Advance search

ตลาดบ้านดอน

บ้านดอน

ชุมชนพาณิชยกรรมเก่าแก่ ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจเมืองสุราษฎร์ธานี

บ้านดอน
ตลาด
เมืองสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ตลาดบ้านดอน
บ้านดอน


ชุมชนพาณิชยกรรมเก่าแก่ ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจเมืองสุราษฎร์ธานี

บ้านดอน
ตลาด
เมืองสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี
84000
เทศบาลสุราษฎ์ธานี โทร. 0-7727-2513
9.1463105315
99.325732351
เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

ดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เรียกว่า อ่าวบ้านดอน ในทุกวันนี้ สันนิษฐานว่ามีผู้คนชาวพื้นเมืองตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานานกว่า 1,400 ปี ประมาณกาลได้ว่าอยู่ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีชาวอินเดียแล่นเรือมาถึงเมืองตะกั่วป่า เดินทางเลาะเลียบลําน้ำตะกั่วป่าไปสู่เชิงเขาหลวง ข้ามเขาเดินเลียบริมแม่น้ำหลวงเรื่อยมาจนถึงปากอ่าวบ้านดอน ขณะนั้นชาวอินเดียนับว่าเป็นผู้มีวิชาความรู้เหนือชนพื้นเมืองทั่วไป จึงได้แพร่วัฒนธรรมของตนไว้ในดินแดนแถบนี้ สมัยนั้นเป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย รอบอ่าวบ้านดอนมีเมืองสําคัญอันเป็นที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันอยู่หลายเมือง คือ เมืองไชยา ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำท่าอุแท ในอําเภอกาญจนดิษฐ์ และเมืองคีรีรัฐนิคมตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง ในเขตอําเภอคีรีรัฐนิคม เมืองทั้งสามนี้เป็นเมืองเก่าแก่อันเป็นต้นกําเนิดของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและบ้านดอนในปัจจุบัน

ที่ตั้งของชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า ชุมชนบ้านดอน สันนิษฐานว่าเกิดจากการตั้งถิ่นฐานของประมงและชาวสวนที่อพยพเข้ามหาพื้นที่าทํากินตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 1 เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ดอน เหมาะแก่การทําเกษตรและออกประมงได้ง่าย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือ พระที่นั่งและเรือรบ เพื่อใช้ในราชการที่อ่าวบ้านดอน

สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ภายใต้บทบาทของการเป็นเมืองศูนย์กลางราชการ การค้า และบริการ รวมถึงมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สวยงาม และมีเอกลักษณ์ ทําให้ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวและกิจกรรมของเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เดิมทีชาวจีนได้มีการอพยพล่องเรือจากประเทศจีนมาตามลําน้ำตาปี และชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพมานั้นเป็นผู้มีฐานะดี จึงได้เลือกมาตั้งรกรากที่บริเวณตลาดล่าง หรือตลาดบ้านดอนปัจจุบัน ซึ่งมีทางออกสู่ปากแม่น้ำความเจริญจึงมีอยู่ในกลุ่มเมืองเก่าละแวกตลาดล่าง ก่อนที่จะขยายมาทุกมุมเมืองดังปัจจุบัน ตลาดบ้านดอนเป็นย่านการค้าเก่า ประกอบด้วย สถาบันราชการดั้งเดิมในพื้นที่ โรงภาพยนตร์ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมถึงมี ประวัติศาสตร์ของสะพานจิ๋วโฮฮวด สะพานปูนแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยใช้งบประมาณส่วนตัวของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน

ตลาดบ้านดอน เป็นบริเวณที่มีศาลเจ้าฮกเกี้ยน และร้านค้าเก่าแก่ รวมถึงตลาดแม่ครู ตลาดสดเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และตลาดศาลเจ้าที่จะเปิดเฉพาะในเวลาเย็น มีประวัติที่ยาวนาน กว่า 170 ปี บริเวณชุมชนหน้าด่านและชุมชนตลาดท่าเรือ เดิมเคยเป็นที่ท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าไปยัง ภาคใต้ตอนล่างและประเทศทางแถบมลายู ทําให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาคารพักอาศัยบริเวณ ท่าเรือ และพื้นที่โดยรอบ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารและบ้านเรือนยังไม่ปรากฏเด่นชัด

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนตลาดบ้านดอนเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2369 ที่ได้มีการย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอนหรือบริเวณชุมชนตลาดบ้านดอนในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านดอนมีตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ คือ พื้นที่บริเวณท่าปลาวาฬหรือตลาดท่าเรือในปัจจุบัน มีทหารญี่ปุ่นเข้าเทียบท่าเพื่อขอใช้พื้นที่บ้านดอนเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตุการณ์การต่อสู้ และมีประชาชนชุมชนตลาดบ้านดอนเสียชีวิตจากเหตุกาณ์ดังกล่าว และได้มีการบูรณะอาคารที่ได้รับความเสียหายบางส่วนให้กลับมามีสภาพดีอีกครั้งในปัจจุบัน 

