Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์หรือโผล่งในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงสืบทอดเอกลักษณ์การทอผ้าและจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก

หมู่ที่ 4
ห้วยฝาง
นาคอเรือ
ฮอด
เชียงใหม่
อบต.นาคอเรือ โทร. 0-5310-6184
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านห้วยฝาง

ชื่อของบ้านห้วยฝางไม่ปรากฏที่มาของชื่อเรียกที่ชัดเจนนัก ปรากฏแต่เพียงประวัติและที่มาของการก่อตั้งหมู่บ้าน โดยเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์แรกเริ่มผู้ก่อตั้งหมู่บ้านห้วยฝาง คือ นายบุญมีและครอบครัว สาเหตุของการก่อตั้งเนื่องมาจากนายบุญมีมาทำการเกษตรตรงบริเวณพื้นที่ป่าแห่งนี้ และในต่อมาหมู่บ้านใกล้เคียง คือ หมู่บ้านแม่ป่าไผ่ ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากภายหลังทำให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อประชากร บุคลากรจำนวนหนึ่งจึงพาครอบครัวของตนอพยพมายังพื้นที่ที่นายบุญมีอาศัยอยู่พอเวลาผ่านไปนานเข้าประชากรที่อพยพมาเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านจึงได้ทำการสร้างให้เป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ขึ้นอย่างถาวร และได้ตั้งชื่อว่าหมู่บ้านห้วยฝาง


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์หรือโผล่งในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงสืบทอดเอกลักษณ์การทอผ้าและจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก

ห้วยฝาง
หมู่ที่ 4
นาคอเรือ
ฮอด
เชียงใหม่
50240
18.046212256625402
98.51730459631244
องค์การบริหารส่วนตำบลนาคอเรือ

พื้นที่หมู่บ้านห้วยฝาง หมู่ที่ 4 ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ หรือโผล่ง แรกเริ่มผู้ก่อตั้งหมู่บ้านห้วยฝาง คือ นายบุญมีและครอบครัว สาเหตุของการก่อตั้งเนื่องมาจากนายบุญมีมาทำการเกษตรตรงบริเวณพื้นที่ป่าแห่งนี้ และในต่อมาหมู่บ้านใกล้เคียง คือ หมู่บ้านแม่ป่าไผ่ ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากภายหลังทำให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อประชากร บุคลากรจำนวนหนึ่งจึงพาครอบครัวของตนอพยพมายังพื้นที่ที่นายบุญมีอาศัยอยู่พอเวลาผ่านไปนานเข้าประชากรที่อพยพมาเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านจึงได้ทำการสร้างให้เป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ขึ้นอย่างถาวร และได้ตั้งชื่อว่าหมู่บ้านห้วยฝาง สมัยแรกเริ่มการสร้างหมู่บ้านถนนจะเป็นถนนลูกรังในเวลาต่อมาจึงมาเป็นถนนคอนกรีตและปัจจุบันมานี้เป็นถนนลาดยาง

ลำดับผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวน 9 คน คือ

  1. นายแก้ว แดงแก้ว
  2. นายคำจั๋น ต๋าฝั้น
  3. นายโก๋ง แดงแก้ว
  4. นายผัดหมี่ แง่โว้
  5. นายเล็ก ต๋าฝั้น
  6. นายจันทร์แก้ว วันนา
  7. นายนุ๊ คะปานา
  8. นายผัดแก้ว คะปานา
  9. นายแก้ว แก้วหิน

