Advance search

บ้านตีนดอย

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ วัดโมคัลลาน และงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าฝ้ายทอมือ

หมู่ที่ 3
เชิงดอย
สบเตี๊ยะ
จอมทอง
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1027-2688, เทศบาลสบเตี๊ยะ โทร. 0-5310-6928
วิภาดา ลุนแก้ว
14 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
26 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านเชิงดอย
บ้านตีนดอย

เดิมบ้านเชิงดอยชื่อบ้านหนองเตาอยู่ข้างล่างสุดของตีนเขา มีวัดประจำหมู่บ้าน คือ วัดหนองเตา ช่วงหน้าฝนได้มีน้ำท่วมบ่อยครั้งชาวบ้านจึงพากันย้ายขึ้นมาอยู่ข้างล่างของตีนเขาและได้สร้างหมู่บ้านขึ้นว่าบ้านโมคัลลานและได้บรูณะวัดพระนอนหรือโมคัลลานขึ้นมาจากเดิมชื่อวัดหนองเตา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อจากพ่อหลวงคนแรก เป็นบ้านเชิงดอยหรือบ้านตีนดอยมาจนถึงปัจจุบันและปัจจุบันวัดหนองเตาได้เป็นวัดร้าง


ชุมชนชนบท

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ วัดโมคัลลาน และงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าฝ้ายทอมือ

เชิงดอย
หมู่ที่ 3
สบเตี๊ยะ
จอมทอง
เชียงใหม่
50160
18.3861821
98.6730958
เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ

หมู่บ้านเชิงดอยเดิมชื่อ บ้านโมคคัลลาน ตั้งชื่อเรียกตามพุทธประวัติล้านนาในสมัยพุทธกาลครั้งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปได้มีพระอัครสาวกนามพระมหาโมคคัลลานะได้ติดตามมาดูแลรับใช้พระพุทธเจ้าและในระหว่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านพระมหาโมคคัลลานะเหยียบลงตรงกลางดอยโมคคัลลานปรากฏเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่จึงได้มีการเรียกขานชื่อดอยแห่งนี้ว่า "ดอยโมคคัลลาน"

รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงดอยแห่งนี้ ต่อมาได้มีพระธุดงค์จากภาคตะวันออกนามหลวงปู่แก้วสุทโธได้มาจำศีลปฏิบัติธรรมที่ดอยโมคคัลลานและได้สร้างพระธาตุโมคคัลลานขึ้นโดยการสนับสนุนของทหารอากาศดอยอินทนนท์และศรัทธาสาธุชนและเนื่องจากบ้านเรือนของชาวบ้านกับพระธาตุโมคคัลลานอยู่ห่างกันประมาณสองกิโลเมตรการไปทำบุญปฏิบัติธรรมยากลำบากชาวบ้านจึงได้ มาสร้างวัดไหมชื่อวัดโมคัลลาน (หนองเตา) ห่างจากพระธาตุซึ่งอยู่บนดอยประมาณ 1 กิโลเมตร ใกล้กับลำน้ำแม่กลาง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่เข้าท่วมวัดโมคคัลลาน (หนองเตา) เป็นเวลาแรมเดือนพระสงฆ์อยู่อย่างลำบากชาวบ้านไม่สามารถไปทำบุญและดูแลวัดได้จึงได้มีชาวบ้านผู้ใจบุญได้บริจาคที่สร้างวัดขึ้นใหม่อยู่ในหมู่บ้านซึ่งตอนนั้นมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนและหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ชาวบ้านได้มีการอพยพจากที่ติดน้ำขึ้นมาอยู่ใกล้กับวัดมากขึ้นและเรียงตัวโอบดอยโมคคัลลาน โดยมีผู้นำหมู่บ้านที่สืบทอดการปกครองหมู่บ้านมากมายหลายคน ตั้งแต่พ่อหลวงหนานก๋อง บุญมาปะ พ่อหลวงเผือก ตุ้ยตามพันธุ์ พ่อหลวงจั่น ตามพันธุ์ พ่อหลวงน้อย อุ่นการนัด และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านโมคคัลลานมาเป็นหมู่บ้านเชิงดอย พ่อหลวงน้อยผัด ผู้ใหญ่บ้านคนต่อมา ชื่อ นายอ้าย ยานะโส ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และได้ลาออกเมื่อปี พ.ศ. 2549 นายสุรพลได้เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 หมดวาระเมื่อ 10 เมษายน 2559 นางสาวทัญทาน ยานะไสได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 และเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

