แหล่งกำเนิดผ้าไหมพุมเรียง สินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
แหล่งกำเนิดผ้าไหมพุมเรียง สินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ชุมชนพุมเรียงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนโบราณหลายแห่งซึ่ง ในอดีตวางตัวกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ของอำเภอไชยา กลุ่มชุมชนโบราณเหล่านี้ได้ขยับขยาย มีพัฒนาการผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัยจนเติบโตเป็นชุมชนใหญ่ รู้จักกันในชื่อเมืองไชยาในยุคเก่า คือ สมัยศรีวิชัย อาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 13 เชื่อกันว่ายุคหนึ่งอาณาจักรศรีวิชัยมีเมืองไชยาเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย อยุธยาขึ้นสู่อำนาจ เมืองไชยาจึงต้องมาอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาในฐานะหัวเมืองชั้นนอก ในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมืองไชยาถูกพม่าเข้ายึดครอง ผู้คนพากันอพยพหลบหนีออกจากเมือง จนเมืองไชยาเกือบเป็นเมืองร้าง เจ้านายฝ่ายใต้เกิดความแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ซึ่งในระยะนี้เมืองไชยาได้กลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง เจ้าเมืองนครฯ ส่งคนของฝ่ายตนมารั้งเมืองไชยา ส่วนชาวเมืองไชยาเดิมละทิ้งบ้านเรือนจากเมืองสงขลาอพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านพุมเรียง ซึ่งเป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขายทางทะเลสมัยนั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างอู่ต่อเรื่องรบถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ที่บ้านดอน ซึ่งอยู่ใกล้บ้านพุมเรียงมาก ความเจริญจึงมุ่งสู่ชุมชนบ้านดอน มีผู้คนอพยพเข้ามาทํามาหากินอย่างหนาแน่นเมืองขยายตัวมากขึ้น ทําให้บทบาทของบ้านพุมเรียงที่เป็นเมืองท่าใกล้เคียงค่อย ๆ ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่นั้น
ปัจจุบันชุมชนพุมเรียงอยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลพุมเรียง ประชากรในชุมชนมีทั้งชาวไทย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม โดยชาวไทยเชื้อสายจีนเริ่มอพยพเข้ามาที่เมืองไชยาพื้นที่พุมเรียงเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งพบที่ตําบลพุมเรียงน่าจะยาวนานนับพันปี ชาวไทยเชื้อสายจีนเมื่อไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ใดจะมีโรงพระ หรือศาลเจ้าตั้งอยู่ในพื้นที่ด้วย แต่ในชุมชนพุมเรียงยังไม่พบร่องรอยศาลเจ้าแต่อย่างใด สําหรับชาวไทยมุสลิมในชุมชนพุมเรียงส่วนใหญ่อพยพมาจากรัฐกลันตัน และไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย แม้ว่าประชากรของชุมชนพุมเรียงหรือเมืองไชยาในอดีตประกอบด้วยกลุ่มชาวไทยที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติถึง 3 กลุ่ม แต่ก็สามารถดํารงชีพอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
ปัจจุบันชุมชนพุมเรียงอยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตําบลพุมเรียง อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ในเขตเทศบาลพุมเรียงเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอําเภอไชยา ตั้งอยู่จุดเหนือสุดของอ่าวบ้านดอน บริเวณปากคลองพุมเรียงใหญ่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนสันทราย เป็นที่ดอนจุดกึ่งกลางสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 10 เมตร พื้นที่ด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นแหลมทรายซึ่งเกิดจากการทับถมของสันทรายมาเป็นเวลานาน การตั้งชุมชนในเขตเทศบาลรวมกลุ่มกันบริเวณริมคลองพุมเรียงเป็นส่วนใหญ่ ขอบเขตของตําบลพุมเรียง ทางด้านทิศเหนือเริ่มจากแนวคลองหนึ่งและเส้นตัดจากปากคลองหนึ่งไปทางตะวันออกจนถึงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ด้านทิศตะวันออกเริ่มจากทะเลอ่าวไทย ไปจนถึงปลายแหลมซุยและพื้นที่ทะเลอ่าวก้นทุ่งจนถึงปากคลองพุมเรียง ด้านทิศใต้อยู่ติดอ่าวบ้านดอนตลอดแนวจนถึงปากคลองท่าเตียน และทิศตะวันตกเริ่มจากแนวเขตคลอง ท่าเตียน และเส้นตัดจากปากคลองตะเคียนไปจนถึงคลองหรง
