Advance search

ตลาดบางเขน

บ้านหัวโขน, ตลาดสี่แยก

ชุมชนตลาดบางเขนเป็นชุมชนที่มีอายุมากว่า 100 ปี โดยภายในชุมชนจะมีตลาดและสถานที่เก่าแก่ที่คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์รักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีแหล่งประดิษฐ์งานศิลปะหัวโขนที่สำคัญชื่อว่า บ้านช่างหัวโขน ซึ่งสถานที่นี้มีการผลิตและทำหัวโขนโดยลุงถนอมมากว่า 50 ปี 

หมู่ 1
ตลาดบางเขน
หลักสี่
กรุงเทพมหานคร
วีรวรรณ สาคร
11 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
28 เม.ย. 2023
ตลาดบางเขน
บ้านหัวโขน, ตลาดสี่แยก

การขุดคลองเปรมประชากรทำให้การค้าทางน้ำบริเวณชุมชนนี้เจริญขึ้น ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเริ่มค้าขายเกิดเป็นตลาดขึ้น โดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “ตลาดมืด” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชุมชนตลาดบางเขนตามชื่อพื้นที่


ชุมชนตลาดบางเขนเป็นชุมชนที่มีอายุมากว่า 100 ปี โดยภายในชุมชนจะมีตลาดและสถานที่เก่าแก่ที่คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์รักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีแหล่งประดิษฐ์งานศิลปะหัวโขนที่สำคัญชื่อว่า บ้านช่างหัวโขน ซึ่งสถานที่นี้มีการผลิตและทำหัวโขนโดยลุงถนอมมากว่า 50 ปี 

หมู่ 1
ตลาดบางเขน
หลักสี่
กรุงเทพมหานคร
10210
สำนักงานเขตหลักสี่ โทร. 0-2982-8081
13.855157649783314
100.56358369512543
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนตลาดบางเขน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ปัจจุบันชุมชนมีผู้อยู่อาศัยจำนวนกว่า 500 คน 150 หลังคาเรือน จุดเริ่มต้นของการตั้งชุมชนบริเวณนี้พบว่ามาจากการขุดคลองเปรมประชากรในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งตรงกับช่วงการปกครองของสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงมองว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอยุธยาโดยการใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเดินทางที่ไกลและอ้อมทำให้ใช้เวลาเดินทางนาน พระองค์ได้สั่งให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดำเนินการขุดคลอง โดยใช้แรงงานจีนขุด เมื่อคลองขุดเสร็จสิ้นได้พระราชทานนามว่า ‘เปรมประชากร’ หลังการขุดคลองพื้นที่บริเวณคลองเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ. 2474 ชาวจีนเริ่มเข้ามาค้าขายในบริเวณริมคลองแห่งนี้ ซึ่งบริเวณชุมชนตลาดบางเขนพบว่า ชาวจีนได้เช่าที่ดินจากคุณหญิงรักตปะจิตธรรมจำรัส (เจ้าของที่ดินขณะนั้น) เข้ามาทำการตั้งถิ่นฐานและค้าขายทำให้เกิดเป็นตลาดจีนในพื้นที่ริมคลองด้านทิศตะวันออกบริเวณจุดตัดกับคลองบางเขน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เรียกว่า ‘ตลาดมืด’ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีหลังคาปกคลุมก่อนที่คนเข้ามาอาศัยอยู่เยอะมากขึ้นเกิดเป็นชุมชนและถูกเรียกว่า ‘ชุมชนตลาดบางเขน’

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2476 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏวรเดช ซึ่งพื้นที่ชุมชนตลาดบางเขนได้เป็นพื้นที่สำคัญในเหตุการณ์นี้ โดยเป็นพื้นที่จุดปะทะกันระหว่างฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชและฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย จอมพลป. พิบูลสงคราม จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชุมชนเกิดความเสียหายอย่างมากภายในพื้นที่ การค้าหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดีภายหลังเหตุการณ์สงบลงชุมชนตลาดบางเขนก็กลับมาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดในย่านคลองเปรมประชากร ทำให้ในปี พ.ศ. 2510 ถือเป็นช่วงที่ชุมชนตลาดบางเขนมีความมั่นคงและเจริญสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการตั้งชุมชนขึ้นมา ซึ่งความเจริญทางการค้าในชุมชนปรากฎผ่านการที่บริเวณชุมชนมีโรงสีข้าวแบบจักรไอน้ำ แบบใช้แกลบและโรงสีข้าวแบบใช้น้ำมัน มีโรงเจซินสุ่นตั๊ว มีสถานีอนามัย มีศาลเจ้า ภายในชุมชน

