
เมืองเก่าแก่ กาแฟโบราณ จักสานเตยปาหนัน สวรรค์ทุ่งทะเล พื้นเพคนดี ศรีขุนเกาะกลาง
บ้านร่าหมาด เพี้ยนมาจากคำว่า "กล้าหมาด" ภาษามลายู หมายถึง ศักดิ์สิทธิ์ ตำนานของหมู่บ้าน 2 เรื่อง เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า
1. เดิมบริเวณควนโต๊ะนะปากทางเข้าหมู่บ้าน มีศาล ซึ่งเป็นที่อาศัยของงูจงอางขนาดใหญ่คล้ายพญานาค เมื่อมีโจรหรือคณะกลอนรำมาในหมู่บ้าน หากออกจากหมู่บ้านงูใหญ่จะปรากฎตัวขวางทางไม่ให้ผ่านทาง คณะรำต้องรำถวายจึงสามารถออกจากหมู่บ้านได้
2. บริเวณคลองขุนสมุทรที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้านมีจระเข้เผือกอาศัยอยู่แต่ไม่ทำร้ายผู้คนชาวบ้านจึงกราบไหว้บนบานและประสบความสำเร็จทั้งหมู่บ้านและจระเข้จึงกลายเป็นศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นมา
จากตำนานทั้ง 2 เรื่อง กล้าหมาด หมายถึง ศักดิ์สิทธิ์ จึงเพี้ยนมาเป็น ร่าหมาด กระทั่งปัจจุบัน
เมืองเก่าแก่ กาแฟโบราณ จักสานเตยปาหนัน สวรรค์ทุ่งทะเล พื้นเพคนดี ศรีขุนเกาะกลาง
บ้านร่าหมาด ก่อตั้งมากว่า 250 ปี โดยผู้ที่บุกเบิกพื้นที่เป็นคนแรกชื่อ โต๊ะละไมจิ เพื่อต้องการเข้ามาทำนา เพราะพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ต่อมาได้ชักชวนเพื่อเข้ามาร่วมทำกินประกอบด้วย โต๊ะแบน สุภาพ โต๊ะใบอี๋ เกื้อกูล และโต๊ะเพ็ง อ่อนนวล ทั้งนี้เมื่อเข้ามาบุกเบิกทำกินและตั้งถิ่นฐานแล้วจึงมีการตั้งมัสยิดแห่งแรกของชุมชน โดยมีโต๊ะละไมจิ ผู้นำในการตั้งมัสยิด
พื้นที่บ้านร่าหมาด ติดกับทะเล ฉะนั้นในอดีตการสัญจรจึงใช้เรือเป็นหลัก หากต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ วิธีการและเส้นทางที่ใช้ต้องพายเรือไปที่ท่าเรือคลองพน อำเภอคลองท่อม จากนั้นจึงต่อรถโดยสารไปจังหวัดตรัง โดยใช้เวลาในการเดินทางไปและกลับ 2 วัน ซึ่งจำเป็นต้องค้างคืนที่ อำเภอคลองพนหรือจังหวัดตรัง 1 คืน จึงจะเดินทางกลับหมู่บ้าน
- ราว ปี พ.ศ. 2518 มีการสร้างสะพานคลองยางที่ตำบลคลองยางเพื่อติดต่อกับแผ่นดินใหญ่
- ราว ปี พ.ศ. 2519 มีการตัดถนนลูกรังผ่านเข้าหมู่บ้าน จากนั้นมาการสัญจรของชุมชนจึงมีความสะดวกยิ่งขึ้นทว่ายังมีการใช้เรือสัญจรอยู่บ้าง
- ปี พ.ศ. 2540 – 2542 มีการตัดถนนคอนกรีตและถนนลาดยางสู่หมู่บ้านจึงเปลี่ยนเป็นการสัญจรทางบก
ไฟฟ้าในชุมชน
- ก่อน ปี พ.ศ. 2532 สมาชิกชุมชนใช้ “ไต้” และ “ตะเกียงน้ำมันก๊าด” เพื่อให้แสงสว่าง ซึ่ง “ไต้” ได้มาจากยางของต้นยางนา นำมาผสมกับเปลือกต้นเสม็ดตากแห้งบดให้ละเอียด ห่อด้วยใบพ้อ ยาวราว 1 ศอก จุดไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่าง
น้ำประปาในชุมชน
- ปี พ.ศ. 2541 เริ่มมีใช้ในหมู่บ้านซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านใช้น้ำบ่อที่มีความลึก ประมาณ 6 -10 เมตร เพื่อการอุปโภคบริโภคแต่หลังจากมีน้ำถัง 20 ลิตร และตู้กดน้ำเข้ามาในหมู่บ้าน สมาชิกเริ่มใช้น้ำจากน้ำถังและตู้กดน้ำเพื่อการบริโภค
การศึกษาของเยาวชนในชุมชน
- ราว ปี พ.ศ. 2460 เริ่มมีการเรียนครั้งแรกโดยใช้พื้นที่ข้างมัสยิดก่อสร้างเป็นอาคารเรียนแบบง่าย ๆ ครูคนแรกชื่อ ครูอมร ละงู เป็นครูใหญ่คนแรกของบ้านร่าหมาด เปิดสอนถึงชั้น ป.4 ทว่าสภาพอาคารเรียนไม่แข็งแรงจึงไม่สามารถทนแดดทนฝน จากนั้นได้มีการขอบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนใหม่รองรับจำนวนนักเรียนในหมู่บ้าน ซึ่งสร้างสำเร็จใน ปี พ.ศ. 2500 ตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านร่าหมาด
