บ้านปางกิ่วเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นผ่านการรักษาขนบการประกอบพิธีกรรมศพและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมบ้านวาวีหรือปางกิ่วมีชื่อเดิมว่า บ้านหวะวี เป็นภาษามูเซอ แปลว่าป่าของหนู
บ้านปางกิ่วเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นผ่านการรักษาขนบการประกอบพิธีกรรมศพและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านปางกิ่ว ตั้งอยู่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายเป็นตำบลที่มีราษฎรหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอาศัย มีการตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 แต่เดิมบ้านวาวีมีชื่อเดิมว่า บ้านหวะวี เป็นภาษามูเซอ แปลว่าป่าของหนู เริ่มแรกเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งมีชาวเขาเผ่ามูเซอร์ และเผ่าเมี่ยนอาศัยอยู่ ซึ่งมีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2490 นายนุ สุมา ซึ่งเป็นพ่อค้าวัว ได้เข้ามาบุกเบิกให้ชาวบ้าน ทำเมี่ยงและชาหมัก และได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อาข่า และจีนฮ่อ เริ่มทยอยเข้ามาอาศัยอยู่รวมกลุ่มกัน จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 ได้มีบริษัทชาจาก กทม. (ใบชาตราสามม้า) เข้ามาชักจูงให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการปลูกเมี่ยงมาเป็นการปลูกชาแทน ทำให้ชาวบ้านวาวีเจริญเป็นหมู่บ้านใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ในหมู่บ้านมีกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนตั้งถิ่นฐาน โดยมีการตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่มานานพอสมควร ไม่ทราบระยะเวลาที่แน่ชัด แต่ก่อนที่จะย้ายมาอยู่เมี่ยนนั้นมีถิ่นเดิมที่ประเทศจีน แต่ด้วยการถูกรุกรานจาก ชาวจีนจึงส่งผลให้บรรพบุรุษของเมี่ยนต้องอพยพเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ของประเทศจีน โดยใช้เส้นทางประเทศพม่า ชาวเมี่ยนนั้นกระจายอยู่ตามภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่านเป็นต้น และเมี่ยนส่วนหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่หมู่บ้านปางกิ่ว ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกว่าเมี่ยนอพยพมาจากประเทศจีนนั้นคือ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีความคล้ายกับวัฒนธรรมจีน
กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในชุมชน ได้แก่ กลุ่มเมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยน
อิ้วเมี่ยนวิถีชีวิตของเมี่ยนนั้นมีความเรียบง่าย อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่การใช้ชีวิตประจำวันของเมี่ยนก็ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วชาวเมี่ยนจะประกอบอาชีพทางการเกษตร การเกษตรกรรมที่ปลูกกันนั้นได้แก่ ชาพันธุ์อัสสัม ชาอู่หลงและชาชิงชิง กาแฟ สวนส้มสวนลิ้นจี่ ถั่วข้าวโพด นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี แตงฟักทอง บวบ มะเขือจีน เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หากมีจำนวนมากก็นำไปขาย การปลูกผักดังกล่าวนี้นิยมปลูกบริเวณรอยต่อของตีนเขาเพราะเป็นที่ลุ่มน้ำและใกล้ร่องน้ำไหลดินชุ่มชื้นและมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ทำการเกษตรนั้นเป็นที่อยู่ของราษฎรยังไม่มีเอกสารสิทธ์ที่ดิน ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ชาวเมี่ยนนิยมเลี้ยงหมูและไก่เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้นิยมใช้เป็นอาหารและนำมาใช้ในประเพณีพิธีกรรม เช่น การเลี้ยง แต่เดิมมีการเลี้ยงแบบปล่อย ปัจจุบันบางครัวเรือนเลี้ยงเป็นระเบียบมากขึ้น คือ ทำคอกหมูหรือเล้าไก่เพื่อลดปัญหาที่สัตว์เลี้ยงต้องไปคุ้ยเขี่ยพืชไร่ต่าง ๆ
นอกจากอาชีพทางการเกษตรแล้ว ชาวเมี่ยนยังมีอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น ค้าขาย ในชุมชนเขตท่องเที่ยวชาวเมี่ยนจะประกอบอาชีพค้าขายมากกว่าในเขตชุมชนที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว สินค้าที่ขายได้แก่ เสื้อผ้า ลายปัก เครื่องประดับ ทั้งที่เป็นของที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองและรับมาจากหมู่บ้านอื่น ๆ ชาวเมี่ยนนิยมใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงินในหมู่ชนชาวเมี่ยนมีช่างทำเครื่องประดับตามวัฒนธรรมและค่านิยมของเมี่ยนเอง
พิธีกรรมและความเชื่อเรื่องศพของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
พิธีกรรมศพเมื่อญาติของผู้เสียชีวิตแน่ใจแล้วว่าผู้เสียชีวิตนั้นหมดลมหายใจก็จะมีการยิงปืนขึ้นบนฟ้า 3 นัด เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านทราบว่าตอนนี้มีคนตายไม่ว่าจะตายด้วยสาเหตุใดก็ตามจะต้องมีการจัดพิธีกรรมไว้ที่บ้านเท่านั้น และชาวบ้านจะหยุดการทำไร่ทำนาและจะส่งผู้ช่วยจัดงานบ้านละ 1 คนแล้วบรรดาญาติมิตรก็ประชุมกันเพื่อจัดงานศพเตรียมเงินกงเต็ก (เงินผีหรือกระดาษ) และคนในบ้านจะส่งผู้ใหญ่ 1 คนเพื่อหาผู้ประกอบพิธีกรรมมาประกอบพิธีกรรมศพ ซึ่งผู้ที่จะประกอบพิธีนั้นจะต้องอ่านภาษาจีนออก เมื่อหาผู้ประกอบพิธีกรรมได้แล้ว ผู้ประกอบพิธีก็จะหาคนมาทำโลงศพ แต่คนทำโลงศพจะต้องบอกผู้ตายให้ทราบว่าจะไปทำอะไร และขอให้ผีช่วยในการเลือกไม้มาโลงศพ แต่ก่อนที่จะบรรจุศพผู้ประกอบพิธีจะทำการไล่ผีป่าก่อน เชื่อกันว่าในไม้นั้นมีผีป่าอาศัยอยู่ และเมื่อทำการไล่ผีเสร็จก็ตัดกระดาษสีทำเป็นลวดลายมาติดกับโลงศพให้สวยงาม
