หลางตาง ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนในหมู่บ้านจากต่างภูมิลำเนา 19 จังหวัดทั่วประเทศไทย
หลางตาง ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนในหมู่บ้านจากต่างภูมิลำเนา 19 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ประมาณปี พ.ศ. 2520-2530 กาแฟและหวายมีราคาสูงมาก ซึ่งบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านหลางตางในขณะนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาจับจองที่ดินทํากิน การทำไร่กาแฟและป่าหวายรุ่งเรืองถึงงขีดสุด เกิดการจ้างงานขึ้น โดยลูกจ้างกลุ่มแรกที่เข้ามานั้นเป็นกลุ่มคนอีสาน และเมื่อได้เข้าไปพบเห็นสภาพพื้นที่ว่าอุดมสมบูรณ์ และเหมาะแก่การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย จึงได้เข้าไปจับจองขอซื้อต่อที่ดิน บางรายขอแลกค่าแรงกับที่ดินของนายจ้าง กระทั่งบางรายยอมขายที่นาจากภาคอีสานเพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินในบ้านหลางตาง ต่อมา พ.ศ. 2531-2540 เป็นช่วงที่มีประชากรเดินทางอพยพเข้ามาในบ้านหลางตางมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงวิกฤตของป่าหลางตาง เนื่องจากเกิดการแย่งชิงบุกรุกที่ดินพื่อทำการเกษตรของประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ และยังเกิดการแผ้วถางเพื่อขายเปลี่ยนมือโดยคนพื้นที่
พ.ศ. 2538 บ้านหลางต่างได้แยกตัวออกมาจากหมู่ที่ 6 บ้านในหยาน นายอําเภออําเภอพะโต๊ะในขณะนั้นได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านปิยะภูมิ แปลว่า แผ่นดินอันเป็นที่รัก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่และคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า บ้านหลางตาง
พ.ศ. 2541-2550 เป็นช่วงของการสร้างความมั่นคงในชุมชนและความร่วมมือกันใน การจัดหาสาธารณะประโยชน์เพื่อความอยู่รอด เช่น สํานักปฏิบัติธรรม ถนนทางขึ้นลงหมู่บ้านที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขุดดิน ประปาภูเขา ซึ่งทําร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไปออกค่ายในช่วงนั้น และที่สําคัญคือการสร้างโรงเรียนโดยการรวบรวมเงินบริจาคจากชาวบ้าน และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันซื้อที่ดินซึ่งเป็นสวนเก่าและร่วมกันปรับพื้นที่ให้ราบเรียบโดยการใช้แรงงานคนในการขุดปรับหน้าดิน ความเป็นไปของหมู่บ้านในช่วงนี้มีการออกทะเบียนบ้าน จัดตั้งบ้านเลขที่ มีการกําหนดครัวเรือนอย่างชัดเจน
ช่วง พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน หมู่บ้านได้รับการพัฒนาในหลายด้าน มีการนําอุปกรณ์ เครื่องจักรต่าง ๆ เข้าสู่หมู่บ้านเพื่อปรับปรุงและพัฒนาถนน ปรับหน้าดิน แทนการใช้แรงงานคนเช่นในอดีต มีการนําเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทําการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับความพร้อมในด้านปัจจัยการดํารงชีวิตที่ผ่านช่วงการปรับตัวมาแล้ว ส่งผลให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขตามอัตภาพ
ปัจจุบันนี้การจะครอบครองที่ดินทํากินหรือการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านในหลางตางจะเป็นในรูปแบบของการแต่งงานและเครือญาติเท่านั้น การเปลี่ยนมือซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดินจะเป็นการซื้อขายกันเฉพาะคนในหมู่บ้าน ไม่มีการซื้อขายกับคนภายนอก จากอดีตสู่ปัจจุบันกว่าจะมาเป็นหมู่บ้านหลางตางในทุกวันนี้ ชาวบ้านต้องต่อสู้กับหลายสิ่งเพื่อให้ตนและครอบครัวสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ เมื่อทุกครัวเรือนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทําให้การต่อสู้ของชาวบ้านหลางต่างไม่ได้โดดเดี่ยวแต่อย่างใด แต่เป็นการต่อสู้ที่ใช้ความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลจนบ้านหลางตางกลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีองค์ประกอบสําคัญในการเป็นหมู่บ้านครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น ผู้นำที่เข้มแข็ง กติกาหมู่บ้าน สถานที่สําคัญทางศาสนา โรงเรียน ประวัติศาสตร์ของตนเอง แม้ว่าบางปัจจัยอาจจะไม่สมบูรณ์นักแต่ความไม่สมบูรณ์คือองค์ประกอบที่ประกอบสร้างให้บ้านหลางตางเป็นหลางได้จวนจนปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จรด หมู่ 5 หมู่ 3 หมู่ 4 ตําบลพะโต๊ะ อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
