บ้านระไมล์ ได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืน
บ้านระไมล์ ได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืน
ชุมชนบ้านระไมล์ เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตําบลเปียน อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านระไมล์นั้นยังไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อธิบายจากความเกี่ยวข้องของประวัติอำเภอเปียน ซึ่งในอดีตเคยขึ้นกับการปกครองอำเภอเทพทา ก่อนจะย้ายไปขึ้นกับกิ่งอำเภอบาโหยเมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งในปี พ.ศ. 2485 กิ่งอำเภอบาโหยได้รับการยกฐานะเป็นอำเภสะบ้าย้อย แล้วแยกตำบลเปียนออปเป็นตำบลบ้านโหน ปัจจุบันตำบลเปียนประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเปียน บ้านควันหรัน บ้านเก่า บ้านทุ่งเภา บ้านสวนโอน บ้านระไมล์ต้นมะขาม และบ้านระไมล์
ที่ตั้งและอาณาเขต
ชุมชนบ้านระไมล์ เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตําบลเปียน อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตําบลสะบ้าย้อย โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอสะบ้าย้อย ประมาณ 7 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านควนหรัน ตําบลเปียน อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านเก่า ตําบลเปียน อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านนากัน ตําบลบ้านโหนด อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตําบลเปียน อําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
สภาพแวดล้อม
พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านระไมล์มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขา ป่าไม้ปกคลุมหนาแน่น ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์ ทําให้ฝนตกชุก ช่วงนี้ถือเป็นช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม บางปีจะได้รับภัยธรรมชาติจากพายุดีเปรสชั่น และพายุโซนร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ประชากร
ปัจจุบันบ้านระไมล์มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 561 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน คือ ชาวไทยพุทธ ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 70 ส่วนจำนวนร้อยละที่เหลือคือจำนวนของชาวไทยอิสลาม
ความสัมพันธ์เครือญาติ
เนื่องจากชุมชนบ้านระไมล์แรกเริ่มตั้งชุมชนนั้น เริ่มจากครอบครัวเพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่อพยพโยกย้ายมาจากที่เดียวกัน คนในชุมชนจึงมีความผูกพันกันทางสายเลือด หรือมีความเป็นเครือญาติกันท้องหมด ต่อมาภายหลังเมื่อไปแต่งงานกับคนชุมชนใกล้เคียง แต่กลับมาตั้งถิ่นฐานสร้างครอบครัวใหม่ในชุมชนบ้านระไมล์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนกลุ่มเดิมจนกลายเป็นความสัมพันธ์ฉันท์ญาติ ซึ่งช่วยให้ชุมชนเกิดความเป็นปึกแผ่น
การทําสวนยางพารา : การทำสวนยางเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านมาหลายสิบปี ในช่วงแรกของการทำสวนยางจะใช้ยางสายพันธุ์พื้นเมือง แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ที่ดีขึ้น ซึ่งให้น้ำยางได้มากกว่า โดยชาวบ้านได้นำยางสายพันธุ์ใหม่นี้เข้ามาปลูกในพื้นที่บุกเบิกใหม่และบริเวณที่มียางพันธุ์พื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ภายใต้ความช่วยเหลือแนะนําจากเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง ในส่วนของภาวะตลาดและราคายางพารามีความไม่แน่นอน ผันแปรตามราคาในตลาดโลก และขึ้นอยู่กับคุณภาพของยางที่ชาวสวนเป็นผู้ผลิต ซึ่งชาวสวนยังคงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะขาดอํานาจในการกําหนดราคา คุณภาพ และน้ำหนักยางของตน
การทํานา : การทำนาถือเป็นอาชีพดั้งเดิมเป็นอาชีพของชาวบ้าน ซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพทำนามีจำนวนน้อยลง ทว่า เป้าหมายในการทํานายังเหมือนเดิม คือ การปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเพียงพอกับการบริโภคตลอดปี แต่รูปการทํานามีความแตกต่างไปจากเดิม อันเป็นผลมาจากการติดต่อและการเข้ามาของเทคโนโลยีภายนอก เช่น การนํารถไถนาขนาดเล็กเข้ามาไถนาแทนวัว ควาย และการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวเพื่อรักษาระดับผลผลิต และการนำข้าวพันธุ์ดีมาปลูกแทนพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้น
การทําสวนผลไม้ : ผลไม้ที่ชาวบ้านระไมล์นิยมนำเข้ามาปลูกในชุมชน เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง ลางสาด เป็นต้น
ประชากรของชุมชนบ้านระไมล์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีถึงประมาณร้อยละ 70 ที่เหลือร้อยละ 30 นับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สําคัญซึ่งสืบทอดกันมานานและยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ประเพณีทําบุญวันสารท ประเพณีชักพระ การลงแขก การทําบุญวันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา เป็นต้น ส่วนประเพณีที่สําคัญของประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ประเพณีถือศีลอด การเข้าสุนัต เป็นต้น
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของบ้านระไมล์ มีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ อีกทั้งยังอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูณ์ ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรดิน และทรัพยากรน้ำ ทำให้พื้นที่หมู่บ้านมีความเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม สอดคล้องกับวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้านระไมล์ที่มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวของหมู่บ้านส่งผลให้ชาวบ้านระไมล์มีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ตลอดจนพื้นที่สำหรับปลูกพืช ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง
ทุนทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านระไมล์มีแหล่งเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต 2 แหล่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนบ้านระไมล์
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].
ยุพดี เพ็ชรแสง. (2542). การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสะสมทุนของกลุ่มเกษตรกร กรณีศึกษา : กลุ่มเกษตรกรชุมชนบ้านระไมล์ ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในช่วง พ.ศ. 2486-2541. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.
กิจกรรมการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมประจำปี 2564. (2564). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://district.cdd.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].