ในชุมชนพุมเรียงมีการขุดตระพังเก็บน้ำ ขุดบ่อน้ำ สระน้ำ และขุดบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำจากใต้ดินมาใช้ ชุมชนพุมเรียงมีลําคลองสายสําคัญ คือ คลองพุมเรียง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของคลองสําคัญในอําเภอไชยา (คลองไชยา คลองท่าตีน และคลองพุมเรียง) คลองพุมเรียงเป็นคลองที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่คลองทั้งสองไหลผ่านได้ใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและการดําเนินชีวิต
ประชากร
ประชากรภายในชุมชนพุมเรียงประกอบด้วย ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างชาติอีกจํานวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่า และชาวลาว เป็นต้น
ความสัมพันธ์ในชุมชน
ชุมชนพุมเรียงดั้งเดิมเป็นสังคมการเกษตร ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจึงมีความใกล้ชิด ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เนื่องจากการทําการเกษตรนั้นนอกจากจากจะใช้แรงในครอบครัวแล้วยังต้องอาศัยความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากคนในชุมชน ทําให้มีความใกล้ชิดสนิทสนม เอื้อเฟื้อทั้งการอยู่กิน ช่วยเหลือในกิจกรรมการงานการศาสนา เกิดความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นในวงสังคม ขยายออกไปสู่ชุมชนต่างถิ่นที่ต้องติดต่อมีความสัมพันธ์กัน ก็จะช่วยเหลือเกื้อกูล และถือว่ามีความสัมพันธ์เป็นเกลอกันทําให้ขยายความสัมพันธ์อันเกื้อกูลนี้ออกไปเป็นเครือข่ายของสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นด้วย (ศสินี เตียงธวัช, 2557: 70)
จีนชุมชนพุมเรียงแต่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมและประมงขนาดเล็ก เนื่องด้วยถิ่นที่ตั้งอยู่บนที่สันทรายใกล้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ทําให้สามารถออกทะเลจับสัตว์น้ำได้ในร่องทะเลน้ำตื้น ในขณะเดียวกันบริเวณใกล้เคียงก็มีที่ราบสําหรับปลูกข้าวทําสวนได้ดี อาชีพของชาวพุมเรียงในอดีตจึงผสมผสานกันทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่ฤดูการผลัดเปลี่ยนกันไป นอกจากนี้ยังมีรายได้เสริมมาจากการทอผ้าไหมในกลุ่มชาวไทยมุสลิม ซึ่งผ้าไหมพุมเรียงเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมากนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนพุมเรียงนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นการนับถือในรูปแบบของการส่งต่อความเชื่อจากบรรพบุรุษที่แสดงออกผ่านประเพณีและวัฒนธรรม เช่น ประเพณีการทําบุญฟังธรรมที่วัด ประเพณีการทําขวัญข้าว ประเพณีสวดทุ่ง ประเพณีวันจบปีจบเดือน ประเพณีรับส่งตายาย ประเพณีชักพระ ประเพณีไหว้สวน ประเพณีแต่งงาน ประเพณีเกี่ยวกับการตาย ประเพณีซอแรงหรือโซแรง (ลงแขก) และประเพณีการสวดมาลัย เป็นต้น
สืบเนื่องจากชุมชนพุมเรียงเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของประชากร ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ทำให้พุมเรียงมีลักษณะเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวจีนที่ได้แพร่กระจายขยายวงกว้างออกไปสู่ประชากรกลุ่มอื่น จนบางอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในชุมชน ส่วนวัฒนธรรมมุสลิมนั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลาม จะเจริญในหมู่ของชาวไทยมุสลิมด้วยกัน
