Advance search

เกาะโล้น

ชุมชนบ้านเกาะโหลน มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนประมง ซึ่งเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน ดังคำขวัญ อาหารสด ทะเลใส ราไวย์ ราโว้ย โวยวาย เกาะโหลน

บ้านเกาะโหลน
ราไวย์
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1272-6665, เทศบาลราไวย์ โทร. 0-7661-3801
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านเกาะโหลน
เกาะโล้น

เกาะโหลน มีที่มาจาก ในอดีตช่วงฤดูทำนาชาวบ้านที่ทำนาใกล้เคียงเกาะโหลน เกรงว่าควายที่เลี้ยงไว้จะกินข้าวในนา จึงนำควายผูกกรรเชียงเรือว่ายน้ำมาปล่อยไว้ที่เกาะ เมื่อหมดฤดูทำนาเจ้าของควายนำควายกลับแต่ก็มีควายหลุดเชือก จึงกลายเป็นควายตกค้างอาศัยที่เกาะ ต่อมาควายหลุดเชือกเหล่านี้ขยายพันธุ์กระจายทั่วเกาะ  โดยมีหญ้าบนเกาะเป็นอาหาร รวมถึงกินต้นไม้บนเกาะทำให้เกาะมีสภาพโล้นเตียน ผู้คนจึงเรียกว่า “เกาะโล้น” ตามลักษณะของเกาะ กระทั่งออกเสียงเพี้ยนจาก "เกาะโล้น" เป็น "เกาะโหลน"


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านเกาะโหลน มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนประมง ซึ่งเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน ดังคำขวัญ อาหารสด ทะเลใส ราไวย์ ราโว้ย โวยวาย เกาะโหลน

บ้านเกาะโหลน
ราไวย์
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83130
7.79171001182641
98.368796557188
องค์การบริหารส่วนตำบลราไวย์

ชุมชนบ้านเกาะโหลน อำเภอเมืองภูเก็ต ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ห่างจากชายฝั่งบริเวณอ่าวฉลอง ประมาณ 3 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเกาะโหลนนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และอาชีพเกษตรกรรม บรรพบุรุษรุ่นแรกเดินทางโดยเรือมาจากจังหวัดสตูล 

พื้นที่ของเกาะส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าพื้นที่บางส่วนชาวบ้านเข้าบุกเบิกเพื่อทำสวนยางพารา แต่ป่าไม้ยังคงสภาพความสมบูรณ์และเป็นแหล่งน้ำให้แก่ชุมชน โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงชุมชนบ้านเกาะโหลน แต่เกือบทุกหลังคาเรือนใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์และใช้เครื่องปั่นไฟ ชุมชนบ้านเกาะโหลนมีสถานที่ สำคัญ คือ มัสยิด 1 หลัง โรงเรียนชั้นประถมศึกษา 1 โรง ชุมชนมีการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ "โฮมสเตย์เกาะโหลน" ซึ่งเป็นการจัดการท่องเที่ยวชุมชน (Community Based Tourism-CBT) เพื่อให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน นอกจากนี้ชุมชนมีการรวมกลุ่มเป็นชมรมเรือหางยาวบริเวณท่าเรืออ่าวฉลอง นำเรือหัวโทงรับ–ส่งนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวไปยังเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะเฮ เกาะไข่ เป็นต้น

จากคำบอกเล่าทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล "สองเมือง" ซึ่งเป็นตระกูลแรก ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานยังเกาะโหลนเล่าว่า ครอบครัวแรกที่ตั้งถิ่นฐานยังเกาะโหลน คือ "โต๊ะนาหู สองเมือง” ใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางมาภูเก็ตเพื่อลี้ภัยการเมืองจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล ครั้งนั้นมากับเพื่อน 2-3 คน แต่คนอื่นขึ้นฝั่งที่เกาะต่าง ๆ ในละแวกอ่าวพังงา จังหวัดพังงา มีเพียง "โต๊ะนาหู สองเมือง" ที่เดินทางต่อมายังเกาะโหลน และตั้งถิ่นฐานเป็นครอบครัวแรกของชุมชนเกาะโหลน สืบต่อรุ่นทายาทนับถึงปัจจุบัน รุ่นที่ 5

