เมืองเก่าแก่โบราณที่อาจมีอายุมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น
สมัยก่อนมีชื่อเรียกเมืองนี้ต่าง ๆ กันไปตามเงื่อนไขของเหตุการณ์แต่ละช่วงเวลา เช่น เรียกว่าเมืองช้าล่าการ บ้านช้าล่าการ และ ชาติตระการ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นชาติตระการตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานบ่งชัด
เมืองเก่าแก่โบราณที่อาจมีอายุมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น
บริเวณที่ชุมชนบ้านชาติตระการตั้งอยู่ปัจจุบันเคยเป็นเมืองเก่าที่อาจมีอายุมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายหรือสมัยอยุธยาต้อนต้น เมืองโบราณชาติตระการคงจะขึ้นอยู่กับเมืองนครไทย ผู้คนในปัจจุบันไม่อาจยืนยันได้ว่าบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชุมชนของตนเป็นใครและมาจากไหน แต่จากข้อมูลประเพณีจากคำบอกเล่าก็พออนุมานได้ว่าหมู่บ้านชาติตระการคงมีอายุไม่เกิน 200 ปี
ตำบลชาติตระการประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน หมู่บ้านชาติตระการจะอยู่ในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10 นับเป็นหมู่บ้านที่เกิดก่อนหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเดียวกัน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น ชาวบ้านชาติตระการบางกลุ่มได้ออกไปตั้งหมู่บ้านนาเปอะ (หมู่ 21) และหมู่บ้านปากรอง (หมู่ 3) ส่วนหมู่บ้านอื่น ๆ ที่เหลือเป็นหมู่บ้านที่เพิ่งมีในระยะหลัง ผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเลยและบางส่วนก็ลี้ภัยการเมืองมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หมู่บ้านอยู่ในพื้นที่หุบเขาและมีแม่น้ำไหลผ่าน ลักษณะดินจึงเป็นดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำ เนื้อดินเป็นดินร่วนและดินปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี ด้านทรัพยากรในจังหวัดพิษณุโลกเป็นป่าไม้สัก ป่าไม้กระยาเลยและป่าเบญจพรรณ ห่างจากหมู่บ้านไปราว ๆ 2-3 กิโลเมตร มีทิวทอดตัวขนานไปกับลำน้ำภาคลักษณะป่าที่ทิวเขานั้นเป็นป่าเบญจพรรณ เป็นแหล่งธรรมชาติที่สำคัญกับชุมชนเพราะได้อาศัยสร้างทำปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตจากป่าดังกล่าว ถนนภายในหมู่บ้านเดิมเป็นทางเดินเท้า ช่วงฤดูแล้งมีฝุ่นมากเพราะสภาพผิวดินบนทางเดินเป็นดินร่วนปนทราย ยิ่งเวลามีเกวียนเทียมควายหรือเมื่อต้อนฝูงวัวควายเดินผ่านไปมาอาจจะองไม่ค่อยเห็นผู้ใช้ถนนขณะนั้น
สภาพภูมิอากาศ
มีฝนตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ส่วนเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดและร้อนที่สุดอยู่ในเดือนธันวาคมและเดือนเมษายน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไปปริมาณฝนที่ตกเริ่มลดลง อันเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ไม้ก็จะเริ่มใช้น้ำที่สะสมจากดินไปจนถึงประมาณต้นเดือนธันวาคม จากนั้นก็จะเข้าช่วงขาดน้ำ การเพาะปลูกระหว่างเดือนนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมย่อมเป็นไปไม่ได้
การคมนาคม
หากต้องการเดินทางไปยังต่างถิ่นก็จะออกมารอขึ้นรถโดยสารที่ถนนลาดยางสายที่จะไปอำเภอชาติตระการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะออกไปสู่โลกภายนอกหุบเขาชาติตระการ การคมนาคมเพื่อการขนส่งพืชผลจากพื้นที่เพาะปลูกมายังชุมชนส่วนใหญ่จะใช้เกวียนเทียมวัวหรือควาย หลังฤดูเก็บเกี่ยวอาจมีรถบรรทุกของนายทุนจากอำเภอชาติตระการหรืออำเภอนครไทยเข้ามาซื้อผลผลิตตามละแวกบ้าน
สถานที่สำคัญ
- วัดชาติตระการ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาความเชื่อ และเป็นสถานศึกษาตามแบบพื้นบ้าน อาศัยอาศาลาการเปรียญของวัดชาติตระการเป็นห้องเรียน พระเป็นครูสอน เด็ก ๆ ผู้ชายที่สนใจอยากรู้อยากเรียนเขียนอ่านก็จะได้รับการฝึกหัดคัดเขียนและท่องจำบทเรียนต่าง ๆ ตามที่พระท่านพอจะมีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ได้ นอกจากการเรียนธรรมมะแล้วที่วัดยังอาจเป็นแหล่งความรู้วิชาต่าง ๆ อีกด้วย เล่ากันว่าสมัยหนึ่งมีพระภิกษุผู้มีความรู้ด้านช่างไม้มาจำพรรษาที่วัด ชาวบ้านหลายคนได้รับความรู้ด้านการก่อสร้างจากท่าน ชาวบ้านบางคนรู้จักการก่ออิฐโบกปูนก็เพราะตอนบวชเป็นพระ
