Advance search

บ้านจ่อแฮ

ถนนคนเดินชุมชนบ้านช่อแล ตลาดโบราณ แหล่งถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมอันงดงามดั่งวันวานของชาวไทเขิน ผสมผสานกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนช่อแลมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน 

หมู่ที่ 1
ช่อแล
ช่อแล
แม่แตง
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5041-7395, เทศบาลเมืองแกน โทร. 0-5385-7360
นนท์ธิชา คำมะณี
11 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านช่อแล
บ้านจ่อแฮ

สำหรับที่มาของชื่อเรียกหมู่บ้าน“ช่อแล” แบ่งออกเป็น 2 นัยตามคำบอกเล่าและหลักฐานที่มีการศึกษาไว้ นัยแรก มีคำบอกเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่พระธาตุแม่หอพระ และได้ทอดพระเนตรไปทางทิศเหนือเห็นต้นยางสูงงาม จึงให้พระมหาเถระเอาเกศาไปบรรจุไว้ ณ ที่ตรงและให้ชื่อว่า “บ้านยางแล” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านช่อแล” นัยสอง สันนิษฐานว่า คำว่า “ช่อแล” น่าจะเป็นชื่อเรียกของพรรณไม้ชนิดหนึ่งมีดอกเป็นพวงใช้ต้มและแกงชาวพื้นเมืองจึงเรียกว่า “ชะแล” หรือ “สะแล”


ถนนคนเดินชุมชนบ้านช่อแล ตลาดโบราณ แหล่งถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมอันงดงามดั่งวันวานของชาวไทเขิน ผสมผสานกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนช่อแลมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน 

ช่อแล
หมู่ที่ 1
ช่อแล
แม่แตง
เชียงใหม่
50150
19.1455122
99.0113308
เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา

บ้านช่อแล หมู่ที่ 1 ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2317 หรือกว่า 200 ปีมาแล้ว โดยประวัติความเป็นมาของบ้านช่อแลนั้นมีความเกี่ยวข้องปรากฏในตำนานเมืองแกน เมืองโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยล้านนา โดยสังเกตจากร่องรอยสิ่งก่อสร้างวัดวาอาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีปรากฏอยู่มากมายและยังมีการสันนิษฐานว่าในบริเวณหมู่บ้านช่อแลสมัยก่อนอาจจะเป็นชุมชนของชาวลัวะมาก่อน ซึ่งปัจจุบันได้ผสมผสานกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองไปแล้ว คนกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่มคนจากหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาวลัวะ ชาวไทเขิน และชาวไทลื้อ ที่ได้เดินทางอพยพมารวมตัวกันสร้างหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณริมลำน้ำแม่ปิง และลำน้ำแม่งัด ต่อมาได้มีผู้คนจากหลากชาติพันธุ์ ต่างสถานที่ เดินทางเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านช่อแล จนบ้านช่อแลกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ และได้การประกาศยกฐานะเป็นตำบลช่อแล แล้วแยกหมู่บ้านช่อแลออกเป็นหลายหมู่บ้านเพื่อง่ายต่อการปกครอง โดยหมู่บ้านต่าง ๆ เหล่านี้ให้ขึ้นกับตำบลช่อแล  

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

สภาพพื้นที่กายภาพ

บ้านช่อแล หมู่ที่ 1 ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบระหว่างเทือกเขา มีคลองชลประทานที่รับน้ำจากโครงการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีการตั้งบ้านเรือนตลอดสองข้างทางพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำไร่ และ รับจ้างทั่วไป

ทรัพยากรธรรมชาติ

เนื่องจากบ้านช่อแลมีพื้นที่ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ทำให้พื้นที่หมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง มีแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่ปิง และลำน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา คือ ลำน้ำแม่งัด ซึ่งชาวบ้านได้นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองชลประทานไหลผ่านกลางพื้นที่ของเทศบาลเมืองแกนพัฒนา และมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ส่วนป่าไม้ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นไม้เต็ง และไม้รัง  

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) เมื่อ 31 มกราคม 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านช่อแล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,921 คน แบ่งเป็นชาย 876 คน หญิง 1,045 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 913 ครัวเรือน โดยมีชาวพื้นเมืองเดิมและชาวไทเขินเป็นประชากรส่วนใหญ่ ทั้งยังมีชาวลัวะและชาวไทลื้ออาศัยอยู่ร่วมด้วย แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น 

ไทขึน, ไทลื้อ, ลัวะ (ละเวือะ)

อาชีพหลัก : ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ กระเทียม พริก มันฝรั่ง ถั่วเหลือง กล้วยหอมทอง ฯลฯ

อาชีพรอง : อาชีพรองของชาวบ้านช่อแล ได้แก่ ค้าขาย เนื่องจากในหมู่บ้านมีตลาดนัดทุกวันทั้งเช้าและเย็น นอกเหนือจากการค้าขายแล้ว ชาวบ้านช่อแลบางส่วนยังมีการประกอบอาชีพรับจ้างเป็นอีกหยึ่งอาชีพเสริมที่นิยมในช่วงว่างเว้นจากอาชีพหลัก เช่น รับจ้างปลูกกระเทียม ข้าวโพด รับจ้างเกี่ยวข้าว ทาสี ก่อสร้าง และทำงานโรงงาน ฯลฯ

