Advance search

บ้านนาหลวง หนึ่งในพื้นที่แหล่งกำเนิดข้าวสายพันธุ์หอมไชยา ซึ่งเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเมืองไชยา 

นาหลวง
เลม็ด
ไชยา
สุราษฎร์ธานี
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1536-9145, อบต.เสม็ด โทร. 0-7743-5060
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
บ้านนาหลวง

ในอดีตพื้นที่นาของชาวบ้านเป็นที่ดินของทางราชการทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวง ดังนั้นที่บริเวณนี้จึงเป็น “นาหลวง” และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านนาหลวง”


ชุมชนชนบท

บ้านนาหลวง หนึ่งในพื้นที่แหล่งกำเนิดข้าวสายพันธุ์หอมไชยา ซึ่งเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเมืองไชยา 

นาหลวง
เลม็ด
ไชยา
สุราษฎร์ธานี
84110
9.373027235
99.19748783
องค์การบริหารส่วนตำบลเลม็ด

เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน บ้านนาหลวงอยู่ในเขตปริมณฑลของเมืองไชยา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในตําบลพุมเรียงปัจจุบัน มีระยะทางห่างจากเมืองไชยาเก่าประมาณ 7 กิโลเมตร พื้นที่บ้านนาหลวงเหมาะแก่การทํานา ซึ่งพื้นที่นาทั้งหมดนั้นเป็นที่นาของทางราชการ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หลวง” ดังนั้นที่บริเวณนี้จึงเป็น “นาหลวง” และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านนาหลวง” ในอดีตบ้านนาหลวงมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่โด่งดังและได้รับความนิยม คือ ข้าวหอมไชยา สายพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองไชยา เนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีกลิ่นหอม แม้แต่ลำต้นและใบของต้นกล้าก็มีกลิ่นหอมและด้วยวิธีการหุงข้าวแบบรินน้ำแบบสมัยก่อนจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของข้าวหอมไชยา นอกจากนี้ยังมีการกล่าวกันว่า ในสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชรุ่งเรือง เจ้าเมืองนครได้ให้หน่วยงานราชการเก็บส่วยของเมืองไชยา คือ ข้าวหอมไชยา เป็นราชบรรณาการในสมัยนั้น

อนึ่ง นอกจากข้าวหอมไชยาแล้ว ในพื้นที่บ้านนาหลวงยังมีการปลูกข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ อีก เช่น ข้าวเหนียวตาล ข้าวเหนียวดํา ข้าวกันตัง ซึ่งในปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว การทํานาในอดีตตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว จะใช้แรงงานในครัวเรือนและการ “ซอแรง” กับสมาชิกในชุมชน ทุกกระบวนการทํานาไม่มีการใช้เทคโนโลยี สภาพดินสมบูรณ์ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ปัญหาศัตรูพืชมีน้อย ไม่มีการลงทุนที่ต้องใช้เงิน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 ตำบลตลาดไชยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 7 ตำบลเลม็ด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ตำบลเลม็ด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเลม็ด

มีประชากรทั้งหมด 430 คน แยกเป็นชาย 203 คน หญิง 227 คน ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เดิมเป็นการเคารพนับถือแบบเครือญาติและระบบอาวุโส กล่าวคือ กรณีผู้นําทางศาสนา ชุมชนจะให้การเคารพนับถือมาก และส่วนใหญ่ผู้ใหญ่บ้านจะมาจากผู้เคยทำหน้าที่เป็นผู้นําทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความรู้เรื่องของพิธีกรรมร่วมด้วย จะได้รับการยอมรับนับถือเป็นอย่างมาก 

การประกอบอาชีพ

  • อาชีพหลัก : การทำนา และทำสวนปาล์ม
  • อาชีพรอง : ค้าขาย ข้าราชการ และรับจ้างทั่วไป โดยปกติจะเป็นการค้าขายสินค้าค้าอุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้านในรูปแบบร้าขายของชำ

