Advance search

หมู่บ้านสะพานสองถูกแวดล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งน้ำ ภูเขา และป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของเขานมสาว จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของภูเขาป่าไม้น้อยใหญ่ทั่วทั้งอำเภอพะโต๊ะและจังหวัดระนอง 

บ้านสะพานสอง
ปากทรง
พะโต๊ะ
ชุมพร
อบต.ปากทรง โทร. 0-7765-4535
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
บ้านสะพานสอง


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านสะพานสองถูกแวดล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งน้ำ ภูเขา และป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของเขานมสาว จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของภูเขาป่าไม้น้อยใหญ่ทั่วทั้งอำเภอพะโต๊ะและจังหวัดระนอง 

บ้านสะพานสอง
ปากทรง
พะโต๊ะ
ชุมพร
86180
9.758908645
98.65713134
องค์การบริหารส่วนตำบลสะพานสอง

หมู่บ้านสะพานสอง เป็นหมู่บ้านที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านมาแล้วประมาณ 60 ปี แยกการปกครองออกมาจากบ้านบกไฟ แบ่งเขตการปกครอง 4 กลุ่มบ้าน ได้แก่ กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง กลุ่มบ้านสะพานสอง กลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น และกลุ่มบ้านหลักเหล็ก โดยประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านจะแยกเป็นแต่ละกลุ่มบ้าน ดังนี้

กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง เป็นกลุ่มบ้านที่มีสะพานแห่งแรก เมื่อนับจากเขตจังหวัดชุมพรที่เชื่อมกับจังหวัด ระนอง จึงเรียกว่า กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งรกรากช่วงแรกเป็นประชากรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาเมื่อการทําสวนมากขึ้น เกิดการจ้างแรงงานที่อื่น จึงมีชาวบ้านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามารับจ้างทําสวน และพึงพอใจในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงซื้อที่ต่อจากเจ้าของเดิมแล้วลงหลักปักฐานในพื้นที่ กลายเป็นที่อยู่ถาวร ซึ่งคนจากภาคอีสานจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และสร้างบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน

กลุ่มบ้านสะพานสอง มีความเป็นมาจาก 2 มุมมองด้วยกัน คือ เดิมที่มีคนมาทําเหมืองแร่ แล้วนําไปขายที่ระนอง ชาวระนองสอบถามว่านําแร่ดีบุกมาจากที่ไหน ชาวบ้านตอบว่ามาจากหมู่บ้านที่มีสะพาน 2 สะพาน ได้แก่ สะพานหนึ่ง และสะพานสอง คือ สะพานที่พาดผ่านคลองท่อ และห้วยน้ำใสตามลําดับ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านสะพานสอง อีกหนึ่งมุมมอง คือ หมู่บ้านสะพานสองส่วนหนึ่งมีถนนสายหลังสวน-ราชกรูดผ่าน และมีสะพานบนถนนแห่งนี้อยู่เป็นสะพานที่ 2 นับจากสะพานในหมู่บ้านที่ติดกัน (บ้านสะพานหนึ่ง) ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านสะพานสอง ประชากรกลุ่มแรกที่ย้ายเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่หมู่บ้านเป็นคนจากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กลุ่มบ้านห้วยนํ้าเย็น เดิมชื่อหมู่บ้านห้วยน้ำเหม็น เนื่องจากมีต้นไม้ตายอยู่ใกล้บริเวณริมคลอง แล้วเกิดเน่าเปื่อยจึงทําให้น้ำเน่าเหม็น บางตํานานเล่าว่า กลิ่นเหม็นของน้ำลําคลองเกิดจากมูลสัตว์ที่ขับถ่ายทิ้งไว้บริเวณลําคลอง ต่อมาชาวบ้านระดมความคิดกันเพื่อเปลี่ยนชื่อกลุ่มบ้านให้มีความหมายที่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนจากห้วยน้ำเหม็น เป็นห้วยน้ำเย็นจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากอําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

