Advance search

ตลาดบางหลวง

บ้านเก่าเหล่าเต็งไม้, ตลาดบางหลวง ร.ศ. 122

ชุมชนตลาดเก่าเเบบเรือนห้องแถวไม้อันเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โดดเด่น และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมไทย - จีน เห็นได้จากบรรยากาศของสถาปัตยกรรม รูปแบบวิถีชีวิต และการค้าขายของคนในชุมชน อาทิ ร้านขายยาจีนสมุนไพร ร้านทำทอง และร้านทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ซึ่งชุมชนยังคงรักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ซอยเทศบาล 7
บางหลวง
บางเลน
นครปฐม
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
ตลาดบางหลวง
บ้านเก่าเหล่าเต็งไม้, ตลาดบางหลวง ร.ศ. 122

ที่มาของ “บางหลวง” มีประวัติความเป็นมาที่ได้เล่าสืบต่อกันมาแต่ครั้งก่อนว่าพระเจ้าอู่ทองได้พาครอบครัวและราษฎรอพยพหนีโรคระบาดมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณแถบนี้ ได้ให้ภรรยาหลวงคุมราษฎรขุดคูเมืองทางทิศใต้ ซึ่งปัจจุบันเรียกชื่อว่า คลองบางหลวง ให้ภรรยาน้อยคุมราษฎรขุดคูเมืองทางทิศเหนือ ซึ่งปัจจุบันเรียกชื่อว่า คลองบางน้อย แต่ตั้งเมืองไม่สำเร็จ  

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดตั้งตำบลและหมู่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก จึงเรียกบริเวณตรงนี้ว่า ตำบลบางหลวงตามตำนาน และชื่อบางหลวง ยังถูกนำมาใช้ตั้งชื่อสถานที่สำคัญในบริเวณโดยรอบ เช่น ตลาดบางหลวง และวัดบางหลวง อีกด้วย


ชุมชนตลาดเก่าเเบบเรือนห้องแถวไม้อันเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โดดเด่น และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมไทย - จีน เห็นได้จากบรรยากาศของสถาปัตยกรรม รูปแบบวิถีชีวิต และการค้าขายของคนในชุมชน อาทิ ร้านขายยาจีนสมุนไพร ร้านทำทอง และร้านทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ซึ่งชุมชนยังคงรักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ซอยเทศบาล 7
บางหลวง
บางเลน
นครปฐม
73190
อบต.บางหลวง โทร. 0-3439-3391
14.120248675020159
100.11808952841213
องค์การบริหารส่วนตำบลบางหลวง

ประวัติความเป็นมาพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตลาดบางหลวงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่า บริเวณชุมชนตลาดบางหลวง เกิดจากการรวมกลุ่มของคนจีนที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำนครชัยศรี และพัฒนาจนกลายเป็น “ชุมชน” ทั้งนี้การสัญจรมักใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง อย่างไรก็ตามการพัฒนาของยุคสมัยได้ส่งผลให้ “ชุมชนตลาดบางหลวง” เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการปรับตัว เพื่อให้ชุมชนสามารถรักษาเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตริมน้ำไว้ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลามีสาเหตุสำคัญจากการพัฒนา “ระบบการสัญจร” โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสัญจร ‘ทางน้ำ’ ที่มีการให้บริการเรือเมล์โดยสารและสร้างท่าเรือเมล์โดยสารภายในชุมชน จึงมีผู้คนเข้าออกชุมชนและย้ายเข้ามาสร้างบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก ทำให้ขอบเขตของชุนชนมีขนาดกว้างขึ้นและจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการค้าขายภายในชุมชมที่เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการเกิดเปลี่ยนแปลงของระบบสัญจร ‘ทางบก’ โดยการตัดถนนผ่านหน้าชุมชน ดังนั้น การได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรทางบกที่เกิดขึ้นจึงเข้ามาแทนที่การสัญจรทางน้ำ ทว่าผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ยังคงช่วยกันรักษาวิถีชีวิตริมน้ำให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของชุมชนตลาดบางหลวงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้

(1) ยุคบุกเบิก ประมาณ พ.ศ. 2385 – 2445  เป็นช่วงที่ชุมชนมีการอพยพย้ายเข้ามาในพื้นที่

ตำบลบางหลวง เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เดิมบริเวณชุมชนตลาดบางหลวงใช้ชื่อว่า “บ้านบางหลวง” ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122” ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 มีกลุ่มชาวจีนอพยพย้ายเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณริมแม่น้ำ จึงเป็นที่นิยมของคนในสมัยนั้น และเหมาะสำหรับการตั้งที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงเป็นแหล่งเลี้ยงชีพ โดยในช่วงเวลานี้มีการเริ่มตั้งอาคารบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำนครชัยศรีทางเหนือของชุมชน เป็นบริเวณที่เรียกว่า “ชุมชนตลาดบน” ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือเมล์สุพรรณขนส่ง ส่วนชุมชนที่อยู่บริเวณริมคลองบางหลวงที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำนครชัยศรีทางฝั่งทิศตะวันออกของชุมชน เรียกบริเวณนี้ว่า “ชุมชนตลาดกลาง” ซึ่งต่อมาพัฒนาการการค้าขายของชุมชนจนมีโรงฝิ่นที่เป็นจุดเด่นของชุมชน และในทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ต่อจากชุมชนตลาดกลาง เรียกว่า “ชุมชนตลาดล่าง” ที่ส่วนใหญ่บริเวณตลาดล่างจะทำการค้าขาย ทั้งนี้การตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นเอกลักษณ์ของการตั้งถิ่นฐานแบบโบราณ เพราะสะดวกในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ในการตั้งถิ่นฐานช่วงแรกของชุมชนเป็นเพียง “บ้านไม้ชั้นเดียว” ที่มีหลังคามุงด้วยจากหันหน้าเข้าหากัน จากนั้นจึงขยายชุมชนไปยังพื้นที่รอบข้างที่อยู่ริมแม่น้ำเหมือนดังที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งการเข้าถึงพื้นที่ได้โดยการสัญจรทางน้ำ อาทิ เรือพาย เป็นต้น และทางบกโดยการเดินเท้าหรือการใช้เกวียน

เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ส่งผลให้ผู้คนจากนอกชุมชนเดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้สะดวก บ้านเรือนที่ตั้งริมน้ำเริ่มเปิดร้านขายของโดยหันหน้าร้านไปยังแม่น้ำนครชัยศรี มีการค้าขายทั้งบนบกและบนน้ำ กลายเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาในพื้นที่ จึงเกิดการรวมกลุ่มของที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เกิดจากการชักชวนกันของญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก ทำให้มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ มีการแต่งงานกันระหว่างคนจีนและคนไทย เป็นผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวไทยกับชาวจีน และเกิดการรวมกลุ่มการทำกิจกรรมระหว่างชาวไทยกับชาวจีน อาทิ การสร้าง “วัดบางหลวง” เป็นต้น เพื่อให้เป็นสถานที่รวมกลุ่มกันของตำบลบางหลวง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ส่งผลต่อความสัมพันธ์อันดี ทั้งนี้การสร้างวัดและดำเนินการตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2459 ซึ่งในช่วงเวลานี้ในชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีโรงเรียนทำให้เด็กต้องเรียนที่วัด แต่ในปี พ.ศ. 2462 วัดบางหลวงได้บริจาคที่ดินของวัดเพื่อสร้างโรงเรียนประถมแห่งแรกขึ้นในชุมชน ชื่อว่า “โรงเรียนวัดบางหลวง”

(2) ยุคขยายตัว ประมาณ พ.ศ. 2446 – 2502 เป็นช่วงที่ชุมชนมีประชาชนจำนวนมากขึ้น และมีพื้นที่ทำมาหากินกว้างมากขึ้น 

เป็นช่วงที่มีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและเพิ่มจำนวนของประชากร มีการปรับเปลี่ยนการค้าขายและการเดินทาง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางการค้าที่หลากหลาย ช่วยส่งเสริมการค้าขายภายในชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในยุคนี้เป็นช่วงที่มีจำนวนประชากรสูงขึ้น ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อพยพย้ายเข้ามา บางครอบครัวไม่สามารถพูดไทยได้ ทำให้เด็กบางคนไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนวัดบางหลวง จึงเป็นผลให้มีการก่อตั้งโรงเรียนจีนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นในปี พ.ศ. 2467 ชื่อว่า “โรงเรียนเจี้ยนหัว” เพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานในชุมชน และเพื่ออนุรักษ์ภาษาจีนไว้ไม่ให้หายไปตลาดกาลเวลา นอกจากนี้ ในเรื่องการตั้งถิ่นฐานของยุคขยายตัวเริ่มมีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยไปตามริมแม่น้ำ และขยายที่อยู่อาศัยขึ้นไปบนบก บ้านเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นอาคารเรือนแถวไม้ที่ตั้งขนานกับบ้านไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำ และเปลี่ยนบ้านไม้ชั้นเดียวในยุคแรกที่จะมุงหลังด้วยจาก เปลี่ยนเป็น “บ้านไม้สองชั้น” ที่เรียกว่า “เหล่าเต็งไม้” โดนชั้นล่าวสำหรับเปิดร้านค้าขายในช่วงกลางวัน ส่วนบริเวณชั้นบนเป็นที่สำหรับพักผ่อนในช่วงกลางคืน ซึ่งบ้านสองชั้นจะตั้งเป็นห้องแถวขนานกันไปตลอดทั้งเส้น สำหรับอาคารบ้านเรือนในบริเวณชุมชนต้องยกใต้ถุนสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงและยังมีการสร้างอาคาร “บ้านเรือนแถวไม้” ที่หันเข้าหากัน โดยใช้แม่น้ำนครชัยศรีเป็นทางเข้าชุมชน และสร้างบ้านไม้เพิ่มต่อกันจนกลายเป็นห้องแถวยาว

การเข้าถึงพื้นที่ชุมชนยังคงต้องใช้การสัญจรทางน้ำ โดยอาศัยเรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง ต่อมาชุมชนได้เพิ่มบทบาทจากการค้าขายเป็นท่าเรือที่สำคัญในบริเวณนี้ เพราะมีเรือเมล์ของบริษัทสุพรรณขนส่ง หรือที่เรียกว่า “เรือเมล์แดง” คือเรือเมล์ 2 ชั้นที่แล่นผ่านชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เพื่อรับคนที่ต้องการเดินทางไปสถานีรถไฟงิ้วรายและจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งภายหลังจากการตั้งท่าเรือในบริเวณของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ส่งผลให้ผู้คนเดินทางเข้ามาในชุมชนมากกว่าเดิมจำนวนมาก จากการเดินทางที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในชุมชน จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 มีความเจริญในด้านการค้าสูงขึ้นมาก โดยการเปลี่ยนการขายบนเรือมาเป็นขายบนบก จากการสร้างบ้านเรือนที่เป็นอาคารเรือนแถวไม้ ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะดวกต่อการเปิดหน้าร้านขายของ จึงถือได้ว่าชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เป็นศูนย์กลางการค้าของบริเวณนี้

นอกจากนี้ จากกิจกรรมการค้าในช่วงยุคขยายตัวของชุมชนที่พบว่ามีแต่ความเจริญดังที่ได้กล่าวข้างต้นได้เกิดการรวมกลุ่มคนจากการค้าขายและตั้งที่อยู่อาศัย เกิดความสัมพันธ์อันดี ส่งผลให้เกิดการร่วมมือกันสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือที่คนในชุมชนชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เรียกว่า “ศาลอาม่า” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของชุมชนตลาดบางหลวง เพื่อเป็นสถานที่สักการะบูชาของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนแห่งนี้

