
หมู่บ้านเพชรดำเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลีซอมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ตั้งของทุ่งกังหันลมเขาค้อ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดเพชรบูรณ์
หมู่บ้านเพชรดำเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลีซอมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ตั้งของทุ่งกังหันลมเขาค้อ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดเพชรบูรณ์
หมู่บ้านเพชรดำ เป็นชุมชนที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชาวลีซอที่อพยพมาจากอำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เริ่มแรกชาวลีซอกลุ่มนี้เข้ามาสร้างบ้านเรือนบริเวณหน้าตลาดพัฒนา กระทั่งปี พ.ศ. 2512 มีกลุ่มคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของชาวลีซอ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ความรุนแรง ชาวลีซอจึงจำต้องละทิ้งพืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทั้งหมด แล้วอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ต่อไปยังหมู่บ้านขอนหาด ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้ความดูแลของกองทัพภาคที่ 3 จากนั้นชาวลีซอบางส่วนได้อพยพกลับจังหวัดเชียงใหม่ และบางส่วนอพยพต่อไปยังดอยมูเซอ อำเภอเมือง จังหวัดตาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นนิคมชาวเขามาก่อน แต่อยู่ได้ไม่นานชาวบ้านเริ่มมองเห็นว่าบริเวณดอยมูเซอมีการทำไร่ฝิ่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การทำมาหากินค่อนข้างยากลำบาก จึงมีการเคลื่อนย้ายกลับสู่บ้านขอนหาดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2522 ชาวลีซอได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ เรื่องการตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ บ้านเพชรดำ ซึ่งในขณะนั้นมีเหตุการณ์สู้รบเป็นครั้งคราว หน่วยงานรัฐจึงสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางออกนอกเขตรัศมีที่กำหนด ภายหลังปี พ.ศ. 2526 เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลง ชาวบ้านจึงเริ่มจับจองพื้นที่ โดยถางป่าบริเวณใกล้เคียงให้เป็นที่ดินส่วนตนโดยไม่ผ่านการจัดสรรที่ดินจากทางการ ในเวลาต่อมาภาครัฐจึงได้พิจารณาจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวลีซอบ้านเพชรดำ ทว่ามีชาวลีซอบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
บ้านเพชรดำตั้งอยู่บนเนินเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยป่าทึบ และภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนคล้ายกับทะเลภูเขา สำหรับพื้นที่ป่าแถบนี้ส่วนมากเป็นป่าเต็งรังหรือป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าดินแดง และที่สำคัญคือมีต้นค้อขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก สำหรับลักษณะภูมิอากาศของหมู่บ้านเพชรดำจะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศเย็นจัด อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้เฉลี่ยประมาณ 3 องศาเซลเซียส ระหว่างเดือนธันวาคม–กุมภาพันธ์ และมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน
ทุ่งกังหันลมเขาค้อ