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนตลาดบ้านดอนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำตาปี ซึ่งมีแม่น้ำตาปีและคลองสาขาอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกไหลลงสู่อ่าวไทย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดเทจากแนวทิวเขาภูเก็ตในทิศตะวันตกลงสู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทางทิศตะวันออก โดยสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ที่ราบฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำตาปี เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ มีแขนงลําคลองน้อยใหญ่พาดผ่าน พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทําเกษตร ส่วนที่ราบฝั่งทิศใต้ของแม่น้ำตาปีเป็นที่ดอนราบกว้าง และอยู่สูงกว่าน้ำทะเลประมาณ 10 เมตร จึงเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพเมื่อสังเกตภาพรวมของพื้นที่ชุมชนตลาดบ้านดอน จะเห็นความแตกต่างของรูปแบบการก่อสร้างอาคารในชุมชน ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยบริเวณทิศใต้ของพื้นที่เป็นลักษณะอาคารเก่าที่ยังไม่ได้ปรับปรุงมากนัก และบริเวณตลาดกลางของพื้นที่จะมีอาคารที่มีความสําคัญทาง ประวัติศาสตร์ เป็นลักษณะอาคารไม้เกาะกลุ่มกัน มีการรวมตัวอย่างหนาแน่น วิวัฒนาการของพื้นที่ในอดีตสู่ความเจริญในปัจจุบันทําเกิดความแตกต่างของรูปลักษณ์อาคารที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน

ย่าน (District)

การแบ่งย่านในชุมชนตลาดบ้านดอนเกิดจากความแตกต่าของรูปแบบกิจกรรมการดำเนินการ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ รวมถึงบุคคลภายนอกที่เข้ามายังพื้นที่ พื้นที่หลักคือพื้นที่ตาม แนวถนนบ้านดอน ถนนศรีตาปี และถนนชนเกษม ซึ่งมีลักษณะเป็นกริดเชื่อมต่อกัน มีทั้งพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ดังนี้

  • ถนนบ้านดอน (ตลาดเช้า) เป็นตลาดที่เปิดให้ค้าขายตั้งแต่เวลา 02.00-13.00 น. ลักษณะเป็นตลาดเช้าริมน้ำตาปี เป็นแหล่งค้าขายอาหารทะเล ผลไม้ตามฤดูกาล และผักพื้นบ้าน ผู้คนพลุกพล่านมากในเวลาเช้าและมีปริมาณรถยนต์หนาแน่น

  • ถนนชนเกษม (ซอยเศรษฐภักดี) มีลักษณะเป็นอาคารเก่า อายุประมาณ 80 ปี ไม่ได้ปรับปรุงสภาพ ยังคงรูปลักษณ์เดิมไว้ เป็นอาคารกึ่งพาณิชยกรรมเริ่มทําการค้าในช่วงเวลา 12.00-21.00 น.

  • ถนนบ้านดอน (ตลาดศาลเจ้า) เป็นตลาดโต้รุ่งที่เปิดบริการเวลา 16.00-21.00 น. เป็นตลาดที่รวบรวมอาหารท้องถิ่นประจําจังหวัด ประกอบด้วยร้านขายอาหาร สินค้าท้องถิ่น ประมาณ 200 ร้านค้า ในเวลากลางวันจะเปิดขายสินค้าปลีก เช่น อวนประมง ร้านค้าของชาวจีน และร้านอาหาร

  • ถนนศรีตาปี บริเวณนี้จะประกอบด้วยอาคารพาณิชยกรรมค้าขายประเภทสินค้าสําหรับทําประมง และมีบางส่วนของพื้นที่สร้างเป็นตึกขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นที่อยู่ของนกนางแอ่น (ธุรกิจรังนก)

  • ถนนหน้าเมือง ประกอบไปด้วยร้านค้า โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และตลาดสดขนาดใหญ่ รถยนต์พลุกพล่านตลอดทั้งวัน

  • ซอยศรีพุนพิน (ตลาดแม่ครู) เป็นตลาดเช้าที่อยู่บริเวณชุมชนตลาดล่าง เริ่มค้าขายตั้งแต่เวลา 04.00–11.00 น. มีสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และอาหารทะเล

การคมนาคม

  • ทางบก การคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จะมีการเดินรถทั้งทางเดียวและเดินรถสวนทางกันได้ มีถนนวงแหวนรอบนอกและถนนวงแหวนรอบใน ถนนสายหลักคือถนน 401 การสัญจรไปยังจังหวัดใกล้เคียงใช้ถนนสาย 4 เชื่อมต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดชุมพร

  • ทางน้ำ ในเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีมีเรือโดยสารวิ่งรับส่งในแม่น้ำตาปี และมีการคมนาคมขนส่งสินค้าทางทะเลจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างอําเภอเมืองกับอําเภอเกาะสมุยและเกาะพะงัน

สำหรับการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ชุมชนตลาดบ้านดอนนั้น มีทางเข้าออกหลายเส้นทาง ซึ่งสามารถจำแนกตามรูแปบบการสัญจรบนท้องถนนเป็น 2 รูปแบบ คือ เส้นทางเดินรถทางเดียว และเส้นทางเดินรถสวนทาง

  • เส้นทางเดินรถทางเดียว: เริ่มต้นจากถนนเปรมจิตประชา และถนนบ้านดอน เดินรถทางเดียวไปสิ้นสุดยังถนนมิตรเกษม เส้นทางเดินรถทางเดียวจะมีป้านบอกทาง เนื่องจากไม่ได้เดินรถทางเดียวทั้งพื้นที่

  • เส้นทางเดินรถสวนทาง: จุดเริ่มต้นบริเวณถนนศรีตาปี และถนนสายหน้าเมือง รถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถเดินรถสวนทางได้ทั้งพื้นที่ แต่จะมีป้ายสัญลักษณ์บอกเมื่อสุดเขตการเดินรถสวนทาง

ภายในบริเวณชุมชนตลาดบ้านดอน เป็นถนนกว้าง 6 - 8 เมตร ระยะความกว้างของถนนแบ่งเป็นสองขนาด เนื่องจากบางเส้นทางที่เชื่อมต่อกันมีการเดินรถสองทาง และยังมีพื้นที่จอดรถริมบาทวิถี เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารกึ่งพาณิชยกรรม ผู้เข้ามาซื้อสินค้าจําเป็นต้องใช้ที่จอดรถ

แม่น้ำตาปีที่ไหลผ่านตัวเมืองและเทศบาลนครสุราษฎรธานีนั้น ในสมัยก่อนเป็นเส้นทางสําคัญใช้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปยังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากสภาพพื้นที่อยู่ติดปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทยมีจุดขึ้น – ลง อาหารทะเลและท่าเรือเพื่อไปยังเกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะสมุย แม่น้ำตาปีจึงนับว่าเป็น แม่น้ำสายสําคัญของพื้นที่ชุมชนตลาดบ้านดอน

สถานที่สำคัญ

  • ตึกแถวสะพานโค้ง มีลักษณะเป็นอาคารกึ่งพาณิชยกรรม มีอายุประมาณ 80 ปี มีเอกลักษณ์ คือ สะพานโค้ง บริเวณด้านบนเชื่อมตึกแถว 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน

  • ตําหนักอ๋องฮกเกี้ยน เป็นศาลเจ้าที่มีอายุประมาณ 100 ปี ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนสี่แยกตลาดศาลเจ้า

  • สวนสาธารณะศรีตาปี เป็นสวนสาธารณะสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ

  • ท่าน้ำ (ท่าเรือเกาะเต่า) เป็นแหล่งรวมตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางไปยังเกาะเต่า บริเวณใกล้เคียงมีตลาดผลไม้และตลาดโต้รุ่ง
  • ตลาดศาลเจ้า สถานที่ที่รวบรวมร้านค้าและร้านอาหารกว่า 200 ร้านค้า มีทั้งอาหารทะเล อาหารประจําท้องถิ่น และทุกๆ ปี จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งทางเดินตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การตกแต่งร่มสีสัน 100 ชิ้น

ชุมชนตลาดบ้านดอนเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกันของประชากร 2 เชื้อชาติ คือ กลุ่มชาวพื้นเมืองเดิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้ อนึ่ง ชุมชนตลาดบ้านดอนยังสามารถจำแนกกลุ่มประชากรโดยมีศาสนาและความเชื่อเป็นตัวกําหนดลักษณะของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาอื่น ลักษณะครอบครัวประชาชนในพื้นที่ชุมชนตลาดบ้านดอนมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ คือ มีการอยู่อาศัยของสมาชิกครอบครัวต่างวัยในบ้านหลังเดียวกัน และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน 

จีน

ชุมชนตลาดบ้านดอน นับได้ว่าเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางการค้าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากลักษณะที่ตั้งที่อยู่ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และการเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์การเป็นชุมชนพาณิชยกรรมมาตั้งแต่แรกก่อตั้งชุมชน ในบริเวณตลาดบ้านดอนมีการจำหน่ายสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน อาหาร ตลอดจนเครื่องมือทางการเกษตร และการประมง ล้วนแต่ถูกรวบรวมไว้ในชุมชนตลาดบ้านดอนทั้งสิ้น

