Advance search

ตลาดน้อย

ตะลัคเกียะ

ความโดดเด่นด้านงานฝีมือและงานช่าง แสดงถึงองค์ความรู้วัฒนธรรมชาวจีนที่ได้ส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่น เช่น การหล่อพระ การทำรองเท้า การทำหมอน การทำขนมโบราณ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามเทศกาล เช่น การแสดงงิ้ว การทำอาหารเจ ฯลฯ 

ถนนเจริญกรุง
ตลาดน้อย
สัมพันธวงศ์
กรุงเทพมหานคร
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
30 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
28 เม.ย. 2023
ตลาดน้อย
ตะลัคเกียะ

ย่านตลาดน้อย เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของสำเพ็ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยที่บรรดาชาวจีนต่างพากันเรียกตลาดแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสำเพ็ง ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในขณะนั้นว่า ‘ตะลัคเกียะ’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘ตลาดน้อย’ และด้วยความที่อยู่ใกล้กับสำเพ็งมากในบางครั้ง ตลาดน้อยจึงถูกเรียกในฐานะส่วนหนึ่งของสำเพ็งด้วย


ความโดดเด่นด้านงานฝีมือและงานช่าง แสดงถึงองค์ความรู้วัฒนธรรมชาวจีนที่ได้ส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่น เช่น การหล่อพระ การทำรองเท้า การทำหมอน การทำขนมโบราณ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามเทศกาล เช่น การแสดงงิ้ว การทำอาหารเจ ฯลฯ 

ถนนเจริญกรุง
ตลาดน้อย
สัมพันธวงศ์
กรุงเทพมหานคร
10100
สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โทร. 0-2233-1224
13.733327070865611
100.51311016246352
กรุงเทพมหานคร

ตลาดน้อยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่ย้ายมาจากฝั่งกรุงธนบุรีตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีชาวมุสลิม โปรตุเกส และชาวตะวันตกกลุ่มอื่น ๆ ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งการเจริญเติบโตของตลาดน้อยอาจจะต้องกล่าวไปถึงช่วงความเฟื่องฟูของท่าเรือสำเภาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และการกำเนิดของท่าเรือ ‘โปเส็ง’ ของตระกูลโปษยจินดา อีกทั้งยังมีท่าเรือสำคัญอีกหลายแห่งในบริเวณท่าน้ำราชวงศ์และทรงวาด ณ เวลานั้นตลาดน้อยอาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นที่ตั้งรกรากของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนฮากกา ชาวจีนแต้จิ๋ว และชาวจีนอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม กล่าวคือช่วงแรกชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตลาดน้อยเป็นชาวฮกเกี้ยน ตั้งรกรากอยู่บริเวณ ‘บ้านโรงกระทะ’ มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กลับไม่มีการระบุขอบเขตของพื้นที่แต่อย่างใด ต่อมาพระยาวิสูตรสาครดิฐ หรือจอห์น บุช ผู้เป็นกัปตันเดินเรือคนสำคัญได้เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณสี่พระยา และใช้พื้นที่ในบริเวณเป็นอู่ต่อเรือ จนกระทั่งภายหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ฉะนั้นการค้าขายทางเรือจึงขยายตัวออกไป พร้อมทั้งมีการสร้าง ‘ฮวยจุงโล่ง’ (ล้ง 1919) ในบริเวณคลองสาน เป็นท่าเรือกลไฟแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อค้าขายสินค้าทางการเกษตร หนังสัตว์ และเครื่องเทศ ประกอบกับเป็นสถานที่ตรวจคนเข้าเมืองในสมัยนั้น จนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ย่านตลาดน้อยได้มีชาวจีนฮากกา ชาวจีนกวางตุ้ง และชาวจีนไหหลำย้ายเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมากขึ้น จนเติบโตขึ้นเป็นชุมชนตลาดขนาดใหญ่ อาทิ ตลาดเจ้าสัวสอน ตลาดเจ้าสัวเท่ง และตลาดเจ๊กปิ่น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของห้างร้าน สำนักงาน ธนาคาร และกิจการสำคัญหลายแห่ง ดังนั้น ตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างการตั้งรกรากของชาวจีนกับชาวตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งชุมชนชาวโปรตุเกสที่ขยายตัวมาจากย่านกุฎีจีน หรือชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นผลให้ตลาดน้อยได้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานจากคนต่างถิ่น ถึงแม้ในปัจจุบันจะไม่พบกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว แต่ร่องรอยทางสถาปัตยกรรมได้แสดงให้เราเห็น

