Advance search

ถ้ำรงค์

ชุมชนบ้านไร่สะท้อนแห่งนี้มีภูมิปัญญาและวิถีชีวิตอันผูกพันอยู่กับต้นตาล จึงมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในการนำตาลมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ผู้คนในชุมชนยังเปิดแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับต้นตาลให้แก่บุคคลภายนอกผ่านการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม

เลขที่ 21 หมู่ที่ 4
ถ้ำรงค์
บ้านลาด
เพชรบุรี
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-9246-9099, อบต.ถ้ำรงค์ โทร. 0-3249-1467
วงศกร นาควิจิตร
24 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
15 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
28 เม.ย. 2023
บ้านไร่สะท้อน
ถ้ำรงค์

ชุมชนถ้ำรงค์ ตำบลถ้ำรงค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งตำนานเล่าว่า เจ้าเมืองหนึ่งเสด็จประพาสมาที่ตำบลนี้ มีหญิงสาวชาวบ้านนำน้ำใส่ขันและมีใบหญ้าคาลอยอยู่มาถวาย เจ้าเมืองได้พระราชทานธำมรงค์ (แหวน) เป็นการตอบแทน ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่า “บ้านธำรงค์” และกลายมาเป็น “ถ้ำรงค์” มาจนทุกวันนี้


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านไร่สะท้อนแห่งนี้มีภูมิปัญญาและวิถีชีวิตอันผูกพันอยู่กับต้นตาล จึงมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในการนำตาลมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ผู้คนในชุมชนยังเปิดแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับต้นตาลให้แก่บุคคลภายนอกผ่านการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม

เลขที่ 21 หมู่ที่ 4
ถ้ำรงค์
บ้านลาด
เพชรบุรี
76150
13.02190
99.91331
องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์

ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานมาจากในอดีตว่าสมัยก่อนบ้านถ้ารงค์มีสภาพเป็นป่า วันหนึ่งมีเจ้าเมืองที่ไม่ปรากฏพระนามเสด็จมาระหว่างที่กำลังเสด็จชมภูมิประเทศ มีหญิงสาวชาวบ้านเห็นพระองค์เหน็ดเหนื่อย จึงเข้ามาถวายน้ำดื่มแก้กระหายแต่ในขันน้ำมีหญ้าคาลอยอยู่ เจ้าเมืองทรงกริ้วและเรียกให้หญิงชาวบ้านมาเข้าเฝ้า หญิงชาวบ้านอธิบายว่าที่ต้องใส่หญ้าคาลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าเมืองรีบเสวยน้ำในขณะที่กำลังเหนื่อยเพราะอาจทำให้จุดเสียดและประชวรได้ เจ้าเมืองได้ฟังก็ซาบซึ้ง จึงพระราชทานแหวนให้แก่หญิงสาวชาวบ้านเป็นการตอบแทนน้ำใจ ซึ่งเรียกว่า “ธรรมรงค์” ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านธรรมรงค์” และเรียกเพี้ยนมาเป็น “ถ้ำรงค์” ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านถ้ำรงค์มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยมีภูเขา ป่าไม้ ต้นตาลโตนด มีแม่น้ำเพชรบุรีและลำห้วยสายยาวที่มีน้ำตลอดปีที่ใช้กินและใช้ในการเพาะปลูก มีโบราณสถาน วัดวาอาราม หลวงพ่อดำ หลวงพ่อขาวที่ศักดิ์สิทธิ์ มีถ้ำรงค์และถ้ำขนาดเล็กอื่น ๆ ในพื้นที่ชุมชน มีงานหัตถกรรมจักสานใบตาล งานประดิษฐ์จากลูกตาลแก่ งานประดิษฐ์ว่าวไทย กลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลผลิต มีอาหารคาวหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น แกงหัวตาล ขนมตาล โตนดทอด ผลไม้นานาชนิด มีประเพณีและการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีเส้นทางท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ จักรยาน นั่งรถรางชุมชน

สภาพเศรษฐกิจและสังคม ลักษณะภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีภูเขาเตี้ย ๆ และลำห้วยไหลผ่านทุกหมู่บ้าน อีกทั้งภายในชุมชนยังมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านทางทิศตะวันตก เหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม เช่นทำนา ทำสวนผลไม้ เป็นต้น มีถนนเพชรเกษมตัดผ่านตำบล มีถนนสายบ้านลาด - พุกาม เป็นสายหลักภายในตำบลและถนนเรียบคลองชลประทานทำให้การคมนาคมสะดวกในการสัญจรภายในตำบลและกับตำบลใกล้เคียงรวมถึงการขนส่งสินค้าพืชผลออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว มีแหล่งท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตคนบ้านลาด อาทิเช่น สวนตาลลุงถนอม การยีโตนด ศูนย์วัฒนธรรมเครื่องใช้โบราณวัดม่วงงาม และป่ายางนา เป็นต้น