- ทิศตะวันออก จรด หมู่ 12 บ้านตรัง ตําบลพะโต๊ะ อําเภอพะโต๊ะ และอําเภอละแมบางส่วน
- ทิศตะวันตก จรด หมู่ 6 บ้านในหยาน ตําบลพะโต๊ะ อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
- ทิศใต้ จรด อําเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านหลางตาง เป็นชุมชนกลางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าละแม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลังสวน
สภาพภูมิอากาศ หมู่บ้านหลางตางมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังตั้งอยู่บนพื้นที่สูง อุณหภูมิจึงเย็นจัดและลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงกลางคืน และเพิ่มสูงขึ้นในเวลากลางวัน
ทรัพยากรธรรมชาติ บ้านหลางตางมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์กว่า 50,000 ไร่ และมีลําน้ำคลองเสาะเป็นลำน้ำสายสำคัญของชุมชน มีห้วยธรรมชาติ 10 แห่ง (มีน้ำไหลตลอดทั้งปี) ประเภทของป่าไม้เป็นป่าดิบเมืองร้อนหรือป่าดิบชื้น ซึ่งเขตอําเภอพะโต๊ะทั้งหมดยังเป็นเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นป่ารกทึบ มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด หลากชั้นความสูง มีไม้ในวงศ์ไม้ยางเป็นไม้เด่นและอยู่ชั้นบนสุด ถัดมาเป็นไม้ชั้นรอง มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม รวมทั้งไม้ตระกูลปาล์ม บนต้นไม้จะมีไม้พวกกาฝาก เถาวัลย์ เฟิร์น และมอส ขึ้นอยู่ทั่วไป พื้นป่ามีเศษกิ่งไม้ ใบไม้ และอินทรีย์วัตถุจํานวนมาก แสงแดดส่องถึงพื้นป่าไม้น้อยมากเพราะถุกต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุม ประเภทของดินเป็นดินภูเขา
กลุ่มบ้าน
บ้านหลางตางมีการแบ่งพื้นที่หมุ่บ้านออกเป็น 8 กลุ่มบ้าน ดังนี้
- กลุ่มหลางตาง เป็นกลุ่มบ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนอีสานเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นกลุ่มบ้านที่มีการพัฒนามากที่สุดจาก 8 กลุ่มบ้าน
- กลุ่มปลายคลอง เป็นกลุ่มบ้านที่อยู่ไกลที่สุดตั้งหมู่บ้านอยู่ริมลําน้ำคลองเสาะ ตั้งแต่บ้านหลางตางถึงน้ำตกเหวพง มีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน
- กลุ่มแหลมเศียร ประชากรในกลุ่มบ้านนี้มีการปะปนของทั้งชาวใต้และชาวอีสาน เป็นพื้นที่จุดต่อประปาภูเขาเพื่อส่งน้ำเข้ามาใช้หมู่บ้าน
- กลุ่มบ่อน้ำอุ่น เป็นกลุ่มบ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าลึก และมีอัตราล่อแหลมจากการทำลายบุกรุกพื้นที่ป่ามากที่สุด
- กลุ่มห้วยค้อ ส่วนใหญ่เป็นภาคอีสานอาศัยอยู่
- กลุ่มสิชล เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช อําเภอสิชล
- กลุ่มหินสามก้อน มีประชากรทั้งจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคอีสานปะปนอยู่ร่วมกัน
- กลุ่มยายเภา เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่เป็นคนในพื้นที่เดิม ที่ได้เข้ามาจับจองพื้นที่อยู่ตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน
ประชากรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 คือ ชาวอีสาน ส่วนอีกร้อยละ 10 ที่เหลือ คือชาวบ้านที่เป็นคนพื้นที่เดิม และชาวบ้านที่อพยพมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช
ชาวบ้านหลางตางมีอาชีพหลักคือการทําสวนผลไม้ ได้แก่ เงาะ ลองกอง ทุเรียน มังคุด สวนกาแฟ สวน ยางพารา สวนปาล์ม และหมาก ส่วนอาชีพอื่นนอกเหนือจากงานในภาคการเกษตร ได้แก่ อาชีพค้าขาย และรับราชการ โดยชาวบ้านจะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 300,00-400,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งจะผกผันขึ้นลงตามแต่คุณภาพและราคาของผลผลิตในปีนั้น ๆ
