Advance search

ตลาดร้อยปีสามชุก

ตลาดสามชุก

ชุมชนตลาดร้อยปีสามชุก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอสามชุก และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ 

ตลาดสามชุก
สามชุก
สามชุก
สุพรรณบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ตลาดร้อยปีสามชุก
ตลาดสามชุก

มีข้อสันนิษฐานถึง 3 ที่มา คือ (1) มาจากคําว่า “กระชุก” หรือ “สีชุก” ซึ่งเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ (2) เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำ มีลักษณะเป็นทาง “สามแพร่ง” และมีผู้คนเข้ามาทําการค้าขายกัน “ชุกชุม” จึงกลายเป็นคําว่า “สามชุก” (3) มาจากคำว่า "สามสีชุก" ในอดีตมีเรื่องเล่าชุมชนว่า มีเรือของทรัพย์แผ่นดิน บรรทุกเงินทองเอาไว้มากมายมาจอดที่บริเวณนี้ ชาวบ้านมาพบจึงช่วยกันนำทรัพย์สินที่ได้จากเรือดังกล่าวขึ้นมาใส่เกวียน ซึ่งมีมากมายถึงสามสีชุกด้วยกัน 


ชุมชนตลาดร้อยปีสามชุก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอสามชุก และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ 

ตลาดสามชุก
สามชุก
สามชุก
สุพรรณบุรี
72130
เทศบาลสามชุก โทร. 0-3557-1067
14.755595
100.094750
เทศบาลตำบลสามชุก

ตลาดร้อยปีสามชุก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อ อําเภอ “นางบวช” ตั้งอยู่บริเวณ ตําบลนางบวช โดยมีขุนพรมสภา (บุญรอด) เป็นนายอําเภอคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอําเภอนางบวชมาอยู่ที่บ้านสามเพ็ง ตั้งอยู่ริมลําน้ำท่าจีน (สุพรรณบุรี) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลองมะขามเฒ่า ซึ่งบริเวณนี้แต่เดิมเป็นป่า มีท่าเรือสําหรับชาวป่านำเกวียนบรรทุกสินค้าของฝากมาแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าชาวเรือ จอดแลกเปลี่ยนสินค้าซื้อขายกัน ซึ่งนับว่าย่านนี้เป็นย่านค้าขายที่สําคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 ได้เปลี่ยนชื่อจากอําเภอนางบวชมาเป็น อําเภอสามชุก

แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอําเภอสามชุกเรียกว่า “ท่ายาง” มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า “สามแพร่ง” ต่อมาได้เพี้ยนเป็นสามเพ็งและสําเพ็งในที่สุดตามกลุ่มคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่น มีเรื่องกล่าวต่อมาว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสําหรับใส่ของขาย เรียกว่า “กระชุก” ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สามชุก” มาถึงปัจจุบัน

คําว่า “สามชุก” มีที่มาอย่างไร ไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่ตามที่เล่าต่อ ๆ กันมาสรุปได้เป็น 3 นัย (อรุณี จำปานิล, 2550: 20-32)

  • นัยแรก มาจากคําว่า “กระชุก” หรือ “สีชุก” ซึ่งเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ มีหลายรูปแบบ เช่น กระชุกรูปทรงคล้ายฟักผ่าตามยาว กระชุกทรงกลมสูง เป็นต้น ชาวบ้านทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นจึงพากันเรียกละแวกนี้ว่า “บ้านกระชุก” หรือ “บ้านสามชุก” เรื่อยมา

