บ้านหัวนอนมีบทบาทสำคัญในการฟื้นคืนสายพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิวที่กำลังจะสูญหาย ให้กลับมามีชีวิตเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง ภายใต้การนำของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสนบ้านหัวนอน
บ้านหัวนอนมีบทบาทสำคัญในการฟื้นคืนสายพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิวที่กำลังจะสูญหาย ให้กลับมามีชีวิตเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง ภายใต้การนำของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสนบ้านหัวนอน
หมู่บ้านหัวนอนเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เท่าที่ปรากฏหลักฐานสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หัวเมืองยิ่ง เจ้าเมืองปะทิว ได้นําไพร่พลหลบหนีข้าศึกมาหลบซ่อนอยู่บนเขาบ้านหัวนอน หลังจากที่ได้ขับไล่ข้าศึกไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2353 หัวเมืองยิ่งได้นําไพร่พลก่อสร้างเจดีย์ไว้ยอดบนเขา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและยังมีหลักฐานปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
คําว่า “หัวนอน” หมายถึง ทิศใต้ บ้านหัวนอนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอําเภอปะทิว อยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร บ้านหัวนอนมีคลองท่าหลาหรือคลองท่าตาเสือไหลผ่าน พื้นที่เป็นที่ราบ มีทั้งพื้นที่สวนมะพร้าว และพื้นที่ทํานา ทางทิศใต้ของบ้านหัวนอนเป็นเนินเขาสูง เรียกว่า ดอนกุฎี เป็นที่ตั้งของวัดและ โรงเรียนวัดดอนกุฎี พื้นที่ทางทิศเหนือและทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม เป็นที่ทํานาของหมู่บ้าน ทิศตะวันออกของบ้านหัวนอนเป็นชุมชนเก่าแก่ เรียกว่า “บ้านล่าง” มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในที่นาโดยรอบ เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของของหลวงพรหมสุภา นายอําเภอปะทิวคนแรก ต้นตระกูล “จินดาพรหม” และถิ่นกําเนิดของต้นตระกูล “ทองภูเบศร์” ที่สืบเชื้อสายมาจากหัวเมืองยิ่งเจ้าเมืองปะทิวในอดีต
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านหัวนอนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทางด้านทิศเหนือและตะวันออก บริเวณทิศใต้เป็นเนินเขาสูงเรียกว่า ดอนกุฎี เป็นที่ตั้งของวัดและโรงเรียนดอนกุฎี ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่เรียกว่า บ้านล่าง พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในที่นา พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้ทีนสำหรับการเกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นพื้นที่นาและสวนมะพร้าว
ในชุมชนมีคลองประจําหมู่บ้านชื่อว่า “คลองท่าตาเสือ” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์จากคลองดังกล่าวทั้งในด้านการอุปโภค อันได้แก่ ใช้ทําความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ล้างภาชนะ ไปจนถึงการนำน้ำจากคลองมาใช้สําหรับดื่มกินและทำอาหาร นอกจากคลองท่าตาเสือจะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านในการอุปโภคและบริโภคแล้วชาวบ้านยังอาศัยคลองท่าตาเสือเป็นแหล่งน้ำสําคัญในการทํานา และการทําสวนต่าง ๆ โดยไม่จ๋าเป็นเป็นต้องอาศัยระบบชลประทานเพื่อทําเกษตรกรรม คลองท่าตาเสือนี้มีประวัติเล่าขานว่าเป็นคลองทีมีเสือที่ลงมาจากเขาเพื่อมาหาน้ำกิน ซึ่งบริเวณที่เสือมากินน้ำนั้นมีการสร้างเป็นท่าน้ำเอาไว้ ผู้คนจึงเรียกคลองนั้นว่า “คลองท่าตาเสือ”
สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศเขตพื้นที่หมู่บ้านหัวนอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะทําให้มีฝนตกในพื้นที่มากกว่าลมมรสุมอื่น ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาวมาจากประเทศจีน ขณะที่พัดผ่านทะเลจีนและอ่าวไทย ได้นําเอาไอน้ำมาด้วย จึงทําให้มีฝนตกชุก และความหนาวเย็นลดลง ฤดูกาลในบริเวณบ้านหัวนอนจึงแบ่งได้เป็น 2 ฤดูกาล ดังนี้ (พนม ทองภูเบศร์, ม.ป.ป: 19 อ้างถึงใน ณัฐภัทร สุนทรมีเสถียร, 2552: 29)
