ชุมชนคลองยอ หมู่บ้านที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าพรุ และป่าสวนยาง ซึ่งสามารถคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ด้วยภูมิปัญญาจากการบริหารจัดการทรัพยากรของคนในชุมชน
ในอดีตมีต้นยอขึ้นอยู่บริเวณริมคลองในพื้นที่หมู่บ้านเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านคลองยอ”
ชุมชนคลองยอ หมู่บ้านที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าพรุ และป่าสวนยาง ซึ่งสามารถคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ด้วยภูมิปัญญาจากการบริหารจัดการทรัพยากรของคนในชุมชน
บ้านคลองยอเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2444 ชาวบ้านรายแรกที่เริ่มเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในบ้านคลองยอทราบว่าชื่อ “หมง” ไม่ทราบนามสกุล เดิมบ้านคลองยอขึ้นอยู่กับบ้านท่าหยี ตําบลท่าม่วง อําเภอเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมามีการแบ่งเขตตําบลเป็นตําบลวังใหญ่ จึงมีการแบ่งพื้นที่บ้านท่าหยีบางส่วนออกมาเป็นบ้านคลองยอ ตําบลวังใหญ่ อําเภอเทพา จังหวัดสงขลา
บ้านคลองยอเดิมเคยชื่อ ทัพไข่เน่า เนื่องจากมีตำนานเล่าว่า ในอดีตมีกองทัพมาตั้งทัพในพื้นที่แห่งนี้ แล้วทำการปลูกกระท่อมเล็ก ๆ ใต้ต้นไข่เน่า จึงเรียกว่า “ทัพไข่เน่า” ต่อมามีต้นยอขึ้นอยู่ริมคลองเป็นจำนวนมาก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านคลองยอ”มาจนถึงปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 4 บ้านวังใหญ่ และหมู่ที่ 6 บ้านพรุตู ตําบลเกาะสะบ้า
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 2 บ้านพรุกง หมู่ 5 บ้านทุ่งหรี่ และหมู่ 7 บ้านโหล๊ะบอน ตําบลวังใหญ่
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตําบลเทพาและตําบลลําไพล
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตําบลสะพานไม้แก่น อําเภอจะนะ
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ตั้งชุมชนบ้านคลองยอมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา หรือ “ควน” ตามภาษาถิ่นภาคใต้ มีลําคลองไหลผ่านแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างบ้านคลองยอหมู่ที่ 1 และบ้านใหม่ หมู่ที่ 4 เส้นทางลําคลองไหลอ้อมท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณที่นารกร้าง พื้นที่รอบหมู่บ้านใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสวนยางพาราที่บริเวณริมฝั่งถนนมีสวนผลไม้บ้างประปราย
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่บ้านคลองยอแบ่งเป็น 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลา 9 เดือน แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ช่วงนี้เป็นช่วงต้นฝน จะมีฝนตกน้อย เป็นช่วงเวลาของการปลูกพืชที่ต้องการน้ำ เช่น มันขี้หนู ข้าวโพด เป็นต้น ระยะที่สอง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ช่วงนี้จะมีฝนตกชุกและมีปริมาณมาก ส่วนฤดูแล้งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยางพาราจะผลัดใบ สวนยางพาราบางสวนจะปิดหน้ายางพาราหรือการหยุดในช่วงนี้
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านคลองยอมีการจัดสรรที่ดินในหมู่บ้านออกเป็นสัดส่วน ได้แก่ ที่สวน ที่ไร่ และป่าพรุที่ดินสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านบริเวณทุ่งสะพานควายและทุ่งโคกขี้เตย ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่สวนปาล์ม นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สวนป่ายางพารา ในบริเวณนี้มีพืชผักจำนวนมากขึ้นแซมกับต้นยางพารา เช่น เต้าร้าง ตาเป็ด ตาไก่ ก้ามกุ้ง ช่วงหลังฝนตกจะมีเห็ดเสม็ดขึ้นบริเวณใต้ต้นกระถินเทพา สัตว์ที่พบมากในพื้นที่สวนป่ายางพารา คือ ไก่ป่า ซึ่งมักจะมาทำรังบริเวณสวนแห่งนี้
การตั้งบ้านเรือน