บ้านเชิงดอยอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ตั้งอยู่เลขที่ 359 หมู่ 1 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านทั้งหมด 21 หมู่บ้าน ลักษณะของตำบลจะทอดยาวจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ตามทางหลวงสายเชียงใหม่ - ฮอด ตำบลสบเตี๊ยะมีระยะทางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร หมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่ - ฮอด และริมน้ำปิง ปัจจุบันเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ 359 หมู่ที่ 1 บ้านวังปิน ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ริมถนนสายเชียงใหม่ - ฮอด อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมทอง ประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 65 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ จด เขตเทศบาลตำบลดอยแก้วและเทศบาลตำบลบ้านหลวง
  • ทิศใต้ จด เขตเทศบาลตำบลแม่สอย
  • ทิศตะวันออก จด กับแม่น้ำปิง โดยแม่น้ำปิงจะแบ่งเขตระหว่างเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะกับจังหวัดลำพูน
  • ทิศตะวันตก จด เขตเทศบาลตำบลดอยแก้ว และเทศบาลตำบลแม่สอย

สภาพภูมิอากาศ

อากาศมรสุมเมืองร้อน ช่วง พฤษภาคม - กันยายน มีฝนตกชุก ช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวและแห้งแล้ง อุณหภูมิประมาณ 9.7 องศา สูงสุดประมาณ 39.6 องศา

สภาพภูมิประเทศ

ส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้าง ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิง และน้ำแม่กลาง ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นกระจายในพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่หุบเขาเชิงเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย สำหรับบริเวณภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัย สภาพพื้นที่ เป็นพื้นที่สูงทางตอนกลาง ที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ และพื้นที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของอำเภอ 

  • ภูเขา : ด้านตะวันตกมีเทือกเขาอินทนนท์ ซึ่งมียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร กั้นเขตแดนระหว่างอำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่มโดยตลอด
  • แม่น้ำ : มีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปิง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่เตี๊ยะ ลำน้ำแม่แต๊ะ และลำน้ำแม่สอย

ข้อมูลสถิติประชาการทางการทะเบียนราษฎร์เมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุข้อมูลว่า ในพื้นที่หมู่ที่ 3 เชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรเพศชาย จำนวน 259 คน เพศหญิง จำนวน 288 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 547 คน

ไทยวน, ไทใหญ่

บ้านเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่ มีภูมิปัญญาการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติมายาวนานกว่า 50 ปี จนได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยการนำหินสีจากดอยโมคคัลลานมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมจนเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอจากหมู่บ้าน และด้วยความโดดเด่นนี้ทำให้ผ้าทอของบ้านเชิงดอยกลายมาเป็นที่เสาะหาของผู้บริโภค ความต้องการผ้าทอที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุผลให้บ้านเชิงดอยทำการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ สร้างงาน สร้างรายได้แก่สมาชิกกลุ่ม เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น จนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยได้รับการยกย่องเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมทอง และรับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2558 และระดับดีมาก ประจำปี 2562 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจกับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

