ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ หมู่บ้านอมลานใน มีเอกลักษณ์และมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ภาษากะเหรี่ยงคือ มอลอคี หมายถึง ก้นโอ่งดินเผา สาเหตุที่ตั้งชื่อ มอลอคี เนื่องจากสมัยอดีตมีคู่สามีภรรยาหมู่ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านอมเม็ง มีการเลี้ยงชีพไม่เพียงพอต่อครอบครัวจึงตัดสินใจต้มเหล้าเพื่อเอาไปแลกกับข้าวที่บ้านขุนแปะเมื่อเสร็จจากการต้มเหล้าจึงได้นำเอาใส่ในโอ่งดินเผาปิดหัวโอ่งด้วยใบตองแล้วมัดไว้กับเชือกแบกไว้ข้างหลังแล้วออกเดินทางผ่านในพื้นที่ป่าใหญ่ และภูเขาอีกหลายลูกข้างหลังแบกโอ่งดินเผาข้างในโอ่งเต็มไปด้วยเหล้าระยะทางในป่าใหญ่มีทางเดินแคบ ๆ ช่องทางสามารเดินได้แค่ 2 คนในทางเดินเต็มไปด้วยใบไม้ที่ร่วงลงมาจากต้นเปียกด้วยน้ำฝน ทางก็ลื่นเท้าของผู้ที่เป็นสามีเดินไปโดนเยียบใส่ตอไม้ล้มลงโอ่งที่แบกไว้อยู่ข้างหลังที่เต็มไปด้วยเหล้าแตกกระจายเหลือแต่ก้นโอ่งที่ไม่แตกและมีเหล้าเหลืออยู่เพียงไม่มากนักคู่สามีภรรยาไม่สามารนำเหล้าที่อยู่ข้างในโอ่งที่แตกไปแล้วนำไปทำในสิ่งที่ต้องการได้คู่สามีภรรยาจึงตัดสินใจทิ้งโอ่งดินเผาไว้กลางป่าตรงนั้นแล้วเดินกลับไปในหมู่บ้านของตนเอง เมื่อผู้คนเดินผ่านทางเส้นนั้นได้พบโอ่งดินเผาที่แตกกระจายภายหลังได้ตั้งชื่อพื้นที่นี้ว่า มอลอคี
ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ หมู่บ้านอมลานใน มีเอกลักษณ์และมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่หมู่บ้านอมลานใน หมู่ 5 ตำบลกอแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอแม่แจ่ม เป็นหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาห่างจากตัวอำเภอประมาณ 30 กิโลเมตร ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอทั้งหมดที่อพยพเข้ามาในหมู่บ้านต่าง ๆ
แรกเริ่มผู้ก่อตั้งหมู่บ้านอมลานใน คือนายเกาะกะ ดำรงพันธ์บวร และกลุ่มญาติพี่น้องอีก 2 คน เป็นผู้เข้ามาอาศัยอยู่อพยพมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง คือ บ้านอมเม็งสาเหตุของการอพยพเข้ามาเนื่องจากหมู่บ้านอมเม็งมีสภาพอากาศร้อน มีน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อประชากรและประชากรเพิ่มขึ้นมากทุกปีจึงมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างที่อยู่อาศัย และกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้จึงแยกตัวออกมาสร้างที่อยู่อาศัยแหล่งใหม่คือ หมู่บ้านอมลานใน ชื่อภาษากะเหรี่ยงคือ มอลอคี หมายถึง ก้นโอ่งดินเผา สาเหตุที่ตั้งชื่อ มอลอคี เนื่องจากสมัยอดีตมีคู่สามีภรรยาหมู่ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านอมเม็ง มีการเลี้ยงชีพไม่เพียงพอต่อครอบครัวจึงตัดสินใจต้มเหล้าเพื่อเอาไปแลกกับข้าวที่บ้านขุนแปะเมื่อเสร็จจากการต้มเหล้าจึงได้นำเอาใส่ในโอ่งดินเผาปิดหัวโอ่งด้วยใบตองแล้วมัดไว้กับเชือกแบกไว้ข้างหลังแล้วออกเดินทางผ่านในพื้นที่ป่าใหญ่ และภูเขาอีกหลายลูกข้างหลังแบกโอ่งดินเผาข้างในโอ่งเต็มไปด้วยเหล้าระยะทางในป่าใหญ่มีทางเดินแคบ ๆ ช่องทางสามารถเดินได้แค่ 2 คนในทางเดินเต็มไปด้วยใบไม้ที่ร่วงลงมาจากต้นเปียกด้วยน้ำฝน ทางก็ลื่นเท้าของผู้ที่เป็นสามีเดินไปโดนเยียบใส่ตอไม้ล้มลงโอ่งที่แบกไว้อยู่ข้างหลังที่เต็มไปด้วยเหล้าแตกกระจายเหลือแต่ก้นโอ่งที่ไม่แตกและมีเหล้าเหลืออยู่เพียงไม่มากนักคู่สามีภรรยาไม่สามารถนำเหล้าที่อยู่ข้างในโอ่งที่แตกไปแล้วนำไปทำในสิ่งที่ต้องการได้คู่สามีภรรยาจึงตัดสินใจทิ้งโอ่งดินเผาไว้กลางป่าตรงนั้นแล้วเดินกลับไปในหมู่บ้านของตนเอง เมื่อผู้คนเดินผ่านทางเส้นนั้นได้พบโอ่งดินเผาที่แตกกระจายภายหลังได้ตั้งชื่อพื้นที่นี้ว่า มอลอคี
ในระยะต่อมา มีประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้ามาอพยพตามเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น บ้านแม่คงคา บ้านหินเหล็กไฟ บ้านห้วยส้มป่อย และบ้านโมงหลวงจึงกลายเป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ และในระยะต่อมาเมื่อ 2532 มีประชากรเข้าสร้างบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างที่อยู่อาศัย และที่ทำเกษตรกรรมประชากรในพื้นที่จึงแยกออกเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง คือ หมู่บ้านอมลานนอก
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเป็นที่ราบเชิงเขา มีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีทรัพยากรป่าไม้และเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารป่าทางธรรมชาติมากมายหลายชนิด พื้นที่ในหมู่บ้านอมลานในค่อนข้างมีความเจริญจากสมัยก่อนมีถนนหนทางที่ดี มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านรวมไปถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีความสะดวกต่อการติดต่อสื่อสารและการเดินทาง
ชุมชน ประกอบด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวไทยพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