การรวมกลุ่มของสมาชิกชุมชนบ้านช่อแล : บ้านช่อแลเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีการรวมกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสมัครใจ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเยาวชน กลุ่มฌาปนกิจ กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

บ้านช่อแลมีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เช่น ประเพณีตาลข้าวใหม่ในเดือนยี่เป็ง ประเพณีแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ในเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเดือนเก้า ประเพณีเลี้ยงผีฝายแม่งัด ประเพณีถวายทานสลากภัต และประเพณีลอยกระทง ฯลฯ

  • ประเพณีสลากภัตหรือก๋วยสลาก จัดขึ้นประมาณช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นการทำบุญให้กับตนเอง รวมทั้งญาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยจะทำบุญถวายสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก จึงเรียกประเพณีนี้ว่า สลากภัต

  • ประเพณีปอยหลวง เป็นประเพณีเฉลิมฉลองการสร้างถาวรวัตถุในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เช่น ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ในตอนกลางมีการแสดงมหรสพ ประชาชนหมู่บ้านต่าง ๆ ก็จะมาร่วมกันทำบุญร่วมกันอย่างคับคั่ง

  • ประเพณีเลี้ยงผีฝาย จัดในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นการทำบุญเลี้ยงผีฝายเพื่อเป็นการขอบคุณแม่น้ำที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ผลดี โดยในช่วงนี้จะมีการจัดกิจกรรมการจุดบั้งไฟ และการแข่งขันเรือพาย

  • ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยจะมีการทำกระทงจากใบตองและวัสดุจากธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อนำมาลอยกระทงในเวลากลางคืน เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาภายในงานจะมีการประกวดนางนพมาศ มีประเพณีเผาเทียน เล่นไฟ ฟังเทศน์มหาชาติ และจัดซุ้มประตูป่า

  • ประเพณีเข้าโสภณกรรม จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นพิธีอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะทำบุญร่วมกันบริเวณสุสานประจำหมู่บ้าน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชน: การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ถนนคนเดินชุมชนบ้านช่อแล อำเภอแม่แตง ตลาดโบราณบอกเล่าเรื่องราวแห่งวัฒนธรรมไทเขินมาแต่โบราณ ตลาดแห่งนี้คาดว่ามีอายุมากถึง 600-700 ปี  สองริมฝั่งถนนเรียงรายด้วยบ้านเรือนไม้ตามแบบชาวไทเขิน ซึ่งยังคงความงดงามดั่งวันวาน ผสมผสานกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนช่อแลมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน อันเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชนแห่งนี้ มีการนำสินค้า ของที่ระลึก เสื้อผ้าของชาวไทเขินมาจำหน่าย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน 

คนในพื้นที่ชุมชนบ้านช่อแลแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะพูดภาษาเหนือหรือภาษาล้านนา (คำเมือง) เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือภาษาล้านนา หรือคำเมือง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ภาษาถิ่นพายัพ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคเหนือตอนบน หรือภาษาในอาณาจักรล้านนาเดิม มักจะพูดกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในบางพื้นที่ของจังหวัดตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ คำเมืองยังเป็นภาษาของชาวไทยวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยหรืออาณาจักรล้านนา และอาณาจักรโยนกในอดีตด้วย 


ปัจจุบันบ้านช่อแลยังไม่มีผู้ใหญ่บ้าน มีเพียงแต่นางรังสิรี แสวงมือ เป็นผู้รักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้ใหญ่บ้านยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากทางหน่วยงานราชการ นางรังสินี แสวงมือ ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนให้เป็นผู้รักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน


การคมนาคม

บ้านช่อแลมีถนนเชื่อมไปยังที่ว่าการอำเภอแม่แตง โดยทางทิศตะวันตกถนนสายชลประทานเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ทิศตะวันออก และทิศใต้ มีถนนเชื่อมไปยังตำบลแม่หอพระผ่านอำเภอพร้าว ส่วนทางทิศเหนือมีสะพานเชื่อมไปยังตำบลบ้านเป้า ถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านในเขตตำบลช่อแลทั้งหมดเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านสามารถเดินทางได้ด้วยรถสองแถว รถส่วนตัว และรถรับจ้าง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คนล้านนา. (2564). กิ๋นหอม ต๋อมโม่น เตียวผ่อ ช่อแล @กาดโบราณไทเขินเก่าแก่ 700 ปี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://konlanna.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

ช่อแลพระงาม. (2561). ภาพถ่ายมุมสูงบ้านช่อแล. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา. (2564). แผนที่การท่องเที่ยว "กิ๋นหอม ต๋อมโม๋น" บ้านช่อแล. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://muangkaen.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา. (2564). ประเพณีเลี้ยงผีฝาย. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

ฐิตารีย์ นุกูลโรจน์. (2552). ผลการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐาน: กรณีศึกษาบ้านช่อแล หมู่ที่ 1 ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

อิ่นคำ ฟองสมุทร์ และนำชัย ทนุผล. (2547). ความคิดเห็นของราษฎรบ้านช่อแลที่มีต่อการแยกหมู่บ้าน : กรณีศึกษาหมู่บ้านช่อแล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยแม่โจ้: ม.ป.ท.

ฮัก ณ ช่อแล. (2565). ตาน สลากช่อแล. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://shorturl.asia/QBgEs [สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5041-7395, เทศบาลเมืองแกน โทร. 0-5385-7360