หมู่บ้านบุ่งกะแทว เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่งผลให้ภายในชุมชนมีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี
หมู่บ้านบุ่งกะแทว เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่งผลให้ภายในชุมชนมีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี
บ้านบุ่งกะแทว จังหวัดอุบลราชธานี นับว่าเป็นชุมชนที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากในพื้นที่ ทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวไทยอีสาน โดยการอพยพของผู้คนหลากชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านบุ่งกะแทว จังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีมูลเหตุสำคัญมาจากการลี้ภัยทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ
การอพยพของชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 มีชาวจีนอพยพเข้าสู่ภาคอีสานอย่างจริงจังในจังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี ส่วนมากเป็นชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนฮกเกี้ยน โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาในภาคอีสานของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2461-2474 นั้น ส่วนมากมาจากเมืองซัวเถา
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนามเหนือ-ใต้ ชาวเวียดนามจำนวนมากทำการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีภัยทางการเมืองเข้ามาอยู่ประเทศลาว เขมร และจังหวัดอุบลราชธานีของไทย รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานตามมาตราการควบคุมพื้นที่ชาวเวียดนามอพยพ ภายใต้การควบคุมของ กอ.รมน. และสำนักกิจการญวณอพยพ ชาวเวียดนามเหล่านี้ได้รับการดูแล จัดทำทะเบียนประวัติ การศึกษา สามารถผสมผสานกลมกลืนเข้าสู่สังคมไทย จนในที่สุดก็มีชาวเวียดนามจำนวนมากได้รับพิจารณาจากรัฐบาลไทยให้ได้รับสัญชาติไทย โดยมีชื่อเรียกว่า “ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม”
ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ปรากฏหลักฐานว่าชาวไต-ลาว มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามขยายอาณาเขตของไทยสู่ล้านช้าง และเพื่อลดกำลังพลชาวลาว ราชอาณาจักรไทยจึงได้ทำการกวาดต้อนชาวลาวให้ย้ายมาอาศัยอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง และส่วนหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่ภาคอีสานของไทยร่วมกับชาวไต-ลาว ที่อาศัยอยู่มาก่อน ขณะที่ชาวลาวบางกลุ่มก็อพยพเข้ามาในไทย ด้วยหลีกหนีลี้ภัยจากเจ้านายฝ่ายลาว ดังเหตุการณ์ความวุ่นวายในเวียงจันทน์เมื่อปี พ.ศ. 2245 เกิดการอพยพครั้งใหญ่ นำโดยเจ้าพระวอ พระตา เทครัวชาวลาวจำนวนมากมาก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยชาวลาวที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันคือชาวลาวเวียงหรือลาวเวียงจันทน์
ต่อมาเมื่อคณะมิชชันนารีและคริสตังได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บุ่งกะแทว และได้ริเริ่มภารกิจในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาให้กับชาวบ้านชุมชนบุ่งกะแทว โดยเริ่มจากการปลดปล่อยทาส ให้ความช่วยเหลือในฐานะของการเป็นหมอรักษาโรค สอนการประกอบอาชีพและวิทยาการใหม่ ๆ ให้การสงเคราะห์ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ฯลฯ ด้วยความช่วยเหลือดังกล่าวทำให้ประชาชนบุ่งกะแทวจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมกับคณะมิชชันนารี เมื่อมีคริสตังมากขึ้น คณะมิชชันนารีก็ได้จัดสรรที่ดินบุ่งกะแทวให้เป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นชุมชนคาทอลิกแห่งแรกในภาคอีสาน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา โดยชาวไทยอีสานที่เข้าร่วมกับคณะมิชชันนารีนี้ อาจเรียกว่า “กลุ่มชาวไทยอีสานที่นับถือศาสนาคริสต์”
สภาพแวดล้อม
พื้นที่ตั้งหมู่บ้านบุ่งกะแทว ในอดีตเป็นป่าบุ่งป่าแทวที่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ดังนั้นดินในพื้นที่จึงมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนดินร่วน นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณบุ่งกะแทวยังมีป่าทึบยาวเหยียดหลายกิโลเมตรทางทิศตะวันตกตามริมแม่น้ำมูล เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก บริเวณชายหมู่บ้านด้านที่ติดกับแม่น้ำจะมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ และถูกกัดเซาะจากกระแสน้ำจนกลายเป็นห้วย หนอง คลอง บึง มีต้นไม้ขึ้นรกรุงรังขวางทางเข้าออกหมู่บ้านและส่งกลิ่นเหม็น
สถานที่สำคัญ
โบสถ์โรมันคาทอลิก อาสนวิหารพระแม่นิรมล
