หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวมอญ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวมอญ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
พระประแดง ถูกเรียกว่าเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่ขอมสร้างขึ้นยุคเดียวกับเมืองละโว้และสองแคว ทำให้พระประแดงมีป้อมปราการจำนวนมากถึง 10 ป้อม ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองพระประแดงแทบจะแปรสภาพเป็นเมืองร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จไปกะการสร้างเมืองใหม่เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะยกมาทางทะเล ครั้นถึงรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นแม่กองเสด็จลงไปสร้างเมืองที่ปากลัด โดยคัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพฯ บ้าง แขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง ร่วมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานชื่อ เมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้วจึงโปรดให้มิงทอมาบุตรพระยาเจ่งเป็นพระยานครเขื่อนขันธ์ ขณะเดียวกัน กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงสร้างวัดทรงธรรมไว้ในเมืองอารามหนึ่ง แล้วให้ขุดคลองลัดใหม่ที่เหนือคลองลัดโพธิ์ขึ้นมาจนทะลุออก คลองตาลาว เรียกกันว่า ปากลัด ภายหลังราษฎรทั่วไปจึงเรียกเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นสามัญว่า เมืองปากลัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นจังหวัดพระประแดงใน พ.ศ. 2458 ถึงรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าให้ยุบจังหวัดนี้ลงเป็นอําเภอ เมื่อ พ.ศ. 2475 ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ
ชุมชนมอญที่อําเภอพระประแดงมี 16 หมู่บ้าน ทั้งหมดนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวมอญจากปทุมธานี ซึ่งเป็นชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้า ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเป็นกําลังในการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง โดยใช้ชื่อเดิมของหมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองมอญมาตั้งเป็นชื่อชุมชนใหม่ที่นี้ด้วย ประชากรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นทหารมอญและครอบครัว ต่อมาจึงมีคนพื้นเมืองเชื้อสายอื่นเข้ามาอาศัยปะปนอยู่ในชุมชนมอญด้วย ปัจจุบันคนเชื้อสายมอญในแต่ละหมู่บ้านจึงมีประมาณร้อยละ 60 โดยชาวมอญในพระประแดงกว่าครึ่งระบุว่า ถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่เมืองหงสาวดี (ผุสดี ทิพทัส และ สุวัฒนา ราคานิติ, 2532 อ้างถึงใน เมธิดา อาคมธน, 2561: 40-43)
ตำบลทรงคนองเป็นตำบลหนึ่งในอําเภอพระประแดง ตั้งอยู่บริเวณตอนต้นของถนนเพชรหึงษ์ ทิศเหนือและทิศใต้ของตำบลของจรดกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่แม่น้ำโค้งเข้าหากัน ทางตะวันออกติดต่อกับตําบลบางยอและตําบลบางกระสอบ ด้านตะวันตกติดต่อกับตําบลบางพึ่ง และตําบลตลาด บริเวณโดยรอบของตําบลประกอบไปด้วย บ้านเรือน และศาสนสถาน ด้านตะวันตกมีโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือนประชาชน ตลอดจนอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่หนาแน่น
หมู่บ้านมอญทรงคนอง ตั้งอยู่บริเวณหลักเขตที่ 3 ของเขตเทศบาลเมืองพระประแดง ในตําบลทรงคนอง ทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีอาณาเขตตั้งแต่หมู่ที่ 7, 8 และ9 อยู่รวมกันเรียกว่า หมู่บ้านมอญทรงคนอง โดยสามารถเข้าสู่หมู่บ้านได้สองทาง คือ ทางซอยเพชรหึงษ์ 2 ซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้านมอญทรงคนอง 1 บริเวณปากทางแยกเข้าสู่ซอยเยื้องกับวัดคันลัด และอีกทางหนึ่ง คือ ซอยเพชรหึงษ์ 6 ซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้านมอญทรงคนอง 2 บริเวณปากทางแยกเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทางเข้าสู่หมู่บ้านทั้งสองทาง เป็นซอยแยกจากถนนเพชรหึงษ์ที่มุ่งหน้าไปสู่บางกอบัว
