ชุมชนตลาดโบราณบางพลี ชุมชนโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี
ประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดโบราณบางพลีจำแนกออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงก่อตั้งชุมชน และช่วงการเปลี่ยนแปลงชุมชน
ช่วงก่อตั้งชุมชน
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในช่วงการก่อตั้งชุมชนนั้นได้มีการเล่าขานต่อกันมาว่า ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นชุมชนตลาดริมคลองสําโรง ในอดีตบริเวณพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่โดยรอบเคยเป็นพื้นที่นาของคนไทยมาก่อนและมีบ้านเรือนปลูกอยู่ห่าง ๆ กันออกไปตามริมคันนา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการอพยพเข้ามาของกลุ่มคนจีน 2 กลุ่มคือ กลุ่มคนจีนแต้จิ๋ว และกลุ่มคนจีนไหหลํา ซึ่งสามารถประมาณได้ว่าตรงกับ พ.ศ. 2400 การก่อตั้งชุมชนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณตลาดศรีโสภณ ระยะที่ 2 อยู่บริเวณตลาดใหม่ และระยะที่ 3 มีการสร้างบ้านเรือนตั้งแต่บริเวณปากคลองบัวคลี่เรื่อยมาถึงเขตวัดบางพลีใหญ่ การก่อสร้างชุมชนในช่วงระยะเวลาติดต่อกันถึง 3 ช่วงระยะเวลานี้ ทําให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความรุ่งเรืองมากในระยะเวลาต่อมา และถูกจัดให้เป็นพื้นที่สําหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางเรือจากภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลสู่กรุงเทพมหานคร
ช่วงการเปลี่ยนแปลงชุมชน
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชุมชนเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ภายหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชุมชนตลาดโบราณบางพลีตกต่ำถึงขีดสุด ทางสภาวัฒนธรรมอําเภอบางพลีได้เข้ามาดำเนินการฟื้นฟูชุมชนและพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือให้ชาวบ้านกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ภายใต้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน อาทิ การจัดให้มีการขายสินค้าทั้งบนตลาดและทางเรือเพิ่มมากขึ้น การจัดให้มีการล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งคลอง แต่การจัดกิจกรรมดังกล่าวกลับไม่ประสบความสําเร็จเป็นจึงได้ยกเลิกไป
ความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสมัยการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบางพลีของ ดร.พัฒนพงศ์ ซึ่งมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม โดยการจัดงาน “เทศกาลอาหารดีบางพลี 48” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยในการจัดงานครั้งนี้ทางเทศบาลได้นําขนมพื้นบ้านและอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของชุมชน รวมทั้งสินค้าโอท็อปจากภายนอกชุมชนเข้ามาขาย การจัดงานในครั้งนี้ถือว่าประสบความสําเร็จในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากนักเนื่องจากยังขาดการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนอยู่เช่นเคย ในปี พ.ศ. 2549 ทางเทศบาลจึงร่วมมือกับชาวบ้านในการทําประชาคมเพื่อเสนอรูปแบบการจัดงานที่ชาวบ้านจะสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประกอบกับการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ในลักษณะของตลาดโบราณกําลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้น พร้อมเปลี่ยนชื่อชุมชนจากตลาดน้ำบางพลีเป็น “ตลาดโบราณบางพลี” พร้อมกันนี้ยังมีการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของชุมชนโดยมีการนําแผ่นป้ายชื่อตลาดโบราณบางพลีมาติดตั้งบริเวณด้านหน้าชุมชนและด้านหลังของชุมชน เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้รู้จักชื่อตลาดโบราณบางพลี นอกจากนี้ ยังงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลีขึ้น ภายใต้การจัดกิจกรรมต่างที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ กิจกรรมการแต่งกายย้อนยุค กิจกรรมการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นมวยทะเล