กลุ่มบ้านหลักเหล็ก เป็นกลุ่มบ้านที่มีการก่อสร้างเหมืองแร่ หลังจากได้รับสัมปทานเหมืองแร่เป็นเวลา 30 ปี เดิมมีสภาพป่าสมบูรณ์ช่วงปี พ.ศ. 2500 ได้มีประทานบัตรเหมืองแร่มีการทําเหมืองแร่ขนาดใหญ่ และเหมืองแร่เถื่อน ทั้งเหมืองแร่ฉีดและเหมืองแร่ชักจอบตามลําคลองหลักเหล็ก มีการตัดถนนเข้าไปยังป่าดิบชื้นบนเขาสูงในเขตตําบลปากทรง อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินรถขนส่งแร่ไปขายยังจังหวัดระนอง แต่เดิมมีเพียงรถจี๊ปคันเดียวเข้าถึงเหมืองแร่ มีควนน้ำมัน แต่เนื่องจากเส้นทางสูงชันมาก จนรถไม่สามารถขึ้นได้ รถน้ำมันจึงคว่ำ เป็นที่มาของชื่อควนน้ำมัน  เริ่มแรกตั้งชื่อว่า เหมืองหลักแหลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพี้ยนตามสําเนียงใต้เป็นเหมืองหลักแหลด เนื่องจากในอดีตเป็นพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ ต้องปักหลักที่ทําด้วยเหล็กเพื่อกําหนดหลักเขตที่ได้รับสัมปทาน คล้ายกับหลักปักโฉนดที่ดินแต่ทําจากเหล็ก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า หลักเหล็ก

ลักษณะภูมิประเทศ บ้านสะพานสองตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู สันปันน้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย (เป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับที่ราบขนาดเล็กเชิงเขา มีลําธารสั้น ๆ จากภูเขา ผ่านที่ราบขนาดเล็ก ไหลลงแม่น้ำหลังสวน มียอดเขาสูงโดดเด่น 1 ยอด ได้แก่ ยอดเขานมสาว หรือเขาพ่อตามังเคร บ้านสะพานสองถูกล้อมรอบด้วยป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่มักประสบปัญหาการกัดเซาะหน้าดิน เกิดดินถล่มอยู่บ่อยครั้ง และหมู่บ้านสะพานสอง อยู่ในกำกับดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวจังหวัดระนอง ภายใต้เขตการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน

สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศของหมู่บ้านสะพานสองมีลักษณะมรสุมเมืองร้อน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทําให้พื้นที่มีอากาศชุ่มชื้นฝนตกชุกเกือบตลอดปี อากาศโดยทั่วไปไม่ร้อนมากในฤดูร้อน และไม่หนาวจัดในฤดูหนาว

ทรัพยากรดิน ทรัพยากรดินพื้นที่อําเภอพะโต๊ะ รวมถึงหมู่บ้านสะพานสอง มีสภาพพื้นดินเป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ช่วยเสริมให้เกิดป่าไม้หนาแน่น เรียกว่า ป่าแก่ ประกอบกับมีภูเขาสลับซับซ้อน ทําให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่สําคัญ คือ แร่ดีบุก นอกจากนี้ทรัพยากรดินยังแปรสภาพเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยว คือ ภูเขานมสาวหรือเขาพ่อตาสังเคร

ทรัพยากรน้ำ หมู่บ้านสะพานสอง เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำสําคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำหลังสวน และด้วยความที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ บ้านสะพานสองจึงมีระบบการจัดการน้ำที่คงความสะอาดน้ำด้วยการสร้างฝายต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอน้ำไม่ให้ตะกอนดินและแร่ธาตุไหลลงสู่ปลายน้ำเร็วเกินไป อันเป็นสาเหตุให้ลําคลองตื้นเขิน การก่อสร้างฝายส่วนใหญ่เป็นงานหลักของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ หากนอกเหนือจากฝ่ายที่สร้างโดยหน่วยงานแล้ว ชาวบ้านยังสามารถสร้างฝายเองได้ ส่วนใหญ่เป็นฝายแบบกึ่งถาวรที่ใช้ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำ แต่ถือว่ามีความคงทนในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ หมู่บ้านสะพานสองยังมีลําธารสายเล็ก ๆ รวมถึงน้ำตกจ่าเริญ และน้ำตกเหวเตยบริเวณกลุ่มบ้านหลักเหล็ก ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นสถานที่ที่พักผ่อนหย่อนใจ

