หมู่บ้านห้วยน้ำขาว ชุมชนเข็กน้อย เป็นชุมชนวัฒนธรรมชาวม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
หมู่บ้านห้วยน้ำขาว ชุมชนเข็กน้อย เป็นชุมชนวัฒนธรรมชาวม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ม้ง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศจีน ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม สันนิษฐานว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณที่ราบสูงทิเบตและไซบีเรียในดินแดนรอยต่อระหว่างจีนกับยุโรป ก่อนอพยพเข้ามาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ยูนนาน ฮูนาน และกวางสี ต่อมาเกิดความขัดแย้งกับทางการจีน ชาวม้งจึงได้เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ เข้าสู่ประเทศลาว เวียดนาม และไทย ชาวม้งเป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากกะเหรี่ยง
พ.ศ. 2390-2420 ชาวม้งกลุ่มแรกได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการจีนได้ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว และมณฑลยูนนานที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล อันมีสาเหตุมาจากนโยบายการจัดเก็บภาษีราคาแพงเกินกว่าเหตุของรัฐบาลจีน ขณะเดียวกันนั้น ทางฝั่งเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครอง และกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนในดินแดนฝั่งตะวันออก ฉะนั้นการอพยพลี้ภัยจากจีนเข้ามาอยู่แถบชายแดนระหว่างประเทศจึงไม่ได้เป็นที่ล่วงรู้สำหรับชาวม้งในขณะนั้นว่าตนอยู่ในพื้นที่พรมแดนรัฐชาติใด โดยชาวม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอพยพเข้ามาผ่านทางประเทศลาว ปัจจุบันสร้างบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ส่วนมากอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก กำแพงเพชร เลย และพิษณุโลก
ปัจจุบันชุมชนเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นชุมชนวัฒนธรรมชาวม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งภายในชุมชนเข็กน้อยประกอบด้วย 12 หมู่บ้าน ทุก ๆ หมู่บ้านจะมีพื้นที่ติดต่อกัน ประชากรชาวม้งส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย โดยชุมชนบ้านเข็กน้อยคือชุมชนที่มีชาวม้งอาศัยอยู่มากที่สุดกว่า 20,000 คน 2,000 หลังคาเรือน จนสามารถจัดตั้งเป็นตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อยของตัวเองได้โดยเฉพาะ นอกจากที่บ้านเข็กน้อยแล้ว ยังมีที่หมู่บ้านอื่น ๆ อีก เช่น บ้านเล่าลือ บ้านเล่าเน้ง บ้านดอยน้ำเพียงดิน บ้านทับเบิก และบ้านห้วยน้ำขาว เป็นต้น
เมื่อปี พ.ศ. 2510 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในตำบลเข็กน้อย เนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาปลุกระดมชาวม้งให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวม้งต้องกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2514 ชาวม้งได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีกครั้ง โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ชักชวนให้ชาวม้งเข้าร่วมเป็นชาวเขาอาสาสมัครช่วยเหลือภาครัฐต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และให้คำมั่นว่าหากการสู้รบสิ้นสุดลงเมื่อใดจะให้สิทธิในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินถาวรแก่ชาวม้งที่เข้าร่วมกับรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 3 ได้ทำเรื่องขอคืนพื้นที่จำนวน 20,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวม้งในเขตตำบลเข็กน้อยให้แก่กรมธนารักษ์ โดยมิได้มีการบอกกล่าวและแจ้งถึงสาเหตุให้ชาวบ้านได้รับทราบ อีกทั้งยังไม่มีแนวทางในการจัดสรรที่ดินทำกินรวมถึงที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ทดแทนที่ดินที่กองทัพภาคที่ 3 เวนคืนจากชาวม้งในตำบลเข็กน้อยอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดสงครามการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างชาวม้งกับหน่วยงานรัฐ กระทั่ง พ.