พิธีบรรจุโลงศพ ชาวเมี่ยนจะถือว่าเอาศพไปไวในโลงก็เหมือนคนตายได้ย้ายเข้าบ้านใหม่แต่ก่อนจะย้ายคนตายเข้าโลงก็จะมีพิธีป้อนข้าว ป้อนน้ำ ศพก่อนที่จะแต่งตัวศพให้ดูดีใส่ชุดสีขาวให้เรียบร้อย เรื่องชุดที่ใส่ก็มีเคล็ดอีกคือจะไม่ให้มีกระเป๋าไปกับคนตาย คือต้องเย็บกระเป๋าทุกใบในเสื้อและกางเกงเพราะถือว่าถ้ามีไว้ก็จะเอาโชคลาภไปด้วยไม่เหลือให้ลูกหลาน จากนั้นก็ทำพิธีย้ายศพเข้าโลง ก่อนอื่นก็ต้องไหว้เจ้าที่ก่อน โดยทำการจุดธูปบอกเสร็จแล้วก็ไปทำพิธียกผู้ตาย ถ้าผู้ตายเป็นผู้อาวุโสก็ไปยืนตรงศีรษะของผู้คนตายแล้วเอามือช้อนไหล่พร้อมบอกว่าอุ้มเรามาแต่เล็กจนเติบโต เราอุ้มตอบแทนแล้วนะ ก็ให้ญาติทุกคนทำเรียงต่อกัน จากนั้นผู้ทำพิธีกรรมและญาติที่เป็นผู้ชายก็จะยกร่างลงบรรจุโลง จัดเรียงกระดาษเงิน กระดาษทอง เสื้อผ้าข้าวของจนเต็มโลง จากนั้นก็ปิดฝาโลง ผู้ทำพิธีก็จะกล่าวเป็นภาษาจีนพร้อมกับตอกตะปู จากนั้นพอบรรจุเสร็จก็จะเคลื่อนมาวางไว้ในบ้านของคนตาย ซึ่งในการวางโลงศพจะต้องวางให้ตรงกับหน้าประตู
การประกอบพิธีกรรมศพ
ทุกเช้าจะต้องมีการวางไก่ ข้าว สบู่ ผ้าขนหนูไว้หน้าโลงศพเหมือนให้ผู้ตายได้มาล้างหน้าแปรงฟันจากนั้นก็ต้องตั้งอาหารเช้าและอาหารเที่ยงไว้ที่หน้าโลงศพ ซึ่งจะทำแบบนี้ตลอดจนจบพิธีกรรมและช่วงกลางวันก็ช่วยกันพับกระดาษเงิน กระดาษทอง พอกลางคืนแขกเริ่มทยอยมา ทางเจ้าภาพก็จะใส่ชุดสีขาวและผ้าผูกหัว เพื่อแสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์และเป็นการชี้ว่านี้แหละคือญาติของผู้ตายต่อมาพิธีกรรมเริ่มจากผู้ประกอบพิธีจัดเตรียม โต๊ะ ข้าว ของเซ่นไหว้ญาติของผู้ตายจะใส่ผ้าขาวและผ้าผูกหัว ความหมายของชุดก็คือผ้าที่ถูกแสดงถึงการไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย พอผู้ตายไปแล้วชีวิตก็ขาดสีสัน บันเทิง จากนั้นพอลูกหลานพร้อมกับผู้ประกอบพิธีก็จะเริ่มสวดมนต์แล้วก็อัญเชิญเหล่าผีบรรพบุรุษ เทวดา มาสถิต มาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นผู้ประกอบพิธีก็จะอ่านชื่อคนตาย ชื่อสถานที่ ชื่อของญาติผู้ตายเป็นภาษาจีนในช่วงระหว่างพิธีสวดมนต์ หลังจากที่ผู้ประกอบพิธีอ่านเอกสารที่เรียกว่า “สือบุ่ง” (ฎีกา) ที่ระบุชื่อผู้ตาย ที่อยู่บ้านเลขที่ ซอย ถนน เวลาเกิด เวลาเสียชีวิตของผู้ตาย และชื่อของบรรดาลูกหลาน และระบุว่า ในขณะนี้กำลังจะประกอบพิธีที่ไหน เวลาไหนแล้วก็นำเอา “สือบุ่ง”นั้นมาใส่ที่กงเต็กพร้อมด้วยการทำพิธีที่กงเต็กผู้ประกอบพิธีจะเอาธูป 3 ดอกและเทียน 1 เล่มจากนั้นผู้ประกอบพิธีสั่งให้ญาติของผู้ตายยกกงเต็กขึ้นเพื่อนำไปเผา ระหว่างพิธีการนำกงเต็กไปเผานั้นผู้ประกอบพิธีก็ยังคงสวดมนต์อยู่การสวดมนต์ก็เหมือนส่งข่าวไปทางกงเต็ก ว่าคนชื่อนี้ นามสกุลนี้เสียชีวิตแล้ว หลังจากสวดมนต์เสร็จก็พาญาติของผู้ตายมายัง โต๊ะไหว้ผู้ตายเพื่อทำพิธีสวดมนต์อัญเชิญวิญญาณของผู้ตายให้มาร่วมพิธีในระหว่างที่สวดมนต์
