กลุ่มชุมชนผลิตเครื่องเบญจรงค์ที่มีความงดงามและมีมาตรฐาน โดยเป็นชุมชนท่องเที่ยววิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมการวาดลวดลายบนเครื่องเบญจรงค์ อีกทั้งยังมีโฮมสเตย์บ้านดอนไก่ดีไว้รองรับนักท่องเที่ยว
ที่มาของชื่อนั้นเกิดขึ้นจากพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง อีกทั้งเป็นที่ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงไก่ชนเอาไว้เพื่อขาย และนำไปชนกับไก่ชนในหมู่บ้านอื่นๆ และมักจะได้รับชัยชนะเสมอ (ในปัจจุบันก็ยังมีการเลี้ยงไก่ชนอยู่เหมือนเดิม) จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านดอนไก่ดี"
กลุ่มชุมชนผลิตเครื่องเบญจรงค์ที่มีความงดงามและมีมาตรฐาน โดยเป็นชุมชนท่องเที่ยววิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมการวาดลวดลายบนเครื่องเบญจรงค์ อีกทั้งยังมีโฮมสเตย์บ้านดอนไก่ดีไว้รองรับนักท่องเที่ยว
หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลดอนไก่ดี หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนของชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจาก วิทยากรชาวไทย - จีนโบราณ ซึ่งทางโรงงานเสถียรภาพ หรือที่เรียกกันว่า โรงชามไก่ผู้ผลิตเครื่องเบญจรงค์เก่าแก่ของ จังหวัดสมุทรสาคร เชิญมาสอนขั้นตอนการผลิต รวมไปถึงการเขียนลวดลายบนเครื่องถ้วยชาม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ทางโรงงานประสบภาวะขาดทุน เป็นเหตุให้ต้องปิดกิจการ กลุ่มลูกจ้างเดิมจึงตกอยู่ในภาวะว่างงาน ด้วยเหตุนี้เพื่อความอยู่รอด ช่างเขียนลายเบญจรงค์จึงต้องรวมกลุ่มกัน โดยนำองค์ความรู้และทักษะการทำเครื่องเบญจรงค์มาประยุกต์ใช้ จากนั้นมีการพัฒนาให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ภายใต้กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จะมีรูปแบบลวดลายเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีการสี 5 สี และมีการใช้สีที่สวยงามยิ่งขึ้นอาทิ ลายน้ำทอง มีสีทองช่วยเสริมความสวยงามและความโดดเด่นของลวดลาย ซึ่งลวดลายเหล่านี้นับว่ามีความสวยงามเป็นอย่างมาก ทำให้ในปี พ.ศ. 2546 เครื่องเบญจรงค์ที่นี่ได้รับการคัดสรรเป็นสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (ได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว) ที่มีมาตรฐานเป็นสากล ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ทางหมู่บ้านได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว และในปีต่อ ๆ มา ได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รับประกันถึงคุณภาพของเครื่องเบญจรงค์และหมู่บ้านแห่งนี้เป็นอย่างดี
จากคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลดอนไก่ดี ที่ส่วนใหญ่เคยทำงานเป็นลูกจ้างใน “โรงงานเสถียรภาพ” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตถ้วยชามเซรามิค (ถ้วยชามตราไก่) ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลอ้อมน้อย (เทศบาลเมืองอ้อมน้อย) อำเภอกระทุ่มแบน มีหลายคนเป็นสุภาพสตรีที่ทำงานอยู่แผนกเขียนลายครามและลายเบญจรงค์ และเป็นสมาชิกของกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ในปัจจุบัน ได้แก่ คุณอุไร แตงเอี่ยม, คุณผุดผ่อง ภู่มาลี, คุณรัชนี ทองเพ็ญ, คุณประภาศรี พงษ์เมธา และคุณมะลิ จันทบดี ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ ได้รับการถ่ายทอดเอาความรู้และภูมิปัญญาจากวิทยากรทั้งคนไทยและคนจีนโบราณที่ทางโรงงานเสถียรภาพเชิญมาสอนและแนะนำ การเขียนลวดลายต่าง ๆ ลงบนถ้วยชาม ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2532 โรงงานเสถียรภาพประสบปัญหาภาวะขาดทุน มีการปลดคนงานออก และได้ปิดกิจการลงในเวลาต่อมา ส่งผลให้ลูกจ้างคนงานหลายคนตกงาน หลังจากนั้นได้มีลูกจ้างคนงานของดอนไก่ดีได้รวมกันปรึกษาหารือ เพื่อนำเอาความรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาที่ได้รับมาลงทุนทำผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนในหมู่บ้าน และได้มีการประยุกต์คิดค้นแบบลวดลาย รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยและความต้องการของตลาด ทำให้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
ชุมชนดอนไก่ดี ตั้งอยู่ในตำบลดอนไก่ดี อยู่ในหมู่ที่ 1 บ้านดอนไก่ดี โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มบริเวณปากแม่น้ำบางพื้นที่เป็นที่ดอน พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรและองค์การบริหารส่วนตำบลดอนไก่ดี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอกระทุ่มแบน ห่างจากที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบนประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสมุทรสาครประมาณ 14 กิโลเมตร โดยมีถนนสุคนธวิทเป็นเส้นทางหลัก ที่ตั้งของชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลตลาดเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลนาดีและตำบลบ้านเกาะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคลองมะเดื่อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่าเสา
ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านดอนไก่ดีประกอบอาชีพ
- ทำนา ในปัจจุบัน พบว่าการทำนาลดลง เนื่องจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มากขึ้น
- ทำสวนผัก ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักกระเจี๊ยบ และผักกวางตุ้ง เป็นต้น และสวนผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน สวนมะม่วง และสวนกล้วยไม้ เป็นต้น
- การค้าขาย รับจ้าง
- ประกอบธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ การผลิตเครื่องเบญจรงค์ เซรามิค โฮมสเตย์ และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี กลุ่มชาวบ้านที่ผลิตงานศิลปะและหัตถกรรม โดยได้รวมกลุ่มร้านเบญจรงค์ในหมู่ที่ 1 ดอนไก่ดี เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาจากวิทยากร ซึ่งได้รับการสืบทอดความรู้จากชาวจีนโบราณ และสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เป็นหมู่บ้านได้รับรางวัลจำนวนมาก อีกทั้งเครื่องเบญจรงค์ในพื้นที่ดอนไก่ดีได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว มาตรฐานสากล นอกจากนี้ มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วม อาทิ การเขียนลายเบญจรงค์ และมีโฮมสเตย์บ้านดอนไก่ดีไว้ให้บริการ
1. อุไร แตงเอี่ยม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ครูอุไรเป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ยุคนั้น เริ่มต้นทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นลูกจ้างเขียนลายในโรงงานเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่อย่างโรงงานเสถียรภาพที่มีคนงานกว่า 2,000 คน สินค้าสำคัญคือ งานเครื่องลายครามกังไส ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ทำงานเป็นช่างเขียนลายตั้งแต่ลายพื้นฐาน อย่าง ลายสัปปะรด จนเลื่อนขั้นเป็นช่างเขียนลายเบญจรงค์ สร้างความเชี่ยวชาญชำนาญให้นางอุไรได้ชื่อว่ามีฝีมือชั้นครูคนหนึ่งของโรงงานเสถียรภาพ ภายหลังโรงงานปิดตัวลง จึงมารับงานเขียนลายเบญจรงค์ส่งเจ้านายเก่า จากนั้นเริ่มชักชวนเพื่อนฝูงที่มีฝีไม้ลายมือด้านงานเขียนลายให้รวมกลุ่มสร้างชิ้นงานเบญจรงค์ในชื่อของ บ้านดอนไก่ดี เป็นชิ้นงานเบญจรงค์ที่มีความโดดเด่นแตกต่างจากแหล่งเบญจรงค์ที่อื่น เพราะยังคงอนุรักษ์ลายโบราณและจารีตของสีโบราณอย่างเคร่งครัด ประกอบการพัฒนาเทคนิคการผสมสีให้มีความคงทน การเขียนลายที่เน้นความคมชัดมากกว่าลายเบญจรงค์ในอดีต จึงทำให้มีความคงทน การเขียนลายที่เน้นความคมชัดมากกว่าลายเบญจรงค์ในอดีตจึงทำให้เครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มบ้านดอนไก่ดีได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเบญจรงค์ระดับต้น ๆ ของประเทศเลยทีเดียว
ทุนทางวัฒนธรรม
ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี อุไรเบญจรงค์ คุณอุไร แตงเอี่ยม เป็นผู้ก่อตั้งบ้านอุไรเบญจรงค์ ในอดีตคุณอุไร และคนในชุมชนประกอบอาชีพที่โรงงานเสถียรภาพทำเครื่องมือชามตราไก่โบราณมาก่อน หลังจากนั้น พ.ศ. 2535 โรงงานเสถียรภาพล้มละลาย ทำให้คุณอุไร และสมาชิกภายในหมู่บ้านเบญจรงค์ตกงานจึงออกมาจัดตั้งเป็นร้านอุไรเบญจรงค์ รูปแบบเครื่องเบญจรงค์ของบ้านอุไรมีความหลากหลาย โดยส่วนมากจะสามารถใช้งานได้จริงในครัวเรือน เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ แจกัน และโถข้าว ผู้ที่ซื้อไปสามารถนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปตั้งประดับภายในบ้านหรือนำไปมอบเป็นของขวัญได้เช่นกัน
การพัฒนาหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีนี้เกิดจากความร่วมมือทั้งในตัวผู้ประกอบการ สมาชิกในหมู่บ้าน และหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนในเรื่องของการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) นับว่าเป็นการนำวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในด้านของผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ทางกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีถือว่ามีความเข็มแข็งเป็นอย่างมากผู้ประกอบการและสมาชิกในหมู่บ้านทุกคนได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยมีการพัฒนาตนเองและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ทางหน่วยงานภาครัฐยังเข้ามาช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนหมู่บ้านเบญจรงค์ให้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักทั้งกลุ่มลูกค้าภายในประเทศและต่างประเทศ
