สืบเนื่องจากบ้านโคกโก่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติเอื้ออำนวยต่อการจัดการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่งดงาม นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม นำเอาการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์เข้ามาในชุมชน ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมผู้ไทให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
ตั้งชื่อว่าบ้านโคกโก่งตามลักษณะภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบ
สืบเนื่องจากบ้านโคกโก่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติเอื้ออำนวยต่อการจัดการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่งดงาม นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม นำเอาการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์เข้ามาในชุมชน ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมผู้ไทให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
บ้านโคกโก่ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวผู้ไท จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์อธิบายว่า ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศจีนตอนใต้ ก่อนอพยพผ่านสิบสองจุไทของเวียดนามจนถึงประเทศลาว ต่อมาเกิดสงครามขยายเขตแดนของราชอาณาจักรไทยไปยังเวียงจันทน์ และสามารถยึดเมืองวัง (เมืองบก) ได้สำเร็จ (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ชาวผู้ไทจึงได้อพยพติดตามกองทัพไทยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนแถบนครพนม สกลนคร แล้วแบ่งแยกกันออกไปตามสายเครือญาติ เช่น ชาวผู้ไทอำเภอคำชะอี ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวผู้ไทบ้านโคกโก่ง
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2432 นายอุปชัยได้นำราษฎรบ้านโนนน้ำคำ (คำเฮี้ย) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร (ปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดนครพนม) มาตั้งบ้านเรือนทางทิศตะวันออกของบ้านโคกโก่ง ตั้งชื่อว่า “บ้านทุ่งบักเฒ่า” ตั้งหมู่บ้านได้ระยะหนึ่งก็มีชาวกุลาอพยพเข้ามาอาศัยร่วมด้วย ชาวกุลากลุ่มนี้นำฝิ่นเข้ามาในหมู่บ้าน แล้วทำการอุกฉกรรจ์ปล้นจี้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ทางราชการได้ส่งกำลังเข้าปราบปรามจนชาวกุลาหนีไป บ้านทุ่งบักเฒ่าจึงกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ในปี พ.ศ. 2449 ชาวบ้านได้อพยพที่อยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง และตั้งชื่อเรียกหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านโคกโก่ง” จนถึงปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านโคกโก่ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาล้อมล้อมทอดยาวตลอดแนวหมู่บ้าน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของวนอุทยานภูผาวัว น้ำตกตาดสูง ลำห้วยแดง ลำห้วยแล้ง มีทรัพยากรธรรมชาติและป่าชุมชนอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ทว่าดินกลับไม่เอื้อต่อการทำเกษตรเท่าใดนัก เนื่องจากมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย อุ้มน้ำได้ไม่ดี
สถานที่สำคัญ
วนอุทยานภูผาวัว
วนอุทยานภูผาวัว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงด่านแย้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-300 เมตร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ มีบริเวณหน้าผาหรือที่เรียกว่าสุดแผ่นดิน สามารถมองเห็นภูมิประเทศและทิวทัศน์ได้โดยรอบ มีภูถ้ำเม่น ภูมะตูม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำตกตาดยาวและน้ำตกตาดสูง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของแหล่งศึกษาท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมากมาย อาทิ ผานางแอ่น ผานางคอย ดานโหลง น้ำเต้าปรุง ผาคันยู ไก่แก้ว เป็นต้น