ในปี พ.ศ. 2535 ยุคที่มีการพัฒนาถนนได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนตลาดบางเขน โดยช่วงเวลานี้มีการตัดถนนวิภาวดีรังสิต อีกทั้งผู้คนก็เริ่มเรียนรู้และใช้รถยนต์ในการเดินทาง ทำให้เกิดการสัญจรบริเวณถนนมากกว่าทางแม่น้ำลำคลอง อีกทั้งช่วงเวลานี้มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นหลายแห่ง การบริโภคจับจ่ายซื้อของบริเวณตลาดจึงน้อยลง จุดนี้ส่งผลให้ตลาดบางเขนภายในชุมชนซบเซาลงผู้ที่เป็นร้านค้าเริ่มย้ายออกแต่บางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง แม้ตลาดจะซบเซาลงแต่ทว่าการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยยังคงหนาแน่น จนในปี พ.ศ. 2537 คุณหญิงประจิตธรรมจำรัส (เจ้าของที่ดินขณะนั้น) ได้เสียชีวิตลง ทำให้กรรมสิทธิ์ส่งต่อไปให้ลูกหลานและบริษัทเอกชนทำให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้มีความผูกพันธ์กับพื้นที่ จึงเกิดการไล่ที่ดินการค้าเพื่อไปสร้างโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ บางที่ดินไล่ที่ดินแล้วเหลือเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จุดนี้ทำให้ชุมชนตลาดบางเขนผู้คนต้องอพยพออกไปโดยเฉพาะผู้ที่ค้าขาย ส่วนพวกที่อาศัยอยู่ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยทั่วไปที่ภายหลังคนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพราะอยู่ไม่ไกลจากเส้นสัญจรทางถนน กล่าวได้ว่าชุมชนตลาดบางเขนเปลี่ยนบทบาทเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนทั่วไปและที่ค้าขายรายย่อยนั่นเอง

แม้ว่าพื้นที่นี้จะเปลี่ยนไปในด้านความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่จะพบว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแต่เดิมของคนในชุมชนยังคงมีการสืบทอดกันต่อ ซึ่งมาจากการอนุรักษ์ของผู้คนในชุมชน เช่น การทำหัวโขน การกินเจ การไหว้เจ้า การทำอาหาร และขนมไทยโบราณ เป็นต้น นอกจากนี้คนในชุมชนยังพยายามอนุรักษ์สถาปัตยกรรมบางส่วนที่เหลืออยู่ในชุมชนไว้ เช่น โรงสี โรงเจ ศาลเจ้า สถานีอนามัย เป็นต้น

ชุมชนตลาดบางเขนตั้งอยู่ในพื้นที่เขตหลักสี่ บริเวณด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ใกล้ระหว่างริมถนนวิภาวดีฝั่งขาออกกับจุดตัดกันของคลองบางเขนและคลองเปรมประชากร (ริมฝั่งขวา) นอกจากนี้ยังห่างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนไปในทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 500 เมตร ซึ่งเมื่อมองภาพอาณาเขตชุมชนจะพบว่าในด้านกว้างวัดจากถนนถึงริมคลองเปรมประชากรจะมีระยะทางประมาณ 130 เมตร ส่วนในด้านยาวจากริมคลองบางเขนจนถึงสุดพื้นที่ชุมชนจะมีระยะทางปะมาณ 490 เมตร รวมพื้นที่ของชุมชนตลาดบางเขนทั้งหมดแล้วจะมีจำนวน 40 ไร่ ทั้งนี้บริบทของชุมชนโดยรอบในปัจจุบันมักถูกล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรร สถานที่ราชการต่าง ๆ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดโรงเรียนบางเขน ไว้สาลีอนุสรณ์
  • ทิศใต้ ติดคลองบางเขน ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านพักอาศัยที่อยู่ร่วมกับชุมชนมาแต่เรก
  • ทิศตะวันตก ติดคลองเปรมประชากร ฝั่งตรงข้ามเป็นชุมชนเทวสุนทร
  • ทิศตะวันออก ติดถนนวิภาวดี - รังสิต ฝั่งตรงข้ามเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)

