บ้านบางสีกิ้ม ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและดินมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร จึงทำให้ผักเหลียงที่ปลูกที่นี่อร่อยที่สุด รสชาติหวานมันไม่ขม
ชื่อ “สีกิ้ม” มีที่มาจากครอบครัวชาวจีน สามีชื่อนายศรี มีภรรยาชื่อ นางกิ้ม มาตั้งบ้านเรือนบริเวณปากคลองละอุ่นเพื่อทำแร่ดีบุก “แร่” ที่ขุดได้ถึงแม้มีคุณภาพดี แต่ปรากฏว่ามี “ขี้แร่” ปะปนจำนวนมาก หรือท้องถิ่นเรียกว่า “ขี้ตายมาก” เมื่อพบขี้แร่ปนในแร่คุณภาพดีจำนวนมาก สามีภรรยาจึงอุทานว่า “ซิเลี้ยว” หมายถึง “ตายแล้ว” ต่อมาคำว่า “ซิ” ที่แปลว่า “ตาย” ในภาษาจีน เพี้ยนเป็น “สี” ผนวกกับการให้ “คุณค่าแร่ดีบุก” เปรียบเสมือน “ทอง” ภาษาจีนออกเสียงว่า “กิ้ม” ดังนั้นเมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกันจึงเป็นคำว่า “สีกิ้ม” มีนัยหมายถึง “แร่ดีบุกที่มีขี้แร่ปะปนจำนวนมาก” ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ชื่อ “บ้านบางสีกิ้ม”
บ้านบางสีกิ้ม ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและดินมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร จึงทำให้ผักเหลียงที่ปลูกที่นี่อร่อยที่สุด รสชาติหวานมันไม่ขม
บ้านสีกิ้ม เดิมมีผู้อยู่อาศัยราว 5-10 หลังคาเรือน โดยชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรก และเป็นที่มาของชื่อ บ้านสีกิ้ม แรกเริ่มสมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลัก รูปแบบเป็นการร่อนแร่ด้วยเลียงร่อนแร่ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นบ้านทำจากไม้ลักษณะเหมือนกระทะ การหาอยู่หากินของชุมชนมักเป็นการหาผัก ปลาในแม่น้ำและคลองละอุ่นที่ไหลผ่านมาชุมชน นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญของชุมชน
อดีตมีการทำนาในชุมชน แต่เป็นไปในลักษณะการปลูกเพื่อกินในครัวเรือนและแบ่งปันกันระหว่างสมาชิกในชุมชน เมื่อชุมชนเริ่มขยายตัวเนื่องจากมีการย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยในพื้นที่ จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนพร้อมกับสร้างอาคารเรียนหลังแรกแห่งแรกของชุมชน ชื่อ โรงเรียนบ้านสีกิ้ม ที่หมู่ 4 ตำบลทรายแดง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาระนอง ในปี พ.ศ. 2483 กระทั่งปี พ.ศ. 2495 ได้อาคารเรียนหลังใหม่อีก 1 หลัง ระยะเวลาเดียวกันนี้เองเริ่มมีรถเมล์วิ่งระหว่าง ละอุ่น - กม.30 ซึ่งเป็นรถเมล์สายแรกวิ่งผ่านชุมชน ช่วงเวลาใกล้กันนี้เป็นยุคทองของแร่ดีบุก บริษัทเหมืองแร่ชื่อนาทวีเข้ามาดำเนินกิจการ และนำมาซึ่งไฟฟ้าใช้ในชุมชนกระทั่งปัจจุบัน
วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนบ้านสีกิ้มยังคงสืบสานประเพณีท้องถิ่นของภาคใต้กระทั่งปัจจุบัน แต่ที่เปลี่ยนแปลงและหายไปจากชุมชนคือ ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เพราะไม่มีการทำนาในชุมชน พื้นที่นาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนเกษตรหรือพืชเชิงเดี่ยว อาทิ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
อาณาเขตติดต่อ
บ้านบางสีกิ้ม หมู่ที่ 4 ตำบลทรายแดง อำเภอเมืองระนอง อยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอเมืองระนอง ไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,500 ไร่ หรือ 2.40 ตารางกิโลเมตร
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองละอุ่น หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำตก หมู่ที่ 3 ตำบลทรายแดง และบ้านทอนเสียด ตำบลบางพระเหนือ อำเภอละอุ่น
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านบางนา หมู่ที่ 3 ตำบลบางพระใต้
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทรายแดงหมู่ที่ 1 และบ้านหินดาด หมู่ที่ 2 ตำบลทรายแดง
สภาพพื้นที่บ้านบางสีกิ้ม