หลังจากนั้น ญาติของผู้ตายก็จะนำบรรดาของไหว้มาไว้หน้าโลงศพ
- ข้าว 1 ถ้วยพร้อมตะเกียบ 1 คู่
- เหล้า 1 แก้ว
- น้ำชา 1 แก้ว
- กับข้าว 3 อย่าง
- ไก่และหมูอย่างละ 1 ตัว
การทำโลงศพและการเผาศพ เมี่ยนจะใช้ไม้ทั้งท่องเจาะเป็นโลงเสร็จแล้วก็ช่วยกันยกมาที่บ้านผู้ตายโดยห้ามผ่านหน้าบ้านคนอื่น ก่อนบรรจุศพ ผู้ประกอบพิธีจะทำการไล่ผีและตัดกระดาษสีทำเป็นลวดลายมาติดกับโลงให้สวยงาม จึงบรรจุศพลงไปและยิงปืนอีก 3 นัดก่อนปิดฝาโลง
จากนั้นชาวบ้านก็จะนำสิ่งของมาช่วย แล้วมีการแห่ศพด้วยดนตรีปี่ กลอง ฉาบ และฆ้อง เมื่อขบวนแห่เริ่มขึ้นก็จะยิงปืนขึ้น 3 นัด ผู้ประกอบพิธีจะมีรูปผีมาแขวนก่อนทำพิธีทั้งกลางวันและกลางคืน มีการร่ายรำต่อหน้ารูปผีโดยพวกที่รำจะเอาเครื่องแต่งตัวของหมอผีมาใส่ เมื่อถึงวันเผาศพ จะมีการผูกผ้าขาวกับปลายไม้ไผ่เอาไว้หน้าบ้านให้ส่วนปลายผ้าเข้าไปในบ้าน ตามความเชื่อที่ว่าให้วิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ตามผ้าขาวนั้นในวันเผาศพผู้ประกอบพิธีจะทำพิธีกรรมมากขึ้น และรดน้ำมนต์ให้กับคนที่จะไปเผาศพหากใครไม่ทำจะไปเผาศพไม่ได้ เพราะมีความเชื่อว่ารดน้ำมนต์แล้ว ผีจะมองไม่เห็นตัวและนำฟางที่หมอผีทำพิธีแล้วมาแจกให้ผูกติดข้อมือหรือข้อเท้าก็ได้ เพื่อมีให้ขวัญหนีไปกับคนตาย
ก่อนจะนำศพออกจากบ้านก็จะให้บรรดาลูกหลานลอดโลงศพเพื่อแสดงความเคารพรัก และอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อนำศพออกจากบ้านแล้ว หมอผีจะทำพิธีไล่ผีในบ้านโดยใช้มีดเคาะไปตามที่ ต่าง ๆ ของบ้านพวกแห่ก็จะแห่ตามหลังไป 3 รอบเมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จึงหามไปที่เตรียมไว้สำหรับเผาศพขณะที่ผู้ประกอบพิธีเดินนำหน้าขบวนศพชาวบ้านจะยิงปืนนำหน้าศพไปด้วยเมื่อวางศพ ลงบนที่เผาก็จะเปิดฝาโลง นำไก่ไปลอดฝาโลงให้ลูกหลานนำกลับไปบ้าน จากนั้นก็จะทำพิธีเผาศพ ในการเผาศพผู้ประกอบพิธีจะทำพิธีและจุดไฟเผาศพโดยหันหลังให้กับโลงศพ จุดไฟทางปลายเท้าของศพ เมื่อไฟลุกก็พากันกลับบ้าน
ขณะที่เดินกลับบ้าน ตลอดทางผู้ประกอบพิธีจะหักกิ่งไม้มาปักกลางทางเพื่อเป็นการสะกดไม่ให้วิญญาณผู้ตายกลับมาบ้านอีก เมื่อทุกคนที่ไปเผาศพแล้วจะต้องไปบ้านงานศพก่อน เพื่อล้างมือล้างเท้า ก่อนจะเข้าบ้านญาติผู้ตายจะฆ่าหมูเลี้ยงแขก เมื่อเสร็จพิธีแล้วทุกคนจะกินข้าวร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน
การไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย ญาติและลูกหลานจะไว้ทุกข์จนกว่าจะหาวันทำบุญให้กับผู้ตายได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะนานถึง 1-3 เดือน เมื่อนำผ้าขาวที่ไว้ทุกข์ออก จะต้องให้ผู้ประกอบพิธีเอาออกให้ และห้ามลูก ๆ ยิงปืนประมาณ 1ปี หลังเผาศพ หรือแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้านว่าจะนานแค่ไหนชาวเมี่ยนมีความเชื่อว่าหากไปยิงปืนก่อนกำหนดก็จะทำให้ปลูกอะไรไม่ได้ผลเลยทุก ๆ ปี ดังนั้นพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวเมี่ยนในปัจจุบันพวกเขาก็ยังยึดถือกันอย่างมั่นคงตลอดมา