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคมเป็นเวลา 8 เดือน โดยในช่วงนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เป็นช่วงที่พื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทําให้ฝนตกชุกพอสมควร และในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมพื้นที่จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทําให้มีฝนตกหนัก
- ฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนนับเป็นเวลา 4 เดือน โดยเริ่มต้นช่วงปลายมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และติดต่อไปถึงช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดจากบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้น จึงทําให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก ในช่วงนี้มีฝนตกน้อยมากหรืออาจไม่มีฝนตกเลย
ภายในหมู่บ้านหัวนอนมีตระกูลเก่าแก่ที่มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับตระกูลอื่นในหมู่บ้าน คือ ตระกูลศิลปเสวตกับสัตยธร ทั้งสองตระกูลนี้เป็นสายตระกูลขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองทางเครือญาติกับตระกูลอื่น ๆ ในชุมชนแทบทั้งสิ้น ทําให้ในชุมชนชาวบ้านมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของเครือญาติ มีความรักใคร่ผูกพันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ แลกเปลี่ยนทัศนะ ไปมาหาสู่กันตามบ้านต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนอาหารซึ่งกันและกันระหว่างเครือญาติหรือเพื่อนบ้านในชุมชน ซึ่งนํามาสู่คําพูดในชุมชนว่า “ตกปลาช่อนได้หนึ่งตัวสามารถกินกันไปได้ทั้งปี” ซึ่งหมายความว่าหากครัวเรือนในครัวเรือนหนึ่งในชุมชนสามารถตกปลาช่อนมาได้หนึ่งตัว ก็จะแบ่งปลาช่อนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนํามาบริโภคในครัวเรือน และอีกส่วนหนึ่งจะนําไป แบ่งปันแก่ญาติหรือเพื่อนบ้านในชุมชนให้ได้รับประทานกัน ส่วนครัวเรือนที่ได้รับปลาช่อนไป หากวันไหนสามารถตกปลาช่อนมาได้ก็จะนําปลาช่อนไปแบ่งปันให้กับทั้งครัวเรือนที่เคยให้ปลาช่อนกับตนเองเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและตอบแทนซึ่งกันและกัน รวมทั้งนําไปให้กับทั้งครัวเรือนอื่น ๆ ด้วย
ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวนอนส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำนาและสวนมะพร้าว และมีการทำงานรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริมในช่วงว่างเว้นจากการดูแลที่นาหรือสวนมะพร้าว แต่เนื่องจากรายได้ที่ได้จากการรับจ้างเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ภายหลังจากเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นเกย์ถล่มพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งบ้านหัวนอนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านเกิดความเสียหายอย่างหนัก รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะฟื้นฟูช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรในเหตุการณ์ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนนาร้างในพื้นที่ภาคใต้ให้กลายเป็นสวนปาล์มอยู่แต่เดิม จึงได้ทำการแจกจ่ายสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้กับชาวบ้านนำไปปลูกทดแทนพื้นที่นาซึ่งสูญเสียเป็นนาร้าง และเนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเก็บผลผลิตได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง ทําให้ในปัจจุบันสัดส่วนอาชีพของชาวบ้านในหมู่บ้านหัวนอนเกิดความเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยทำนานาข้าวและสวนมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันชาวบ้านหัวนอนมีอาชีพการทําสวนปาล์มมากที่สุดถึงร้อยละ 50 รองลงมาเป็นการทําสวนยางพาราร้อยละ 30 อาชีพปลูกข้าวทํานาร้อยละ 14 สวนมะพร้าวร้อยละ 5 และประกอบอาชีพอื่น ๆ เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสน (บ้านหัวนอน)
