Advance search

บ้านบุ

ชุมชนช่างโบราณอายุกว่า 200 ปี สืบสานภูมิปัญญาการทำขันลงหินอันเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ภายในชุมชน โดยวัดนี้ถือเป็นวัดที่สำคัญเพราะถูกใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ชุมชนยังมีการอนุรักษ์สำนักกระบี่กระบองที่สืบสานมาตั้งแต่อดีต

ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32
ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
กนกวรรณ อินต่าย
20 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
บ้านบุ

ชื่อ "บ้านบุ" นั้นมีข้อสันนิษฐานสองข้อด้วยกัน คือ ข้อสันนิษฐานแรกเป็นชื่อเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และข้อสันนิษฐานต่อมาเป็นชื่อที่ตั้งตามอาชีพของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ประกอบอาชีพทำขันลงหิน ซึ่งจะเรียกช่างที่ทำว่า ช่างบุ จึงมีการใช้คำว่า "บุ" เป็นชื่อชุมชน


ชุมชนช่างโบราณอายุกว่า 200 ปี สืบสานภูมิปัญญาการทำขันลงหินอันเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ภายในชุมชน โดยวัดนี้ถือเป็นวัดที่สำคัญเพราะถูกใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ชุมชนยังมีการอนุรักษ์สำนักกระบี่กระบองที่สืบสานมาตั้งแต่อดีต

ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32
ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
10700
สำนักงานเขตบางกอกน้อย โทร. 0-2424-0056
13.762339716302856
100.47893375098069
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนบ้านบุ เป็นชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ที่มีอายุกว่า 200 ปี สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษชาวบ้านบุนั้นอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 โดยกลุ่มคนที่อพยพมานั้นเป็นช่างศิลป์ชาวอยุธยาที่ประกอบอาชีพช่างบุ แต่ไม่พบข้อมูลที่แน่ชัดระบุถึงถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษชาวบ้านบุว่าอยู่บริเวณใดมาก่อน โดยชาวบ้านบุเกือบทุกครัวเรือนประกอบอาชีพผลิตขันลงหินมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาการผลิตสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ในอดีตชุมชนบ้านบุมีพื้นที่ตั้งแต่วัดศรีสุดารามจนถึงวัดอัมรินทรารามและบริเวณบ้านเนินค่ายหลวงในปัจจุบัน นอกจากนี้บ้านบุยังปรากฏในนิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่ว่า "ยลย่านบ้านบุตั้งตีขัน ขุกคิดเคยชมจันทน์แจ่มฟ้า" แสดงให้เห็นว่าชุมชนบ้านบุนั้นประกอบอาชีพการทำขันลงหินเรื่อยมา

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ หรือสถานีรถไฟบางกอกน้อยหรือสถานีรถไฟธนบุรีในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2442 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำให้ชุมชนถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ วัดศรีสุดารามจนถึงวัดสุวรรณารามราชวรวิหารเรียกว่า "บ้านบน" ส่วนพื้นที่ตลาดบ้านบุจนถึงศาลาโรงธรรมเรียกว่า "บ้านบุ" และส่วนสุดท้ายคือพื้นที่ตั้งแต่ศาลาโรงธรรมถึงวัดศรีสุดารามเรียกว่า "บ้านล่าง" 

ชุมชนบ้านบุปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยเป็นชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากญี่ปุ่นได้ใช้สถานีรถไฟบางกอกน้อย (สถานีรถไฟธนบุรีในปัจจุบัน) เป็นจุดยุทธศาสตร์ และมีการตั้งแคมป์ในบริเวณนี้ทำให้ชุมชนบ้านบุได้รับผลกระทบตามมาจากสงครามจนเกือบกลายเป็นชุมชนร้าง จนเมื่อสงครามสงบผู้คนจึงกลับมาอยู่อาศัยแต่การประกอบอาชีพผลิตขันลงหินนั้นซบเซาลงจากที่เคยผลิตกันในทุกครัวเรือนเหลือเพียง 2 ครัวเรือนเท่านั้น เนื่องจากปัญหาต้นทุนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตขันลงหินนั้นมีราคาสูงขึ้น ความต้องการของตลาดลดน้อยลงไปตามเวลารวมถึงสภาพของเศรษฐกิจนั้นยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ชาวบ้านหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน

ในปี พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ทำให้มีชาวบ้านบางส่วนย้ายออกจากชุมชน และมีคนภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันกลุ่มคนในชุมชนบ้านบุนั้นมีทั้งกลุ่มคนดั้งเดิมและคนนอกพื้นที่ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน 

ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ครัวเรือนที่ยังคงผลิตขันลงหินบ้านบุนั้นเหลือเพียง 2 แห่ง คือ บ้านแม่เจียม แสงสัจจา และบ้านแม่เกษร ขันธ์หิรัญ แต่บ้านแม่เกษร ขันธ์หิรัญ นั้นมีการปรับวัสดุที่ใช้เป็น สแตนเลสที่เหมาะสมกับยุคสมัย และสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้มากกว่าทำให้บ้านที่ยังคงวัตถุดิบ และวิธีการทำขันลงหินดั้งเดิมนั้นเหลือเพียง บ้านแม่เจียม แสงสัจจา หรือ โรงงานขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา เท่านั้น โดยที่โรงงานแห่งนี้จะมีช่างทั้งจากที่เกิดและโตในชุมชนและเป็นกลุ่มคนภายนอกที่มีการเข้ามา

ปัจจุบันโรงงานขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา ได้มีคุณเมตตา เสรานนท์ เป็นผู้สืบทอดกิจการต่อจากมารดาถือว่าเป็นทายาทรุ่นที่ 7 ซึ่งกิจการในรุ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อห้องจัดแสดงและสินค้าขัน จนต้องแก้ปัญหาโดยการเข้าโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยที่ทำให้สามารถกลับมาผลิตขันลงหินได้อีกครั้ง ทั้งนี้โรงงานขันลงหินบ้านบุ มีการพยายามรักษาหัตกรรมขันลงหินและมีการพัฒนารูปแบบให้หลากหลาย ตลอดจนมีความสวยงามมากขึ้น เดิมโรงงานขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา เป็นเพียงโรงงานสำหรับผลิตขันลงหินแต่ปัจจุบันมีการเปิดเพื่อให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและกลุ่มคนที่สนใจเข้ามาศึกษาได้ และพยายามหาผู้สืบทอดหัตถกรรมการทำขันลงหินบ้านบุต่อไป 

ชุมชนบ้านบุ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย ชุมชนมีพื้นที่ราว ๆ 20 ไร่ ขนานติดกับคลองบางกอกน้อยประมาณ 800 เมตร สามารถเดินทางได้ 2 วิธี คือ ทางบกผ่านถนนบ้านบุ-โรงรถจักรไอน้ำ อย่างไรก็ตามสามารถเข้าถึงชุมชนได้เพียงการเดินเท้าและมอเตอร์ไซร์เท่านั้น ส่วนทางน้ำสามารถขึ้นได้ที่ท่าเรือหน้าสำนักงานเขตบางกอกน้อย และท่าเรือหน้าร้านขายของชำภายในชุมชน 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองบางกอกน้อย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เส้นทางรถไฟสายใต้
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สถานีรถไฟธนบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ วัดสุวรรณรามราชวรวิหาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในรอบปีชาวบ้านชุมชนบ้านบุมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นดังนี้

