Advance search

บ้านบางลำพู

ชุมชนบ้านบางลำพู เป็นชุมชนที่สมาชิกชุมชนให้ความสำคัญกับป่าจาก เพราะเป็นไม้สำคัญทางเศรษฐกิจของชุมชน ดังนั้นจึงมีการจัดการท่องเที่ยวชมป่าจาก ดังคำขวัญ พาสาว เที่ยวคลองลำพู แลหิ่งห้อย

บ้านบางลำพู
กะเปอร์
กะเปอร์
ระนอง
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-4334-2023, อบต.กะเปอร์ โทร. 0-7788-0375
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
บ้านบางลำพู
บ้านบางลำพู

ชื่อหมู่บ้านตั้งตามต้นไม้ที่มีชื่อว่า ต้นลำพู ที่พบมากบริเวณริมคลองในหมู่บ้าน ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม เริ่มแรกยังไม่มีการอาศัยอยู่มากนัก ต่อมาพบว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น โดยยึดอาชีพการทำนาทำไร่ ตัดหวาย เผาถ่าน  เย็บจาก ทำน้ำตาลจาก ลอกใบจาก


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านบางลำพู เป็นชุมชนที่สมาชิกชุมชนให้ความสำคัญกับป่าจาก เพราะเป็นไม้สำคัญทางเศรษฐกิจของชุมชน ดังนั้นจึงมีการจัดการท่องเที่ยวชมป่าจาก ดังคำขวัญ พาสาว เที่ยวคลองลำพู แลหิ่งห้อย

บ้านบางลำพู
กะเปอร์
กะเปอร์
ระนอง
85120
9.569362
98.59853
องค์การบริหารส่วนตำบลกะเปอร์

ชุมชนบ้านบางลำพู มีพื้นที่ติดกับคลองกะเปอร์ เดิมยังเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีเพียง 13 ครอบครัว สมาชิกเริ่มแรกประกอบด้วยครอบครัว 7 นามสกุล เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่และตั้งถิ่นฐาน ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกหมู่บ้าน 13 ครอบครัวแรก คือ

  1. นายเชย   มากมูล
  2. นายเชี่ยว  มากมูล
  3. นายรื่น   มากมูล
  4. นายเสน   มากมูล
  5. นายคง   มากมูล
  6. นางส่วน   มากมูล
  7. นายลำพู   ช่วยชนะ
  8. นายสิทธิ   นุ้ยมีทรัพย์
  9. นายเสม   รักษา
  10. นายเซ่ง   พรมฤทธิ์
  11. นายยอม   รอดภัย
  12. นายนึก   สุขสวัสดิ์
  13. นายบุญยก   สุขสวัสดิ์       

ต่อมาชุมชนเริ่มขยายตัวจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การสร้างและรูปแบบบ้านเรือนสร้างจากวัสดุหรือทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชน โดยมีลักษณะบ้านเรือนคือ ตัวบ้านทำด้วยไม้เสาเรือนใช้ไม้กลม ฝาบ้านกั้นด้วยไม้ไผ่สานหรือฝาสาน หลังคามุงด้วยตับจาก ตัวบ้านยกสูงบางหลังยกสูงมากมีบันได 15 ขั้น ส่วนใต้ถุนบ้านใช้สำหรับการทำงานและการพักผ่อนช่วงกลางวัน สาเหตุหนึ่งที่ยกบ้านสูงเพราะกลางคืนจะมีสัตว์ดุร้ายเข้ามาในหมู่บ้านซึ่งสมาชิกในชุมชนเห็นบ่อยครั้ง เช่น เสือ หมี เป็นต้น 

ระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีลักษณะของความเป็นญาติกันในชุมชนมีการช่วยเหลือเจือจุนระหว่างกัน สมัยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ชุมชนใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดในการให้แสงสว่าง การอุปโภคและบริโภคน้ำใช้แหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน เช่น ห้วยบางลำพู คลองนา คลองกะเปอร์ เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน  ส่วนการติดต่อกันใช้เส้นทางน้ำโดยการแจวเรือ ล่องแพ เพื่อไปมาหาสู่กันในระยะไกล