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลตำหรุ อำเภอบ้านลาด

สถิติจำนวนประชากร ในพื้นที่ชุมชนไร่สะท้อนถ้ำรงค์ หมู่ที่ 3 ถ้ำรงค์ ประชากรชาย 145 คน หญิง 163 คน รวมประชากรทั้งหมด 308 คน สถิติจำนวนหลังคาเรือนชุมชนไร่สะท้อนถ้ำรงค์พบว่ามีจำนวน 105 หลังคาเรือน

การอาชีพ เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม จึงมีความเหมาะสมในการทำการเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการทำนา และมีบางส่วนที่ทำไร่ ทำสวนและปลูกผัก สำหรับการทำนาส่วนใหญ่สามารถทำได้ปีละ 2 ครั้ง หากชลประทานเปิดน้ำซึ่งอาศัยน้ำจากชลประทานเป็นหลัก หลังฤดูกาลทำนาจะปลูกพืชไร่และพืชผักสวนครัว ในด้านการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กระบือ สุกร เป็ดและไก่ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงสำหรับบริโภคและใช้งาน และขายทำรายได้บ้างพอสมควร นอกจากนี้ยังมีบ้างที่ทำน้ำตาลโตนด รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการแต่ไม่มากนัก

1. วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่สะท้อนถ้ำรงค์  โดยชาวบ้านภายในชุมชนที่มีวิถีชีวิตในเส้นทางสายตาลโตนด ที่ยึดอาชีพการปลูกตาลโตนด และนำตาลโตนดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะมีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ ซึ่งสถานที่หลักคือภายในสวนตาลลุงถนอม โดยกิจกรรมที่มี เช่น การร่วมทำขนมตาลสด ๆ จากต้น การชิมน้ำตาลสด การทำเมนูเด็ดจากต้นตาลอย่าง แกงกะทิกุ้งสดใส่หัวตาล รวมไปถึงการจักสานใบตาล ซึ่งนับว่าเป็นพืชผลที่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นตาล 1 ต้นได้อย่างมากมายและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำว่าวจุฬาจิ๋วในแบบฉบับของตัวเอง และเล่นว่าวจุฬาในท้องนา ถือเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมสืบสานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน รวมถึงประเพณีการละเล่นท้องถิ่นในเวลาเดียวกันที่ชุมชนบ้านถ้ำรงค์

1. การเฉาะตาล เนื่องจากตำบลถ้ำรงค์มีต้นตาลขึ้นอยู่มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ขึ้นต้นตาลจะประกอบอาชีพหลักคือ การทำนา ทำสวน ทำไร่ ส่วนการขึ้นตาลเป็นอาชีพเสริมเพราะชาวบ้านจะทำเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ในปัจจุบันการขึ้นตาลส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงที่มีความชำนาญในการขึ้นตาลส่วนคนรุ่นหลังมักจะไม่ให้ความสนใจกับอาชีพนี้เพราะเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย 

2. การเคี่ยวน้ำตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาลมีการทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดต่อกันมา เป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือ นำผลผลิตจากต้นตาลมาทำเป็นน้ำตาล เพื่อใช้ในการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บหรือ น้ำตาลปึก เป็นงานที่ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญประกอบกับประสบการณ์ โดยจะใช้ต้นตาลใน ท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบ เป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการขึ้นต้นตาล การนวดตาล การปาดตาล และการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บ ในปัจจุบันนี้การขึ้นต้นตาล การเคี่ยวน้ำตาลยังคงดำเนินอยู่แต่ขาดบุคคลที่จะมารับช่วงต่อเพราะคนรุ่นหลังไม่สนใจการทำตาลเพราะต้องเสี่ยงกับอันตราย โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ทำน้ำตาลโตนดจะขึ้นต้นตาลด้วยตัวเอง โดยปกติแล้วต้นตาลต้นหนึ่งจะให้น้ำตาลได้ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป การเคี่ยวตาลโตนดเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน นอกเหนือจากฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งผลผลิตจากตาลจะมีเพียง 4 เดือน คือ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน เท่านั้น ซึ่งเป็น 4 เดือน ที่ว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน ก็จะมาขึ้นตาลนำน้ำตาลไปทำน้ำตาลปี๊บขาย ซึ่งในแต่ละปีที่จะมีหลายครอบครัวที่มีรายได้จากการทำน้ำตาลปีหนึ่งหลายหมื่นบาทและเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้กับคนทำน้ำตาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่ต้องลงทุนปลูกต้นตาลหรือดูแลรักษา การเคี่ยวน้ำตาลจะทำเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว ในความเป็นจริงการประกอบอาชีพตาลนั้นสามารถทำได้ภายในครอบครัว ตั้งแต่การขึ้นตาล การทำน้ำตาลสด การทํานํ้าตาลปี๊บหรือน้ำตาปึก ซึ่งสามารถทำได้ภายในครอบครัว และสามารถทำที่บ้านได้เพียงลงทุนค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเคี่ยวน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งน้ำตาลที่ได้จากการแปรรูปสามารถเก็บไว้ได้นาน

