Advance search

บ้านบางนุ

บางโนะ

หลาดลองแล@บางนุ 

บ้านบางนุ
กะไหล
ตะกั่วทุ่ง
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านบางนุ
บางโนะ

บางนุ” ยังสงสัยกันว่าเป็นภาษาชาติใด จะเป็นภาษาไทยก็ไม่ใช่ ภาษาจีนก็ไม่เชิง เดิมคนพื้นถิ่นตั้งถิ่นฐานข้างลำธารด้านตะวันออก เรียกว่า "บางนอก" ส่วนทางฝั่งตะวันตกของลำธาร  เรียกว่า "บางใน" ซึ่งคำว่า "บาง" เป็นคำที่ชาวบ้านเรียก "ลำธารที่มีน้ำไหล" ทุก ๆ สายว่า “บาง”  ต่อมาเมื่อ "คนจีน" เข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น  สำเนียงภาษาจีนเรียก “บางนอก” ว่า “บางโน๊ะ” เรียก “บางนุใน” เป็น “บางโน๊ะใน”

ต่อมาราชการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล ปี พ.ศ. 2482 ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครเป็นผู้ให้ชื่อว่า “บางนุ” เพื่อเป็นภาษาราชการเข้ามาใช้กับโรงเรียนนักเรียนและชนรุ่นหลัง ก็เรียกตามชื่อราชการว่า "บ้านบางนุ" และคนรุ่นเก่าดั้งเดิม ก็เรียกว่า "บางโน๊ะ" จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

หลาดลองแล@บางนุ 

บ้านบางนุ
กะไหล
ตะกั่วทุ่ง
พังงา
82130
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-3879-5146, อบต.กะไหล โทร. 0-7647-3130
8.333089407759532
98.39196489713974
องค์การบริหารส่วนตำบลกะไหล

บ้านบางนุ หมู่ที่ 6 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เดิมคนพื้นถิ่นตั้งถิ่นฐานอาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำนา ทำสวน กระทั่งนายงิ้วเซี้ยว แซ่ตัน ชาวปีนัง ชาวบ้านเรียกว่า “เถ้าแก่แพะ” เป็นคนแรกที่เข้ามาบุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุก เพราะบ้านบางนุอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก การทำเหมืองแร่แรกเริ่มใช้แรงงานจำนวนร้อยคนในการขุดค้นหาแร่ ตามแถบที่ราบทางตะวันออก อย่างไรก็ดีกรรมกรเหมืองแร่แห่งนี้ล้วนแต่เป็นชาวจีนมาจาก “เมืองปีนัง” ทั้งสิ้น

เมื่อเข้ามาอยู่นานวันมีการแต่งงานกับหญิงชาวไทยในชุมชน จึงทำให้ชาวบ้านบางนุ ร้อยละ 90 มีเชื้อสายจีน นับถือประเพณีจีนมาจนทุกวันนี้ และเพื่อให้เกิดศูนย์รวมจิตใจของบรรดากรรมกรเหมืองแร่ เมื่อครั้งเหมืองแร่เฟื่องฟูจึงมีการสร้าง “ศาลพ่อตาเจ้าที่” ไว้สักการะบูชาตามประเพณีโบราณ ปัจจุบันคือ “ศาลพ่อตาแรด” นอกจากนี้เขายังเป็นผู้นำ “ยางพารา” จากมาลายูมาปลูกในตำบลกะไหล เป็นคนแรก

ดังกล่าวข้างต้น บ้านบางนุ จึงเป็นชุมชนที่เกิดจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มภาษา “ฮกเกี้ยน” ที่เคยตั้งรกรากในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนที่จะเข้ามาตั้งรกรากบริเวณบ้านบางนุ บรรพชนรุ่นแรกของบ้านบางนุมี "สี่สายสกุล" ประกอบไปด้วย "แก้วบำรุง" "พิกุลทอง" "คำอ่อน” และ "ชมขวัญ" (สุดา แป้นสุวรรณ และ จันทร์จิรา พงศ์ไพสิทธิ์, 29 กรกฎาคม 2565 : สัมภาษณ์) และตระกูลอื่น ๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากที่บ้านบางนุ

