หมู่บ้านปากท่อ ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาสั่งสม รวบรวม และถ่ายทอดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี
ภายหลังจากการตัดถนน จึงได้วางท่อน้ำเพื่อต่อน้ำใช้สำหรับทำนา โดยฝังอยู่บริเวณสามแยกระหว่างบ้านวัดบนกับบ้านใต้ ซึ่งมีร้านค้าต่าง ๆ ตั้งเรียงราย เมื่อชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อของมักเรียกกันติดปากว่า "ไปปากท่อ" จนกลายมาเป็น "บ้านปากท่อ" จนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านปากท่อ ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาสั่งสม รวบรวม และถ่ายทอดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี
เมื่อประมาณ 200 ปีเศษที่ผ่านมา หมู่บ้านปากท่อ ในขณะนั้นเรียกว่า “หมู่บ้านวัดบน” มีตลาด คือ “ตลาดบางน้อย” ซึ่งยังปรากฏซากปรักหักพังของเสาบ้านอยู่บริเวณริมคลองไชยาตอนล่างให้เห็นอยู่จนในปัจจุบัน ส่วนคลองไชยาตอนล่างชาวบ้านจะเรียกว่า คลองบางน้อย สมัยก่อนจะมีคนชาวจีน มาเลเซีย อินเดีย ฯ เข้ามาติดต่อค้าขายโดยทางเรือ และต่อมาคนจีนเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เหมาะแก่การค้าขาย จึงตั้งรกรากค้าขายอยู่ริมคลองไชยา (คลองบางน้อย) เป็นการถาวร
ต่อมานายอําเภอไชยา (หลวงรักษ์นรกิจ) ได้สร้างถนนขึ้น 2 สาย จากท่ากระจาย (อําเภอท่าชนะถึงอําเภอพุนพิน) และพุมเรียงซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอําเภอถึงตําบลเวียง เมื่อถนน 2 สายเสร็จ พ่อค้าที่ตลาดบางน้อยก็ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ดอนโรงทอง (ดอนล็องทอง) และเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “ตลาดไชยา” จนถึงปัจจุบัน เมื่อหลวงรักษ์นรกิจ สร้างถนนสายท่ากระจายผ่านหน้าโรงเรียนวัดจาย ซึ่งมีทางแยกไปบ้านใต้ (อยู่ที่บ้านปากท่อ หมู่ที่ 4 ตําบลเลม็ดในปัจจุบัน) นายชู วังมี ได้นําท่อมาฝังไว้บริเวณถนน 2 แห่ง เพื่อต่อน้ำเข้าไปใช้ในที่นา บริเวณที่นายชูนำท่อไปฝังนั้นอยู่บริเวณสามแยกระหว่างบ้านวัดบนกับบ้านใต้ ซึ่งมีร้านค้าขนาดย่อยตั้งเรียงรายอยู่ เวลาที่ชาวบ้านจะออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าแถบนี้ จึงเรียกติดปากว่า “ไปปากท่อ” และด้วยเหตุที่บ้านวัดบนและบ้านใต้มีอาณาเขตติดต่อกัน อีกทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งสอง ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติกันทั้งหมด ชาวบ้านจึงเรียกรวมทั้งสองหมู่บ้านนี้เข้าด้วยกันว่า “บ้านคลองบางน้อย” แต่ผู้คนมักคุ้นเคยกับการเรียกว่า “ปากท่อ” มากกว่า ส่วนชื่อเรียกอื่นไม่ว่าจะเป็นบ้านวัดบน บ้านใต้ หรือบ้านคลองบางน้อยนั้นไม่ค่อยมีคนเรียก จนในที่สุดชื่อเรียกดังกล่าวก็สูญหายไป เหลือเพียงแต่ “บ้านปากท่อ” มาจนถึงปัจจุบัน
สภาพพื้นที่
บ้านปากท่อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาพพื้นที่ทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มตลอดแนวตั้งแต่ทิศตะวันตกไปจนถึงแนวป่าชายเลนของอ่าวบ้านดอนด้านทิศตะวันออก และมีสันดอนอยู่เป็นแนวบริเวณริมถนน ซึ่งชาวบ้านจะใช้พื้นที่ส่วนนี้ในการตั้งบ้านเรือน ส่วนสภาพดินมีลักษณะป็นดินร่วนปนทราย
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จด บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตําบลเลม็ด
- ทิศใต้ จด บ้านไทรงาม หมู่ที่ 7 ตําบลเลม็ด
- ทิศตะวันออก จด บ้านดอนประดู่ หมู่ที่ 1 ตําบลเลม็ด และทะเลอ่าวบ้านดอน
- ทิศตะวันตก จด บ้านนาทราย หมู่ที่ 5 ตําบลเลม็ด
หย่อมบ้าน
บ้านปากท่อมีการแบ่งย่อยเป็นหลายหย่อมบ้าน โดยเรียกชื่อหย่อมบ้านนั้น ๆ ตามลักษณะพื้นที่และความเป็นมา ดังนี้