ศ. 2545 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมประชาสงเคราะห์คืนพื้นที่นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์บางส่วนให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการ และใน พ.ศ. 2547 ชาวม้งจากประเทศลาวได้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงหนีภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลเข็กน้อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางข้ามไปยังประเทศที่สาม การณ์นี้ทางรัฐบาลไทยได้จัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านห้วยน้ำขาวให้เป็นพื้นที่ควบคุมชาวม้งที่อพยพมาจากประเทศลาว ต่อมาภาครัฐได้ดำเนินการส่งชาวม้งลาวกลุ่มนี้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ทว่ายังมีชาวม้งลาวบางส่วนที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขาว ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์มาถึงปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านห้วยน้ำขาวเป็นชุมชนชาวม้งที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อนคล้ายทะเลภูเขา ป่าไม้แถบนี้เป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มป่าไม้ประเภทผลัดใบที่จะมีการทิ้งใบในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งยังมีต้นค้อขึ้นกระจายอยู่ทั่วบริเวณ แต่ปัจจุบันป่าไม้ในพื้นที่หมู่บ้านเหลืออยู่น้อยมาก เนื่องจากในอดีตพื้นที่ตำบลเข็กน้อยทั้งตำบลเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตีการลำเลียงกองกำลังทหารของรัฐบาลไทย รัฐบาลจึงต้องสัมปทานป่าดังกล่าวให้แก่เอกชน และเมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติพื้นที่ป่าไม้ก็ถูกทำลายไปเกือบทั้งหมด อีกทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านยังมีการหักร้างถางป่าทำไร่เลื่อนลอย เปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร เกิดการจุดไฟเผาป่าซึ่งก่อให้สภาพป่าเกิดความเสื่อมโทรม สำหรับสภาพภูมิอากาศของบ้านห้วยน้ำขาวมีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัด ส่วนในฤดูแล้งมีอากาศไม่ร้อนจัด สำหรับฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ทว่าชาวชุมชนบ้านห้วยน้ำขาวยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ลาดชันไม่สามารถก่อสร้างระบบชลประทานเพื่อการเกษตร อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ กอปรกับตำบลเข็กน้อยซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านห้วยน้ำขาวเป็นพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ จึงทำให้ปัจจุบันราษฎรส่วนใหญ่ของตำบลเข็กน้อยต้องไปเช่าพื้นที่เพื่อการเกษตรนอกตำบลเข็กน้อย รวมถึงชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาวได้เข้ามาพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ คิดค้นโครงการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และปลูกป่าแก่ชาวบ้าน อาทิ ไผ่ พืชพื้นเมืองต่าง ๆ สนับสนุนการปลูกหญ้าแฝก การฟื้นฟูป่าชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดสร้างฝายชะลอน้ำ จัดกิจกรรมรณรงค์ลดใช้สารเคมี และการเผาป่า รวมถึงสนับสนุนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และส่งเสริมการจัดทำแผนที่ดินรายแปลงและปรับระบบการใช้ที่ดินให้เหมาะสมภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน
เส้นทางคมนาคม
เส้นทางการคมนาคมภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ มีถนนสายห้วยน้ำขาว-เข็กน้อย และสายหล่มสัก-พิษณุโลก เป็นถนนสายหลักในการเดินทางติดต่อกับผู้คนภายนอกชุมชน
ประชากร
หมู่บ้านห้วยน้ำขาว ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประชากรภายในหมู่บ้านทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 232 ครัวเรือน 1,074 คน แบ่งเป็นชาย 514 คน และหญิง 560 คน
ระบบเครือญาติ
ระบบเครือญาติของชาวม้งมักจะยึดถือลำดับญาติตามสายเลือด โดยมีลักษณะแบบ “ปิตาโลหิต” คือการให้ความสำคัญกับฝ่ายชายเป็นหลัก โดยความสัมพันธ์เครือญาติในวัฒนธรรมของชาวม้งมีขอบเขตถึงห้ารุ่นอายุ คือ นับตั้งแต่รุ่นลูก พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ทวด และพ่อแม่ของทวด ชาวม้งที่อยู่ในกลุ่มสายตระกูลเดียวกันจะมีสัญลักษณ์ทางความเชื่อเหมือนกัน เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน หรือที่ชาวม้งเรียกว่า “สึกั้ง” ชาวม้งเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะคอยคุ้มครองปกป้องลูกหลานที่ยังมีชีวิตให้ปราศจากโรคภัยและภยันอันตราย นอกจากการนับความสัมพันธ์แบบสายตระกูลแล้ว ชาวม้งยังมีการนับความสัมพันธ์เครือญาติแบบแซ่ตระกูลเดียวกัน หรือที่เรียกว่า “เส่ง” คือกลุ่มคนที่แม้ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน หากแต่มีแซ่เดียวกันชาวม้งจะถือว่าเป็นพี่น้องกัน หรือในบางครอบครัวที่บิดาแต่งงานมากกว่า 1 ครั้ง แต่ลูกที่เกิดจากบิดาหรือมารดาคนละแซ่ก็ยังคงถือเป็นญาติพี่น้องกัน ชาวม้งมีข้อห้ามว่าผู้ที่อยู่ในแซ่ตระกูลเดียวกันห้ามไม่ให้แต่งงานกันเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าจะไม่ได้สืบโลหิตสายเดียวกันก็ตาม
นอกจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดและความสัมพันธ์แบบแซ่ตระกูลแล้ว ชาวม้งยังมีการนับสายตระกูลจากการแต่งงาน อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลชายหญิงที่แต่งงานกัน หากว่าบิดามารดาของฝ่ายหญิงเสียชีวิตลง จะเป็นหน้าที่ของสามีทีจะต้องฆ่าวัวให้แก่ครอบครัวภรรยา หรือบางครั้งฝ่ายชายก็จะไปอยู่กับครอบครัวภรรยาเพื่อทำงานแทนค่าสินสอดในกรณีที่ไม่มีจ่ายให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง การนับสายตระกูลจากการแต่งงานอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง นับเป็นความสัมพันธ์ที่มีบทบาทในการเชื่อมโยงสายตระกูลต่าง ๆ ให้มีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิด อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการเลือกสตรีที่จะแต่งงานของชายหนุ่ม เพราะบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายจะดูฐานะพื้นฐานครอบครัว โดยเฉพาะความสัมพันธ์สายโลหิตว่ามาจากสายตระกูลใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ชายหญิงแต่งงานกันหรือไม่
ม้งการประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 85,000 บาท/ ปี ประชากรภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้การเพาะปลูกของชาวม้งในหมู่บ้านมีลักษณะแบบการทำไร่หมุนเวียน โดยจะทำเพียงปีละครั้ง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ขิง โดยจะปลูกในช่วงเดือนเมษายน และพร้อมขายประมาณเดือนกันยายน แต่ขิงที่นำออกมาขายในช่วงนี้ราคาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นขิงอ่อนและมีจำนวนมาก บางครัวเรือนจึงไม่ถอนขิงออกมาขาย จะเก็บไว้ขายเป็นขิงแก่ซึ่งได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชชนิดอื่น ได้แก่ ข้าวไร่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี พริกไทย อ้อย และข้าวโพด โดยกะหล่ำปลีคือพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมจากคนในชุมชนมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากขิง เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูกค่อนข้างสั้นเพียง 4 เดือน ก็สามารถตัดขายได้ ปัจจุบันชาวม้งมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือ กระชายดำ เนื่องจากเป็นพืชที่ขายได้ราคาดี อนึ่ง ยังมีการปลูกไม้ยืนต้น และผลไม้เมืองหนาวบางชนิด เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง และยางพารา ภายหลังโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาว รวมถึงชาวม้งหมู่บ้านอื่นในเขตชุมชนเข็กน้อย โดยมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชผักในและนอกโรงเรือนที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น พริกหวาน มะเขือเทศโทมัส มะเขือเทศเชอร์รี แตงกวาญี่ปุ่น ผัก GAP และผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายในตลาดชุมชน และตลาดอื่นตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเพิ่มผลผลิตพืชไร่ ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชไม้ผล ได้แก่ มะม่วง อะโวคาโด ท้อ เสาวรสหวาน ส่งเสริมการปศุสัตว์และประมง เลี้ยงหมู ปลา ไก่ และกบ ส่งเสริมการแปรรูปข้าวไร่พันธุ์เปล่าจ้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาหัตถกรรมงานฝีมือท้องถิ่นและประยุกต์ของคนในชุมชน
ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวบางครัวเรือนมีการเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ วัว หมู ไก่ และเป็ด วัวเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากมีราคาสูง และราคาไม่ตก สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สายพันธุ์พื้นเมือง และสายพันธุ์ชาโลเล่ ผู้เลี้ยงวัวในหมู่บ้านมีทั้งที่เลี้ยงของตนเองและรับจ้างเลี้ยง โดยจะเลี้ยงในไร่ และเขตป่าสงวน สร้างรั้วล้อมเป็นคอกเพื่อจำกัดอาณาบริเวณไม่ให้วัวออกนอกคอกไปกินพืชผักในไร่สวนของคนอื่น ชาวม้งมีความเชื่อว่าหากบิดามารดาเสียชีวิต สำหรับหมูนิยมเลี้ยงเพื่อขาย บริโภค และใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อในการรักษาโรค ส่วนเป็ดและไก่จะนิยมเลี้ยงเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว ชาวม้งมีความเชื่อว่าเมื่อบิดามารดาเสียชีวิต ลูกหลานจะต้องฆ่าวัวและหมูเพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานศพถือเป็นผลบุญส่งให้ดวงวิญญาณได้ขึ้นสวรรค์ ยิ่งฆ่ามากผลบุญที่ดวงวิญญาณได้ก็จะมากตามไปด้วย
อาชีพเสริม รับจ้าง ค้าขาย งานหัตถกรรม รับราชการ ช่าง และหาของป่า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ชาวม้งในหมู่บ้านห้วยน้ำขาวนิยมเปิดร้านขายของชำ ร้านขายของสด และมีตลาดชุมชนเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ผักสด ผลไม้ สบู่ ยาสีฟัน อาหารแห้ง และของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
การซื้อขายแลกเปลี่ยนนอกชุมชน ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวมีการติดต่อซื้อขายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนพื้นราบในอำเภอหล่มสัก ซึ่งเป็นตลาดกลางที่ชาวบ้านไปรับสินค้ามาจำหน่ายในชุมชน รวมถึงนำผลผลิตทางการเกษตรภายในชุมชนออกไปวางจำหน่าย
องค์กรชุมชน
ภายหลังโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาวได้เข้ามาพัฒนางานด้านสังคมและชุมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน ได้แก่ กลุ่มผลไม้ กลุ่มปลูกผัก กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเตรียมสหกรณ์ กลุ่มแปรรูป และกลุ่มหัตถกรรม (วิสาหกิจชุมชน)
วิถีทางการเกษตร
เนื่องจากชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ช่วงเวลาในการเพาะปลูกของชาวบ้านห้วยน้ำขาวจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นสำคัญ โดยฤดูกาลการเพาะปลูกจะเริ่มขึ้นภายหลังสิ้นสุดเทศกาลเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ชาวม้งในชุมชนมีระบบการถือครองที่ดินโดยการจับจองเป็นเจ้าของ และไม่มีโฉนดที่ดินเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายการจัดการสถานที่ทำกินจากรัฐบาล และนโยบายการอนุรักษ์ป่า กอปรกับพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน บางครอบครัวจึงต้องไปเช่าที่ดินของคนพื้นราบ หรือที่ดินของชาวม้งต่างชุมชนเพื่อทำการเพาะปลูก เมื่อได้ที่ดินแล้วชาวม้งจะทำการถางวัชพืชและไถหน้าดินให้เรียบ จากนั้นรอให้ฝนตก 2-3 ครั้งในเดือนเมษายน จึงจะเริ่มการเพาะปลูก พืชที่ปลูกในช่วงนี้ คือ ขิง จากนั้นราวเดือนพฤษภาคมจะปลูกข้าวไร่ และในเดือนมิถุนายนไปจนถึงธันวาคมจะมีการปลูกกะหล่ำปลี และผักกาดขาวผลี
ประเพณี พิธีกรรม
ประเพณีการฉลองปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีของชาวม้ง เพราะเป็นวันพักผ่อนจากการทำงานทุกอย่าง มีการฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อเลี้ยงฉลอง ก่อนวันปีใหม่จะมีพิธีเรียกขวัญโดยใช้ไข่ไก่แทนขวัญของสมาชิกในครอบครัว ในช่วงนี้ชาวม้งทุกคนจะสวมใส่ชุดพื้นเมืองหรือชุดประจำเผ่า มีการละเล่นพื้นเมืองที่เรียกว่าโยนลูกช่วง (ลูกบอลที่ทำจากผ้า) ระหว่างชายหญิงตลอดการเฉลิมฉลอง ในวันฉลองปีใหม่ของชาวม้ง มีการแบ่งหน้าที่ของช่วงวัยต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้นำชุมชน ผู้ชาย ผู้หญิง หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อหม้ายแม่หม้าย และเด็ก
กลุ่มผู้นำชุมชน มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยภายในชุมชน ต้อนรับแขก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่มาร่วมพิธีเปิดงานฉลองปีใหม่ของชุมชน
กลุ่มผู้ชาย มีบทบาทในการร่วมงานเลี้ยงของวงศ์ตระกูลที่จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงต้อนรับญาติพี่น้องผู้มาเยือน หากครอบครัวใดมีงานพิเศษต่าง ๆ เช่น แต่งงาน ทำขวัญ ผู้ชายจะต้องไปช่วยงานหรือไปเป็นแขกของงานเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของงาน
กลุ่มผู้หญิง ส่วนใหญ่จะไปร่วมงานฉลองที่ลาน ดูลูกหลานเล่นลูกช่วง
กลุ่มหนุ่มสาว เป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุด หนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่าสวยงามเพื่อปร่วมงานฉลองเทศกาลวันปีใหม่ เข้าร่วมเล่นโยนลูกช่วงเป็นคู่ ๆ โดยลูกช่วงจะเป็นหน้าที่ของหญิงสาวทุกคนต้องเตรียมมาเพื่อนำมามอบให้ชายหนุ่มที่ต้องการเล่นด้วย
คนเฒ่าคนแก่ ส่วนใหญ่จไปนั่งชมการโยนลูกช่วงของหนุ่มสาว รวมถึงการแสดงต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนจะได้มาพบปะพูดคุยกัน
กลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวม้งที่เป็นพ่อหม้ายแม่หม้ายจะมีโอกาสในการหาคู่ครองเป็นครั้งที่สอง เป็นกลุ่มคนที่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวม้งได้อย่างชัดเจน ผ่านการละเล่น การพูดจา การร้องเพลงหมอลำม้ง กลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้ายจึงเป็นกลุ่มที่สามารถสืบทอดการเล่นลูกช่วงตามวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี การเล่นลูกช่วงของคนกลุ่มนี้กลายเป็นการละเล่นที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งในและนอกชุมชนมากกว่าการเล่นลูกช่วงของหนุ่มสาว
กลุ่มเด็ก เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างวุ่นวายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะความปลอดภัยมีน้อย ยังไม่มีบทบาทกับการเฉลิงฉลองเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะไปร่วมสนุกกับของเล่น เช่น ม้าหมุน สไลเดอร์ ที่เข้ามาตั้งในหมู่บ้านแค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น
การเล่นสงกรานต์ ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชุมชน หนุ่มสาวในชุมชนจะร่วมใจกันเตรียมสถานที่เล่นน้ำ ใกล้หมู่บ้านห้วยน้ำขาวมีน้ำตกสันติสุขซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่คนในหมู่บ้านไปเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันเป็นประจำทุกปี การเล่นสงกรานต์ของชาวม้งมีลักษณะไม่แตกต่างจากสงกรานต์ของคนพื้นราบ มีการเล่นสาดน้ำรอบ ๆ หมู่บ้านอย่างสนุกสนาน วันสงกรานต์นับเป็นวันฤกษ์ดีที่ชาวม้งนิยมจัดงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานทำขวัญ อีกทั้งยังเป็นวันที่ญาติพี่น้อง หรือบุตรหลานชาวม้งที่เดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปศึกษาเล่าเรียนได้กลับมาพบปะกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าวันสงกรานต์คือวันครอบครัวของชาวม้งก็ว่าได้
การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
ในอดีตชาวม้งจะนิยมปลูกบ้านคร่อมดินโดยปรับพื้นดินให้เรียบ วัสดุที่นำมาสร้างบ้านจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้แผ่น หญ้าคา โดยจะสร้างแบบง่าย ๆ ไม่พิถีพิถันมากนัก แต่ปัจจุบันชาวม้งหมู่บ้านห้วยน้ำขาวส่วนใหญ่จะสร้างบ้านยกพื้น 2 ชั้น คลุมหลังคากระเบื้องหรือสังกะสี ตัวบ้านและเสาบ้านฉาบด้วยปูน
ทุนเศรษฐกิจ
ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาวมีแหล่งเงินทุนกู้ยืม 3 แห่ง แห่งแรก คือ กลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้าน ซึ่งเป็นกองทุนกู้ยืมสำหรับคนในหมู่บ้านห้วยน้ำขาว แห่งที่ 2 คือ กองทุน กขคจ. เป็นกองทุนของชุมชนเข็กน้อย ซึ่งจะมีเงินทุนให้สมาชิกในกลุ่มบ้านทั้ง 12 หมู่บ้านกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ และแห่งสุดท้าย คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส.
