ชุมชนที่เลี้ยงชีพด้วยการทำประมง อาหารทะเลสดและสะอาด มีการนั่งเรือสักการะศาลสมเด็จพระนเรศวรย้อนรอยประวัติศาสตร์กองทัพเรือสมเด็จพระนเรศวร
การเดินทางสู่ตำบลอ่าวใหญ่ ต้องเดินทางโดยทางเรือ เมื่ออยู่ในทะเลจะมองเห็นพื้นที่มีลักษณะเว้าจากบ้านแหลมพร้าวจนถึงบ้านคันนาเป็นวงอ่าวที่กว้างใหญ่ จึงเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "บ้านอ่าวใหญ่"
ชุมชนที่เลี้ยงชีพด้วยการทำประมง อาหารทะเลสดและสะอาด มีการนั่งเรือสักการะศาลสมเด็จพระนเรศวรย้อนรอยประวัติศาสตร์กองทัพเรือสมเด็จพระนเรศวร
อ่าวใหญ่ หรือเกาะกูด เป็นเกาะสุดท้ายของเส้นชายแดนของไทยด้านตะวันออกอยู่ในเส้นทางการค้ามีเรือสำเภาเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายกันแต่โบราณ บริเวณนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น เป็นสถานที่ลี้ภัยของพระเจ้าเวียดนาม ยาลอง (องเชียงสือ) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งการปักปันเขตแดนเมื่อฝรั่งเศสยึดดินแดนปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุที่อ่าวใหญ่มีทำเลที่ดีสำหรับการจอดเทียบเรือน้อยใหญ่ จึงเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งสำหรับการเดินทางทางเรือในอดีต
ย้อนกลับไปมีเรื่องเล่าว่า "ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตราด ยังมีชื่อเดิมเรียกว่า 'บ้านบางพระ' โดยมีความสำคัญเพราะเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ที่ไว้รักษาความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศ จนมาถึงช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ประมาณ ปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมไพร่พลและเรือสำเภาต่าง ๆ เพื่อไปขับไล่เมียนมา"
บ้านอ่าวใหญ่ เป็นชุมชนเก่าแก่ของคนเกาะกูด หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านทางทิศใต้ของเกาะกูดที่อยู่ไม่ห่างจากแผ่นดินกัมพูชามากนัก แม้จะไม่มีชายหาดทอดยาวแบบส่วนอื่นของเกาะ แต่ด้วยลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่โอบล้อมด้วยขุนเขา จึงกลายเป็นจุดจอดเรือหลบมรสุม เลยทำให้ความเป็นมาของหมู่บ้านอ่าวใหญ่ที่มีมาช้านานในด้านของการเดินทางคมนาคมระหว่างหลายประเทศ เช่น ญวน เขมร จีน จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมต่าง ๆ เอาไว้มากมาย
เมื่ออดีต ตำบลอ่าวใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ยื่นออกไปในทะเลอ่าวตราด ประมาณ 10 กิโลเมตร มีน้ำล้อมรอบ ทั้ง 3 ด้าน ชาวบ้านในสมัยก่อนจะใช้ภูมิประเทศเรียกเป็นชื่อบ้านนั่นเอง
ก่อนปี พ.ศ. 2500 ตำบลอ่าวใหญ่เป็นตำบลที่ไม่มีถนน การคมนาคมเข้าไปในเมืองตราด ต้องใช้เรือ ซึ่งเป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น มีทั้งเรือแจว และเรือใบ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เข้าสู่ตลาดริมคลองบางพระ สืบเนื่องมาจากการเดินเรือ เมื่ออยู่ในทะเลจะเห็นพื้นที่เว้าจากบ้านแหลมพร้าว ถึงบ้านคันนาเป็นวงอ่าวที่กว้างใหญ่ระยะความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร จึงติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "บ้านอ่าวใหญ่"
ในปี พ.ศ. 2446 นั้นสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงทำสนธิสัญญากับชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 ภุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 (ร.ศ.122) ทำให้ไทยต้องยกดินแดน จังหวัดตราด และเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ไปจนถึงเกาะกูด และเมืองปัจจันตคีรีเขต หรือ เกาะกง ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสถอนกองทหารไปจากจันทบุรี จนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 ก็ทรงยอมยกดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส เพื่อเป็นการแลกเอาเมืองตราดและเกาะต่าง ๆ กับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนมา ชาวตราด ก็เลยได้ถือเอาวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันเอกราชของจังหวัดตราด และได้มีการจัดงาน วันตราดรำลึก ขึ้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงรักษาเมืองตราดเอาไว้ให้คงอยู่และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านอ่าวใหญ่เป็นชุมชนหนึ่งบนเกาะกูด ที่มีน้ำตกคลองเจ้าที่เป็นน้ำตกประวัติศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2524 และได้ทรงพระราชทานนามว่า "น้ำตกอนัมก๊ก" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงองเชียงสือ กษัตริย์ญวนที่เคยลี้ภัยเข้ามาอาศัยแผ่นดินไทยในสมัยรัชกาลที่ 1
ปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลอ่าวใหญ่ นับว่าถูกจำกัด เนื่องด้วยบ้านอ่าวใหญ่ที่ไม่มีหาดลงเล่นน้ำจึงมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาเพียงจำนวนน้อย ประกอบกับชาวบ้านที่มีความรักในธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติของที่นี่ยังคงสมบูรณ์อยู่อย่างมาก สังเกตได้จากน้ำทะเลใต้ถุนบ้านแทบจะไม่มีขยะ มีปลาขนาดเล็กใหญ่เข้ามาอยู่อาศัย ถือว่าเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี
บ้านอ่าวใหญ่ตั้งอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวใหญ่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ดินปนทราย เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคันนา หมู่ที่ 5 ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมืองตราด จังหวัดตรด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านอ่าวช่อ หมู่ที่ 2 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวตราด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแหลมหญ้า หมู่ที่ 3 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด และทะเลอ่าวตราด
จากข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ระบุจํานวนครัวเรือนและประชากรบ้านอ่าวใหญ่ ในปี 2559 มีจํานวน 271 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 688 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 321 คน หญิง 367 คน
บ้านอ่าวใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร ครัวเรือนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มที่ตั้งขึ้นในหมู่บ้าน และมีการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของชุมชน มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านมีลักษณะเอื้ออาทรต่อกัน มีการประกอบอาชีพทำสวน ประมง ค้าขาย รับราชการ รับจ้าง และธุรกิจส่วนตัว
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
บ้านอ่าวใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และมีการร่วมกันอนุรักษ์ปะการังโดยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติภายในบ้านอ่าวใหญ่
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก ของประชาชนบ้านอ่าวใหญ่ คือ ทำการเกษตร ทำสวนผลไม้ ประมง
- อาชีพรอง คือ การรับจ้าง ค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว อาชีพเสริมคือ การเลี้ยงหอยนางรม และธุรกิจร้านอาหาร
ทุนวัฒนธรรม
วัดอ่าวใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ภายในวัดประกอบไปด้วย พระอุโบสถ ลักษณะรูปทรงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก และศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยวัดอ่าวใหญ่ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน
แต่เดิมก่อนที่จะสร้างเป็นวัดอ่าวใหญ่ ชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในตำบลอ่าวใหญ่ ไม่มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ไม่มีวัดให้สาธุชนได้พึ่งพาอาศัยทางจิตใจ จึงได้ทำการจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นมาในพื้นที่หมู่บ้านแหลมตะเคียน หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวใหญ่ ในเวลาต่อมาชาวบ้านเห็นว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมมากกว่าในการสร้างเป็นสำนักสงฆ์ เนื่องจากมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก และมีน้ำใช้สอยอย่างพอเพียง จึงช่วยกันย้ายสำนักสงฆ์จากที่เดิม สำหรับภายในพระอุโบสถวัดอ่าวใหญ่มีพระประธาน คือ พระพุทธชินราช เพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะบูชา ส่วนตัวโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นอย่างสวยงาม
ปัจจุบันการท่องเที่ยวบ้านอ่าวใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึงโรงแรม รีสอร์ทบนเกาะกูด ต่างช่วยกันแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชม ทำให้บ้านอ่าวใหญ่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านอ่าวใหญ่มีความรักในทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง และช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของชุมชนนี้
มีกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์ปะการัง และยังเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่นักท่องเที่ยวนิยม โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านจะเป็นผู้ทำกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด ได้แก่ ปูไก่ ปลาเก๋าปะการังลายจุด ปลาย่ำสวาท และมีการย้อนรอยประวัติศาสตร์กองทัพเรือสมเด็จพระนเรศวร
กศน. ตำบลอ่าวใหญ่. (ม.ป.ป.). ประวัติตำบล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก: http://trat.nfe.go.th/tumbon/aoyai/
กรมพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด. (2559). สารสนเทศบ้านอ่าวใหญ่. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
Touronthai. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2566, จาก: https://www.touronthai.com/
Travel2guide. (ม.ป.ป.). บ้านอ่าวใหญ่ เกาะกูด จ.ตราด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก: https://www.travel2guide.com/