Advance search

บ้านตาล
ชุมชนบ้านตาลเป็นที่ตั้งของผาสิงห์เหลียว ผาเสาดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชุมชนที่วิวัฒนาการมายาวนานถึง 5,000 ปี
หมู่ที่ 1
บ้านตาล
ฮอด
เชียงใหม่
เทสบาลบ้านตาล โทร. 0-5303-1131
นันท์ชนก ดวงสุข
8 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านตาล
บ้านตาล

ตั้งชื่อตามลำห้วยแม่ตาลที่ไหลผ่านหมู่บ้าน


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านตาลเป็นที่ตั้งของผาสิงห์เหลียว ผาเสาดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชุมชนที่วิวัฒนาการมายาวนานถึง 5,000 ปี
หมู่ที่ 1
บ้านตาล
ฮอด
เชียงใหม่
50240
18.1095538
98.6885199
เทศบาลตำบลบ้านตาล

บ้านตาล เป็นหมู่บ้านใหญ่หมู่บ้านหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนหลังไปหลายร้อยปี เท่าที่มีการจดบันทึกไว้ในเอกสารใบลาน แม้จะมีการเคลื่อนย้ายไปบ้างในบางช่วงเวลา แต่ก็ยังปรากฏความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ บ้านตาลตั้งชื่อตามลำห้วยแม่ตาลที่ไหลผ่านหมู่บ้าน และเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต ประวัติความเป็นมาของบ้านตาลถูกจารึกไว้ในใบลานที่ค้นพบจากถ้ำแม่ยุย สถานที่ที่เคยเป็นที่ซ่อนทรัพย์สมบัติของชาวลัวะบ้านตาลเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ และไล่ชาวลัวะซึ่งตั้งบ้านเรือนและทำกินอยู่แถบนั้นออกไปจากพื้นที่ รวมถึงตำนานการสร้างเมืองฮอดของพระนางจามเทวีภายหลังชนะศึกขุนวิลังคะผู้ปกครองเวียงลัวะ ซึ่งหากสรุปประเด็นตามตามเอกสารอ้างอิงดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สามาถอธิบายได้ว่าชาวบ้านตาลบ้านคือกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่สืบเชื้อสายมาจากเวียงเจ็ดลิน โดยสันนิษฐานไว้ 2 กรณี คือ

  • ชาวบ้านตาลได้อพยพมาอยู่ก่อนหน้าขุนวิลังคะปกครองเวียงลัวะ หากเป็นตามที่กล่าวอ้าง ชนชาติลัวะกลุ่มนี้น่าจะเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้านตาลเมื่อประมาณ 1,300–1,500 ปีมาแล้ว

  • ชาวลัวะบ้านตาลได้มาตั้งรกรากอยู่เมื่อประมาณ 1,200–1,300 ปี เมื่อขุนวิลังคะทัพแตกในคราวที่สู้กับลูกชายของพระนางจามเทวี

จากเอกสารอ้างอิงเมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีได้มาถึงเมืองฮอด ได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้น และให้ได้อำมาตย์เอกชื่อ พญาแสนโท เป็นผู้ปกครอง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าพญาแสนโทกับบุคคลที่บันทึกในตำนานบ้านตาลที่มีชื่อว่า สุทโท อาจจะเป็นคนเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าชาวลัวะอาจเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านตาลตั้งแต่ก่อนหน้าที่พระนางจามเทวีจะมาสร้างเมืองฮอด 

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านตาลส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขา และที่ลาดเชิงเขาจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่หลายลูก เช่น ดอยผีเสื้อ ดอยสันคมพร้า ดอยมะหินฝังเงิน ดอยแหลมแม่เปิน และดอยแหลมแม่อาน สภาพของดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังซึ่งมีความสามารถในการดูดซับน้ำค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ชุมชนบ้านตาลประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร ซึ่งน้ำที่ชาวบ้านใช้สำหรับทำเกษตรกรรมเป็นน้ำที่ได้จากบ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดเจาะเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใน ทว่ายังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภค

ลักษณะสภาพภูมิอากาศ

ลักษณะสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชุมชนบ้านตาลแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม และฤดูร้อน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม

สถานที่สำคัญ

ผาสิงห์เหลียว

ผาสิงห์เหลียวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงประจำชุมชนบ้านตาล มีลักษณะเป็นเสาหินมีหมวกแข็ง สูงประมาณ 50 เมตร มีรูปร่างด้านบนสุดคล้ายสิงห์กำลังเหลียวอยู่ ผาสิงห์เหลียวแห่งนี้มีปรากฏเรื่องเล่าที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองฮอดว่าเป็น 1 ใน 4 สถานที่ซ่อนทรัพย์สมบัติเมืองฮอด

ผาสิงห์เหลียวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินจนเกิดเป็นรอยชั้นของหินสลับกันสวยงาม มีตำนานกล่าวว่าแม้กระทั่งพญาราชสีห์ยังต้องเหลียวมองงดงามของผาแห่งนี้ เสาดินที่ผาสิงห์เหลียวนั้นจะเป็นแบบเดียวกับที่แพะเมืองผี คือ เป็นดินลูกรัง เสาถูกยึดด้วยเนื้อดินเหนียวลูกรังปนกรวดหิน เสาดินที่ผาสิงห์เหลียวนั้นมีหลากหลายรูปร่าง รูปทรง ทำให้จินตนาการไปได้มากมาย ทั้งที่คล้ายกับกำแพงโรมันที่สูงร่วม 30 เมตร ทำเลที่ตั้งรายล้อมไปด้วยผืนป่าเต็งรัง จึงทำให้สวนเสาหินแห่งนี้ดูดีกว่าที่อื่น สามารถมองหน้าผาแห่งนี้จากมุมสูงได้ และช่วงฤดูฝนใบไม้ป่าไม้เริ่มผลิใบซึ่งช่วยขับให้สีของหน้าผาที่ตั้งตระหง่านตัดกับสีของใบไม้ที่ปกคลุมป่าผืนนี้อย่างชัดเจน

ชุมชนบ้านตาล ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านตาลเหนือ หมู่ที่ 3 บ้านตาลใต้ และหมู่ที่ 5 บ้านตาลกลาง โดยแต่ละหมู่มีจำนวนประชากรดังต่อไปนี้

  • หมู่ที่ 1 บ้านตาลเหนือ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 264 ครัวเรือน จำนวนประชากร 557 คน แยกเป็นประชากรชาย 272 คน และประชากรหญิง 285 คน
  • หมู่ที่ 3 บ้านตาลใต้ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 291 ครัวเรือน ประชากร 613 คน แยกเป็นประชากรชาย 310 คน และประชากรหญิง 303 คน
  • หมู่ที่ 5 บ้านตาลกลาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 150 ครัวเรือน ประชากร 313 คน แยกเป็นประชากรชาย 140 คน และประชากรหญิง 173 คน  

ลัวะ (ละเวือะ)

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนลำไย ทำนา ปลูกหอมแดง ทำไร่ แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไยอบแห้ง แต่เนื่องจากสภาพที่ดินเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งมีความสามารถในการดูดซับน้ำต่ำ ทำให้ชาวบ้านตาลประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ชาวบ้านต้องพึ่งพาน้ำฝน และขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะ

อาชีพรองลงมา คือ อุตสาหกรรมครัวเรือนการทำผ้าฝ้ายพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายพื้นเมืองทอมือด้วยกี่กระตุกของชาวบ้านตาล มีลักษณะเป็นผ้าผืนใหญ่ มีลวดลายหลากหลาย ย้อมด้วยสีธรรมชาติสวยงาม สามารถนำไปแปรรูปดัดแปลงได้หลากหลาย เช่น ผ้าพันคอ ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าตัดชุด เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายพื้นเมืองเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวชาวบ้านตาลได้อย่างดียิ่ง และยังเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ตำบลบ้านตาลในการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเป็นธุรกิจในครัวเรือนที่สามารถผลิตผ้าฝ้ายทอมือไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน ฯลฯ 

ชุมชนบ้านตาล ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีงานประเพณีพิธีกรรมและเทศกาลประจำชุมชนที่ชาวบ้านถือปฏิบัติสืบทอดกันมาต่อเนื่องยาวนาน ทั้งประเพณีทางพระพุทธศาสนา และประเพณีตามแบบแผนของชาวล้านนา ทั้งนี้จะยกตัวอย่างเพียงบางประเพณีเท่านั้น ดังนี้

