Advance search

บ้านขุนสมุทรจีน

ชุมชมกลางน้ำเก่าแก่ แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุเครื่องสังคโลก ถ้วยชามจีนโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง อายุกว่า 300 ปี  

บ้านขุนสมุทรจีน
แหลมฟ้าผ่า
พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านขุนสมุทรจีน

ชื่อหมู่บ้านขุนสมุทรจีนมาจากลักษณะของประชากรกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีต้นตระกูลเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ชุมชนชนบท

ชุมชมกลางน้ำเก่าแก่ แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุเครื่องสังคโลก ถ้วยชามจีนโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง อายุกว่า 300 ปี  

บ้านขุนสมุทรจีน
แหลมฟ้าผ่า
พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
10290
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-6792-2901, อบจ.แหลมฟ้าผ่า โทร. 0-2819-5392
13.50686597
100.5311
องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า

บ้านขุนสมุทรจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี ในอดีตเคยเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าจากเรือสำเภาจีนบริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเข้าสู่บางกอกและกรุงศรีอยุธยาของเรือสินค้าและเรือพาหนะจากประเทศต่าง ๆ ประชากรส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนอพยพมากับเรือสำเภาที่เข้ามาค้าขายบริเวณวัดแหลมฟ้าผ่าเดิม และเนื่องจากแผ่นดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ทําให้พ่อค้าชาวจีนชักชวนกันมาตั้งชุมชนในบริเวณนี้ และทําเป็นท่าจอดเรือสินค้าก่อนเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานปรากฏจากแหล่งชุมชนโบราณ ซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ อาทิ ชาม ไห เงินตราโบราณ เครื่องสังคโลก รวมถึงซากโครงกระดูกซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงแรก วัตถุโบราณเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการค้นพบในหาดดินเลน สืบเนื่องจากการพังทลายของที่ดินชายฝั่ง โดยเฉพาะในเหตุการณ์พายุลินดา โบราณวัตถุจำนวนมากถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นมาเรียบบนชายฝั่ง ชาวบ้านเรียกพื้นที่ที่ค้นพบวัตถุโบราณนี้ว่า “โคกเก่า” ทางทิศตะวันตกของวัดสมุทราวาส ซึ่งจากการตรวจหาอายุวัตถุโบราณที่ค้นพบบริเวณโคกเก่า น่าจะอยู่ที่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 สมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นช่วงอายุระหว่างสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง (รัชกาลที่ 4-5) ดังนั้นชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนจึงอาจจะมีการเริ่มตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาเดียวกัน และมีความเป็นไปได้ที่ในอดีตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเคยเป็นชุมชนเมืองท่าซึ่งเป็นจุดแวะพักเรือสําเภามาก่อน 

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีลักษณะทางกายภาพเป็นชุมชนชาวประมงขนาดเล็กติดริมฝั่งทะเลอ่าวไทยทางด้านตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่หมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยน้ำทะเล ไม่มีถนนตัดผ่าน พื้นที่ทางใต้ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทําให้เกิดแผ่นดินทรุดและมีน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้ภูมิประเทศเดิมที่มีแหลมยื่นออกไปในทะเลหดหายไป พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนจึงถูกทําเป็นบ่อเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู และหอยแครง ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินโคลนจึงไม่เหมาะสําหรับการทําการเกษตร

สถานที่สำคัญ

โรงเรียนบ้านขุนสมุทรจีน : เป็นสถานศึกษาเพียงแห่งเดียวของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย  

วัดขุนสมุทราวาสหรือวัดขุนสมุทรจีน : เป็นวัดแห่งเดียวในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน แต่เดิมเป็นเพียงสํานักสงฆ์ขนาดเล็ก ต่อมานายจือ ฮวดสุวรรณ ได้บริจาคที่ดินสร้างวัดและโรงเรียน จึงได้พัฒนากลายมาเป็นวัดขุนสมุทราวาสเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว วัดขุนสมุทราวาสถูกห้อมล้อมด้วยน้ำทะเลทุกทิศทาง ทําให้พระอุโบสถเสียหายไปบางส่วน

ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย : เป็นศาลเจ้าจีนที่มีความเก่าแก่กว่า 100 ปี และเป็นที่เคารพของคนในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนและชุมชนใกล้เคียง แรกเริ่มศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชายเป็นเพียงศาลเจ้าขนาดเล็กทําจากไม้ หลังคามุงด้วยจาก ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล ก่อนย้ายมาอยู่ในชุมชน โดยได้รับการบูรณะใหม่เป็นแบบเก๋งจีนขนาดใหญ่ ภายในจะประดิษฐานรูปไม้จําหนักเป็นรูปเด็กจีนไว้ผมแกละทั้งสองข้าง