จุดแข็งทางการค้าของชุมชนตลาดบ้านดอน

ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำตาปีและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ทําให้พื้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น และมีลักษณะพื้นที่เป็นแบบกริดถนนเชื่อมต่อกันทั้งพื้นที่ ง่ายต่อการสัญจรและการจัดการรถยนต์ที่เข้ามายังพื้นที่ในช่วงเวลาสําคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ชุมชนตลาดบ้านดอนสามารถยึดครองความเป็นศูนย์กลางทางการค้าของเมืองสุราษฎร์ธานีมาอย่างยาวนาน ดังนี้

  • มีรูปแบบการค้าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทําให้เกิดรูปแบบชุมชนแบบเกื้อหนุนไม่แก่งแย่งกันสร้างโอกาส ช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจให้มีความคล่องตัวในเรื่องรูปแบบของร้านค้า

  • เกิดตลาดตามช่วงเวลา คือการที่ภายในชุมชนมีตลาดหลายแห่ง แบ่งเปิดเวลาทำการตั้งแต่ช่วงเช้า ช่วงค่ำ และช่วงดึก ทําให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและรองรับบุคคลภายนอกที่เข้ามายังพื้นที่ในช่วงเวลา

ประชาชนชุมชนตลาดบ้านดอนประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ โดยมีศาสนาและความเชื่อเป็นตัวกําหนดลักษณะของแต่ละกลุ่ม ซึ่งศาสนาที่ประชาชนในชุมชนนับถือมากที่สุด คือ ศาสนาพุทธ รองลงมา คือ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ ฯลฯ แม้ประชาชนจะมีความเชื่อและวิถีการดําเนินชีวิตที่ต่างกัน ทว่า ประชาชนแต่ละกลุ่มล้วนมีการยอมรับและเคารพซึ่งวัฒนธรรมระหว่างกัน สมาชิกในชุมชนอยู่ร่วมกันเป็นอย่างดี มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ในลักษณะของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มทางศาสนา มีการยอมรับและปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่นร่วมกัน เช่น การร่วมแรงร่วมใจในการประกอบกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนและกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ เช่น ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าประจําปี และงานประจําปีตามเทศกาลต่าง ๆ

ประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรมทางศาสนา และเทศกาลที่สําคัญในพื้นที่ชุมชนตลาดบ้านดอนและเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีดังนี้

  • ประเพณีสงกรานต์ มีการทําบุญตักบาตรบริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด การสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดําหัวขอพรจากผู้สูงอายุ

  • ประเพณีงานบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีท้องถิ่นของภาคใต้ มีการทําขนมพื้นบ้านต่าง ๆ มีการนําอาหารไปทําบุญตักรบาตร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีการจัดประกวดขบวนรถแห่ที่ตกแต่งด้วยขนมลา จัดขึ้นบริเวณถนนศรีตาปีและถนนหน้าเมือง

  • ประเพณีลอยกระทง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีการจัดประเพณีลอยกระทงภายในชุมชน โดยจัดกิจกรรมประกวดนางนพมาศ ตลอดบริเวณถนนศรีตาปี–ถนนบ้านดอน

  • ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ซึ่งประเพณีชักพระทอดผ้าป่า หรืองานเดือนสิบเอ็ด จัดในช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลออกพรรษา กิจกรรมที่สําคัญของงานประกอบด้วย การประกวดพุ่มผ้าป่า การประกวดเรือพระ ซึ่งจัดขึ้นบริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี ตั้งแต่บริเวณสามแยกถนนศรีตาปี ศาลหลักเมือง-สนามข้างโรมแรมวังใต้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาจีน (ฮกเกี้ยน)

ภาษาเขียน : อักษรเขียนภาษาไทย และภาษาจีน 


ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

  • เกิดแรงงานข้ามชาติเข้ามายังพื้นที่เป็นจํานวนมาก และยังไม่ได้รับการควบคุมจากภาครัฐ เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ค้าขายภายในพื้นที่

  • เกิดการลงทุนจากนักลงทุนภายนอกเป็นจํานวนมาก เข้ามายังพื้นที่ ทั้งการลงทุน ขนาดใหญ่ ผลกระทบที่ตามมาคือ ไม่ได้สนใจถึงความเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ทําให้เกิดความแปลกแยก และเอกลักษณ์ที่หลงเหลือไว้อาจถูกทําลาย

  • ยังไม่มีนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาพัฒนาหรือให้ความสําคัญกับ อาคารเก่าหรือพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์เท่าที่ควร มีเพียงแต่การพัฒนาการท่องเที่ยวเท่านั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณฐมน พุ่มงาม. (2558). แนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนตลาดบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สารนิพนธ์ปริญญาผังเมืองบัณฑิต สาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.