สภาพพื้นที่
หมู่บ้านมอญทรงคนอง อยู่ในเขตอําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่โดยประมาณ 3.75 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,343.75 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองไหลผ่านหลายสาย ทำให้หมู่บ้านทรงคนองมีพื้นที่เหมาะแก่การทําการเกษตร
ภายในหมู่บ้านมอญทรงคนองมีจุดนัดพบหรือพื้นที่ส่วนรวมของคนในชุมชน คือ ศาลาเฉลิมพระเกียรติมหาราช ตั้งอยู่บริเวณหมู่ 8 เป็นศาลาสีขาว พื้นที่ค่อนข้างกว้าง ขนาบด้วยบ้านของชาวบ้านทั้งสองข้าง ด้านหน้าของศาลาเฉลิมพระเกียรติมหาราชติดกับถนนเล็กในหมู่บ้าน ส่วนด้านหลังติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจุดที่มีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา เพราะไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ บดบังเส้นทางลม จึงเป็นสถานที่ที่คนในหมู่บ้านนิยมมาพบปะสังสรรค์กัน และในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ คนในหมู่บ้านจะจัดงานเล่นสะบ้ากันบริเวณศาลาเฉลิมพระเกียรติมหาราชแห่งนี้ด้วย
สถานที่สำคัญ
- ศาลเจ้าพ่อลัดโพธิ์ (ปอเน๊าะอะมอญ) หรือศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวมอญทรงคนอง โดยทุกปีจะมีการจัดงานสักการะศาลเจ้าพ่อลัดโพธิ์ 1 ครั้ง เพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพ่อปู่ที่เป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้านมอญทรงคนอง เปรียบเสมือนที่หลักพึ่งทางจิตใจของคนในหมู่บ้าน เมื่อยามตกที่นั่งลำบากหรือมีเรื่องเดือดร้อน ชาวบ้านมักจะมีการบนบานศาลกล่าวต่อพ่อปู่ และหวังอย่างยิ่งว่าจะให้พ่อปู่ช่วยในเรื่องที่ตนขอ เมื่อได้สมดังใจหวัง ชาวบ้านก็จะแก้บนโดยการนําจระเข้มาถวาย
- วัดคันลัด เป็นอีกหนึ่งสถานที่สําคัญของหมู่บ้านมอญทรงคนอง เป็นวัดที่คนในหมู่บ้านนั้นนิยมไปมากที่สุด เพราะอยู่คู่กับหมู่บ้านมานาน ทั้งยังเป็นวัดมอญที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านมอญทรงคนองมากที่สุด วัดคันลัดนั้นถือว่ามีบทบาทในหมู่บ้านมาก ในการเป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเพณีรอบปี เช่น ประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบ ตลอดจนประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต เช่น งานบวช หรืองานศพ อีกทั้งวัดคัน ลัดยังเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนายประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์ ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมอญทรงคนอง ด้วยต้องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของมอญ รวมถึงความเชื่อหรือสิ่งที่ชาวมอญได้ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านานให้คงอยู่ต่อไป
- วัดทรงธรรม (วัดทรงธรรมวรวิหาร) เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่สำคัญต่อการประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ของชาวมอญทรงคนอง ทั้งยังมีความสําคัญในฐานะที่เป็นวัดของมอญใหม่ คือ มอญทรงคนอง เพราะเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2358 ได้มีการรับชาวมอญรุ่นใหม่มาไว้ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ การอพยพของครัวมอญในครั้งนี้นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและมีพระสงฆ์ติดตามมาด้วยเป็นจํานวนมาก สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ที่ขึ้นไปรับครัวมอญดังกล่าว จึงได้ทรงสร้างวัดให้แก่ชาวมอญที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ คือ วัดทรงธรรม (วัดทรงธรรมวรวิหาร) (วสุ เขียวสอาด, 2545: 8 อ้างถึงใน เมธิดา อาคมธน, 2561: 61)
- พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ ตั้งอยู่ในอาณาเขตวัดคันลัด ก่อตั้งขึ้นโดยนายประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของคนมอญ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมอญทรงคนอง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญประกอบไปด้วย 2 ชั้น โดยชั้นล่างจะเป็นข้อมูล เอกสาร หนังสือ รูปภาพเก่าตลอดจนคัมภีร์ต่าง ๆ และชั้นบนจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของชาวมอญในหมู่บ้านมอญทรงคนองที่นํามาบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงโลงมอญทั้งขนาดจําลองและขนาดจริง การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ เปรียบเสมือนการประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนของชาวมอญในหมู่บ้านมอญทรงคนอง รวมถึงชาวมอญจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงว่าต้องการรักษา อนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีเหล่านั้นที่มีมาแต่ช้านานให้สมบูรณ์มากเท่าที่จะมากได้
หมู่บ้านมอญทรงคนอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ 7 บ้านโรงเรือ หมู่ 8 บ้านทรงคนอง และหมู่ 9 บ้านหัวรอ ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 60 เป็นชาวมอญ โดยแต่ละหมู่มีจำนวนประชากร ดังนี้
- หมู่ 7 บ้านโรงเรือ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 192 คน แยกเป็นชาย 99 คน และหญิง 93 คน จำนวนครัวเรือน 85 ครัวเรือน
- หมู่ 8 บ้านทรงคนอง มีประชากรทั้งสิ้น 289 คน แยกเป็นชาย 129 คน หญิง 160 คนมี จํานวนครัวเรือน 111 ครัวเรือน
- หมู่ 9 บ้านหัวรอ มีประชากรทั้งสิ้น 750 คน แยกเป็นชาย 372 คน หญิง 378 จํานวนครัวเรือน 316 ครัวเรือน
ในอดีตชาวมอญทรงคนองมีอาชีพหลัก คือ การทำนา แต่ที่นาของชาวมอญเหล่านั้นอยู่ไกลออกไปคนละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ที่ตําบลสําโรง อําเภอบางบ่อ อําเภอบางพลี เป็นต้น ดังนั้น ชาวมอญจึงปลูกบ้านอีกแห่งหนึ่งในที่นาของตน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวในฤดูกาลทำนา
ปัจจุบันการทำนาของชาวมอญทรงคนองต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาภายในชุมชนมอญทรงคนอง เริ่มมีโรงงานมาก่อตั้งในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการตัดถนนสายสุขสวัสดิ์ ทำให้สามารถเดินทางสู่อําเภอพระประแดงได้สะดวกยิ่งขึ้น ชาวมอญ ในหมู่บ้านมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย คนในหมู่บ้านออกไปทํางานนอกพื้นที่มากขึ้น เพราะการคมนาคมที่สะดวกขึ้นและค่าตอบแทนที่มากกว่า โดยอาชีพส่วนใหญ่ที่ชาวมอญทรงคนองนิยม คือ พนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เช่น ขายเครื่องสําอาง เป็นต้น
ศาสนา
ชาวมอญในหมู่บ้านมอญทรงคนองส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ วัดที่คนในหมู่บ้านมอญทรงคนองนิยมเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือศาสนพิธี รวมถึงงานประเพณีทางพุทธศาสนา คือ วัดคันลัด ซึ่งอยู่เยื้องกับทางเข้าหมู่บ้าน และวัดทรงธรรม (วัดทรงธรรมวรวิหาร) เป็นสถานที่สําหรับประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานบวชหรืองานศพ โดยการเลือกวัดของชาวบ้านนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าตระกูลไหนขึ้นอยู่กับวัดไหน หรือสายตระกูลใดมีความผูกพันกับวัดมาใดตั้งในรุ่นของบรรพบุรุษ ก็จะเลือกจัดงานที่วัดนั้น
แห่หงส์-ธงตะขาบ