- ดอนประดู่ (ดอนโด) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านปากท่อ เดิมเป็นที่ตั้งเรือนของเจ้าเมืองไชยาชื่อพระพังงา ขณะนั้นมีการสร้างวัด สร้างถนนสายยาวตั้งแต่วัดหน้าเมืองไปจนถึงวัดพระบรมธาตุไชยา แต่เมื่อสิ้นสมัยพระพังงาพื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกปล่อยรกร้าง ชาวบ้านจึงเข้าไปบุกเบิกเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมาจนปัจจุบัน
- ดอนค่าย ตั้งอยู่ติดต่อกับดอนโด ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เล่ากันว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารพม่า ซึ่งยังคงมีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอนค่าย”
- ดอนจำปา ตั้งอยู่ติดต่อกับดอนค่ายทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่เผาศพ เพราะเมื่อขุดลงไปนั้นพบโครงกระดูกจำนวนมากถูกฝังอยู่ใต้ดิน
- บ้านไผ่ล้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านปากท่อ สาเหตุที่เรียกบริเวณนี้ว่าบ้านไผ่ล้อม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีต้นไผ่หนามขึ้นปกคลุมโดยรอบ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “บ้านไผ่ล้อม”
- บ้านคลองหัววัว ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านปากท่อ แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมักจะนำวัวมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และมักจะปล่อยให้วัวไปกินน้ำในคลองซึ่งมีจระเข้อยู่ เมื่อวัวลงไปกินน้ำในคลองบางตัวก็จะถูกจระเข้กัดตาย กระทั่งบางตัวเหลือแต่หัว เมื่อชาวบ้านมาพบเห็นจึงเรียกติดปากว่า “คลองหัววัว” จนถึงปัจจุบัน
- วัดบน พื้นที่ฝั่งโรงเรียนวัดจาย ทิศเหนืออยู่ติดกับคลองไชยา
- บ้านใต้ พื้นที่ฝั่งทิศตะวันออกของถนน หรือัจจุบันเรียกว่า “บ้านแขก”
- เกาะจีน ลักษณะพื้นที่เป็นดอนทราย มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม มีเรื่องเล่าว่าในอดีตเคยมีคนจีนมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แต่กลับมาเสียชีวิตพื้นที่แห่งนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เกาะจีน”
ครอบครัวชาวบ้านปากท่อมีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย แต่สร้างบ้านเรือนอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน จึงทําให้บ้านเรือนมองดูแออัดและหนาแน่นในเขตชุมชน แต่จะมีบางครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองไชยา เนื่องจากสะดวกต่อการทำอาชีพประมง
ชาวบ้านปากท่อส่วนใหญ่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก ในอดีตชาวบ้านปากท่อทุกครัวเรือนประกอบอาชีพทำนาข้าว แล้วเปลี่ยนมาทำนากุ้งซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากให้กับชาวบ้านอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาไม่นานกุ้งเกิดโรคระบาด ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ จำต้องปล่อยทิ้งบ่อกุ้งให้เป็นที่นารกร้าง ภายหลังจากความล้มเหลวจากการทำนากุ้ง ชาวบ้านได้หันกลับมาทำนาข้าวอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีการขยายพื้นที่สำหรับปลูกข้าวออกไปอีกถึงประมาณ 3 เท่าของพื้นที่เดิม อีกทั้งยังมีการขยายพื้นที่สวนปาล์มมากขึ้นในพื้นที่นาเก่า และบางส่วนก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นากุ้งร้างมาเป็นพื้นที่สำหรับปลูกปาล์ม ทำให้ในปัจจุบัน อาชีพเกษตรกรรมได้กลับมามีบทบาทในฐานะของการเป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านปากท่ออีกครั้ง
ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม
ชาวปากท่อมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์อภินิหารต่าง ๆ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่มีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของชาวปากท่อ โดยความเชื่อที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ของชาวบ้านปากท่อที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต มีดังนี้