  • นัยที่สอง สันนิษฐานว่ามาจากที่ตั้งของชุมชน ซึ่งมีเส้นทางติดต่อค้าขาย 3 เส้นทาง เส้นทางแรก ล่องเรือลงมาจากทางเหนือตามลําน้ำท่าจีน หรือแถบจังหวัดชัยนาท-นครสรวรรค์ เส้นทางที่สอง ล่องเรือตามลำน้ำท่าจีนขึ้นมาทางใต้สายกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร และเส้นทางที่ 3 คือ เส้นทางบกจากหนองหญ้าไซและด่านช้างซึ่งอยู่ห่างแม่น้ำไปทางทิศตะวันตก จุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นทาง “สามแพร่ง” และมีผู้คนเข้ามาทําการค้าขายกัน “ชุกชุม” จึงกลายเป็นคําว่า “สามชุก” ที่ใช้เรียกขานกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา 
  • นัยที่สาม มาจากคำว่า "สามสีชุก" เนื่องจากในอดีตมีเรื่องเล่าชุมชนว่า สมัยก่อนที่บริเวณบ้านสามชุกได้เคยมีเรือชะล่า หรือเรือทรัพย์แผ่นดิน เคลื่อนที่ผ่านไปมาอยู่ใต้ดิน โดยเรือของทรัพย์แผ่นดินลำนี้ชาวบ้านเชื่อว่าบรรทุกเงินทองเอาไว้มากมาย ครั้งหนึ่งเรือชะล่าได้เคยมาจอดที่บริเวณนี้ ชาวบ้านมาพบจึงช่วยกันนำทรัพย์สินที่ได้จากเรือดังกล่าวขึ้นมาใส่เกวียน ซึ่งมีมากมายถึงสามสีชุกด้วยกัน จึงเกิดการร่ำลือไปทั่วสาระทิศ จึงเกิดเป็นชื่อเรียกขานย่านนี้ว่า "บ้านสามสีชุก" หรือบ้านสามชุก" นับแต่นั้น 

ในปัจจุบันตลาดสามชุกตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีน ตําบลสามชุก อําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมคือหมู่บ้านสามเพ็งตามที่ได้กล่าวมาในช่วงก่อนหน้านี้ การก่อตัวในรูปแบบชุมชนของตลาดสามชุก เริ่มจากการมีบทบาทของส่วนงานราชการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงชุมชน แต่จุดสําคัญของการก่อตั้งถิ่นฐานเป็นสังคมเมืองตามที่เห็นในปัจจุบันนั้น ตัวแปรที่สําคัญที่สุดคือ การเริ่มต้นก่อตัวเป็นย่านการค้า เนื่องจากเดิมทีที่แห่งนี้เป็นพื้นที่บรรจบของเส้นทางหลายสายในการสัญจรทั้งทางเกวียนหรือทางลําน้ำท่าจีน (สุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับการติดต่อค้าขาย มีส่วนทําให้กลุ่มคนต่าง ๆ แวะเวียนเข้ามาทําการค้า คนที่เคยเร่ค้าก็เริ่มวางรากฐานรวมตัวกันขึ้น ไม่นานชุมชนการค้าย่านสามชุกก็สามารถก่อสร้างตัวตลาดได้อย่างมั่นคง โดยผู้ริเริ่มก่อสร้างตลาดขึ้นมานั้น คือ ขุนจํานง จีนารักษ์ หรือเถ้าแก่หุย แซ่เฮง ซึ่งเป็นนายอากรที่ดํารงตําแหน่งทางราชการคนแรกของตลาดสามชุก นับแต่นั้นเป็นต้นมาชุมชนแห่งนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักของชุมชนทั่วไปในนาม “ตลาดสามชุก” (คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก, 2554 อ้างถึงใน สุชาดา กะมะลานน, ม.ป.ป.: 52-54)

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำท่าจีนหรือสุพรรณบุรีไหลผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีระบบชลประทานครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ได้แก่ บึงระหาร อยู่ทางทิศตะวันออกของเทศบาลสามชุก ซึ่งทําให้ชุมชนตลาดสามชุกเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์