การดำเนินงานของชุมชนที่ผ่านมา จึงได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและโอกาสทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชุมชนยังได้ทำการตลาดด้วยตนเองอีกหนึ่งหนทาง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 จึงทำให้การดำเนินงานหยุดชะงักเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน (มีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2563) ทำให้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจได้รับความเดือดร้อน เมื่อปริมาณการผลิตต้องลดลง ตามมาด้วยการลดวันทำงานของสมาชิก และการเลิกจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้สมาชิกกลุ่มที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ทำงานภาคเกษตร และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ ได้รับผลกระทบโดยตรง ขาดโอกาสเข้าหาแหล่งทุน เศรษฐกิจในครัวเรือนฝืดเคือง การว่างงานเพิ่มมากขึ้น ร้าวลึกไปถึงสภาพจิตใจและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งโครงการ ‘การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19’ ขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยการส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพการทอผ้าเพื่อเพิ่มการจ้างงานในชุมชนและรวมถึงการยกระดับฝีมือเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวจำนวนทั้งหมด 60 คน สามารถแบ่งออกเป็นผู้ที่มีทักษะอยู่แล้วและผู้ที่ไม่มีทักษะ ดังนั้น ทางวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จึงได้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ การยกระดับฝีมือของกลุ่มผู้มีทักษะ และจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือในกระบวนการทอผ้าให้กับกลุ่มใหม่ ก่อนทั้ง 2 กลุ่มจะเข้าร่วมฝึกอบรมและรับความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และการจัดคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และประชาสัมพันธ์สินค้าของชุมชนได้ตรงจุด เหมาะสม และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.วัฒนธรรมผ้าทอ การสืบสานการทอผ้าและการใช้สีจากหินหรือเรียกว่าสีโมคัลลานะ โดยบ้านเชิงดอย มีภูมิปัญญาการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ ยาวนานกว่า 50 ปี จนได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยการนำหินสีจากดอยโมคคัลลานมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมจนเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอของหมู่บ้าน

2.สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ วัดโมคคัลลานและอุทยานพุทธสถานสุทธิจิตต์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านเชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่สำคัญที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมถึงเจ้าแม่กวนอิม ทั้งยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอจอมทอง 

พื้นที่โดยรอบของอุทยานฯ มีลักษณะเป็นป่าที่ร่มรื่น เงียบสงบ และเย็นสบาย ด้านบนสามารถชมทัศนียภาพของอำเภอจอมทอง มองเห็นสภาพบ้านเมืองซึ่งอ้อมล้อมไปด้วยขุนเขา ในมุมมอง 360 องศา

ประวัติความเป็นมา วัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกเล็ก ๆ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่ – ฮอด) ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 400 เมตร เดิมทีมีสภาพเป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นและเป็นที่อาศัยของสัตว์ดุร้ายนานาชนิด เช่น เสือ เป็นต้น ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเข้าไปบุกรุกพื้นที่บริเวณนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 มีพระธุดงค์จำนวน 5 รูป ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินทางจากทางใต้เพื่อมาธุดงค์ทางภาคเหนือ (หนึ่งในจำนวนนั้น คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ) เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ต่างก็แยกย้ายกันไปหาสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมของตนเอง มีพระภิกษุรูปหนึ่งมุ่งหน้าธุดงค์มาทางอำเภอจอมทอง และปักกลดอยู่ที่เชิงเขาดอยโมคคัลลานะ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงว่าเป็นป่าที่อันตรายมาก แต่เนื่องจากพระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีความเคร่งครัดในพระวินัย และบุญฤทธิ์แก่กล้า จึงไม่เกิดอันตรายใด ๆ แก่ท่าน คราหนึ่งท่านเข้านิมิตฝันว่าบนยอดเขามีแท่นอาสนะหินและรอยหลุมเสาหินซึ่งมีพญางูเฝ้าดูแลรักษาอยู่ ท่านจึงเดินทางขึ้นไปบนยอดเขาในวันรุ่งขึ้น และก็พบว่าปรากฏมีแท่นอาสนะหินและรอยหลุมเสาหินอยู่จริงตรงตามนิมิต ท่านจึงอธิษฐานปักกลดอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ข่าวนี้เป็นที่แพร่กระจายไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีศรัทธาสาธุชนเกิดความเลื่อมใสนำอาหารคาวหวานขึ้นไปถวายเป็นจำนวนมากอย่างไม่ได้ขาด ชื่อของภิกษุรูปนั้น ซึ่งมาทราบภายหลังว่า คือ “พระเดชพระคุณหลวงปู่แก้ว สุทฺโธ” จึงได้เป็นที่รู้จัก และยอมรับนับถือ กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพภูมิอากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี กอปรกับมีศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก หลวงปู่แก้วจึงมีดำริจะสร้างพระธาตุและศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น ด้วยหวังว่าจะได้เอาไว้ให้คนขึ้นมาสักการะและประพฤติปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้