และแม้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในหมู่บ้านห้วยฝางจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็ไม่ได้อาศัยอยู่บนเขาสูงเพราะบริเวณพื้นที่สร้างบ้านเรือนเป็นเพียงบริเวณพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ราบเชิงเขา ปัจจุบันบ้านห้วยฝาง ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ค่อนข้างที่มีความเจริญจากสมัยก่อนมีถนนหนทางที่ดี มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน รวมไปถึงมีเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่มีความสะดวกสบายต่อการติดต่อสื่อสารรวมทั้งมีความสะดวกทั้งด้านการเดินทางอีกด้วย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านแบบพี่แบบน้อง เมื่อเพื่อร่วมบ้านลำบากจะไปช่วยเหลือกันอยู่เสมอ และเน้นชีวิตที่อาศัยกับธรรมชาติเป็นหลัก มีวัฒนธรรม และเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การเข้าพิธีการแต่งงาน และพิธีกรรมในงานศพ แม้ปัจจุบันอาจมีความเปลี่ยนแปลงจากสมัยอดีตไปบ้างเล็กน้อยแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งด้วยความเป็นเอกลักษณ์และความสวยงามของภูมิปัญญาของคนในอดีต

หมู่บ้านห้วยฝาง ตำบลนาคอเรือ อยู่ห่างจากตัวอำเภอฮอดประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ตำบลท่าเดื่อ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ตำบลบ้านแอ่น อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะภูมิประเทศ มีความหลากหลายทางด้านภูมิประเทศ ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มบางส่วนเป็นป่าและภูเขาสูงมีลำห้วยที่สำคัญไหลผ่านหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร คือ ลำห้วยแม่ป่าไผ่ มีจำนวนประชากรประมาณ 171 ครัวเรือน 830 คน มีศูนย์เด็กเล็กประจำหมู่บ้าน 

ระบบเครือญาติเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มเครือญาติ นับถือกันฉันท์พี่น้อง ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางจะสืบเชื้อสายตระกูลจากทางฝ่ายบิดาหรือมารดาก็ได้ตามที่ บิดา-มารดาได้ทำการตกลงกันไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะกำเนิดบุตรขึ้นมา โดยสายเครือญาติเองก็จะแบ่งเป็น 2 สาย คือ “สายตะคู” และ “สายอังเข่” ตะคูจะเป็นเครือญาติสายใหญ่ คือ จะมีสมาชิกหลากหลายหมู่บ้านมีผู้ประกอบพิธีคือผู้ที่อาวุโสที่สุดและเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากผู้อาวุโสคนก่อนหน้านี้ โดยการประกอบพิธีแต่ละครั้งจะใช้หมูในการทำพิธี สาเหตุการทำพิธีก็เนื่องมาจากสมาชิกในสายตระกูลไปทำเรื่องผิดผีก็ต้องมาทำพิธีแก้ไขและในกรณีมีคู่บ่าวสาวที่แต่งงานกันใหม่ ๆ ต้องมาทำพิธีบอกกล่าวผีให้รับรู้ว่ามีสมาชิกเพิ่มเข้ามาในตระกูล ส่วน อังเข่ จะมีเฉพาะสายญาติในครอบครัว ไม่มีสมาชิกต่างหมู่บ้าน จะใช้ หมู ไก่ หรือปลาก็ได้ในการทำพิธี โดยสาเหตุของการทำพิธีเนื่องจากบุคลากรในครอบครัวจะมีการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไปโรงพยาบาลแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2566 แสดงข้อมูลว่า ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ห้วยฝาง ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรเพศชาย จำนวน 237 คน เพศหญิง จำนวน 239 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 476 คน

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยมีพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ลำไย ฯลฯ รองลงมาเป็นอาชีพทำการประมง และมีอาชีพอื่น ๆ คือ รับราชการ รับจ้าง เป็นต้น

โพล่ง

ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางจัดแบ่งระบบการปกครองออกเป็น 2 ระบบ คือ ผู้นำทางจารีตและผู้นำตามระบบการปกครองจากส่วนกลาง ผู้นำทางจารีต คือ ผู้นำที่เป็นหัวหน้าการทำพิธีกรรมในการเลี้ยงผีของหมู่บ้านหรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ตางคาว” ส่วนผู้นำตามระบบราชการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานราชการส่วนกลาง

