ชุมชนผลิตทองคำเปลวเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นับว่าเป็นแหล่งการค้าทองคำเปลว และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในอดีต อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในด้านการทำทองของกรุงเทพมหานคร
ชุมชนสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยชุมชนมีการรวมตัวกันของช่างตีทองในสมัยนั้น จึงประกอบอาชีพการค้าขายแก่ชาวบ้านทั่วไป ฉะนั้น "ชุมชนบ้านทองคำเปลว" จึงเป็นชุมชนแห่งแรก ๆ ที่มีกลุ่มช่างตีทองคำเปลว ดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงถือว่าเป็นที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้
ชุมชนผลิตทองคำเปลวเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นับว่าเป็นแหล่งการค้าทองคำเปลว และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในอดีต อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในด้านการทำทองของกรุงเทพมหานคร
ถนนตีทอง ในอดีตเป็นชุมชนบ้านช่างทอง คือบริเวณตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงถนนตีทอง ในอดีตเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลว ซึ่งเป็นทองคำแผ่นบาง ๆ ที่ใช้ในการปิดเคารพสักการะบูชาพระพุทธรูป หรือสิ่งเคารพตามความเชื่อถือ นอกจากนี้ทองคำเปลวยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในงานศิลปะและงานช่างฝีมือต่าง ๆ ซึ่งชุมชนบ้านตีทองหรือถนนตีทองนี้เคยเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวที่มีชื่อเสียงมาแต่ในอดีตตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ระบุว่า “ย่านเป่าทองขายทองคำเปลว ทองนากเงิน มีตลาดขายของสดเช้าเย็น” เชื่อกันว่า ทองคำเปลวรวมถึงอาชีพผลิต และค้าทองคำเปลวนั้น คงเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างน้อยแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปรากกฎชุมชนที่ผลิตและค้าทองคำเปลว บริเวณข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร บริเวณถนนตีทองในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่าชุมชนแห่งนี้ “เป็นย่านที่พวกช่างทองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมกัน ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อราษฎรมีเสรีภาพในการทำทอง บรรดาช่างทองจึงได้พากันประกอบอาชีพช่างตีทองคำเปลวในย่านนี้เป็นแห่งแรก” ซึ่งกลุ่มช่างทองหลวงจากในพระบรมมหาราชวังได้ออกมาตั้งชุมชนผลิตทองคำเปลวขายให้แก่ชาวบ้านทั่วไปในบริเวณนี้ ดังนั้นถนนที่ตัดผ่านบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า ‘ถนนตีทอง’ แรกเริ่มเดิมที ‘มัสยิดบ้านตึกดิน’ เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากปัตตานีเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 6 กลุ่มมุสลิมบ้านตึกดินที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบนที่ดินพระราชทานในบริเวณซอยดำเนินกลางเหนือ ข้างโรงเรียนสตรีวิทยาในปัจจุบัน หลังจากการเข้ามาของกลุ่มมุสลิมมัสยิดจักรพงษ์ มุสลิมทั้ง 2 กลุ่ม ล้วนเป็นกลุ่มมุสลิมช่างฝีมือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ขึ้นชื่อเรื่องการทำทอง มุสลิมมัสยิดจักรพงษ์มีชื่อเสียงด้านการทำทองรูปพรรณ และทองประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส่วนมุสลิมบ้านตึกดินเด่นด้านการทำทองคำเปลวยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การทำทองรูปพรรณ และทองประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในย่านมัสยิดจักรพงษ์เหลือเพียงคำบอกเล่าเพราะขาดผู้สืบต่อวิชา แต่การทำทองคำเปลวในย่านมัสยิดบ้านตึกดิน ยังสามารถพบเห็นได้อยู่ แม้จะไม่มากมายเทียบเท่าในอดีตที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ‘บ้านตีทอง’ เหลือปรากฏเป็นเพียงชื่อถนนตีทอง ไม่มีกิจกรรมใดเกี่ยวกับทองคำเปลวเหลืออยู่ แต่อาชีพการผลิตและค้าทองคำเปลวยังคงหลงเหลืออยู่ในย่านแถบอื่นที่เกิดขึ้นร่วมสมัยหรือในยุคหลังต่อมา เช่น บริเวณหลังวัดบวร บ้านพานถม ถนนพระสุเมรุ และถนนตะนาว