ในปี พ.ศ. 2465 เดือนมิถุนายน (ตรงกับเดือน เก้าเหนือ แรม สิบสี่ค่ำ) จึงมีพิธีวางศิลาฤกษ์ ชื่อของ “สำนักสงฆ์พระธาตุดอยโมคคัลลานะ” และ “สถานที่ปฏิบัติธรรมดอยโมคคัลลานะ” จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 หลวงปู่แก้วได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา รวมสิริอายุได้ 87 ปี และได้มีการจัดพิธีสลายร่างหลวงปู่แก้ว บนยอดดอย เมื่อปี พ.ศ.2526 หลังจากนั้น หลวงพ่อมลซึ่งเป็นศิษย์เอก จึงได้รักษาการแทน แต่หลังจากหลวงพ่อมลมรณภาพลง สถานที่แห่งนี้จึงขาดการดูแลบูรณะจนกลายเป็นวัดร้าง เพราะขาดพระภิกษุที่มาอยู่ประจำพรรษาเป็นเวลาหลายปีจนเสื่อมโทรม ด้วยความเป็นห่วงของพระครูสุนทรพรหมคุณ (เจ้าคณะอำเภอจอมทอง ในขณะนั้น) เกรงว่าปูชนียวัตถุของอำเภอจะเสียหาย จึงได้ติดต่อขอพระจากวัดพระธรรมกายซึ่งอยู่บนยอดดอยอำเภอฮอดมาอยู่จำพรรษา

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เจ้าคณะอำเภอจอมทอง ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ และคณะศรัทธาสาธุชน จึงได้มานิมนต์พระภิกษุจากวัดพระธรรมกายที่ปฏิบัติศาสนกิจ ณ สนแก้ววนาราม เพื่อมาพัฒนาฟื้นฟูและเผยแผ่ธรรมะ ให้สถานที่แห่งนี้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง หมู่คณะซึ่งนำโดย พระใบฎีกาวิสุทธิ์ ธมฺมสุทฺโธ และคณะ จึงได้ส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ให้ลงไปเผยแผ่ในครั้งนี้ ได้แก่ พระรัฐพล สุริยเปโม, พระใหม่ อาภาธโร และสามเณรอีกหนึ่งรูป ไปอยู่จำพรรษาในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และได้เริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ด้วยมโนปณิธานที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ที่จะเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงการพัฒนาวัดร้างให้กลายเป็นวัดรุ่ง รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองสืบไป

กิจกรรมประจำปีของวัด ได้แก่

  • ประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปี ซึ่งตรงกับจันทรคติวันแรม 14 ค่ำ / 15 ค่ำ เดือนเก้าดับเหนือพิธีทอดกฐินสามัคคี
  • บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี และกิจกรรมการบิณฑบาตตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของสามเณร
  • อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูฝน ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปี และกิจกรรมการบิณฑบาตตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของสามเณร
  • พิธีทำบุญตักบาตรช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีคณะสงฆ์ และสาธุชนในละแวกใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน
  • พิธีตักบาตรเทโวหลังออกพรรษา, ทำบุญเดือนเกิด และปล่อยสัตว์ปล่อยปลา
  • บรรพชาสามเณร พิเศษ รุ่น 5 ช่วงประมาณวันที่ 10 - 31 ตุลาคม ของทุกปี
  • งานบุญสลากภัตประจำปี ซึ่งตรงกับจันทรคติวันขึ้นแปดค่ำ เดือนสิบสองเหนือ

ภาษาไทยถิ่นเหนือ


ช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมากมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้มีการปิดศูนย์การทอผ้าและงดนักท่องเที่ยวมาเทียวที่วัดจึงทำให้ชาวบ้านขาดรายได้เพราะวัดเป็นแหล่งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้รวมตัวกัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเฟื่องฟูชนิดที่ผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการของตลาด แต่หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ที่เคยมีกลับกลายเป็นศูนย์ และย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ มีหนี้สินเกือบล้านบาท

ทางกลุ่มเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการสนับสนุนทุนพัฒนาอาชีพ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยหวังว่าจะสามารถพลิก ‘วิกฤต’ เป็น ‘โอกาส’ ต่อเติมความหวังให้กับคนในชุมชนได้ นอกจากจะเป็นการพัฒนายกระดับคุณภาพการทอ และส่งเสริมให้กลุ่มคนเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ ทั้งผู้สูงอายุ คนว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการลดเวลาการทำงาน และผู้พิการแล้ว ยังถือเป็นการยกระดับทักษะ (Upskill – Reskill) คนในชุมชน ให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ 