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยพัฒนามาจากกลุ่มเกษตรกรมทำนาเดิม การรวมกลุ่มครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนในการเพิ่มอำนาจต่อรองหรือเจรจากับพ่อค้าในเรื่องความเป็นธรรมของราคาปุ๋ยและเมล็ดพันธุข้าว การก่อตั้งกลุ่มฯ นำมาซึ่การดำเนินกิจกรรมเพื่อเกษตรทำนาในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมากมาย ทั้งการจัดตั้งโรงสีชุมชน การปลูกข้าวปลอดสารพิษ การจัดทำโครงการข้าวเหลืองปะทิวคืนถิ่น ตลอดจนสามารถรักษาพื้นที่นาของชุมชนให้คงอยู่ไว้ด้วยจํานวนทั้งหมด 563 ไร่ โดยข้าวที่ปลูกมากที่สุดคือ ข้าวเหลืองปะทิว และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยพลังของชาวบ้านในการรวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์ที่เหมือนกัน ก่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และส่งผลไปถึงชุมชนให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ และช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน
วิถีชีวิตของชาวบ้านหัวนอนในอดีตมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความผูกพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน การอุปโภค บริโภคของชาวบ้านจะอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เช่น อาหารการกินต่าง ๆ ก็ใช้พืชผักสวนครัวหรือวัตถุดิบที่ปลูกขึ้นในชุมชน การก่อสร้างบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยก็สร้างจากไม้ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หาได้ในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนอาหารการกินระหว่างชาวบ้านด้วยกัน รวมถึงวัตถุดิบทางทะเล ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ชาวบ้านก็สามารถนำเอาออกไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในชุมชนหรือในชุมชนใกล้เคียงได้ อาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวและการทำสวนมะพร้าว โดยแต่ละครัวเรือนมีที่ดินสำหรับทำนำข้าวและพื้นที่สวนมะพร้าวเป็นของตนเอง
การทํานาของชาวบ้านจะช่วยเหลือลงแขกกันหรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “การตามแรง” โดยชาวบ้านจะออกจากบ้านไปทํานากันตั้งแต่เช้าตรู่พักกินข้าวกลางวันหนึ่งชั่วโมงและทําต่อจนถึงเวลาเย็นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน การตามแรงของชาวบ้านจะเริ่มตามแรงกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่นาด้วยการไถกลบหญ้าหรือวัชพืชอื่น ๆ ที่ขึ้นอยู่ในที่นาเสียก่อน ผันน้ำเข้าที่นา จากนั้นเป็นการทําหัวคันนาเพื่อกั้นน้ำที่จะไหลท่วมนาข้าวซึ่งอาจจะมากเกินไปและอาจจะทําให้หน่อข้าวเกิดการเน่าเสียได้ จากนั้นคราดดินในนาข้าวให้กลายเป็นดินโคลนหรือดิน เลน และดํากล้าข้าวเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในระหว่างการดำกล้าข้าวชาวบ้านจะกั้นคอกควายไม่ให้ ควายออกเหยียบต้นกล้าที่ชาวบ้านปลูก และเก็บมูลควายไว้เพื่อใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นข้าวต่อไป หากมูลเต็มคอกแล้วชาวบ้านก็จะทําการย้ายคอกและกันคอกใหม่ไปยังบริเวณอื่นต่อไป ในสมัยก่อนการดูแลรักษาต้นข้าวของชาวบ้านมักปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ทําให้การใช้ยาหรือสารเคมีกําจัดศัตรูพืชไม่แพร่หลายในชุมชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยก่อน ศัตรูพืชต่าง ๆ ในชุมชนได้แก่ แมลง เพลี้ย หอยเชอรี่ หรือนกต่าง ๆ ไม่ค่อยมีหรือหากมีจํานวนก็มีไม่มากมายนัก ซึ่งหากมีการใช้ยากําจัดศัตรูพืชจริง ๆ จะมีเพียงแค่การใช้ยาเบื่อในการจัดการกับปูนาเท่านั้น อีกทั้งชาวบ้านจะทิ้งช่วงให้ยาเมื่อสลายตัวก่อนเก็บเกี่ยวข้าวมาบริโภค