ระบบเศรษฐกิจ

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางในอดีตผู้ชายจะเป็นผู้นำในครอบครัวส่วนผู้หญิงจะเป็นผู้ตาม ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานนอกบ้านส่วนผู้หญิงจะทำงานในบ้าน คือการหุงหาอาหารและงานหลักอีกอย่างคือการทอผ้ามีลักษณะการทอที่เรียกว่าการทอกี่เอว “กี่เอวในที่นี้คือ การที่ผู้หญิงต้องนั่งเหยียบขาตรงในการทอส่วนผ้าทอที่ได้จะใช้ในการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้กับคนในครอบครัวได้สวมใส่และยังมีการนิยมทอเป็นผ้าห่มอีกด้วย” ส่วนในปัจจุบันมีระบบเศรษฐกิจเป็นสังคมเกษตรกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นหลักแต่มีบ้างที่ออกไปรับจ้างในตัวอำเภอ พืชในการทำเกษตรกรรม คือ ข้าว ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาจะไม่มีข้าวไร่ ปลูกผักสวนครัวตามทุ่งนา เช่น ถั่ว บวก และยังนิยมทำสวนลำไยเป็นหลัก มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นการค้าหรือจำหน่ายเพื่อหารายได้ให้แก่ครอบครัวหรือเป็นอาชีพ สัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยง เช่น สุกร โค และไก่ ส่วนการทอผ้ากลายเป็นงานเสริมในช่วงที่มีเวลาว่างจากงานอื่น ๆ 

ศาสนาและความเชื่อ

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่นี้นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผีมาแต่เดิม ชาวบ้านบ้านห้วยฝางมีความเชื่อเรื่องผีโดยเชื่อว่าผีมีทั้งผีดีและผีร้ายสิงสถิตอยู่ตามสิ่งต่าง ๆ เช่น ผีที่เฝ้าครอบครัว ผีป่า ผีเสื้อบ้าน ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผี เพราะพวกเขาเชื่อว่าบางครั้งผีอาจจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยแก่ผู้คนได้ การติดต่อกับผีจะติดต่อโดยวิธีการเซ่นด้วยอาหาร ผีที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่บ้านห้วยฝางคือการเชื่อเรื่องการเลี้ยงผีเสื้อบ้านโดยในหมู่บ้านจะเลี้ยงสองครั้งต่อหนึ่งปีบุคคลที่เข้าร่วมจะเป็นผู้ชายในหมู่บ้าน โดยมี “ตางคาว” ในหมู่บ้านเป็นคนทำพิธีกรรมและยังมีความเชื่อที่คล้ายกับความเชื่อของคนไทยคือความเชื่อเรื่องขวัญที่อยู่ประจำตัวบุคคล ความเจ็บไข้เกิดจากขวัญถูกชักนำไปโดยผีร้ายจะต้องเชิญขวัญกลับโดยการจัดพิธีเลี้ยงผีผูกข้อมือและมีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ บุคคลที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะไปเข้าร่วมพิธีตามศาสนาของตนในโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถาปัตยกรรมบ้านเรือน

ลักษณะสถาปัตยกรรมบ้านเรือนนิยมสร้างบ้านตามแนวพื้นที่ราบและรูปแบบของบ้านเรือนจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 ในอดีตตัวบ้านจะเป็นบ้านที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่ยกพื้นสูงจากดิน ปูด้วยฝากไม้ไผ่จะไม่มีหน้าต่างบ้านหลังคาทรงจั่วมุงด้วยหญ้าคา แต่จะมีเสาเป็นไม้เนื้อแข็งเหตุผลที่ใช้ไม้เนื้อแข็งเพราะทนต่อแมลงที่จะมากัดกินเนื้อไม้ส่วนพื้นที่ใต้ถุนบ้านนั้นมีไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยทำเป็นคอกสัตว์ไว้และเว้นพื้นที่ไว้สำหรับเก็บฟืน ช่วงที่ 2 จะนิยมสร้างบ้านโดยไม้ทั้งหลังและยกพื้นสูงจากพื้นดิน หลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องแผ่นเล็กมีความกว้าง 12 นิ้ว ใต้ถุนบ้านจะทำเป็นที่นั่งไว้สำหรับให้ผู้หญิงทอผ้า ส่วนคอกสัตว์และที่เก็บฟืนจะแยกออกไปสร้างอีกที่ ช่วงที่ 3 ช่วงปัจจุบัน รูปแบบในการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะเป็นไปตามยุคสมัย โดยเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา ดังนั้นรูปแบบบ้านเรือนจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบบ้านเรือนของคนพื้นเมืองทั่วไป