จากการศึกษาพบว่า ชุมชนตลาดน้อยนั้นมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง โดยแบ่งได้ 3 ช่วงเวลา ดังนี้

ยุคเริ่มต้นของชุมชนตลาดน้อย (พ.ศ. 2310 – 2398) โดยพิจารณาจากมีการตั้งถิ่นฐานภายในชุมชนตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริง กล่าวคือชุมชนตลาดน้อยมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นการค้าขายที่อาศัยเส้นทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ซึ่งใช้เรือในการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่เมืองหลวง เป็นสาเหตุที่ชุมชนตลาดน้อยเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานและประกอบกิจกรรมทางการค้า เนื่องจากการขนส่งสินค้านั้นจะต้องผ่านบริเวณตลาดน้อย เพื่อล่องเรือเข้าสู่ย่านการค้า เป็นผลให้เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาจับจองพื้นที่และใช้พื้นที่บริเวณตลาดน้อยเป็นแหล่งค้าขายและพื้นที่พักอาศัย โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ซึ่งการขนส่งสินค้าเข้าเมืองหลวงจะต้องผ่านคลองระมาดที่มีลักษณะแคบ ทำให้เรือขนส่งสินค้าใหญ่ไม่สามารถเข้าไปยังเมืองหลวงได้ ดังนั้นจึงต้องจอดเรือเพื่อถ่ายสินค้าลงบริเวณตลาดน้อย จนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พื้นที่บริเวณตลาดน้อยเริ่มมีบทบาททางการค้ามากขึ้น และมีกลุ่มคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ชื่อ ‘ตลาดน้อย’ เป็นคำเรียกย่านตลาดการค้าแห่งใหม่ของชุมชนชาวจีนที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของสำเพ็งลงมาทางตอนใต้ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยตลาดสำเพ็งถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและเป็นตลาดใหญ่ในย่านชุมชนชาวจีน ตลาดน้อยจึงเป็นตลาดที่มีขนาดรองลงมา ซึ่งได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ฉะนั้นในช่วงที่มีกลุ่มคนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนตลาดน้อย บรรดาชาวจีนมีการอาศัยรวมกันแบบเกาะกลุ่มและพึ่งพากันตามภาษาถิ่นของพวกพ้องตนเป็นพื้นฐาน กลุ่มชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากกลุ่มแรกคือชาวจีนฮกเกี้ยน ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนขึ้นเป็นกลุ่มแรกและได้ร่วมกันสร้าง ‘ศาลเจ้าโจวซือกง’ ที่เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2347 

ยุครุ่งเรืองทางการค้าของชุมชนตลาดน้อย (พ.ศ. 2399 – 2500) เป็นเวลาที่ชุมชนตลาดน้อยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ธุรกิจเซียงกงเติบโต กล่าวคือสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่ชุมชนตลาดน้อยมีบทบาททางการค้ามากที่สุด เนื่องจากหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 ทำให้กิจกรรมการค้าเติบโตอย่างรวดเร็ว พื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยเรือสินค้าชนิดต่าง ๆ เรียงรายกันตลอดริมฝั่งแม่น้ำและจอดทอดสมออยู่กลางลำน้ำ เพื่อรอการขนถ่ายสินค้า นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาทางด้านคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อสร้างความเจริญและให้เมืองเกิดการขยายตัว โดยการพัฒนาที่ส่งผลต่อชุมชนตลาดน้อยนอกจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ยังเกิดจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษม และการสร้างถนนเจริญกรุงที่ทำให้ชุมชนชาวจีนในตลาดน้อยขยับขยายตัวจากบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามายังพื้นที่ด้านในมากขึ้น เป็นผลให้ชาวจีนที่ต้องการเข้ามาหางานและสร้างฐานะ นิยมอพยพเข้าทำงานในบริเวณนี้ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างตึกแถวตามริมถนนที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ขายและให้เช่า โดยเป็นตึกแถวที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ตลอดสองข้างทางของถนนอาคารตึกแถวเกิดขึ้นเรียงต่อกันตามแนวของถนน ดังนั้นการพัฒนาดังที่กล่าวมาล้วนส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ในชุมชนตลาดน้อยเกิดการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าแม่ค้าทั้งชาวไทย ชาวจีน รวมถึงชาวตะวันตกเข้ามาแข่งขันในการทำกิจการต่าง ๆ 