บ้านเกาะโหลน จัดตั้งเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ 2480 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายดล สองเมือง เดิมเรียกว่าบ้านเกาะโล้น กล่าวคือ ช่วงฤดูทำนาชาวบ้านใกล้เคียงกลัวว่าควายที่เลี้ยงไว้จะกินข้าวในนา จึงนำควายที่เลี้ยงผูกกรรเชียงเรือ จูงควายว่ายน้ำมาปล่อยไว้ที่เกาะโหลน เมื่อหมดฤดูทำนาเจ้าของควายนำควายกลับ แต่มีควายหลุดเชือกจึงกลายเป็นควายที่ตกค้างจึงอาศัยบนเกาะโหลน จากนั้นควายหลุดเชือกเหล่านี้ขยายพันธุ์กระจาย โดยมีหญ้าและต้นไม้บนเกาะเป็นอาหาร ควายกินหญ้าจนกระทั่งเกาะโล่งเตียนเป็นเกาะโล้น ผู้คนพบเห็นจึงเรียกว่า “เกาะโล้น” ตามลักษณะของเกาะ ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนไปจาก “เกาะโล้น” เป็น “เกาะโหลน” กระทั่งปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นนับจากมีการตั้งชุมชนบ้านเกาะโหลน มี 2 เหตุการณ์ ซึ่งสมาชิกของชุมชนมีความร่วมสมัยกับเหตุการณ์ คือ คลื่นสึนามิ (Tsunami) ปลายปี พ.ศ. 2547 กับเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 ถึงแม้ว่าเหตุการณ์คลื่นสึนามิ (Tsunami) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินแก่ชุมชนเกาะโหลนรุนแรง เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ริมชายทะเลของจังหวัดภูเก็ต แต่เป็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่เคยประสบมาก่อน อย่างไรก็ดีความรู้จากการอาศัยท่ามกลางเกาะกลางทะเลก็ทำให้ชุมชนสามารถสังเกต ความเปลี่ยนของระดับน้ำในทะเลก่อนเกิดคลื่นซึนามิ ฉะนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น มีเพียงคลื่นซัดแนวกำแพงพังทลายบริเวณโรงเรียนบ้านเกาะโหลนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกลับมาเก็บของจึงหนีไม่ทัน

ส่วนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วง ปี พ.ศ. 2563 – 2564 ชุมชนเกาะโหลนถึงแม้มีสมาชิกของชุมชนติดเชื้อ แต่ภาพรวมของชุมชนไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพราะทุกครัวเรือนตั้งบ้านเรือนห่างกัน ส่วนด้านอาหารการกินทุกคนสามารถหาอยู่หากินได้ตามปกติจากการประมง รวมถึงการเก็บพืชผักนานาชนิดที่กระจายทั่วไปในชุมชนในการประกอบอาหาร 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

เกาะโหลนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมีลักษณะทางกายภาพและลักษณะภูมิอากาศที่เอื้อให้พืชพรรณธรรมชาติและทรัพยากรสัตว์น้ำสามารถเจริญเติบโต นอกจากนี้พื้นที่หาดทรายรอบเกาะโหลนยังสามารถนำมาจัดการในฐานะทรัพยากรการท่องเที่ยวสร้างรายได้แก่ชุมชน  ความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะโหลนเริ่มตั้งแต่พื้นที่ทางทะเล กล่าวคือ บริเวณด้านหน้าเกาะมีแนวปะการังที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด  ถัดจากแนวปะการังออกไปด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ พบแนวหญ้าทะเลกระจายไปทางแหลมเขาขาด ซึ่งแหลมเขาขาดเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยทางทะเลและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ แนวหญ้าทะเลมีความสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ จากทรัพยากรทางทะเลไต่ระดับตามความสูงของพื้นที่บนเกาะพบป่าไม้กระจายปกคลุมภูเขา ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ "นกเงือก" ใช้ป่าไม้บนเกาะโหลนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย  โดยทั่วไปสามารถพบนกเงือกบินเป็นกลุ่มหากินทั่วบริเวณเกาะ