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ชาวบ้านหลางตางมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนแบบขั้นบันไดและตามพื้นที่ราบเชิงเขา ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของคนอีสานจะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มบ้านใหญ่ ๆ บ้านและสวนจะอยู่ห่างกัน ส่วนลักษณะการตั้งบ้านเรือนของคนใต้จะอยู่กระจัดกระจาย และตั้งบ้านเรือนอยู่ในสวนของตนเอง
ศาสนา ความเชื่อ และประเพณี
ประชากรทั้งหมดในหมู่บ้านหลางตางทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ประเพณีหรือกิจกรรมที่ชาวบ้านจะทำร่วมกันคือการประกอบศาสนกิจในวาระวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น โดยร่วมกันที่สำนักปฏิบัติธรรมประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีพระสงฆ์จำวัดอยู่เพียง 1 รูปเท่านั้น
นอกจากการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามหลักศาสนาแล้ว ชาวบ้านหลางตางยังมีประเพณีพีกรรมประจำชุมชน ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงวิญญาณ ความเชื้อเร้นลับเหล่านี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านหลางตางซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอีสาน กลุ่มคนที่มีคติความเชื่อเข้มข้นเกี่ยวกับอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์จากสิ่งที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นมีดังต่อไปนี้
ประเพณีไหว้ลาน: เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นพิธีกรรมการเซ่นไหว้เจ้าที่ พระแม่ธรณี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษาผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ไม่มีโรคระบาดใด ๆ เบียดเบียน โดยประกอบพิธีกรรมหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ
ประเพณีล่องแพ: เป็นประเพณีเก่าแก่ประจำอำเภอพะโต๊ะ จัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี การล่องแพจะล่องจากหมู่บ้านในหยานไปอําเภอพะโต๊ะ ทุกหมู่บ้านในเขตอําเภอพะโต๊ะจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ร่วมกันทําอาหาร เพื่อนําไปร่วมงานปิดเมืองกินฟรีล่องแพพะโต๊ะ ช่วงเวลากินฟรีจะเริ่มเวลา 18.00น. โดยที่ผู้ที่มาร่วมงานจะต้องซื้ออุปกรณ์การรับประทานจากจุดบริการที่อําเภอจัดขึ้นเท่านั้น
ประเพณีผ้าป่ากาแฟ: เป็นการจัดกองผ้าป่าโรงเรียนโดยประชาชนในหมุ่บ้าน เงินที่ได้จากกองผ้าป่าจะมอบให้โรงเรียนสำหรับนำไปจัดจ้างครูมาสอน สำหรับคหมายของชื่อกองผ้าป่ากาแฟ เนื่องมาจากช่วงเวลาใยการตั้งกองผ้าป่าจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีรายได้จากการขายกาแฟรอบสุดท้ายของปี และเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านเสร็จสิ้นจากการทํางานสวนกาแฟ จึงได้ใช้ช่วงเวลานี้ในการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าโรงเรียน
ประเพณีไหว้ศาลเจ้าปู่: จะจัดในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยการนําไก่บ้านหรือไข่สด ของหวาน ของคาวไปเซ่นไหว้ที่ศาลเจ้าปู่ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน และมีการเสี่ยงทายคางไก่ว่า หากคางไก่ชี้ไปข้างหน้าปีนั้นจะถือว่าโชคดีในการประกอบอาชีพ
วัฒนธรรมการกิน
บ้านหลางตางมีการการผสมผสานวัฒรธรรมการกิน ระหว่างวัฒนธรรมอาหารภาคใต้และภาคอีสานเข้าด้วยกัน ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด โดยปกติทั่วไปชาวใต้มักจะปรุงอาหารหรือเครื่องแกงด้วยขมิ้น และเมื่อชาวอีสานเข้าไปอยู่ร่วมสังคมเดียวกับชาวใต้ ก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมดังกล่าวมา หรือการรับประทานสะตอ ผักพื้นเมืองภาคใต้ ประชากรอีสานในบ้านหลางตางก็ได้นำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ขณะเดียวกันประชากรที่เป็นชาวใต้ก็ได้ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมการกินของชาวอีสานเข้าไปปรับประยุกต์กับวัฒนธรรมตนเช่นเดียวกัน เช่น การรับประทานส้มตำ และลาบหมู ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของภาคอีสาน เป็นต้น