การแต่งกาย

การแต่งกายประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางสามารถแบ่งการแต่งกายของกะเหรี่ยงโปว์ได้ 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 การแต่งกายของหญิงสาวที่โสด สมัยอดีตจะใส่ชุดสีขาวล้วนทรงกระสอบยาวถึงข้อเท้าและเมื่อแต่งงานแล้วก็จะต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดอีกแบบหนึ่งแต่ปัจจุบันผู้หญิงที่โสดจะสวมใส่ชุดธรรมดาตามคนพื้นเมืองทั่วไปแต่ก็ยังมีใส่กันอยู่โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

ลักษณะที่ 2 ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วในอดีตจะใส่เสื้อแขนสั้น ทรงกระสอบ คอเสื้อเป็นตัววี มีสีหลากหลายสีใส่ผ้าซิ่น ส่วนปัจจุบันจะแต่งกายแบบคนพื้นเมืองทั่วไปและยังนิยมนำเสื้อกะเหรี่ยงมาสวมใส่คู่กับกางเกงทั่วไปหรือบางท่านจะใส่ผ้าซิ่นกับเสื้อทั่วไป

ลักษณะที่ 3 การแต่งกายของผู้ชายกะเหรี่ยงโปว์ ในอดีตจะใส่เสื้อแขนสั้นแขนกุด ลวดลายและสีจะเหมือนเสื้อของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอส่วนกางเกงจะใส่เป็นกางเกงโสร่งและแบบกางเกงทั่วไป เหตุที่ใส่กางเกงทั่วไปด้วยเพราะว่าการนุ่งโสร่งจะไม่สะดวกสบายในการทำสวนทำนา ส่วนในปัจจุบันจะใส่ชุดแบบคนพื้นเมืองทั่วไป ส่วนชุดประจำกลุ่มของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์จะใส่ช่วงตอนมีงานเทศกาล

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มตนเอง เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าซิ่น เครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นการแสดงถึงจุดยืนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ โดยการแต่งกายจะแบ่งออกเป็นของแต่ละเพศ ดังต่อไปนี้

เพศชาย

เพศชายที่ผ่านการแต่งงานแล้ว ในสมัยอดีตยังไม่มีการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกมากนักทำให้ไม่มีการรับเอาวัฒนธรรมใด ๆ เข้ามาในหมู่บ้านทำให้ผู้คนใช้ชีวิตตามแบบเรียบง่าย ส่วนการแต่งกายก็จะแต่งกายตามแบบของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วไป คือ ผู้ชายจะนิยมใส่เสื้อกะเหรี่ยงสีแดง และจะใส่ผ้าโสร่งแทนการใส่กางเกงแบบทั่วไป จะไม่มีเครื่องประดับมาตกแต่งร่างกาย แต่จะนิยมการสักลายไว้ที่ต้นขามากกว่า ส่วนในปัจจุบันมีการรับเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามาทำให้การแต่งกายของผู้ชายที่ผ่านการแต่งงานแล้วจะแต่งกายแบบคนพื้นเมืองทั่วไป เพศชายที่ยังไม่ผ่านการแต่งงานเนื่องจากในสมัยอดีตทางเลือกในการแต่งกายไม่มากนักผู้ชายที่ยังไม่ผ่านการแต่งงานก็จะแต่งกายคล้ายกับผู้ชายที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วแต่แค่จะนิยมใส่กางเกงมากกว่าการใส่โสร่งโดยกางเกงที่ใส่ก็จะเป็นกางเกงสะดอแต่ก็ยังคงมีบางท่านที่ยังนิยมการใส่โสร่งและส่วนการแต่งกายนั้นในปัจจุบันจะแต่งกายแบบคนพื้นเมืองทั้งหมด คือ เสื้อและกางเกงแบบทั่วไปตามสมัยนิยม