อย่างไรก็ดีการตั้งถิ่นฐานของชาวบางนุสมัยก่อนค่อนข้างมีลักษณะไม่ถาวร กล่าวคือ หลายครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามาและออกไปด้วยเหตุผลในการใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพ อาทิ การเข้ามาทำไร่ทำนาแบบเลื่อนลอยก่อนยุคสมัยเหมืองแร่ เมื่อทำการเกษตรเสร็จสิ้นเป็นฤดูกาลมักจะย้ายไปทำการเกษตรที่อื่นต่อไป หรือ ในสมัยเหมืองแร่เฟื่องฟูมีประชากรยายถิ่นมาจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นมาจากคาบสมุทรมลายูและจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งผู้คนทางภาคอีสานและภาคกลางของไทย แต่เมื่อเหมืองแร่ยุติลงคนกลุ่มนี้มักจะย้ายถิ่นออกไป มีเพียงกลุ่มคนที่มีการปฏิสัมพันธ์กับคนบรรพชนรุ่นแรกที่แต่งงานกันและตัดสินใจอยู่ที่บ้านบางนุ หรือ ลูกหลานบ้านบางนุ รวมถึงคนที่เข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินแบบถาวร

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนรุ่นแรกนั้นสันนิษฐานว่า เกิดจากการขยายตัวของเมืองภูเก็ตที่คับคั่งไปด้วยแรงงานจีนโพ้นทะเล และแรงงานจากจังหวัดใกล้เคียงของไทยที่เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกและสวนยางพารา เนื่องจากบรรพชนรุ่นแรกที่ตั้งรกราก มีประสบการณ์ในการทำแร่แบบเหมืองฉีดมาก่อน จึงมักเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในเหมืองแร่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการหาพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ (รับจ้าง) ในพื้นที่ตะกั่วทุ่ง และด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของบรรพชนที่เริ่มมองหาพื้นที่ตั้งรกร้างในสมัยนั้น (ก่อน พ.ศ. 2500) เพื่อตั้งหลักแหล่งที่ปลอดภัยและถาวร บรรพชนบางนุจึงเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้างที่เคยเป็นพื้นที่ทำนามาก่อน โดยการปลูกทุเรียนบ้าน หรือพืชผลที่กินได้ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการจับจองพื้นที่ ใครขยันหน่อยก็ได้พื้นที่มากตามกำลัง (วินัย พิกุลทอง, 29 กรกฎาคม 2565 : สัมภาษณ์)

พื้นที่ของบ้านบางนุเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรม (ดำนาข้าวและข้าวไร่) บ้านบางนุมีคลองล้อมรอบมีแหล่งน้ำธรรมชาติบริบูรณ์ คือ คลองบางยายโฉง คลองสามชี คลองบางใส และคลองบางนุใน คลองทั้งสี่สายบรรจบสู่คลองกะไหล อีกทั้งมีสายแร่ที่ยังไม่ได้สำรวจอย่างเป็นทางการอีกมาก บรรพชนรุ่นแรกจึงตัดสินใจตั้งรกรากที่บ้านบางนุ ช่วงฤดูกาลทำนา จะช่วยกันดำนาและรอจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะลงแขก บางบ้านเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ไว้กินเอง หากมีคนมาขอซื้อก็ขายไป

บ้านบางนุอยู่ห่างไกลจากถนนสายหลัก ชาวบ้านจึงมีวิถีแบบยังชีพ พึ่งพาอาศัยกัน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจากการเกษตร ชาวบ้านจะเดินเท้ามุ่งหน้าสู่เหมืองแร่ต่าง ๆ ในระแวกใกล้เคียง

เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบใหญ่กับชาวบางนุ คือใน พ.ศ. 2506 เกิดวาตภัยใหญ่นำไปสู่การเปลี่ยนวิถีชีวิต พายุพัดกระหน่ำถล่มบางนุ กระทั่งนาข้าวของชาวบ้านเสียหายไม่สามารถกู้นากลับคืนได้ การทำนาของชาวบ้านจึงยุติลง อาชีพรับจ้างและหาแร่จึงเป็นอาชีพหลักของชาวบางนุ กิจการเหมืองแร่ขยายตัวมากขึ้นมีการสำรวจแร่ในชุมชนโดยกิจการเหมืองแร่ของ “เฒ่าแก่เอ็งสี” (สายตระกูลอนุภาษ) ได้เข้าสำรวจแร่ดีบุกพบว่า บ้านบางนุมีสายแร่ปริมาณมากผู้คนจึงตัดสินใจตั้งรกรากในบางนุมากขึ้น

พ.ศ. 2526 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ สภาการเหมืองแร่ พ.ศ. 2526 เพื่อควบคุมธุรกิจเหมืองแร่อย่างเข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับการนิยมหันไปทำเหมืองแร่ทะเลที่มีแหล่งแร่มหาศาล ชาวบางนุจึงหันไปทำเหมืองแร่ในทะเล และบางส่วนก็หันไปประกอบอาชีพในลักษณะอื่น อาทิ สวนยางพารา สวนปาล์ม รับจ้าง รับราชการ