ค่านิยมวัฒนธรรมของชาวบ้านในหมู่บ้านหัวนอนนิยมกินข้าวที่มีลักษณะแข็ง เช่น ข้าวเฉียงพัทลุง ข้าวขาวแก้ว ข้าวขาวสะพลี ข้าวเหลืองปะทิว เป็นต้น ซึ่งข้าวที่มีลักษณะแข็งนี้เป็นข้าวที่สามารถปลูกได้เฉพาะแต่ในฤดูนาปีเท่านั้น ไม่สามารถปลูกในช่วงฤดูนาปรังได้ นอกจากรสชาติที่ชาติที่ถูกปากชาวบ้านในชุมชนแล้ว สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทําให้ชาวบ้านนิยมรับประทานข้าวที่มีลักษณะแข็ง เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้รู้สึกอิ่มท้องมีพละกำลังพร้อมออกไปทำเกษตรที่ต้องอาศัยแรงงานต่อไป
นอกจากนี้ การมีอาชีพการปลูกข้าวทํานาของชาวหมู่บ้านหัวนอน ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน ซึ่งแสดงถึงความเอื้ออาทรช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในหมู่บ้านเดียวกัน กล่าวคือ ในหมู่บ้านมีธรรมเนียมการปฏิบัติอย่างหนึ่งของชาวบ้านคือการตําข้าวที่เพิ่งขึ้นจากนาแจกจ่ายให้กับญาติหรือเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อกัน รวมทั้งแจกจ่าย ให้กับคนเฒ่า คนแก่ ผู้อาวุโสในชุมชน หลังจากได้รับข้าวจากลูกหลานผู้อาวุโสเหล่านั้นก็จะมีการ ให้พรต่าง ๆ เช่นว่า ขอให้มีความสุข ความเจริญ จากนั้นผู้อาวุโสเหล่านี้จะนําข้าวที่ได้รับเก็บไว้เพื่อไปทําบุญตักบาตรที่วัด โดยหุงเป็นข้าวสวยหรือทําเป็นข้าวต้มมัดต่อไป ครัวเรือนใดในชุมชนใดที่ไม่ได้มีอาชีพทํานา แต่ได้ไปช่วยตามแรงลงแขกเกี่ยวข้าวกับคนที่ทํานาจะได้รับข้าวเป็นการตอบแทนที่ไปช่วยลงแรงกัน หรือหากครัวเรือนใดกินข้าวที่เก็บไว้หมดก่อนถึงฤดูทํานาสามารถไปขอยืมข้าวจากญาติหรือเพื่อนบ้านได้ เมื่อถึงฤดูทํานาบ้านที่ ไปขอยืมข้าวมาจะนําข้าวที่ตัวเองปลูกได้ไปใช้คืนบ้านที่ตนเองขอยืมข้าวมากิน
การสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านนอกจากการแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมและการประกอบอาชีพของชาวบ้านแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีที่สําคัญต่าง ๆ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนาก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนได้เช่นกัน
ในชุมชนบ้านหัวนอนมีวัดประจําหมู่บ้านคือ “วัดดอนกุฎี” เป็นวักเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 100 ปี ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นโรงเรียนมาก่อนโดยมีพระเป็นครูผู้สอน แต่ในภายหลังเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้เข้ามารับผิดชอบโรงเรียนจึงปรับเปลี่ยนให้มีครูจากภายนอกมาสอนแทน จากการที่วัดดอนกุฎีเคยเป็นโรงเรียนมาก่อน ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับวัดดอนกุฎีแห่งนี้มาช้านาน เพราะทุกคนต่างเคยได้เล่าเรียนศึกษาอยู่ที่วัดดอนกุฎีนี้ วัดแห่งนี้จึงเป็นเหมือนสถาบันที่เคารพและผูกพันของชาวบ้านทุกคนความผูกพันและใกล้ชิดของวัดกับชาวบ้านยังปรากฏให้เห็นอีกในรื่องของการทําบุญตักบาตร ในทุก ๆ วันพระ ชาวบ้านในบ้านหัวนอนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทํางาน วัยรุ่น และเด็ก ๆ ทั่วไป จะเดินทางมายังวัดเพื่อทําบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแก่พระสงฆ์ที่จําวัดอยู่ ซึ่งเป็นการกล่อมเกลาจิตใจของชาวบ้านให้มีความเมตตาจากการให้ทานอีกด้วย
ชุมชนบ้านหัวนอนมีงานประเพณีที่สําคัญซึ่งจัดขึ้นเป็นประจําทุกปี ได้แก่ “งานติดทองพ่อปู่วัดดอนกุฎี” คําว่า “พ่อปู่” เป็นคําที่ใช้เรียกอดีตเจ้าอาวาสวัดดอนกุฎีที่มีผู้คนนับถือและศรัทธาเป็นจํานวนมากทั้งในชุมชนเองและจากบุคคลภายนอกด้วยเช่นกัน ซึ่งทางชุมชนได้สร้างเป็นอนุสรณ์สถานและประดิษฐานไว้ ณ วัดดอนกุฎี เพื่อ เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะ อันประกอบด้วยพ่อปู่ 4 องค์ด้วยกัน คือ พ่อปู่ช่วย พ่อปู่จี๊ด พ่อปู่จุน และพ่อปู่สงฆ์ พ่อปู่จึงไม่ใช่เพียงอดีตเจ้าอาวาสหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในชุมชนนับถือเคารพบูชาเท่านั้น หากแต่เป็นเหมือนสัญลักษณ์หรือศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ที่มีอิทธิพลต่อชาวบ้านในการก่อให้เกิดการรวมพลัง