เพื่อพักฟื้นผืนดิน และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่า ให้อยู่กับพวกเขาอีกนานเท่านาน 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม (พิธีกรรมความเชื่อ)

พิธีกรรมและความเชื่อของชาวปกาเกอะญอเกี่ยวกับความตาย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างคนเป็นกับผู้ล่วงลับ และการเตรียมดวงวิญญาณให้เดินทางไปสู่ภพหน้าอย่างสงบสุข โดยเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายยังคงต้องการการดูแลและความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อมีผู้เสียชีวิต ชาวบ้านจะจุดเทียนเพื่อแทนธาตุไฟที่ดับไป เป็นการให้แสงสว่างนำทางวิญญาณไม่ให้หลงทาง และเป็นสัญลักษณ์ของการส่งดวงจิตไปยังอีกภพหนึ่งอย่างสงบ ตามด้วยการอาบน้ำศพ โดยใช้น้ำมะพร้าวซึ่งถือว่าเป็นน้ำที่สะอาด บริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม เชื่อกันว่าช่วยชำระร่างกายของผู้ตายให้บริสุทธิ์ ก่อนจะไปสู่ภพหน้าอย่างผุดผ่อง ในระหว่างการจัดพิธี จะมีการวางเหรียญไว้ข้างศพ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าแสงสะท้อนจากเหรียญจะช่วยให้วิญญาณมองเห็นเส้นทาง และไม่หลงในความมืด

ถัดจากนั้นจะมีการนำด้ายมาเกี่ยวนิ้วโป้งผู้ตาย พร้อมกับวางสิ่งของที่สื่อถึงบทบาทในชาติหน้า หากเป็นผู้ชายจะใช้ "ดอ" หรือมีดปลายแหลม ซึ่งสื่อถึงอาชีพการล่าสัตว์หรือสร้างบ้านเรือน ส่วนผู้หญิงจะใช้ "ตะบี" หรือเครื่องมือทอผ้า เพื่อให้มีความสามารถด้านเย็บปักถักร้อยในภพใหม่ การคลุมศพจะใช้ผ้าทอพื้นเมืองแทนผ้านวม เพื่อให้ผู้ตายเกิดใหม่เป็นคนร่างเล็ก หุ่นบาง และไม่อ้วน อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารถึงผู้เป็นให้ละวางความยึดติดกับรูปลักษณ์ เพราะร่างกายที่ไร้วิญญาณก็ไม่ต่างจากท่อนไม้ที่ไร้ค่าการตั้ง "ดากะจื้อ" ซึ่งเป็นไม้ไผ่ตั้งหน้าศพ เปรียบเสมือนร่มเงาให้วิญญาณพักพิง เชื่อว่ายิ่งตั้งใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งให้ความร่มเย็นและความปลอดภัยในระหว่างเดินทางกลับภพหน้า ชาวบ้านยังมีการจุดไฟหรือ "เลเม่" เพื่อให้แสงนำทางวิญญาณ โดยรวมแล้วเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยของคนเป็นต่อผู้ตายการขับลำนำหรือที่เรียกว่า "ธา" มีไว้เพื่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีที่ควบคุมการพรากจากกัน และเป็นการส่งวิญญาณกลับสู่โลกหน้าอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังเชื่อว่าหากชายหนุ่มเข้าร่วมพิธีศพหลายครั้ง (เช่น 3 หรือ 5 ครั้ง) จะต้องกลับไปเวียนรอบเมรุหรือสถานที่เผาศพ เพื่อปัดเป่าผลกระทบทางวิญญาณก่อนเผาศพ จะมีพิธีย่อปี ซึ่งเป็นการทำให้วิญญาณจดจำบ้านของตน และเป็นการเตือนให้คนเป็นระลึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต พร้อมกับพิธีหักกิ่งไม้และกรวดน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตัดขาดระหว่างคนเป็นกับผู้ตาย และการแผ่ส่วนบุญไปให้วิญญาณได้รับหลังจากเผาศพแล้ว จะมีการกลับมายังบ้านเจ้าภาพเพื่อล้างมือ ล้างเท้า ด้วยน้ำสัมป้อย ซึ่งเชื่อว่าเป็นการล้างสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ติดตัวกลับมา และจะมีการมัดมือเพื่อเรียกขวัญให้กลับเข้าร่าง หากขวัญตกจากเหตุการณ์สะเทือนใจชาวบ้านยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างบ้านหลังเล็กและทำขนมหวานให้ผู้ตาย โดยเชื่อว่าดวงวิญญาณจะได้มีที่อยู่อาศัย มีข้าวของเครื่องใช้ไม่ต้องเร่ร่อน และขนมหวานก็เป็นสัญลักษณ์ของการบรรเทาความทุกข์