ประชากรในตำบลกองแขกส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา คือ อาชีพรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ อาชีพเสริมของประชาชน ได้แก่ การทอผ้า การแกะสลัก และการจักสาน เป็นต้น
สภาพสังคม เป็นสังคมชนบท ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์
ปกาเกอะญอ, ม้งการทำระบบเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์หมู่บ้านอมลานในส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นที่สำคัญเพราะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มนี้นิยมอาศัยอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากและเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช พืชที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในนิยมปลูกกัน ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนา ข้าวโพด ฝักทอง กะหล่ำปลี และอื่น ๆ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะนำไปบริโภค และนำไปจำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้า หรือมีผู้มารับเหมาซื้อในพื้นที่หมู่บ้าน เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราโดยการเพาะปลูกการปลูกข้าวโพดเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอนั้น นอกจากการเพาะปลูกที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีการหารายได้เสริมในด้านต่าง ๆ ที่ตนเองมีความสามารถและชอบที่จะทำ คือ การทอผ้าขายอีกทั้งยังเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผักส่วนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ขายให้กับคนในชุมชน และกลุ่มเพื่อนบ้านเพื่อเป็นแนวทางการหารายได้ให้กับครอบครัว และอาชีพรองลงมาเป็นอาชีพ การเป็นลูกจ้างไปทำงานในเมือง และบางส่วนประกอบอาชีพข้าราชการ
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านแบบพี่น้อง เมื่อเพื่อนร่วมบ้านลำบาก หรือไม่สบายจะไปช่วยเหลือกันอยู่เสมอ และจะเน้นชีวิตที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก มีวัฒนธรรม และเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่สืบทอดจากปู่ย่าตายายจากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันด้วยหลาย ๆ อย่างได้แพร่เข้ามาในพื้นที่ชุมชนจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยอดีตไปบ้างเล็กน้อยเพื่อความสะดวกตามยุคตามสมัย เช่น การแต่งกาย เครื่องมือสื่อสาร เส้นทางในหมู่บ้าน เป็นต้น
ลักษณะบ้านเรือน
การสร้างบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในจะสร้างบ้านเรือนตามแนวภูเขาเป็นบ้านเรือนอยู่ 2 แบบ แบบแรกจะสร้างสองชั้นเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ แบบที่สองจะสร้างแบบไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง มีจะปลูกต้นไม้หรือผลไม้อยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน อีกทั้งมีสวนอยู่ใกล้บ้านไว้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทำเป็นอาหาร มุงหลังคาบ้านส่วนใหญ่จะเป็นกระเบื้อง ไม่มีรั้วกั้นระหว่างแต่ละหลัง มีถนนคอนกรีตเดินผ่านไปหน้าหมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ในด้านต่าง ๆ ในตัวบ้านจะกั้นห้องส่วนใหญ่จะมีสองห้อง และหน้าห้องนอนจะเป็นห้องโถงในรูปแบบกว้างไว้สำหรับการต้อนรับแขกผู้มาเยือน ที่ทำครัวจะแยกออกมาเป็นอีกบ้าน แต่บางครอบครัวพ่อกับแม่จะนอนห้องเดียวกันที่ทำครัว เพื่อที่บ้านอีกหลังไว้ให้ลูกใช้เป็นที่นอน อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่จะสร้างบ้าน 1-2 หลังต่อครอบครัว เพื่อสร้างไว้ให้กับลูก ๆ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะสร้างบ้านด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันการหาไม้มาสร้างบ้านยากต่อบุคคลรุ่นลูกรุ่นหลานจึงสร้างเผื่อไว้เนื่องจากมีกลุ่มป่าไม้เข้ามาตรวจประกาศให้มีการอนุรักษ์ป่าไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่า
การแต่งกาย
การแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหมู่บ้านอมลานใน ส่วนใหญ่จะมีการแต่งกายต่างไปจากดั้งเดิม เมื่อก่อนจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเกือบทั้งหมดเนื่องด้วยถิ่นฐานระยะทางไกลจากตัวเมืองไม่สะดวกที่จะไปหาซื้อสิ่งของเครื่องใช้รวมทั้งไม่มีเงินตราอีกด้วย แต่ปัจจุบันกลุ่มคนพื้นที่แห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการแต่งกายจะมีการแต่งกายแบบกลุ่มคนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่เนื่องด้วยเทคโนโลยีและวัฒนธรรมภายนอกได้แพร่กระจายเข้ามาในหมู่บ้านจึงทำให้หมู่บ้านอมลานในได้มีความเจริญในด้านต่าง ๆ การแต่งด้วยผ้าทอจะเห็นเป็นส่วนน้อย อีกทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แลเห็นการแต่งผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ จึงได้เลียนแบบการแต่งกายเหมือนกลุ่มคนเหล่านั้นเนื่องจากเสื้อผ้ามีความงดงามสามารถใส่ในโอกาสต่าง ๆ ได้ รวมทั้งราคาไม่แพงอีกด้วยปัจจุบันเหลือแต่ผู้สูงอายุบางส่วนที่แต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ แต่ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยนิยมแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ของตนเองแล้ว แต่ยังคงมีอนุรักษ์การแต่งกายในการประกอบพิธีต่าง ๆ เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสวมใส่ เช่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใสเสื้อผ้าทอสีดำ หรือเรียกว่า เชซู จะใส่ผ้าถุงสีแดงเลือดหมู ผู้ชายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะใส่เสื้อผ้าทอจะสีแดง หรือเรียกว่า เชกอ ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะใส่เสื้อขาวบริสุทธิ์ทรงกระบอกที่มีลายขีดขวากลางอก และชายเสื้อด้านล่างที่มีลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น
ประวัติผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหมู่บ้านอมลานใน
ผ้าทอขอกลุ่มชาติกะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในมีตั้งสมัยบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อ ๆ กันจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอกลุ่มนี้อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงไร้ความเจริญไม่มีเครื่องนุ่งห่มที่จะสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ บรรพบุรุษจึงได้คิดค้นการทอผ้าขึ้นมา แต่ยังไม่มีใครได้ทราบถึงความแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้นการผลิตผ้าทอขอกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ เพราะในสมัยอดีตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มนี้เขียนหนังสือไม่ได้อ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่สนใจประเด็นว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งการผลิตการทอผ้า แต่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้จะจดจำแต่วิธีการทำและการออกแบบลวดลาย เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอกลุ่มนี้จะรักการทอผ้ามากจะทอผ้าในรูปแบบกี่เอวหรือสายคาดหลังที่มีโครงสร้างเล็ก ๆ สามารถพบไปไหนมาไหนได้สะดวก และวิธีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน มีกระบวนการทอง่ายและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายเหมาะกับผ้าทอกะเหรี่ยงที่มีขนาดผ้าที่ไม่กว้างมาก เพราะสมัยอดีตผ้าทอมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอพื้นที่นี้มากไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม การแต่งกาย และประเพณีความเชื่อ เป็นต้น จึงทำให้กลุ่มชาติพันธ์ุกลุ่มนี้รักการทอผ้าไปไหนมาไหนก็พบไปด้วย เช่น การไปทำงานที่ไร่ที่นาจะไปค้างคืนเนื่องด้วยที่ทำมาหากินห่างไกลจากหมู่บ้านไม่มีรถใช้ในการเดินทางจึงต้องเดินไปในพื้นที่ทำงานและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะถึงในพื้นที่ ไร่ นา สมัยอดีตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ทำอาชีพปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวจะมีเวลาว่างจากการทำงานมากพอสมควร แต่จะออกไปทำงานเช้า จะทำงานแค่ครึ่งวันเวลาที่เหลือผู้ชายส่วนใหญ่จะไปหาของป่าเป็นอาหารส่วนผู้หญิงจะทอผ้าที่พบมาจากบ้าน ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากสืบทอดจากบรรพบุรุษปัจจุบันผลิตหัตถกรรมการทอผ้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของอุปกรณ์ และการใช้งานรวมทั้งลักษณะของผ้าไปบ้างแล้ว
อุปกรณ์ในการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอบ้านอมลานใน ส่วนใหญ่ทำจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นที่ทำจากไม้ และไม้ไผ่ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษและได้มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และกาลเวลา ดังต่อไปนี้
ที่กรอด้าย (เจาะกัว) เป็นการกรอด้ายที่ก่อนที่จะขึ้นเครื่องทอจะทำมาจากไม้และไม้ไผ่ที่หาได้ตามท้องถิ่น มีกิ่งติดกันอยู่เป็นรูปการกากบาก ใช้ไม่ไผ่อ่อนที่มีก้าน 4 ชิ้น และนำไม้ไผ่ทรงกะบอกมาตั้งไว้ตรงกลางกับไม้ที่ตัดตกแต่งด้วยรูปวงกลม ตรงกลางเจาะรู 4 รู แล้วนำไม้ง่ามเสียบสลับกันให้ออกมาเป็นรูปการกากบาก แล้วนำด้ายที่ทำสำเสร็จจากโรงงานกรอไว้แล้วปั่นในออกมาเป็นลูกวงกลมเพื่อที่เวลาขึ้นเครื่องทอด้ายจะไม่ติดพันกัน และทำให้การทอผ้านั้นได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น ปัจจุบันที่กรอด้ายจะไม่ค่อยได้ใช้งานแล้ว เพราะกลุ่มแม่บ้านที่ชอบด้านหัตถกรรมการทอผ้าจะซื้อด้ายที่ปั่นสำเร็จรูปจากท้องตลาด หรือมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายในพื้นที่ชุมชน อย่างไรก็ตามที่กรอด้ายยังคงมีความสำคัญที่ต้องใช้ในการทอผ้าบางชนิด เช่น การทอผ้าถุงเนื่องจากมีขนาดผ้ากว้างต้องใช้ด้ายสีที่หลากหลาย ปัจจุบันที่กรอด้ายจึงได้มีการเปลี่ยนจากไม้ไผ่เป็นท่อน้ำทรงกระบอกแทนเพื่อความทนทานในเวลาใช้งาน และไม่เสียง่ายเหมือนไม้ไผ่