ทุ่งกังหันลม เขาค้อ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเพชรดำ จังหวัดเพชรบูรณ์ บนพื้นที่โครงการทุ่งกังหันลมบนเนินเขาสูง ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่งดงามของเขาค้อได้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สำหรับต้นกังหันลมนั้นมีการตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่จำนวนทั้งหมด 24 ต้น แต่ละต้นมีความสูงประมาณ 100 เมตร กลายเป็นจุดเด่นที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของอำเภอเขาค้อก็ตาม
ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเพชรดำคือกลุ่มชาติพันธุ์ลีซอ แต่เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ทางทิศใต้ของบ้านเพชรดำมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านเล่าเน้งซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวม้ง อีกทั้งพื้นที่บางส่วนของบ้านเพชรดำยังเป็นถิ่นฐานของชนเผ่าหลายชนเผ่า ส่งผลให้ชาวลีซอบ้านเพชรดำได้รับวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าใกล้เคียงเข้ามาในชุมชน โดยรับเอามาใช้ในรูปแบบของวัฒนธรรมรอง ด้านลักษณะครอบครัวชาวลีซอบ้านเพชรดำมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ในสังคมลีซอบ้านเพชรดำมีการแบ่งแซ่ตระกูลต่าง ๆ ทั้งหมด 6 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลสินจ้าง สินเช้า สินหมี่ สินยี่ สินย่าง และสี่มี่ โดยในแต่ละครอบครัวจะมีแซ่ตระกูลซึ่งแตกต่างกันออกไป ตระกูลสินจ้าง และตระกูลสินเช้า เป็นตระกูลที่มีสมาชิกมากที่สุดในหมู่บ้านเพชรดำ
ลีซูโครงสร้างทางสังคม
บ้านเพชรดำมีรูปแบบการปกครองแบบผสมผสานระหว่างการปกครองดั้งเดิมตามประเพณีและวัฒนธรรมชนเผ่าร่วมกับการปกครองท้องถิ่นของไทย โดยการปกครองตามแบบประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลีซอนั้นจะให้ความสำคัญกับการเคารพนับถือผู้อาวุโส ผู้นำทางศาสนาและความเชื่อ ที่มีบทบาทเป็นตัวแทนทำกิจกรรมชุมชน เป็นที่ปรึกษา และคอยไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกภายในชุมชน สำหรับการปกครองตามแบบท้องถิ่นของไทยนั้น ชุมชนลีซอบ้านเพชรดำมีผู้นำชุมชนคือผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐ ทำหน้าที่คอยเป็นสื่อกลางติดต่อประสานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการ
อาชีพ
ชาวลีซอบ้านเพชรดำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ผลผลิตจากการเกษตรจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดระยะเวลา 1 ปี และส่วนที่สองคือผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการจำหน่าย พืชที่ชาวลีซอปลูกเพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภค คือ “ข้าวไร่” สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ เนื่องมาจากชาวลีซอนั้นทำการปลูกข้าวในไร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไร่เปลือกขาว (หยะกูฟู) และข้าวไร่เปลือกลาย (หยะจ่าแหละ) นอกจากนี้บางครัวเรือนมีการปลูกข้าวเหนียวไร่ แต่ไม่นิยมบริโภคเท่าใดนัก นอกจากนี้ชาวลีซอบ้านเพชรดำยังนิยมปลูกผลไม้ไว้ในพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของตนสำหรับบริโภคภายในครัวเรือนอีกด้วย
สำหรับพืชเศรษฐกิจที่ชาวลีซอบ้านเพชรดำนิยมปลูกเพื่อจำหน่าย ได้แก่ ข้าวโพด หัวกะหล่ำ แคร์รอต พริก และผักชี ในรูปแบบของการปลูกพืชหมุนเวียน โดยจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนเมษายน-เดือนตุลาคม และพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคมไปจนถึงมกราคม ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ชาวบ้านจะนำผลผลิตที่ได้ไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางในอำเภอหล่มสัก
นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวลีซอยังมีการเลี้ยงสัตว์เป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมเพื่อดำรงชีพและจำหน่าย โดยสัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ หมู ไก่ เป็นต้น
วิถีชีวิต
วิถีชีวิตของชาวลีซอบ้านเพชรดำมีความเรียบง่าย อาศัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่รอบตัวในการดำรงชีวิต อาทิ ในการทำเกษตรจะต้องใช้น้ำจากน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล รวมถึงการล่าสัตว์ป่าเพื่อบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ในการดำรงชีพ การหาสมุนไพรป่าเพื่อนำมารักษาอาการเจ็บไข้ สำหรับเด็กชายและเด็กหญิงชาวลีซอบ้านเพชรดำปัจจุบันมีหน้าที่เรียนหนังสือ แต่หากคนใดไม่ได้เรียนหนังสือจะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน วัยชราจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นงานอดิเรก ส่วนวัยทำงานจะออกไปทำงานในไร่ซึ่งอยู่บนภูเขา จึงต้องพึ่งรถอีแต๋นและรถจักรยานยนต์ในการเดินทาง หากครอบครัวใดไม่มียานพาหนะจะอาศัยติดรถไปกับเพื่อนบ้าน และจับกลุ่มกันเดินเท้ากลับในเวลาเลิกงาน
ศาสนา ความเชื่อ และประเพณี
ชาวลีซอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏกลิ่นไอความเชื่อเรื่องการนับถือผีอย่างเข้มข้น มีการสร้างมายาคติมโนทัศน์เกี่ยวกับผีและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่สามารถสร้างทั้งคุณและโทษให้กับมนุษย์ มีประจำอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทุกหนแห่ง เช่น ผีไร่ (อะมิเน่) ผีน้ำ (อิยาเน่) ผีหลวง (อิด่ามา) ผีเมืองหรือผีประจำหมู่บ้าน (อาปาหมุฮี) เป็นต้น ผีที่ชาวลีซอให้ความเคารพและเกรงกลัวที่สุดคือผีหลวง เชื่อว่าเป็นผีที่อยู่บนยอดดอยสูงห่างไกลจากหมู่บ้าน โดยบริเวณนั้นจะสร้างศาลไว้ ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ รองลงมาคือผีเมืองหรืออาปาหมุฮี เชื่อว่าอยู่บริเวณเนินเขานอกหมู่บ้านเพชรดำ คอยดูแลคุ้มครองให้หมู่บ้านมีแต่ความสงบสุข ภายในอาปาหมุฮีมีสิ่งที่ชาวลีซอบ้านเพชรนับนับถืออยู่ 2 อย่าง คือ ศาลปู่ (อาปาหมุ) เป็นสิ่งที่ชาวลีซอให้ความเคารพนับถือสูงสุด เนื่องจากเชื่อว่าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตชาวลีซอ และศาลย่า (ตาบิ๊คือกุ) ตั้งอยู่เหนือศาลปู่เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าที่ สาเหตุที่เรียกว่าศาลย่าสืบเนื่องมาจากบ้านเพชรดำตั้งอยู่บนเขาย่า ตาบิ๊คือกุของชาวลีซอแต่ละแห่งจึงจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชื่อสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้น ๆ ในทุกปีชาวลีซอบ้านเพชรดำจะมีการจัดพิธีกรรมการเลี้ยงผีเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยมีผู้นำทางความเชื่ออยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ผู้นำประกอบพิธีกรรม (มือมือผะ) และหมอผี (หนี่ผะ)
ผู้นำการประกอบพิธีกรรรมหรือมือมือผะ มีบทบาทในการเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ดูแลความสะอาด และคอยดูแลเปลี่ยนน้ำศาลผีประจำหมู่บ้านทุก 15 ค่ำ การดำรงตำแหน่งมือมือผะประจำหมู่บ้านจะต้องผ่านการคัดเลือกตามประเพณีชาวลีซอ โดยการเสี่ยงทายโยนไม้คว่ำไม้หงายที่มีรูปเสี้ยวดวงจันทร์ 2 ไม้ ต่อหน้าศาลผีประจำหมู่บ้าน