ยุคปัจจุบันของชุมชนตลาดน้อย (พ.ศ. 2501 – 2565) เป็นช่วงเวลาที่เมืองมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคที่ทันสมัยขึ้นจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือหลังจากที่รัฐดำเนินการจัดรูปการบริหารและการปกครองกรุงเทพมหานครแบบใหม่ในปี พ.ศ. 2515 ส่งผลให้ตลาดน้อยมีฐานะเป็นแขวงหนึ่งในสามแขวงของเขตสัมพันธวงศ์ และได้มีการสร้าง "ที่ว่าการเขตสัมพันธวงศ์" ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่ติดต่อราชการต่าง ๆ ซึ่งในยุคนี้ พบว่าบริเวณชุมชนตลาดน้อยเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปจากยุครุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนตลาดน้อย โดยเฉพาะในด้านของเศรษฐกิจ คือการย้ายการขนส่งสินค้าไปแหล่งอื่น อย่างท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าภายในชุมชนตลาดน้อยจึงลดลงและหายไปในที่สุด อีกทั้งการค้าขายยังซบเซาลง ทว่าชุมชนตลาดน้อยยังคงมีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเหลืออยู่ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณ ศาสนสถานที่สะท้อนถึงความเชื่อของผู้คนในอดีต ความหลากหลายของเชื้อชาติ ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่บางส่วนยังคงความดั้งเดิมของรากเหง้าตนเองไว้

ย่านตลาดน้อย เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ดังหลักฐานได้ปรากฎการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ช่วงการสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวง ชุมชนมีพื้นที่ฝั่งตะวันออกจรดริมแม่น้ำเจ้าพระยามีอาณาเขตดังนี้

  • ทางทิศเหนือ จรดวัดปทุมคงคา
  • ทางทิศใต้ จรดปากคลองผดุงกรุงเกษม
  • ทางทิศตะวันออก มีถนนเจริญกรุงขนานเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างย่านที่ตั้งของชุมชนอยู่ระหว่างย่านสำเพ็ง เยาวราช และย่านบางรัก ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร

โดยชุมชนย่านตลาดน้อยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติในพื้นที่และบริเวณย่านใกล้เคียง ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อ สะท้อนผ่านวิถีชีวิต ประเพณี อาหาร และสถาปัตยกรรม เป็นต้น

เขตสัมพันธวงศ์ ประกอบด้วย 3 แขวง ได้แก่ แขวงจักรวรรดิ สัมพันธวงศ์ และตลาดน้อย เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ โดยเป็นชุมชนจีนและมีความเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจอันเก่าแก่มาตั้งแต่ในอดีต มีจุดเด่นคือธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขตที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาติดริมฝั่งยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีท่าเรือในย่านทรงวาด สำเพ็ง และมีวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน โดยปัจจุบันเป็นเขตที่มีผู้สูงอายุเยอะที่สุดในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวน 6,414 คิดเป็นร้อยละ 27 ของประชากรในย่าน ถ้าหากไปเดินเล่นในซอยจะพบกลุ่มอากง อาม่า คนไทยเชื้อสายจีนบางคนที่ยังพูดภาษาจีนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยที่ลูกหลานนั้นอาจจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ตัวเองยังอยู่เพราะผูกพันกับพื้นที่

จีน

ในช่วงเวลาที่ ‘ท่าเรือโปเส็ง’ เกิดวิกฤตตกต่ำจนต้องปิดตัวลง ขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจการค้าแบบเสรี ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ตัวเมืองพระนครขยายใหญ่โตขึ้นจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้ตัดถนนเจริญกรุง รวมทั้งขุดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ตลาดน้อยกลายเป็นที่รวบรวมและขนถ่ายสินค้า ทั้งทางน้ำและทางบกไปยังจุดต่าง ๆ ของพระนครได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขยายตัวของชุมชนที่แต่เดิมกระจุกตัวอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ขยายออกมายังพื้นที่ตอนในมากขึ้น ช่วงเวลานั้นเองที่บรรดาพ่อค้าชาวจีนไหหลำได้ย้ายจากชุมชนเดิมบริเวณศาลเจ้าเล่งบ้วยเอียะ (ย่านเยาวราช) มายังบริเวณตลาดน้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ต้นตระกูลจันตระกูล’ ได้เข้ามาเปิดตลาดแห่งใหม่ในตลาดน้อยบริเวณริมถนนเจริญกรุง และได้ขยายกิจการต่อมาในรุ่นลูก ด้วยการเปิดร้านขายยาฮุนซุยโห โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น โรงงานน้ำมะเน็ดโซดา และมีโรงเลื่อยของมิสเตอร์หลุยส์ซาเวียร์ โรงสีข้าวมากัวร์ของเยอรมัน และโรงงานขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นริมคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ขณะเดียวกันได้เกิดตลาดผลไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรวบรวมผลไม้ชั้นดีจากสวนรอบ ๆ มาจัดจำหน่าย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง

อาชีพตีเหล็กในอดีต มาสู่ค้าอะไหล่ในปัจจุบัน

ตลาดน้อยกลายเป็นแหล่งงานอีกแห่งของบรรดา ‘ซินตึ๊ง’ ที่เข้ามาขายแรงงานนอกเหนือจากย่านสำเพ็งซึ่งส่วนหนึ่งของกุลีจีนที่พอจะเก็บหอมรอมริบได้จึงเริ่มขยับฐานะขึ้นมาเช่าตึกทำการค้าเล็ก ๆ ซึ่งต่อมาพ่อค้ารายย่อยและบรรดากลุ่มแรงงานเหล่านี้ คือผู้สานต่อพัฒนาการของย่านตลาดน้อย จากกุลีกลายเป็นเถ้าแก่ผู้สร้างชื่อให้ตลาดน้อยปัจจุบัน ในฐานะแหล่งรับซื้ออะไหล่เครื่องยนต์เก่าที่โด่งดังที่สุดในกรุงเทพฯ นามว่า ‘เซียงกง’ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับย่านตลาดน้อยมาจนถึงปัจจุบัน

เส้นทาง ‘เซียงกง’ เริ่มต้นจากเดิมตลาดน้อยเป็นแหล่งทำอาชีพตีเหล็ก อยู่ในบ้านไม้ที่เรียงติดกันเป็นแถว ทำงานฝีมือ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้า จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือญี่ปุ่นได้เข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยาและจอดเทียบท่าอยู่บริเวณตลาดน้อย เนื่องจากอยู่ใกล้กับหัวลำโพง ซึ่งญี่ปุ่นจะมาจ้างให้ร้านตีเหล็กทำอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเรือ อาทิ สมอเรือ และเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยจะนำแบบมาให้ทำตาม โดยทางร้านจะทำเผื่อเอาไว้ขายเองด้วย นอกจากนี้ จากการที่พื้นที่ตลาดน้อย ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้มีเรือเข้ามาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ‘ตังกวย แซ่ลี้’ จึงได้เริ่มธุรกิจ ‘รับซื้อขายอะไหล่เก่า’ แห่งแรกในบริเวณวัดปทุมคงคา และขยายสู่คนอื่น ๆ ในพื้นที่ตลาดน้อยในเวลาต่อมา อีกทั้งยัง ‘ค้าอะไหล่เก่า’ จะนำเข้าสินค้าเฉพาะมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า และไต้หวัน โดยผู้ประกอบการส่วนมาก เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างในร้าน เพื่อเก็บสะสมความรู้ ประสบการณ์ แล้วจึงแยกตัวออกไปทำกิจการของตนเอง ซึ่งร้านบริเวณตลาดน้อยจะขายอะไหล่ของรถญี่ปุ่น ส่วนบริเวณวัดปทุมคงคาขายอะไหล่รถยุโรป ท้ายที่สุด การค้าอะไหล่ก็ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ คือมีการขายส่งไปยังกรุงเทพมหานคร สระบุรี แม่กลอง อุดรธานี และเชียงราย เป็นต้น และขายส่งให้ทั้งภายในประเทศ ให้แก่ ข่างอู่รถ นักเรียนช่าง และผู้ใช้รถ เป็นต้น และนอกประเทศ อาทิ พม่า ปากีสถาน ฯลฯ (ราคาถูกกว่าอะไหล่ใหม่เกือบครึ่ง)