หมู่บ้านบุ่งกะแทวในอดีตเป็นพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยป่ารกทึบยาวเหยียดตลอดแนว อีกทั้งยังมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ชายหมู่บ้านมีต้นไม้รกรุงรังกีดขวางเส้นทางการจราจรในหมู่บ้าน จึงทำให้เกิดกลิ่นเหม็นมากในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกปล่อยรกร้างไร้ประโยชน์ เมื่อคณะมิชชันนารีและคริสตังกลุ่มแรกได้เข้ามาจับจองที่ดินบริเวณหมู่บ้านบุ่งกะแทวแล้ว ก็ได้ถากถาง ทำความสะอาด สร้างที่พักอาศัย ที่ทำการเกษตรและสร้างโบสถ์หลังแรกขึ้น คือ “โบสถ์โรมันคาทอลิก อาสนวิหารพระแม่นิรมล” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนา จนกลายเป็นชุมชนคาทอลิกขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกในจังหวัดอุบลราชธานี การก่อตั้งวัดสุปัฏนาราวรวิหารนี้ เกิดด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์จะตั้งรากฐานธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน โดยมีพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลคนที่ 3 ได้อาราธนาพระภิกษุชาวอุบล 2 รูป ซึ่งเดิมทีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ออกไปสร้างวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีริม ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างเมืองกับชุมชนบุ่งกะแทว หลังสร้างเสร็จราว พ.ศ. 2396 ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดสุปัตน์” แปลว่า อาศรมของพระฤาษีชื่อดี ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สุปัฏน์” แปลว่า ท่าน้ำดี เพราะอยู่ในบริเวณท่าจอดเรือที่ดี พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความงดงามและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวพระอุโบสถมีการผสมผสานรูปแบบทางศิลปกรรมถึง 3 ชนชาติ อันเป็นผลงานการออกแบบของหลวงสถิตย์นิมานกาล (ชวน สุปิยพันธ์) นายช่างทางหลวงแผ่นดิน โดยส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะแบบเยอรมัน และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอมโบราณ นอกจากนี้ที่หน้าพระอุโบสถยังมีโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ได้ชมหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นจารึกถ้ำหมาไน ซึ่งเป็นจารึกสมัยขอมโบราณหรือทับหลัง ที่ว่ากันว่าเป็นทับหลังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
โรงเรียนพระกุมารอุบล
โรงเรียนพระกุมารอุบล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เป็นโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนี้ยังเปิดรับเลี้ยงเด็กบริบาลอีกด้วย
โรงเรียนอาเวมารีอา
โรงเรียนอาเวมารีอา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เป็นโรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนี้เปิดรับนักเรียนหญิงประจำด้วย ซึ่งจะมีนักเรียนหญิงประจำ 2 กลุ่ม คือ นักเรียนหญิงประจำเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวช (ซิสเตอร์) มีทั้งชาวพุทธและชาวคาทอลิก
โรงเรียนพระกุมารอุบล และโรงเรียนอาเวมารีอา ทั้งสองโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของโบสถ์คาทอลิก (อาสนวิหารพระแม่นิรมล) และอยู่ในความรับผิดชอบของเขตมิสซังอุบลราชธานี นอกจากจะให้บริการการศึกษาแก่เด็กในหมู่บ้านบุ่งกะแทวแล้ว ยังมีเด็กจากที่อื่นที่เป็นชาวพุทธมาเรียนที่นี่กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมดอีกด้วย
ประชากรของหมู่บ้านบุ่งกะแทวส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง (ไทยอีสาน) ถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 29 สืบเชื้อสายมาจากเวียดนาม (ไทยเชื้อสายเวียดนาม) และร้อยละ 1 สืบเชื้อสายมาจากชาวจีน (ไทยเชื้อสายจีน) เนื่องจากชุมชนบุ่งกะแทวเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่งผลให้วัฒนธรรมภายในชุมชนมีความหลากหลายตามไปด้วย จึงได้มีการจำแนกประชากรตามลักษณะทางวัฒนธรรมถึง 4 กลุ่ม (วัฒนธรรมย่อย) ประกอบด้วย ชาวไทยอีสานที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวไทยอีสานที่นับถือศาสนาคริสต์ ชาวไทยเวียดนามที่นับถือศาสนาพุทธ และชาวไทยเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์
จีน, เวียดนาม
ประชากรในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยทำนาแล้วเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางสำหรับบริโภคตลอดปี ปลูกผัก ข้าวโพด แตงกวา พืชผักสวนครัว เปิดร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านอาหาร โรงงานทำขนมจีน โรงงานผลิตเส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ โรงงานผลิตหมูยอ โรงงานผลิตอิฐแดง แหนม กุนเชียง นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้า ร้านเสริมสวย ร้านซ่อมรถ ปั๊มน้ำมัน บ้านเช่า และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย
โครงสร้างทางสังคม
หมู่บ้านบุ่งกะแทว เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองของเทศบาลนครอุบลราชธานี ฉะนั้นจึงไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวหน้าชุมชน แต่จะมีบาทหลวงเป็นผู้นำหรือหัวหน้าชุมชนด้านศาสนา โดยจะมีทะเบียนคาทอลิกที่มีลักษณะเหมือนทะเบียนราษฎร์อยู่ที่สำนักงานอธิการโบสถ์ เมื่อเด็กคาทอลิกเกิดก็จะมีการลงทะเบียนคาทอลิกไว้ โดยมีบาทหลวงเจ้าอาวาสโบสถ์เป็นนายทะเบียน และมีกรรมการสภาวัดซึ่งมาจากการคัดเลือกของบาทหลวง ทำหน้าที่ช่วยเหลือกิจการงานของโบสถ์ในช่วงเทศกาล ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ในชุมชนบุ่งกะแทวนั้นค่อนข้างที่จะแบ่งแยกชัดเจน ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ที่จะมีการคบค้าสมาคมเฉพาะกลุ่มคนเวียดนามด้วยกัน แต่กับคนเชื้อสายอื่น ชาวเวียดนามจะทำก็ต่อเมื่อเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายตนเท่านั้น
วิถีชีวิต
เนื่องจากหมู่บ้านบุ่งกะแทวเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม รูปแบบวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนจึงเกิดความหลากหลายตามไปด้วย เช่น สภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยอีสานหมู่บ้านบุ่งกะแทวในละแวกต่าง ๆ ในของพื้นที่ชุมชน จะเรียกเป็นคุ้ม เช่น คุ้มกกยางใหญ่ คุ้มบ้านแสนตอ คุ้มบ้านก่อ คุ้มกกแงวใหญ่ คุ้มกกยางหลุ่ม คุ้มบ้านดู่ คุ้มบ้านหนองแวง คุ้มบ้านบุ่งกะแทว ด้านอาหารการกินของชาวไทยอีสานมักจะรับประทานได้ทุกอย่าง โดยนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดัดแปลงรับประทานเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีความเรียบง่ายของชาวอีสาน ส่วนด้านการแต่งกาย สตรีไทยอีสานจะนุ่งผ้าซิ่นสั้นเพียงเข่า สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้ามวย และทัดดอกไม้ มีงานทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างจากงานอื่น ๆ ส่วนชายนุ่งกางเกงหรือโสร่ง สวมเสื้อ คาดผ้าขาวม้า
สำหรับชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ เทศกาลวันตรุษญวณ ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนของทุกปี แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและฝรั่งเศส เป็นเหตุให้รูปแบบสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมการกินจะมีลักษณะคล้ายกับวัฒนธรรมจีนและฝรั่งเศสอยู่บ้าง และเมื่ออพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ก็ส่งผลให้อิทธิพลของวัฒนธรรมในสังคมไทยแทรกซึมผสานร่วมกับวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามด้วยเช่นเดียวกัน
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
หมู่บ้านบุ่งกะแทว มีประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ประมาณ 3,700 คน โดยประชากรที่อาศัยในหมู่บ้าน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว เวียดนาม และจีน มีโบสถ์ชื่อ “อาสนวิหารพระแม่นิรมล” เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในทุกวัน โดยมีบาทหลวงเป็นผู้นำทางศาสนาของชุมชน เมื่อถึงเทศกาลงานประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ในรอบปี ชาวบ้านจะเดินทางไปร่วมงานที่โบสถ์อย่างพร้อมเพรียง ซึ่งจะมีเฉพาะชาวคาทอลิกเท่านั้น
วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมของชาวคาทอลิกในหมู่บ้าน จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีพิธีกรรมตามปฏิทินคาทอลิก และประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งจะอธิบายดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ประเพณีพิธีกรรมตามปฏิทินคาทอลิก เป็นประเพณีพิธีกรรมที่ยึดถือตามประกาศพระศาสนจักรที่สำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อให้มีการสมโภชประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก ซึ่งการสมโภชประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ตามปฏิทินในรอบปี มีดังนี้
1.1 พิธีกรรมถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณ (Mass Missa)
1.2 พิธีกรรมการฉลองวันอาทิตย์
1.3 พิธีกรรมสมโภชพระนางมารีอา
1.4 พิธีกรรมเดินรูป 14 ภาค
1.5 พิธีกรรมแห่ใบลาน
1.6 พิธีกรรมการเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
1.7 พิธีกรรมการเสกน้ำ เสกไฟ และเสกเทียน