ที่คาดเอว (หย่อแคว่) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขับหลังเพื่อมัดทะทิให้แน่นเวลาทอผ้าด้ายจะได้ตึงพอประมาและเนื้อผ้าจะมีความประณีต สมัยอดีตส่วนใหญ่ทำจากหนังสัตว์เนื่องด้วยมีสัตว์หลากหลายชนิดนำมาทำเป็นอาหาร เช่น หนังกวาง หนังวัว เป็นต้น
ปัจจุบันสัตว์เหล่านั้นได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว จึงเปลี่ยนแปลงที่คาดเอวจากหนังสัตว์เป็นกระสอบปุ๋ย นำมาพับให้เป็นสามชั้นให้เท่ากัน ๆ แล้วนำด้ายมาเย็บให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 7 นิ้ว ยาว 30 นิ้ว ปลายหนังทั้งสองข้างเจาะรูไม้เล็ก ๆ ตรงกลางระหว่างไม้แล้วนำเชือกที่เตรียมไว้เป็นหัวมัดให้แน่น ใช้สำหรับคล้องกับทะทิ เวลาทอผ้าจะไม่ทำให้ปวดเอว เพราะเนื้อผ้าที่คาดเอวมีความนุ่ม
ทะทิ สมัยอดีตจะทำจากไม้เป็นไม้เนื้อแข็งตัดและนำมาเหลาเนื้อไม้ให้กลมเสมอกันไม่เล็กและไม่ใหญ่มากแล้วนำมาผ่าครึ่งความยาวประมาณ 26 นิ้ว เพื่อประกบกับเชือกเส้นเล็กรั้งกับเอว ปลายไม้ทั้ง 2 ข้างจะตัดให้เป็นช่องใช้สำหรับรั้งเชือกจากแผนหนัง (ที่คาดหลัง) ดึงด้ายให้ตึงและม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จแล้วเพื่อที่จะทำให้ผ้าที่ทอเสร็จไม่ยับและกระทบผ้าให้แน่นได้พอดี
ปัจจุบันทะทิมีลักษณะการทำและความสูงเท่าเดิมแต่จะเปลี่ยนจากไม้เป็นไม้ไผ่เนื่องจากมีเนื้อเรียบและน้ำหนักเบาไม่ทำให้ด้ายขาดทำง่ายไม่ยุ่งยากและยังสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น
หลื่อชุย เป็นไม้ตรงและกลม ทำจากไม้เนื้อแข็งขนาดเท่านิ้วชี้ ยาวประมาณ 25 นิ้ว ใช้ในการทอผ้า 3 อัน ใช้สำหรับคล้องด้ายตะกอ เพื่อแบ่งเส้นด้ายเวลาขึ้นเครื่องทอผ้าโดยเรียกภาษากะเหรี่ยงว่า ตะเตอะบี เมื่อทอผ้าจะยกขึ้นสลับกับไม้กลุโข่ใช้สำหรับกำหนดแนวและจัดระเบียบเส้นด้ายยืน อีกทั้งใช้สำหรับกำหนดตะกอที่มีตะกอหลายชุดในการทอผ้าและการทำลวดลายผ้าบนเครื่องทอที่ต้องใช้หลื่อชุยหลายอันเพื่อที่ทำลวดลายผ้าได้อย่างหลากหลาย
ปัจจุบันหลื่อชุย ส่วนใหญ่จะไม่ทำเองจะหาซื้อในท้องตลาดใกล้บ้าน หรือสั่งให้ร้านทำบางครั้งจะมีผู้มาขายที่หมู่บ้านเนื่องจากหลื่อชุยจะทำจากไม้สัก และวิธีการทำนั้นยากพอสมควรจึงหาซื้อสะดวกกว่าการทำด้วยตัวเองอีกอย่างปัจจุบันไม้สักหาได้ยากในท้องถิ่นอีกด้วย
กรุโข่ ทำจากไม้ไผ่ มีลักษณะกลมเหมือนทรงกระบอก ไม่ใหญ่เกิน และไม่เล็กเกิน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1- 2 นิ้ว ใช้สำหรับด้ายที่ทอกับผนัง ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังใช้ไม้ไผ่เหมือนเดิมเนื่องจากมีเนื้อผิวเรียบไม่ทำให้ด้ายขาด และมีน้ำหนักหนักเบาเหมาะที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้
เบอะ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการทอผ้ารูปแบบกี่เอว ถ้าขาดถ่าเบอะจะไม่สามารถทอผ้าได้ ถ่าเบอะสมัยอดีตจะทำด้วยไม้ไผ่ จะเจาะรูเป็น 5 ช่อง ช่องแรกเป็นทะโบโข่ขนาดประมาณ 3 นิ้ว ช่องที่ 2 เป็นต่าเตอะบี จะเจาะรูเท่านิ้วชี้ ช่องที่ 3 จะเรียกว่า แน โดยใส่กรุโข่แทนก่อน ช่องที่ 4 เรียกว่ากรุจะมีขนาดรูเท่าช่องที่ 2 โดยใช้หลื่อชุยแทนที่ก่อนเช่นเดียวกัน ช่องที่ 5 เรียกว่าทะลู ปัจจุบันถ่าเบอะจะทำจากไม้สัก เนื่องจากคนรุ่นใหม่แลเห็นเป็นไม้เนื้ออ่อน และทนทานต่อการใช้งาน และถ้าต้องการความยาวของผ้าทอสามารถเจาะได้หลากหลายรูได้ตามที่ต้องการ
ไม้กระทบ (หน่อทะแพะ) เป็นไม้แผ่นเนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าประมาณ 3- 4 นิ้ว ยาว 20 – 25 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว ปลายไม้ข้างหนึ่งจะเหลาให้เฉียบลงพอประมาณ อีกข้างจะมีขนาด 3 นิ้ว ไม้กระทบใช้สำหรับแยกด้ายยืนให้มีช่องกว้างมากขึ้น เพื่อสะดวกในการสอดด้ายขวา และใช้กระทบด้ายขวาให้แน่น
ปัจจุบันทำจากไม้แข็งเหมือนเดิมส่วนใหญ่จะเป็นไม้สักเนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนและมีน้ำหนักเบาสะดวกต่อการทอผ้า
หน่อแช เป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทอผ้าจะใช้เสียบผ้าด้านซ้ายและด้านขวาเพื่อในเวลากระทบผ้าไม่ให้ผ้าทอมีขนาดเล็กลง หนอแชะจะทำจากไม้ไผ่เหลาให้เป็นแผ่นและเหลาทั้งด้านซ้ายและด้านขวาให้แหลม ขนาดหน่อแชะไม่เกิน 1 นิ้ว ความยาวแล้วแต่ขนาดของผ้าแต่ละผืน ถ้าผ้าทอมีขนาดผ้ากว้างต้องใช้หน่อแชะยาวและถ้าขนาดเล็กต้องใช้สั้น