แหล่งวัตถุโบราณพิพิธภัณฑ์บ้านขุนสมุทรจีน : สถานที่รวบรวมวัตถุโบราณจําพวกชาม ไห เงินตราเงินพดด้วง เครื่องสังคโลก ชุดถ้วยชามจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง รองเท้าเกี๊ยะไม้สูง ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไว้สวมใส่สำหรับเดินในพื้นที่ที่มีน้ำสูง ฯลฯ มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสําหรับคนในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน และนักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยือนชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน หมู่ที่ 9 ตําบลแหลมฟ้าผ่า อําเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจํานวนประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมด 165 ครัวเรือน 384 คน มีประชากรชายจํานวน 185 คน และประชากรหญิงจํานวน 199 คน (อริสรา เสยานนท์, 2553 อ้างถึงในสุดธิดา อิทธาภิชัย, 2561) ซึ่งในปี พ.ศ. 2517 จํานวนประชากรของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีมากกว่า 2,000 กว่าครัวเรือน แต่หลังจากปี พ.ศ. 2517 จนถึงปัจจุบัน ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ พื้นที่ของชุมชนขุนสมุทรจีนค่อย ๆ ลดลง ทําให้คนในพื้นที่ต้องอพยพย้ายออกไปจากชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นจํานวนมาก

จีน

ชาวชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นแรงงานประมงชายฝั่ง และรับจ้างทั่วไป รองลงมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทําประมงชายฝั่ง มีการประกอบค้าขายบ้ง แต่เป็นส่วนน้อย ชาวบ้านผู้ชายที่ประกอบอาชีพรับจ้างการทําประมงชายฝั่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างงมหอย จับปลา จับกุ้ง หรือ ขุดดิน ลอกดินเลน โดยอัตราค่าแรงประมาณวันละ 300-400 บาท ส่วนผู้หญิงหากออกไปรับจ้างจะได้ค่าแรงประมาณ 250-300 บาท

การทําประมงชายฝั่งทะเลจะเริ่มช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ชาวเรือจะออกไปรุนเคยรุนกุ้ง ส่วนคนที่มีเงินทุนมากก็จะออกไปหาปลากุเลา ซึ่งช่วงที่จะมีปลาเยอะจะเป็นช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ในอดีตออกเรือครั้งหนึ่งจะจับปลาได้เป็นจํานวนมาก เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาโอ ปลาทู ปลากระบอก ปลาไส้ตัน ฯลฯ ภายหลังจับมามาได้แล้วจะนำไปขายที่ตลาดปากน้ำ และตลาดสงขลา นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ทะเล เช่น กุ้งแห้ง กะปิ ปลาตากแห้ง ฯลฯ รวมถึงพืชผักที่หาได้ในท้องถิ่นออกไปจำหน่ายร่วมด้วย

นอกจากรายได้จากการทำประมงและการรับจ้างแล้ว ชาวชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนยังมีรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ซึ่งนับว่าเป็นรายได้เสริมที่สําคัญสําหรับชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เนื่องจากการท่องเที่ยวโฮมสเตย์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวภายในชุมชน ทําให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว เช่น การนําเที่ยว การขายสินค้าแปรรูป เรือโดยสารท่องเที่ยว และการขายอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว จนอาจกล่าวได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ ธุรกิจโฮมสเตย์กำลังจะกลายมาเป็นรายได้หลักของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนแล้วก็ว่าได้ 

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ เดิมกล่าวกันมาว่ามีชาวประมงไปพบกับรูปสลักรูปเด็กขณะออกไปหาปลา ซึ่งชาวประมงเองก็ได้โยนทิ้งไปในทะเลหลายครั้งแต่ก็ยังมาติดอวนหาปลาอยู่ทุกครั้ง ชาวประมงจึงนํารูปแกะสลักไปไว้ที่ศาลเจ้าเล็ก ๆ ริมชายฝั่ง ต่อมาชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเกิดปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง จึงได้มีการย้ายศาลเจ้าไปตั้งไว้ที่ใหม่ ทั้งนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าได้ขอพรจากเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชายแล้วจะประสบผลสําเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการงาน และการเรียน นอกจากนี้ หากคนภายในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีลูกเป็นผู้ชายจะยกให้เป็นลูกของเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย แล้วจะไว้ผมแกละลักษณะเดียวกับเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย วัฒนธรรมหนึ่งของคนในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนที่แสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่มีต่อเจ้าพ่อหนุ่มลอยชาย คือ การไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ยกเว้นอาหารทะเล