จากประวัติของชุมชนข้างต้นพบว่า ชุมชนบ้านบางนุมีอายุเก่าแก่มากกว่าร้อยปี (ชนรุ่นปัจจุบันคือรุ่นที่ 4-6) เรื่องราวของชุมชนมีความน่าสนใจในเรื่องวิถีชีวิตและความผันแปลในอาชีพของชาวบ้าน ชาวบ้านมีความเข้มแข็งในการจัดการตัวเอง ซึ่งคนรุ่นหลังปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาทางสายโลหิต ลูกหลานบ้านบางนุเล่าว่า บรรพชนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากที่บ้านบางนุเป็นคนลำบาก ขยันทำงาน และมีความสามัคคีกัน ลูกหลานรุ่นหลังยังคงรักษามรดกตกทอดเหล่านี้ไปพร้อมกับคำสอนของบรรพชน

บ้านบางนุ หมู่ที่ 6 ตำบลกะไหล ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับการทำสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ และล้อมรอบด้วยเชิงเขาบางนุ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกเกือบตลอดปี โดยทั่วไปมี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน ในชุมชนบ้านบางนุมีฝายคลองบางนุและสระน้ำบางนุ ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อการทำการเกษตร

จำนวนประชากรจากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร  (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนประชากรบ้านบางนุ หมู่ที่ 6 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จำนวนประชากรชาย 268 คน จำนวนประชากรหญิง 280 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 548 คน จำนวน 241 หลังคาเรือน

จีน

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนชุมชนเป็นสังคมชนบทที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ประชาชนมีความใกล้ชิดกันโดยผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำชุมชน การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของชาวบ้านในชุมชนบางนุ ประกอบด้วย

  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
  • กลุ่มเกษตรกรรม
  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำ

สมาชิกในชุมชนบ้านบางนุส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีที่สำคัญของชุมชน ซึ่งได้แก่

  • ประเพณีทำบุญตักบาตรขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญร่วมกันในหมู่บ้าน จัดในช่วงวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวบ้านในชุมชน
  • ประเพณีวันสงกรานต์ ถือเป็นวันปีใหม่ไทย ทางหมู่บ้านจะทำพิธีรดน้ำดำหัว ขอขมาและขอพรผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งประเพณีไทยแต่โบราณ และเป็นการให้ความสำคัญรวมทั้งเป็นการแสดงถึงความนอบน้อมต่อผู้สูงอายุอีกด้วย วันที่ 15 เมษายน ของทุกปี จะมีพิธีสวดมนต์ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ สรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำนักสงฆ์สวนป่าโพธิ์ธรรมในตอนเช้า และในตอนบ่ายมีพิธีสรงน้ำและบูชารอยพระพุทธบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนเข้าวัด ฟังธรรม และระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
  • ประเพณีงานบุญเดือนสิบ (วันสารทไทย) ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นการรวมตัวกันของญาติ ๆ ในชุมชนเพื่อไปทำบุญ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
  • ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี หมู่บ้านร่วมกับสำนักสงฆ์ สวนป่าโพธิ์ธรรมจัดเย็บกระทงใหญ่ร่วมกันจำนวน 1 กระทง เพื่อไปลอยและสวดมนต์บูชาระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีและเป็นการอนุรักษ์ประเพณีไทยอีกด้วย
  • ประเพณีกินเจ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะไปไหว้พระที่ศาลเจ้า รักษาศีล กินเจ
  • ประเพณีวันตรุษจีน ถือเป็นวันปีใหม่จีนเป็นวันครอบครัว ชาวบ้านเชื้อสายจีนจะไปซื้อกับข้าวก่อนวันไหว้หนึ่งวัน เรียกว่า วันจ่าย และเตรียมทำความสะอาดบ้านก่อนหนึ่งวัน ชาวบ้านเชื้อสายจีน ในวันไหว้เจ้าจะไปกราบไหว้ตั้งของเซ่นไหว้บูชาที่ศาลพ่อตาแรดในหมู่บ้านก่อนที่จะมาไหว้เจ้า หรือไหว้กับข้าวที่บ้าน จากนั้นจะมีการแจกอั่งเปาให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชุมชนอีกประเพณีหนึ่ง