  • ประเพณีเวียนกระทง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านบุที่จะทำกันในวันลอยกระทง โดยจะนำกระทงหรือมาประมูลกระทงที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เพื่อทำพิธีสวดบูชาและถือกระทงนั้นเวียนรอบโบสถ์สามรอบเพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณี โดยหน้าขบวนนั้นจะมีการควงกระบองไฟ กองยาว และชาวบ้านที่มารำในขบวน เมื่อเวียนครบสามรอบแล้วจะนำกระทงนั้นไปลอยในบริเวณคลองบางกอกน้อย  
  • ประเพณีแห่หลวงพ่อศาสดา เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในวันที่ 15 เมษายน ที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร โดยชาวบ้านจะทำบุญให้แก่บรรพบุรุษก่อน ในช่วงเที่ยงจึงเริ่มการแห่หลวงพ่อศาสดา โดยจะมีการแห่ผ่าน บ้านบุ บ้านเนินออกมายังถนนหน้าตลาดพรานนก กลับเข้ามาที่ถนนพรานนกผ่านหน้าวัดยาง เลี้ยวเข้าสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าแยกบางขุนนนท์ และกลับมายังซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 เพื่อกลับเข้าสู่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
  • วิ่งม้าแก้บน เป็นวิธีการแก้บนของวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ที่เมื่อชาวบ้านมาบนบานต่อหลวงพ่อศาสดาซึ่งส่วนใหญ่จะมาบนบานเรื่อง การเกณฑ์ทหาร เมื่อได้ผลตามที่บนบานจะต้องมาแก้บนโดยการ บนแขกหัวตัวเอง บนตุ๊กตาล้มลุก และบนวิ่งม้า ซึ่งการวิ่งม้าเป็นวิธีที่หลวงพ่อชอบมากที่สุด การแก้บนด้วยวิธีวิ่งม้าจึงกลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญ โดยจะมีการใช้ก้านกล้วยหรือผ้าขาวม้าแทนม้า โดยจะมีการวิ่งวนขวาของโบสถ์ตามจำนวนรอบที่ได้บนไว้ และเวลาที่วิ่งนั้นจะต้องมีการร้องเป็นเสียงม้าร่วมด้วย 

1. คุณเมตตา เสลานนท์  ทายาทรุ่นที่ 6 ของโรงงานขันลงหินบ้านบุ เป็นผู้มีความรู้ในขั้นตอนการผลิตขันลงหิน และเป็นผู้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของขันลงหินให้เหมาะกับความต้องการของตลาดมากขึ้นมีการเพิ่มลวดลายเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า 

2. คุณบุญเทิด บัวทองคำ  ครูกระบี่กระบองสำนักเดียวในชุมชนบ้านบุ มีการสืบทอดภูมิปัญญาให้แก่คนรุ่นหลัง และเป็นผู้เผยแพร่การรำกระบี่กระบองผ่านการแสดงต่าง ๆ

ทุนวัฒนธรรม 

1. วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ภายในชุมชน เดิมมีชื่อว่าวัดทอง วัดนี้ถือเป็นวัดที่ถูกใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางสำคัญหลายคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่เดิมวัดแห่งนี้ใช้ไม้ในการสร้างทั้งหมด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้มีการรื้อและสร้างใหม่ พร้อมกับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม ในสัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการขยายพื้นที่ของวัดและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่พร้อมกับเป็นศาสนสถานประจำชุมชนที่สำคัญเรื่อยมา และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม

2. ขันลงหินบ้านบุ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านบุที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาขันลงหินบ้านบุ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านบุที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยากว่า 200 ปี โดยมีการใช้กรรมวิธีการบุ ซึ่งในอดีตชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนประกอบเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการขันลงหินก็ซบเซาทำให้เหลือเพียง 2 ครัวเรือนเท่านั้นที่ยังคงผลิตอยู่โดย บ้านแม่เจียม แสงสัจจา ยังคงผลิตขันลงหินด้วยวัสดุดั้งเดิม ส่วนบ้านแม่เกษร ขันธ์หิรัญ มีการปรับวัสดุที่ใช้เป็นสแตนเลสที่เหมาะสมกับยุคสมัยและสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้มากกว่า ทำให้ปัจจุบันบ้านที่ผลิตขันลงหินแบบดั้งเดิมนั้นเหลือเพียงแห่งเดียว คือ บ้านแม่เจียม แสงสัจจา