ประเพณีกินเจ อัตลักษณ์ที่เชื่อมต่อคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เมื่อถึงช่วงเทศกาลต่าง ๆ ศาลเจ้าโจวซือกงจะมีพิธีไหว้ศาลเจ้าทุกครั้ง คนที่มากราบไหว้บูชาก็มักจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ไม่บ่อยนักที่จะมีนักท่องเที่ยว หรือคนจากภายนอกเข้ามากราบไหว้ หากจะมีคนภายนอกเข้ามาจะเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งจะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาร่วมพิธีกันมากที่สุด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

อาหารการกินในชุมชนตลาดน้อย มีจำนวนมากสำหรับต้อนรับข้าราชการทั้งจากกรมเจ้าท่า เขตสัมพันธ์วงศ์ และจากนักศึกษาโรงเรียนสารพัดช่าง เป็นที่รวมของอาหารหลากหลาย ส่วนชาวชุมชนยังทำขนมพื้นบ้าน ได้แก่ ขนมบ๊ะจ่าง เป็นต้น

สถาปัตยกรรม ในชุมชนตลาดน้อยนั้น มีอาคารเป็นส่วนมากที่ได้รับอิทธิพลจีนที่สะท้อนแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ย ทั้งลักษณะการวางผังที่มีที่ลานโล่งตรงกลางที่เชื่อมไปยังส่วนต่าง ๆ ในลักษณะของชานเหอหยวน บ้านที่มีคอร์ตล้อมลานสามด้านช่วยให้อาคารมีสุขลักษณะที่ดีจากการเปิดรับแสงแดด น้ำฝน สร้างลำดับการเข้าถึงอย่างเป็นสัดส่วน ดังเช่น บ้าน ‘โซว เฮง ไถ่’ ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่สะท้อนถึงความเชื่อ โดยสังเกตได้จากหน้าจั่วอาคารที่แสดงการส่งเสริมธาตุของผู้เป็นเจ้าของบ้าน อาคารส่วนใหญ่เป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนักผสมโครงสร้างไม้ อาคารจึงมีความสูงไม่มาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณ ‘ชุมชนตลาดน้อย’ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการของตัวเมือง และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยชุมชนตลาดน้อยมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่เริ่มมีการค้าขาย และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้า จนกระทั่งปี พ.ศ. 2398 ที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พื้นที่บริเวณชุมชนตลาดน้อยจึงมีการขยายตัวทางการค้า การนำเข้าและส่งออกสินค้า ส่งผลให้ชุมชนตลาดน้อยในช่วงเวลานี้มีความเฟื่องฟูทางการค้าเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันกิจกรรมทางการค้าซบเซาลง จากการขยายตัวของเมืองและนโยบายการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก และการพัฒนาย่านการค้าแห่งใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ชุมชนตลาดน้อยจึงเป็นพื้นที่บริเวณตลาดเก่าที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้คนในชุมชนตลาดน้อยที่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยตลาดน้อยกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มีการปรับปรุงพื้นที่อาคารเก่า รวมถึงตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนให้ผู้คนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย เห็นถึงคุณค่าและช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ไว้ในอนาคต ชุมชนตลาดน้อยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ในชุมชนตลาดน้อย ดังนี้

1. ด้านนอกของชุมชนมีอาคารใหม่ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแฟลต รุกไล่ความเป็นชุมชนเก่าแก่แทบจะไม่เหลือความเป็นดั้งเดิม ยกเว้นบริเวณด้านในที่เป็นบ้านคล้ายเก๋งจีนของ ดวงตะวัน หงอสุวรรณ ซึ่งเป็นประธานชุมชนคนเก่า แต่ปัจจุบันท่านอายุมากขึ้นจึงให้เด็กรุ่นใหม่มาเป็นประธานแทน

2. ตลาดน้อยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง การกว้านซื้อที่ดินจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กลายเป็นจุดขายและดึงดูดนักท่องเที่ยวประกอบกับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจการค้าของย่านฯ ที่กำลังซบเซา ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