3. ประเพณีสลากหาบ หรือพิธีงานถวายสลากภัตต์ พบว่าพระภิกษุสงฆ์ (ระดับเจ้าอาวาส) ในชุมชน จะได้รับการนิมนต์ให้จับสลากหาบ ซึ่งในสลากหาบมีเครื่องอุปโภคบริโภค และวัตถุปัจจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านของแต่ละครัวเรือนในตำบลจัดมาถวาย สลากหาบที่พระภิกษุสงฆ์ได้จับฉลากเลือกไปนั้น เชื่อว่าจะทำให้เกิดศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

4. ประเพณีสงกรานต์ ภายในชุมชนจะมีการจัดการละเล่นและการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของไทย เช่น การรำวง เป็นต้น ซึ่งจะจัดในเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี

5. ประเพณีงานลอยกระทง เป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย พบว่าภายในชุมชนจะมีการแข่งขันกีฬาและการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวดนางงามนพมาศ การประกวดกระทง เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

6. ประเพณีการแข่งวัวลานช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนมกราคมเป็นต้นไป จะมีการแข่งวัวลาน ถือเป็นประเพณีที่ชาวเพชรทุกชุมชนให้ความสนใจ โดยการละเล่นซึ่งสืบทอดกันมาของชาวเมืองเพชร ที่นิยมใช้วัวในการทำนา เนื่องจากที่นาส่วนใหญ่เป็นนาดอน ไม่มีปลักเลน หรือแอ่งน้ำให้ควายลงไปแช่เล่น การแข่งวัวลานมีที่มาจากการนวดข้าว ซึ่งจะนำวัวมาผูกติดกัน แล้วต้อนวัวให้เดินย่ำไปบนข้าว โดยบังคับให้เดินเป็นวงกลม ชาวเมืองเพชรได้นำวิธีการนวดข้าวนี้มาปรับให้เป็นการแข่งขัน โดยสนามแข่งวัวเป็นลานกว้าง มีหลักไม้อยู่กลางลาน เรียกว่า “เสาเกียด” มีเชือกห่วง ซึ่งเป็นเชือกมนิลาเส้นใหญ่คล้องไว้โคนเสา ในการแข่งขัน คนเลี้ยงวัวจะนำวัวซึ่งเชือกพรวนคล้องคออยู่มาผูกทับกับเชือกห่วง เรียงแถวกันออกไปเป็นภาพรวม 19 ตัว วัวจำนวน 19 ตัวนี้จะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยวัว 18 ตัวแรกนับจากโคนเกียด จะเรียกวัวคาน เฉพาะตัวที่ 18 เรียกว่า วัวรอง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่จะต้องแข่งกับวัวตัวที่ 19 ซึ่งเป็นวัวฝ่ายตรงกันข้าม เรียกว่า “วัวนอก” เมื่อคนเลี้ยงปล่อยวัวออกวิ่งแล้ว หากวัวนอกสามารถวิ่งแซงเข้าใน และลากวัวรองตามไปอย่างไม่เป็นขบวนได้ ถือว่าฝ่ายวัวนอกชนะ ถ้าวัวรองวิ่งนำไปจนวัวนอกตามไม่ทันหรือหลุดเข้าหลังวัวรอง จะถือว่าวัวรองหรือวัวคานเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าเชือกพรวนของวัวนอก หรือวัวคานเกิดขาดคณะวิ่ง ถือว่าฝ่ายนั้นเป็นผู้แพ้ 