(3) ยุคปรับตัว ประมาณ พ.ศ. 2503 – 2558  เป็นช่วงที่ชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบจากภายนอก ทำให้ชุมชนเกิดปัญหาจนต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เข้าสู่ยุคแห่งการปรับตัวของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งเป็นช่วงที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากภายนอก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน โดยชุมชนต้องพึ่งพาตนเอง คือการร่วมมือของคนในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา ช่วงเวลานี้ของชุมชนชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เริ่มในช่วง พ.ศ. 2503 เพราะมีการตัดถนนผ่านชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ทางทิศตะวันตกเป็นถนนทางหลวงหมายเลข 3351 เมื่อมีถนนตัดผ่านพื้นที่ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ผู้คนเลือกใช้การเดินทางบอกโดยรถยนต์มากขึ้น การสัญจรทางน้ำโดยใช้เรือจึงเริ่มมีจำนวนน้อยลง ส่งผลให้รถเมล์โดยสารไม่ค่อยมีผู้คนเลือกใช้บริการเท่าเดิม จนกระทั่ง พ.ศ. 2504 ทางบริษัทสุพรรณขนส่ง ประกาศยกเลิกการให้บริการเรือเมล์โดยสาร ส่งผลให้จำนวนคนที่เดินทางเข้ามาชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ลดน้อยลง เป็นผลให้การค้าขายในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เริ่มซบเซาตามกัน แต่แม้ว่าการค้าขายภายในชุมชนจะซบเซาลง ทว่าชุมชนยังคงสามารถดำรงอยู่ได้ และยังมีประชาชนอยู่อาศัยภายในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเป็นชุมชนที่มีอาคารเรือนแถวไม้เรียงขนานกันทั้งสองฝั่งถนน นอกจากนี้ การตั้งถิ่นฐานในยุคปรับตัวได้เริ่มจากการตัดถนนเข้าพื้นที่ชุมชน ช่วยให้การสัญจรระหว่างชุมชนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนในด้านต่าง ๆ อย่างบริเวณพื้นที่ที่ตั้งติดริมถนนได้กลายเป็นพื้นที่พาณิชย์ เนื่องจากเข้าถึงได้ง่ายและสามารถเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นภายในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 จึงมีการตั้งถิ่นฐานที่เกาะอยู่ติดถนนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

เมื่อกล่าวถึงการ “ตัดถนน” ทำให้ผู้คนที่เดินทางเข้ามาภายในชุมชนน้อยลง เรือเมล์โดยสารและท่าเรือต้องปิดให้บริการส่งผลต่อการค้าขาย บริเวณตลาดบนและตลาดกลางของชุมชนเริ่มปิดให้บริการและคงเหลือเพียง “ตลาดล่าง” ที่ยังคงเปิดเป็นตลาดที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการค้าขายของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ เมื่อปี พ.ศ. 2538 ในบริเวณตลาดบนและตลาดกลางบางส่วน ทำให้บ้านเรือนแถวไม้ได้รับความเสียหาย ภายหลังเจ้าของบ้านต้องปรับปรุงโครงสร้างอาคารใหม่ และเกือบทุกครัวเรือนในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุไม้ในการใช้ปรับปรุง ดังนั้นบริเวณตลาดบนและตลาดกลางบางส่วน มีอาคารบ้านไม้ผสมคอนกรีตตั้งอยู่จำนวนมากจะเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย ส่วนบริเวณตลาดล่างส่วนใหญ่จะเป็นอาคารไม้ที่เป็นตลาดการค้าในปัจจุบัน

ท้ายที่สุด การค้าขายในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีตถือว่ามีความซบเซาลงไปมาก ทว่าร้านค้าภายในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ไปเน้นให้บริการคนในชุมชนและคนในชุมชนใกล้เคียงเป็นสำคัญ และในปี พ.ศ. 2551 มีรายการทีวีเข้ามาถ่ายทำละคร เป็นผลให้ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น รวมทั้งทางเทศบาลตำบลบางหลวงได้เข้ามาช่วยจัดให้พื้นที่บริเวณชุมชนมีตลาดนัด ถือเป็นการช่วยกระตุ้นการค้าภายในชุมชนและช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122

ปัจจุบันภายใน "ชุมชนตลาดบางหลวง" มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ชุมชนย่อยประกอบด้วย ชุมชนที่ 1 ตลาดล่าง (ตลาดบางหลวง) เพราะอยู่ทิศใต้ของชุมชนตลาดบางหลวง ชุมชนที่ 2 ตลาดกลาง (โรงเจ) เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างชุมชนที่ 1 กับชุมชนที่ 3 และชุมชนที่ 3 ตลาดบน (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) ตั้งอยู่ตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีพื้นทีทั้งหมด 23 ไร่ครึ่ง

อาณาเขตติดต่อของพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางหลวง ดังนี้

  • ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
  • ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับ ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ ตำบลหินมูล อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

จำนวนประชากรจากข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยสำรวจในปี พ.ศ. 2551 มีประชากรทั้งสิ้น 7,272 คน แยกเป็นชาย 3,597 คน และหญิง 3,675 คน นับเป็น 1,919 ครัวเรือน

กลุ่มคนและชาติพันธุ์ในพื้นที่ชุมชนตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่มีประเด็นของการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในชุมชนและออกไปติดต่อกับภายนอกชุมชน จากการศึกษาพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2420 – 2498 เป็นช่วงแรก คือการดำรงอยู่และปรับตัวตามสภาพของชุมชนแบบดั้งเดิมในอดีต โดยไม่มีการอพยพของประชากรออกนอกชุมชน เนื่องจากกลุ่มคนในชุมชนสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ผนวกกับในช่วงเวลาดังกล่าวการค้าขายยังไม่มีเข้ามามีบทบาท จึงทำให้กลุ่มคนในชุมชนใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเครื่องอุปโภคและบริโภคระหว่างกันเพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีพ และมีการซื้อขายน้อยครั้งเฉพาะสินค้าที่จำเป็นที่ไม่สามารถหาได้ในชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอพยพเข้ามาของประชาชนในชุมชนอื่น อาทิ ชาวไทย ชาวมอญ (เวียดนาม) ชาวลาวโซ่ง (ไทดำ) ชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นการเข้ามาประกอบอาชีพ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ เพราะกลุ่มคนดังกล่าวเห็นว่าพื้นที่ของชุมชนตำบลบาลหลวงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ 