แห่งหงส์-ธงตะขาบ เป็นประเพณีสำคัญของชาวมอญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีใหญ่ ของชาวมอญทรงคนอง ประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบ จะมีผู้เข้าร่วมในขบวนแห่เฉพาะคนมอญ หรือผู้ที่มีเชื้อสายมอญเท่านั้น วัดแต่ละวัดจะมีรถหงส์ เป็นรถเข็นขนาดใหญ่ โดยรอบประดับประดาด้วยดอกไม้และผ้าสีสันต่าง ๆ และมีลักษณะเหมือนกับหงส์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ บนรถจะมีนางหงส์นั่งอยู่ รถหงส์จะแห่ออกจากหมู่บ้านตามเส้นทางไปจนถึงตลาดพระประแดง นอกจากนี้ยังมีธงตะขาบขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นของวัดแต่ละวัดนํามาร่วมขบวนแห่ เมื่อขบวนแห่วนไปถึงบริเวณวัดของตน คนในหมู่บ้านที่ขึ้นอยู่กับวัดแห่งนั้น ก็จะแยกจากขบวนเข้าไปที่วัดของตนเพื่อนําธงตะขาบไปแขวนไว้ในวัด ดังชาวมอญทรงคนองที่ขึ้นกับวัดคันลัด เมื่อขบวนแห่วนมาถึงวัดคันลัดก็จะแยกออกจากขบวนและชวนกับนําธงตะขาบขนาดใหญ่ไปแขวนไว้ที่เสาหงส์ภายในวัด
การแต่งงาน
โดยทั่วไปแล้ว ชาวมอญมักจะมีการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการแต่งงานแก่บุตรหลานว่าควรแต่งงานหรือสมรสกับชาวมอญด้วยกันเท่านั้น แต่สำหรับชาวมอญในหมู่บ้านทรงคนอง ไม่ได้กําหนดว่าบุตรหลานของตนจะต้องแต่งงานกับผู้ที่สืบเชื้อสายมอญเท่านั้น บุตรสาวหรือบุตรชายของคนในหมู่บ้านสามารถที่จะสมรสกับใครก็ได้ ไม่จําเป็นต้องเป็นคนมอญเสมอไป เพียงแต่ภายหลังการแต่งงาน บุตรสาวมักจะย้ายไปอาศัยอยู่กับสามี และบุตรชายก็สามารถพาภรรยาเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านของตนได้ แต่ต้องสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งอาจอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับบ้านเดิมของพ่อแม่ สาเหตุที่ต้องทําเช่นนี้ เนื่องจากในแต่ละบ้านจะมีผีบรรพบุรุษ ผีประจําตระกูลหรือผีบ้านผีเรือนอยู่ จึงมีข้อห้ามไม่ให้สามีและภรรยาอาศัยอยู่ในห้องเดียวกันแม้ว่าจะมีการสมรสกันแล้ว ยกเว้นแต่สามีและภรรยาผู้เป็นเจ้าของบ้านเท่านั้นจึงจะอยู่อาศัยร่วมห้องกันได้
1. นายประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ บ้านทรงคนอง
2. พระครูสุภัทรกิจจาทร (พระอาจารย์หลาย) เจ้าอาวาสวัดคันลัด ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ชาวมอญ
โลงมอญ: โลงญี่ปุ่น สกุลช่างปากลัด (พระประแดง)
โลงญี่ปุ่น เป็นโลงศพมอญที่สามารถพบได้ในชุมชนมอญอําเภอพระประแดงเท่านั้น ใช้สําหรับบรรจุศพพระ โลงญี่ปุ่นมีลักษณะทั่วไปคล้ายกันโลงน้ำเค็มและโลงน้ำจืด แตกต่างตรงที่โลงญี่ปุ่น จะมีฝาโลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู คล้ายกับบ้านทรงปั้นหยา ยอดของโลงจะมีการประดับยอดหรือไม่มีก็ได้ ต่างจากโลงทั่วไปที่จะมีการประดับยอดให้มีลักษณะสูงขึ้นไป โลงญี่ปุ่นนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมของทหารญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตรงกับปีที่ชาวมอญอพยพเข้ามาสู่พื้นที่พระประแดงแห่งนี้ อีกทั้งฝาโลงยังมีลักษณะคล้ายกับทรงปั้นหยาแบบบ้านญี่ปุ่น จึงทําให้มีชื่อเรียกว่า “โลงญี่ปุ่น”
ชาวมอญเป็ญกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่เดิมมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอพระประแดงสื่อสารกันด้วยภาษามอญ แต่ปัจจุบันการใช้ภาษามอญลดน้อยลง เนื่องจากเยาวชนชาวมอญรุ่นใหม่นิยมสื่อสารกันด้วยภาษาไทยกลาง กระทั่งปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมอญทรงคนองไม่สามารพูดหรือเขียนภาษามอญได้แล้ว
กษิด์เดช เนื่องจำนงค์. (2557). การจัดการองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาการเล่นสะบ้าบ่อน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เมธิดา อาคมธน. (2561). อัตลักษณ์ของชาวมอญ หมู่บ้านมอญทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สรัญญา ชูชาติไทย. (2543). แนวทางการอนุรักษ์หมู่บ้านมอญพระประแดง: กรณีศึกษาหมู่บ้านมอญทรงคนอง. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมหาบัณฑิต สาขาวิขาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.