วัสดุอุปกรณ์ของผ้าทอที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นในสมัยอดีตส่วนใหญ่จะทำจากธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่น ปัจจุบันอุปกรณ์ในการทอผ้าส่วนใหญ่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม และมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสำหรับการใช้งานของอุปกรณ์การทอผ้าให้ทนทานและเหมาะสมกับผู้ที่ชอบด้านหัตถกรรมการทอผ้าแบบกี่เอวมากขึ้น เช่น ที่คาดหลังเปลี่ยนจากหนังสัตว์เป็นกระสอบปุ๋ย ฝ้ายเปลี่ยนจากด้ายที่สำเร็จรูปจากโรงงาน แต่ยังมีบางอันที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ที่แลเห็นและยังดีต่อการใช้งาน
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหมู่บ้านอมลานในมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั่วไป จะใช้การสนทนาในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงด้วยการด้วยภาษากะเหรี่ยง แต่จะสนทนากับกลุ่มเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงด้วยภาษาพื้นราบ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า เป็นต้น ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่พูดภาษาพื้นราบได้เกือบหมดทุกคน กลุ่มผู้สูงอายุจะฟังภาษาไทยออกบ้างแต่ไม่สามารพูดได้ เนื่องจากสมัยอดีตไม่ได้เล่าเรียนหนังสือ และในพื้นที่หมู่บ้านอมลานในห่างไกลจากตัวเมืองอีกด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้ติดต่อกับบุคคลภายนอกจึงทำให้ไม่สามารพูดภาษาไทยได้ แต่คนรุ่นใหม่ด้วยสังคมวัฒนธรรมทันสมัยขึ้นทำให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เรียนรู้ถึงภาษาไทยจึงสามรถอ่านออกเขียนได้ แต่ส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด เพราะภาษากะเหรี่ยงเป็นการสนทนาใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตั้งแต่เกิดมาสนทนาได้ และนาน ๆ ทีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้จะได้ใช้ภาษาไทยกับกลุ่มคนพื้นราบเพราะในพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้มีแต่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่มี
การเปลี่ยนแปลงลักษณะและการใช้งานของผ้าทอ
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ตั้งแต่สมัยอดีตไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้สำหรับสวมใส่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายจึงมีผู้คิดในการทอผ้าประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ซึ่งผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอบ้านอมลานในมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่บ่งบอกการเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะรวมไปถึงด้านการใช้งานการใช้งานตามสมัยนิยมของคนรุ่นใหม่ สามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะและการใช้งานของผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอได้ดังต่อไปนี้
เสื้อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผู้หญิง (แต่งงานแล้ว) ผ้าทอของกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้วสมัยอดีตจะมีสีดำเพียงสีเดียว เรียกว่า “เชซู” จะทำจากฝ้าย ลักษณะเสื้อจะมีขนาดผ้ากว้าง ยาว และหนา ตรงกลางอกเสื้อจะตกแต่งด้วยลวดลายจกด้วยด้ายสีชมพูอ่อนตั้งแต่อกเสื้อจนถึงชายเสื้อ บางตัวจะปักเย็บด้วยฝ้ายหรือลูกเดือยให้ออกมาเป็นลวดลายสีเหลี่ยมคางหมู รูปการกากบาก หรือลูกเม็ดฟักทองส่วนใหญ่จะนิยมใส่ลวดลายสีเดียว และจะประดับด้วยเชนุยที่ชายเสื้อให้เป็นเส้น ๆ ประมาณ 10 เซนติเมตรเมื่อผ้าทอเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะนำผ้า 2 ผืนมาเย็บต่อกับให้เป็นผืนเดียว ระยะเวลาต่อมาได้มีการนิยมทอผ้าสีที่หลากหลายตามใจชอบและมีการคิดค้นลวดลายผ้าทอใหม่ คือ การนำลวดลายดั้งเดิมและลวดลายใหม่นำมาถักทอให้ออกมาเป็นลวดดอกไม้ เช่น ลายดอกพริก ลายดอกมะเขือ ลวดลายลอยเท้าสุนัข และอื่น ๆ แต่การทำลวดลายดังนี้จะใช้ด้ายสีค่อนข้างมากพอสมควร และใช้เวลายาวนานมากกว่าจะเสร็จแต่ละผืน ปัจจุบันเสื้อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะนิยมผ้าทอสีที่หลากหลายและผ้าทอแต่ละตัวนั้นจะมีขนาดผ้าไม่กว้างและไม่ยาวจะสมส่วนเหมาะกับผู้ที่สวมใส่ในแต่ละคน แต่จะไม่นิยมลวดลายดั้งเดิม เช่น ลวดลายจก ลวดลายการกากบาก และการถักเป็นรูปดอกไม้ เนื่องจากใช้ระยะเวลานานในการทอแต่ละผืนถ้าไม่ใช่ผู้ที่สามารถทอผ้าได้ จะไม่สามารถทำได้ และอีกอย่างปัจจุบันไม่มีผู้นิยมสวมใส่กันแล้ว เนื่องด้วยสภาพอากาศปัจจุบันค่อนข้างที่จะร้อนเนื้อผ้าทอหนาไม่สะดวกในการสวมใส่ หรือการทำกิจวัตรประจำวัน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ที่รักในด้านหัตถกรรมการทอผ้าจะนิยมการปักลวดลายมากกว่าการทำลวดลายบนเครื่องทอเพราะการปักเย็บมีความสวยงามและมีความประณีตกว่าการทำลวดลายบนเครื่องทอ อีกทั้งสามารถตกแต่งลวดลายและคิดค้นรูปแบบใหม่ได้ตามที่ต้องการ