อาณาเขตติดต่อ

ชุมชนบางลำพู หมู่ที่ 3 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของอำเภอกะเปอร์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เป็นเส้นทางหลัก มีพื้นที่ราว 3,595 ไร่ อาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านฝ่ายท่า ต.กะเปอร์ 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านคลองทราย ต.บางหิน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเสียด ต.กะเปอร์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองกะเปอร์ และชายฝั่งทะเลอันดามัน

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ของชุมชนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขาสลับกับพื้นที่ราบเชิงเขา ทางด้านฝั่งตะวันตกของชุมชนติดกับทะเลอันดามัน และมีคลองไหลลงทะเล ประกอบด้วย คลองกะเปอร์ คลองบางลำพู ลักษณะเช่นนี้ทำให้พื้นที่มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากทรัพยากรพรรณไม้ชายเลน อาทิ ต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นปรง และ ไม้ชายเลนอื่น ๆ ชุมชนยังมีการใช้ประโยชน์จาก ต้นจาก ที่เจริญเติบโตได้ดีบริเวณที่น้ำจืดปนกับน้ำกร่อยและมีน้ำเค็มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของป่าจากในคลองบางลำพู เอื้อให้เกิดการสร้างสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากต้นจากของสมาชิกในชุมชน 

เดิมรูปแบบบ้านเรือนสร้างจากวัสดุหรือทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชน โดยมีลักษณะบ้านเรือนคือ ตัวบ้านทำด้วยไม้เสาเรือนใช้ไม้กลม ฝาบ้านกั้นด้วยไม้ไผ่สานหรือฝาสาน หลังคามุงด้วยตับจาก ตัวบ้านยกสูงบางหลังยกสูงมากมีบันได 15 ขั้น ส่วนใต้ถุนบ้านใช้สำหรับการทำงานและการพักผ่อนช่วงกลางวัน สาเหตุหนึ่งที่ยกบ้านสูงเพราะกลางคืนจะมีสัตว์ดุร้ายเข้ามาในหมู่บ้านซึ่งสมาชิกในชุมชนเห็นบ่อยครั้ง เช่น เสือ หมี เป็นต้น

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เดือนมกราคม 2566 บ้านบางลำพูมีจำนวน 377 หลังคาเรือน ประชากรเพศชาย 538 คน ประชากรเพศหญิง 522 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 1,060 คน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566)

ระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีลักษณะของความเป็นญาติกันในชุมชนมีการช่วยเหลือเจือจุนระหว่างกัน สมัยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ชุมชนใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดในการให้แสงสว่าง การอุปโภคและบริโภคน้ำใช้แหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน เช่น ห้วยบางลำพู คลองนา คลองกะเปอร์ เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ส่วนการติดต่อกันใช้เส้นทางน้ำโดยการแจวเรือ ล่องแพ เพื่อไปมาหาสู่กันในระยะไกลนอกเหนือจากการเดิน

องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ ในชุมชนบางลำพู ประกอบด้วยทั้งที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานราชการและสมาชิกในชุมชน กลุ่มในชุมชนประกอบด้วย กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มทำเครื่องแกงและแปรรูปขนม กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน 

การประกอบอาชีพของสมาชิกชุมชนบ้านบางลำพู จำแนกได้ 2 ประเภทหลัก คือ กิจกรรมด้านการเกษตรกรรมประกอบด้วย การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ในส่วนของพื้นที่ที่ติดชายฝั่งสมาชิกของชุมชนประกอบอาชีพประมงทั้งด้านการเพาะเลี้ยงชายฝั่งและประมงชายฝั่ง ซึ่งสอดคล้องกับภูมิปัญญาด้านการสร้างเครื่องมือประมงของสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังประกอบอาชีพด้านการรับจ้างทั่วไป รับราชการ ค้าขายทั่วไป และการตัดใบจาก