โดยในการถือครองที่ดินบริเวณชุมชนนี้พบว่าได้ถูกแบ่งออก 2 ส่วน ส่วนแรกมีพื้นที่ 17 ไร่ นับตั้งแต่บริเวณกึ่งกลางคลองเปรมประชากรมาทางทิศตะวันออกประมาณ 40 เมตรและบริเวณคลองบางเขนมาทิศเหนือ 40 เมตร เป็นส่วนชุมชนตลาดบางเขนที่ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ส่วนที่สองมีพื้นที่ 23 ไร่ นับตั้งแต่พื้นที่ของชุมชนตลาดบางเขนนอกเหนือของกรมธนารักษ์ไปถึงถนน LocalRoad เป็นของเอกชน จุดนี้ทำให้พื้นที่ชุมชนตลาดบางเขนมีทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชนร่วมกัน

จากข้อมูลการสำรวจเอกสารวิชาการพบว่าจำนวนประชากรภายในชุมชน คาดว่าราว 500 คน คิดเป็น 150 หลังคาเรือน ทั้งหมดมักนับถือศาสนาพุทธ โดยคนในชุมชนตลาดบางเขนมีลักษณะครอบครัวหลากหลาย โดยบางบ้านอยู่อาศัยในลักษณะครอบครัวเดี่ยว คือ พ่อ แม่ ลูก อยู่กันไม่เกิน 5 คน หรือบางบ้านก็มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายอยู่กันเป็นสิบคนส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนี้มีข้อมูลว่าในชุมชนตลาดบางเขนมักมีพี่น้องหรือญาติกันทางการแต่งงานกัน โดยมีนามสกุลเก่าแก่ในพื้นที่ซึ่งผู้คนเหล่านี้จะมีความสนิท มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันในช่วงเทศกาลมากกว่ากลุ่มคนย้ายใหม่ ทั้งนี้ยังพบอีกว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งโดยเฉพาะชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในชุมชนตลาดบางเขนมีเชื้อสายจีน โดยสืบทอดมาจากกลุ่มคนจีนที่อพยพมาเป็นแรงงานจีนหรือมาค้าขายในบริเวณนี้ โดยหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ คือการที่ภายในชุมชนมีประเพณี เทศกาล และสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน เช่น โรงเจเก่า ศาลเจ้าเก่า โรงสี (กิจการชาวจีน) เป็นต้น

จีน

กลุ่มทางการ

1. กลุ่มคณะกรรมการชุมชน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเลือกตั้งขึ้นมาจากชาวบ้านในชุมชนตลาดบางเขน ทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาชุมชน ส่งเสริมวัฒนธรรม ประชาสัมพันธ์รวมถึงประสานงานดำเนินงานร่วมกับหน่วยราชการ องค์กร หน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชน

2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นกลุ่มชาวบ้านที่สมัครเข้ารับการอบรมทางด้านสาธารณสุขกับเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานของภาครัฐ มีหน้าที่กระจายข่าวสารทางด้านสาธารณสุขแก่ชาวบ้านในชุมชน แจ้งข่าวสารเกี่ยวปัญหาสาธารณสุขในชุมชนแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐให้คำแนะนำ ช่วยเหลือด้านสาธารณสุข

3. กลุ่มออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยเกิดจากการส่งเสริมของทางราชการให้ชาวบ้านรวมตัวกันในการที่จะออมเงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

4. กลุ่มเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มที่จัดตั้งในปี พ.ศ. 2541 เป็นการรวมตัวกันจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งของแต่ละชุมชนริมคลอง รวมถึงชุมชนตลาดบางเขนก็มีการรวมตัวกัน จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตริมคลอง โดยชุมชนแต่ละชุมชนจะสร้างเครือข่ายกันเพื่อแก้ปัญหา เครือข่ายนี้จะมีกิจกรรม เช่น การร่วมเก็บขยะ การปลูกต้นไม้เป็นเขื่อนธรรมชาติ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น

กลุ่มไม่เป็นทางการ

1. กลุ่มคณะกรรมการโรงเจ หรือเถ่านั้ง เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของกลุ่มคนในชุมชน โดยรวมกลุ่มเป็นผู้ชายทั้งหมด ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมโรงเจของชุมชน จะมีการรวมตัวเพียงปีละครั้งเพื่อจัดงานทิ้งกระจาด