ทรัพยากรป่าไม้

ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่บ้านสะพานสองเป็นป่าไม้ประเภทป่าดิบชื้น สภาพป่ายังคงมีความ สมบูรณ์ด้วยไม้ใหญ่น้อย ดังนี้

  • ไม้ยืนต้น เช่น กระบาก ยาง ยูง เนียงนก จําปา เลือดควาย พิกุลป่า ทุเรียนป่าหยี หว้าเขา ร้าน อบเชย บริแวง มังตาล หลุมพอ ตงจิง สังเกียด ไข่เขียว เป็นต้น
  • ไม้พุ่ม ได้แก่ แซะ ยอป่า ไผ่ชนิดต่าง ๆ ไม้วงศ์ปาล์ม เป็นต้น
  • ไม้พื้นล่าง ได้แก่ บัวผุด หวาย ระกํา สมุนไพรวงศ์ข่า วงศ์ปาล์ม เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า ได้แก่ กระทิง สมเสร็จ ช้างป่า กวาง เก้ง เลียงผา วัวแดง กระจง เม่น ชะมด ค่างแว่น ชะนี หมี ลิง นกเงือก เหยี่ยวค้างคาว เป็นต้น

กลุ่มบ้าน หมู่บ้านสะพานสอง ประกอบด้วยกลุ่มบ้าน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง กลุ่มบ้านสะพานสอง กลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น และกลุ่มบ้านหลักเหล็ก โดยมีข้อมูลแต่ละกลุ่มบ้านพอสังเขป ดังนี้

  • กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง เป็นกลุ่มบ้านแรกเมื่อนับจากเส้นแบ่งเขตชายแดนจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริวณนี้อพยพมาจากสองจังหวัดระนอง และบางส่วนเดินทางอพยพมาจากภาคอีสาน โดยชาวบ้านแถบนี้นิยมปลูกพืชสวนหลากหลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุด คือ สวนปาล์มน้ำมัน รองลงมา คือ ยางพารา และกาแฟ
  • กลุ่มบ้านสะพานสอง เป็นกลุ่มบ้านที่ตั้งอยู่ถัดจากซอยสะพานหนึ่ง เป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีศาลาประชาคมหมู่บ้าน และมีร้านค้าหนาแน่นกว่ากลุ่มบ้านอื่น ประชากรส่วนใหญ่ย้ายมาจากสุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ มีคลองสําคัญ คือ ห้วยน้ำใสใต้

  • กลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น ประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็นย้ายมาจากอําเภอหลังสวน และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะทางสังคมเป็นชุมชนเครือญาติ จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ชาวบ้านเป็นชาวสวนปาล์ม และมีการปลูกผลไม้เป็นจำนวนมาก

  • กลุ่มบ้านหลักเหล็ก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง มีอาณาเขตติดต่อกับบ้านคลองเรือ และเขตจังหวัดระนอง ประชากรส่วนใหญ่ย้ายมาจากสุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยทั่วไปหมู่บ้านสะพานสองในแต่ละกลุ่มบ้านจะวางตัวอยู่ริมสายน้ำที่เป็นห้วยคลอง อาณาเขตพื้นที่ทํากินด้านหนึ่งจะจดห้วยและทอดตัวยาวสู่สันเขา ภูเขาส่วนใหญ่ เป็นภูเขาดิน ทำให้บ้านสะพานสองเป็นชุมชนที่ศักยภาพทางการผลิตพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับดี

สถานที่สำคัญ

  • เขานมสาวหรือพ่อตามังเคร เป็นแหล่งเดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมทะเลหมอก ซึ่งบนยอดเขาสามารถที่จะกางเต็นท์นอน เพื่อรอชมทะเลหมอกในยามเช้าได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเมื่อมองจากยอดเขานมสาวจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของภูเขาและป่าไม้ของจังหวัดระนองและอําเภอพะโต๊ะ

  • น้ำตกเหวเตยและน้ำตกจ่าเริญ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติบริสุทธิ์และจุดปล่อยน้ำประปาภูเขา ตั้งอยู่ในเขตหย่อมบ้านหลักเหล็ก 

ประชากรหมู่บ้านสะพานสอง เป็นกลุ่มคนที่อพยพย้ายมาจากต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างเชื้อชาติ และต่างวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากหลายจังหวัดใน ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง นอกจากนี้ยังมีประชากรที่ย้ายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์

ด้วยความหลากหลายทางภูมิลำเนาขของประชากรในหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านสะพานสองมีลักษณะเป็นชุมชนที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังสามารถดํารงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น กลุ่มคนที่ย้ายมาก่อนจะแนะนําผู้มาทีหลังให้ระมัดระวังเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างป่าและชุมชน ไม่ให้รุกล้ำและถางป่าเพิ่มเติม การพบปะสังสรรค์ของหมู่บ้านแห่งนี้ จึงเป็นรูปแบบเพื่อนบ้านที่แวะเวียนไปพบปะกันมากกว่าแบบเครือญาติ

ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านสะพานสองประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นชาวสวนมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ พืชที่ปลูก ได้แก่ สวนปาล์มน้ำมัน สวนกาแฟ สวนยางพารา และมีสวนผลไม้บ้างเล็กน้อย เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ลางสาด กล้วยเล็บมือนาง เป็นต้น

ส่วนอาชีพเสริมของชาวบ้าน เช่น ค้าขาย ร้านอาหาร ช่างซ่อมรถ ร้านเสริมสวย ปลูกผักพื้นบ้านขาย นําเที่ยวเดินป่าเขาพ่อตามังเคร ทําไม้กวาด รถขายอาหารสดเคลื่อนที่ วัยรุ่นบางส่วนไปทํางานเป็นพนักงานเก็บเงิน และพนักงานฝ่ายพัสดุที่ห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาชุมพร เป็นต้น

สวนปาล์มน้ำมัน: เป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวสวนในหมู่บ้านสะพานสองปลูกมากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่ายและติดทลายได้ทั้งปี อีกทั้งยังสามารถเก็บผลผลิตได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง เพียง 15-20 วัน ก็สามารถตัดปาล์มได้อีกครั้ง สำหรับสายพันธุ์ปาล์มที่ชาวบ้านสะพานสองนิยมปลูก คือ ปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 เนื่องจากมีผลดก และดูแลได้ง่าย

รายได้จากการขายปาล์มแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจํานวนพื้นที่ปลูกและการบำรุงดูแลต้นปาล์ม เช่น จากเนื้อที่ 70 ไร่ ตัดปาล์มได้ครั้งละ 16,000 บาท สองครั้งจะได้ 36,000-40,000 บาท เมื่อได้เงินมาต้องแบ่งจ่ายค่าคนงานตัดปาล์ม ค่าปุ๋ย และจ่ายหนี้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สําหรับครอบครัวที่มีพื้นที่สวนน้อยจะตัดปาล์มเอง จึงจะไม่ต้องเสียค่าจ้างคนงาน

