
ชุมชนตลาดวัดลำพญาเป็นชุมชนการค้าริมแม่น้ำนครชัยศรี ที่มีการเปิดขายสินค้าหรือผลิตผลจากชาวบ้านในชุมชน โดยภายในตลาดมีสินค้าบริโภค เช่น อาหารคาวหวานต่าง ๆ ทั้งแบบสดและแบบแปรรูป ทั้งนี้นอกจากตลาดแล้วภายในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา ซึ่งจัดแสดงของเก่าและของใช้พื้นบ้านท้องถิ่นที่หาดูยากในอดีตให้แก่นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม
ชุมชนตั้งอยู่บริเวณรอบวัดลำพญาและมีการรวมกลุ่มค้าขายสินค้าบริเวณท่าน้ำหน้าวัดจึงเป็นชื่อเรียกของชุมชนแห่งนี้
ชุมชนตลาดวัดลำพญาเป็นชุมชนการค้าริมแม่น้ำนครชัยศรี ที่มีการเปิดขายสินค้าหรือผลิตผลจากชาวบ้านในชุมชน โดยภายในตลาดมีสินค้าบริโภค เช่น อาหารคาวหวานต่าง ๆ ทั้งแบบสดและแบบแปรรูป ทั้งนี้นอกจากตลาดแล้วภายในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา ซึ่งจัดแสดงของเก่าและของใช้พื้นบ้านท้องถิ่นที่หาดูยากในอดีตให้แก่นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม
ลำพญา คือ นามหมู่บ้านในครั้งที่การปกครองยังเป็นอำเภอบางปลา มณฑลนครศรี มีประวัติว่าสมัยรัชกาลที่ 5 พระยากรมท่า ทำการขุดคลองบริเวณท้ายตลาดในปัจจุบันเพื่อทำการจับจองที่นา ชุมชนแห่งนี้มีชาวบ้านสองกลุ่ม คือ ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวมอญอพยพมาจากสามโคกตั้งบ้านเรือนอยู่ทางแม่น้ำฝั่งตะวันตก ทำการเกษตร ส่วนชุมชนชาวจีนบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันออกทำการค้าขายกลายเป็นตลาดริมน้ำ สภาพทั่วไปเป็นที่ราบพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนา มีถนนเชื่อมต่อออกไปทางพุทธมณฑลและออกไปบางเลนหรือออกไปทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้สะดวก
ตลาดน้ำวัดลำพญาจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของสภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา วัดลำพญาและชาวตำบลลำพญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านและเกษตรกรในท้องถิ่นให้เป็นแหล่งชุมนุมสินค้าเกษตรกรรม หัตถกรรมและสินค้าพื้นเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยบรรยากาศคุ้งน้ำที่สวยงาม และพืชพรรณธรรมชาติที่เขียวขจีสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน ตลาดน้ำวัดลำพญาเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรก ในวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน ปีพ.ศ. 2542 ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยในช่วงแรก ๆ ที่เปิดบริการเฉพาะวันอาทิตย์ และเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต่อมาจึงเปิดบริการทุกวันเสาร์และอาทิตย์รวมทั้งวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 07.00 - 16.00 น. โดยใช้บริเวณวัดลำพญาและชายฝั่งแม่น้ำท่าจีนเป็นที่จัดตลาดน้ำฯ มาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนตลาดลำพญาห่างจากที่ว่าการอำเภอบางเลน ประมาณ 11 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครปฐม ประมาณ 36 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหาคร ประมาณ 50 กิโลเมตร
เขตพื้นที่ติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบางระกำ อ.บางเลน จ.นครรปฐม
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนภาภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ชุมชนตลาดลำพญาซึ่งตั้งอยู่ในตำบลลำพญา เป็นพื้นที่ราบภาคกลางตอนล่างในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน ซึ่งไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้และมีคลองหลายสายที่แยกจากแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ คลองนภาภิรมย์ คลองเหมือง คลองทองหลาง ซึ่งใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม โดยพื้นที่บริเวณชุมชนตลาดลำพญามีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านวัดลำพญา
ทุนทางวัฒนธรรม