การแข่งเรือมาด เป็นต้น ซึ่งการจัดงานดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กระทั่งปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่ชุมชนตลาดโบราณบางพลีมีอายุครบ 150 ปี มีการจัดงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลี 150 ปี มีการเพิ่มกิจกรรมการล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลองสําโรงและการล่องเรือไหว้พระตามวัดต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง รวมทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวขึ้นภายในชุมชน โดยใช้พื้นที่ที่เคยใช้เป็นห้องสมุดประชาชนมาก่อนเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมและจับจ่ายซื้อของภายในชุมชนแห่งนี้ การจัดงานดังกล่าวถือว่าประสบความสําเร็จเป็นอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทําให้ปีต่อมาจนถึงปัจจุบันทางชุมชนก็ได้ใช้แนวคิดการจัดงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลีตลอดมา โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีก
ชุมชนตลาดโบราณบางพลี เป็นชุมชนโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของคลองสําโรง ระหว่างกลางของชุมชนมีคลองบางพลีตัดผ่านแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองชุมชนย่อย คือ ชุมชนตลาดเก่า และชุมชนตลาดใหม่ ซึ่งด้านอาคารสถาปัตยกรรมของชุมชนนั้นส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพเดิมเหมือนตอนแรกสร้าง โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนของชุมชนที่ยังคงมีลักษณะเป็นเรือนไม้ปลูกติดกันเป็นห้องแถวตามแนวชายฝั่งขนานกับคลองสําโรง มุงด้วยหลังคากระเบื้องว่าว และใช้ประตูบานเฟี้ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีอาคารสถาปัตยกรรมบางส่วนที่เกิดการชํารุดทรุดโทรม เนื่องจากระยะเวลาที่ยาวนาน จึงนําไปสู่การซ่อมแซมให้มีสภาพที่ดีขึ้นหรือมีสภาพคงเดิม แต่ด้วยข้อจํากัดของวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีมาตั้งแต่อดีตนั้น ไม่ว่าจะเป็น กระเบื้องว่าว หรือประตูบานเฟี้ยม โดยเฉพาะกระเบื้องว่าวที่ทําขึ้นจากดินเผานั้นสามารถหาซื้อได้ยากและแทบจะไม่มีการผลิตใช้ในปัจจุบันแล้ว ดังนั้นการซ่อมแซมจึงต้องนําวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ในปัจจุบันมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนคู่นํามาทดแทนกระเบื้องว่าว หรือการนําประตูเหล็กมาทดแทนประตูบานเฟี้ยมที่ทําจากไม้ เป็นต้น
ปัจจุบันชุมชนตลาดโบราณบางพลีเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของประชากร 2 กลุ่ม คือ ชาวไทย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิมในพื้นที่ และชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400
ชุมชนตลาดโบราณบางพลีมีลักษณะเป็นตลาดที่ทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ของทั้งชาวบ้านภายในชุมชน และชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นจากละแวกใกล้เคียง ฉะนั้น ชาวตลาดชุมชนโบราณบางพลีส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ที่ถูกนํามาวางขายนี้พบว่ามักมีการเปลี่ยนแปลงชนิดของสินค้าไปตามยุคสมัย จุดประสงค์หลักก็เพื่อรองรอบการมาเยือนของกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น ปัจจุบันชาวบ้านเลือกขายอาหารตามสั่งหรือขนมหวานมากขึ้น โดยอาหารที่ขายส่วนใหญ่มักเป็นอาหารจานเดียวที่สามารถรับประทานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว หรือขนมหวานที่มักเป็นขนมไทย และขนมพื้นบ้านของชุมชนที่ชาวบ้านผลิตและจําหน่ายด้วยตนเอง มีร้านขายของที่ระลึกเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อยืดสกรีนชื่อชุมชนตลาดโบราณบางพลี นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้าดั้งเดิมที่ยังคงขายอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เครื่องอัฐบริขาร ตาลปัตร ชุดปิ่นโต ผ้าอาบน้ำฝน กาต้มน้ำ ชุดสังฆทานต่าง ๆ เป็นต้น มีร้านขายยาและสมุนไพรโบราณ ทั้งชนิดที่มีการแพ็คห่อบรรจุภัณฑ์อย่างดี เช่น เห็ดหลินจือ กระเจี๊ยบ มะตูม หญ้าหนวดแมว กระชายดํา แป้งดินสอพอง และสมุนไพรสดแบบชั่งกิโลขาย เช่น ขมิ้นชัน หัวไพล ว่านชักมดลูก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านขายเครื่องปั้นดินเผา ร้านขายเครื่องจักสาน ร้านขายเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายของเบล็ดเตล็ด ร้านบริการนวดแผนไทย รับดูดวง รวมถึงสินค้าอีกมากมายหลายชนิดที่ถูกนำมาวางจำหน่ายในตลาดโบราณบางพลี