การรวมตัวของชาวบ้านทางวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานของ การสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้กิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น งานศพ งาน แต่งงาน เมื่อครัวเรือนใดมีการจัดงานดังกล่าวขึ้น ชาวบ้านในชุมชนจะเดินทางไปร่วมงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในการทําอาหารเลี้ยงในงาน ทั้งการนําทรัพยากรและวัตถุดิบจากบ้านของตนเองไปให้เจ้าภาพใช้ในการประกอบอาหาร การช่วยด้านแรงงานตกแต่งสถานที่ รวมไปถึงการให้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน
1. นายประยูร เมืองนาโพธิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสนบ้านหัวนอน และปราชญ์ชาวบ้าน
2. นายพิชัย จันทร์เพ็ง ผู้ริเริ่มนำแนวคิดการปลูกข้าวปลอดสารพิษเข้ามาในชุมชนบ้านหัวนอน
ทุนทางสังคม: กลุ่มวิสาหิจชุมชน
บ้านหัวนอนมีการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านเพื่อจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่พัฒนามาจากกลุ่มเกษตรกรทำนา ซึ่งนำมาสู่การขยายกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ได้แก่ การจัดตั้งโรงสีชุมชน การปลูกข้าวปลอดสารพิษ การจัดทำโครงการข้าวเหลืองปะทิวคืนถิ่น ซึ่งช่วยสร้างคุณค่าและเอกลักษณ์ให้กับชุมชนบ้านหัวนอน อีกทั้งยังทำให้ผลผลิตข้าวจากบ้านหัวนอนกลายเป็นที่ต้องการของตลาดรายใหญ่อีกด้วย
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
วัฒนธรรมเมือง กับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจบ้านหัวนอน
การเข้ามาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในช่วงของการฟื้นฟูชุมชน ทําให้ชาวบ้านได้สัมผัสเรียนรู้ถึงแนวคิดและวิธีการปฏิบัติจากภายนอก ไม่เพียงแต่ส่งผลถึงวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของชาวบ้านเท่านั้น สถานะทางการเงินของแต่ละครัวเรือนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากการที่ชาวบ้านในชุมชนมีช่องทางในหารายได้ให้กับครอบครัวมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งรายได้จากการขายปาล์ม รายได้จากลูกหลานที่ส่งมาจากการไปทํางานรับจ้างภายนอก ทําให้ชาวบ้านมีรายได้ภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทว่า รายได้ที่มีกลับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน เพราะว่าครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การทําเกษตรแบบใหม่ที่มีต้นทุนสูงขึ้น การหาซื้อสินค้าทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ได้ผลิตไว้ใช้เองดังเช่นในสมัยก่อนและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปศึกษาต่อในเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบวัฒนธรรมของสังคมเมืองที่เริ่มมีอิทธิพลและขยายความคิดเข้าไปสู่ชาวบ้านในชุมชนจนส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของชุมชน
พายุใต้ฝุ่นเกย์ กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านหัวนอน
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ได้เกิดเหตุการณ์วาตภัย “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ขึ้นบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์นี้เป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สร้างความเสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนในหลาย ๆ จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดชุมพรด้วย อําเภอปะทิว ได้รับความเสียหายทั้งอำเภอ หมู่บ้านหัวนอนก็ได้รับผลกระทบ บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ถูกทําลาย ชาวบ้านสิ้นเนื้อประดาตัวไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ชุมชนต้องทําการฟื้นฟูชุมชนในทุก ๆ ด้าน ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องสร้างทรัพย์สิน เรื่องที่อยู่อาศัย