ธรรมเนียมการกราบศพ
กราบศพแบบกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน (แบบจีน)
- กราบ 4 ครั้ง แบบแบมือ คือการกราบพ่อแม่ มีความเชื่อว่าถ้ากราบ 4 ครั้ง แล้วลูกหลานจะโชคดีทุกเวลา
- กราบแบบคุกเข่า โดยเอามือจับหัวเข่าแล้วก้ม คำนับ 3 ครั้ง (กรณีผู้ตายมีอายุมากกว่า)
- ยืนคำนับ โดยการเอามือไว้ข้างลำตัวแล้วโน้มตัว คำนับ 3 ครั้ง (กรณีผู้ตายมีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากัน)
พิธีกรรมการข้ามสะพานกงเต็ก
พิธีกรรมข้ามสะพานของลูกหลาน คือการที่ผู้ประกอบพิธีพาดวงวิญญาณมาส่งยังเขตแดนสวรรค์ โดยมีลูกหลานตามมาส่งด้วย ส่งเสร็จก็ข้ามกลับโดยทุกครั้งที่ข้ามสะพานลูกหลานทุกคนต้องโยนเหรียญสตางค์ลงในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ ประหนึ่งเป็นการสอนให้ลูกหลาน รู้ว่าเงินทองไม่สามารถนำติดตัวไปได้ การข้ามสะพานแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงข้ามไปและช่วงข้ามกลับ ช่วงแรกจะเป็นการพาดวงวิญญาณข้ามไปส่งแดนสวรรค์ เมื่อข้ามไปถึงผู้ประกอบพิธีจะหยุดขบวน มีการจุด ธูป 3 ดอกให้ญาติที่เป็นผู้ชายไหว้ เพื่อเป็นการไหว้พระพุทธแทนตัวผู้ตายสวนทางกับขาไป ข้ามไปกี่รอบก็ต้องข้ามกลับจำนวนรอบเท่าเดิม
เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีกรรมศพของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
วัตถุที่ใช้ในการประกอบพิธีนั้นมีจำนวนมาก เมื่อจัดเรียงวัตถุต่าง ๆ วัตถุเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการใช้ประกอบพิธีกรรมศพ โดยประกอบไปด้วยวัตถุดังนี้ หนังสือในการประกอบพิธี โลงศพ กระดาษสา กระดาษเงินกระดาษทอง กระถางธูป โดยวัตถุเหล่านี้จะเริ่มใช้ประกอบตั้งการจัดเตรียมการประกอบพิธีบูชาศพ และเริ่มเข้ามาใช้ประกอบพร้อม ๆ กับการบูชาศพ
- กระดาษเงิน กระดาษทองเป็นเครื่องเซ่นไหว้ที่สำคัญโดยจะเผาไปให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในโลกหน้า ซึ่งจะเป็นพิธีกรรมที่มีลักษณะเหมือนกันกับชาวจีน ทำขึ้นจากกระดาษขาวพับเป็นรูปเงินแบบชาวจีนโบราณ
- จั๋ว จะใช้เป็นเครื่องมือที่สื่อสารกับผู้ตายอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าจั๋วคว่ำแสดงว่าผู้ตายรับรู้ แต่ถ้าสลับกันแปลว่าผู้ตายยังไม่รับรู้
- กระดาษสา กระดาษถือเป็นเครื่องบูชาศพ เชื่อว่ากระดาษสาก็คือ เงินที่ให้คนตายนำไปใช้ โดยกระดาษสานี้จะถูกพับและตัดใช้เหล็กที่มาทับใส่กระดาษสาให้มีลวดลายที่สวยงาม โดยจะไว้ที่หน้าโลงศพ
