Advance search

ฝ่ายท่า

ชุมชนบ้านฝ่ายท่า ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา พื้นที่จึงมีความหลากหลายของระบบนิเวศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของต้นพลับพลึงธาร พืชน้ำที่ออกดอกสีขาวบานงดงามปีละ 1 ครั้ง ชุมชนจึงจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้คำขวัญ ล่องแพ แลพลับพลึงธาร บานคลองนาคา 

บ้านฝ่ายท่า
นาคา
สุขสำราญ
ระนอง
อบต.นาคา โทร. 0-7782-8651
พลับพลึงธาร
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
บ้านฝ่ายท่า
ฝ่ายท่า

ชื่อบ้านฝ่ายท่า จากคำบอกเล่าของกลุ่มที่เข้ามาอาศัยแรก ๆ เล่าว่า เดิมผู้คนในบริเวณนี้ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองนาคา ใกล้กับสะพานข้ามคลองนาคา หรือในบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม  โดยมีการตั้งถิ่นฐานบริเวณริมฝั่งคลองนาคาทั้งสองฝั่ง  จึงมีผู้ที่อาศัยในพื้นที่นี้ใช้ประโยชน์จาก น้ำ และ ท่าน้ำคลองนาคา กันคนละฝั่งคลอง ทว่าทุกคนต่างก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันคือ บ้านพรุ เพียงแต่อยู่คนละฝั่งของ ท่าน้ำ หรือ คนละฝั่งคลอง  ต่อมาเมื่อมีการแยกชุมชน เนื่องจากจำนวนประชากรเริ่มมากขึ้น จึงเรียกชุมชนที่แยกออกมาหรืออีกฝั่งของท่าน้ำว่า คนฝ่ายท่า หรือ บ้านฝ่ายท่า กระทั่งปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านฝ่ายท่า ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา พื้นที่จึงมีความหลากหลายของระบบนิเวศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของต้นพลับพลึงธาร พืชน้ำที่ออกดอกสีขาวบานงดงามปีละ 1 ครั้ง ชุมชนจึงจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้คำขวัญ ล่องแพ แลพลับพลึงธาร บานคลองนาคา 

บ้านฝ่ายท่า
นาคา
สุขสำราญ
ระนอง
85120
9.414329765
98.46435294
องค์การบริหารส่วนตำบลนาคา

บ้านฝ่ายท่า เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากหมู่ที่ 2 บ้านนาพรุ ในปี พ.ศ. 2535  เนื่องจากจำนวนประชากรในพื้นที่เพิ่มจำนวนขึ้นจึงมีการขอแยกหมู่บ้านเพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาพื้นที่  ชุมชนมีความหลากหลายของที่มาของสมาชิกที่เข้ามาอาศัย สมาชิกในชุมชนมีทั้งมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี  เป็นต้น ฉะนั้นในทางสังคมชุมชนฝ่ายท่าจึงมีสมาชิกที่มาจากต่างภาคทำให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เริ่มแรกมีประชากรเข้ามาอาศัยในพื้นที่ราว ๆ 54 ครัวเรือน อาชีพของสมาชิกในชุมชนเริ่มแรกประกอบด้วยหาของป่า เช่น การตัดหวาย ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านการทำสวน ทำไร่ สวนกาหยู (มะม่วงหิมพาน) สวนกาแฟ กระทั่งมีการทำสวนยางพารา และทำสวนปาล์มน้ำมันในปัจจุบัน

อดีตช่วงที่สังคมไทยแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา พื้นที่ชุมชนบ้านฝ่ายท่าและชุมชนในตำบลนาคาในปัจจุบันเป็นพื้นทีสีแดง สมาชิกในชุมชนจึงมาจากหลากหลายจังหวัดทั้งภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เป็นต้น  จึงก่อเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่ทำให้สมาชิกในชุมชนบ้านฝ่ายท่าใช้ชุดประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต คือยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการป้องปรามอำนาจและอิทธิพลที่เข้ามาเอารัดเอาเปรียบ จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในการหาผลประโยชน์เข้าสู่ตนเองและพวกพ้อง โดยการขับเคลื่อนกระบวนการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน  กระทั่งชุมชนสามารอนุรักษ์และป้องกันพื้นที่ป่าสงวนเขตรักษาพันธุ์สัวตว์ป่าคลองนาคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บ้านท่าฝ่ายอยู่ห่างอำเภอสุขสำราญ 13 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 110.6 ตารางกิโลเมตร  โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านพรุ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านไร่ใน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองนาคา และ หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งถั่ว

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนบ้านฝ่ายท่า ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อป่าสงวนเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและพื้นที่ราบเชิงเขาติดต่อยังชายฝั่งทะเล พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า  ผืนป่าคลองนาคาเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าดงดิบผืนใหญ่ต่อเนื่องกับป่าเขาสกและป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และป่าศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งผืนป่าทั้งหมดมีขนาดใหญ่ในคาบสมุทรภาคใต้  ความอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้มีพืชไม้น้ำเรียกว่า “พลับพลึงธาร” ขึ้นในธารน้ำคลองนาคาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำรายได้มาสู่ชุมชนช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม ของทุกปี