- พ่อท่านเทพ มีลักษณะเป็นรูปปั้นตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดจาย ปัจจุบันมีจอมปลวกขึ้นปกคลุม ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากจะทําการใดก็จะไปบนบานศาลกล่าวก็จะได้ดังหวัง นอกจากนี้การทําพิธีกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ ในโรงเรียนก็ต้องมีการบอกกล่าวให้ท่านรับรู้ เป็นการขออนุญาตในการใช้สถานที่บริเวณที่ท่านสถิตอยู่ เช่น หากมีการแสดงมโนราห์ จะต้องรําถวายท่านก่อนที่จะแสดงจริง เป็นต้น สำหรับผู้ที่บนบาทพ่อท่านเทพแล้วได้สมหวังดังปรารถนาจะกลับมาแก้บนด้วยการจุดประทัด
- พ่อตาเกตุ สิงสถิตอยู่บริเวณดอนสูง เรียกว่าดอนเกตุ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เช่น ทํานา ทําประมง ให้ได้ผลดี เป็นต้น เมื่อได้ตามที่ขอก็จะนําข้าวเปียกต้มกะทิไปถวาย ชาวบ้านมีข้อห้ามว่าการจะนำของไปถวายพ่อตาเกตุ ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ต้องห้ามไปคนเดียวอย่างเด็ดขาด
- พ่อตาเณรเขียว ไม่มีสถานที่สถิตที่แน่นอน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวประมงนับถือ เช่น ถ้าออกไปทําการประมงก็จะบนบานไม่ให้เจอมรสุมต่าง ๆ เมื่อแคล้วคลาดกลับมาก็จะนํายาเส้น หมาก พลู กระท่อม และเหล้าขาวมาแก้บน
- พระภูมิเจ้าที่ ชุมชนปากท่อจะมีการตั้งศาลพระภูมิหน้าบ้าน และมีการไหว้ภูมิกันทุกบ้าน เดิมมีนายยัง ศรีนาค เป็นคนทําพิธีไหว้ภูมิ แต่เมื่อนายยังเสียชีวิต ในหมู่บ้านก็ไม่มีคนทําพิธี แต่จะให้นายพวง ชูคง ซึ่ง อยู่หมู่ที่ 2 ตําบลเลม็ด มาทําพิธีแทน
- สวดพระมาลัยในงานศพ เชื่อกันว่าสวดเพื่อให้เจ้าภาพและแขกที่อยู่ในงานศพคลายความเศร้าลง ในอดีตการสวดพระมาลัยจะมีการสวดแข่งขันประชันกันในงานศพ ซึ่งสําหรับคณะสวดพระมาลัยในอดีตจะมีคณะของนายเขียว จันทร์จินดา ต่อมาก็มีคณะของนายวารี ปัญญาอภิวงศ์ และยังรับสวดมาจนถึงปัจจุบัน
- การทําขวัญแม่ย่านางเรือ จะทําเพื่อให้การทําประมงได้คล่องตัว ไม่เจอปัญหาอุปสรรค
ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ยังมีการยึดถือกันอยู่ แต่ความเชื่อบางอย่างเริ่มสูญหายไปจากชุมชน เช่น การผูกข้าวก่อนเกี่ยว จะทําเมื่อข้าวสุกพร้อมเกี่ยว โดยใช้ต้นกล้วย อ้อย หน่อมะพร้าว ปลาย่างทั้งตัว ขนมแดง ขนมขาว ขนมโค ไข่เป็ด ไข่ไก้ มาวางบนซอม (ถ้วยขวัญ) ใช้ด้ายแดง ด้ายขาว มาผูกรวงข้าวรอบซอม จากนั้นทําการเกี่ยวข้าวจนหมดทุ่งนา แล้วก็เอาถ้วยขวัญและข้าวที่ผูกไปวางไว้บริเวณเสากลางของยุ้งข้าว สาเหตุที่มีการสืบทอดประเพณีเหล่านี้น้อยลง เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในพื้นที่มากขึ้น และพื้นที่นาเริ่มลดลงเนื่องจากถูกแปรสภาพเป็นสวนปาล์ม
ลักษณะบ้านเรือน
ในอดีตชาวบ้านปากท่อนิยมสร้างบ้านเรือนโดยใช้ไม้ไผ่ปูพื้นบ้าน สานกั้นผนัง และมุงหลังคาด้วยจาก ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ส่วนบ้านที่มีฐานะจะก่อสร้างด้วยไม้ หลังจากมุงกระเบื้องว่าว การตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่ห่าง ๆ กันตามแนวถนนและลําคลอง ปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนจะมีรูปแบบใหม่ คือ ก่อสร้างด้วยปูนและมุงกระเบื้องเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความคงทนและใช้เงินทุนต่ำกว่าการสร้างบ้านด้วยไม้ อีกทั้งยังมีความทันสมัยมากกว่า
1. นายจําเริญ ไม้นุช อายุ 56 ปี ผู้ชำนาญด้านการจับปลา คือมีเทคนิคในการจับปลาเฉพาะตัว สามารถจับปลาได้มากกว่าคนอื่น ๆ มีประสบการณ์การจับปลามาประมาณ 40 ปี
2. นายฐากูร ชูคง อายุ 36 ปี ผู้ชำนาญด้านการประมงแบบดั้งเดิม (รื้อฟื้นของเก่า) เช่น การใช้กระดานผีหลอก การทอดแหกุ้งขาว เป็นต้น