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนที่พบมาก คือ การใช้ประโยชน์จากต้นจาก และพัฒนาเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชุมชน คือ การเย็บจาก การรับจ้างตัดใบจาก การลอกใบจาก  ป่าจากให้มูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกในชุมชนหลายประการ เช่น การเย็บใบจากเพื่อนำมาเป็นตับจากมุงหลังคา นำใบจากมาห่อขนม ใบอ่อนนำมาลอกเยื่อทำเป็นใบยาสูบ ลูกจากนำมาทำเป็นขนมหวานแทนลูกชิด งวง ทำน้ำตาลจากและน้ำส้มจาก กรณีตัวอย่างที่สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์จากต้นจากต่อไปนี้

  • นางปราณี (นามสมมติ) อาศัยในหมู่บ้านมานานพอควร ยึดอาชีพเย็บจากเป็นอาชีพหลัก หารายได้แบบวันต่อวันจากการเย็บจาก แต่บางวันก็ขายไม่ได้ ป่าจากที่เข้าไปใช้ประโยชน์เป็นการเช่าที่ป่าจากเป็นรายปี ราคาแล้วแต่ตกลงโดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่
  • นางกรองแก้ว (นามสมมติ) สร้างรายได้จากการเย็บตับจากเพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยผู้เช่าสวนจากของนางกรองแก้ว ตัดใบจากมาให้เย็บเป็นตับด้วยไม้ไผ่ราชวัง เย็บได้วันละ 70–100 ตับ รายได้พอเลี้ยงครอบครัวในหนึ่งวัน
  • นายหมี (นามสมมติ) ได้รายได้มาจากการทำน้ำตาลและน้ำส้มจากมาตั้งแต่อดีต (รายละเอียด ขั้นตอนการทำน้ำตาลจากและน้ำส้มจากในหัวข้อข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ)

1. นางอุไร จัตุรงค์  ไม้กวาดดอก

2. อ้อนายเกษม เสือเปีย  ทํากรงนก

3. นายสิงห์ทอง จิตวิวัฒน์  ทําเฟอร์นิเจอร์ไม้

4. นายหมี แว่นแก้ว  แปรรูปอาหาร เช่น ลูกจาก น้ำตาลจาก

5. นางไพ กิ่งแก้ว  สานกระจาด ตะกร้า ไซดักปลา

6. นายชําเรือง ภู่ทอง  ต่อเรือประมง

7. นางสุกัญญา วงศ์พึ่งไพบูลย์  แปรรูปอาหาร

8. นายละมัย กิ่งแก้ว  ทําเครื่องจักสาร

ทุนวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

การใช้ประโยชน์จากต้นจากเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของชุมชนบางลำพู การใช้ประโยชน์จากต้นจากสมาชิกในชุมชนสามารถนำมาใช้ตั้งแต่เมล็ดจากถึงต้นจากทั้งหมด ต้นจากที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต้องมีอายุ 4 ปี ขึ้นไป ภูมิปัญญาในการตัดใบจากของชุมชนจะไม่ตัดหมดทุกใบ กล่าวคือเมื่อตัดใบจากก้านแก่ครั้งแรก จะเหลือก้านอ่อนอย่างน้อย 2-3 ก้าน เพื่อให้เจริญเติบโตสำหรับตัดในครั้งถัดไป ก้านอ่อนที่เหลือไว้นี้จะสามารถกลับมาตัดได้อีกครั้งใน 3 เดือน 

สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นจาก โดยมีการส่งทอดภูมิปัญญาที่สืบทอดมาในบริเวณอ่าวกะเปอร์ ตั้งแต่ครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบัน การใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นจาก ประกอบด้วย

  • ยอดจากอ่อน ลอกจากนั้นตากแดดทำเป็นใบจากม้วนกับยาสูบ รวมถึงนำมาห่อเป็นขนมต้ม
  • ใบแก่ นำมาทำหมวกกันแดดกันฝน หรือ เปี้ยว รวมถึงการเย็บเป็นตับจากมุงหลังคา
  • ช่อดอก หรืองวง สามารถปาดงวง เพื่อนำน้ำหวานไปทำน้ำตาลจาก
  • น้ำหวานจากได้จากก้านทะลายหรือช่อดแก นำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาลเหลว
  • ลูกจาก นำมาเป็นผักเหนาะ(ผักแนม) กินกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ด
  • ทางจาก หรือ พอนจาก นำมาผ่าซีกทำเป็นไม้ตับจาก หรือสับให้ละเอียดผสมเป็นปุ๋ย