วนอุทยานน้ำตกตาดสูง
วนอุทยานน้ำตกตาดสูง ตั้งอยู่ในวนอุทยานภูผาวัว ห่างจากหมู่บ้านโคกโก่งประมาณ 200 เมตร ลักษณะเด่นของน้ำตกตาดสูงคือเป็นน้ำตกที่อยู่ตามร่องเขาเป็นทางน้ำลงจากเชิงเขา บริเวณน้ำตกตาดสูง เป็นธารหิน น้ำไหลลดหลั่นกัน เดินตามเส้นทางเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร จะถึงน้ำตกตาดยาว ซึ่งมี ลักษณะเด่นคือ เป็นลานหินขนาดกว้างลาดเอียงตามธรรมชาติ ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “น้ำตกสไลเดอร์” และน้ำตกตาดยาวนี้จะไหลไปรวมกันกับน้ำตกตาดสูงในที่สุด
ดานโหลง
ดานโหลง เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่บนวนอุทยานภูผาวัว มีกระบองเพชรหิน ข่อยดาน และพืชไม้ป่านานาชนิดขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนดานโหลง จะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
นอกจากสถานที่สำคัญทางธรรมชาติแล้ว บ้านโคกโก่ง ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ ยังมีศาสนสถานที่สำคัญประจำชุมชนสำหรับใช้ในการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามวาระโอกาสต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการก่อตั้งหมู่บ้านจำลองเพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งขึ้นภายในชุมชนอีกด้วย
วัดศรีภูขันธ์
วัดศรีภูขันธ์ หรือวัดบ้านโคกโก่ง เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2457 มีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์ ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เสาเดียว อายุกว่า 80 ปี
ศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์
ศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางวัฒนธรรม นำเสนอประเพณี และวิถีชีวิตของชนชาวผู้ไท มีการจัดแสดงเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ บรรยายสภาพพื้นที่และประวัติความเป็นมาของชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว ทว่า นิทรรศการดังกล่าวหาใช่ลักษณะเด่นของหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่ง หากแต่เป็นการจัดเตรียมพื้นที่ชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับเหล่าผู้มาเยือน โดยการผูกข้อมือรับขวัญ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและพักค้างแรมในบ้าน ได้รับประทานอาหารแบบขันโตก และได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวผู้ไทผ่านการสาธิตของสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ภายในศูนย์วัฒนธรรมชุมชน
บ้านโคกโก่ง เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีจำนวนครัวเรือนเพียง 200 หลังคาเรือน และมีประชากรประมาณ 600 คน ชาวบ้านในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวผู้ไท มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของสมาชิกในชุมชนทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน มีวาระ 5 ปี เมื่อหมดวาระจะมีการเลือกตั้งใหม่ และมีผู้อาวุโสในชุมชนซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ทำหน้าที่คอยเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อขัดแย้งของคนในชุมชน โดยใช้กลไกที่มีอยู่ทำให้ชาวบ้านพูดคุยปรับความเข้าใจเพื่อหาหนทางแก้ปัญหาร่วมกันได้
ผู้ไทข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2554 ระบุว่า ประชากรชาวผู้ไทบ้านโคกโก่ง มีรายได้เฉลี่ย 42,723 บาท/ปี/คน รายได้ส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรรมการทำนา เนื่องจากชาวผู้ไทชุมชนบ้านโคกโก่งมีการทำนาเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่อดีต โดยทำนาในช่วงฤดูฝนปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เพราะต้องใช้น้ำฝนในการทำนา ข้าวที่ปลูกส่วนมากเป็นข้าวเหนียว เนื่องจากชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก โดยแรงงานที่ใช้ในการทำนาคือแรงงานจากเครือญาติที่เข้ามาหมุนเวียนช่วยเหลือกัน และอาจมีการจ้างแรงงานเสริมบ้างในบางครั้ง นอกจากนี้ชาวบ้านโคกโก่งยังมีการเลี้ยงสัตว์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสร้างรายได้ แต่ในบางครัวเรือนมีการเลี้ยงเป็ดและไก่ไว้บริโภคด้วย
นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งยังมีการประกอบอาชีพอื่นเป็นอาชีพเสริมเมื่อว่างเว้นจากการทำนา เช่น การทอผ้า การจักสาน รับจ้างทั่วไป ค้าขาย เก็บของป่า และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในชุมชน
การทอผ้าของชาวบ้านโคกโก่งเริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมามีการจัดตั้งกลุ่ม “สตรีทอผ้า” ซึ่งจะทอผ้าพื้นเมือง ผ้าลายขิด ผ้าฝ้ายมัดหมี่ และมีการตัดเย็บเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าโพกผม ด้วยลวดลายอย่างชาวผู้ไท ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดานักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในหมู่บ้านโคกโก่ง อีกทั้งยังมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อขอรับซื้อผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านโคกโก่งเพื่อนำออกไปจำหน่าย โดยกลุ่มสตรีสหกรณ์จะทำหน้าที่รวบรวมผ้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สมาชิกทอเสร็จแล้วไปจำหน่ายต่อให้พ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อสินค้าในหมู่บ้าน ลวดลายต่าง ๆ ที่ปรากฏนั้นขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทอว่าต้องการปักลวดลายเช่นใด และจะตั้งชื่อลายนั้นว่าอย่างไร เช่น ลายหงษ์ ลายนก ลายนาค ลายดอกแว่น ลายดอกจาน ลายแมงมุมคาบไข่ เป็นต้น
สมาชิกชุมชนบ้านโคกโก่งบางรายมีการทำเครื่องจักสานเป็นอาชีพหลัก โดยใช้ไม้ไผ่ไร่ ซึ่งเป็นไม้ไผ่ที่ขึ้นตามธรรมชาติบนภูเขามาจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ โดยนิยมสานเป็นลายสอง เครื่องจักสานที่ได้รับความนิยมคือกระติบข้าว กระบุง ตะกร้า กระหยัง และเครื่องมือสำหรับจับสัตว์น้ำ เป็นต้น
บ้านโคกโก่งมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรณ์ชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มสตรีอาสา กลุ่มแม่บ้าน (เย็บเสื้อด้วยมือ) กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มสหกรณ์การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อให้ความเชื่อเหลือและสนับสนุนการประกอบอาชีพของชาวบ้านในกลุ่มสมาชิกเดียวกัน
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ประชากรชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับการความเชื่อเรื่องผี ซึ่งเป็นคติดั้งเดิมของชาวผู้ไท เช่น ผีหมอ (ผีกินเหล้า) ผีฟ้า (กินน้ำมะพร้าว) และการนับถือ Animism (รังต่อ จอมปลวก ต้นไม้ใหญ่) มีวัดศรีภูขันธ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านโคกโก่ง เป็นศาสนสถานสำคัญสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประจำปีตามวาระโอกาสต่าง ๆ บ้านโคกโก่งเป็นชุมชนที่ยังคงธำรงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีเก่าแก่ไว้ให้คงอยู่ดังเดิม โดยเฉพาะประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งเป็นประเพณีการทำบุญประจำเดือนในทุกปี ได้แก่
- เดือนอ้าย : บุญเข้ากรรม
- เดือนยี่ : บุญกุ้มข้าวใหญ่ หรือบุญกองข้าว
- เดือนสาม : บุญข้าวจี่
- เดือนสี่ : บุญพระเวส
- เดือนห้า : บุญสรงน้ำ (สงกรานต์)
- เดือนหก : บุญบั้งไฟ (ปัจจุบันไม่ทำแล้ว เนื่องจากบ้านโคกโก่งเป็นหมู่บ้านเล็ก แต่จะเข้าไปร่วมกับงานบุญบั้งไฟตำบลกุดหว้า ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของตำบล)
- เดือนเจ็ด : บุญซำฮะ
- เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ : ห่อข้าวสาก (บุญห่อข้าวใหญ่)
- เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