1. พระอาจารย์อานนท์  อัมมโร  ด้านยาสมุนไพรจีน และการฝังเข็ม

2. นายประเสริฐ พิกุลทอง  ด้านผู้นำพิธีทางศาสนา

3. นายประภาส นวลประกอบ  ด้านพิธีสิริมงคล

4. นายประเสริฐ  ลิ่มสกุล  ด้านเครื่องมือทางการเกษตร (เครื่องห่อผลไม้)

5. นายประชา  พิกุลทอง  ด้านการเกษตร

6. นางสอย่อง  พิกุลทอง  ด้านทำอาหารไทยพื้นบ้าน

7. นางสุดา อาจหาญ  ด้านหมอยาสมุนไพร (รักษามะเร็งเต้านม)

8. นายสุชีพ  บุญนำ  ด้านยาสมุนไพร (รักษาโรคเริม) และการเลี้ยงไส้เดือน

9. นางสุนีย์  รัตนวงค์  ด้านหมอเอ็น

10. นางห้อง  คงคุ้ม  ด้านหมอเอ็น

11. นางสาวนวลศรี  พิกุลทอง  ด้านยาสมุนไพร (รักษาไข้ทับระดู)

12. นางบานเย็น โภคบุตร  ด้านสานตะกร้อห่อผลไม้ (จำปาดะ ขนุน)

13. นางอิงอร พลรบ  ด้านยาสมุนไพร

14. นายทรงวุฒิ ไชยยุทธ  ด้านเตาเผาถ่าน และการทำปุ๋ยหมักแห้ง

ทุนชุมชน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนบางนุ มีดังนี้

  • เตาเผาถ่าน : เป็นภูมิปัญญา สามารถเผากิ่งไม้ ผลไม้ได้ทุกชนิด แต่ถ่านที่มีคุณภาพดีที่สุด ได้แก่ถ่านจากไม้ไผ่ ทดสอบด้วยการนำไฟฟ้า เมื่อนำไปทำสบู่จะได้สบู่ถ่านที่มีคุณภาพ ผลพลอยได้จากการเผาถ่าน คือน้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ไล่แมลง อีกทั้งยังนำไปใช้ทำสบู่ได้อีกด้วย

  • ไม้กวาดดอกหญ้า หรือไม้กวาดดอกอ้อ : เป็นพืชอายุสั้น ออกดอกแค่ปีละครั้ง คือ เดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายนชาวบ้านจะเก็บนำมาตากแดด ฝัดเอาดอกออก จนเหลือก้านใบ แล้วนำมาผูกเป็นไม้กวาด

  • สมุนไพรจีนกับการฝังเข็ม : การรักษาแบบแพทย์แผนจีน เน้นการรักษาแบบองค์รวม สร้างความสมดุล ตามหลัก 5 ธาตุ มองเห็นเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และมุ่งเน้นการดูแลก่อนป่วย มากกว่าการแก้ไขรักษาหลังป่วยการรักษาโดยการฝังเข็มร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีน

ภาษาที่ใช้พูด ภาษาไทยสำเนียงถิ่นใต้พังงา


วิถีชีวิตของชาวบางนุ ปัจจุบันเน้นการทำการเกษตรเป็นหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของชาวบ้านเมื่อว่างเว้นจากการทำการเกษตรมักเตรียมวัตถุดิบเพื่อขายใน "หลาดลองแล" ซึ่งเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ ส่วนคนรุ่นใหม่มักหาประสบการณ์การเรียนและการทำงานนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตามการก่อตั้งหลาดลองแลทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกอยากกลับมาทำการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในพื้นที่ตลาดเพื่อเป็นรายได้เสริม ดูเหมือนว่าหลาดลองแลไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ค้าขายเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่บ้านบางนุ ชาวบางนุจะทำกิจกรรมร่วมกันในการพัฒนาตลาดลองแล โดยกำหนดเป็นกติกาภายใต้การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนบ้านบางนุที่ร้านค้าในตลาดจะต้องเข้าร่วมจนกลายเป็นวิถีใหม่ของชาวบ้าน

ปัจจุบันหลาดลองแล เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวิถีชุมชน เดิมทีหลาดลองแลก่อตั้งขึ้นตามแนวทางการสร้างตลาดประชารัฐในยุคของ "ผู้ใหญ่เสริมศรี ทองสกุล" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านบางนุคนปัจจุบัน และเป็นผู้ตั้งชื่อ "หลาดลองแล" ซึ่งเป็นภาษาถิ่นใต้ "หลาด" หมายถึง "ตลาด" "ลองแล" หมายถึง "ลองดู ลองทำดู" หลาดลองแลเริ่มเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2560 หยุดพักไปในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 และเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ลักษณะสินค้าในตลาดยังคงเน้นสินค้าเกษตรที่มาจากชุมชนและภูมิปัญญาชาวบ้าน การเน้นวิถีชีวิตชุมชนและแนวคิดตลาดสีเขียว ยังคงเป็นจุดเด่นของหลาดลองแล และเมื่อเสร็จกิจกรรมตลาด ชาวบ้านมีกิจกรรมนันทนา การทำความสะอาด และการหารือแนวทางการจัดการตลาดในครั้งถัดไป