ช่วงต่อมาในปี พ.ศ. 2499 – 2529 เป็นช่วงที่ 2 คือการดำรงอยู่ตามสภาพการย้ายถิ่นแบบเดิมเป็นหลักผสมกับการปรับตัวตามวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามา โดยในระยะแรกประชาชนยังไม่มีการอพยพออกนอกชุมชนตำบลบางหลวง แต่ในทางกลับกันกลับพบว่า มีคนอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทย ชาวมอญ (เวียดนาม) ชาวลาวโซ่ง (ไทดำ) ชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน จากชุมชนอื่น โดยเฉพาะชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยม่วง ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนตำบลบางหลวงประมาณ 10 กิโลเมตร เนื่องจากบริเวณชุมชนตำบลบางหลวงมีความสะดวกสบายที่ดีกว่าในชุมชนอื่น ๆ ในขณะนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายด้านทั้งพื้นที่ทางด้านการเกษตร การค้าขาย และการปศุสัตว์ เพราะมีแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดที่ไหลผ่านชุมชน ผนวกกับความสามัคคีและความกลมเกลียวกันของประชาชนในชุมชนจึงยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้คนจากชุมชนอื่น ๆ เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนมากยิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนตำบลบางหลวงกลายเป็น “ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ” ในด้านการค้าขายและการเกษตร ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากการกล่าวถึงประชาชนที่อพยพเข้ามาในชุมชน ยังพบว่าประเด็นเรื่อง “การศึกษา” มีผลต่อการเริ่มอพยพของประชาชนในชุมชนออกไปยังพื้นที่อื่นที่มีความเจริญมากกว่า เนื่องจากกลุ่มของคนในชุมชนที่มีฐานะทางการเงินที่ดีได้ส่งบุตรหลานออกไปศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น (มัธยมศึกษา และขั้นอุดมศึกษา) นอกชุมชน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในตัวเมืองนครปฐม กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีสถาบันการศึกษาเป็นที่ยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อคนได้รับการศึกษา จึงมีโอกาสที่มากขึ้นในการเลือกประกอบอาชีพในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการค้าขายและการเกษตรในชุมชน อาทิ อาชีพรับราชการ เป็นต้น จึงเป็นผลต่อการย้ายไปอยู่นอกชุมชนของผู้คน

และช่วงสุดท้ายเป็นการดำรงอยู่แบบเดิมลดลงผสมกับการปรับตัวตามวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามา ในปี พ.ศ. 2530 – 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการอพยพของคนหนุ่มสาวและเยาวชนออกนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของชุมชนที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง เหลือไว้เพียงกลุ่มคนสูงอายุ เด็ก ผู้ที่สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงในชุมชน และผู้ที่ไม่มีทางเลือกอื่น ที่ยังคงต้องอยู่ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ทางผู้ที่อพยพออกไปจากชุมชนจะมีการกลับมาเยี่ยมชุมชนในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น นับว่าเป็นสายสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของคนที่อพยพออกไปกับคนที่อยู่ในชุมชน

ท้ายที่สุดจากที่กล่าวมาของประเด็นอพยพย้ายถิ่นทั้งเข้าและออกของผู้คนในชุมชนนั้น มีสาเหตุสำคัญมากจากความต้องการในการหาที่ทำกินแห่งใหม่ หาแหล่งเงินใหม่ และมีความคิดว่าในพื้นที่อื่นนั้นดีกว่าชุมชนของตนเอง ประกอบกับการมีเส้นทางคมนาคมที่ดีและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการอพยพมาก จึงเป็นเหตุนำไปสู่ความอ่อนแอของชุมชนที่มากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองเข้ามาสู่ชุมชนชนบท จากบทสัมภาษณ์นางมาลี ในปี พ.ศ. 2547 กล่าวว่า “คนที่อพยพออกส่วนหนึ่งไปทำมาหากิน ส่งเงินกลับบ้าน ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพตามบรรพบุรุษ คนที่ค้าขายยังค้าขายอยู่ได้ เพราะไม่รู้จะทำอะไรอื่นที่ดีไปกว่านี้ พอตลาดนัดเข้ามาวันไหน การค้าขายยิ่งซบเซาลงไปอีก เพราะชาวบ้านพากันไปซื้อของที่ตลาดนัดกันหมด”

ในส่วนข้อมูลเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ “ชุมชนตลาดบางหลวง” พบว่า สมศักดิ์ อยู่มาก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งเป็น “ลูกหลานรุ่นที่ 3 ชาวจีนบางหลวง” ได้เล่าเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบันของตลาดแห่งนี้ว่า ชุมชนบางหลวงก่อตั้งขึ้นประมาณ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2436) โดยเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ก่อนที่จะกลายมาเป็นย่านการค้าสำคัญในบริเวณนี้ ในชื่อ “ตลาดบางหลวง” ซึ่งสำหรับที่มาของการเกิดเป็น “ตลาดบางหลวง” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมเล่าว่า เริ่มจากการที่มี “ชาวจีน” หลายคนอพยพหนีภัยสงคราม และความแร้นแค้น มาจากเมืองจีน โดยการ “โล้สำเภา” กันมาเป็นกลุ่ม ๆ จากนั้นได้ล่องเรือเข้ามาตามแม่น้ำ ซึ่งมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐานในพื้นที่นี้ หลังจากนั้นจึงได้เริ่มมีญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ตามมาเพิ่มเติม จนชุมชนขยายใหญ่ขึ้น

นอกจากที่กล่าวยังพบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์จีนในชุมชน จาก "บ้านเก่าเล่าเรื่อง" ตลาดบางหลวง ตั้งขึ้นโดยอาจารย์ชาลี ศรีพุทธาธรรม นำเสนอวิถีชีวิตเรื่องราวและประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นบางหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "คนจีน" อพยพมาจากเมืองกว่างตง (กวางตุ้ง) ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยคนจีนที่บางหลวงประกอบด้วยจีน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ "เจ๊กตลาด" เป็นคนจีนที่ทำอาชีพค้าขายในตลาด กลุ่มสองคือ "เจ๊กไร่" เป็นคนจีนที่ทำการเกษตร และส่วนกลุ่มสามคือ "เจ๊กโรงหมู" เป็นคนจีนที่เลี้ยงหมูและฆ่าหมูเป็นอาชีพ ซึ่งในอดีตเมื่อเส้นทางสัญจรหลักคือ แม่น้ำ ตลาดบางหลวงเป็นชุมชนที่มีทั้งผู้คน และสินค้ามากมาย ขึ้นลงท่าเรือไม่เคยขาด แม้ปัจจุบันการสัญจรและขนส่งทางน้ำลดน้อยลง แต่ความรุ่งเรืองของตลาดเก่าในอดีตยังคงมีให้เห็นจากบ้านไม้สองชั้นที่เคยเปิดเป็นร้านค้า ร้านขายทอง ร้านตีเหล็ก ร้านทำฟัน ร้านขายยา วิกหนัง หรือแม้แต่โรงฝิ่น ปัจจุบันร้านเหล่านี้บางร้านก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่