จำนวนประชากร ของชุมชนเกาะโหลนจากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2564 รายงานจำนวนประชากรเกาะโหลน จำนวนประชากรชาย 149 คน จำนวนประชากรหญิง 131 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 280 คน จำนวน 115 (หลังคาเรือน) 

จำนวนประชากรที่ลดลงของชุมชนบ้านเกาะโหลน มีสาเหตุมาจากสมาชิกของชุมชนย้ายถิ่นฐานไปอาศัยยังแผ่นดินใหญ่หรือ เกาะภูเก็ต ซึ่งจากการสัมภาษณ์คุณดลกาหรีม สองเมือง ให้เหตุผลของการย้ายถิ่นของสมาชิกมีปัจจัยมาจาก

  • ความสะดวดสบาย เพราะเกาะโหลนไม่มีไฟฟ้าใช้ (ชุมชนใช้ไฟจากแผงโซลาเซลล์)
  • ลูกหลานเริ่มเรียนจบและทำงานบนแผ่นดินใหญ่ จึงย้ายตามลูกหลาน
  • รวมถึงบางคนต้องไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ตามเวลานัดของแพทย์
  • การขายที่ดิน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสมาชิกของชุมชนเกาะโหลนบางส่วนย้ายเพื่อตั้งถิ่นฐานยังเกาะภูเก็ต แต่เมื่อถึงเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนาอิสามก็จะกลับมาร่วมกิจกรรมที่ชุมชนบ้านเกาะโหลน

ชุมชนบ้านเกาะโหลน ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนแนวระนาบ เนื่องจากสมาชิกในชุมชนล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องกัน เพราะอดีตมีการแต่งงานข้ามไขว้กันในชุมชน ฉะนั้นจึงมีนามสกุลซ้ำกัน เช่น สองเมือง และสมาชิกของชุมชนต่างก็สามารถนับญาติ ความสัมพันธ์ทางสายเลือดร่วมกัน แต่ปัจจุบันการออกไปตั้งถิ่นฐานนอกเกาะของสมาชิกในชุมชน อาจจะทำให้สายนามสกุลของชุมชนเกาะโหลนมีความแตกต่างจากอดีต

อาชีพหลักของชุมชนบ้านเกาะโหลนประกอบคือ การทำการประมง และการทำการเกษตรคือ ยางพาราแต่ส่วนใหญ่เป็นการทิ้งให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนในวัสดุรองน้ำยาง เพื่อนำก้อนยางหรือขี้ยางมาขาย ส่วนการประมงเป็นรูปแบบประมงชายฝั่งใช้ "เรือหัวโทง" ติดเครื่องยนต์บริเวณท้ายเรือ รูปแบบการทำการประมงเช่น การวางอวนปู การวางเบ็ดราว การทอดแห เป็นต้น

นอกจากการทำประมงโดยใช้เรือสมาชิกในชุมชนยังมีการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง รายได้จากการประมงยังคงเป็นรายได้หลักของชุมชนเกาะโหลน

อย่างไรก็ตามท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาะภูเก็ต ชุมชนบ้านเกาะโหลนมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยว โดยตั้งกลุ่มเรือหางยาวเพื่อการท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน กิจกรรมของกลุ่มคือ นำเรือหัวโทงมาบริการให้นักท่องเที่ยวเช่าเพื่อเที่ยวชมเกาะต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ เกาะโหลน เช่น เกาะเฮ เกาะคอรัลไอส์แลน รวมถึงการดำน้ำชมปะการังบริเวณจุดต่าง ๆ

นอกจากนี้การจัดการท่องเที่ยวชุมชนเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว รูปแบบโฮมสเตย์ชุมชนบ้านเกาะโหลน ซึ่งโฮมสเตย์ชุมชนบ้านเกาะโหลนได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตร ในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่และปรับปรุงกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการจัดการท่องเที่ยว นอกจากนี้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. เข้ามาสนับสนุนในการสร้างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้แก่ชุมชนบ้านเกาะโหลน