ปัจจุบันหลาดลองแล เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายของตลาดจากลูกค้าเป็น นักท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันหลาดลองแลมักเป็นจุดเริ่มต้นในโปรแกรมการท่องเที่ยว จากจุดเด่นของการเป็นตลาดเช้า มีกิจกรรมถนนสายบุญ (การตักบาตรตอนเช้า) และของที่ขายในตลาดมีทั้งของกินสำเร็จรูป และของสดทั้งผัก ผลไม้ และอาหารทะเล ความยั่งยืนของหลาดลองแลและรายได้ของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นทำให้ลูกหลานบ้านบางนุเริ่มเปลี่ยนทัศนคติกลับมาทำงานที่บ้านเกิดมากขึ้น ทว่าการเป็นเพียงตลาดเช้านั้น ยังไม่เพียงพอต่อความคาดหวังเรื่องปากท้อง ดังนั้น ชาวบางนุจึงมีแนวคิดที่อยากสร้างเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน ไม่ใช่เพียงจุดแวะหรือจุดเริ่มต้นของแผนการท่องเที่ยวอีกต่อไป

ความเชื่อเรื่องพ่อตาแรด (ชาวบางนุจะสักการะพ่อตาแรดทุกครั้งในวันเปิดตลาด และการบนบานเรื่องสำคัญ)

พ่อตาแรดถูกพบในป่า ปัจจุบันเป็นที่ดินของลุงนัย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ บริเวณใกล้เคียงมีศาลขนาดเล็กขององครักษ์ ภายในศาลพ่อตาแรดเดิมมีลักษณะคล้ายบ้านภายในโล่ง มีป้ายภาษาจีนวางอยู่หน้าศาล (ปัจจุบันมีรูปปั้นเสือดำขนาดเล็กผูกผ้าเจ็ดสีบริเวณคอ ก่อนหน้านี้เคยมีรูปปั้นเสือโคร่งขาดเล็ก) ชาวบ้านจะบนบานหรือขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อตาแรดมักช่วยให้สำเร็จสมปรารถนาเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเรื่องเล่ากล่าวขานถึงพ่อตาแรด ดังนี้

เรื่องเล่าที่หนึ่ง ชาวบ้านเล่าต่อกันว่าว่าผู้ใหญ่บ้านคนแรก (แปะฮ่อง) นำหนังตะลุงมาแสดงให้พ่อตาแรดชม ในวันนั้นพ่อตาแรดประทับทรงแปะฮ่อง เรียกว่าม้าทรง ม้าทรงกระโดดขึ้นไปบริเวณฉากหนังตะลุง และกระโดดลงมากินของไหว้ (วันนั้นชาวบ้านถวายเนื้ยควาย) ม้าทรงถีบหัวควายและกินเนื้อควายสด พูดบ่นพึงพำเป็นภาษาใต้ หลังจากวันนั้น พ่อตาแรดประทับร่าง ตาหยอด และยายสมจิตร เนาวบุตร (สกุลเดิมชมขวัญ) ปัจจุบันชาวบ้านบางนุยังคงสักการะบูชาพ่อตาแรด โดยการสักการะ ขึ้นอยู่กับการบนบาน อาทิ การถวายหมากพลูสามคำ การบูชาด้วยธูปห้าดอก เทียนสองเล่มและดอกไม้ ถวายหัวหมู ไก่ และเหล่าขาว

เรื่องเล่าที่สอง เมื่อมีหนังตะลุง หรือ มะโนราห์มาแสดงในชุมชน หรือพื้นที่ใกล้เคียง หากคณะการแสดงนั้นไม่เข้ามาทำการแสดงให้พ่อตาแรดดูจะเกิดอุปสรรค์ไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทุกคณะต้องกลับมาแสดงให้ที่หน้าศาลพ่อตาแรดก่อนเดินทางไปแสดงที่อื่นต่อ

ธำรงค์ บริเวธานันท์ (2565). โครงการ วัตถุทางวัฒนธรรม: “สิ่ง” สะท้อนวิถีชุมชน 5 พื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน (ชุมชนบ้านบางนุ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา) : รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).