- โรงเรียนบ้านชาติตระการ เป็นสถานศึกษาอย่างเป็นทางการที่ให้การศึกษาภาคบังคับในปัจจุบัน
บ้านชาติตระการมีประชากรทั้งหมด 399 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 197 คน และประชากรหญิง 202 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 140 ครัวเรือน
ระบบเครือญาติ
ชาวชาติตระการให้ความสำคัญกับญาติพี่น้องทั้งข้างพ่อและข้างแม่ แต่การที่ปัจเจกจะมีความสนิทกับญาติฝ่ายไหนมากกว่านั้นย่อมขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นเกิดและโตท่ามกลางญาติฝ่ายใด ปกติอาจจะไปมาหาสู่ญาติที่อยู่ต่างละแวกบ้าน แต่ญาติผู้ใกล้ชิดก็มักจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลอยู่มาก ตามแบบแผนทั่ว ๆ ไป แล้วปัจเจกจะมีความคุ้นเคยกับหมู่บ้านญาติข้างแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ ยิ่งหลานคนแรก ๆ ของครอบครัวก็มักจะได้รับการเอาใจและดูแลอย่างใกล้ชิดจากพี่น้องข้างแม่ จะเห็นว่าบรรดาป้า ( พี่สาวของแม่ ) และน้าสาวจะไปไหนมาไหนกับหลานสาวเสมอ ในกรณีที่ป้ามีแนวโน้มว่าจะไม่แต่งงานบางทีก็จะมีหลานสาวเป็นเหมือนเพื่อน และถ้าบังเอิญป้าแต่งงานและไม่มีบุตร หลานสาวผู้นั้นอาจได้รับการเลี้ยงดูประดุจลูกบุญธรรม เด็ก ๆ มีผู้ปกครองคอยพาไปแวะเยี่ยมพี่น้องข้างพ่ออยู่เป็นประจำตั้งแต่ยังเล็กย่อมคุ้นเคยและเข้ากันได้ดีกับญาติฝั่งพ่อ บางทีเด็ก ๆ ก็ได้มาค้างบ้านปู่ย่าเพราะพ่อพามาด้วยตอนกลับมาช่วยงานบวชหรืองานแต่งงานพี่น้องของตน บางครั้งปู่ย่าตายายก็แวะมาเยี่ยมลูกหลานระหว่างที่ผ่านไปทำธุระตามละแวกบ้านนั้น การอบรมบุตรหลานให้มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่จะพบได้ในโอกาสต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ช่วงสงกรานต์วันที่พากันไปอาบน้ำให้คนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือ ญาติฝ่ายพ่อและแม่ชาวชาติตระการมีคำเรียกญาติของตนที่แตกต่างไปจากชุมชนในภาคกลางดังรายละเอียดข้างล่างนี้
ฝ่ายพ่อ | ฝ่ายแม่ |
ปู่ทวด | ตาทวด |
ย่าทวด | ยายทวด |
พ่อปู่ ( ปู่ ) | ต้น ( ตา ) |
แม่ย่า ( ย่า ) | ต้น ( ยาย ) |
ลุง | ลุง |
ป้า | ป้า |
อา | น้า |
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- มกราคม : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- กุมภาพันธ์ : ทำขวัญยุ้ง
- มีนาคม : เทศกาลตรุษ
- เมษายน : สงกรานต์ เลี้ยงผีเจ้าบ้าน
- พฤษภาคม : แฮกนา
- มิถุนายน : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- กรกฎาคม : เทศกาลเข้าพรรษา
- สิงหาคม : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- กันยายน : ทำขวัญข้าวตั้งท้อง
- ตุลาคม : เทศกาลออกพรรษา บุญกฐิน
- พฤศจิกายน : เทศกาลลอยกระทง
- ธันวาคม : ไม่ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
เทศกาลอันเนื่องด้วยพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมและการฉลองยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ งานบุญสงกรานต์ ในความรู้สึกของท้องถิ่นสงกรานต์คือช่วงแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ จึงควรจะได้มีการบำเพ็ญบุญและพักผ่อนรื่นเริงเป็นพิเศษกว่าโอกาสใดในรอบปี
ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านชาติตระการยังมีความเชื่อในผีสางเทวดาควบคู่กันไปกับความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ภายหลังจากเทศกาลไปแล้วจะมีการเซ่นไหว้ผีเจ้าบ้านซึ่งเป็นผีระดับชุมชนที่เชื่อกันว่ามีอำนาจคุ้มครองและให้โทษแก่ผู้กระทำผิดทางศีลธรรมจรรยาได้โดยเฉพาะการได้เสียกันอย่างไม่ถูกธรรมเนียม การสื่อสารระหว่างผีเจ้าบ้านกับผู้คนในท้องถิ่นจะกระทำโดยผ่านร่างทรง ที่ผ่านมาคนทรงเจ้าจะเป็นหญิงสูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว วิญญาณจำพวกผีร้ายที่ชาวบ้านเกลียดกลัว อาทิ ผีปอบ (ผีกละ) ผีปะรัวและผีโพง