อนึ่ง ชุมชนตลาดโบราณบางพลียังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีก 1 แห่ง ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่อง เพื่อบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนตลาดโบราณบางพลี มีการนําข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมาจัดแสดงให้แก่นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีเจ้าหน้าที่ของทางเทศบาล และตํารวจท่องเที่ยวมาคอยให้บริการอํานวยความสะดวกแก่ผู้มาท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีบริการห้องน้ำ ที่นั่งพักผ่อนบริเวณท่าน้ำสําหรับให้อาหารปลาและชมวิถีชีวิตริมคลองสําโรง
ชาวชุมชนตลาดโบราณบางพลีส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีบรรพบุรุษอพยพโยกย้ายมาจากประเทศจีนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชน ซึ่งบรรพบุรุษได้ถ่ายทอดความความรู้ ความคิด และคติความเชื่อดั้งเดิมให้ลูกหลานได้รับสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทําให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนกับวัฒนธรรมไทยอย่างกลมกลืนในพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณบางพลี แต่ละรอบปีชาวชุมชนตลาดโบราณบางพลีจะมีการประกอบพิธีกรรมทั้งทางพระพุทธศาสนาในวันสําคัญทางศาสนาตามวาระสำคัญต่าง ๆ ของชาวพุทธ ประเพณีจีนในวันสําคัญของชาวจีน เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันตรุษจีน วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันเช็งเม้ง ประเพณีสงกรานต์ และวันสารทจีน เป็นต้น
อนึ่ง ชุมชนตลาดโบราณบางพลีมีประเพณีประจำปีเฉพาะที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุดสำหรับชาวชาวบ้านในพื้นที่ 2 ประเพณี คือ ประเพณีงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลี และงานประเพณีรับบัว
ประเพณีงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลี จะจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายนของทุกปี โดยทางเทศบาลตําบลบางพลีร่วมกับชุมชนตลาดโบราณบางพลีจัดให้มีงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อการฟื้นฟูชุมชนวัฒนธรรมที่ดีของชุมชนและนําไปสู่การดํารงอยู่ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี รวมทั้งการเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน
งานประเพณีรับบัว จัดขึ้นในวันขึ้น 11 ค่ำ ถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวัน เป็นประจําทุกปี รวมระยะเวลาการจัดงานทั้งหมด 4 วัน ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมทั้งที่วัดบางพลีใหญ่ในและบริเวณหน้าที่ว่าการอําเภอบางพลี ซึ่งชาวบ้านจะพร้อมใจกันไปร่วมงานพร้อมกับการช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ในวันสุดท้ายของการจัดงานตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงเช้าจะมีขบวนเรือแห่หลวงพ่อโตจําลองเพื่อให้ประชาชนได้โยนบัวลงในเรือเป็นการนมัสการหลวงพ่อโต ซึ่งชาวบ้านชุมชนตลาดโบราณบางพลีใหญ่จะออกมายืนรอหน้าบ้านบริเวณคลองสำโรง เพื่อเตรียมดอกบัวไว้รอขบวนเรือหลวงพ่อโต
ทุนทางวัฒนธรรม