เพศชายในวัยเด็ก เด็กแรกเกิดในสมัยอดีตจะคลอดเองที่บ้าน ถูกทำคลอดโดยหมอตำแยพอคลอดออกมาแล้วก็จะจับเด็กมาล้างตัวแล้วก็จะห่อเด็กด้วยผ้าซิ่นของมารดาของตนเพื่อให้ได้ความอบอุ่น ส่วนพอโตขึ้นมาอีกนิดพอที่จะเดินได้มารดาก็จะให้ใส่เฉพาะเสื้อ เด็กสมัยนั้นจะไม่มีกางเกงใส่ ส่วนเสื้อที่ใส่ก็จะเป็นเสื้อของผู้ชายแต่มีความยาวของเสื้อคลุมลงมาถึงเข่า ส่วนในปัจจุบันเด็กทารกก็จะไปคลอดในโรงพยาบาลแล้วจะถูกห่อด้วยผ้าอ้อมและมีเสื้อผ้าสำหรับเด็กแรกเกิดใส่ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการแต่งกายแบบทั่วไปที่เด็กแรกเกิดจะถูกปฏิบัติแบบนี้ และเมื่อโตขึ้นก็จะแต่งกายแบบทั่วไปตามที่ บิดา-มารดาจับให้แต่ง

เพศหญิง

เพศหญิงที่ผ่านการแต่งงานจะเริ่มเปลี่ยนชุดที่ตนใส่เมื่อเวลาที่เข้าพิธีการแต่งงานเสร็จโดยตอนที่ทำพิธีจะใส่ชุดกะเหรี่ยงยาวสีขาว สมัยอดีตเพศหญิงที่ผ่านการแต่งงานจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงแยกเป็นสองชิ้น คือ เสื้อเหลืองกับผ้าซิ่นและเครื่องประดับต่าง ๆ ด้วยกัน มีทั้งตุ้มหูที่ทำจากโลหะ กำไลที่ทำมาจากกระดุมเสื้อ และสร้อยคอที่เป็นลูกปัดซึ่งจะมีหลากหลายสีแล้วแต่คนที่ชอบ และเพศหญิงที่ผ่านการแต่งงานแล้วจะมีข้อห้ามว่าไม่สามารถกลับไปใส่เสื้อของสาวโสดได้เนื่องจากเป็นความต้องห้ามของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยอดีต ส่วนในปัจจุบันกลุ่มคนที่อายุ 70 ขึ้นไปก็ยังคงแต่งกายด้วยชุดของชาติพันธุ์เหมือนเดิมแต่จะไม่นิยมใส่เครื่องประดับแล้ว เนื่องจากไม่มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ส่วนคนที่อายุน้องลงมาจะนิยมแต่งกายด้วยชุดเหมือนคนพื้นเมืองทั่วไป

เพศหญิงที่ยังไม่ผ่านการแต่งงาน ในสมัยอดีตจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงสีขาวยาวลงมาถึงเท้าจะมีลวดลายตั้งแต่ตรงหน้าอกลงมาโดยลายจะขึ้นตอนที่ทอ ส่วนในปัจจุบันเสื้อกะเหรี่ยงสีขาวยาวจะทำลายเฉพาะแค่บางส่วนและลายจะไม่เหมือนในอดีตและส่วนใหญ่จะใส่เฉพาะตอนที่มีงานบุญ และโดยทั่วไปจะนิยมใส่ชุดเหมือนคนพื้นเมืองทั่วไป