กาแฟ: เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในกลุ่มบ้านหลักเหล็ก โดยมีตลาดรับซื้อสำคัญ คือ บริษัท เนสเล่ท์ ประเทศไทย จํากัด ผู้ผลิตกาแฟสําเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากให้ราคาสูง ชาวสวนได้กําไรดี โดยทางโรงงานจะกําหนดโควตาให้ชาวสวนส่งกาแฟให้โรงงานไม่เกิน 20 กระสอบต่อครัวเรือน ซึ่งเมล็ดกาแฟแห้งแต่ละกระสอบจะมีราคากระสอบละ 7,000-8,000 บาท (กาแฟผลสดราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท ในขณะที่กาแฟแห้งราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท)

ยางพารา: ชาวบ้านหมู่บ้านสะพานสองที่กรีดยางส่วนใหญ่จะไม่นิยมขายน้ำยาง แต่ใช้วิธีทําเป็นขี้ยางแทน เนื่องจากฝนที่ตกหนักจะมีน้ำฝนปนกับน้ำยางมาก เป็นอุปสรรคสําคัญในการเก็บน้ำยาง จึงใช้วิธีการกรีดต้นแล้วรองน้ำยางไว้ให้แห้งเป็นขี้ยาง แล้วจึงรวบรวมไปขายในร้านรับซื้อขี้ยางในตําบลปากทรง

ทุเรียน: เป็นผลไม้ที่ขายได้ราคาสูงที่สุดในบรรดาผลไม้ที่ชาวสวนหมู่บ้านสะพานสองปลูก แต่ปัจจุบันชาวสวนลดพื้นที่ปลูกทุเรียนลง เนื่องจากมีขั้นตอนการดูแลที่ซับซ้อน และมีปัญหาโรคพืชรบกวน ชาวสวนนิยมปลูกทุเรียน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี และก้านยาว ส่วนพันธุ์พื้นบ้านหรือทุเรียนกระดุมจะไม่ค่อยนิยมปลูก เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมของตลาด

แรงงานชาวพม่า 

ชาวพม่าที่มาใช้แรงงานส่วนใหญ่มาจากเกาะสอง ชายแดนทางทะเลระหว่างจังหวัด ระนองกับพรมแดนพม่า แรงงานเหล่านี้มีที่พํานักเป็นบ้านเจ้าของสวน (นายจ้าง) อยู่บริเวณทุกกลุ่มบ้าน กลุ่มละสองครอบครัวเป็นอย่างต่ำ ชาวบ้านสะพานสองนิยมจ้างแรงงานพม่าไว้ช่วยทํางานหลายประเภท เช่น งานสวน งานบ้าน การถางหญ้า ตัดหญ้า ฉีดยาฆ่าหญ้า กรีดยางพารา ใส่ปุ๋ย ตัดปาล์มน้ำมัน โดยการรับจ้างตัดปาล์มโดยมากลูกจ้างจะรับเงิน 2 งวด/เดือน ตามวันที่ตัดปาล์ม ค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณงวดละ 2,000 บาท ฉะนั้น ในหนึ่งเดือน แรงงานชาวพม่าเหล่านี้จะได้ค่าแรงจากการรับจ้างตัดปาล์ม 4,000 บาท 

ศาสนา และความเชื่อ

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีเพียง 1 ครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ในหมู่บ้านไม่มีวัด แต่มีสํานักสงฆ์ 1 แห่ง ตั้งอยู่ในกลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น ศาสนิกชนส่วนใหญ่ที่เข้าไปทำบุญเป็นคนภายในกลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น ส่วนชาวบ้านอีก 3 กลุ่มบ้านมักไปทําบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สํานักสงฆ์ตําบลปากทรง อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และที่วัดนกงาง ตําบลราชกรูด อําเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร

นอกจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีความเชื่อพื้นบ้าน และมีข้อห้ามต่าง ๆ ในการดํารงชีวิต เช่น ห้ามตากผ้าอ้อมตอนกลางคืนประเดี๋ยวผีกากจะมาเลีย ห้ามนั่งทับหมอนจะทําให้นอนฝันร้ายและบั้นท้ายเป็นตุ่ม ตําน้ำพริกแล้วไม่ล้างครกสากจะทําให้มีลูกหัวล้าน เป็นต้น นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความเชื่อต่ออํานาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่สิงสถิตบนเขา หลังฝนตกจะมีไอหมอกปกคลุมทั่วยอดเขานมสาวหรือเขาพ่อตามังเคร ชาวบ้านเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “พ่อตาหุงข้าว”

ประเพณี

  • พิธีไหว้สวนหรืองานเลี้ยงลา: เป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาสวนให้ได้ผลผลิตที่ดี และสร้างขวัญกําลังใจให้แก่ชาวสวน ประเพณีนี้จะจัดทําขึ้นทุกปีหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว แต่ละบ้านจะทําพิธีไม่ตรงกัน โดยปกติมักจะยึดฤกษ์สะดวก เครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่ ผลไม้ต่าง ๆ และที่สำคัญต้องมีสุรา

  • เทศกาลบุญเดือน 10 และประเพณีรับ-ส่งตายาย: ตรงกับช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ลูกหลานของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะร่วมกันทําพิธีที่วัด มีการสวดมนต์ส่งวิญญาณบรรพบุรุษที่มาจากปรโลก

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

การตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้านสะพานสองเป็นการสร้างบ้านแบบกระจัดกระจาย แต่ละกลุ่มบ้านจะมีคลองทอดตัวอยู่ ลักษณะการตั้งบ้านเรือนแต่ละกลุ่มบ้านจะสร้างบ้านอยู่ข้างลําธาร มูลเหตุของการตั้งบ้านเรือนใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากความสะดวกในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล

กิจกรรมยามว่าง

ผู้ชายพักผ่อนดูมวยไทยในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาจะทํางานเข้าสวนทั้งวัน เวลาพักผ่อนอยู่ในช่วงเย็น นอกจากการนอนหลับผักผ่อน ยังพบการเลี้ยงนก ส่วนใหญ่เป็นนกกรงหัวจุก นกปรอท และนกกางเขนดง (บินหลาดง) 

1. นางหนูเยี่ยม บุรีรัตน์ ครูสอนรำมโนราห์เพียงคนเดียวของหมู่บ้านสะพานสอง 

มโนราห์

มโนห์รา เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ ที่ ยังคงมีครูสอนและสืบทอดให้แก่เด็กในชุมชนตั้งแต่ 6 ขวบเป็นต้นไป โดยปัจจุบันครูสอนรํา คือ นางหนูเยี่ยม บุรีรัตน์ ครูสอนรำมโนราหืเพียงคนเดียวในหมู่บ้านสะพานสอง

หัตถกรรมการสานเตยหนาม

ชาวบ้านหมู่บ้านสะพานมีการทำหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผลิตจากต้นเตยหนาม ต้นไม้ป่าขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายต้นเตยแต่มีลําต้นสูง ก่อนทําการสานต้องนําใบมาลอกหนาม ผึ่งแดดพอนิ่ม แล้วนํามาจักสานเป็นภาชนะใส่ข้าวสาร พริก หมาก เรียกว่า โกรก

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

ชาวบ้านหมู่บ้านสะพานสองส่วนใหญ่ย้ายมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร สําเนียงภาษาใต้ของชาวบ้านจึงเป็นสําเนียงสุราษฎร์ธานี และสําเนียงชุมพร

คําศัพท์ใต้เฉพาะที่ต่างจากภาษากลาง เช่น ยานัด (สับปะรด) ย่าหมู (ฝรั่ง) สูญ (หาย) ไรโจ้ (ไม่รู้อะไร) แตวา (เมื่อวาน) ต่อเช้า (พรุ่งนี้) ต่อรื้อ (ตอนไหน) พรือโฉ้ (ไม่รู้เป็นอย่างไร) ท๊า (คอย) อิตาย (ไม่ไหวแล้ว) และตั้งชื่อลูกชายว่า บ่าว ตั้งชื่อลูกสาวว่า สาวหรือปุ๋ย เป็นต้น