หมอผีหรือหนี่ผะ เป็นผู้ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับผีหรือดวงวิญญาณ หมู่บ้านเพชรดำไม่มีหนี่ผะประจำชุมชน เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณจะต้องเชิญหนี่ผะจากชุมชนลีซอหมู่บ้านอื่นมาเป็นผู้นำในพิธีกรรมแทน
นอกจากการนับถือศาลผีประจำหมู่บ้านแล้ว ชาวลีซอบ้านเพชรดำยังมีการนับถือผีบรรพบุรุษภายในครอบครัวโดยสร้างหิ้งบูชาไว้ภายในบ้าน ซึ่งลักษณะหิ้งบูชาของแต่ละสายตระกูลนั้นจะมีความแตกต่างกัน ในขณะที่ชาวลีซอบ้านเพชรดำส่วนใหญ่นับถือผีเป็นศาสนาหลัก แต่ในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนได้เข้าร่วมนับถือศาสนาคริสต์ มีการเข้าโบสถ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันอาทิตย์ ภายในโบสถ์มีการจัดกิจกรรมการสอนภาษาลีซอ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การร้องเพลง เป็นต้น
ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
การแต่งกาย
ปัจจุบันผู้ชายชาวลีซอบ้านเพชรดำในเวลาทำงานหรือวันปกติจะใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดคู่กับกางเกงแบบลีซอ แต่ในวันสำคัญหรือวันที่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ จะแต่งกายด้วยชุดดั้งเดิมของชาวลีซอ ประกอบด้วย
- เสื้อ (อาดู้หยะเบฉึ) เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอกทอด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ ประดับด้วยกระดุมโลหะเงิน
- กางเกง (หมื่อสึ) มีลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วย สีที่นิยม คือ สีตองอ่อน สีฟ้า สีน้ำเงิน และสีดำ
- ผ้าคาดเอว (จิขื้อ) ผ้าคาดเอวของชาวลีซอจะมีพู่ห้อยลงมาด้านหน้ายาวถึงเข่า สีผ้าคาดที่นิยมมากที่สุดคือสีแดง
- ปลอกขา (เฉอจุ) ตัดเย็บจากผ้าสีดำ ไม่มีลวดลาย ขอบด้านล่างจะนำผ้าสีเขียวหรือสีฟ้ามาเย็บทับอีกชั้นหนึ่ง
- กระเป๋า (แหละซ่า) ชาวลีซอนิยมกระเป่าสีขาวแถบแดง มีพู่หลากสีสันห้อยลงมาบริเวณปลายทั้งสองข้างของกระเป๋า
สำหรับผู้หญิงชาวลีซอจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ปัจจุบันผู้หญิงชาวลีซอยังคงแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าในชีวิตประจำวัน แต่จะไม่ใส่เครื่องประดับ เครื่องประดับของผู้หญิงทำมาจากเงิน จะใส่เมื่อเข้าร่วมพิธีกรรมวันสำคัญของชุมชนเท่านั้น ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงชาวลีซอ ประกอบด้วย
- เสื้อ (เมฉึ) มีลักษณะโคร่งใหญ่ ชายเสื้อยาวลงมาถึงปลีน่อง สีเสื้อที่นิยม ได้แก่ สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงิน แถบเสื้อเย็บทับด้วยผ้าที่มีสีแตกต่างจากตัวเสือ้ ส่วนแขนเสื้อต้องเป็นสีแดงหรือสีชมพูเท่านั้น คอเสื้อตัดเย็บด้วยผ้าสีดำแล้วนำผ้าสีต่าง ๆ มาเย็บเป็นลวดลายริ้วเอนมาทางขวา
- กางเกง (มือฉึ) มีลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วย ยาวคลุมเข่า สีที่นิยม คือ สีดำ
- ผ้าคาดเอว (จิขื้อ) นิยมใช้ผ้าสีดำ
- ปลอกขา (เฉอจุ) นิยมตัดเย็บด้วยผ้าสีแดงหรือสีชมพู คาดแถบด้วยผ้าต่างสีมีลวดลาย
- เสื้อกั๊ก (หลี่กั๊ว) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมหรือผ้ากำมะหยี่สีดำ ประดับด้วยลูกปัดหรือเหรียญเงิน
- หมวก (อุ๊ดึเมียจุ) นิยมใช้ผ้าสีดำในการทำพื้นหมวก และประดับตกแต่งตามความชอบของแต่ละคน
- สร้อยคอ (ฉี่หวะเบียแล) ทำมาจากเงิน
- ต่างหู (นาคุ) ทำมาจากเงินมีลักษณะใหญ่และกว้าง
- กำไร (แหละจุ) มีลักษณะเป็นวงกลมหนาและใหญ่ ทำจากเงิน เวลาใส่จะนิยมใส่ข้างละ 1 อัน หรือมากกว่านั้นตามแต่ความชอบ
- กระดุมเงิน เสื้อผ้าการแต่งกายของชาวลีซอจะบ่งบอกได้ถึงฐานะทางครอบครัว สังเกตได้จากกระดุมเงินที่ติดบริเวณเสื้อ หากเสื้อของบุคคลใดติดกระดุมเงินมากแสดงว่าครอบครัวมีฐานะดี กระดุมเงินเม็ดหนึ่งมีราคาประมาณ 8-12 บาท ซึ่งในการเย็บเสื้อหนึ่งตัวจะต้องใช้กระดุมประมาณ 800-1000 เม็ด
อาหาร
ชาวลีซอบ้านเพชรดำนิยมอาหารที่มีรสจืด บริโภคข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก อาหารที่รับประทานมีส่วนประกอบของพืชที่ได้จากการหาซื้อและผลิตผลจากไร่ และเนื้อสัตว์ที่ได้จากการล่าสัตว์และที่เลี้ยงไว้ในครัวเรือน นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านเพชรดำมีร้านขายของชำจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และอาหารคาว อีกทั้งยังมีรถขายสินค้าเข้ามาเร่ขายในหมู่บ้าน อาหารที่ชาวบ้านนิยมซื้อจากรถขายสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา และอาหารทะเล ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ชาวบ้านเนื่องจากไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้าไปซื้ออาหารในตัวเมือง
เครื่องดนตรี
ในหมู่ชาวลีซอมีคติเปรียบเสียงดนตรีดังสัญลักษณ์แทนความรู้สึก ทั้งในยามสุขซึ่งสรวลเสไปด้วยจังหวะแห่งความรื่นเริง และยามทุกข์ในช่วงเวลาแห่งการจากลาเป็นช่วงเวลาที่เสียงดนตรีจะเงียบหาย ชาวลีซอแต่ละหมู่บ้านจะนิยมเล่นเครื่องดนตรีแตกต่างกันไป ในอดีตชาวลีซอบ้านเพชรดำมีเครื่องดนตรีที่ปรากฏอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ซือบึ ฝู่หลู ญือหลุ มากวู และพิหลุ แต่ในปัจจุบันมากวู และพิหลุสูญหายไปแล้ว หมู่บ้านเพชรดำจึงเหลือเครื่องดนตรีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ซือบึ ฝู่หลู และญือหลุ
ซือบึ เป็นเครื่องสายชนิดเดียวของชาวลีซอ มีลักษณะคล้ายซอของไทย นิยมบรรเลงในงานพิธีการต่าง ๆ มีขนาดและสัดส่วนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของ ทำจากไม้ซ้อ ไม้สัก ไม้ตะเคียน หรือไม้เนื้อแข็งชนิดใดก็ได้ มีหนังตะกวดหรือหนังงู สายกีตาร์ ไข่ พลาสติกเนื้อแข็ง ขี้ผึ้ง หวาย และเขาควายเป็นส่วนประกอบ
ฝู่หลู หรือแคนน้ำเต้าของชาวลีซอ ใช้วิธีการเป่าและดูดให้เกิดเสียง ทำมาจากผลน้ำเต้า ไม้เฮี้ย ตัวลิ้ทำจากโลหะทองเหลือง มี 3 ขนาด ได้แก่ ปาลิฝู่หลู ฝู่หลูแหละแหละ และฝู่หลูนาอุ ซึ่งฝู่หลูทั้ง 3 ขนาด มีเสียงที่แตกต่างกันตามขนาดและโครงสร้างของฝู่หลู่
- ปาลิฝู่หลู แคนน้ำเต้าขนาดเล็กที่สุดจากทั้ง 3 ขนาด เสียงที่ออกมามีลักษณะเล็กแหลม ปาลิฝู่หลูจะใช้บรรเลงประกอบเพลงจังหวะสนุกสนาน
- ฝู่หลูแหละแหละ เป็นแคนน้ำเต้าขนาดกลาง ฝู่หลูชนิดนี้ไม่นิยมบรรเลงมากนัก เนื่องจากต้องใช้ลมจำนวนมากในการเป่าให้เกิดเสียง
- ฝู่หลูนาอุ เป๋นแคนน้ำเต้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเสียงที่ทุ้มและใหญ่ นิยมเป่าบรรเลงเพลงช้า จังหวะไม่สนุกสนาน เป็นที่นิยมในหมู่คนชรา
ญือหลุ หรือขลุ่ยของชาวลีซอทำจากไม้เฮี้ย ในอดีตนิยมนำญือหลุไปบรรเลงเพลงกล่อมเด็ก แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม และมีผู้บรรเลงญือหลุได้น้อยมาก ญือหลุแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ญือหลุปาก๊ะ (ขลุ่ยที่เป่าด้านข้าง) และญือหลุจุ๊ติ๊ (ขลุ่ยที่เป่าทางตรง)