1. นายถนอม ภู่เงิน  เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2481 อายุ 81 ปี การทำงานทางด้านสังคม การประกอบอาชีพ ภาคการการทำงานทางด้านสังคม การประกอบอาชีพ ภาคการเกษตรจากพ่อแม่และเป็นกำนัน จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (การศึกษานอกโรงเรียน) จากโรงเรียนวัดถ้ำรงค์ เมื่อปี 2516 ทำงานอยู่ที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด และได้รับคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.ถ้ำรงค์ ปีพ.ศ. 2531 ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ ปี พ.ศ.2535-2549 ดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์การเกษตร บ้านลาด ปี พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลถ้ำรงค์จนเกษียณอายุราชการ ปี พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลเป็นผู้อุทิศ ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนตคำบลถ้ำรงค์ ปี พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาตาลโตนด ปี พ.ศ. 2553 ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และได้รับการยกย่องให้เป็นคนดีศรีบ้านลาด จากนายอำเภอบ้านลาด

นายถนอม ภู่เงินมีความสำคัญทางด้านวัฒนธรรมคือ การปลูกตาล โดยนายถนอมเป็นผู้บุกเบิกในการปลูกต้นตาลภายในพื้นที่ ซึ่งแรงบันดาลใจของลุงถนอมในการปลูกตาล เนื่องจากไม่อยากให้ต้นตาลเมืองเพชรสูญหายหรือเหลือเพียงตำนาน เพราะตาลเป็นต้นไม้เอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี แต่ปัจจุบันต้นตาลเมืองเพชรกลับเหลือต้นตาลจำนวนน้อย ลุงถนอมจึงอยากอนุรักษ์สวนตาลไว้ให้อยู่คู่เมืองเพชรไปนาน ๆ จึงได้ดำเนินการปลูกเป็นสวน ปัจจุบันสวนตาลดังกล่าว เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านการทำตาล ซึ่งมีเยาวชน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก 

1. วัดถ้ำรงค์ หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นรูปหล่อสีดำทั้งองค์ หลวงพ่อดำมีอายุประมาณ 1,000 ปีแล้ว บริเวณเท้าของหลวงพ่อดำมีโซ่ล่ามอยู่ มีตำนานเล่าว่าหลวงพ่อดำเป็นพระเจ้าชู้เวลาพลบค่ำ เมื่อสาวชาวบ้านเสร็จจากการทำไร่ทำนาต่างพากันเดินกลับบ้าน หลวงพ่อดำก็จะเข้าไปพูดจาเกี้ยวพาราสี ชาวบ้านทนพฤติกรรมของท่านไม่ได้ จึงนำโซ่มาล่ามที่ขาไม่ให้ท่านออกไปพบปะพูดคุยกับใคร บริเวณหน้าถ้ำหลวงพ่อดำมีเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม 2 ชั้น ฐานกว้าง 160 เซนติเมตร สูง 240 เซนติเมตร ชั้น 1 มีพระพุทธรูป 4 ด้าน พระพุทธรูปด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทุกองค์มีความกว้างหน้าตัก 69 เซนติเมตร ความสูงจากฐานเกศา 82 เซนติเมตร ชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติทั้ง 4 ด้านหน้าตัก 30 เซนติเมตร ยอดเกศาถึงหัวเข่า 41 เซนติเมตร ฐานพระเป็นกลีบบัว และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม กว้างเหลี่ยมละ 50 เซนติเมตร ความสูงจากยอดถึงฐาน 210 เซนติเมตร เป็นเจดีย์ย่อมุม 4 ด้าน 3 ชั้น รวมจากฐานถึงยอดมี 5 ชั้น ส่วนยอดของเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ

หลวงพ่อขาว ประดิษฐานอยู่ในถ้ำคนละด้านกับเขาถ้ำรงค์ แต่ตอนหลังถ้ำของหลวงพ่อขาวพังทลายลง ชาวบ้านจึงอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาบูรณะซ่อมแซมใหม่ จึงนำมาประดิษฐานเคียงคู่กับหลวงพ่อดำ มีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อขาวน่าจะเป็นพระสงฆ์ที่มีตัวตนมาก่อน เป็นพระที่บวชเรียนมานานชาวบ้านเคารพนับถือจึงสร้างรูปหล่อขึ้นมา มีตำนานเล่าว่าหลวงพ่อขาวมีลูกสาวคนหนึ่ง แต่หลวงพ่อดำลักพาตัวไปไว้ในถ้ำ หลวงพ่อดำและหลวงพ่อขาวจึงไม่ถูกกัน ชาวบ้านบางคนเชื่อว่า หลวงพ่อดำเป็นรูปหล่อแกะสลักธรรมดา แต่มีวิญญาณมาสิงสถิตอยู่ตอนพลบค่ำ วิญญาณมักจะออกมาหาหญิงสาวตามหมู่บ้านต่าง ๆ ชาวบ้านจึงนำโซ่ล่ามไว้ไม่ให้วิญญาณออกมาเพ่นพ่าน