จุดเด่นของผ้าฝ้ายเชิงดอย คือเป็นผ้าย้อมหินสีจากธรรมชาติ ให้สีโทนพาสเทล ได้แก่ สีเทาอมฟ้า สีชมพู ม่วงอมขาว และใช้เทคนิคการทอสี่ตะกอ หรือการทอยกดอกเป็นลายดอกกวัก ดอกแก้ว ทำให้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สวยงาม เดิมทีปัญหาของกลุ่มคือต้องซื้อวัตถุดิบ โดยเฉพาะฝ้ายจากแหล่งอื่น เพราะในพื้นที่ผลิตไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาคือการส่งเสริมการปลูกเพื่อซื้อวัตถุดิบในพื้นที่ กลุ่มคนเปราะบางในชุมชนต้องการความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทอผ้า เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมในกรณีที่มีงานทำอยู่แล้ว และสร้างรายได้เพื่อความอยู่รอดในกลุ่มผู้ว่างงาน จึงนำไปสู่กิจกรรมอบรมให้ความรู้ในเรื่องการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ปั่นฝ้าย กลิ้งฝ้าย การย้อมคราม ย้อมหิน กลุ่มอีด (กระบวนการทำเส้นฝ้าย) การทอขั้นพื้นฐาน กลุ่มที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและต้องการยกระดับทักษะ จะได้รับการฝึกการทอกี่ตะกอ และผ้าทอจกล้านนา ซึ่งต้องฝึกเทคนิคการปั่นฝ้ายสองเส้น เทคนิคการทำเกลียวเส้นด้ายให้พอดี

สำหรับการอบรมให้ความรู้แต่ละกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งหากอยู่ในสถานการณ์ปกติคงเป็นไปได้ยาก แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ชาวบ้านใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ได้มีเวลาเรียนรู้อย่างเต็มที่ ส่วนทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยเองก็มีเวลาสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องผ้า อาทิ ผ้าทอจกล้านนา ซึ่งเคยเป็นลวดลายในวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เริ่มหายไป ได้รื้อฟื้นและนำเทคนิคการทอและลวดลายกลับมาอีกครั้ง รวมถึงมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย

เมื่อโครงการสิ้นสุดลงยังพบว่าหลายคนมีศักยภาพในการเป็นครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้า นอกจากนี้ยังเกิดกลุ่มผู้ปลูกคราม ปลูกฝ้าย ซึ่งในอนาคตเมื่อได้ผลผลิตแล้ว สามารถนำวัตถุดิบส่งขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยอีกด้วย หลังจากนี้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การซื้อขายและการท่องเที่ยวกลับคืนสู่สภาวะปกติ ผลลัพธ์จากความร่วมแรงร่วมใจนี้จะทำให้กลุ่มกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สามารถกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปได้อย่างทั่วถึงมากกว่าเดิม ด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งการผลิตวัตถุดิบ ทักษะการทอผ้า ในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน

หินสีโมคัลลานะหรือหินโมคคัลลานะเป็นหินอ่อนสีขาวที่ใช้สร้างศิลปะและสถาปัตยกรรมในศาสนาพุทธ โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการใช้หินสีโมกคันลานะในการสร้างพระบรมมาฉายาลักษณ์และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้หินสีโมคัลลานะเป็นหินอ่อนที่เหมาะกับการแกะสลักและตัดเย็บ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2564). กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมใจอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนหลังวิกฤติโควิด-19. (ออนไลน์). จาก https://www.eef.or.th/

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2564). โอกาสเรียนรู้และปรับตัวใหม่ ด้วยหัวใจดวงเดิมของวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย. (ออนไลน์). จาก https://www.eef.or.th/

จีรดาภรณ์ อินดี และคณะ. (2565). การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผ้าทอพื้นเมือง ชุมชนบ้านเชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารข่วงผญา, 16(2): 12-25.

เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ. (ออนไลน์). จาก http://www.sobtia.org/

ศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ. (ม.ป.ป.). มูลนิธิธรรมกาย. (ออนไลน์). จาก https://www.dhammakaya.net/

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1027-2688, เทศบาลสบเตี๊ยะ โทร. 0-5310-6928