การคมนาคม

การเดินทางเข้าสู่ตลาดสามชุกสามารถเดินทางได้ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ ทางบกและทางน้ำ โดยทางบกสามารถใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลย 340 (สายสุพรรณบุรี–ชัยนาท) เป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งจากทางเหนือ คือ จังหวัดชัยนาท ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีลงสู่ทางใต้ คือ จังหวัดปทุมธานีตลอดจนถึงกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ยังมีรถตู้โดยสาร รถโดยสารประจําทาง ทั้งประเภทปรับอากาศและธรรมดาผ่านหลายสาย ส่วนทางน้ำสามารถล่องเรือตามลําน้ำเจ้าพระยา จากกรุงเทพมหานครเข้าประตูน้ำบ้านแพน ประตูน้ำบางยี่หน ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเข้าประตูน้ำโพธิ์พระยามาสู่ตลาดสามชุก

สถานที่สำคัญ

  • พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์จีนารักษ์ แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนตลาดสามชุก มีลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น มีรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะแบบไทย-จีน ผสมผสานชิโนโปรตุเกส ชั้นที่ 1 แสดงข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสามชุก ชั้นที่ 2 แสดงเรื่องราวของครอบครัวขุนจํานงจีนารักษ์ ชั้นที่ 3 จัดเป็นพื้นที่ประชุมสัมมนา จัดนิทรรศการหมุนเวียนตามความเหมาะสม

ตลาดสามชุกเป็นส่วนหนึ่งในบริเวณพื้นที่หมู่ 2 ตําบลสามชุก อําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ข้อมูลของเทศบาลตําบลสามชุกจากการสํารวจจํานวนประชากรและผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตําบลสามชุก พ.ศ. 2555 พบว่า ในเขตพื้นที่หมู่ 2 มี ครัวเรือนทั้งสิ้น 1,183 ครัวเรือน มีจํานวนประชากรทั้งสิ้น 3,910 คน แบ่งเป็นจํานวนประชากรชาย 1,837 คน จํานวนประชากรหญิง 2,073 คน แต่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตลาดสามชุกมีเพียง 300 หลังคาเรือน โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนประมาณร้อยละ 80 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในตลาดทั้งหมด 

จีน

เศรษฐกิจ

ชาวบ้านชุมชนตลาดสามชุกส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพค้าขายเป็นอาชีพหลัก ส่วนอาชีพเกษตรกรรม รับราชการ หรือการประกอบกิจการส่วนตัวเป็นอาชีพรองลงไป ปัจจุบันตลาดสามชุกได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะเป็นตลาดเก่าเชิงอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของชาวตลาดสามชุกมาจากรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชนเป็นหลัก

ตัวอย่างร้านค้าเก่าแก่ของชุมชนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ได้แก่ โรงแรมอุดมโชค (แต่ปัจจุบันได้ปิดตัว ไปแล้วเนื่องจากมีสภาพเก่าแก่ไม่ได้มาตรฐานการเป็นโรงแรมในปัจจุบัน) ร้านขายยาโบราณ ยาจีน ร้านฮกอันโอสถสถาน ร้านทองม้วนโบราณป้าแป๊ด ร้านกาแฟท่าเรือส่ง ร้านบะหมี่เจ็กอ้าว ร้านข้าว ห่อใบบัวป้ามัลลิกา ร้านโชคชัยสินค้าโบราณ ร้านโชคนิมิต ฯลฯ

กลุ่มชุมชน

คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์:  ทําหน้าที่แก้ไขปัญหาและความต้องการของ ชุมชนจากปรากฏการณ์การดําเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านที่อยู่อาศัย ด้านแหล่งการเรียนรู้ ชุมชนที่ลานโพธิ์ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจํานงจีนารักษ์ จัดทําของที่ระลึกชุมชนเพื่อหารายได้เข้ากองทุน สาธารณะของชุมชนสามชุกและใช้ในการพัฒนาบริหารจัดการชุมชน ประสานงานกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน นักท่องเที่ยว และประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมตลาดร้อยปีสามชุก ฯลฯ