ชาวผู้ไทเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏคติความเชื่อและการนับถือผีอย่างเด่นชัดมาตั้งแต่อดีตกาล มีมโนทัศน์ความเชื่อลักษณะสรรพเทวนิยม คือเชื่อว่าผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ปัจจุบันชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งยังคงมีการประกอบประเพณี พิธีกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับคติดังกล่าวอยู่ ได้แก่ ผีพ่อผีแม่ (ผีบรรพบุรุษ) ผีเฮือนผีซาน (ผีบ้านผีเรือน) ผีหมอเหยา ผีปู่ตา และผีฟ้า
- ผีพ่อผีแม่ หรือผีปู่ย่าตายาย ผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คือดวงวิญญาณของคนในครอบครัวที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองดูแลลูกหลาน เมื่อถึงวันทำบุญลูกหลานจะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารไปทำบุญให้ผีพ่อผีแม่ หากปีใดขาดการทำบุญ หรือหากลูกหลานคนใดกระทำสิ่งผิด ผีพ่อผีแม่จะมาทำให้คนให้คนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเกิดอาการเจ็บไข้ ซึ่งจะต้องไปหาหมอเหยาเพื่อถามไถ่ว่าอาการเจ็บป่วยนี้เกิดจากผีพ่อผีแม่หรือไม่ หากใช่จะต้องยอมความและปฏิบัติตามความต้องการของผีพ่อผีแม่ สำหรับชาวผู้ไท ผีบรรพบุรุษเหล่านี้จึงมิใช่ผีให้โทษ แต่เป็นดวงวิญญาณที่คอยวนเวียนเพื่อคุ้มครองดูแลลูกหลาน
- ผีเฮือนผีซาน หรือผีบ้านผีเรือน เป็นผีที่คอยดูแลคุ้มครองคนในบ้านเช่นเดียวกับผีพ่อผีแม่ แต่จะมีอิทธิฤทธิ์น้อยกว่า
- ผีหมอเหยา หรือหมอเหยา เป็นผู้ให้การรักษาอาการเจ็บป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากอำนาจการกระทำของผี โดยจะมีการประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธีกรรมเหยา” ในพิธีกรรมเหยา หมอเหยาจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผีกับผู้ป่วย และถามไถ่ที่มาของอาการเจ็บป่วย หากผลปรากฏว่าผีเป็นผู้ดลบันดาล หมอเหยาจะให้ผู้ป่วยขอขมาผี และทำพิธีเรียกขวัญคืนกลับมาให้ ปัจจุบันพิธีกรรมเหยายังคงได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งและได้รับสืบทอดเรื่อยมา โดยชาวบ้านโคกโก่งจะมีการไหว้ผีหมอเหยาเป็นประจำทุกปี
- ผีปู่ตา ตามคติของชาวผู้ไทเชื่อว่าผีปู่ตาคือดวงวิญญาณเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดในหมู่บ้าน ทุกปีจะมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาโดยมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้นำพิธีกรรม โดยในหนึ่งปีจะมีการไหว้ผีปู่ตา 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณผีปู่ตาขึ้นสวรรค์ และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล
- ผีฟ้า เป็นพิธีกรรมการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีเช่นเดียวกับผีหมอเหยา แต่จะใช้การร้องกลอนบอกอาการผู้ป่วยตามที่ผีบอก และทำการปัดเป่ารังควานให้กับผู้ป่วย
นอกจากความเชื่อเรื่องผีแล้ว ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งยังมีความเชื่อเรื่องพิธีกรรมสืบชะตา ที่จะต้องทำโดยพระหรือหมอผี และพิธีเมงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ โดยวางเครื่องเซ่นไหว้ไว้บนแคร่ยกสูงให้พระสวดทำพิธี รวมถึงความเชื่อเรื่อง “ตัวแลน” และ “งูทำทาน” ชาวผู้ไทยเชื่อว่าตัวแลนเป็นตัวแทนของผีปู่ตาที่อาศัยอยู่ในหอปู่ตา นาน ๆ ครั้งจึงจะปรากฏให้เห็น หากตัวแลนเข้ามาในหมู่บ้านแสดงว่ามีชาวบ้านทำเรื่องไม่ดีไม่ควรที่ทำให้เจ้าปู่โกรธ จึงมาปรากฏตัวให้เห็น ส่วนงูทำทานชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฮีตของเทวดา หากใครพบเห็นงูทำทานจะต้องรีบทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หาไม่จะต้องมีอันต้องเสียของรักหรือป่วยไข้ได้