กลุ่มและเครือข่าย ชุมชนเกาะโหลนสามารถจำแนกได้ทั้งเกิดขึ้นจากโครงสร้างระเบียบของภาครัฐ และกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนบ้านเกาะโหลน กลุ่มที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างการบริหาร การปกครองโดยภาครัฐ อาทิ

  • ศูนย์สาธิตการตลาด
  • กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
  • กองทุนฌาปนกิจศพ
  • กองทุนสวัสดิการ วันละบาท (ระดับตำบล)

นอกจากนี้ชุมชนบ้านเกาะโหลนประกอบด้วยกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกชุมชน เพื่อการบริหารจัดการและการมุ่งผลสำเร็จร่วมกัน จากกิจกรรมที่ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น ธนาคาร รวมถึงกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชุมชนเอง อาทิ

  • กลุ่มประมงแปรรูปอาหารทะเลของที่ระลึกจากวัสดุในท้องถิ่น
  • กลุ่มเรือหางยาวท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน
  • ชุมชนท่องเที่ยวจําหน่ายขนมพื้นบ้าน ผลิตผ้าบาติก
  • โฮมสเตย์
  • สอนทําอุปกรณ์ตกปลา

อย่างไรก็ตามกลุ่มและเครือข่ายเหล่านี้แม้ว่าจะมีการก่อกำเนิดแตกต่างกัน แต่ผลสำเร็จคือก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการทำร่วมกันของชุมชนบ้านเกาะโหลน เช่น โฮมสเตย์ชุมชนท่องเที่ยวเกาะโหลน มีสมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้บ้านพักอาศัยส่วนหนึ่งจัดเป็นโฮมสเตย์ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสอนทำขนม การสอนทำผ้าบาติก การออกหาปลากับชุมชน ซึ่งเหล่านี้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของสมาชิกชุมชนบ้านเกาะโหลนในการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อชุมชนท่องเที่ยวเกาะโหลน

วิถีชีวิตและชีวิตประจำวัน ของชุมชนบ้านเกาะโหลนยังมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เร่งไปตามกระแสเศรษฐกิจของเกาะภูเก็ต เพราะชุมชนมีวิธีคิดเดินลงทะเลก็มีกิน หากจับสัตว์น้ำถ้ามีราคาก็ขาย หรือผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มเรือหางยาวเพื่อการท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน หากไม่มีนักท่องเที่ยวก็ออกเรือหาปลา ส่วนการเกษตรมีการจ้างแรงงานเพื่อนบ้านมาดำเนินเกี่ยวกับกรีดยางพาราและเก็บขี้ยางพารา

ชุมชนเกาะโหลนเป็นชุมชนมุสลิม 99% วิถีชีวิตของชุมชนจึงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอิสลาม วันและเทศกาลสำคัญทางศาสนาอิสลามที่ชุมชนบ้านเกาะโหลนจัดงาน ประกอบด้วย

  • เดือนรอมฎอน คือเดือนแห่งการศีลอดของมุสลิม หรือเรียกว่าว่าเดือนบวชก็ได้และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุด
  • วันอีดิ้ลฟิตริหรือวันออกบวช จะเป็นวันที่ชาวมุสลิมมีการเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือน
  • รอมฎอนวันอีดิ้ลอัฎฮา เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน  

วันสำคัญทั้ง 3 วันดังกล่าวข้างต้น ชุมชนบ้านเกาะโหลนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นวันวสำคัญของศาสนา รวมถึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกชุมชนที่ต้องให้ความสำคัญ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชนด้านภูมิปัญญา ชุมชนบ้านเกาะโหลนมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตแบบประมง อาทิ การทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น อวน แห เบ็ดรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่ามีการผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์ประมงสำเร็จรูปและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่สมาชิกของชุมชนบางครอบครัวยังถักอุปกรณ์การประมงด้วยตนเอง นอกจากนี้ภูมิปัญญาด้านการจับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์น้ำแต่ละประเภท เช่น ต้องวางอวนอย่างไร ใช้เหยื่อแบบใดให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำ น้ำกำลังขึ้นหรือลง ปลาประเภทใดชุกชุมบริเวณใด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติของทรัพยากรแต่ละประเภท นอกจากด้านการประมงชุมชนเกาะโหลนยังประกอบด้วย ภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้าน เช่น หมอตำแย และภูมิปัญญาด้านความรู้ทางศาสนา โต๊ะอิหม่าม 