คลองนาคาผืนป่าคลองนาคาเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ต่อเนื่องกับผืนป่าเขาสก ป่าคลองแสงในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และป่าศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จึงทำให้พื้นที่นี้เป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ในคาบสมุทรภาคใต้ ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพทำให้คลองนาคามีดอกพลับพึงธารซึ่งเป็นไม้น้ำ พบเพียงที่เดียวในประเทศไทยคือบริเวณคลองนาคา ดอกพลับพึงธารบานในช่วงเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของคลองนาคายังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด รวมถึงพืชหลากหลายชนิด เช่น กุ้งแม่น้ำ กุ้งจรวด หอยโข่ง ปลาพลวง ปลาช่อน ปลาซิวไม้ไผ่ ปลาซิวหางแดง และพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ตะแบก ไผ่ ส้านใหญ่ มะเดื่อ ข่าป่า หวาย เต่าร้าง เถาวัลย์ กล้วยป่า ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์บริเวณนี้ นำไปสู่การเป็นแหล่งอาหารของสมาชิกในชุมชนนอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังใช้ประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

ชุมชนบ้านฝ่ายท่า ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความหลากหลายของถิ่นฐานเดิมของสมาชิกในชุมชน เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในอดีตที่มีการแบ่งเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ที่มาของประชากรโดยภาพรวมของตำบลนาคา จึงประกอบด้วยสมาชิกชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ฉะนั้นจึงมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่มาจากหลากหลายจังหวัดโดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา 

ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวันของสมาชิกชุมชนฝ่ายท่า มีความสอดคล้องกับอาชีพของสมาชิกในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร เฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน รองลงมาเป็นการทำสวนผลไม้ เช่น สวนมังคุด สวนลองกอง สวนทุเรียน และรับจ้างทั่วไป รวมถึงการเลี้ยงสัตว์

1. นายสุจินต์ คงจันทร์  ผู้เป็นปราชญ์ด้านการแพทย์แผนไทย

ทุนชุมชน กุศโลบายเพื่อการอนุรักษ์สายน้ำคลองนาคาซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านฝ่ายท่าคือ พิธีสมโภชสายน้ำคลองนาคาเป็นประเพณีที่จัดทุกปีในพื้นที่ ถึงแม้ว่าในชุมชนประกอบด้วยสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ แต่สมาชิกในชุมชนต่างมาร่วมด้วยช่วยกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยพิธีกรรมในพุทธศาสนามีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ส่วนพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามชุมชนมีการเชิญโต๊ะครูมาอ่านดุอาร์(ขอพร) สมโภชสายน้ำคลองนาคา หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นมีการรับประทานอาหารร่วมกันและปลูกพลับพลึงธารในสายน้ำคลองนาคา

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดระนอ

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


การลดจำนวนของพลับพลึงธารในคลองนาคาทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของจำนวนทรัพยากร ในท้องถิ่น ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของพลับพลึงธารนอกจากจะส่งผลคุณค่าในเชิงระบบนิเวศ  ปัจจุบันยังส่งผลต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้แก่ชุมชน  สมาชิกในชุมชนจึงร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษณ์พลับพลึงธาร  โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์พลับพลึงธาร อาทิ การลงพื้นที่เก็บเมล็ดพลับพลึงธาร การเพาะเมล็ดพลับพลึงธาร การนำต้นกล้าพลับพลึงธารไปปลูก นอกจากนี้กิจกรรมสมโภชสายน้ำคลองนาคามีการผสานพิธีกรรมของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดพลังของชุมชนในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน รวมถึงการผสานองค์กรภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานด้านวิชาการเพื่อร่วมมือในการอนุรักษ์พลับพลึงธารพืชท้องถิ่นของชุมชน

ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์พลับพลึงธารทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน สมาชิกชุมชนฝ่ายท่าร่วมกันค้นหาปัญหาและวิธีการเพาะเลี้ยงและขยายพลับพลึงธารเพื่อคืนพลับพลึงธารสู่ธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวงจรชีวิตพลับพลึงธาร  ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศคลองนาคา และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรักสามัคคีในชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวกลับคืนสู่ชุมชนและเพื่อสร้างสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน

พลับพลึงธาร เป็นพืชน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชุมชนฝ่ายท่า พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ อยู่ในวงศ์ พลับพลึง มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า หญ้าช้อง ช้องนางคลี่ หรือ ช้องนาง พลับพลึงธารเป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่น พบเฉพาะบริเวณจังหวัดระนองตอนล่างและจังหวัดพังงาตอนบน

พลับพลึงธารเจริญเติบโตได้ดีในลำธารและคลองสายสั้น ๆ ที่สภาพน้ำใส มีการไหลระบายได้ ลักษณะเด่นของพลับพลึงธารคือ รากเป็นระบบฝอย ลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบอ่อนซ้อนกันคล้ายริบบิ้นแถบยาว ช่อดอกคล้ายซี่ร่มมีดอกย่อย 4-14 ดอก ออกดอกช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาวหรือราวปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งช่วงของการออกดอกนี้ชุมชนจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวชมพลับพลึงธารที่เป็นจุดขายของชุมชน 

อิสราภรณ์ อุ่นขาว และคณะ (2556). โครงการฟื้นฟูพลับพลึงธารด้วยกระบวนการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยง เพื่ออนุรักษ์คลองนาคา โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านฝ่ายท่า ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

อสมท.ระนอง. (2564). ดอกพลับพลึงธารบาน ณ คลองนาคา . ค้นจาก https://www.facebook.com/mrnranongfm1005Mhz/photos/

อบต.นาคา โทร. 0-7782-8651