1.8 พิธีกรรมการสมโภชปัสกา
1.9 พิธีกรรมการแห่ศีลมหาสนิท
1.10 ประเพณีสวดสายประคำตลอดทั้งเดือนตุลาคม
1.11 พิธีกรรมการเสกสุสาน
1.12 ประเพณีสมโภชวันคริสต์มาส
2. ประเพณีพิธีกรรมกับชีวิต เป็นประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวโรมันคาทอลิกทุกชาติทุกภาษา ซึ่งประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวโรมันคาทอลิกจะมีตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งตาย
ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) เป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิก เป็นเครื่องหมายภายนอกที่แสดงว่าบุคคลผู้ได้รับศีลนี้แล้วคือผู้นับถือศาสนาคริสต์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คริสตชน” ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญมีอยู่ 7 ศีล ดังต่อไปนี้
1. ศีลล้างบาป (Baptism)
2. ศีลมหาสนิท (Eucharistic: Communion)
3. ศีลอภัยบาป (Penance) หรือศีลแห่งการคืนดี
4. ศีลกำลัง (Confirmation)
5. ศีลสมรส (Matrimony) หรือศีลกล่าว
6. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
7. ศีลบวชพระสงฆ์ (Holy Orders)
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหมู่บ้านบุ่งกะแทวหาได้มีแต่เพียงผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนบางส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในช่วงเทศกาลผู้ที่นับถือศาสนาพุทธก็จะไปร่วมงานประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตชุมชนบุ่งกะแทวเช่นเดียวกัน โดยพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบุ่งกะแทว จะมีประเพณี พิธีกรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติทั้ง 12 เดือน หรือที่เรียกว่า “ฮีต 12 คอง 14”
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายจีน
ภาษาพูด : ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนฮกเกี้ยน และภาษาไทยกลาง
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเวียดนาม
ภาษาพูด : ภาษาเวียดนาม ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาเวียดนาม และภาษาไทยกลาง
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน
ภาษาพูด : ภาษาอีสานสำเนียงอุบลราชธานี และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
เนื่องจากหมู่บ้านบุ่งกะแทว เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ฉะนั้นแล้วการปรับตัวของผู้คนเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างปกติสุขจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจห้ามได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยอีสาน ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ก็ล้วนแล้วแต่ต้องปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในบางประการ ตามแต่การแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ทางสังคม เพื่อสามารถผสมกลมกลืนวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนให้เข้ากับวัฒนธรรมในสังคมไทย อาทิ ชาติพันธุ์เวียดนามบางกลุ่มเมื่อได้รับสัญชาติไทย มีการเปลี่ยนนามสกุลแบบเวียดนามมาเป็นนามสกุลแบบไทย แต่ยังคงรูปคำและความหมายของนามสกุลแบบเวียดนามเอาไว้ด้วย เพื่อให้ลูกหลานทราบและคงไว้ซึ่งความเป็นชาติพันธุ์เวียดนาม หรือจากเดิมที่บ้านเรือนของชาวเวียดนามจะเป็นบ้านชั้นเดียว แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมไทย ก็สร้างบ้านสองชั้นตามแบบฉบับการสร้างเรือนทรงไทยอีสาน หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมการกิน การแต่งกาย ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ ก็มีการปรับเปลี่ยน และผสมผสานให้เข้ากับสภาพสังคมไทย ทว่าการเปลี่ยนแปลง ผสมผสาน ของวัฒนธรรมระหว่างชาติพันธุ์เหล่านั้น หาใช่การเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง หากแต่คือการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ทางสังคม เพื่อให้เกิดการยอมรับและอยู่ร่วมกันได้ในสังคมหมู่มาก
รินรดา พันธ์น้อย. (2553). การดำรงอยู่และการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของประชาชนในสังคมพหุวัฒนธรรม: กรณีศึกษาชุมชนบุ่งกะแทว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). หอศิลปวัฒนธรรมวัดสุปัฏนารามวรวิหาร. [ออนไลน์]. ได้จาก: ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/954 [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].
อาสนวิหารพระแม่นิรมลอุบล. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.ubondiocese.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].