- ราว ปี พ.ศ. 2517 มีการขยายจากชั้น ป.4 เป็น ชั้น ป.6 หลังจากจบชั้น ป.6 บางครอบครัวส่งเรียนต่อโรงเรียนสอนศาสนาหรือโรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนระดับมัธยมกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ด้านการสาธารณสุข
อดีตการเดินทางค่อนข้างลำบาก ฉะนั้นการเจ็บป่วยของสมาชิกในชุมชนจึงใช้ระบบการศึกษาแบบพื้นบ้าน โดยมีผู้รู้ด้านการใช้ยาสมุนไพรในชุมชนทำหน้าที่เป็นผู้ปรุงยา เช่น อาการท้องร่วงหรือท้องเสีย รักษาโดยนำยอดมะพร้าวมาเผาแล้วบิดเอาน้ำมาดื่มแก้ท้องร่วง
- ราว ปี พ.ศ. 2521 ก่อสร้างอนามัยแห่งแรกบริเวณ หมู่ที่ 1 บ้านร่าปู ห่างจากบ้านร่าหมาดราว 5 กิโลเมตร ซึ่งสมาชิกชุมชนไปใช้บริการอนามัยมากขึ้น แต่ความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ยังคงเป็นทางเลือกของสมาชิกชุมชนกระทั่งปัจจุบัน
ด้านเศรษฐกิจ
- ปี พ.ศ. 2450 สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนยางพาราผู้ที่นำยางพาราเข้ามาปลูกในหมู่บ้านคนแรก คือ นายโดบ ต้นวิชา โดยนำเม็ดยางพารามาจากจังหวัดตรัง แต่ยังไม่มีการแพร่หลายมากนักส่วนมากเป็นการปลูกบริเวณหน้าบ้านหรือบริเวณสวน
- ปี พ.ศ. 2500 มีการพัฒนาพันธุ์ยางพาราโดยวิธีการติดตา ยางพาราที่พัฒนามีคุณสมบัติต้านทานโรคได้ดีและน้ำยางเพิ่มขึ้นจากนั้นมาสมาชิกในชุมชนเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกยางโดยวิธีการจับจองพื้นที่
- ช่วง ปี พ.ศ. 2516 เริ่มส่งเสริมการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงเริ่มมีการบุกรุกถางป่าและบุกเบิกพื้นที่นาเพื่อปลูกยางพารา เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการตั้งกองทุนสงเคราะห์ยางพารา ทำให้เกิดการส่งเสริมให้ทุนส่งเสริมเงินทุนเพื่อปลูกยางพารา นอกจากยางพารา
- ราว พ.ศ. 2519 ปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจที่สมาชิกชุมชนปลูกมากในพื้นที่ โดยปาล์มน้ำมันเริ่มนำเข้ามาปลูกในหมู่บ้าน นำพันธุ์มาจากนิคมควนกาหลง จังหวัดตรัง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านลิกี หมู่ที่ 5
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านร่าปู หมู่ที่ 1 และ บ้านหัวหิน หมู่ที่ 8
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขุนสมุทร หมูที่ 10
พื้นที่ของบ้านร่าหมาดติดทะเล 2 ด้าน คือ ด้านทิศใต้ และ ทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ทั้งสองด้านติดกับ ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาชีพการประมงของชุมชน ทรัพยากรทางทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน อาทิ หอยอีโก่ง หอยชักตีน หอยท้ายเภา หอยเจดีย์ นอกจากป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและภูมิปัญญาด้านการใช้ยาสมุนไพรของชุมชน