เพศหญิงในวัยเด็ก วัยแรกเกิดจะถูกห่อด้วยผ้าซิ่นของมารดาเหมือนเด็กผู้ชาย พอโตขึ้นมาหน่อย เด็กผู้หญิงจะถูกจับให้แต่งตัวด้วยชุดกะเหรี่ยงเป็นชุดทรงกระสอบจะมีหลากหลายสี ชุดจะมีความยาวไปถึงข้อเท้า

ปัจจุบันการแต่งกายประจำของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ถูกลดบทบาทลง คนในชุมชนนิยมหันมาใช้เครื่องแต่งกายที่เหมือนคนพื้นเมืองทั่วไป สาเหตุเนื่องจากมีความสะดวกสบายและสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ในปัจจุบันการแต่งกายด้วยชุดของกลุ่มชาตพันธุ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแต่การใช้งานในด้านประเพณีพิธีกรรมก็ยังคงดำเนินอยู่เหมือนเดิม เช่น ใช้ใส่ในตอนเข้าพิธีการแต่งงาน 

กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่มมีภาษาพูดที่เกี่ยวพันกับภาษาต่าง ๆ พื้นฐานของภาษายังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน บางแห่งบอกว่ามาจากต้นตระกูลจีน-ทิเบต คือพวกกาเร็นนิค (Karenic) แต่บางแห่งสันนิษฐานว่ามีความใกล้เคียงกับแขนงของทิเบต-พม่า ซึ่งเข้าใจว่าข้อสันนิษฐานอันหลังนี้ว่าถูกต้องมากกว่า ภาษาของกะเหรี่ยงสะกอ โปว์ และบเว มีความใกล้เคียงกัน แต่ไม่สามารถเข้าใจกันได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าภาษากะเหรี่ยงสะกอ และกะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิผลจากภาษาในตระกูลมอญ-เขมร เฉพาะอย่างยิ่งภาษามอญ ผู้ชายและเด็กชาวกะเหรี่ยงสะกอส่วนใหญ่พูดภาษาไทยเหนือได้ ส่วนผู้หญิงกะเหรี่ยงมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถพูดภาษาอื่น นอกเหนือไปจากภาษาสะกอ กะเหรี่ยงสะกอที่อาศัยอยู่ในบริเวณอำเภอแม่สะเรียง และอำเภออื่น ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถพูดภาษาไทยเหนือ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในบริเวณนั้นมีชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กะเหรี่ยงที่อพยพจากพม่าส่วนใหญ่พูดภาษาพม่าได้ดี และบางคนก็อ่านออกเขียนได้ 


กะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยฝางเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาจึงส่งผลให้ลักษณะและการจำหน่ายผ้าทอกะเหรี่ยงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นต่าง ๆ 

รูปแบบการจัดจำหน่ายผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์

รูปแบบการจัดจำหน่ายผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีความแตกต่างกันเพราะว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปบริบททางการจำหน่ายจึงแตกต่างออกไป โดยในอดีตไม่มีการจัดจำหน่ายผ้าทอไม่ว่าจะเป็นผ้าทอชนิดใดก็ตาม แต่คนในอดีตนิยมทอผ้าเพราะว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และจะทอใส่กันเองรวมทั้งทอไว้ให้ลูกให้หลาน และเก็บไว้ใช้เองในยามที่ตนเองทอผ้าไม่ไหวแล้ว ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน ปัจจุบันส่วนใหญ่การทอผ้าไม่ได้ทอใช้เองแต่ทอเพื่อเป็นอาชีพเพื่อหารายได้ในการจำหน่ายผ้าทอและบางคนก็ทำเป็นอาชีพเสริมเพราะว่าการทอผ้าสามารถทำได้ตลอดเมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานหลัก

ลักษณะการจัดจำหน่าย

ลักษณะการจัดจำหน่ายผ้าทอแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือผ่านพ่อค้าคนกลางและลักษณะที่สองคือจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เช่น สมศรีสีนวล จำหน่ายผ้าทอโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยตนได้สร้าง Facebook เพื่อเป็นช่องทางในการค้าของตนเอง ซึ่งมีชื่อว่า “เสื้อกะเหรี่ยงทอเอว” โดยที่หากมีใครต้องการเสื้อกะเหรี่ยงก็สามารถสั่งซื้อได้โดยตนนั่นมีชิ้นงานไว้แล้วแต่ถ้าคนไหนอยากเลือกแบบหรือลายที่ตัวเองชอบก็สามารถสั่งทำได้แต่จะได้ช้าหน่อย และใครที่สนใจถุงย่ามหรือซิ่น ตนก็สามารถทำให้ได้ และอีกอย่างตนยังทำผ้าทอสำหรับในการส่งขายให้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย โดยมีกฎของการส่ง คือ ผ้าทอสามารถส่งได้ปีละครั้งและมีจำนวนจำกัดในการส่งของแต่ละครั้ง ซึ่งกำหนดส่งครั้งละ 25 ชิ้นเท่านั้น การส่งผ้าทอให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จะมีราคาที่ดีกว่าการขายโดยตรง แต่จะมีข้อเสียเปรียบคือ ได้เงินช้า และมีขั้นตอนในการส่งที่ยุ่งยาก

ข่าย คะปานา ได้จำหน่ายผ้าทอโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง คือ ตนจะทอผ้าเก็บไว้และเมื่อมีคนมาขอซื้อตนก็จะขายไปทันที สาเหตุที่ตนขายแบบนี้เพราะว่าได้เงินมาเร็วกว่าการขายแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ถึงแม้ราคาจะต่างกัน และตนบอกอีกว่าส่วนมากคนที่มาซื้อผ้าทอจากตนก็เพื่อไปขายต่อให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และเหตุที่ตนไม่ขายโดยตรงเพราะว่า การส่งโดยผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถต้องมีขั้นตอนหลายขั้นตอนและตนเป็นคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือตนเกรงว่าถ้าจะต้องเซ็นเอกสารจะเป็นการยุ่งยาก ตนเลยตัดสินใจที่จะขายโดยผ่านพ่อค้าคนกลางมากกว่ารวมทั้งเมื่อเวลามีงานทำบุญจะมีคนมาจ้างให้ตนทำ ตุงสำหรับถวายให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและนี้ก็ยังเป็นรายได้เสริมอีกอย่างหนึ่งด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านการทอผ้าในอดีตนั้น ผลงานผ้าทอที่ทอใช้เองในชุมชนจะเปรียบเสมือนเป็นสิ่งแสดงคุณค่าของชาวกะเหรี่ยงทางด้านฝีมือและทักษะในการทอผ้าแต่ในปัจจุบันนั้นผ้าทอจะมุ่งเน้นการทอเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ใช้ในสังคมเมืองที่อยู่นอกชุมชน สถานะของผ้าทอจึงเปลี่ยนจากการทอเพื่อคุณค่ามาเป็นการทอเพื่อมูลค่าและการประยุกต์ต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงโปว์เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในกระแสของโลกในทุกวันนี้นับมาจากพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ทรงรับผ้าทอของกลุ่มชาวกะเหรี่ยงโปว์ไปประยุกต์ต่อยอด


กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2555). กะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ : กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2538). ชาวเขา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: แพร่วิทยา.

ธนจรรย์ สุระมณี. (2552). ชนเผ่าเล่าขาน (สืบสาน-ตำนาน นิทาน สายธารชีวิต คติชน). เชียงใหม่ : บุณยศิริงานพิมพ์.

ธัญญารัตน์ แก้วต๋า. (2562). ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์กับช่องทางการจำหน่ายและความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่บ้านห้วยฝาง ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: ศยาม.

องค์การบริหารส่วนตำบลนาคอเรือ. (2566). แผนที่แม่บทแสดงแนวเขตการปกครองและรูปแปลงที่ดิน. จาก https://www.nakorreua.go.th/

อบต.นาคอเรือ โทร. 0-5310-6184