การสื่อสารของชุมชนเกาะโหลนใช้ภาษาถิ่นใต้ในการสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงใช้ภาษาไทยในการเขียน แต่การเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม โต๊ะครูใช้ภาษาอาหรับในการเรียนการสอนตามภาษาที่บรรยายเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ในคัมภีร์อัลกุรอาน รวมถึงแบบเรียนสำหรับเด็กเล็กหรือผู้เริ่มต้น


จำนวนประชากรที่ลดลงของชุมชนบ้านเกาะโหลน เนื่องมาจากสมาชิกจำนวนหนึ่งย้ายถิ่นฐานตามบุตรหลาน หรือย้ายครอบครัวไปอาศัยยังชุมชนบนผืนแผ่นดินใหญ่ (เกาะภูเก็ต) ทำให้จำนวนประชากรของชุมชนบ้านเกาะโหลนเหลือไม่มากนัก ฉะนั้นการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ในชุมชนจึงไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะร้านค้าที่เคยเปิดขายสินค้าประเภทของชำต่าง ๆ เลิกกิจการไป รวมถึงร้านค้าสวัสดิการก็เช่นเดียวกัน การซื้อขายสินค้าบางอย่างจึงซื้อจากตลาดฝั่งอ่าวฉลอง เพราะสมาชิกในชุมชนต้องเดินทางไปทำธุระที่อ่าวฉลองจึงซื้อสินค้าต่าง ๆ กลับมาใช้สอย ฉะนั้นในระยะยาวการลดลงของจำนวนประชากรอาจส่งผลกรทบต่อโครงสร้างประชากรและสืบเนื่องไปยังปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดิน เป็นต้น

การหาโวยวาย หรือ นอ-ย่า (ปลาหมึก) เป็นกิจกรรมและอาหารขึ้นชื่อของชุมชนเกาะโหลน และเป็นความรู้ทางการประมงที่ส่งทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อมีการออกเรือเพื่อจับสัตว์น้ำ ผู้ใหญ่มักจะพาสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็กไปกับเรือเพื่อเรียนรู้วิถีการประมงของครอบครัว ช่วงเวลาการหาโวยวาย คือ เดือนมีนาคม - เดือนกันยายน นอกเหนือจากนี้โวยวายไม่กินเหยื่อ ราคากิโลกรัมละ 120 บาท ช่วงฤดูโวยวายแต่ละคนสามารถหาได้ 1-3 กิโลกรัม ต่อ 1 คน โวยวายใช้ประกอบหรือปรุงอาหารเป็นแกงกะทิหวาน  ผัดเผ็ดสะตอ หรือกินดิบแบบซาซิมิ โวยวายมักอาศัยอยู่ในแนวปะการัง ปัจจุบันการหาโวยวายเป็นหนึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแทงโวยวาย คือ

  • น้ำ 15 ค่ำ แทงราว ๆ 14:00 น ถึง 17:00 น
  • น้ำ 1 ค่ำ แทงราว ๆ 13:00 น ถึง 18:00 น
  • น้ำ 5 ค่ำ แทงราว ๆ 6:00 น ถึง 9:00 น 

ธำรงค์ บริเวธานันท์ (2565). โครงการ วัตถุทางวัฒนธรรม: “สิ่ง” สะท้อนวิถีชุมชน 5 พื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน (ชุมชนบ้านเกาะโหลน ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ) : รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง. สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน) (ออนไลน์). 2556, สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1272-6665, เทศบาลราไวย์ โทร. 0-7661-3801