- ญือหลุปาก๊ะ ใช้วิธีการผิวปากเป่าลมจากด้านข้างเพื่อทำให้เกิดเสียง มี 6 รู
- ญือหลุจุ๊ติ๊ มี 6 รู เช่นเดียวกับญือหลุปาก๊ะ มีลักษณะคล้ายขลุ่ยไทย เพียงแต่ไม่มีดาก ด้านหลังเลาขลุ่ยมีปากนกแก้ว ใช้วิธีการผิวปากเพื่อทำให้เกิดเสียง
เพลงร้อง
เพลงร้องของชาวลีซอมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ มีรูปแบบการร้องทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม การร้องแบบกลุ่มคือการร้องตอบโต้กันระหว่างชายหญิง ทั้งสองฝ่ายจะมีลูกคู่คอยร้องประสาน ใช้ทำนองเพลงเดียวกันแต่จะเปลี่ยนเนื้อร้องไปเรื่อย ๆ จากการด้นสดเพื่อตอบโต้อีกฝ่ายโดยเนื้อเพลงจะมีเนื้อหากล่าวถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการเกี้ยวพาราสีสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างหนุ่มสาว บทเพลงของชาวลีซอจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวลีซอได้เป็นอย่างดี ช่วงเวลาที่นิยมร้องเพลงมากที่สุดคือช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากชาวลีซอไม่มีภาษาเขียน จึงไม่มีการจดบันทึกเนื้อร้องเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้วิธีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน
ภาษาพูด : ภาษาลีซอ (ติดต่อสื่อสารภายในชุมชน) ภาษาไทย (ติดต่อสื่อสารนอกชุมชน)
ภาษาเขียน : ลีซอไม่มีภาษาเขียน แต่เด็กชาวลีซอรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาสามารถเขียนภาษาไทยได้
ในอดีต ชาวลีซอบ้านเพชรดำส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาเท่าใดนัก เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการช่วยงานครอบครัวและทำมาหากินอย่างเดียว ทำให้ไม่สามารถอ่านและเขียนอักษรภาษาไทยได้ แต่ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่มีโอกาสรับการศึกษาจากสถานศึกษาของภาครัฐ และเข้าไปประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการ ปัจจุบันชาวลีซอบ้านเพชรดำเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถานศึกษา เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหมู่บ้านเพชรดำ โรงเรียนอนุบาลเขาค้อ (เจริญทองนิ่ม) โรงเรียนแคมป์สน และโรงเรียนร่มเกล้า เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว บางส่วนที่ไม่ศึกษาต่อจะกลับมาช่วยงานพ่อแม่ ส่วนที่ศึกษาต่อจะเข้ารับการศึกษาในระดับอาชีวะ และอุดมศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สานต่อแนวทางการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม
นอกจากการศึกษาในสถานศึกษาระดับชั้นต่าง ๆ แล้ว ชาวลีซอบางส่วนที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ ทว่ายังคงเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษา มักจะเข้าใช้บริการศูนย์แม่ฟ้าหลวงภายใต้ความดูแลการศึกษานอกโรงเรียน ที่ได้เปิดการเรียนการสอนภาษาไทยแก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในหมู่บ้านเพชรดำและหมู่บ้านใกล้เคียง
เฉลิมกิต เข่งแก้ว. (2548). เครื่องดนตรีของชาวเขาเผ่าลีซอ: กรณีศึกษา “ซือบึ” บ้านเพชรดำ ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ทุ่งกังหันลมเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ จุดเช็คอินยอดนิยมบนเขาค้อ. (2564). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://welovetogo.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].