ลักษณะทางกายภาพของบ้านร่าหมาด เป็นพื้นที่ราบและพื้นที่เนินเขาติดทะเลอันดามันด้านทิศใต้ของพื้นที่ ลักษณะพื้นที่จึงเหมาะสมแก่การทำการเกษตรกรรมและการทำประมง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือน พฤษภาคม – เดือนตุลาคม และ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน - เมษายน จากอิทธิพลของลมมรสุมจึงมี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านร่าหมาด หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา เดือนมกราคม 2566 บ้านร่าหมาด มีจำนวนหลังคาเรือน 301 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 546 คน หญิง 560 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 1,106 คน
องค์กรชุมชน ในชุมชนบ้านร่าหมาดนอกจากองค์กรทางการเมืองในการปกครองท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำที่เป็นทางการ ผู้นำในชุมชนบ้านร่าหมาดยังประกอบด้วยผู้นำตามธรรมชาติ เป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านและได้รับความเคารพ เชื่อถือจากสมาชิกในชุมชนคือ โต๊ะอิหม่าม ประจำมัสยิดหมู่บ้านนร่าหมาด เป็นบุคคลที่ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกในชุมชน เรียกว่า “ชายปี” เพื่อทำหน้าที่ผู้นำทางศาสนา ในการปฏิบัติและเผยแพร่ศาสนา และทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทั้งด้านการศาสนาและกิจกรรมของชุมชน
นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อการช่วยเหลือกันในบรรดาสมาชิกที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ซึ่งสมาชิกของชุมชนบ้านร่าหมาดอาจจะเป็นสมาชิกของกลุ่มได้มากกว่า 1 กลุ่ม
ปฏิทินชีวิตประจำวัน สมาชิกชุมชนบ้านร่าหมาดมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับวิถีชีวิตของมุสลิม กิจกรรมด้านประเพณีและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันรอบปี อาทิ การเข้าสุหนัต การละหมาด ถือศีลอด ฮารีรายอ
ปฏิทินอาชีพบ้านร่าหมาด ในรอบ 1 ปี ด้านอาชีพและการผลิตผล ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน ประกอบด้วยอาชีพด้านการเกษตรกรรม สวนยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน การทำนา การประมง การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ทุนชุมชนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านร่าหมาดประกอบด้วยภูมิปัญญาด้านการแสดงพื้นบ้านของชุมชนภาคใต้ และภูมิปัญญาด้านการแปรพืชพรรณที่ขึ้นในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้เป็นการสร้างมูลค่า
ระบำรองแง็ง ชุมชนบ้านร่าหมาดจัดตั้งกลุ่มการเต้นรำรองแง็ง การแสดงพื้นถิ่นของมุสลิมเกาะลันตา เพื่อการอนุรักษ์การแสดงท้องถิ่นให้สืบต่อไป การแสดงรองแง็งได้รับการยอมรับและมีการเชิญให้เปิดการแสดงในกิจกรรมของจังหวัดและเอกชนบ่อยครั้ง
ลิเกป่า การแสดงลิเกป่าของชุมชนบ้านร่าหมาดได้รับการรื้อฟื้น เพื่ออนุรักษ์การแสดงพื้นถิ่นของชุมชน โดย อาจารย์ประสิทธิ์ สัตย์จิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่าหมาด ลิเกป่ามีหลายชื่อบ้างเรียก ลิเกรำมะนา เพราะใช้กลองรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีหลักในการแสดง หรือเรียกว่า แขกแดง แขกเทศ หรือลิเกบก
การละเล่นกาหยง คล้ายศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวใช้มือเปล่าในการแสดง โดยเน้นที่กระบวนท่าในการรำที่แสดงถึงความอ่อนช้อยสวยงาม