จีน, ไทดำ, เวียดนาม

ด้านความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของชุมชน จากการศึกษาผ่านข้อมูลในพื้นที่ชุมชนตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของผู้คนและชุมชน ดังนี้

ช่วงที่ 1 การดำรงอยู่และการปรับตัวตามสภาพความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของชุมชนแบบดั้งเดิมในอดีต ในช่วงปี พ.ศ. 2420 – 2498 ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ มีการไปมาหาสู่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และแบ่งปันซึ่งกันและกัน โดยลักษณะของครอบครัวจะเป็นแบบครอบครัวขยาย ซึ่งในส่วนของการรวมกลุ่มกันของประชาชนในชุมชนจะมีลักษณะขอแรงและขอความร่วมมือเพื่อทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม อาทิ การลงแขก เป็นต้น โดยไม่เน้นผลตอบแทนที่เกิดจากการไปช่วยงาน แต่จะเน้นไปที่การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันระหว่างประชาชนในชุมชนเป็นสำคัญ

ช่วงที่ 2 การดำรงอยู่ตามสภาพความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของชุมชนแบบเดิมเป็นหลักผสมกับการปรับตัวตามวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยเก่าที่เข้ามา ในปี พ.ศ. 2499 – 2529 ประชาชนในชุมชนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ทำให้เกิดองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

  • องค์กรของชุมชนเอง คือแบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ (1) กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีหน้าที่ให้บริการกับชาวบ้านในชุมชนที่มีบ้านเรือนห่างไกลจากตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 (2) กลุ่มร้านเสริมสวย มีบทบาทโดยตรงที่ทำหน้าที่ให้บริการตามความพอใจของลูกค้า และมีบทบาททางอ้อมคือเป็นที่นัดพบของเหล่าแม่บ้าน นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน และ (3) กลุ่มร้านกาแฟ เป็นสถานที่ไว้แลกเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อระหว่างคนในชุมชน
  • องค์กรแบบใหม่จากภายนอกที่เป็นทางการ ได้แก่ (1) วัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและเป็นสถานที่ทำบุญตักบาตร เป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ ของคนในชุมชน จึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบของชาวบางหลวง ร.ศ. 122 อย่างวัดบางหลวงในพื้นที่ชุมชน (2) โรงเรียน นอกจากบทบาทที่ทำหน้าที่ให้การศึกษากับผู้ที่เข้ารับการศึกษา ยังมีการสร้างความคิดสร้างสรรค์และอบรมบ่มนิสัย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ (3) โรงเจ เป็นสถานที่สวดมนต์ไหว้เจ้า เป็นที่พึ่งพาทางใจของชาวบ้าน และเป็นสถานที่ผู้สูงอายุในชุมชนมาพบปะพูดคุยกัน (4) บริษัท สหบางหลวงสามัคคี จำกัด มีหน้าที่ดูแลร้านค้าที่มาค้าขายในตลาดบางหลวง (5) กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์บางหลวง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและการแก้ปัญหา อย่างการให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านตลาดบางหลวง ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 มีสมาชิกช่วงเริ่มก่อตั้ง 180 คน (6) สถานีอนามัยตำบล มีบทบาทเป็นสถานที่รักษาประชาชนในชุมชนที่เจ็บไข้ให้ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ พร้อมทั้งวิธีการรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้อง (7) ที่พักสายตรวจตำบลบางหลวง มีบทบาทเรื่องการดูแลความปลอดภัยในชุมชนและเป็นศูนย์รับเรื่องแจ้งความในกรณีที่เกิดปัญหา เป็นต้น (8) คณะกรรมการพัฒนาเทศบาลตำบลบางหลวง มีหน้าที่ดูแลและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ การประปาในตลาด ดูแลเรื่องปริมาณน้ำว่าเพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 (9) กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชนตำบลบางหลวง มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือสังคม โดยมีประธานกลุ่มชื่อ นางราตรี อรถนันท์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกจำนวนทั้งหมด 180 คน (ในช่วงเริ่มก่อตั้ง) และ (10) องค์การบริหารส่วนตำบล มีบทบาทในการดูแลเรียบร้อยของชุมชน พัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น

ช่วงที่ 3 การดำรงอยู่ตามสภาพความสัมพันธ์และการรวมกลุ่มของชุมชนแบบเดิมลดลงผสมกับการปรับตัวตามวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามา ในปี พ.ศ. 2530 – 2547 ความสัมพันธ์ระหว่างกันของประชาชนในชุมชนเหินห่างกันมากขึ้น ลักษณะของครอบครัวจะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมีน้อยลง ซึ่งบางบ้านแทบจะไม่รู้จักกัน เห็นได้จากประชาชนในชุมชนนั้นให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มกันลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องมาจากคนรุ่นก่อนได้ล้มหายตายจากกันไปหรือได้ย้ายออกไปอาศัยกับลูกหลานในจังหวัดอื่น จึงทำให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ นั้นมีบทบาทลดน้อยลง แต่ยังคงมีการจัดตั้งกลุ่มสภาวัฒนธรรม ตำบลบางหลวงขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและศาสนาของประชาชนในชุมชนตำบลบางหลวง โดยจากการศึกษาพบว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นองค์กรของชุมชนเองเป็นแบบที่ไม่เป็นทางการและองค์กรแบบใหม่จากภายนอกที่เป็นทางการบางกลุ่ม เฉพาะกลุ่มที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะกลุ่มอื่น ๆ จากช่วงที่สองดังที่กล่าวข้างต้นที่ยังคงมีสถานภาพเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การนำเสนอผลไม่มีการความซ้ำซ้อนกันของข้อมูล ดังนี้