อนึ่ง ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมประจำชุมชน เนื่องจากใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักค้างแรมในหมู่บ้าน พิธีกรรมนี้จะไม่มีพราหมณ์นำประกอบพิธี แต่จะมีการแสดงรำบายศรีสู่ขวัญ จากนั้นแจกข้าวต้มมัด กล้วย และไข่ต้ม ตามด้วยการผู้ข้อมือจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนให้กับผู้รับขวัญ มักมีการดื่มเหล้าสาโทหรือเหล้าแกลบโดยการดูดจากไห พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญนี้เชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญให้กลับมาสู่เจ้าของขวัญ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านโคกโก่ง
ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งนิยมแต่งกายด้วยผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ผ้าทอมือ ผ้าเย็บมือ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าดำ สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ผู้ชายใส่เสื้อม่อฮ่อมสีคราม นุ่งกางเกงขาสั้น โสร่ง หรือผ้าขาวม้า นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าผืนเล็ก ๆ ห่มทับเสื้อเป็นสไบ เรียกว่า “ผ้าจ่อง” แต่ปัจจุบันการแต่งกายของชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไท โดยชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องใส่ชุดพื้นเมืองผู้ไทในช่วงที่มีการต้อนรับนักท่องเที่ยว
ลักษณะเด่นของผ้าทอชาวผู้ไทคือการทอผ้ามัดหมี่ที่เรียกว่า “ซิ่นดำ” เป็นผ้าที่มีตีนต่อขนาดเล็ก เรียกว่า “ตีนเต๊าะ” นิยมต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีแดงทอลวดลายขิดพุ่งเป็นแถบริ้วเล็ก ๆ และต่อตีนซิ่นด้วยผ้าแคบ ๆ สีสด สาเหตุที่เรียกว่าผ้าซิ่นดำ เนื่องมาจากชาวผู้ไทจะนิยมให้สีพื้นของผ้าซิ่นเป็นสีดำ โดยการนำไปย้อมคราม
ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่งมีการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน โดยใช้เส้นใยจากฝ้ายซึ่งผลิตได้เองในชุมชน แต่ปัจจุบันต้องซื้อเส้นใยฝ้ายจากภายนอก เนื่องจากชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ในการปลูกฝ้ายเป็นพื้นที่ในการทำไร่มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส และยางพาราแทน
ธรรมาสน์เสาเดียววัดศรีภูขันธ์
ธรรมาสน์เสาเดียววัดศรีภูขันธ์บ้านโคกโก่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 ปัจจุบันตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหลังใหม่วัดศรีภูขันธ์ ส่วนฐานเป็นไม้เสาเดียวแกะสลักลวดลายแอวขันบัวคว่ำ-บัวหงายแต้มลายหลากสี มีคันทวยค้ำยันระหว่างเสากับตัวเรือน แล้วฝังเสาธรรมาสน์ลงดินทะลุพื้นศาลาตามคติของชาวผู้ไท ตัวเรือนเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แกะสลักไม้แต้มสีเป็นรูปวงกลม กึ่งกลางแกะสลักรูปนาคมีหงอนเกี้ยวพันกันสองตน หลังคาทรงมณฑป 5 ชั้น ปลายยอดแหลม มีเครื่องบนหลังคา ตกแต่งด้วยการแกะสลักและฉลุไม้เป็นลวดลายประยุกต์แต้มสี มุมหลังคาทุกชั้นแกะสลักรูปนาคประจำทั้งสี่ทิศ กึ่งกลางหลังคาแกะสลักรูปนาค 3 ตน
ปัจจุบันธรรมาสน์เสาเดียววัดศรีภูขันธ์ถูกใช้เป็นที่ตั้งองค์มหากฐินในช่วงประเพณีงานบุญกฐิน ซึ่งมีเครื่องอัฐบริขารเป็นส่วนประกอบสำคัญ เป็นที่ตั้งกองผ้าป่าสามัคคี และสำคัญที่สุดคือเป็นธรรมาสน์ในงานบุญผะเหวดหรืองานเทศน์มหาชาติ อีกทั้งยังใช้ในการสวดปาฏิโมกข์ในงานประชุมสงฆ์เนื่องในวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ตามคติของชาวผู้ไทเชื่อว่าหากผู้ใดสร้างธรรมาสน์นับเป็นการสร้างมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ผลบุญจะบันดาลให้พบแต่ความสุขความเจริญในชาติหน้า และได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในชาตินี้
โฮมสเตย์