เย็บเตยปาหนัน เดิมการใช้เตยปาหนันที่พบทั่วไปในชุมชนมาเย็บเป็นเครื่องใช้พบได้ทั่วไปในชุมชนราว ปี พ.ศ 2542 ชุมชนได้รับการส่งเสริมการผลิตเครื่องใช้จากเตยปาหนัน มีการสนับสนุนทั้งด้านการออกแบบ การตัดเย็บ การหาช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ ความสำเร็จในการขายผลิตภัณฑ์ เตยปาหนังจึงเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับรางวัลสินค้าโอทอป ระดับ 4 ดาว
ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดกระบี่ เกาะลันตา
กาแฟบ้านร่าหมาด
ต้นกาแฟในบ้านร่าหมาดมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ลักษณะต้นกาแฟเมื่อก่อนลำต้นและใบใหญ่กว่าต้นกาแฟในปัจจุบัน ขึ้นตามบริเวณที่ว่างข้างบ้าน หรือบางแห่งขึ้นเป็นป่ากาแฟโดยที่เจ้าของไม่ได้ดูแลอะไร ดังนี้กาแฟโบราณบ้านร่าหมาดจึงถือกำเนิดเมื่อประมาณ 80-100 ปีที่ผ่านมา โดย ชาวจีนจากปีนัง มาตัดไม้ในป่าโกงกางเพื่อเป็นเชื้อฟื้นสำหรับรถไฟ แต่ชาวบ้านร่าหมาดไม่มีใครพูดคุยกับชาวจีนจึงไม่ได้สนใจชาวจีนกลุ่มนี้ ต่อมานายสมุทร คงถิ่น ชาวสตูล ผู้อพยพหนีสงครามเข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพในบ้านร่าหมาด จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวกับหญิงร่าหมาด โดยชาวบ้านนายสมุทรเรียกว่า ชายหมุด
นายสมุทร เป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาจีน สามารถพูดคุยสื่อสารกับชาวจีนได้ จึงพูดคุยกับชาวจีนเกี่ยวกับต้นกาแฟที่ไม่มีใครสนใจ ชาวจีน จึงแนะนำ การทำกาแฟโบราณ ให้กับชายหมุด ซึ่งเขาได้ทดลองคั่วกาแฟตามที่ชาวจีนแนะนำมีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง กระทั่งพัฒนาเป็นกาแฟโบราณที่สามารถดื่มได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ กาแฟโบราณบ้านร่าหมาด
สมัยก่อน การคั่วกาแฟของบ้านร่าหมาด ใช้ น้ำมันควาย ในการคั่วกาแฟเพื่อไม่ให้กาแฟไหม้ น้ำมันควายได้จากการเคี่ยว มันควาย จนได้น้ำมันควายสีขาว เมื่อเคี่ยวได้ที่แล้วเทน้ำมันใส่ในกะลามะพร้าวทิ้งไว้ให้แข็งตัวกลายเป็นไข ถ้าไม่มีน้ำมันควายจะใส่น้ำมันมะพร้าวแทน การคั่วเม็ดกาแฟแต่ละครั้งต้องทำอย่างพิถีพิถันใช้ไฟอ่อน ๆ ในการคั่วกาแฟนอกจากใช้น้ำมันควาย มีการใส่ กามิด ในขั้นตอนการเคี่ยวน้ำตาล 1 ก้อน ขนาดราวหัวแม่มือต่อ 1 กระทะ เพื่อให้รสชาติดีและทำให้คนดื่มกาแฟติดกาแฟ
เมื่อเคี่ยวน้ำตาลจนได้ที่เป็นยางยืด นำเมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จเทในกระทะน้ำตาลคลุกเคล้าให้ทั่ว จนกระทั่งกาแฟกับน้ำตาลเหนียวหนืดจากนั้นยกลงจากเตา เทเมล็ดกาแฟผึ่งไว้จนแห้งแล้วนำเมล็ดกาแฟตำด้วยครกตำข้าวจนแหลกละเอียด สุดท้ายจะได้กาแฟโบราณที่มีรสชาติกลมกล่อมมีกลิ่นหอมซึ่งเอกลักษณ์ของ กาแฟบ้านร่าหมาด
บุญล้ำ ภูสูศรี. (2551). กาแฟในวิถีชีวิตชาวบ้านร่าหมาด ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์บรรณสารเเละสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, กฤษณา เสตพงศ์. (2565). เครื่องจักสานเตยปาหนัน บ้านร่าหมาด เกาะลันตา จังหวัดกระบี่, 18 พฤศจิกายน 2565. https://oer.learn.in.th/
กาแฟโบราณบ้านร่าหมาด. [Facebook]. https://www.facebook.com/
วิสาหกิจชุมชนกาแฟโบราณบ้านร่าหมาด. [Facebook]. https://www.facebook.com/