- โลงศพ โลงศพถือเป็นเครื่องประกอบพิธีที่สำคัญเพราะโลงศพนั้นใช้เพื่อการบรรจุศพและเครื่องใช้ของผู้ตายและโลงศพสามารถที่จะเก็บกลิ่นและสภาพศพที่ไม่น่าดูไว้ การเก็บศพไว้ในโลงสามารถไว้ได้ประมาณ 3-7 วัน
- หนังสือ หนังสือใช้ในการประกอบพิธีกรรมจะเป็นภาษาจีนทั้งหมด แล้วผู้ประกอบพิธีจะต้องอ่านและเขียนภาษาจีนออก
- กระถางจุดธูป กระถางจุดธูปมีการนำธูปมาจุดไหว้บรรพบุรุษ เหมือนการจุดธูปเรียกบรรพบุรุษลงมาร่วมพิธีกรรมศพ ซึ่งกระถางธูปนี้จะต้องเอาไว้ที่หน้าบ้านผู้ตายกระถางธูปจะอยู่ในพิธีกรรมศพตลอดเวลา
- ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษของผู้ตาย ของไหว้ประกอบด้วย ข้าวสวยและตะเกียบ (โดยตะเกียบจะต้องปักไว้ที่ข้าว) เหล้าขาว 1 ขวด น้ำชา 1 แก้ว กับข้าว 5 อย่าง ผลไม้ 5 อย่าง ส้ม ขนม โดยที่ปักธูปที่ 1 วางกลาง คือชุดปักธูปไหว้อากง-อาม่า หรือบิดามารดาที่เสียไปแล้ว ปักธูปชุดที่ 2 ตั้งทางซ้ายเป็นชุดปักธูปไหว้พี่น้องหรือเพื่อนที่เสียไปแล้ว ชาวเมี่ยนจะผูกพันและให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษมาก ดังนั้นเมื่อมีคนในครอบครัวตายก็จะต้องจุดธูปบอกข่าวผีบรรพบุรุษให้รับทราบ เผื่อได้ไปเจอกันและอุทิศส่วนกุศลไปให้ ขั้นตอนนี้ผู้ประกอบพิธีจะสวดมนต์เป็นภาษาจีน จนถึงตอนที่ญาติของผู้ตายต้องทำการไหว้ อาหารให้บรรพบุรุษเมื่อไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจำนวนหีบเสื้อผ้านั้น จะไม่ถูกกำเนิดไว้ตามตัวถ้าเป็นคนในตระกูลอื่นก็จะไม่ไหว้และไม่ฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ แต่ถ้าบ้านไหนรู้สึกผูกพันอยากไหว้ ก็ไม่ใช่ว่าผิด แต่การไหว้หีบเสื้อผ้าให้ก็ต้องเสียสตางค์
เครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมงานศพ
- เขาควาย ซึ่งใช้ในการสื่อสารกับผู้ตายและเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่ใช้ในพิธีกรรมศพ และการจะเป่าเขาควายนั้นจะต้องเป็นผู้ประกอบพิธีเท่านั้น โดยเป็นเครื่องนำดวงวิญญาณของผู้ตายไป
- กลองหรือโย๋ เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้เฉพาะพิธีกรรมที่สำคัญ และใช้ในพิธีกรรมศพ เมื่อมีคนตายก็จะนำกลองนี้ออกมาใช้ และกลองนี้เมื่อทำพิธีกรรมเสร็จก็ต้องทำลายทิ้งไปห้ามเก็บไว้
การเก็บรักษาเครื่องแต่งกายสำหรับผู้เสียชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
ชาวเมี่ยนมีการเก็บรักษาชุดแต่งกายสำหรับผู้เสียชีวิตหลังจากที่ทำชุดเสร็จแล้วทุกขั้นตอน ผู้ที่ต้องเก็บรักษาไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นใคร การเก็บรักษาชุดจะเก็บไว้ในตู้มิดชิดป้องกันแมลงเข้ามากกัดกินเสื้อผ้า วิธีการเก็บเสื้อ กางเกง หมวก ผ้าปิดหน้ากางเกงและกระโปรง มีทั้งการพับแขวนไว้ในตู้นอน เมื่อถึงเวลาถ้าเจ้าของชุดผู้ตายก็นำมาสวมให้ ชุดนี้ก็จะถูกฝังถูกย่อมสลายไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต
การแต่งกายของผู้ประกอบพิธีกรรม
- ผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นจะมีชุดประจำของการประกอบพิธีกรรมศพโดยเฉพาะ ชุดจะเป็นชุดลวด และมีหมวกเป็นลวดลายการปักของชาวเมี่ยน
- การแต่งตัวของญาติผู้ตาย นั้นจะใส่เป็นชุดขาว ไม่เคร่งครัดว่าต้องใส่ตลอดเวลาแต่จะต้องผูกผ้า สีขาวไว้บอกหัวตลอดเวลาในการประกอบพิธีกรรม แสดงถึงการไว้ทุกข์
- การแต่งตัวของผู้เข้าร่วมพิธีกรรมศพ ห้ามใส่ชุดสีแดงทั้งตัว เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติผู้ตาย
บทบาทของผู้ประกอบพิธี, ญาติของผู้ตาย, ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมศพของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
บทบาทผู้ประกอบพิธีกรรมศพ
ผู้ประกอบพิธีกรรมศพหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หมอผี ผู้ประกอบพิธีกรรมศพจะมีอยู่ 1-3 คนและมีหน้าที่คือการสวดมนตร์เพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายได้ไปสู่สุคติหรือนำพาดวงวิญญาณผู้ตายได้ไปพบกับบรรพบุรุษ และผู้ประกอบพิธีนั้นจะต้องอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นและจะต้องอ่านเขียนภาษาจีนออกและการที่จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมได้ต้องผ่านการเรียนเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การบวช การเรียกขวัญเป็นต้นซึ่งจะเรียนจากผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านพิธีกรรมที่ จังหวัดแม่สายหรือประเทศพม่า แล้วก็ต้องมาศึกษาเองโดยการพึ่งตำราจีน
บทบาทของญาติผู้ตาย
บทบาทของญาตินั้นมีหน้าที่รับแขกที่มาร่วมงานศพและต้องจัดเตรียมงานให้เรียบร้อยและจัดหาวัตถุเพื่อที่จะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ญาติของผู้ตายจะต้องดูแลนั่งเฝ้าศพทั้งวันทั้งคือโดยการเปลี่ยนคนเฝ้าไปทีละ 1-2 คน โดยจะนำลูกหลานมานั่งล้อมรอบศพและมีการนำไม้กวาดมาปัดเป่ารอบ ๆ โลงศพเพื่อไม่ให้แมลงหรือยุงมารบกวนศพและเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงข้ามโลงศพได้ และทุกครั้งที่จะรับประทานอาหารต้องทำความเคารพศพก่อนทุกครั้งเพื่อเป็นการเรียกผู้ตายออกมารับประทานอาหารที่เตรียมไว้ให้หน้าโลงศพ
บทบาทของผู้เข้าร่วมพิธีกรรมศพ
บทบาทของผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรมศพนั้นสิ่งแรกคือการห้ามใส่เสื้อผ้าสีแดงมาร่วมงานศพแต่ผู้สูงอายุส่วนมากจะใส่ชุดประจำเผ่าเมี่ยนมาร่วมงานศพถือว่าเป็นที่ให้เกียรติผู้ตายและญาติของผู้ตายแต่ละครอบครัวก็จะส่งสมาชิก 1 คนมาช่วยงานศพไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีหน้าที่คือการจัดเตรียมอาหารส่วนผู้ชายก็จะช่วยเหลือในด้านยกโต๊ะ ฆ่าสัตว์ที่จะใช้ในการประกอบพิธีกรรมศพ
