หมู่บ้านน่าอยู่ปลอดภัย ชุมชนเข้มแข็ง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอย่างยั่งยืน
เนื่องจากพื้นที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตมีการปลูกกล้วยเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่ในขณะนั้นว่า “บ้านสวนกล้วย”
หมู่บ้านน่าอยู่ปลอดภัย ชุมชนเข้มแข็ง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 มีชาวบ้านจากอําเภอปากพนัง และอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช จํานวนประมาณ 15 ครัวเรือน ได้เดินทางอพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบบ้านสวนกล้วยในปัจจุบัน โดยแรกตั้งหมู่บ้านมีชื่อเรียกว่า บ้านเหนือคลอง ตามลักษณะภูมิประเทศที่อยู่ใกล้คลองตาล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505 เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ขึ้นที่แหลมตะลุมพุก อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชากรในบริเวณนั้นมากมาย ประชากรจากแหลมตะลุมพุกส่วนหนึ่งจึงได้อพยพย้ายที่อยู่อาศัยเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเหนือคลอง โดยประชากรกลุ่มนี้ได้เข้ามาประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และเป็นลูกจ้างทำไม้ (ตัดโค่นต้นไม้) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับสัมปทานตัดไม้ในพื้นที่บ้านเหนือคลอง ไปทําไม้หมอนรางรถไฟ เมื่อต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นไป ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้าไปจับจองพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพ เริ่มแรกจะมีการปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวที่ใช้น้ำน้อย สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูง และนิยมปลูกในพื้นที่ว่างเปล่าก่อนที่จะปลูกยางพารา หรือไม้ผลอื่น ๆ ในระหว่างปี พ.ศ. 2515-2527 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในหมู่บ้านเหนือคลอง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเดินทางกลับภูมิลําเนาจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ก็ยังคงมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อ และอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับคําชักชวนจากทหารป่าหรือกลุ่มคอมมิวนิสต์ให้เข้าไปเป็นทหารป่า ขณะเดียวกันได้มีนักศึกษาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ วันที่ ตุลาคม 2519 เข้าไปเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้านระบบเผด็จการในสมัยนั้น โดยขึ้นไปอยู่ที่ค่าย 357 บ้านเหนือคลอง และค่าย 508 บ้านช่องช้าง อําเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทั่งรัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมเหตุการณ์ความวุ่นวายจนเหตุการณ์สงบลง ผู้คนที่อพยพออกจากพื้นที่ ก็ได้เดินทางกลับเข้ามาในบ้านเหนือคลองอีกครั้งหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2531 บ้านเหนือคลองเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านหลายครอบครัว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ชาวบ้านละทิ้งหมู่บ้านเหนือคลองอีกครั้ง แต่ในทางกลับกันกลับมีชาวบ้านจากอําเภอพิปูน อําเภอปากพนัง อําเภอหัวไทร อําเภอชะอวด อําเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อทําสวนยางพาราและสวนผลไม้ในพื้นที่หมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 เมื่อจำนวนประชากรในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการแบ่งเขตการปกครองหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่ที่ 17 ตําบลบ้านส้อง อําเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเนื่องจากในขณะนั้นพื้นที่แห่งนี้มีการปลูกกล้วยจำนวนมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านสวนกล้วยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2534 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นชื่อเรียกตามยุทธการ “ใต้ร่มเย็น” ซึ่งเป็นยุทธการครั้งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เพื่อปราบปรามกวาดล้างกองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่มาถึงบ้านสวนกล้วย ปัจจุบันบ้านสวนกล้วยจึงเป็นชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมู่บ้าน