3. กระบี่กระบอง เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาโดยพบที่ชุมชนบ้านบุ และชุมชนโดยรอบกลุ่มคนที่เรียนกระบี่กระบองนั้นแทบทั้งหมดจะเป็นผู้ชายที่ว่างจากการทำขันลงหิน โดยจะมีการฝึกที่ลานกลางชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านบุนั้นมีสำนักกระบี่กระบองที่มีรูปแบบของพิธีกรรมที่ต่างจากชุมชนอื่น มีความเชื่อว่าบรมครูของสำนักคือทหารมุสลิมในกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ของใช้สำหรับไหว้ครูจะไม่นำเอาเนื้อหมูและสุรามาใช้ในการไหว้ ในปัจจุบันการเรียนกระบี่กระบองนั้นลดลงตามกาลเวลา ทำให้สามารถสามารถชมเป็นการแสดงได้แค่ช่วงในโอกาสสำคัญเท่านั้นโดยในชุมชนบ้านบุคงเหลือเพียง คณะครูบุญเทิด บัวทองคำ คณะเดียวเท่านั้น

4. ตลาดไร้คาน ตลาดวัดทอง หรือ ตลาดวัดสุวรรณณาราม แต่เดิมเป็นตลาดริมน้ำแต่มีการย้ายตลาดมาที่กลางชุมชนในปี พ.ศ. 2467 โดยตัวตลาดมีการสร้างเป็นอาคารที่เป็นโรงขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไม้ในการสร้าง หลังคาเป็นทรงโค้งไม่มีคานรองรับจึงถูกเรียกว่าตลาดไร้คาน ในอดีตตลาดไร้คานเป็นที่นิยมอย่างมากมีผู้คนนำสินค้าทั้งจากชุมชนบ้านบุและชุมชนใกล้เคียงมาจำหน่าย แต่เมื่อมีตลาดบกเกิดขึ้นมาจากการคมนาคมทางบกที่พัฒนามากขึ้นทำให้ตลาดซบเซาลง ทั้งนี้มีการเข้ามาเพื่อพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ปัจจุบันผู้ค้าจากชุมชนมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านบุในอดีตบางส่วนมีการประกอบอาชีพทำสวน ค้าขาย แต่แทบทุกครัวเรือนประกอบอาชีพผลิต และจำหน่ายขันลงหิน โดยขันลงหินนั้นเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ทองสัมฤทธิ์ทำให้ภาชนะนั้นจะมีลักษณะที่ขึ้นเงา ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ 5 ขุนนางในราชสำนักล้วนมาสั่งทำที่บ้านบุ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การประกอบอาชีพผลิตและการจำหน่ายขันลงหินได้ลดลงจนเหลือเพียง 2 ครัวเรือนเท่านั้น โดยบ้านแม่เกษร ขันธ์หิรัญ ได้ประยุกต์เปลี่ยนมาเป็นการใช้วัสดุที่เป็นสแตนเลส ทำให้ปัจจุบันเหลือรูปแบบดั้งเดิมเพียงแค่แห่งเดียวคือ บ้านขันลงหิน เจียม แสงสัจจา โดยบ้านขันลงหิน เจียม แสงสัจจาแห่งนี้ได้มีความพยายามในการพัฒนาสินค้าเรื่อยมาจนสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทั้งนี้ภายในชุมชนมีช่างที่ทำขันลงหินนั้นเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ทำให้การทำขันลงหินนั้นขาดผู้สืบสานอันเสี่ยงต่อการสูญหายของวัฒนธรรมที่มีมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2556). โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ต่อลมหายใจมรดกงานศิลป์จากยุคกรุงศรีฯ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก https://www.dip.go.th/

ฐนิตา ภูมิไพบูลย์. (2551). องค์ประกอบการท่องเที่ยวและทัศนคติในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบุ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการวางแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาชุมชนและชนบท คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

นิภาดา พลายศรี. (2562). แนวทางการฟื้นตลาดน้ำ @บางกอกน้อย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร. 

ปิยะนาถ อังควาณิชกุล. (2562). มรดกช่างสมัยอยุธยา : กรณีศึกษาชุมชนบ้านบุ. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 43(1), 129-142.

ผุสดี วัฒนสาคร. (2557). แนวทางในการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำขันลงหิน ของชุมชนบทบ้านบุ เขตบางกอกน้อย (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต.