ชุมชนเกษตรกรรมจากสภาพแวดล้อมที่ตั้ง จนก่อให้เกิดการรังสรรค์งานหัตถกรรมจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนจากไม้ไผ่สีสุกอันมีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน
ชุมชนเกษตรกรรมจากสภาพแวดล้อมที่ตั้ง จนก่อให้เกิดการรังสรรค์งานหัตถกรรมจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนจากไม้ไผ่สีสุกอันมีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน
ชุมชนบ้านท่าแขก เป็นชุมชนเกษตรกรรมบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 (บ้านท่าแขก) ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรมจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนสมัยโบราณ ซึ่งผลิตจากต้นไผ่สีสุกที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่
ชุมชนบ้านท่าแขกเป็นชุมชนชาวนา ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอำเภอมโนรมย์ ไปทางทิศเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยนาทไปทางทิศเหนือเป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร ชุมชนบ้านท่าแขกประกอบด้วยหมู่บ้านย่อย ๆ 3 หมู่บ้านด้วยกัน คือบ้านท่าแขก บ้านท่าคลอง และบ้านสวนมะม่วง หมู่บ้านย่อยในพื้นที่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของชุมชนบ้านท่าแขก โดยเรียกชื่อหมู่บ้านดังกล่าวไปตามลักษณะเด่นของภูมิประเทศแถบนั้น ๆ
ชุมชนบ้านท่าแขกมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหาดมะตูม หมู่ที่ 2 ตำบลศิลาดาน จังหวัดชัยนาท
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเนินไผ่ หมู่ที่ 3 ตำบลวัดโคก อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดอนเดื่อ หมู่ที่ 5 ตำบลศิลาดาน จังหวัดชัยนาท
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านท่ารากหวาย ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
อาชีพหลักของชาวบ้านมีการทำนา ทำสวนและทำไร่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและมีดินเหนียวเหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนการทำเครื่องจักรสานถือเป็นอาชีพเสริม และชาวบ้านในชุมชนบ้านท่าแขกบางกลุ่มประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ เนื่องจากพื้นทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านติดอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา
กลุ่มอาชีพในชุมชน
กลุ่มจักสานไม้ไผ่และหวายบ้านท่าแขก เป็นกลุ่มที่ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการทำเครื่องจักรสานในชุมชน
ทุนทางธรรมชาติและทุนทางปัญญา
ในเขตพื้นที่ของชุมชนบ้านท่าแขกมีปริมาณต้นไผ่และหวายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งพืชทั้งสองถือเป็นวัสดุหลักในการทำสิ่งของเครื่องใช้ รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนนั้นมีภูมิปัญญาในการทำเครื่องจักรสาน เมื่อนำทั้งสองมารวมกัน จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2565). ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://data.go.th/dataset/gdpublish-http-ocd-onep-go-th.
สุนทรี จูชวน. (2529). เกษตรกรก้าวหน้าศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนบ้านท่าแขก ต.ศิลาดาน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เทศบาลตำบลศิลาดาน. (2564). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก http://www.siladan.go.th/index.php/j-page/2020-04-21-04-01-56.