ในด้านการใช้งานเสื้อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้วในสมัยอดีตเสื้อผ้าจะใช้สวมใส่เป็นกิจวัตรประจำวัน เนื่องด้วยไม่มีผ้าชนิดอื่นที่จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ปัจจุบันผ้าทอกะเหรี่ยงได้ถูกลดบทบาทการใช้งานลง เนื่องจากปัจจุบันมีเสื้อผ้ามากมายหลายชนิดที่มีความสวยงามให้เลือกสวมใส่ อีกทั้งราคาไม่แพงสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด และประชากรหันมาแต่งตัวเหมือนกลุ่มคนพื้นราบทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามเสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้วยังมีความสำคัญในการประกอบทำพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาอยู่เสมอ เช่น การแต่งงานจะต้องแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่านั้นไม่สามารถใส่ชุดทั่วไปได้ หรือชุดแต่งงานอย่างคนพื้นราบไม่เช่นนั้นถึงว่าพิธีแต่งงานไม่สำเร็จ
ผ้าถุง (นี่) ของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอมีความสวยงามและไม่เหมือนใครโดยลักษณะของผ้าถุงเป็นทรงกระบอกในสมัยอดีตจะนิยมทอด้วยผ้าฝ้ายจะมีขนาดผ้ากว้าง ยาว และหนา จะนิยมทอสีแดงสดลวดลายน้ำไหลเมื่อทอเสร็จจะนำผ้าถุงมาตัดครึ่งแล้วเย็บต่อการให้เป็นรูปทรงกระบอก
ปัจจุบันผ้าถุงจะนิยมทอด้วยด้ายที่หาซื้อได้จากในท้องตลาดทั่วไป ลักษณะรูปแบบผ้าถุงจะไม่กว้างไม่ยาวจะพอดี และจะปักเย็บเข้ารูปจะมีการทอด้วยลวดลายดั้งเดิม คือลวดลายน้ำไหลแต่ลวดลายนี้มีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว และนิยมทอด้วยสีที่หลากหลายให้เข้ากับสีเนื้อผ้าตามที่ต้องการ เมื่อทอเสร็จแล้วจะนำส่งให้ร้านปักเย็บใกล้บ้าน บางตัวจะเย็บเข้ารูปจะตัดเป็นกระโปรงสั้นคล้าย ๆ กระโปรงพลีทและจะเย็บปักตกแต่งด้วยโบว์เหตุที่ต้องส่งร้านเย็บผ้าเนื่องจากการเย็บด้วยมือทำให้ด้ายหลุดง่ายไม่ทนทานต่อการใช้งาน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมสวมใส่กันแล้วแต่จะมีการใส่อยู่บ้างสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะใส่ในโอกาสและพิธีการต่าง ๆ เช่น งานวัด งานแต่งงาน การเข้าโบสถ์ เป็นต้น
เสื้อผ้า (ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งาน) มีลักษณะผ้าเป็นรูปทรงกระบอกสีขาวสีเดียว ในสมัยอดีตจะนิยมทอด้วยฝ้ายจะมีขนาดผ้ากวางและหนาชายเสื้อจะถักทอด้วยลวดลายจกแนวขวาเหมือนตรงกลางอกเสื้อรวมทั้งชายเสื้อด้านล่างด้วยสีแดงและน้ำตาล เสื้อของหญิงสาวบริสุทธิ์นั้นสมัยอดีตจะไม่ขาวใสแต่จะขาวเหลืองเนื่องด้วยทำจากผ้าฝ้ายบุคคลที่สวมใส่ได้นั้นจะต้องเป็นสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้น สมัยอดีตมีความเชื่อว่าถ้าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วกลับมาสวมใส่เสื้อผ้าทอสีขาวที่ใส่เฉพาะคนที่ยังไม่ได้แต่งงานจะทำให้ฝนไม่ตก จะร้อนตลอดทั้งปี
ปัจจุบันเสื้อผ้าทอขาวบริสุทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอจะนิยมยมทอด้วยด้ายที่มีสีหลากหลายจะตกแต่งลวดลายในการทอด้วยฝ้ายสีน้ำตาลดำในรูปแบบดั้งดั้งเดิมผสมลวดลายใหม่ เช่น ลายจก ลวดลายดอกหญ้า และลายผีเสื้อ ผ้าทอของผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานในยุคปัจจุบันจะไม่ทอเพียงแค่ลักษณะทรงกระบอกเพียงอย่างเดียวจะทอในรูปแบบครึ่งท่อนที่มีสีหลากหลายตามต้องการที่ผู้นิยมสวมใส่ การใช้งานของผาทอนั้นสีขาวใช้สำหรับสวนใส่ก่อนจะแต่งงานและโอกาสในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนสีอื่น ๆ สามารถสวนใส่ได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล
ผ้าโพกหัว (เข่อเพ่อกิ) ใช้สำหรับโพกหัวแก่ใช้ได้ทั้งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานรวมทั้งเด็กจะมีลักษณะยาวประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 10 นิ้ว ทั้งท่อนล่างและท่อนบนจะประดับด้วยลวดลายลายจก และลวดลายขีด และลวดลายรอยเท้าสุนัข ส่วนใหญ่จะทอด้วยสีแดงเลือดหมูปลายผ้าทั้งสองจะประดิษฐ์ด้วยริ้ว (เชนุย) ที่มีความยาวประมาณ 10 นิ้ว จะใช้สำหรับเพื่อกันแดดในหน้าร้อนและให้ความอบอุ่นในหน้าหนาวและเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นติดกับเส้นผม
ปัจจุบันผ้าโพกศีรษะจะมีความยาวสั้นลงสามารถโพกศีรษะได้รอบเดียวและการประดับตกแต่งด้วยลวดลายดั้งเดิมและลวดลายใหม่การนำลวดลายจกผสมกับลายดอกไม้และลายขีด ตามความชอบและความที่ต้องการแต่ส่วนใหญ่ยุคปัจจุบันไม่ค่อยนิยมโพกศีรษะกันแล้วเนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อน แต่ยังมีการโพกศีรษะในการถ่ายพรีเว้ดดิ้ง และการเดินขบวนงานผ้าซิ่นตีจกรวมทั้งงานอื่น ๆ เป็นต้น
เสื้อผู้ชาย (เชงอ) เป็นเสื้อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผู้ชายสามารถใส่ได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยอดีตจะนิยมทอด้วยผ้าฝ้ายที่ปลูกเองนำมาย้อมสีแล้วทำเป็นเสื้อผ้าเช่นเดียวกับเสื้อผู้หญิง แต่จะมีสีเดียว คือ สีแดง จะตกแต่งเสื้อตรงกลางอก และชายเสื้อด้วยลวดลายจก ด้วยฝ้ายสีน้ำตาลเข้ม จะสวนใส่ในชีวิตประจำวัน เพื่อปกปิด และให้ความอบอุ่นร่างกายจากอากาศร้อนและอากาศหนาว