  • องค์กรของชุมชนเองเป็นแบบที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ (1) กลุ่มร้านกาแฟ ยังคงมีอยู่แต่สมาชิกลดน้อยลง ซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนได้เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการและมีจำนวนไม่แน่นอน ประมาณ 3 – 5 คน เนื่องจากขาดสมาชิกระดับอาวุโส อีกทั้งคนรุ่นหนุ่มสาวไม่เห็นความสำคัญกับการพูดคุยในวงร้านกาแฟ 
  • องค์กรแบบใหม่จากภายนอกที่เป็นทางการ ได้แก่ (1) โรงเรียน ในปัจจุบันโรงเรียนวัดบางหลวงทำการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยโรงเรียนเจี้ยวหัว ทำการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 และโรงเรียนบางหลวงวิทยา ทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 (2) กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์บางหลวง ในปัจจุบันมีทุน 3 แสนบาท และยังคงมีบทบาทในการพัฒนาตำบลบาลหลวงอยู่โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญ ๆ อาทิ การจัดงานปีใหม่ การล้างตลาดทุกต้นเดือน เป็นต้น (3) กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชนตำบลบางหลวง มีจำนวนสมาชิกลดลงอย่างมากเหลือเพียง 50 คน และไม่ค่อยมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนในชุมชนเท่าไรนัก เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานในชุมชน และ (4) สภาวัฒนธรรมตำบลบางหลวง โดยมีกิจกรรมหลักคือ การกระจายความรู้ทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมให้กับชุมชน ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 และ (5) กองทุนหมู่บ้าน มีบทบาทในการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชานได้กู้เงินไปทำรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยการกู้เงินกองทุนดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท 

นอกจากนี้ยังคงมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติ กลุ่มอาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน กลุ่มสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมอยู่ แต่บทบาทของกลุ่มต่าง ๆ ได้ลดจำนวนน้อยลง ทั้งนี้เนื่องจากขาดการสนับสนุนและขาดการเอาใจใส่จากผู้นำชุมชนอย่างจริงจัง

เดิมทีตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชน ชาวบ้านได้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ความสัมพันธ์คนไทยและคนจีนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจนเกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน 5 ประเภท ได้แก่ ความเป็นญาติกัน วิถีชีวิติทางเศรษฐกิจ การเมือง พิธีการต่าง ๆ หรือกิจกรรมทางศาสนา และความบันเทิง จึงมีการและแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมไทยจีนจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจากที่ชาวบ้านจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลักในการเดินทางสัญจรและค้าขายมีการเปลี่ยนมาใช้ถนนที่ถูกตัดเข้ามาแทน ทำให้การพายเรือค้าขายบริเวณริมน้ำค่อย ๆ หายไปและเกิดตลาดบนบกขึ้นมาแทนอย่างในปัจจุบัน

ด้านวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 มีสถานที่สำคัญ ซึ่งประชาชนให้ความเคารพนับถือคือ “ศาลอาม่า” และ “วัดบางหลวง” โดยด้านวัฒนธรรมในอดีต พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ภาษา เพื่อทำการสื่อสารกันในชุมชนสองภาษา คือภาษาไทยและภาษาจีน เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็น “คนจีน” ที่อพยพเข้ามา และในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี จากการสืบค้นผ่านเอกสารพบว่า ชาวบ้านชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 มีการประพฤติปฏิบัติ และยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และเทศกาลต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบันกล่าวคือในทุกเทศกาลชาวบ้านจะให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

ประเพณีทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น

  • งานประจำวัดบางหลวง ซึ่งเป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน
  • ประเพณีสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในชุมชน โดยสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
  • ประเพณีแห่เทียนพรรษา ในเดือนกรกฎาคม ชาวบ้านจะร่วมกันจัดกิจกรรมถวายเทียนพรรษา
  • ประเพณีลอยกระทง มีกิจกรรมประกวดกระทงและกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก
  • ประเพณีศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือศาลอาม่า เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการจัดงานในแต่ละปีจะมีวันที่ไม่ตรงกัน แต่จะยึดวันที่ตามปฏิทินจีน โดยศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ใกล้กับตลาดล่าง ซึ่งชาวบ้านในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 สามารถเข้าสักการะเจ้าแม่ทับทิมได้โดยเรือข้ามฝากในอดีต แต่ในปัจจุบันมีการสร้างสะพานเหล็กข้ามได้สะดวกมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าการจัดงานประเพณีศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นมีการสืบเนื่องกันมายาวนาน ซึ่งในช่วงเทศกาลชาวบ้านในชุมชนจะนำไก่ต้มและผลไม้มาไหว้สักการะ ตามความเชื่อแต่โบราณว่าเจ้าแม่ทับทิมจะปกป้อง ดูแล รักษาชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ให้สงบสุข
  • ประเพณีตรุษจีน เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเทศกาลที่จะมีพิธีเฉลิมฉลองโดยการจัดงานแห่ธงไปรอบตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งจะมีเด็กนักเรียน และผู้คนในตลาดแห่งนี้เป็นผู้เชิญธงด้วยการแบกไว้ที่บ่า เดินเป็นแถวยาวเรียงต่อกัน บนผืนธงที่มีอักษรจีนปรากฏอยู่ถือเป็นคำอวยพรที่เป็นศิริมงคล ต่อด้วยขบวนดนตรีจีนที่บรรเลงขับกล่อมตลอดขบวน และในช่วงเวลากลางคืนจะมีการจัดงานนที่โรงเรียนเจี้ยนหัว โดยชาวบ้านจะมาแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 แห่งนี้
  • เทศกาลสาทรจีน จัดขึ้นประมาณเดือนสิงงหาคมของทุกปี และจะมีการจัดประเพณีทิ้งทางควบคู่กันไป โดยประเพณีการทิ้งทาน ทางกลุ่มผู้จัดงานจะทำการขอบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ของชาวบ้านตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 อาทิ ข้าวสารและของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ ซึ่งในการทิ้งทาน ผู้จัดงานจะโยนติ้วลงบนพื้นดินเพื่อให้คนที่มารอรับทางแย่งกันติ้วที่โยน ติ้วจะมีหมายเลขเพื่อนำมาแลกของรางวัล
  • เทศกาลกินเจ จัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี เนื่องจากชาวบ้านในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ถือศีล กินเจ และนุ่งขาวห่มขาวสวดมนต์ พร้อมกันที่โรงเจเป็นประจำทุกปี โดยตอนกลางคืนจะมีการแสดงงิ้ว นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลกินเจมีกิจกรรมที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ กิจกรรมนมัสการศาลเจ้าแม่ทับทิมให้มาพำนักอยู่ที่โรงเจเป็นเวลา 10 วัน 10 คืน ที่ชาวบ้านในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความขอบคุณและตอบแทนที่เจ้าแม่ทับทิมช่วยรักษาชุมชนแห่งนี้ให้มีความสงบและเรียบร้อย เมื่อครบ 10 วันในการถือศีลกินเจจะนมัสการเจ้าแม่ทับทิมกลับไปที่ศาลเหมือนเดิม ส่วนในช่วงกลางคืนของเทศกาลจะมีการลอยกระทงกันที่บ่อน้ำในโรงเจ เพื่อลอยเอาสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกไปจากชีวิต
  • เทศกาลไหว้พระจันทร์ ในเดือนธันวาคม คืนพระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านเกือบทุกบ้านในตลาดบางหลวง จะนำโต๊ะบูชาด้วยขนมและผลไม้ มาตั้งหน้าบ้านเรียงราย เพื่อสักการะพระจันทร์ตามความเชื่อของชาวจีน