ตลาดสามชุกเป็นตลาดที่มีความเชื่อและมีความศรัทธาต่อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประจําชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ชุมชนมาตั้งแต่อดีตและถูกสร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษ จึงทําให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตลาดมีความเชื่อและมีความศรัทธาต่อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประจําชุมชนมาโดยตลอด โดยมีการสร้างศาลรูปเคารพขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะเมื่อปี พ.ศ. 2467 ภายหลังจากมีการบูรณะมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อสร้างอย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้วจึงตั้งชื่อว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุก” หรือ “เจี๊ย ถึงเถ่ากง”

ในทุกปีจะมีการจัดงานที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุกปีละ 2 ครั้ง คือ ในช่วงเดือนมกราคม จะมีงิ้วแก้บน และในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีงิ้วประจําปี ซึ่งในงานก็จะมีการซ้อมเชิดสิงโตโดยกลุ่มลูกหลานของคนในตลาด มีการแสดงอุปรากรจีน นอกจากนี้ในงานยังมีการตั้งร้านค้าและมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย บรรยากาศในงานจึงรื่นเริง สนุกสนาน และเป็นกันเอง นับว่าเป็นประเพณีที่หลอมรวมใจของคนในตลาดสามชุกได้เป็นอย่างดี

1. ขุนจำนงค์จีนารักษ์ (หุย แซ่เฮง)  ผู้ก่อตั้งตลาดสามชุก เจ้าของอาคารพาณิชย์ ศิลปะแบบไทย-จีน ผสมชิโนโปรตุเกสในพื้นที่ชุมชนตลาดสามชุก หรืออาคารพิพิธภัณฑ์ขุนจำนงค์จีนารักษ์ในปัจจุบัน ขุนจํานงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น เมื่อเยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย โดยเข้ามาเช่าที่ราชพัสดุปลูกบ้านสามชั้น (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ใน ปี พ.ศ. 2459 กิจการค้าขายของท่าน เจริญรุ่งเรืองถึง 6 อําเภอ ท่านเป็นคนมีเมตตาชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นําชุมชน และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนจํานงจีนารักษ์ ตําแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี นายอากรสุรา-ฝิ่น ศักดินา 400 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทําสวนทําไร่ และเสียชีวิต เมื่อ พ.ศ.2517 รวมอายุได้ 83 ปี

2. นายพงษ์วิน ชัยวิรัตน์  ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์

3. นางสาวสุรีย์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์  มีความสามารถในการถ่ายรูปแบบโบราณ

4. นายจิรพัฒน์ คูหาพัฒนากูล  มีความสามารถเชี่ยวชาญการเล่นเครื่องดนตรีทั้งไทยและจีน

5. นายอรุณ ทรัพย์สิริพันธ์  ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญการประกอบพิธีกรรมจีน

6. นายปรีชา นิติสิริ  ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ 

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนตลาดสามชุกมีสิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรแวดล้อมชุมชนบริเวณกว้างของ ตําบลสามชุก ฯลฯ มาแต่ในอดีต มีสภาพตลาดโดยรวม 4 ซอย 2 ถนน มีการจัดผังเรือนไม้ 2 ชั้น ที่ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ทั้งยังปรากฏมีร้านค้าเก่าแก่เป็นภูมิปัญญาด้านการค้าขายของชุมชนมายาวนานที่ กลายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติชุมชนตลาดสามชุกจึงนำมาซึ่งการบริหารจัดการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งในด้านการเป็นชุมชนยั่งยืนจากการจัดกิจกรรมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ทุนทางภูมิปัญญา

  • ด้านแพทย์แผนไทย ได้แก่ ร้านฮกอันโอสถสถาน ซอย 3 ขายยาแผนโบราณ-ยาจีน ร้านฮกง่วนผึ้ง ร้านเฮงฮั้ว ขายยาแผนโบราณ-แผนปัจจุบัน

  • ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ตลาดสามชุก ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย-จีน

  • ด้านงานฝีมือต่าง ๆ ได้แก่ ร้านศิริทรัพย์จักสานและเครื่องหวาย

  • ผู้มีความรู้ด้านการถนอมอาหาร ได้แก่ ร้านของเฮง ตลาดสามชุก ขายขนมเปี๊ยะ ร้านเหลียงซุ่น ขายขนมจันอับ ขนมเปี๊ยะ ร้านทองม้วนโบราณ ขายขนมทองม้วน และร้านเจ้มาลี ขายขนมสาลี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดสามชุกเป็นตลาดเก่าริมน้ำที่มีอายุกว่าร้อยปี มีอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม อาคารบ้านเรือนเป็นงานทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเป็นอาคารเรือนไม้ที่มีลวดลายฉลุ สวยงามโดดเด่นที่เรียกว่า “ลายขนมปังขิง” มีอยู่ถึง 19 ลาย ซึ่ง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้แพร่หลาย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชาวชุมชนตลาดสามชุกช่วยดูแลอนุรักษ์ไว้ด้วยตระหนักและเห็นในคุณค่า ทางมรดกทางวัฒนธรรมจนได้รับรางวัล "อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทองค์กร" ประจําปี พ.ศ.2548 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อีทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจํานงจีนารักษ์ อาคารไม้ห้องแถวที่มีการก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทย-จีนผสมชิโนโปรตุเกสอย่างประณีตงดงามตามรูปแบบเรือนเก่าที่ระเบียงและเชิงชายมีการฉลุลายไม้ นอกจากความงามด้านสถาปัตยกรรมของอาคารไม้โบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของตลาดสามชุกที่พบเห็นได้ตลอดตามแนวทางเดินในตลาดแล้ว ยังมีบรรยากาศของวิถีชีวิตภายในตลาดที่ยังคงรักษาการค้าขายแบบดั้งเดิมเอาไว้ เป็นบรรยากาศแบบตลาดเก่าที่มีข้าวของเครื่องใช้โบราณสภาพดีซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นในปัจจุบันอยู่ภายในร้านค้าต่าง ๆ

เอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของชาวชุมชนตลาดสามชุก คือ อาหาร ภายในตลาดสามชุกมีอาหารให้เลือกรับประทานหรือเลือกซื้อเป็นของฝากมากมายและมีความแตกต่างหลากหลาย มีอาหารและขนมพื้นบ้านอันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หากินได้ยาก เช่น ร้านเจ๊กอ้าวบะหมี่เกี๊ยวที่ทําเส้นบะหมี่เอง ที่เปิดขายมานานกว่า 70 ปี ร้านข้าวห่อใบบัว ร้านเป็ดย่างจ่าเฉิด ร้านนิสาลูกชิ้นยักษ์ ร้านห่อหมกยกหม้อ ร้านหมี่กรอบ เป็นต้น

กฤษศรรค์ สุขสาร. (2560). การเป็นชุมชนเข้มแข็งของชุมชนตลาดร้อยปีสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชนบทศึกษาและการพัฒนา วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

TRAAVE PRAEW. (2559). เดินเที่ยวชิม ชิล ช๊อป ตลาดโบราณร้อยปีสามชุก จ.สุพรรณบุรี. [ออนไลน์]. ได้จาก:http://www.traave.com/ [สืบค้นเมื่อวันทื่ 25 เมษายน 2566].

หนุ่ม สุพรรณ. (2560). ตลาดสามชุก ตลาดร้อยปี สุพรรณบุรี. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.welovesuphan.com/ [สืบค้นเมื่อวันทื่ 25 เมษายน 2566].

สุชาดา กะมะลานนท์. (ม.ป.ป.). กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต การจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อรุณี จำปานิล. (2550). ประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2544. การค้นคว้าอิสระปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.