3. ประเด็นปัญหาหลักของพื้นที่ คือย่านมีความแออัดและขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่โหยหาพื้นที่สาธารณะ หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 40 – 50 ปี ที่แล้วผู้คนยังใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นวงเวียนโอเดียน พื้นที่ริมแม่น้ำ และท่าเรือ แต่วิถีชีวิตเหล่านั้นได้หายไปจากการเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของย่าน (gentrification) มูลค่าของเศรษฐกิจในย่านที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการมาของรถไฟฟ้า สถานีวัดมังกร และสถานีสามยอด ส่งผลให้มีกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วใน 5 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันถ้ามาท่องเที่ยวตลาดน้อย จะเห็นว่าบนอาคารที่มีดาดฟ้าได้กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้ออกกำลังกายแทนพื้นที่สาธารณะข้างนอกไม่ค่อยมี จากบทสัมภาษณ์ของคุณโจ กล่าวว่า “สมัยก่อนถ้าในบ้านมี 8 – 9 คน จะอยู่รวมกันบนพื้นที่ 12 ตารางวา เวลากินข้าวจะตั้งโต๊ะในซอยบ้าน กินเสร็จก็เก็บโต๊ะ” สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในย่านส่วนมากจะใช้พื้นที่ในซอยบ้านตัวเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย รับลมริมน้ำ พักผ่อนหย่อนใจ จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่คนในย่านใช้ทดแทน

4. ปัญหาที่ชุมชนสะท้อนร่วมกัน คือการไม่สามารถเข้าถึงริมแม่น้ำได้ง่ายเหมือนในอดีต เนื่องจากในอดีตลักษณะความเป็นชุมชนนั้นมีความยืดหยุ่น ทุกคนรู้จักกันหมด จึงเป็นเหตุให้แม้ไม่ใช่บ้านตัวเองสามารถเดินเข้าไปใช้งานได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คน ช่วงวัยและความสัมพันธ์ได้เริ่มเกิดรอยต่อมากขึ้น คนเก่า ๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือลูกหลานย้ายออก คนใหม่ ๆ ที่เข้ามาจัดการพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ขาดความรู้สึกของความเป็นเพื่อนบ้าน การเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงเป็นสาเหตุที่ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงริมน้ำได้เหมือนในอดีต ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายจากการที่ย่านมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำ 2 กิโลเมตร แต่ไม่มีพื้นที่ที่ผู้คนจะสามารถเข้าไปได้เลย ยกเว้นจะเสียเงินเข้าไปนั่งกินข้าว หรือมีเพียงโป๊ะเรือบางแห่งเท่านั้นที่ปล่อยให้คนเข้าไปใช้งาน

สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหา

แนวทางในการทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ไปถึงเป้าหมายยังคงเป็นการเน้นการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการเข้าไปสร้างพื้นที่หรือกิจกรรม โดยใช้เครื่องมือสื่อสารเผยแพร่ออกไป และยังเปิดกว้างให้ชุมชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย ทั้งในชุมชนเอง ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เป็นย่านน่าอยู่ เพื่อสนับสนุนบทบาทของชุมชนและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาจากคนข้างในชุนชนเอง

1. แผนที่ชุมชน เป็นเครื่องมือแรกที่ทำให้คนเข้ามาร่วมพูดคุยกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่คนเริ่มเข้ามาช่วยกำหนดความเป็นตลาดน้อย ตลาดน้อยควรมีขอบเขตแค่ไหน ใครบ้างที่รู้สึกว่าเป็นคนในชุมชนตลาดน้อย แล้วอะไรบ้างคือความเป็นตลาดน้อย ซึ่งสภาพของสังคมเมืองปัจจุบันเราพบว่าคนไม่ค่อยรู้จักอะไรไปมากกว่าซอยข้าง ๆ ตัวเอง ทำให้การจัดทำแผนที่นี้เกิดแบบร่างขึ้น 18 ดราฟ โดยการจัดทำแผนที่ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยกับชุมชนแล้วเกิดประเด็นย่อย ๆ ในการใช้ทำงานต่อ เช่นพอเกิดแผนที่ตลาดน้อยก็เกิดแผนที่ท่องเที่ยว แผนที่มรดกวัฒนธรรมของทั้งย่านต่าง ๆ ตามมา

2. กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและการเดินศึกษาย่าน เป็นการจัดกิจกรรมที่ถือโอกาสให้คนในชุมชนเป็นคนนำเที่ยว แนะนำมรดกวัฒนธรรม ในปัจจุบันชุมชนได้เป็นผู้ดำเนินการและจัดทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง และการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรวบรวมคนได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันตรุษจีน บ๊ะจ่าง กินเจ ไหว้พระจันทร์ รวมไปถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป การเขียนและปั้นขนมเต่า ได้ช่วยสร้างความภูมิใจให้กับชุมชนที่ได้ถ่ายทอด เพราะเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ไม่มีความขัดแย้ง ช่วยกระตุ้นกลุ่มคนใหม่ ๆ ให้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ ความรู้ ความทรงจำ และเข้ามาช่วยงาน จึงเกิดเครือข่ายใหม่ ๆ ขึ้น