งานประเพณีที่สําคัญของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน คือ งานศาลเจ้าเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย แต่เดิมจะจัดในช่วงฤดูฝน ต่อมาได้เปลี่ยนมาจัดช่วงปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคมของทุกปี เนื่องจากช่วงฤดูฝนดินในหมู่บ้านจะกลายเป็นดินเลน ทําให้สัญจรไปมาไม่สะดวก

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมจีนก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมที่ชาวบ้านขุนสมุทรจีนได้รับสืบทอด โดยสะท้อนผ่านการใช้ภาษาภายในชุมชน แม้ว่าในปัจจุบันคนภายในชุมชนจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่ยังคงมีการใช้ภาษาจีนหลงเหลืออยู่บ้าง ส่วนทางด้านวัฒนธรรมไทยที่สืบสานกันเป็นประเพณีภายในชุมชน เช่น งาน ทอดกฐินสามัคคี ณ วัดขุนสมุทราวาส ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมของบ้านขุนสมุทรจีนจะมีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมแบบจีนร่วมกับเอกลักษณ์ของชาวประมง อาทิ ก่อนออกเรือประมง ชาวบ้านจะมาขอพรที่ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชายทุกครั้งให้คุ้มครองจากอันตรายที่อยู่ในทะเล หรืองานประติมากรรมที่หน้าต่างไม้สักแกะสลักวัดขุนสมุทราวาส บอกเล่าเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก รวมไปถึงประตูโบสถ์ที่จําหลักรูปเจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้งสี่ ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่แสดงออกถึงความเป็นไทยและแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีแหล่งรวมรวมวัตถุโบราณพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขุนสมุทรจีน สถานที่เก็บสะสมรวบรวมและจัดแสดงวัตถุโบราณ เช่น เครื่องสังคโลก เงินพดด้วง ฯลฯ รวมถึงประเพณีของชุมชน อาทิ งานฉลองศาลเจ้าเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชายหรืองานแก้บนเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย จะมีการเฉลิมฉลอง และจัดแสดงลิเกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตลอดจนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การทอดกฐิน สามัคคี ณ วัดขุนสมุทราวาส วัฒนธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นทรัพยากรสำคัญที่ก่อให้เกิดการก่อตั้งโฮมสเตย์ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ในการจัดการการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสร่วมสัมผัสกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตริมชายฝั่งทะเลของชาวชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน

ทุนทางภูมิปัญญา

ขาเกี๊ยะ เป็นไม้กระดานสองแผ่นติดกันทั้งข้างบนและข้างล่าง โดยจะมีเสา 3 เสา เป็นตัวรองรับน้ำหนัก มีความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร และจะมีการใช้เชือกฟางนํามาผูกเป็นหูรองเท้า อุปกรณ์นี้เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นมาสำหรับใส่เดินในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยวิธีการใส่จะใส่สวมเหมือนเหมือนรองเท้าแตะหูหนีบ และในบางครั้งชาวบ้านจะใส่ขาเกี๊ยะขณะไปใส่ไสกุ้งไสเคย เนื่องจากขาเกี๊ยะจะช่วยป้องกันการโดนเงี่ยงปลาตำเท้า (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน)

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง และภาษาจีน

ภาษาเขียน : ภาษาไทย และภาษาจีน 


ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เป็นหมู่บ้านที่ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนสำหรับการน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีท่อประปาต่อเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ ทั้งยังมีการสร้างหอส่งน้ำและถังกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของคนภายในชุมชน ต่างจากในอดีตที่ชาวบ้านจะต้องเตรียมตุ่มสำหรับกักเก็บน้ำฝนเพื่ออุปโภคบริโภค หากปีใดฝนน้อย ชาวบ้านก็จะต้องซื้อน้ำจากชาวมอญที่ล่องเรือสําปั่นเข้ามาขายน้ำจืด หรือบางครั้งต้องนําตุ่มใส่น้ำลงเรือไปซื้อน้ำจืดที่ขายอยู่ในตลาดปากน้ำ ส่วนไฟฟ้าได้เข้ามาถึงในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เสาไฟฟ้าเสาแรกตั้งอยู่กลางทะเล เนื่องจากชายฝั่งทะเลได้หดหายทําให้ต้องมาตั้งเสาไฟฟ้าไว้ที่แนวคลองขุนสมุทรไทยแทนที่ตั้งเสาไฟฟ้าเดิม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Gplace. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ได้จาก https://www.gplace.com

สุดธิดา อิทธาภิชัย. (2561). การจัดการท่องเที่ยวเพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.