เนื่องจากภูมิทัศน์บ้านโคกโก่งมีความเอื้ออำนวยต่อการจัดการการท่องเที่ยว สถานที่ตั้งโอบล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่อำนวยความสะดวกภายในชุมชนซึ่งได้เตรียมพร้อมไว้สำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่งดงาม เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งกายแบบผู้ไท ซึ่งชาวบ้านโคกโก่งได้นำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมร่วมกับการจัดการบริหารที่ดีในชุมชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางวัฒนธรรม นำเอาการท่องเที่ยวรูปแบบ Home Stay เข้ามาในชุมชน เกิดเป็นการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์ขึ้น มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรมเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะมีการจัดเตรียมบ้านพัก พิธีบายศรีสู่ขวัญ อาหารท้องถิ่น การแสดงดนตรีพื้นเมือง นำนักท่องเที่ยวชมวิถีวัฒนธรรมภายในหมู่บ้าน ออกเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ต่าง ๆ ร่วมกับชาวบ้านได้ เช่น ทอผ้า จักสาน จับปลา ทำนา นอกจากนี้ในหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทบ้านโคกโก่งยังมีสินค้าให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝาก เช่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าลายขิด เครื่องแต่งกายของชาวผู้ไท ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายในหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทก็มาจากฝีมือชาวบ้านในชุมชน อนึ่ง ในชุมชนผู้ไทบ้านโคกโก่งยังมีบริการการอบสมุนไพรและนวดแผนไทยแก่นักท่องเที่ยว โดยคิดอัตราค่าบริการตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะติดป้ายบอกไว้ที่หน้าบ้าน หากนักท่องเที่ยวสนใจสามารถเรียกบริการตามบ้านที่ติดป้ายได้
ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (สำเนียงคล้ายชาวเรณู) และภาษาอีสาน
ภาษาเขียน : ชาวผู้ไทไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ฉะนั้นจึงใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาเขียน
การผลักดันหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทบ้านโคกโก่งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางวัฒนธรรมนั้น นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งได้รับความสนใจและมีนักท่องเที่ยวเข้าไปพักแรมในโครงการโฮมสเตย์หมู่บ้านตลอดทั้งปี แต่กระแสความสนใจที่ท่วมท้นของคนภายนอกกลับตรงข้ามกับชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในชุมชนนิยมออกไปทำงานและประกอบอาชีพในพื้นที่อื่น หาได้มีความสนใจที่จะสานต่อสืบทอดอุตสาหกรรมวิถีชีวิตแก่นักท่องเที่ยวเท่าใดนัก ทำให้ในหมู่บ้านมีแต่เพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ทำหน้าที่คอยให้บริการในยามมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน
ในอดีตบ้านโคกโก่งมีความสามารถในการผลิตเส้นใยฝ้ายสำหรับทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองได้ด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันต้องไปซื้อเส้นใยฝ้ายจากนอกชุมชน เนื่องจากชาวบ้านรื้อถอนไร่ฝ้ายเปลี่ยนเป็นไร่มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัสและยางพาราแทน เพราะมีราคาสูงกว่าฝ้าย ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่มีความสามารถและไม่มีความสนใจในการอิ้วฝ้าย (การแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย) เพราะไม่ได้มีความผูกพันและใกล้ชิดกับต้นฝ้ายดังในอดีต ปัจจุบันกลุ่มคนในชุมชนที่ยังทำการอิ้วฝ้ายอยู่คือสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น
ภูผาวัว
คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (ม.ป.ป.). ศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่งโฮมสเตย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565. จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1552
ที่นี่ บ้านโคกโก่ง จ. กาฬสินธุ์. (2559). ที่นี่ บ้านโคกโก่ง จ.กาฬสินธุ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566. จาก https://www.villagetotheworld.com/meetinthevillage/th/baan-phu-thai-khok-kong/
ปิยะนุช บุญเย็น. (2559). ปรากฏการณ์และสังคมของชุมชนหมู่บ้านโคกโก่ง จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ) คณะจัดการการท่องเที่ยว สถานบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.