3. สตรีทอาร์ต สร้างผลกระทบในวงกว้างมาก เนื่องผู้คนมักจะรู้จักตลาดน้อยผ่านสตรีทอาร์ท ซึ่งสตรีทอาร์ตเป็นส่วนช่วยเล่าเรื่องราวของย่าน โดยมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลอนุญาตให้เพนต์สีรูป ที่เล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างกลมกลืนกับบริบท มีชุมชนควบคุมผลงานด้วยตนเอง และทุก ๆ 5 ปี จะมีการเพนต์ใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่เข้ามามีส่วนร่วม กิจกรรมนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่ซอยหลังบ้านให้กลายเป็นหน้าบ้านที่สวยสดใส สะอาดตา น่ามอง เนื่องจากแต่ก่อนเป็นซอยที่มีแต่สกปรก เฉอะแฉะ มีเศษขยะ บ้างมีราวตากผ้ารก จนชุมชนรู้สึกว่าบางทีเขาอายเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาดู จึงเริ่มบทบาทการเป็นเจ้าบ้านที่ดีมีน้ำใจ เข้ามาช่วยเคลียร์ของจนสะอาดไปทั้งซอย และได้กลายเป็นพื้นที่สตรีทอาร์ตที่น่าดึงดูดในปัจจุบัน

4. สื่อประชาสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้สื่อสารแก่คนในชุมชนและภายนอกให้เข้ามาสนใจผ่าน วารสาร เว็บเพจ ซึ่งการพัฒนาย่านนี้ยังสามารถเติบโตไปได้อีกมากและผู้คนเริ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

22 สถานที่ห้ามพลาด ย่านตลาดน้อย แนะนำโดย Wongai Vibes

ย่านยอดนิยมที่มีอีเวนต์เวียนกันมาจัดบ่อยครั้้ง แม้กระทั่ง Bankok Design Week หรือ Awakening Bangkok ท่ามกลางการเติบโตของย่านนี้ ร้านรวงต่าง ๆ จึงเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ ฯลฯ

รีบไปตำ 22 สถานที่ห้ามพลาด เก็บให้ครบก่อน เพราะมีสถานที่ใหม่ ๆ รอเปิดอีกเพียบ

จุฑารัตน์ นฤพันธาวาทย์ และคณะ. (2555). ตลาดน้อยย่านเก่าในเมืองใหญ่. ย่านจีนถิ่นบางกอก, 2, 3-30.

จุฑารัตน์ นฤพันธาวาทย์ และคณะ. (2555). อาคารเก่า...เอายังไงดี. ย่านจีนถิ่นบางกอก, 4, 3-30.

ทัตพล วงศ์สามัคคี และพรสรร วิเชียรประดิษฐ. (2564). ผลกระทบจากการทับซ้อนของกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะระดับชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร. วารสารสาระศาสตร์, 2(4), 384-396.

บุษยา พุทธอินทร์. (2564). Livable+Economy ฟื้นฟูย่านผ่านกระบวนการชุมชน โดยกลุ่มปั้นเมืองและกลุ่มคนรักตลาดน้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://theurbanis.com/public -realm/23/11/2021/5612.

สุชาดา ลิมป์. (2564). ตลาดน้อย: เรื่องราวการเติบโตของชุมชนลับแลริมฝั่งเจ้าพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.sarakadee.com/2021/05/09/ตลาดน้อย-2.

สุพรรณสา ฉิมพาลี และกฤตพร ห้าวเจริญ. (2565). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร. วารสารสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวินิฉัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , 21(2), 109-127.

เสมียนนารี. (2565). วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_12832.

เสมียนอารีย์. (2565). กำเนิด “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_55527.

Anya Supasakon. (2563). เยือนบ้านเก่า \"ชุมชนตลาดน้อย\" ย้อนรอยวัฒนธรรมจีน 300 ปี ที่ไม่เลือนหาย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.wongnai.com/trips/story-of-taladnoi

Nantagan. (2566). ตลาดน้อย ย่านรอยต่อทางวัฒนธรรมและยุคสมัยของเมือง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.baanlaesuan.com/283623/ideas/house-ideas/ta-lad-noi.