2. สวนตาลลุงถนอม สวนตาลโตนดลุงถนอม เป็นสวนตาลโตนดขนาดใหญ่ของชุมชนบ้านถ้ำรงค์ เปิดให้นักท่องเที่ยวมาชมการสาธิตการปีนต้นตาลเพื่อไปเก็บน้ำตาล จากนั้นนำมาทำเป็นน้ำตาลสดดับกระหายคลายร้อน และขนมตาลสุดหวานหอมให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกันสด ๆ จากสวน

ชาวชุมชนตำบลถ้ำรงค์มีการใช้ภาษาไทยถิ่นบ้านลาดในการสื่อสาร


ชุมชนมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตโดยมีการดำเนินชีวิตตามปกติและมีการให้ความรู้ในการถามตอบของนักท่องเที่ยว มีการขายสินค้าผลิตภัณฑ์ตาลโตนด มีการสอนนักเรียน เยาวชน การสาธิตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบตาล และยังมีแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแบบทัวร์จักรยาน


พบว่าภายในชุมชนมีการขยายตัวของประชากร อันนำมาซึ่งการส่งผลทำให้พื้นที่สวนตาลของบ้านไร่สะท้อนถ้ำรงค์ถูกโค่นลงจำนวนมากเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและรองรับต่อจำนวนประชากรในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น


การเปลี่ยนแปลง จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรีพบว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จำนวนตาลโตนดได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนน่าเป็นห่วง ในปี พ.ศ. 2565 จังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลที่ขึ้นทะเบียน รวม 358,556 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้อำเภอบ้านลาด มีจำนวนต้นตาลมากที่สุด

ผลิตภัณฑ์ชุมชน พริกแกงบ้านถ้ำรงค์ ขนมตาล ดอกไม้ประดิษฐ์จากใบตาล ลูกตาลเฉาะ น้ำตาลโตนดแท้ สินค้าเกษตรตามฤดู 

ว่าวประดิษฐ์ ชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตในเส้นทางสายตาลโตนดที่ยึดอาชีพการปลูกตาลโตนด และนำตาลโตนดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ ณ กลางสวนตาลลุงถนอม ตั้งแต่การร่วมทำขนมตาลสด ๆ จากต้น การชิมน้ำตาลสด การทำเมนูเด็ดจากต้นตาลอย่าง แกงกะทิกุ้งสดใส่หัวตาล รวมไปถึงการจักสานจากใบตาล ซึ่งนับว่าเป็นพืชผลที่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นตาล 1 ต้นได้อย่างมากมายและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำว่าวจุฬาจิ๋วในแบบฉบับของตัวเองและเล่นว่าวจุฬาในท้องนา ถือเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมสืบสานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน รวมถึงประเพณีการละเล่นท้องถิ่นในเวลาเดียวกันที่ชุมชนบ้านถ้ำรงค์

กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/.

เกสร สว่างพนาพันธุ์. (2555). ศักยภาพทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของชุมชนตาลโตนด : กรณีศึกษาชุมชนตาลโตนด ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม. (2555). ถนอม ภู่เงิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/.

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี. (2565). ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดเพชรบุรี มกราคม 2566. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://www.opsmoac.go.th/.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2560). วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่สะท้อนถ้ำรงค์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/.

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี. (2559). สวนตาลลุงถนอม ภู่เงินสวนตาล ของนาย ถนอม ภู่เงิน อดีตกำนันตำบลถ้ำรงค์ นับว่า เป็นสวนตาลแห่งแรก และแห่งเดียวในปัจจุบัน ที่มีการปลูกเรียงกันเป็นแถว ภายในพื้นที่กว่า 10 ไร่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566, จาก https://phetchaburi.cdd.go.th/.

วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-9246-9099, อบต.ถ้ำรงค์ โทร. 0-3249-1467