  • ประเพณีลอยประทีปหรือเทศกาลลอยโคมยี่เป็ง เป็นงานประเพณีเก่าแก่ที่มีอายุย้อนไปถึงอาณาจักรล้านนาโบราณ (ปลายศตวรรษที่ 13) ในช่วงประเพณีลอยประทีป ชาวล้านนาจะจัดตกแต่งบ้านเรือนและที่พักอาศัยด้วยดอกไม้ ช่อประทีปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา และสร้างความรื่นเริงให้กับเทศกาล มีการปล่อยประทีปโคมลอยเพื่อขับไล่ความโชคร้าย ด้วยความเชื่อที่ว่า เปลวไฟในโคมลอยที่ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้านั้นเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรู้ ปัญญา และความปราดเปรื่อง” รวมถึงแสงสว่างจากประทีบจะช่วยนำทางชีวิตของผู้คนให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม และเจริญรุ่งเรือง

  • ประเพณีตานก๋วยสลากหรือสลากภัต เป็นประเพณีแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก คำว่า ตานก๋วยสลาก เป็นภาษาของชาวล้านนา หากเป็นภาษาไทยภาคกลางจะตรงกับคำว่า สลากภัต ประเพณีตานก๋วยสลากทางภาคเหนือนิยมจัดกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยมากแล้วชาวล้านนาจะจัดงานตานก๋วยสลากในช่วงที่ทำนาเสร็จแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ได้หยุดพักผ่อนว่างเว้นจากการทำนา พืชพันธ์ผลไม้ต่าง ๆ ก็ออกลูกออกผล พระสงฆ์ยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา กอปรกับ ข้าวที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในยุ้งฉางเริ่มหร่อยหรอ การจัดงานตานก๋วยสลากจึงเป็นการฝึกตนให้รู้จักการให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคราะห์คนยากคนจน ก่อนที่จะถึงวันงานตานก๋วยสลาก ทางภาคเหนือจะเรียกว่า วันดา หรือวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วนำมาจัดใส่ก๋วยสลาก (ชะลอมไม้ไผ่) ที่กรุด้วยใบตอง เมื่อใส่ของลงไปในก๋วยสลากแล้วก็จะมัดปากให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะเหลาไม้ไผ่เป็นก้านเล็ก ๆ สำหรับเป็นยอดก๋วยสลากเอาไว้สำหรับเสียบสตางค์ กล่องไม้ขีดไฟ หรือบุหรี่ มากน้อยตามฐานะและศรัทธา สมัยก่อนจะนำใบลานมาทำเป็นเส้นสลากแทนกระดาษสำหรับเขียนระบุไปว่าอุทิศตานก๋วยสลากให้กับใคร อาจเป็นบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงวันถวายตานก๋วยสลากก็จะนำตานก๋วยสลากไปรวมกันที่หน้าวิหารที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นก็จะนำเส้นสลากจากญาติโยมมาแจกแบ่งให้กับพระภิกษุแต่ละรูป แล้วอ่านเรียกชื่อเจ้าของสลากนั้น จากนั้นพระภิกษุที่ได้สลากของญาติโยมคนใดก็จะให้ศีลให้พรกับเจ้าของสลาก และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิธีลอยประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม เป็นพิธีกรรมที่มีขึ้นควบคู่กับประเพณีลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดีจึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้า โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสองตามการนับทางล้านนาที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง เดือน)

ดวงแก้ว นันต๊ะหม่น. พ่อหนานหมู่ 1 บ้านตาลเหนือ. (20 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

เทศบาลตำบลบ้านตาล. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://www.bantanlocal.go.th/ 

บ้านตาล. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: http://www.google.colm/maps/

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). ผาสิงห์เหลียว. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://naturalsite.onep.go.th/ 

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ประเพณีตานก๋วยสลาก. [ออนไลน์]สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://pinkanakorn.or.th/ 

สำนักพิมพ์ cjl. (2565). รอคอยมานานแล้ว ลอยกระทง เทศกาลลอยโคม ยี่เป็ง 2565 เชียงใหม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566. ได้จาก: https://th.trip.com/

เทสบาลบ้านตาล โทร. 0-5303-1131