1. นายมี คะเลารัมย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการทําเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชปลอดสารเคมีเพื่อเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอัน และได้เผยแพร่ความรู้ในด้านการทําเกษตรอินทรีย์ให้กับชาวบ้านหลางตางและหมู่บ้านใกล้เคียงนําไปใช้เพื่อลดการใช้สารเคมีในการเกษตร
2. นายไพศาล ทรงศิริ ผู้มีความรู้ด้านการทําเกษตร 4 ชั้น โดยการศึกษาการเจริญเติบโตของพืชชนิดต่าง ๆ ในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช อันได้แก่ แสงแดด น้ำ และการทดลองปลูก ความรู้ด้านเกษตร 4 ชั้นสามารถเผยแพร่ และเป็นแนวทางในการจัดการการปลูกพืชในสวนของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปลูกต้นหมากและสะตอที่มักจะปลูกเป็นแนวรั้วธรรมชาติในสวนเพื่อแสดงเขตแดนสวนของชาวบ้าน
3. นายประยูร แก้วใหญ่ ผู้มีความเชี่ยวชาญภูมิปัญญาการทำหัตถกรรมจักสาน โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติเช่น ไม้ไผ่และหวายที่มีอยู่ในบริเวณป่าหลางตาง เพื่อการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน อีกทั้งยังถือเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เนื่องจากอยู่ร่วมกันมานานหลายปีของคนใต้และคนอีสานในชุมชนบ้านหลางตาง ทําให้การสื่อสารพูดคุยกันไม่จําเป็นต้องใช้ภาษากลางเพื่อความเข้าใจ คนใต้ถามภาษาใต้ คนอีสานก็ตอบภาษาอีสาน ต่างฝ่ายก็เข้าใจกันได้ ในเรื่องของภาษา อีกทั้งยังมีการใช้คําผสมกันทั้งภาษาใต้และภาษาอีสาน หรือที่เรียกว่าการพูดทับศัพท์ เช่น คําว่า “ควน” ในภาษาถิ่นใต้แปลว่า เนิน ซึ่งเนินในภาษาอีสานเรียกว่า “โพน” แต่สำหรับการสื่อสารกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนภาคใต้ ชาวบ้านอีสานจะใช้ว่าควน
ระดับอนุบาลและประถมศึกษามีห้องเรียนพิเศษต้นน้ำบ้านหลางตางเปิดทําการเรียนการสอน ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษของโรงเรียนเพียงหลวง 5 สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาชุมพรเขต 2 เหตุที่ให้เป็นห้องเรียนพิเศษเนื่องจากพื้นที่ของบ้านหลางตางอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้ แนวทางแก้ไขปัญหาคือการจัดตั้งให้เป็นห้องเรียนพิเศษเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กในหมู่บ้านทุรกันดารได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ และสามารถศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป
ควนแม่ยายหม่อน
ป่าละแม
เกษตร 4 ชั้น
บ้านหลางตางจากเดิมที่เคยเป็นชุมชนที่เน้นการปลูกกาแฟเป็นพืชเชิงเดี่ยว เมื่อราคากาแฟตก เศรษฐกิจภายในชุมชนก็ตกต่ำไปด้วย จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชให้มีลักษณะแบบผสมผสาน จัดการที่ทำกินแบบ “เกษตร 4 ชั้น” โดยการศึกษาดูงานการทำเกษตรธาตุ 4 ของป๊ะหรน หมัดหลี และใช้หลักการค้นหาองค์ความรู้จากภูมิปัญญาการทำเกษตรของคนสมัยก่อน รูปแบบสวนพ่อเฒ่า สวนสมรม โดยเฉพาะคนลุ่มน้ำหลังสวน ของพืชอายุสั้น กลาง ยาว และเทียบเคียงองค์ความรู้เรื่องสังคมพืชจากในป่าธรรมชาติในการจัดชั้นเรือนยอด 4 ระดับ ได้แก่ เรือนยอดชั้นบน ปลูกสะตอ หมาก ทุเรียนบ้าน ชั้นกลาง ปลูกผลไม้ เช่น มังคุด ลองกอง เงาะ ชั้นล่าง (ผิวดิน) ปลูกพืชผัก เช่น พริก เหรียง และชั้นใต้ดิน ปลูกพืชหัวหรือเหง้าใต้ดิน โดยปลูกแซมร่วมกับพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา (สถาบันลูกโลกสีเขียว, 2565: ออนไลน์)
กานต์พิชญา พงษ์พันธ์. (2557). ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนอีสาน: กรณีศึกษากลุ่มหลางตาง บ้านหลางตาง หมู่ 19 ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2565). ชุมชนบ้านหลางตาง จังหวัดชุมพร. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.greenglobeinstitute.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].