การใช้ประโยชน์จากต้นจากของสมาชิกชุมชนบ้านบางลำพูและชุมชนบริเวณอ่าวกะเปอร์ เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดรายได้แก่สมาชิกในชุมชนสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น

ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดระนอง


อาชีพตัดใบจาก : เป็นอาชีพเสริมที่ช่วยให้สมาชิกของชุมชนมีรายได้ถึงแม้ไม่มากนัก แต่สามารถช่วยให้ดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตคือ การใช้ประโยชน์อย่างเดียวโดยไม่มีการฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน ชุมชนก็จะประสบปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ป่าจากซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นชุมชนจึงเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้เกิดการใช้ประโยชน์โดยไม่ฟื้นฟู  จึงจัดทำการวิจัยชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยร่วมประสานทั้งองค์กรท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านวิชาการ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน

การทำน้ำตาลจาก

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ กระทะใบบัว ไม้พาย ไม้ฟืน กระบอกไม้ไผ่ มีดคม

วิธีการทำ ช่วง 5 โมงเย็น ต้องเอากระบอกไม้ไผ่และมีด เพื่อที่จะนำไปปาดงวงจาก หลังจากนั้นนำกระบอกไม้ไผ่รองรับจากบริเวณงวงจากเพื่อรอน้ำตาลออกจากงวงจาก ซึ่งเป็นน้ำลักษณะใส ๆ รอจวนเวลา 05:00 น. ในตอนเช้า เพื่อที่จะไปเอาน้ำจากกระบอกไม้ไผ่ หลังจากนั้นนำมาเทใส่กระทะที่เตรียมไว้ตั้งไฟ ใช้ไม้พายคนเรื่อย ๆ จนเหนียว กลิ้งมันแววเป็นสีน้ำตาล พอได้ที่รอให้เย็นแล้วเทใส่ปี๊บที่เตรียมเอาไว้  เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการทำเมื่อได้เป็นน้ำตาลปี๊บ จากนั้นชั่งเป็นกิโลกรัมได้ประมาณ 15 กิโลกรัมต่อ 1 ปีบ ประโยชน์จากน้ำตาลจากคือใช้ทำขนมหวานและใช้ปรุงอาหารจะทำให้มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย

การทำน้ำส้มจาก

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ กระบอกไม้ไผ่ มีดคม โอ่งน้ำ ตะแกรง

วิธีการทำ ช่วง 17:00 น. นำกระบอกไม้ไผ่ไปแขวนที่งวงจาก เพื่อที่จะกรีดวงจากรอรับน้ำตาลซึ่งเป็นน้ำใส ๆ เช่นเดียวกันกับน้ำตาลจาก หลังจากนั้นช่วง เวลา 05:00 น ตอนเช้า นำน้ำตาลที่ได้เทลงใส่โอ่งที่เตรียมไว้ พร้อมนำตะแกรงมากรองน้ำตาล เพื่อกรองสิ่งสกปรกออกหลังจากนั้นปิดฝาโอ่งให้สนิทและทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ เมื่อได้เวลาเปิดฝาดูตามกำหนดเวลา น้ำส้มจาก ที่ได้จะต้องมีและกลิ่นน้ำส้มพร้อมที่จะนำไปปรุงเป็นอาหาร อาทิ น้ำพริก ต้มปลา และอเนกประสงค์ น้ำส้มจากปราศจากสารกันบูด 

บุญเรือง คงทอง และคณะ (2558). การศึกษารูปแบบการจัดการป่าจากและการใช้ประโยชน์ของคนบางลำพูที่เหมาะสม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของชุมชน หมู่ที่ 3 บางลำพู ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-4334-2023, อบต.กะเปอร์ โทร. 0-7788-0375