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การทำนาคือ กิจกรรมหลักของชุมชนเพราะจะเก็บผลผลิตข้าวไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ที่นาจะแบ่งปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียวในสัดส่วนที่เกือบเท่า ๆ กัน มีการใช้แรงงานสัตว์ประเภทวัวควายเพื่อการไถนา นวดข้าวและเทียมเกวียนเพื่อลากขนสิ่งของจากพื้นที่นาไร่กลับเข้ามาชุมชนและนำผลผลิตจากหมู่บ้านออกไปส่งขายในตลาดอำเภอชาติตระการหรืออำเภอนครไทย ปัจจุบันบางครอบครัวอาจจะมีรถไถนาประเภทเดินตามใช้ทำงานในนาไร่แทนแรงงานสัตว์ แต่ก็ยังนิยมเลี้ยงวัวควายไว้เพราะสามารถขายได้ราคาดี
มีการทำไร่พืชล้มลุกเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำคู่กับการทำนา พืชไร่ที่ปลูกมักเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของตลาด ราว ๆ 30 กว่าปีมานี้เมื่อตลาดอำเภอชาติตระการและธุรกิจพืชผลทางการเกษตรที่ตลาดนครไชยรุ่งเรืองขึ้นมานับว่าเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวนาชาวไร่ในท้องถิ่นให้ความสนใจกับการปลูกพืชไร่เพื่อขายผลผลิตให้กับตลาด
ทุนทางวัฒนธรรม
บ้านชาติตระการมีเพลงพื้นบ้านที่แพร่หลายและที่คนส่วนใหญ่พอจะร่วมร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานได้แก่ เพลงกลองยาว ซึ่งมักจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแห่แหนต่าง ๆ ทั้งการแห่ธง การแห่ต้นผึ้ง แห่ขันหมาก และแห่นาค เนื้อหาของเพลงที่ร้องในการรำประกอบเสียงกลองยาวและฉิ่งฉาบโดยมากจะเป็นเพลงสนุกสนานตลกและเนื่องจากผู้ชายเป็นผู้ร้องข้อความในเพลงจึงมีแนวโน้มที่จะพูดเกี้ยวพาราสี หยอกล้อและเสียดสีผู้หญิงดังจะเห็นได้จากตัวอย่างบางตอนที่ว่า
" มาละเว้ยมาละวา มีแต่กลองยาว่าว ๆ ไม่เห็นมา "
" ต้อนเข้าไว้เอาไปบ้านเรา เอาไปหุงข้าวให้พ่อเรากิน พ่อไม่อยู่ให้ปู่เรากินทะลาล่า "
" อีแต้อีแต๋ว อีต๊ะตุ้งติง พ่อแม่ยกให้ ชอบใจจริง ๆ ทะลาล่า "
" บอกกับแม่จะไปเก็บถั่ว พอลับหน้าแม้วิ่งแล่ตามผัว ทะลาล่า...เฮียวฮา "
คนรุ่นก่อนบางรายมีปฏิภาณไหวพริบดีสามารถนึกหาถ้อยคำมาโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงในลักษณะของเพลงพวงมาลัย เพลงลาวันลา เพลงพิณเลเล ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้านอีกหลายอย่าง เช่น เล่นผีนางด้ง นางช้าง ลิงลม นางควาย และแม่ศรี การละเล่นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเชิญภูตผีวิญญาณให้มาเข้าร่างผู้ที่เล่นเป็นตัวเอกของงานระหว่างที่การละเล่นดำเนินไป
ผู้ชายรุ่นหลัง ๆ ออกไปแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นอื่น ๆ ช่วงสิบกว่าปีมานี้ปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำนาทำไร่ในชาติตระการมีความรุนแรงขึ้น หนุ่ม ๆ หลายคนแยกตัวจากครอบครัวดั้งเดิมเพื่อไปหาพื้นที่ว่างเปล่าตามป่าในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นที่ทำการเกษตรกรรม บางคนเห็นว่าหากยังคงทำนาทำไร่ในชาติตระการต่อไปภาระหนี้สินก็คงมากขึ้น จึงพาลูกเมียไปหางานทำตามเมืองต่าง ๆ เช่น ในเขตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ
โครงการปลูกหญ้าแฝกในโรงเรียน ปี 2547 สถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลก . (ม.ป.ป.). โรงเรียนบ้านชาติตระการ. ค้นคืนเมื่อ 28 เมษายน 2566, จาก https://www.ldd.go.th/
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 28 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
เพจ โรงเรียนบ้านชาติตระการ. (2566). ค้นคืนเมื่อ 28 เมษายน 2566 , จาก https://www.facebook.com/
Motocross Army . (2559). วัดชาติตระการ. ค้นคืนเมื่อ 28 เมษายน 2566 , จาก https://www.google.com/maps/