หลังจากผ่านช่วงเวลาที่โศกเศร้ามาเมื่อสร้างบ้านเล็กเสร็จ จะมีพิธีส่งวิญญาณขึ้นบ้านใหม่ และแนะนำบ้านให้ผู้ตาย เพื่อให้ดวงวิญญาณสามารถเข้าไปอยู่ในบ้านในฐานะเจ้าของอย่างสงบ ไม่ต้องเร่ร่อนอยู่ภายนอก ต่อจากนั้นจะมีการ "แหวะเป้โป้" หรือการขั้วข้าวเม่าฟ่าง ซึ่งเปรียบเหมือนการเตรียมทรัพย์สินในโลกหน้า เปลือกข้าวฟ่างเปรียบเหมือนทอง เงิน และอาหารที่สามารถใช้ได้จริงในภพหน้า เป็นบทเรียนให้คนเป็นไม่ยึดติดกับสิ่งของที่กินไม่ได้ พิธี "ป้าเถอะแพวะ" หรือการหาปลา ร่วมกับหมา เป็นการจำลองกิจกรรมหากินแบบวิถีชีวิตจริง เพื่อให้ผู้ตายรู้สึกเหมือนไม่ได้เดินทางลำพัง และมีเพื่อนร่วมทางเหมือนในชีวิตจริง การ "จี้กลี้" หรือรำกระทบไม้ เป็นการแสดงพื้นบ้านที่เสียงกระทบไม้คล้ายเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นการเร่งให้วิญญาณรีบเดินทาง และเตือนคนเป็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต โดยเชื่อว่าหากขวัญตกจากเสียงที่ตกใจ จะต้องมีการเรียกขวัญกลับมา "ท่อกะแน" หรือการเก็บรังผึ้ง เป็นพิธีที่สื่อถึงการมีสิ่งดีรออยู่หลังอุปสรรค เหมือนกับวิญญาณที่ต้องเดินทางไกล แต่สุดท้ายก็มีที่พักพิง เป็นการสอนคนเป็นให้รู้จักขยันทำมาหากิน "พระนาโด้" หรือการตัดภพ รวมถึงการล้างบ้าน เป็นพิธีที่ทำเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณร้ายกลับมา เพราะเชื่อว่าหากไม่ทำให้เรียบร้อย กลิ่นคาวจากงานศพจะทำให้วิญญาณที่ไม่ดีไม่ยอมจากไปสุดท้ายคือพิธี "อะปะโล" หรือการส่งสัมภาระให้ผู้ตาย เพื่อให้วิญญาณมีข้าวของใช้ในภพหน้า ผู้ที่ไปส่งสัมภาระต้องกลับบ้านเจ้าภาพก่อนเพื่อคืนความร่มเย็น หากกลับบ้านตัวเองก่อนอาจเกิดสิ่งไม่ดีอีกหนึ่งพิธีสำคัญคือ "ก่ออ้อปลื้อแหม่" หรือการเรียกให้วิญญาณมารับประทานอาหาร เป็นการแสดงความเคารพและเป็นการส่งวิญญาณครั้งสุดท้ายด้วยความอาลัย

ภาษาที่ใช้ในหมู่บ้านใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก ใช้ภาษาไทยในการเรียนหนังสือ การติดต่อกับบุคคลภายนอกชุมชน 


คณะกรรมการหมู่บ้านและได้แบ่งความรับผิดชอบให้กับคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้อาวุโสหรือหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ เช่น อพป. อปพร. สมาชิกสภา อบต. และ ชรบ. เป็นหัวหน้าคุ้ม ซึ่งมีทั้งหมด 4 คุ้ม ดังนี้ 1.คุ้มบ้านเหนือ 2.คุ้มบ้านกลาง 3.คุ้มไหล่ห้วย 4.คุ้มผู้ถือบัตรสีฟ้าและสีเขียวขอบแดง


เป็นหมู่บ้านที่มีความรับผิดชอบของสถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านแม่กลองคี โดยในช่วงฤดูฝนจะมีการรณรงค์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย การหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ การวางแผนครอบครัวโดยส่งเสริมให้มีการคุมกำเนิด ตลอดจนชาวบ้านจะเข้ารับการรักษาพยาบาลขั้นต้นที่สถานบริการสาธารณสุขชุมชนแห่งนี้ ผู้ที่ป่วย ส่วนใหญ่จะพบมากที่สุดคือ ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง ไข้เลือดออก ไข้หวัด เป็นต้น


มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี ทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับที่สูงขึ้น จะเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม อำเภออุ้มผาง และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก บางส่วนศึกษาต่อที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภออุ้มผาง โดยสถานศึกษาตั้งอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลโมโกร องค์กรบริหารส่วนตำบลโมโกร บ้านตะเปอพู หมู่ที่ 2 ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง


พิธีกรรมงานศพเป็นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับเครือญาติ ระดับชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับคนนอกชุมชน เป็นพื้นที่แห่งความรัก ความเข้าใจ การเอื้ออาทร และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเห็นได้จากขั้นตอนของการทำพิธีกรรม นับตั้งแต่มีผู้เสียชีวิตลง เช่น

  • การนุ่งผ้า
  • การเอาด้ายเกี่ยวนิ้วโป้งเท้า
  • การขับลำนำ
  • การตั้งดากะจื้อ
  • การนำศพไปเผา
  • การย่อปีด้า
  • การมัดมือหลังเผาศพและการมัดมือเรียกขวัญคนในบ้าน
  • การสร้างบ้านหลังเล็กและการทำขนม
  • การรำกระทบไม้ (การจี้กลี้)
  • การขึ้นเก็บน้ำผึ้ง (การท่อกะแน)
  • การส่งสัมภาระศพ (การอะปะโล) เป็นต้น

นอกจากนี้ พิธีกรรมงานศพยังเป็นโอกาสให้ทุกคนได้ทบทวนความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ระหว่างกันในระหว่างการจัดงานศพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ถาวร กัมพลกูล (2547) ที่กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มและช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และการให้ซึ่งกันและกัน โดยมีลักษณะเด่นคือ

  1. การแลกเปลี่ยนแรงงาน
  2. การแลกเปลี่ยนฉันท์พี่น้อง
  3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (เสวนาระหว่างทำงาน)
  4. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นิทาน สุภาษิต ลำนำ บทตอน คำพังเพย
  5. การแลกเปลี่ยนผลผลิต
  6. การร่วมพิธีกรรมร่วมกัน

จากการศึกษาพบว่า ท่ามกลางการพัฒนาของสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนในชุมชนนำวัฒนธรรมภายนอกมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเอง แม้การแต่งกายในพิธีกรรมจะเปลี่ยนไป เช่น ผู้ชายสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ หรือเสื้อเชิ้ต ส่วนผู้หญิงก็อาจสวมใส่ชุดที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและยุคสมัย

แต่แม้องค์ประกอบภายนอกบางส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ชุมชนบ้านแม่กลองดีก็ยังคงรักษาวัฒนธรรม ความเชื่อ และพิธีกรรมดั้งเดิมไว้ตั้งแต่

  • ระยะหล่อ (พิธีกรรมหลังสิ้นลมหายใจ)
  • ระยะหม่าปู่ป่าโจ้ (พิธีกรรมระหว่างบรรเพ็ญศพ)
  • ระยะเกือป้าซีวี่ (พิธีกรรมหลังเผาศพ)

พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ความเชื่อในการทำบุญเพื่อให้ผู้ตายได้รับรู้ถึงความตั้งใจของญาติพี่น้องในการจัดพิธีส่งดวงวิญญาณไปสู่สุขคติ โดยเชื่อว่าหากมีการจัดพิธีกรรมครบถ้วน ย่อมทำให้ผู้ตายได้รับพรอันศักดิ์สิทธิ์

อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรมตามความเชื่อของชาว "ปกาเกอะญอ" ได้สร้างความเชื่อมั่น คุณค่าทางวัฒนธรรม และความเชื่อที่เป็นประโยชน์ทางด้านจิตใจ ซึ่งช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายจากความกังวลในการดำรงชีวิต และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน ถ่ายทอดต่อจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกตุแก้ว ชนชีวารัตน์. (2557). ฮูธ่อปะซี พิธีกรรมศพในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ : คุณค่า ความเชื่อในมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กรณีศึกษา บ้านแม่กลองคี ตำบลโมโกร อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก. ภาคนิพนธ์. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

กรมการปกครอง. (2567). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2568. https://stat.bora.dopa.go.th

กศน.ตำบลโมโกร. (ม.ป.ป). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP บ้านแม่กลองคี. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2568. https://sites.google.com

อบต.โมโกร โทร. 0 5503 0540