2. กลุ่มทำหัวโขน เป็นกลุ่มอาชีพที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยมีนายถนอม มีเท่า เป็นหัวหน้ากลุ่ม โดยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพัฒนาชุมชนเขตหลักสี่ในการจัดตั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ของดีหรือภูมิปัญญาในพื้นที่ กลุ่มอาชีพนี้มีการประสานงานกับทางโรงเรียนในพื้นที่เพื่อเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • เทศกาลเทกระจาด เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นปีละครั้งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมโดยจะจัดขึ้นในเดือน 7 ตามจันทรคติของจีน ประเพณีนี้จะมีขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งที่เป็นญาติและไม่เป็นญาติ อีกทั้งยังเป็นการทำทานให้แก่ผู้ยากไร้ เทศกาลนี้คณะกรรมการโรงเจในชุมชนจะเป็นผู้ที่ชักชวนและริเริ่มกิจกรรมโดยจะให้ผู้คนเชื้อสายจีนในชุมชนนำสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ มากราบไหว้เพื่ออุทิศส่วนกุศลจากนั้นตัวแทนโรงเจกลุ่มคณะกรรมการโรงเจหรือเถ่านั้งในชุมชนจะทำการรวบรวมสิ่งของแจกจ่ายแก่ประชาชน
  • เทศกาลถือศีลกินเจ เป็นเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นิยมกันอย่างมากโดยถือเป็นเทศกาลแห่งการทำบุญใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวม 9 วันของทุกปีในการจัดเทศกาล เทศกาลนี้จะเป็นการงดการรับประทานเนื้อสัตว์ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น โดยในช่วงเทศกาลภายในโรงเจของชุมชนจะมีกลุ่มแม่ครัวมาทำอาหารเพื่อแจกจ่ายแก่คนในชุมชนตลาดบางเขนและบริเวณใกล้เคียง
  • เทศกาลไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว โดยในช่วงเทศกาลนี้โรงเจภายในชุมชนตลาดบางเขนจะมีกิจกรรม โดยมักจัดในช่วง 15 ค่ำ เดือน 1 ของทุกปี เพราะเชื่อว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่เทพเจ้าเสด็จมาโปรด ในสมัยก่อนจะเกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกด้วย

1. นายถนอม มีเท่า  ผู้ริเริ่มการทำหัวโขนในชุมชนตลาดบางเขนและได้ก่อตั้งบ้านช่างทำหัวโขนขึ้นมา แรกเริ่มจากความชอบและความสนใจส่วนตัวเกิดเป็นงานฝีมืออันสวยงามเกิดเป็นเอกลักษณ์แบบฉบับหัวโขนของชุมชน โดยนอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วคุณถนอมยังสอนวิธีการทำหัวโขนให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมไปถึงโรงเรียน สถานศึกษาโดยรอบชุมชน ทั้งนี้หัวโขนชุมชนตลาดบางเขนมีความวิจิตรและละเอียดสวยงามอย่างมาก ทำให้ในเวลาไม่นานหัวโขนของคุณถนอมก็ได้กลายเป็นของดีประจำเขตหลักสี่ จากการทำหัวโขนทำให้คุณถนอมได้รางวัลเกี่ยวกับภูมิปัญญาผู้สูงอายุสาขาศิลปกรรมจากที่ต่าง ๆ

ทุนวัฒนธรรม

การทำหัวโขนบ้านช่างทำโขน การทำหัวโขนพื้นที่นี้มีมากว่า 50 ปี ก่อตั้งโดยนายถนอม มีเท่า โดยครูถนอมเริ่มทำหัวโขนโดยใช้การวาดด้วยมือมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 และพัฒนาฝีมือจนกลายมาเป็นจุดเอกลักษณ์ของชุมชน โดยการทำหัวโขนได้กลายมาเป็นกิจกรรมของชุมชนตลาดบางเขนในการทำหัวโขนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ทั้งนี้ลักษณะเด่นของหัวโขนของชุมชนนี้คือการออกแบบลายบนหัวโขนที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ลายกระจัง ทำให้ในปีพ.ศ.2553 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานเขตหลักสี่ในการเป็นเจ้าของภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ชุมชนตลาดบางเขน สาขาศิลปกรรม นอกจากนี้การทำโขนยังถูกถ่ายทอดแก่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยใกล้เคียงเพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลัง

ตลาดเก่า ตลาดเก่าสร้างขึ้นหลังการขุดคลองเปรมประชากร ปีพ.ศ.2415 เป็นลักษณะตลาดที่มีหลังคายาวประมาณ 300 เมตร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นทำให้เรียกว่า ‘ตลาดมืด’ ในอดีตพื้นที่นี้มีการค้าขายอย่างครึกครื้น ปัจจุบันยังสามารถเห็นถึงลักษณะโครงสร้างที่เป็นไม้และยังพบเห็นการค้าขายภายในตลาดแต่ไม่ได้มั่งคั่งเช่นเดิม