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านสวนกล้วยเป็นที่ลาดเชิงเขา ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีลําธารใหญ่น้อยหลายสาย ได้แก่ คลองลา คลองสวนกล้วย และคลองตาล ซึ่งเป็นคลองสายใหญ่ที่สุดในบรรดาคลองทั้ง 3 สาย นอกจากนี้ยังมีน้ำตกธารทิพย์ ท่าน้ำวังหิน น้ำตกเทคนิค และน้ำตกยางสาว เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรของชาวบ้าน บ้านสวนกล้วยมี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
จากสภาพทางภูมิประเทศที่มีภูเขาสลับซับซ้อนและมีแหล่งน้ำตกที่สวยงาม รวมถึงแหล่งน้ำที่สร้างความสะดวกสบายต่อการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจําวัน และเอื้อให้การอยู่อาศัยของผู้คนที่เข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้นได้ตั้งชื่อแหล่งน้ำตามที่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ อ่างแม่นม น้ำตกสามห้าเจ็ด และวังนางรอง
ปัจจุบันบ้านสวนกล้วยมีประชากรที่ปรากฏราชชื่อในทะเบียนราษฎร์ทั้งหมด 704 คน
การแบ่งเขตการปกครอง
บ้านสวนกล้วยแบ่งการปกครองออกเป็นชุมชนย่อย 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนอ่าวสวนกล้วย ชุมชนเคหะ 4 ชุนชนเคหะใหม่หรือชุมชนเทพประทาน ชุมชนหน้าเคหะ 3 ชุมชนเคหะ 3 และชุมชนกลุ่ม 8
เศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพของชุมชนบ้านสวนกล้วย มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา สวนผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลางสาด ลองกอง สละ ส้มโชกุน กล้วย ฯลฯ) ร้านขายของชำ และการขายสินค้าบริเวณท่าน้ำวังหิน สถานที่ท่องเที่ยวประจำชุมชนบ้านสวนกล้วย
เนื่องจากลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ และผ่อนปรนจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น รย.3 ทําให้ชาวบ้านบ้านสวนกล้วยยังมีอาชีพเสริมจากการหาผลผลิตจากป่ามาขาย เช่น สะตอภูเขา ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การหาน้ำผึ้งป่า ในช่วงเดือนห้า หน่อไม้ป่า ผักกูด ดอกยง (นํามาทําไม้กวาดดอกหญ้า) รวมถึงปลาต่าง ๆ ในลําห้วย ที่สามารถไปจับมาบริโภคในครัวเรือนได้
ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของชาวบ้านสวนกล้วย มีพ่อค้าดินทางข้ามารับซื้อภายในชุมชน เพราะผลผลิตที่มีมากถึงวันละประมาณ 8,200 กิโลกรัม ราคาน้ำยางสดโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80 บาทคิดเป็นเงิน 656,000 บาทต่อวัน ในช่วงที่หยุดกรีดยางพารา ชาวสวนที่มีสวนผลไม้จะใช้ช่วงเวลานี้ในการดูแลสวน ได้แก่ สวนทุเรียน สวนเงาะ ลางสาด มังคุด เพราะช่วงนี้ฝนจะไม่ตกจึงต้องรดน้ำ โดยอาศัยน้ำจากคลองตาล ขณะเดียวกันผลไม้จะเริ่มออกดอก บางส่วนอาจจะเริ่มออกผลอ่อน ชาวสวนจึงต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ สําหรับบางคนที่เป็นลูกจ้างกรีดยาง จะเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งป่า เรียกว่า ผึ้งหลวง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มีรายได้ในช่วงที่ว่างงานจากการกรีดยาง
กลุ่มชุมชน
- กลุ่มพัฒนาสตรี : เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เพื่อให้สตรีในชุมชนมีโอกาสได้เรียนรู้การประกอบอาชีพและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- กลุ่มหัตถกรรมไม้กวาดดอกหญ้า : ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในช่วงว่างเว้นจากการกรีดยาง โดยกลุ่มลูกค้าของกลุ่มหัตถกรรมไม้กวาดอกหญ้าส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนในเขตอําเภอเวียงสระ จะเป็นผู้จ้างทํา ราคาด้ามละ 25 บาท รายได้โดยเฉลี่ย 3,000-3,500 บาท/เดือน