ดังที่กล่าวถึงประเพณีทั้งหมดในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 พบว่า ในปัจจุบันมีชาวบ้านบางกลุ่มได้ขาดความสามัคคีในการทำกิจกรรม ประเพณีบางประเพณี การร่วมมือแบ่งออกเป็นสองฝ่าย เมื่อความเจริญเข้ามาในชุมชน ทำให้สภาพวัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมลดลง อีกทั้งยังมีการปฏิบัติตามประเพณีที่ระดับความเข้มข้นลดน้อยลงในการปฏิบัติตามธรรมเนียมและความร่วมมือ ผนวกกับการเสียผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่ชาวบ้านเคารพและมีความรู้ในวิธีการปฏิบัติตามประเพณี จึงเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122

สองผู้รู้ความเป็นมาของชุมชนตลาดบางหลวงดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึง เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนและเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลชุมชนกับแหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูลในงานเอกสารเชิงวิชาการหลายแห่ง ได้แก่

  • นายสมศักดิ์ อยู่มาก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งเป็น “ลูกหลานรุ่นที่ 3 ชาวจีนบางหลวง” 
  • ลุงสมาน วิเชียรศรี ปราชญ์ท้องถิ่น “ทายาทรุ่น 3 ของโรงตีเหล็ก” ประจำตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ซึ่งยังสืบทอดการตีเหล็กแบบโบราณ และอนุรักษ์โรงตีเหล็กโบราณไว้ โดยกล่าวว่า “อาชีพตีเหล็กเป็นอาชีพที่ไม่สบาย ลูกหลานก็เลยไม่อยากทำกัน บ้านเราจึงไม่มีคนสืบทอด คิดว่าถ้าหมดผมแล้ว อาชีพและโรงตีเหล็กนี้ก็คงตายไปด้วย แต่ถ้าผมยังอยู่ก็จะอนุรักษ์ต่อไป”

ทุนวัฒนธรรม

สถาปัตยกรรมเรือนห้องแถวไม้สองชั้น (เหล่าเต็งไม้)

ในอดีตบ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 มีลักษณะเป็นอาคารเรือนแถวไม้ที่ตั้งขนานกับบ้านไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำ และมีการเปลี่ยนให้บ้านไม้ชั้นเดียวที่มุงหลังคาด้วยจาก มาเป็นบ้านไม้สองชั้นที่มุงด้วยหลังคาสังกะสี ซึ่งชาวบ้านเรียกบ้านไม้สองชั้นนี้ว่า “เหล่าเต็งไม้” โดยชั้นล่างของตัวบ้านใช้สำหรับเปิดเป็นร้านค้าขายในช่วงเวลากลางวัน ส่วนบริเวณชั้นบนใช้สำหรับเป็นที่พักอาศัยในเวลากลางคืน ซึ่งบ้านสองชั้นมีการตั้งเป็นแถวขนานตลอดทั้งเส้น สำหรับตัวอาคารบ้านเรือนในบริเวณชุมชนมีการยกใต้ถุนสูง เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงและมีการสร้างอาคารบ้านเรือนแถวไม้ที่หันหน้าเข้าหากันโดยใช้แม่น้ำนครชัยศรีเป็นทางเข้าของชุมชน และสร้างบ้านไม้เพิ่มต่อกันจนกลายเป็นห้องแถวยาว ซึ่งสถาปัตยกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

การท่องเที่ยวตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 

ตลาดบางหลวงนับว่าเป็นตลาดโบราณเก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งในอดีตเคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เนื่องจากในอดีตตลาดบางหลวงไม่ได้เป็นที่ซื้อขายสินค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมความบันเทิง สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในอดีต ซึ่งชาวบ้านในตลาดแห่งนี้ยังคงคอยดูแลและอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาชมเครื่องใช้โบราณ และสถานที่สำคัญของตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ได้แก่ (1) พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นส่วนที่จัดเก็บของโบราณที่มีอยู่ภายในตลาดบางหลวง โดยภายในจัดแสดงเครื่องใช้ที่ถูกใช้ในอดีตนานาชนิด อาทิ จักรยาน แตร รถเจ๊กหรือรถลาก ธนบัตรโบราณ แผ่นโฆษณาโบราณ ตะเกียง เป็นต้น (2) วิกหนังบางหลวง ในอดีตเคยเป็นที่ฉากภาพยนตร์ ในปัจจุบันแม้ว่าจะไม่เปิดให้บริการแล้ว แต่ยังคงอนุรักษ์วิกหนังไว้ให้นักท่องเที่ยวที่สสนใจได้เข้าศึกษา (3) โรงยาฝิ่น ในอดีตการสูบยาฝิ่นเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ชาวบ้านที่ได้มีการติดต่อค้าขาย และ (4) บ้านดนตรีจีน ปัจจุบันได้เปิดสอนดนตรีจีน ให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ เป็นการสืบทอดเล่นดนตรีจีนพื้นบ้านของชาวบางหลวง

อาหารพื้นถิ่นของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 

อาหารพื้นถิ่นของชุมชน โดยเฉพาะ "ขนมชุนเปี๊ยะ" หาทานได้ที่เดียว คือตลาดบางหลวง ร.ศ.122 ซึ่งเป็น "ของว่าง" ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากของว่างทานเล่นดังกล่าวเป็นของชาวจีนแต้จิ๋ว ที่เป็นสูตรสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น โดยชุนเปี๊ยะถือได้ว่าเป็นของว่างที่อยู่คู่กับตลาดบางหลวงมาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ.122 ทำให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมไทย-จีนได้อย่างลงตัว นอกจากของว่างที่ขึ้นชื่ออย่าง ชุนเปี๊ยะ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของชุมมชนแห่งนี้คือ แม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านตลาดเก่าแห่งนี้ มันทำให้หวนคิดถึงอดีตที่การคมนาคมยังใช้เรือเป็นหลัก ตลาดเก่าแห่งนี้คงจะคึกคักไม่น้อย