โรงเจซินซุ่นคั้ว เป็นโรงเจที่อยู่คู่กับตลาดมาอย่างเก่าแก่ โดยเป็นสถานที่สำคัญของคนจีนในสมัยก่อนที่ใช้ในการประกอบพิธีการกินเจในเทศกาลกินเจ ทั้งนี้ภายในโรงเจมีเทวรูปเทพเจ้าจำนวนมาก โดยเทพเจ้าที่นับถือมากที่สุดคือ เทพเจ้าหุดโจ้ว ทั้งนี้โรงเจแห่งนี้ยังมีกระถางธูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้อีกด้วย

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สถานที่แห่งนี้สำคัญอย่างมากต่อคนจีนในสมัยก่อนและยังมีความสำคัญกับชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบันที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชน โดยศาลเจ้านี้บ่งบอกได้ว่าในอดีตได้มีคนในพื้นที่บางส่วนเป็นชาวจีนไหหลำ เนื่องด้วยเจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนไหหลำนับถืออย่างมากเพราะเชื่อว่าให้ความศักดิ์สิทธิ์ในด้านโชคลาภและความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ โดยศาลนี้ตั้งหันหน้าเข้าหาลำคลองเปรมประชากรเนื่องจากเพื่อให้คนสัญจรเข้ามาสักการะได้สะดวก

โรงสีจักรกล เป็นโรงสีที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2415 เป็นโรงสีที่เก่าแก่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของตลาดบางเขน โรงสีแห่งนี้เป็นโรงสีจักรไอน้ำที่ปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในบริเวณ อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นบุตรหลานที่สืบทอดกิจการ เลือกอนุรักษ์โรงสีแห่งนี้เอาไว้เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชน ทำให้โรงสีแห่งนี้ยังสามารถเห็นวิถีชีวิตการใช้เครื่องมือโรงสีแบบสมัยเก่า

สถานีอนามัย สถานีอนามัยแห่งชุมชนตลาดบางเขนแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่เป็นลักษณะโครงสร้างเก่าเรือนไม้ โดยในอดีตเป็นสถานที่สำคัญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่มีความหวงแหนสถานีอนามัยแห่งนี้ เนื่องจากมีความผูกพันและช่วยรักษาโรคให้หลาย ๆ คนในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากการขยายตัวของชุมชนเมืองเนื่องจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและนโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในเมืองของภาครัฐประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้นำมาซึ่งหลายพื้นที่ภายในเมืองได้กลายเป็นชุมชนแออัด ในที่นี้รวมไปถึงชุมชนตลาดบางเขน เนื่องจากเป็นพื้นที่หนึ่งที่สาธารณูปโภคความเจริญเข้าถึง ผู้คนส่วนมากย้ายมาอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องจนทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นชุมชนแออัด พื้นที่ชุมชนต้องอยู่ในสถานะเปรียบเสมือนจำเลยสังคม คือ เป็นแหล่งแออัด แหล่งเสื่อมโทรมและแหล่งอาชญากรรม ทำให้นำมาสู่การที่พยายามจำกัดบริเวณนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ยิ่งเมื่อประกอบกับการที่ช่วงเวลานั้นเน้นการจัดทำหมู่บ้านจัดสรร มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำหมู่บ้าน ทำให้เอกชนเจ้าของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ต้องการนำที่ดินไปเกร็งกำไรและลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากกว่าการปล่อยเช่าในราคาถูกแก่ชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านไม่สามารถมีสิทธิ์ใด ๆ เนื่องจากเป็นผู้เช่าพื้นที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ครอบครองแม้ว่าจะอยู่มาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่บรรพบุรุษแล้วก็ตาม จุดนี้จึงนำมาสู่การไล่ที่ชาวบ้านในชุมชนตลาดบางเขนในปี พ.ศ. 2537 แม้ว่าคนในชุมชนจะมีความพยายามอ้างสิทธิ์ในการอยู่อาศัย การประท้วง การร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ไม่สำเร็จ ผู้คนเริ่มทยอยย้ายออกจากพื้นที่โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเงินทุนหรือครอบครัวที่มีฐานนะปานกลางส่วนใหญ่ยอมย้ายออกโดยง่าย การย้ายออกจากพื้นที่มีอยู่เป็นระยะนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 - 2541 ส่งผลให้ประชากรภายในชุมชนบริเวณริมคลองลดลง เกิดการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ชุมชนซบเซาเงียบเหงาลงจากแต่เดิม