วันขึ้นปีใหม่ : มีการทําบุญตักบาตร จัดหาของขวัญมาแลกเปลี่ยนกันสร้างความรัก ความผูกพัน ความสนุกสนานในชุมชน
ประเพณีสงกรานต์ : มีการจัดหาเงินมาเพื่อจัดกิจกรรมสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี แสดงถึงความกตัญญูกตเวที มีการจัดพิธีรดน้ำดําหัวผู้สูงอายุเป็นประจําทุกปี
วันเข้าพรรษา : จัดร่วมกันกับบ้านเหนือคลอง หมู่ที่ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นพื้นที่ติดต่อกัน โดยตกลงร่วมกันจัดหาอาหารเพื่อไปถวายพระภิกษุที่จําพรรษาอยู่ที่วัดวิภาวดี ทุกวัน ๆ วันละ 4 ครอบครัว จนครบพรรษา
วันสารทเดือนสิบ : ประเพณีเทศกาลวันสารทเดือนสิบ เป็นพิธีกรรมที่มาจากความเชื่อของประชาชนชาวไทยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต เพื่อถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเมื่อท่านได้ล่วงลับไป
ภาษาพูด : ภาษไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ชุมชนบ้านสวนกล้วยมีสถาบันการศึกษา คือ โรงเรียนสามัคคีอนุสรณ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2507 โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนจาก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านเหนือคลอง หมู่ที่ 7 และบ้านสวนกล้วย หมู่ที่ 17 ตําบลบ้านส้อง สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
การเรียนรู้ของคนในชุมชนนอกจากการเรียนรู้ที่จัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแล้ว ยังมีการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดในการดํารงชีพ จากการประกอบอาชีพที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ลูก ๆ ได้รับจากพ่อแม่ที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจําวันจนเป็นวิถีชีวิตของครอบครัว ที่เห็นได้ชัด คือ การกรีดยาง เป็นการถ่ายทอดเรียนรู้ภายในครอบครัว หรือบางครั้งก็ใช้วิธีเรียนรู้แบบครูพักลักจำ แล้วจึงนำมาพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ
ใต้ร่มเย็น
ชาวบ้านชุมชนบ้านสวนกล้วยมีการสร้างพันธกิจซึ่งถือเป็นข้อตกลงและข้อบังคับร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการหมู่บ้านให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “หมู่บ้านน่าอยู่ปลอดภัย ชุมชนเข้มแข็ง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยกฏระเบียบข้อตกลงภายในชุมชนบ้านสวนกล้วย มีดังนี้
- ให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านมาประชุมพร้อมกันในวันที่ 6 ของทุกเดือน
- มีข้อตกลงร่วมกันเรื่องยาเสพติด ห้ามผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและองค์กรอื่น ๆ ห้ามผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดใช้ของส่วนรวมทุกชนิด ถ้าผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ คนในหมู่บ้านจะไม่ไปร่วมงาน และไม่ให้ความช่วยเหลือไม่ว่าในกรณีใด ๆ
- เรื่องการลักทรัพย์ หากจับได้ ผู้ลักทรัพย์จะต้องถูกปรับ 10 เท่า ของราคาสิ่งของนั้น ๆ หากไม่ยอมให้ปรับหรือเคยทําผิดเกิน 1 ครั้งจะต้องถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย
- เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ห้ามไม่ให้ทิ้งขยะในที่สาธารณะและเขตอุทยาน และห้ามเบื่อปลาทุกกรณี หากฝ่าฝืนจะต้องจ่ายค่าปรับ 500 บาท
- ห้ามไม่ให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเข้ามาทํางานในหมู่บ้านโดยเด็ดขาด
การกําหนดพันธกิจร่วมกันของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติ ซึ่งการกำหนดข้อพันธกิจดังกล่าว ถือเป็นการจัดระเบียบให้เกิดความสงบเรียบร้อย และป้องกันปัญหาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในหมู่บ้าน
จารุณี บัวแก้ว. (2551). การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยระบบมาตรฐานงานชุมชน : กรณีศึกษา บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ท่าน้ำวังหินบ้านสวนกล้วย. (2561). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].