ปัจจุบันเสื้อกะเหรี่ยงผู้ชายบุคคลที่ชอบในด้านหัตถกรรมการทอผ้าได้มีการคิดค้นลวดลายแบบดั้งเดิมและแบบใหม่มาผสมผสานกันให้ออกมาเป็นในรูปแบบใหม่ที่ทำสมัยขึ้นและมีสีที่หลากหลายเช่นเดียวกับเสื้อผู้หญิง แต่ปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นผู้ชายกะเหรี่ยงใส่เสื้อผ้าทอกะเหรี่ยงแล้วจะพบเห็นแต่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเข้าวัด และเข้าโบสถ์ แต่เด็กนักเรียนใส่ไปโรงเรียนทุกวันศุกร์ เป็นต้น
กระเป๋า หรือ ย่าม (เถอะ) เป็นเครื่องใช้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอตั้งแต่สมัยอดีตย่ามจะทอด้วยผ้าฝ้ายจะไม่ตกแต่งลวดลายมากนักจะใช้สำหรับใส่ของใช้และของกินเนื่องจากสมัยอดีตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่มีกระเป๋าชนิดใดไว้ใส่สิ่งของจึงมีบรรพบุรุษได้คิดค้นผลิตกระเป๋าผ้าชนิดต่าง ๆ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เวลาไปที่ทำการเกษตรกรรมหรือสวนจะเก็บผักผลไม้ใส่ในกระเป๋าไว้เป็นอาหาร ย่ามในปัจจุบันได้มีการพัฒนาลักษณะและลวดลายสีสันที่สดใสผู้ที่ชอบทอผ้าจะทอย่ามด้วยสีที่หลากหลายในด้านการใช้งานจะเหมือนเดิมตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การไปไร่ ไปนา และรวมทั้งใช้เป็นของที่ระลึกมอบให้แขกที่มาเยือนหมู่บ้าน หรือมาบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญย่ามมีความสำคัญต่อพิธีแต่งงาน เจ้าสาวต้องทอให้เจ้าบ่าวไว้ใช้ในพิธีแต่งงาน เป็นต้น
ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอหมู่บ้านอมลานในที่กล่าวมาข้างต้นนี้ อดีตมีขั้นตอนกระบวนการผลิตแต่ละผืนมีทั้งยากและง่ายอยู่ที่ขนาดและลวดลายของผ้าโดยการผลิตผ้าทอจะใช้ฝ้ายกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน เนื่องด้วยการทำดอกฝ้ายให้เป็นเส้นฝ้ายใช้ในการทอผ้านั้นมีหลากหลายขั้นตอน ซึ่งผ้าทอแต่ละผืนมีเนื้อผ้าค่อนข้างหนา หนักและมีขนาดใหญ่ ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้าแต่ละชิ้นนั้นค่อนข้างใช้จำนวนมาก เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาผ้าทอได้มีการเปลี่ยนแปลงการมาใช้ด้ายในรูปแบบสำเร็จรูปจากโรงงานรวมทั้งอุปกรณ์วัตถุดิบ และลวดลายผ้าได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตามสมัยนิยมเนื่องด้วยสังคมนิยมมีความทันสมัยขึ้นจึงสามารถหาซื้อด้ายได้ง่ายตามท้องตลาดอีกทั้งมีให้เลือกซื้อด้ายสีที่หลากหลายส่งผลให้ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นลวดลาย สีผ้า และขนาดของผ้า
ถึงแม้ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านอมลานในได้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านการผลิตรวมทั้งลักษณะและการใช้งานของผ้าทอ แต่อย่างไรก็ตามผ้าทอกะเหรี่ยงและลวดลายดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้สืบทอดยังคงมีการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของหมู่บ้าน และอีกทั้งยังสืบทอดให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อไม่ให้ลืมวัฒนธรรมในชุมชนหมู่บ้าน
ปัจจุบันผ้าทอของกลุ่มชาติกะเหรี่ยงพื้นที่หมู่บ้านอมลานในได้มีการใช้งานในกิจวัตรประจำวันที่น้อยลง สมัยอดีตผ้าทอมีความสำคัญต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอบ้านอมลานในเป็นอย่างมาก ประชากรในชุมชนนำมาใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งนำผ้าทอมาสวมใส่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเนื่องด้วยเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางป่าใหญ่ สภาพอากาศค่อนข้างที่มีอุณหภูมิสูงผ้าทอไม่สำคัญเพียงเฉพาะการสวมใส่ แต่มีความสำคัญต่อการประกอบพิธีกรรมทาศาสนาอีกด้วย แต่ปัจจุบันด้วยหลากหลายปัจจัยได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี การศึกษา และการดำรงชีวิตประจำวันกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ได้แลเห็นว่าการเปลี่ยนการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่จะทำให้มีความสะดวกสบายกว่าสมัยอดีตจึงได้เปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้เหมือนกลุ่มคนพื้นราบ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหารการกิน รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีความสะดวกสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอบ้านอมลานในได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านอุปกรณ์ผ้าทอ ลักษณะและการใช้งานของผ้าทอกะเหรี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน แต่การใช้งานในการประกอบประเพณีพิธีกรรมยังคงเหมือนเดิม โดยผ้าทอมีบทบาทต่อการทำพิธีแต่งงาน เนื่องจากเป็นข้อบังคับในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน และทั้งจำเป็นที่ต้องเหมาะให้สำหรับผู้ที่เป็นแม่สามีอีกด้วยรวมทั้งพิธีเลี้ยงผีในเทศกาลสงกรานต์ การดำหัวผู้สูงอายุ และการเข้าวัด เข้าโบสถ์ เป็นต้น
ลักษณะการสืบทอดการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
การสืบทอดการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอบ้านอมลานในถึงแม้จะถูกลดบทบาทลงในด้านการใช้งาน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนเองและสืบทอดให้บุคคลที่รัก การผ้าทอรวมทั้งรุ่นลูกรุ่นหลาน
วิธีการสืบทอดการทอผ้า
วิธีการสืบทอดการทอผ้าให้รุ่นหลังให้ทอผ้าเป็นเพื่อที่ให้ลูกหลานไม่ลืมวัฒนธรรมของตนเอง เวลามีครอบครัวจะได้ไม่ต้องหาซื้อจากที่ไหน เพราะว่าผ้าทอมีความสำคัญต่อการทำพิธีกรรม เช่น พิธีแต่งงานเจ้าสาวต้องทอผ้าให้เจ้าบ่าว และแม่ของเจ้าบ่าวอีกด้วย ผ้าทอสมัยปัจจุบันราคาค่อนข้างแพงและการผลิตแต่ละพื้นนั้นต้องใช้ระยะเวลานาน วิธีการสืบทอดการทอผ้าต้องเริ่มจากการทอย่ามเนื่องจากการทอย่ามเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการทอผ้าชนิดอื่น ๆ ไม่ต้องใส่ลวดลายอะไร จึงใช้วิธีขั้นตอนในการทอผ้าดังต่อไปนี้
1) เตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทอผ้าให้ครบโดยจะมีอุปกรณ์ในการขึ้นเครื่องทอดังนี้ ด้าย ท่าเบอะ กรุ แน ตะเตอะบี ทะโบโข่ และทะลู แล้วนำมาตั้งไม้เครื่องทอรูปแบบกี่เอว แล้วนำเส้นด้ายมาเรียงต่อกันตามแนวนอนอย่างมีระเบียบ โดยพันรอบกับส่วนประกอบของเครื่องทอ และก่อนที่จะมีการขึ้นด้ายจะต้องมีการเตรียมเส้นด้ายที่ปั่นด้ายเสร็จเรียบร้อย
2) เริ่มต้นคล้องด้ายลงที่หลักที่ 1 แล้วนำเส้นด้ายผ่านหลักที่ 2,3,4,นำไปคล้องที่หลักที่ 5 และนำกลับมาคล้องที่หลักที่ 1 ต่อ
3) ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกัน นำมาพันรอบหลักที่ 2 แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตามขนาดผ้าที่ต้องการ
4) เมื่อคล้องด้ายได้ตามขนาดผ้าที่ต้องการแล้วสอดไม้ทั้งหมดออกจากเครื่องทอ และนำทะทิสอดเข้าไปแทนไม้ใส่ตะกอที่ 1 นำหลื่อทุยมาใส่แทนกรุที่เป็นแนช่องที่ 3 และนำกรุแทที่หลื่อทุยสอดเปลี่ยนไม้ใส่ตะกอที่ 4 ซึ่งต้องใช้ช่วยแยกด้ายเวลาทอ ส่วนไม้สุดท้าย ใส่ทะเตอะโบเพื่อที่จะไปรั้งไว้กับผนัง เมื่อเสร็จจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วนำมาทอเป็นเครื่องรูปแบบทอกี่เอว และเสร็จจากการทอผ้าก็นำไปปักเย็บให้เป็นย่าม ก็เป็นขั้นตอนอันเสร็จสมบูรณ์
วัสดุอุปกรณ์ที่ถูกสืบทอดเปลี่ยนจากดั้งเดิมเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ยากและแทบจะไม่มีให้ใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น ที่คาดเอวที่ทำจากหนังสัตว์ ผู้ที่ชอบการทอผ้าเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่ผู้สูงอายุไม่มีแรงในการทอผ้า หรือทอผ้าถ้าใช้เวลาในการทอนาน ๆ ทำให้เจ็บปวดตามร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว จึงสืบทอดที่คาดเอวให้แก่ลูกให้แก่หลานนำไปใช้ในการทอผ้า
ส่วนระยะเวลาในการสืบทอดลวดลายการทอผ้า จะมีสองแบบ คือ แบบถักทอลวดลายบนเครื่องทอกับแบบปักเย็บลวดลายต่าง ๆ แบบถักทอลวดลายบนเครื่องทอจะต้องใช้ระยะเวลานานถึง 1-3 อาทิตย์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์จริง ๆ เนื่องด้วยมีวิธีการทำที่ยากและมีความสลับซับซ้อนซึ่งต้องเป็นบุคคลที่สนใจ และรักในด้านการทอผ้าจริง ๆ เท่านั้น ถึงจะทอได้ แบบปักเย็บลวดลาย ไม่ยากและก็ไม่ง่ายถ้ามีความตั้งใจสามารถทำได้โดยส่วนใหญ่จะทำลวดลายดอกไม้และลวดลายลายผีเสื้อที่เอาลวดลายจากดั้งเดิมมาผสมดัดแปลงเป็นลวดลายในรูปแบบใหม่ที่ให้ความดึงดูดผู้ที่สนใจในด้านการทอผ้ามากขึ้น และการจะใช้เวลาในการปักเย็บ 1-2 อาทิตย์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย
การทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะนิยมทอผ้าแบบกี่เอวเป็นเครื่องทอเล็ก ๆ สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามสะดวกที่ต้องการ การทอผ้านั้นหากไม่ได้ลองด้วยตัวเองจะคิดว่าง่าย แต่หากเป็นผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญในด้านการทอผ้ารูปแบบกี่เอวจะทอยากพอสมควรด้วยวิธีและขั้นตอนกระบวนการทอมีความสลับซับซ้อนและการทอผ้านั้นต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการทอผ้า มีความใจเย็น และเป็นคนมีความประณีตจึงจะทำได้ เนื่องจากผ้ากะเหรี่ยงถ้าอยากให้ออกมาในรูปแบบที่สวยงามต้องทออย่างทะนุถนอมและใช้ความละเอียดอ่อนในการทำลวดลายโดยเฉพาะลวดลายเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2555). กะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ: กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2538). ชาวเขา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ ฯ: แพร่วิทยา.
วิไลพร ดำรงพันธ์บวร. (2562). การเปลี่ยนแปลงและการสืบทอดผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ หมู่บ้านอมลานใน ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
สมัย สุทธิธรรม. (2551). กะเหรี่ยง. กรุงเทพ ฯ: เวิลด์ มีเดีย.