สิ่งหนึ่งที่ส่งผลให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไป คือ การที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอย่างการตัดถนน โดยแต่เดิมพื้นที่ชุมชนตลาดบางเขนเน้นใช้การสัญจรทางน้ำนับแต่มีการขุดคลองเปรมประชากรในปี พ.ศ. 2413 ด้วยการสัญจรทางน้ำที่คึกคักอยู่ตลอดเวลา ผู้คนที่อยู่ในบริเวณริมคลองของชุมชนได้ทำการค้าขายโดยเฉพาะชาวจีน ทำให้พื้นที่ชุมชนมีคนจีนอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามหลังการตัดถนนโดยเฉพาะถนนวิภาวดี - รังสิตทำให้ตลาดในพื้นที่ซบเซาการสัญจรทางน้ำก็เริ่มลดลง เนื่องจากผู้คนต่างย้ายไปสัญจรทางถนนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต่างต้องปรับตัวเคลื่อนย้ายไปบริเวณถนน ไม่นานนักเมื่อประกอบกับปัจจัยการไล่ที่ก็ทำผู้คนที่ดำเนินทางด้านการค้าอพยพออกจากชุมชน ทำให้ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นหลัก


แน่นอนว่าหลังจากการขยายตัวของชุมชนเมืองได้นำมาสู่การที่พื้นที่ชุมชนกลายเป็นชุมชนแออัดหลายพื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่นาไร่เริ่มถูกแทนการอยู่อาศัยของผู้คนยิ่งเมื่อมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นทั้งบริเวณชุมชนและชุมชนโดยรอบทำให้เกิดความหนาแน่นของประชากรในย่านพื้นที่ จากการเพิ่มขึ้นของผู้คนทั้งภายในชุมชนและพื้นที่โดยรอบได้ส่งผลให้เกิดการทิ้งขยะปล่อยของเสียลงลำคลอง ทำให้ลำคลองเปรมประชากรเน่าเสีย ยิ่งเมื่อคนได้รับการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เช่น พัฒนาระบบการประปา ไม่ดื่มน้ำหรือใช้แม่น้ำลำคลองในการอุปโภค และการพัฒนาระบบถนนไม่ใช้การสัญจรทางน้ำในการเดินทางผู้คนจึงขาดจิตสำนึกในการดูแลรักษาและให้ความสำคัญกับลำคลองที่เคยสำคัญกับชุมชน ไม่นานนักลำคลองเปรมประชาที่เคยสะอาดและเป็นแหล่งวิถีชีวิตที่สำคัญของชุมชนก็เริ่มกลายสภาพมีการเน่าเสีย ขุ่นดำ และส่งกลิ่นเหม็น แม้ว่าต่อมาชุมชนตลาดบางเขนและชุมชนโดยรอบจะมีการสร้างเครือข่ายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยเฉพาะการดูแลความสะอาดคลองเปรมประชากรแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ได้

ภายในชุมชนตลาดบางเขนจากบริเวณสะพานข้ามคลองบางเขนถึงถนนภายในชุมชนประมาณ 130 เมตร มีร้านค้าโชว์ห่วยที่มาอายุ 100 ปี ตั้งอยู่ซึ่งในปัจจุบันยังคงเปิดขายสินค้าทั่วไปให้แก่คนในชุมชน

จิราพร แซ่เตียว. (2546). บทบาทของผู้หญิงในชุมชนเมือง : ผลกระทบจากการไล่รื้อที่อยู่อาศัยและการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนตลาดบางเขน หลักสี่ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชุมชนตลาดบางเขน ชุมชน 100 ปีแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์. (2559, 14 มีนาคม). เดลินิวส์. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. เดลินิวส์. ค้นจาก https://d.dailynews.co.th/bangkok/385591/

ซีวัฒน์ ฐิติวงศ์ทวีเวช. (2540). โครงปรับปรุงพื้นที่ย่านชุมชนตลาดบางเขน. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

อารยา ศานติสรร. (2552). แนวทางการพัฒนาชุมชนในเชิงอนุรักษ์และการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชุมชนตลาดบางเขน เขตหลักสี่. วารสารระแนง, 6(6), 0102-0114.

วันวร จะนู. (2551). วิถีชุมชนสี่แยกทางน้ำ : วิถีเมืองวิถีคนชุมชนที่แปรเปลี่ยน. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.