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา
การโยนช่วง เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวม้ง เป็นการละเล่นของหนุ่มสาว และกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย โดยหนุ่มสาวจะโยนลูกช่วงเป็นคู่ ๆ ตามความสนใจของผู้เล่นว่าอยากโยนลูกช่วงคู่กับใคร ลูกช่วงเป็นหน้าที่ของหญิงสาวทุกคนที่จะต้องเตรียมมาเองเพื่อมอบให้กับชายหนุ่มที่ต้องการเล่นด้วย ซึ่งชายหนุ่มในหมู่บ้านจะยืนกันเป็นกลุ่มเพื่อรอให้หญิงสาวนำลูกช่วงที่เตรียมมามาขอให้เล่นด้วย การเล่นโยนช่วงจะมีลานสำหรับเล่นโดยเฉพาะ เรียกว่าลานโยนลูกช่วง ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญมากที่สุดในช่วงการฉลองปีใหม่ ในอดีตลานโยนลูกช่วงจะเป็นลานยาว แบ่งข้างโยนลูกช่วงของหนุ่มสาวชัดเจน หนุ่มสาวจะยืนกันคนละฝ่ายเป็นระเบียบสวยงาม แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของลานโยนลูกช่วงให้เป็นชั้นไล่ระดับ ทำให้ลานโยนลูกช่วงมีความสวยงามมากขึ้น ทว่ากลับทำให้ความสวยงามเป็นระเบียบของการโยนลูกช่วงเลือนหายไป ปัจจุบันกิจกรรมการโยนช่วงไม่ได้เป็นที่สนใจของหนุ่มสาวมากดังแต่ก่อน เนื่องจากสภาพสังคมชาวม้งที่มีวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การถือปฏิบัติเรื่องการคบหากันของชายหญิงชาวม้งไม่ได้เคร่งครัดเหมือนในอดีต ทำให้ความสนใจในการเล่นลูกช่วงในลานซึ่งเคยเป็นช่วงเวลาการพบปะสานสัมพันธ์กันของหนุ่มสาวลดน้อยลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการโยนลูกช่วงกลับเป็นกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย เนื่องจากเป็นโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะได้หาคู่รักเป็นครั้งที่สอง ถึงกระนั้นยังคงมีการแบ่งแยกส่วนชัดเจนระหว่างการโยนช่วงของหนุ่มสาวกับการโยนช่วงของพ่อม้ายแม่หม้าย แสดงถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวม้งที่มีผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เดินทางออกจากหมู่บ้านไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมากขึ้น หรือการที่กลุ่มคนที่เล่นโยนช่วงส่วนใหญ่คือกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย อาจมีสาเหตุมาจากภายในสังคมชาวม้งมีอัตราการหย่าร้างสูง ผู้หญิงสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ความเข้มข้นของระบอบปิตาธิปไตยในสังคมเกิดความเจือจาง รวมถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่มีการฆ่าตัดตอนชาวม้งสูงมาก จึงเป็นเหตุให้มีพ่อหม้ายแม่หม้ายจำนวนมากในหมู่ชาวม้งบ้านห้วยน้ำขาว
ภาษาพูด : ภาษาม้ง
ภาษาเขียน : ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน แต่มีการยืมอักษรโรมันมาใช้เทียบแทนการออกเสียง
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ชาวม้งหมู่บ้านห้วยน้ำขาวปัจจุบันนิยมสวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยมอย่างคนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และกลุ่มวัยรุ่น ส่วนกลุ่มที่ยังใส่ชุดประจำเผ่าอยู่คือคนเฒ่าคนแก่ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน แต่จะไม่ได้สวมแบบครบชุด ทั้งนี้การที่ชาวม้งในหมู่บ้านไม่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าชนเผ่าอาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น เสื้อผ้าแบบคนพื้นราบหาซื้อได้สะดวก และมีราคาถูกกว่าชุดประจำเผ่า ใส่สบาย ง่ายต่อการเก็บรักษา ทว่าคนในชุมชนจะมีข้อตกลงที่รับรู้ร่วมกันว่าจะต้องสวมชุดประจำเผ่าในวันที่การเข้าร่วมประเพณีพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น วันฉลองปีใหม่ พิธีแต่งงาน พิธีศพ หรือโอกาสสำคัญที่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). แผนที่ชุมชนบ้านห้วยน้ำขาว. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://gnss-portal.rtsd.mi.th
วานุรัตน์ แสนยากุล. (2547). ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทางวัฒนธรรมด้านเศรษฐกิจของชาวเขาเผ่าม้ง ในชุมชน เข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://www.hrdi.or.th
สิทธิเดช วงศ์ปรัชญา. (2550). ชนกลุ่มน้อยชาวไทยภูเขากับความมั่นคงของชาติ: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.