ส่วนลักษณะบ้านเรือนของชาวไทยพุทธชุมชนพุมเรียงได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบเรือนของภาคกลาง วัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างบ้านในอดีตจะได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ภายในชุมชน เช่น ไม้หลุมพอ ไม้เคี่ยม ไม้จําปา ลักษณะเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ผนังที่ไม้ซ้อนเกล็ด ส่วนใหญ่เป็นหลังคาทรงจั่ว มนิลามุงกระเบื้องดินเผา วางเรือนเป็นหมู่เชื่อมกันด้วยชานเรือน นอกจากนั้นลักษณะเด่นอีกประการของเรือนชาวไทยพุทธชุมชนพุมเรียง คือ มีหน้าร้านสําหรับขายของบริเวณชั้นล่างติดกับถนน เนื่องจาก ถนนสายไทยพุทธของพุมเรียงในอดีต เชื่อมศูนย์กลางเมืองและตลาด และเป็นเส้นทางผ่านของสินค้าจากท่าเรือ ทําให้ชาวบ้านในแถบนี้ประกอบกิจการร้านค้าตลอดเส้นทางถนน ปัจจุบันภูมิปัญญาการสร้างบ้านลักษณะนี้หมดความสําคัญลงเนื่องมาจากไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งเรือนไม้โบราณส่วนใหญ่เสื่อมโทรม ชํารุดเสียหาย จากมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน หรือไม่ก็ถูกรื้อทิ้งสร้างใหม่โดยใช้วัสดุแบบใหม่ คือ อิฐ หิน ปูน เหล็ก ให้มีรูปแบบตามสมัยนิยม
ภูมิปัญญาการทำสวนสมรม
ชุมชนพุมเรียงได้รับยกย่องว่าเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องภูมิปัญญาการทำสวนสมรม การจําลองป่าซึ่งมีพืชพันธุ์นานาชนิดอันเป็นประโยชน์ต่อการดํารงเข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่พักอาศัย ในลักษณะของสวนที่จัดขึ้นเพื่อใช้พืชพันธุ์เหล่านี้ไว้ใช้ในการประกอบอาหาร ยารักษา และอาจขยายปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจที่สามารถนําไปขายได้ สวนสมรมเกิดขึ้นเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่หมู่บ้านที่เกิดความทรุดโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ชาวบ้านซึ่งคุ้นเคยกับสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์จึงปรับสภาพพื้นที่บริเวณบ้านทําสวนสมรมหรือสวนพ่อเฒ่า เมื่อประมาณ 40-50 ปีมาแล้ว สวนสมรมมีอยู่แทบทุกครัวเรือนในชุมชนพุมเรียง ส่วนปัจจุบันสวนสมรมยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้างแต่อาจไม่หลากหลายเหมือนในอดีต
ผ้าไหมพุมเรียง
ผ้าไหมพุมเรียงเป็นสินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผ้าไหมที่มีลักษณะแตกต่างจากผ้าไหมของภาคอื่น ๆ คือ การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น โดยมีผ้าทอยกที่มีชื่อเสียง คือ ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เครื่องมือที่ใช้ทอในสมัยก่อน ได้แก่ หูก จึงเรียกการทอผ้าว่าทอหูก ผ้าที่ทอในช่วงนั้นแบ่งออกเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและผ้าที่ใช้ในงานและพิธีต่างๆ ซึ่งผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ใช้ผ้าฝ้ายทอเพื่อความทนทาน สำหรับผ้าที่ใช้ในงานและพิธีการต่าง ๆ จะทอด้วยไหมหรือผ้าฝ้ายแกมไหม มีลวดลายทอดอกสวยงาม ใช้นุ่งเข้าเฝ้าหรือนุ่งในงานนักขัตฤกษ์ งานบุญ งานแต่งงาน และงานสำคัญต่างตามแต่วาระโอกาส (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ศสินี เตียงธวัช. (2557). คติพุทธในเรือนพื้นถิ่นชาวไทยพุทธ ชุมชนพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (ม.ป.ป.). ผ้าไหมพุมเรียง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.suratpao.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].