ชุมชนบ้านคลองยอมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนแบบเรียงต่อกัน พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนมากจะเป็นสวนยางพาราและผลไม้เมืองร้อนพวก มังคุด ทุเรียน ลองกอง มะพร้าว บริเวณท้ายหมู่บ้านมีชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละบริเวณ ท้ายหมู่บ้านทางทิศตะวันออกเรียกว่าฝั่งออกนา เนื่องจากอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกของนา ทางทิศใต้เรียกฝั่งสะพานควาย เนื่องจากในอดีตบริเวณคลองน้ำที่ชาวบ้านนิยมนำควายมาเลี้ยง ลักษณะบ้านหากเป็นบ้านในอดีตดั้งเดิมนิยมสร้างด้วยไม้ยกสูง แต่ปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยปูนทั้งชั้นเดียวและสองชั้นตามความพึงพอใจ
บ้านคลองยอมีประชากรจำนวน 1,109 คน ภายในหมู่บ้านมีทั้งประชากรชาวไทยพุทธ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด รองลงมา คือ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน
โครงสร้างทางครอบครัวของชาวบ้านคลองยอมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ แต่เป็นการอยู่อาศัยต่างหลังคาเรือนของพ่อแม่ และลูกที่แต่งงานแล้ว ทว่า ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินผืนเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านคลองยอประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก อาชีพรองคือการเข้ารับราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนอาชีพรอง คือ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
กลุ่มชุมชน
- กลุ่มเครื่องแกงข้าวยํา : มีการผลิตเครื่องแกงข้าวยําออกจําหน่าย ใช้วัตถุดิบในชุมชน
- กลุ่มเครื่องแกงบ้านคลองยอ : มีการใช้วัตถุดิบในชุมชนในการผลิตเครื่องแกงส่งออกจำหน่ายในต่างพื้นที่
- กลุ่มฌาปนกิจศพบ้านคลองยอ : มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการเงินเบื้องต้นกับครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิต
- กลุ่มดอกไม้จันทน์ : มีกิจกรรมผลิตดอกไม้จันทน์จากกระดาษสาเพื่อจําหน่าย
- ธนาคารหมู่บ้าน : มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้มีเงินออมสำหรับใช้เป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ
- ร้านค้าชุมชน : เป็นการจัดการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาถูก อีกทั้งยังได้รับปันผลจากการใช้จ่ายซื้อสินค้า
- โรงน้ำดื่มชุมชน : เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด
- กลุ่มกองทุนสวัสดิการลดรายจ่ายวันละ 1 บาท (สัจจะ) : มีวัตถุประสงค์ให้คนในชุมชนรู้จักออมเงินไว้วันละ 1 บาท
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) : ดําเนินโครงการรณรงค์สุขภาวะต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การดูแลลูกน้ำยุงลาย
- กองทุนหมู่บ้าน : เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้มีเงินออมสำหรับใช้เป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ
- กลุ่มน้ำยางสด : บริหารจัดการรับซื้อขายน้ำยางสดจากชาวสวนยางในหมู่บ้าน
- กลุ่มเกษตรกรรมพื้นบ้าน : ดําเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกพืชผักสายพันธุ์พื้นบ้าน
- กลุ่มปศุสัตว์ : ให้คําปรึกษาแนะนําเรื่องการดูแล เลี้ยงดู และการรักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยง
เนื่องจากชาวบ้านคลองยอส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในหมู่บ้าน จึงมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อกับเรื่องวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ โดยในแต่ละปี บ้านคลองยอจะมีประเพณีชุมชนที่สำคัญ ดังนี้
- ประเพณีบุญวันว่าง : หมายถึง การว่างเว้นจากการทําสวน ทําไร่ และว่างเว้นจากการประพฤติผิดต่าง ๆ ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ที่วัดคลองยอจะมีการตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมในช่วงเช้า และมีการล้างบัวในช่วงบ่าย (เจดีย์สําหรับใส่อัฐิของบรรพบุรุษ)