ย่านถนนตีทองเริ่มตั้งแต่ถนนบำรุงเมืองที่แยกเสาชิงช้า ข้ามคลองหลอดวัดราชบพิธไปจนถึงถนนเจริญกรุงที่สี่แยกเฉลิมกรุง ระยะทาง 525 เมตร ตัดผ่านย่านชุมชนที่มีอาชีพทำทองคำเปลวจึงเรียกว่า ‘ถนนตีทอง’
ตึกแถวชุมชนช่างตีทอง อาคารเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่ด้านข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร อาคารแต่ละคูหากว้างประมาณ 3 เมตร สูง 10 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ หน้าต่างเป็นบานแฝดไม้ลูกฟักกระดานดุน ด้านบนของหน้าต่างมีกันสาดยื่นออกมามุงด้วยสังกะสีและมีลายฉลุไม้โดยรอบ ส่วนบนของผนังมีลวดลายบัวหงายเป็นแนวยาวตลอดช่วงอาคารขึ้นไปรับชายหลังคา มีการประดับผนังด้วยแนวเสายื่นออกมาจากผนังมีการเซาะร่องตามแนวนอน รูปแบบอาคารตึกแถวถนนตีทองนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากอาคารตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง คืออาคารตึกแถวถนนตีทองนี้มีลักษณะอาคารที่เรียบง่าย มีการประดับตกแต่งลวดลายน้อย ไม่มีการปั้นปูนประดับตกแต่งอาคารตามสถาปัตยกรรมตะวันตกเหมือนอาคารตึกแถวอื่น ๆ ที่สร้างในยุคสมัยเดียวกัน สภาพอาคารปัจจุบันในชั้นล่างได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานไปมาก ทั้งประตูอาคารในชั้นล่างและการติดป้ายโฆษณาร้านค้าต่าง ๆ
ทองคำเปลว แม้ว่าในปัจจุบันชุมชนบ้านช่างทองคำเปลวจะไม่หลงเหลือการผลิตทองคำเปลวอีกแล้วนั้น ทองคำเปลวของชุมชนช่างทองยังคงเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนแสดงถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญในฐานะชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
การผลิตทองคำเปลว กระบวนการผลิตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเลือกซื้อทองคำแท่งที่มีเปอร์เซ็นต์ทองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 96.5 - 99.99 แล้วนำทองไปรีดให้เป็นแผ่นบางเท่ากับกระดาษ พับให้ได้หลายทบ แล้วนำมาตัดให้เป็น “ทองรอน” หรือแผ่นทองคำขนาด 1x1 เซนติเมตร ทองคำน้ำหนัก 1 บาท เมื่อนำมาตัดให้เป็นทองรอนจะได้จำนวน 720 แผ่น การทำทองคำเปลว โดยมีกระบวนการทำทองจะเริ่มตั้งแต่
- การนำทองแท่งมารีดยืดเป็นเส้น จากนั้นนำทองมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ ใส่ลงในกระดาษ แล้วนำทองมาตีเพื่อให้ทองยืดขยาย
- การตีทอง ขั้นแรกเรียกว่า การตีกุบ โดยเอาทองที่ตัดไว้มาใส่ลงในกระดาษแก้ววางซ้อนกัน แล้วห่อด้วยซองที่ทำจากหนังวัว นำไปตีบนแท่นหินหนึ่งรอบ จากนั้นนำทองที่ผ่านการตีกุบแล้วซึ่งจะขยายขึ้นขนาดประมาณ 5x5 นิ้ว มาเข้าสู่กระบวนการตีขั้นที่สอง คือตีฝักทอง ฝักจะคล้าย ๆ กับกุบแต่มีขนาดใหญ่กว่าใช้เวลาตีแต่ละรอบราวสามสี่ชั่วโมง ทองที่ผ่านการตีฝักก็จะขยายขนาดขึ้นประมาณ 8x8 นิ้ว
- การตัดทอง หลังจากผ่านการตีกุบ และตีฝัก มาถึงขั้นตอนจากฝัก เทใส่กระดาษดาม ตัดทองลงกระดาษตามขนาดที่จำหน่าย
การผลิตทองคำเปลวเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้น แต่ราคาขายไม่สามารถเพิ่มขึ้นตามได้ เพราะมีพ่อค้าคนกลางกดราคาจนทำให้ผู้ผลิตต้องทยอยกันปิดตัวลง เพราะทนแบกต้นทุนไม่ไหว ประกอบกับขาดการถ่ายทอดความรู้จากช่างผู้เชี่ยวชาญที่มักจะถ่ายทอดให้เฉพาะลูกหลานเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนในการผลิตทองคำเปลวมีความยุ่งยากและซับซ้อนต้องใช้ความละเอียดพิถีพิถันสูง ส่งผลให้ปัจจุบันไม่มีการผลิตทองคำเปลวบนถนนแห่งนี้อีกเลย ทำให้สถานที่ที่เคยเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายทองคำเปลวสำคัญของไทย แปรเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนสมัยใหม่คงเหลือเพียงชื่อถนนตีทองในปัจจุบัน
จิราพร แซ่เตียว และจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (2561). หัตถกรรมทองคำเปลวย่านวัดบวร...ศิริทองคำเปลว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (2564). ถนนตีทอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก https://m.facebook.com/
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (2558). ตึกแถวถนนตีทอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/