"สูตรขนมชุนเปี๊ยะ” ของ “ร้านปึงใฮ้ฮวด” ในพื้นที่ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 จากข้อมูลพบว่า “ชุนเปี๊ยะ” เป็นเมนูขนมที่คนจีนนิยมทานเป็นของว่าง ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ยาก โดยเจ้าของสูตร อย่าง “อาม่าเอี๋ยม” หรือ เอี๋ยม แซ่ฮึง ที่ยึดอาชีพทำขนมชนิดนี้ขายมานานกว่า 50 ปี และปัจจุบันก็ยังคงขายอยู่ โดยมี จันทิมา ปัญญาพิทักษ์วงศ์ ลูกสาวมาช่วยขาย ได้เล่าว่า ชุนเปี๊ยะเป็นขนมโบราณของคนจีน โดยคนไทยมักจะเรียกชื่อขนมชนิดนี้ ว่า “ขนมบ้อง” ซึ่งอาม่าเอี๋ยม กล่าวว่าสูตรขนมชุนเปี๊ยะที่ทำขายอยู่จนถึงปัจจุบันนี้เป็นสูตรที่สามีตนได้มาจากเมืองจีน โดยหลังจากที่สามีตนได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่นั่น และได้พบกับญาติ คือคุณลุงของสามี ที่ทำขนมชุนเปี๊ยะขายอยู่ สามีจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ และฝึกหัดการทำขนมชุนเปี๊ยะจากคุณลุง โดยเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว สามีได้ทำขนมชนิดนี้ขายอยู่ที่ตลาดบางหลวง ร.ศ.112 ซึ่งจากตอนแรกที่ไม่มีใครรู้จัก ชุนเปี๊ยะ แต่ตอนนี้กลายเป็น “ขนมยอดฮิต” ประจำตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีแห่งนี้

เตาหลอมตีเหล็กโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 

เป็นการชมการสาธิตและร่วมตีเหล็กกับช่างจีนโบราณ โดยลุงสมาน วิเชียรศรี ปราชญ์ท้องถิ่น “ทายาทรุ่น 3 ของโรงตีเหล็ก” ประจำตลาดบางหลวง ร.ศ.122 ซึ่งยังสืบทอดการตีเหล็กแบบโบราณ และอนุรักษ์โรงตีเหล็กโบราณไว้ กล่าวว่า "ในสมัยนั้นตลาดนี้รุ่งเรืองมาก มีผู้คนเดินทางเข้ามาค้าขายคึกคัก ซึ่งโรงตีเหล็กก็มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการกันอย่างหนาตา ทั้งมาสั่งตีเครื่องมือการเกษตร ทั้งสั่งตีดาบและมีด แต่พอบ้านเมืองเจริญขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรทันสมัยขึ้น โรงตีเหล็กเริ่มเสื่อมความนิยมลง จนอาชีพช่างตีเหล็กเริ่มสูญหาย"

ในปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนมักจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่จะมีเพียงกลุ่มคนที่มีอายุมากที่อาจจะยังมีการใช้ภาษาจีนอยู่


ปัจจุบันสภาพสังคมในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างกันของชาวบ้านในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 จากเดิมเป็นครอบครัวขยายแต่ปัจจุบันมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้มีน้อยลง บางบ้านแทบจะไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างคิดค้าขาย สร้างรายได้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว ทั้งนี้การเข้ามาของการเมืองท้องถิ่นได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมอันดีงามให้ลดลง ดังนั้น ความสัมพันธ์ของผู้คนภายในตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 ในปัจจุบันจึงมีลักษณะของการรู้จักกันอย่างผิวเผินและเป็นทางการไปตามสถานภาพของตนเองเท่านั้น ซึ่งความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 จึงไม่แนบแน่นเหมือนครั้นอดีต เป็นผลให้ขาดการเกื้อกูลในระดับครอบครัว ขาดความรักและความสามัคคีในตลาด ขาดการให้ความสำคัญของการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และขาดการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ผนวกกับความขัดแย้งจากผลประโยชน์ทางการเมือง ยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ของผู้คนเกิดความห่างเหินต่อกันเรื่อยมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป). ตลาดบางหลวง รศ.122 บ้านเก่าเหล่าเต๊งไม้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/2436.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป). ตลาดบางหลวง ร.ศ. 122. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/ตลาดบางหลวง-ร-ศ-122.

พงษ์ศิริ เทพวงษ์. (2553). ประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ. 122 อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร.

บุษบงค์ สุวรรณะ และพิชามญชุ์ เลิศวัฒนพรชัย. (2553). การพัฒนาตลาดบางหลวงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ใน รายงานการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป). บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดบางหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/405.

ศิริพร หมอกใส. (2558). การเปลี่ยนแปลงของชุมชนตลาดบางหลวง จังหวัดนครปฐม. วารสารวิชาการคณะถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล, 20(1), 39-51.

ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2553). ตลาดบางหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนคม 2566, จาก http://www.snc.lib.su.ac.th/westweb/?p=317.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์. (2566). ชาว‘ตลาดบางหลวง ร.ศ.112’ ลมหายใจ‘วิถีจีน+ไทย’ เสน่ห์‘ความโบราณที่ยังมีชีวิต.’ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://d.dailynews.co.th/article/387966/.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์. (2559). ‘ขนมชุนเปี๊ยะ’ของว่างโบราณ‘ทำเงิน.’ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://d.dailynews.co.th/article/383696/.

museumthailand. (ม.ป.ป.). ชุนเปี๊ยะกับตลาดบางหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://www.museumthailand.com/th/3323/storytelling/.

องค์การบริหารส่วนตำบลบางหลวง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลสภาพทั่วไป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://sao-bl.go.th/public/texteditor/data/index/menu/498.

วันดี ธาดาเศวร์. (2548). กระบวนการกลายเป็นเมืองกับความเป็นชุมชนชนบท: กรณีศึกษาชุมชนตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยและพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.