- ประเพณีรับเทวดา : จัดขึ้นทุกวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 (ช่วงวันที่ 28 เมษายน 2561) บริเวณอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน และจัดทุกปี การเตรียมงานเริ่มจากทําร้านจากไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นบ้าน มีชั้นและหลังคาตรงกลางมีร้านรอบนอกบ้าน ซึ่งการทําชั้นแบบนี้มีความเชื่อว่าเป็นการเปรียบเทียบเสมือนสวรรค์ 15 ชั้น โดยในช่วงบ่ายโมงของวันรับ ชาวบ้านจะทำขนมโคและข้าวเหนียวมูลจัดเตรียมใส่สำรับเล็ก ๆ เพื่อในช่วงเย็นจะได้นำไปวางที่ร้านบริเวณป่าช้าวัดคลองยอ มีหมอธรรมประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม
- ประเพณีเชิญพระเขาสูง : เป็นประเพณีการเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาบนเขาสูง เทือกเขาที่สูงที่สุดในตําบลวังใหญ่ แต่ก่อนจะเชิญพระขึ้นเขาได้นั้น ชาวบ้านในตำบลวังใหญ่ต้องทำพิธีเชิญพระลงเขาเสียก่อน โดยจะขึ้นไปนอนที่เขาสูง 1 คืน แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปลงมาในเวลารุ่งเช้า การเชิญพระลงมาจะทําโดยการนำพระพุทธรูปผูกติดกับหลังของผู้เชิญ ผลัดเปลี่ยนกันเรื่อย ๆ จนลงมาถึงข้างล่าง เพื่อให้คนในชุมชนได้สรงน้ำพระในวันสงกรานต์ จากนั้น 10 วัน จึงจะเป็นการเชิญพระพุทธรูปกลับไปประดิษฐานบนเขาสูงอีกครั้ง
นอกจากประเพณีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บ้านคลองยอยังมีประเพณีพิธีกรรมสำคัญ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน โดยมักจะจัดขึ้นตามวาระโอกาสต่าง ๆ ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน ได้แก่ มโนราห์โรงครู และเชิดหนังตะลุง
- มโนราห์โรงครู : มีบทบาทเป็นทั้งพิธีกรรมการแก้บน และการทำบุญให้กับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ มีสองประเภท คือ มโนราห์โรงครูเล็ก จะจัด 1 วัน 1 คืน และมโนราห์โรงครูใหญ่ จะจัด 3 วัน 2 คืน พิธีกรรมช่วงกลางวันจะเป็นการร่ายรํา 12 บท ส่วนกลางคืนจะเป็นพิธีการเชิญบรรพบุรุษมาเข้าทรงเพื่อพบปะกับญาติพี่น้อง อาจกล่าวได้ว่า มนโนราห์โรงครูเป็นงานรวมญาติงานหนึ่งก็ว่าได้
- เชิดหนังตะลุง : ชาวบ้านเชื่อว่าการจ้างหนังตะลุงมาแสดงเปรียบเสมือนการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ในบางครั้งนิยมจ้างมาแก้บน
1. คุณตาครื้น ไม่ทราบนามสกุล: ผู้นำทางความเชื่อของชาวบ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนประเพณีประจำปีต่าง ๆ ของชุมชนบ้านคลองยอ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
น้ำประปา
ในอดีตชาวบ้านคลองยอใช้จากบ่อน้ำสาธารณะ ซึ่งมีทั้งหมด 3 บ่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อน้ำตื้นใกล้คลองยอ แต่ปัจจุบันชุมชนคลองยอทุกครัวเรือนมีน้ำประปาสะอาดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำประปาจากประปาภูเขาใช้เสริมด้วย
การคมนาคม
การเดินทางจากชุมชนไปสู่ตัวเมืองเทพา มีถนนสายวังใหญ่-ป่ากอ ตัดผ่านหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคมภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตที่สามารถใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนบุคคลสัญจรได้ การคมนาคมระหว่างตําบลและอําเภอใช้รถโดยสารประจําทาง นอกจากนี้ ยังมีรถตู้เดินรถผ่านเส้นทางอำเภอหาดใหญ่-ถ้ำตลอด ผ่านหมู่บ้านในราคา 120 บาทต่อคน
กิตติภพ ศรีคงแก้ว. (2560). หมู่บ้านสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต หมู่ที่ 1 บ้านคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา (รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://songkhla.cdd.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].
ณัฐนิชา จันทิพย์. (2560). แนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผักพื้นบ้านในชุมชนบ้านคลองยอ. วิทยานิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.