การมีส่วนร่วมของสมาชิกในหมู่บ้าน หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสมาชิกในหมู่บ้านเบญจรงค์ทุกคนให้การช่วยเหลือ ผลักดันและสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก จึงทำให้หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีประสบความสำเร็จ ทั้งนี้กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีได้เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ในเครือข่ายทุกคนทั้งบุคคลภายในชุมชนและบุคคลภายนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันภูมิปัญญา ในการทำเครื่องเบญจรงค์ รวมถึงผู้ประกอบการและสมาชิกในหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีทุกคนให้ความร่วมมือกันตลอด นอกจากนี้ทางหน่วยงานของภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้หมู่บ้าน เบญจรงค์ดอนไก่ดีประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านลวดลาย การพัฒนาฝีมือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การอบรมความรู้ และการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายตามจุดต่าง ๆ รวมถึงในด้านการต้อนรับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาในการทำเครื่องเบญจรงค์ไว้ โดยสินค้าของกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว จนทำให้กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้
การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ในส่วนของกระบวนการผลิตเครื่องเบญจรงค์ ของหมู่บ้านดอนไก่ดีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอุปกรณ์และวัตถุดิบ ส่วนกระบวนการผลิตยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งขั้นตอนที่มีมาแต่โบราณ อุปกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อสอดรับกับการผลิตที่ได้มาตรฐานและรวดเร็วขึ้น กล่าวว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความคิดทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งและการดำรงอยู่ได้ยาวนานย่อมต้องมีด้วยกันทุกสังคม ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่เก่าแก่สังคมหนึ่ง จึงปรากฏมีภูมิปัญญาเช่นนี้อยู่จำนวนมาก ภูมิปัญญาเหล่านี้นอกจากจะแสดงถึงความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ยังเป็นเครื่องชี้วัดความเจริญและพัฒนาการของคนในชาติ ทั้งนี้เมื่อยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งได้จากภูมิปัญญานั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคม และยุคสมัยนั้น ๆ จึงจะทำให้สามารถพัฒนาภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ได้อย่างดีที่สุด และเป็นที่ตอบสนองความต้องการของ ผู้บริโภค อุปกรณ์ที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ สริ้ง หรือปากกาเข็มใช้สำหรับเขียนลายทองให้เส้นที่คมกว่าพู่กัน เร็วกว่า และที่สำคัญประหยัดน้ำทองได้มาก เพราะน้ำทองต้องสั่งจากประเทศเยอรมันซึ่งมีราคาที่สูงมาก เครื่องขาวสมัยโบราณต้องจัดเตรียมเนื้อดินและผสมเนื้อดินเอง ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการบดดิน การล้างทำความสะอาดดิน การผสมวัตถุดิบ การแยกเหล็กออกจากน้ำดิน การหมักดิน การอัดดิน และการนวดดิน ก่อนจะมาขึ้นรูป เครื่องขาว แต่ในปัจจุบันมีโรงงานที่เดินสำหรับขึ้นโดยเฉพาะที่ทำออกมาได้คุณภาพ อุปกรณ์อีกชิ้น คือ เปลี่ยนเตาเผาเป็นเตาไฟฟ้าเพื่อการปรับความร้อนที่ได้มาตรฐานที่ดียิ่งกว่า ขั้นตอนการผลิตเครื่องเบญจรงค์ มีขั้นตอนที่ชัดเจนยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการผลิตแบบโบราณ คือการเตรียมเครื่องขาว เขียนลาย ลงส่วนขอบทอง และเผาเคลือบเครื่องเบญจรงค์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/
สมพัทธ์ ทิพย์มงคล และอธิพัชร์ วิจิตสถิตรัตน์. (2559). การศึกษากระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเบญจรงค์หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร. วารสารสารสนเทศ, 15(2), 103-112.
ลักขิกา วารีสมบูรณ์. (2560). การปฏิบัติที่ดีในการจัดการเครื่องเบญจรงค์ของผู้ประกอบการชุมชนดอนไก่ดี ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย. (ม.ป.ป.). อุไร แตงเอี่ยม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก https://archive.sacit.or.th/
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). ชุมชนหมู่บ้านดอนไก่ดี การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, จาก http://community.onep.go.th/