การแข่งเรือมาด การแข่งเรือมาดเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชุมชนตลาดโบราณบางพลีซึ่งเคยสูญหายไปจากชุมชน แต่ได้มีการรื้อฟื้นกลับมาใหม่ ในอดีตวัดบางพลีใหญ่ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันเรือขึ้นในเทศกาลออกพรรษาช่วงการจัดงานประเพณีรับบัวของทุกปี โดยเรือที่นํามาแข่งขันนั้นก็จะมีหลากหลายประเภท ทั้งเรือยาว เรือมาด แต่จัดได้สักระยะหนึ่งก็ได้ยกเลิกไป จนต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2536 ทางอําเภอบางพลี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานประเพณีรับบัวในขณะนั้น ได้มีการฟื้นฟูการแข่งเรือกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เปลี่ยนมาเป็นการแข่งเรือมาดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเห็นว่าในอดีตชาวชุมชนส่วนใหญ่ใช้เรือมาดในการเดินทางหรือบรรทุกสิ่งของ อีกทั้งชาวบ้านยังคงเก็บรักษาเรือมาดไว้เป็นอย่างดี ประกอบกับเรือมาดเป็นรูปแบบเรือประจําท้องถิ่นอันเก่าแก่ของภาคกลาง ด้วยเหตุนี้ จึงได้ส่งเสริมให้ชาวชุมชนตลาดโบราณบ่งพลีและละแวกใกล้เคียงนําเรือมาดออกมาแข่งขันเพื่อชิงรางวัลและสร้างความสนุกสนาน หลังจากนั้นต่อมาการแข่งเรือมาดจึงกลายเป็นประเพณีที่จะต้องจัดในช่วงประเพณีงานรับบัวงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลีเป็นประจำทุกปี
มวยทะเล การละเล่นมวยทะเลเป็นการละเล่นพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่เคยสูญหายไปจากชุมชน แต่ได้มีการรื้อฟื้นกลับมา การละเล่นมวยทะเลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเริ่มแรกที่ชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากเป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้โดยดัดแปลงมาจากการชกมวยไทยนํามาเล่นกันในทะเลแล้วชกต่อยกันให้ฝ่ายใดตกทะเล จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “มวยทะเล” โดยปกติการแข่งขันมวทยทะเลจะถูกจัดขั้นในช่วงประเพณีงานรับบัวงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลี
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ปัจจุบันชุมชนตลาดโบราณบางพลีได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในลักษณะของตลาดโบราณที่มีลักษณะเฉพาะตัวและความโดดเด่นในด้านอาคารสถาปัตยกรรม ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีการนําข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจําวันที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่ยังคงมีการเก็บรักษาไว้นํามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม อาทิ พัดลม ตั้งโต๊ะ หม้อดินเผา ตะเกียง นาฬิกาติดผนัง ถังดับเพลิงที่มีลักษณะเป็นถังน้ำขนาดเล็กสีแดงเขียนคําว่าถังดับเพลิงไว้ที่ด้านหน้าของถังไม้ แต่ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวจะเข้ามีบทบาทต่อการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจ ทําให้ชาวชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านก็ยังคงเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาตามกระแสการท่องเที่ยว ชาวบ้านยังคงรู้สึกผูกพันกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นเรือนไม้ริมน้ำ ยังคงผูกพันกับคลองสําโรงที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนตลาดโบราณบางพลีมาอย่างยาวนาน รวมทั้งสินค้าต่าง ๆ ที่ถูกนํามาวางขายในชุมชนยังเป็นสินค้าที่ไม่ได้จํากัดแค่เพียงขนมพื้นบ้านหรืออาหารพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังมีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจําวันที่ยังคงเป็นสิ่งจําเป็น สําหรับการเลือกซื้อเลือกหาชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง ทำให้ในปัจจุบันชุมชนตลาดโบราณบางพลีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะของตลาดโบราณที่แฝงไปด้วยบรรยากาศของความเก่าแก่ย้อนยุคย้อนสมัย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นชุมชนตลาดโบราณเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถยืดหยัดมาได้กว่า150ปี ท่ามกลางความเป็นเมืองที่รายล้อมชุมชนแห่งนี้อยู่มาโดยตลอดเช่นกัน (นิรมล ขมหวาน, 2556: 48)
นิรมล ขมหวาน. (2556). การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาชุมชนผ่านการศึกษาอัตลักษณ์ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.