1. วัดลำพญา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ตั้งวัด 39 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ 1 งาน 48 ตารางวา วัดลำพญาประกาศตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2418 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งชื่อวัดตามชื่อคลองที่ขุด ลำพญา เป็นชื่อของหมู่บ้านในสมัยที่ยังเป็นอำเภอบางปลา มณฑลนครชัยศรี ที่ได้มีประวัติเล่าไว้ว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระยากรมท่า ได้ทำการขุดคลองบริเวณท้ายตลาดในปัจจุบันเพื่อให้จับจองที่นา ให้ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรรมแถวนี้จึงได้มีชาวบ้านแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ ชาวมอญที่อพยพมาจากสามโคกในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ทำอาชีพการเกษตรและชาวจีนซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจะทำการค้าขายบริเวณนี้ลำพญาจึงกลายเป็นตลาด ชื่อ “ตลาดน้ำลำพญา” ที่ปัจจุบันยังคงมีอยู่ วัดมีบริการ เรือล่องแม่น้ำท่าจีนโดยมีเรือและเส้นทางให้เลือกตามชอบ เช่น เรือแจวโบราณ ออกจากหน้าวัดลำพญาไปนมัสการศาลเจ้าแม่ทับทิม ภายในวัดมีหลวงพ่อมงคลมาลานิมิตพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างด้วยศิลาแลง พอกปูนและปิดทองทับวัดลำพญาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 9 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2442 วัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2546 เป็นสถานที่รวบรวมและเผยแพร่ ศิลปวัตถุเครื่องมือ เครื่องใช้ที่แสดงถึงวิถีชีวิตไทยริมแม่น้ำท่าจีน
2. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง สร้างติดแม่น้ำนครชัยศรี อยู่ภายในบริเวณวัดลำพญา เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 ชั้นล่างจัดแสดงเรือพื้นบ้านต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร อาทิ เครื่องสีข้าว คันไถ รูปปั้นควายจำลอง เป็นต้น ส่วนชั้นบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องลายคราม เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผา ไหกระเทียม ไหใส่พลู ที่ปั้มลมสำหรับทำทองรูปพรรณ หินบดยา ฝาละมีบดยา เครื่องมือจับปลา เครื่องมือชั่งตวงวัด เครื่องจักสาน เตารีด พัดลม โทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์รุ่นอดีต ภาชนะสังกะสีเคลือบ หมวกกะโล่ ตะเกียงลาน หีบพระธรรม ธรรมมาสน์ สมุดไทย ภาพถ่ายในอดีตของวัด ธนบัตรรุ่นเก่า กระดองตะพาบน้ำ เป็นต้น ของที่จัดแสดงได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะมีแผ่นกระดาษเขียนชื่อของผู้บริจาคติดอยู่กับของชิ้นนั้น ๆ โดยผู้บริจาคสิ่งของให้แก่พิพิธภัณฑ์จะได้รับใบอนุโมทนาบัตรจากสภาวัฒนธรรมตำบลลำพญาด้วย
การตัดถนน จากการสร้างถนนในการเดินทางในชีวิตประจำวันของชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงจากการสัญจรทางน้ำเป็นหลักเปลี่ยนเป็นถนนที่ตัดผ่านบริเวณชุมชนซึ่งมีการกำหนดรูปแบบและปริมาณคนและกิจกรรมในพื้นที่ แต่ในวันเสาร์ - อาทิตย์และนักขัตฤกษ์ที่ตลาดน้ำลำพญาเปิดให้บริการ จะทำให้ถนนบริเวณทางเข้าซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก (2 เลน ไม่มีเกาะกลาง) ลดความคล่องตัวลงไป ซึ่งจำนวนรถทำให้การจราจรหน้าวัดสามารถเคลื่อนตัวได้ช้าลง
ปัญหาขยะ จากการสัมภาษณ์พบว่าในบางครั้งจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นจากตลาดน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นขณะที่กองเก็บรอการจัดการ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเทศบาลในการแก้ปัญหา โดยเบื้องต้นเทศบาลได้ปรับปรุงสถานที่รอการเก็บขยะให้มีลักษณะที่ดีขึ้นและมีแผนที่จะของบประมาณในการสร้างเตาเผาขยะ โดยชาวบ้าน ผู้ค้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสะอาดมากขึ้นและมีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทิ้งขยะในถังขยะ
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. (2561). การมีส่วนร่วมของชุมชนตลาดน้ำลำพญาจังหวัดนครปฐมในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.
อัศวิน วิบูลย์ชาติ. (2553). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชาวบ้านริมแม่น้ำนครชัยศรี การณีศึกษาตลาดน้ำลำพญา อ.บางเลน จ.นครปฐม. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาการประกอบการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศคณะสงฆ์ภาค 14. (2564). วัดลำพญา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก https://www.sangha14.org/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร. (ม.ป.ป.). คลังข้อมูลชุมชน ชุมชนวัดลำพญา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/.