3. นายเทียบ ชูคง อายุ 74 ปี ผู้ชำนาญด้านการเย็บจากสําหรับมุงหลังคา
4. นายจรวย เทพนวล อายุ 73 ปี ผู้ชำนาญการสานกรงกราด (ซุ้มไก่) ด้วยไม้ไผ่
5. นายอนันต์ เชื้อเอี่ยม อายุ 63 ปี ผู้ชำนาญการต่อเรือขนาดกลาง
ภูมิปัญญาชุมชน
- ภูมิปัญญาการประมงพื้นบ้าน
- ภูมิปัญญาด้านการเย็บจากสำหรับมุงหลังคา
- ภูมิปัญญาการสานกรงสาด
- ภูมิปัญญาการต่อเรือ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
การศึกษาของชาวบ้านในอดีตจะต้องไปเรียนในวัด ต่อมาทางการได้เปิดโรงเรียนสอนโดยเกณฑ์ชาวบ้านให้ไปเรียนที่โรงเรียนวัดสโมสร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านปากท่อ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1 - ป.4 ต่อมาพระครูช่วย สุทธ์ศรีโล ได้ย้ายโรงเรียนมาทําการเรียนการสอนที่โรงเรียนวัดจาย ทั้งยังมีการบูรณะวัดหน้าเมืองเป็นโรงเรียนเปิดทําการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1- ป.4 เช่นกัน แต่ภายหลังต้องยุบไปเนื่องจากมีนักเรียนเหลืออยู่น้อย เหลือเพียงโรงเรียนวัดจายที่ยังคงเปิดทําการเรียนการสอนอยู่ จากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 มีการปรับปรุงหลักสูตรเป็น ป.1 - ป.6 ในช่วงนั้นโรงเรียนค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีเด็กจากทั้งในหมู่บ้านปากท่อและหมู่บ้านใกล้เคียงที่มาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวัดจาย แต่ปัจจุบันจํานวนเด็กนักเรียนลดลงอย่างมาก เนื่องจากจํานวนเด็กในหมู่บ้านน้อยและมีชาวบ้านบางส่วนที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในตัวอําเภอระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนพุทธนิคม โรงเรียนไชยา วิทยาลัยการอาชีพไชยากาญจนาภิเษก ส่วนการศึกษาในระดับปริญญาตรีปัจจุบันยังมีน้อย
ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่าน ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณบ้านป่าท่อมีความเปลี่ยนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2528-2536 ที่เริ่มมีการทํานากุ้งสหกรณ์วาริชกรรม มีการตัดไม้ทําลายป่าเพื่อปรับพื้นที่สําหรับเลี้ยงกุ้ง จนถึงช่วงที่นากุ้งได้รับความนิยมสูงสุดในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการขยายพื้นที่เลี้ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทําให้ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตลดลงอย่างน่าใจหาย จนแทบไม่หลือสภาพเดิม กระทั่งในปี พ.ศ. 2536 กุ้งเป็นโรค นากุ้งประสบปัญหาขาดทุนจนชาวบ้านต้องหยุดเลี้ยง นากุ้งจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า จากนั้นพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนก็เริ่มงอกขึ้นเองตามธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับ ปตท. เข้ามาร่วมกับชาวบ้าน และสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 13 ร่วมกันปลูกป่า ทําให้ป่าชายเลนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และชาวบ้านบางส่วนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรมากขึ้น ซึ่งพื้นที่นากุ้งก็ยังคงถูกปล่อยเป็นนาร้าง และไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2559). แผนผังแสดงชุมชนโดยสังเขป ชุมชนบ้านปากท่อ หมู่ที่ 4 ตำบ เลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.dmcr.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566].
อนันต์ เชื้อเอี่ยม และคณะ. (2553). แนวทางการจัดการเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นที่บ่อกุ้งร้างในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านปากท่อ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.