ภาษาเมี่ยนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาม้ง ภาษาเขียน เมี่ยนได้รับอิทธิพลจากจีน เป็นคำเดียวโดด ๆ ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง เมี่ยนที่อยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยเหนือหรือคำเมือง บางคนพูดภาษาไทยกลาง คนที่มีอายุพูดภาษาจีนกลางและจีนฮ่อได้
ความเชื่อพิธีกรรมศพของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
ความเชื่อพิธีกรรมศพนั้นถึงแม้จะมองไม่เห็นหรือพิสูจน์ไม่ได้ แต่กลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนมีความเชื่อเหมือนกัน เช่น ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ความเชื่อนี้ได้ผ่านการยอมรับในกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน เชื่อว่าหลังจากการตายจะได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับบรรพบุรุษ ลักษณะการดำรงชีวิตหลังจากที่ตายก็คงไม่แตกต่างกับตอนที่มีชีวิตอยู่
ความเชื่อเรื่องการฆ่าสัตว์ของชาติพันธุ์เมี่ยน
ความเชื่อเรื่องการฆ่าสัตว์ในงานศพนั้นจะฆ่า ไก่ หมู เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายเองและดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาร่วมพิธีกรรมศพและการฆ่าสัตว์นั้นก็จะนำไปประกอบเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงแขกในงาน การฆ่าสัตว์จึงเป็นธรรมเนียมของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน
ความเชื่อเรื่องข้อห้ามต่าง ๆ ในพิธีกรรมศพของชาติพันธุ์เมี่ยน
ข้อห้ามด้านต่าง ๆ นั้นมีข้อกำหนดต่อความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมศพ ที่มีข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นก็เพื่อให้พิธีกรรมดำเนินไปได้ด้วยดี และถือว่าเป็นการให้เกียรติ แก่ผู้เสียชีวิตและญาติของผู้ตาย เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ไปสู่สุคติ
ความเชื่อเรื่องการนำศพเข้าหมู่บ้าน
ความเชื่อเรื่องการนำศพเข้าหมู่บ้านนั้นเป็นเรื่องที่ชาวเมี่ยนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะการที่จะนำศพเข้าหมู่บ้านนั้นถ้าจะนำเข้ามาจริง ๆ จะต้องอ้อมหลังหมู่บ้าน หรือ นำศพเข้าไปในป่าเพื่ออ้อมเข้าหมู่บ้านได้โดยไม่ผ่านหน้าหมู่บ้านหรือหน้าบ้านอื่น ๆ
โครงการหลวง. (2550). โครงการพัฒนาพื้นที่วาวี. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561. จาก https://www.hrdi.or th/public
จันทร์ศรี พนาพิพัฒน์สุข. (2561). พิธีกรรมศพของชาติพันธุ์เมี่ยน กรณีศึกษาหมู่บ้านปางกิ่วตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ณัฏฐวี ทศรฐ. (2540). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน. กรุงเทพฯ : สหธรรม.
สมัย สุทธิธรรม. (2541). เย้า. กรุงเทพฯ : เลิฟแอด์ลิพเพรส.