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ บ้านบางสีกิ้มเป็นที่ราบเชิงเขา อยู่ระหว่างแนวเขาทอดยาวจากเหนือใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มีป่าต้นน้ำ และป่าชุมชนใช้ร่วมกันอยู่ ในพื้นที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 26 – 35 องศาเซลเซียส แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ได้แก่ คลองบางสีกิ้ม คลองห้วยบอน คลองเส็ดกวด ห้อยดอนตะเคียน
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านบางสีกิ้ม หมู่ที่ 4 ตำบลทรายแดง อำเภอเมืองระนอง เดือนธันวาคม 2566 พบว่า บ้านบางสีกิ้ม มีจำนวนหลังคาเรือน 301 หลังคาเรือน จำนวนประชากร ชาย 353 คน หญิง 370 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 723 คน
การประกอบอาชีพของสมาชิกชุมชนบ้านสีกิ้ม กิจกรรมด้านการเกษตรกรรมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ สวนผลไม้ อาทิ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง นอกจากพืชเศรษฐกิจ ชุมชนมีการปลูกผักเหลียงหรือผักเหมียงซึ่งผักเหลียงของบ้านสีกิ้มได้ชื่อว่ามีรสชาติดี และผักเหลียงยังเป็นพืชที่แสดงถึงอัตลักษณ์อาหารของชุมชนบ้านสีกิ้ม ดังปฏิทินอาชีพของชุมชน
ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดระนอง
ผักเหลียง ของจังหวัดระนองขึ้นชื่อว่าเป็นผักเหลียงที่อร่อยที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอละอุ่นและหมู่บ้านบางสีกิ้ม เพราะพื้นที่เหมาะสมและดินอุดมไปด้วยธาตุอาหารสมบูรณ์จึงทำให้ผักเหลียงในพื้นที่นี้มีรสชาติอร่อยที่สุดไม่ขม ประโยชน์ของผักเหลียงใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงเลียง ต้มกะทิ ใช้ห่อเมี่ยงคำ ผัดวุ้นเส้น แกงไตปลาและผัดผัก นิยมนำเนื้อในเมล็ดของผักเหลียงมาทำข้าวเกรียบ
ผักเหลียงบ้านบางสีกิ้ม มีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะมีใบขนาดใหญ่แต่ใบบาง รสหวาน ผักเหลียงมีราคาแพงช่วงหน้าฝนเพราะหน้าฝนทำให้ใบเน่า ผักเหลียงมีสรรพคุณทางยา ใบรับประทานเพื่อบำรุงเส้นเอ็นกระดูก สายตาและสามารถนำมาใช้ลอกฝ้าได้ดีอีกด้วย ผักเหลียงที่ปลูกในชุมชนส่วนมากจะปลูกกลางร่องสวนยางรวมถึงร่องปาล์มน้ำมัน ในช่วงที่เศรษฐกิจจากราคายางพาราตกต่ำชาวบ้านปลูกผักเหลียงแซมในสวนยางมากขึ้น นอกจากจะปลูกไว้รับประทานในครัวเรือน ชาวบ้านยังสามารถนำไปขายตามตลาดนัดในชุมชนโดยขายเป็นกำหรือเป็นกิโลกรัม สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
ความต้องการที่สูงขึ้น และจำนวนผู้บริโภคมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะจังหวัดระนองหรือพื้นที่ภาคใต้ แต่ในปัจจุบันผักเหลียงเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า สะตอ ที่ขึ้นชื่อของภาคใต้ ทำให้การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผักเหลียงประเภทต่าง ๆ เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรบ้านบางสีกิ้ม ที่ได้รับการขนานนามว่า ผักเหลียง มีรสชาติดีที่สุดของจังหวัดระนอง ทำให้การสร้างมูลค่าของผักเหลียง สามารถทำได้หลากหลายชนิด ทั้งการขายโดยตรงการแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ และการขยายต้นพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ
กระบวนการการวิจัยของชุมชนบางสีกิ้ม พบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 2 แนวทางที่สำคัญคือ การเพาะขยายพันธุ์ต้น ผักเหลียงเพื่อจำหน่าย และการแปรรูปผักเหลียงเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผักเหลียงให้เกิดขึ้นในชุมชนบ้านบางสีกิ้ม
สุวลี หนูทอง (2560). โครงการศึกษาคุณค่า มูลค่า และการใช้ประโยชน์จากผักเหลียงเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน บ้านบางสีกิ้ม หมู่ที่ 4 ตำบลทรายแดง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ผักเหลียง บ้านบางสีกิ้ม ระนอง. [Facebook]. https://www.facebook.com/VegetaLiang