ความช่วยเหลือของทางราชการอย่างหนึ่งเพื่อให้ชุมชนได้ฟื้นตัวจากการหมดเนื้อหมดตัวจากไต้ฝุ่นเกย์ คือ การแจกพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้กับชาวบ้านเพื่อนําไปเพาะปลูก เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลตอบแทนสูง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เดือนละ 2 ครั้ง อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี จนทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการประกอบอาชีพของชาวบ้านหัวนอนมีการทำสวนปาล์มมากที่สุด สามารถสร้างเม็ดเงินมูลค่าสูงที่ค่อนข้างสูงให้กับชาวบ้าน แต่ผลที่ตามมาคือ ความสัมพันธ์ของชาวบ้านที่ต่างคนต่างไม่ต้องพึ่งพา อาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีลักษณะเหมือนกับคนในชุมชนเมืองต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น เพราะว่าชาวบ้านแต่ละคนมีสวนปาล์ม สวนยางพารา ที่สร้างเม็ดเงินให้กับทุกครัวเรือน และใช้เงินตราเหล่านั้นหาซื้อทรัพยากรและสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการได้โดยไม่จําเป็นต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนกันดังเช่นในอดีต มิหนำซ้ำการสร้างเม็ดเงินจํานวนมากให้กับชาวบ้าน ยังก่อให้เกิดความฟุ้งเฟ้อและค่านิยมทางวัตถุต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
การอนุรักษ์ข้าวสายพันธุ์เหลืองปะทิว
ข้าวพันธุ์เหลืองปะทิวเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในพื้นที่อําเภอปะทิวมานานกว่า 200 ปี โดยเริ่มปลูกครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2340 บริเวณบ้านเกาะหรือเกาะชะอม ในพื้นที่ของหัวเมืองยิ่ง เจ้าเมืองปะทิว จากนั้นก็ได้แพร่ขยายไปยังชุมชนบ้านดอนตะเคียน บ้านหัวนอน และบ้านดอนแตง ก่อนขยายพื้นที่ปลูกไปยังตําบลอื่น ๆ เช่น ดอนยาง ปากคลองสะพลี ต่อมาได้มีผู้นําข้าวพันธุ์เหลืองปะทิวไปปลูกยังต่างอําเภอและจังหวัดในภาคกลาง ข้าวเหลืองปะทิวนั้นเป็นข้าวไวแสง สามารถปลูกได้เฉพาะในฤดูนาปี ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีจะเป็นเดือนสุดท้ายในการปลูก เมล็ดข้าวจะมีลักษณะแข็ง มีสีเหลืองยาวใหญ่ แต่ว่าช่วงระยะเวลาที่ล่วงเลยมาพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิวได้เกิดสูญหายไปจากอําเภอปะทิว โดยสาเหตุของการสูญหายนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้
ภายหลังครูประยูร เมืองนาโพธิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสน ได้อ่านบทความสืบทราบว่าข้าวเหลืองปะทิวมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่บ้านเกาะชะอม บ้านดอนเคียน และบ้านหัวนอน จึงได้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเหลืองปะทิวขึ้นมา โดยร่วมมือกับทางบาคาน่ารีสอร์ท ทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับซื้อผลผลิตข้าวเหลืองปะทิวจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสน ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท (ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2552) และเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มยังรักษาการปลูกข้าวเหลืองปะทิวต่อไปในอนาคต ทางรีสอร์ทจึงใช้กระบวนการท่องเที่ยวเข้าไปเสริมด้วยการพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมทุ่งนาและรับประทานอาหารพร้อมทั้งเชิญแขกทดลองเกี่ยวข้าวในท้องนาได้ เป็นการสร้างรายได้และเป็นกําลังใจแก่ชาวบ้านให้ยังคงมีความปรารถนาและต้องการจะอนุรักษ์รักษาพันธุ์ข้าวเหลืองปะทิวเอาไว้ในชุมชนต่อไป
ณัฐภัทร สุนทรมีเสถียร. (2552). ทุนทางสังคมกับการจัดการวิสาหกิจชุมชน: กรณีศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลางสน หมู่บ้านหัวนอน ตำบลบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร. วิทยาพิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒยนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.