ชาวสวนหมู่บ้านสะพานสองประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ทําให้ต้องเลือกปลูกเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตราคาสูงก่อน คือ ปาล์มน้ำมัน จึงต้องโค่นพืชชนิดอื่นที่ราคาไม่สูง หรือราคาสูงแต่ไม่คุ้มต้นทุน เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง กาแฟ เป็นต้น เพื่อแปรสภาพสวนผลไม้ดังกล่าวเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นอาณาจักรพืชเชิงเดี่ยว ไม่เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ จํานวนแปลงการเกษตรที่ใช้ปลูกพืชแบบผสมผสานลดลง

ปัญหาโรคพืชเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เข้ามารบกวนความสมบูรณ์ของผลิตทางการเกษตร เช่น ทุเรียนพบปัญหาโรคแกนกลางกลวง และมีปัญหาที่ชาวบ้านเรียกว่า อาการท็อป เกิดจากไวรัสท็อปรา คือ มีเนื้อน้อย ไส้ในแข็ง มีหนอนเพราะฝนตกมากเกินไป ส่วนปาล์มน้ำมันจะมีปัญหาเกี่ยวกับผลเน่า เพราะฝนตกหนักต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีพืชกาฝาก เป็นพืชขนาดเล็กที่เกาะตามต้นผลไม้ มีลักษณะเป็นเครือใบเล็กเรียวยาวสีเขียวเข้ม เมื่อเกาะต้นไม้นานเข้าจะแย่งสารอาหารของต้นไม้ และหากเจริญเติบโตถึงยอด จะทำให้ยอดนั้นต้นไม้นั้นตาย พบในต้นไม้หลายชนิด ได้แก่ ต้นลองกอง ทุเรียน มังคุด กาแฟ หมาก และยางพารา เรียกได้ว่ากาฝากจะตามไปเกาะต้นไม้แทบทุกชนิดในสวน


การประปา: หมู่บ้านสะพานสองเป็นชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำที่ใช้ประปาภูเขา โดยต่อจากตาน้ำขนาดใหญ่ แล้วลดขนาดท่อลงเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำเมื่อลงสู่พื้นราบ ท่อประปาภูเขามีหลายสาย ลดเลี้ยวไปตามทางเข้าบ้านแต่ละหลัง เพื่อเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านดูแลป่า เดิมทีใช้ไม้ไผ่ในการส่งน้ำจากแหล่งน้ำบนเขา แต่เนื่องจากท่อไม้ไผ่ผุง่ายและหลุดบ่อย จึงเปลี่ยนเป็นการสร้างฝายแล้วกักน้ำเพื่อปล่อยออกมาทางท่อพีวีซี เพิ่มความสะดวกและซ่อมแซมได้ง่าย

ไฟฟ้: การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามาจัดการต่อไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านสะพานสอง เมื่อ พ.ศ. 2535 ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านสามารถใช้ไฟฟ้าอํานวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันไฟฟ้าทั่วถึง 3 กลุ่มบ้าน คือ กลุ่มบ้านสะพานหนึ่ง กลุ่มบ้านสะพานสอง และกลุ่มบ้านห้วยน้ำเย็น ส่วนกลุ่มบ้านหลักเหล็กมีไฟฟ้าใช้จากไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) 


ควนแม่ยายหม่อน
น้ำตกหงาว
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จุดชมวิวเขานมสาว. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.chppao.go.th/travel/detail/173 [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].

มัญชีรรัตน์ เอกศักดิ์สิริ. (2556). ปั้นข้าวเหนียวในถิ่นสะตอ: การปรับวิถีชีวิตของเกษตรกรภาคอีสานบนผืนป่าต้นน้ำภาคใต้ - กรณีศึกษาบ้านสะพานสอง ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อบต.ปากทรง โทร. 0-7765-4535