กลุ่มชุมชน

การจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นภายในชุมชนบ้านนาหลวง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชน เช่น กลุ่มทํานาเลม็ด เกิดจากการรวมตัวของชุมชนที่มีการทํานา โดยนายภิรมย์ อินทร์คง เป็นแกนนํา เนื่องจากได้รับการเรียนรู้ในเรื่องวิธีการทํานาหว่าน ซึ่งถือเป็นการทำนาแบบใหม่สำหรับชาวนาบ้านนาหลวงและชาวนาในตำบลเลม็ด จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การทํานาชุมชนในรูปแบบของโรงเรียนชาวนาชุมชน ขยายฐานความรู้ไปสู่กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเกษตรอําเภอไชยา และศูนย์ข้าวสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง กลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในชุมชนทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. และกลุ่มทําปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

วัฒนธรรมประเพณี

บ้านนาหลวงมีวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันภายในชุมชน คือ การเล่นสะบ้าชุด และพิธีสวดดอน ซึ่งในปัจจุบันพิธีดังกล่าวเริ่มเสื่อมความนิยมลง โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การละเล่นสะบ้าชุด นิยมเล่นกันในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันตรุษไทย (จบปีจบเดือน) วันสงกรานต์ และงานวันสวดดอน ซึ่งตรงกับเทศกาลวันจบปีจบเดือน งานวันสวดดอนจะเป็นวันที่ชาวนาหยุดทำงาน หรือหยุดภาระงานทุกสิ่งอย่าง เนื่องจากเป็นหน้าแล้งและเป็นวันสิ้นปี ในวันสิ้นปีนี้ สิ่งหนึ่งที่ชาวนาทํากันในอดีต คือ การเอาสากกับครกสําหรับการทําข้าวซ้อมมือมาแช่น้ำ โดยเอาสากใส่ในครก แล้วเติมน้ำลงในครกจนเต็มเรียกว่าการแช่ครกแช่สาก

  • การลงแขกเกี่ยวข้าว จะทํากันในช่วงเดือนพฤศจิกายน การเกี่ยวข้าวในอดีตนั้น นอกจากจะใช้เคียวแล้ว ยังมีอุปกรณ์ภูมิปัญญาอีกอย่างที่ใช้สําหรับเกี่ยวข้าว คือ “ตรูด” ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหายากแล้ว

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านนาหลวงเกือบทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ผสมผสานกับความเชื่อและวัฒรธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ การทําบุญปู่ ย่า ตา ยาย การทําขวัญข้าว การตั้งศาลพระภูมิ การไหว้นา การทําบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

  • งานบวช ชาวบ้านนาหลวงมีคำกล่าวเกี่ยวกับการบวชว่า หากชายใดมีโอกาสได้บวช ถือว่าชายผู้นั้นเป็นคนสุก แต่หากไม่ได้บวชจะถือว่าเป็นคนดิบ ซึ่งจะมีผลต่อการได้รับความเคารพยกย่องจากคนในชุมชน หากใครไม่ได้บวชมักจะไม่ได้รับความเคารพนับถือเท่าที่ควร และอีกอย่างหนึ่งคือการบวช จะทําให้พ่อแม่ได้บุญ เชื่อว่าบุตรที่บวช จะเป็นคนนํา ทางพ่อแม่ ไปสู่สวรรค์เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ฉะนั้น ชาวบ้านนาหลวงจึงมีการปลูกฝังมโนทัศน์แก่บุตรหลานในชุมชนเสมอว่า ผู้ชายทุกคนต้องผ่านการบวช
  • งานแต่งงาน เป็นพิธีการที่มีการสืบทอดกันมานาน การปฏิบัติตามประเพณีนี้ถือเป็นการให้เกียรติ และแสดงความเคารพต่อญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย
  • งานทําบุญบ้านและทําบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นความเชื่อในเรื่องของการให้ความเคารพนับถือที่อยู่ อาศัย และพบปะญาติพี่น้องที่ได้มาทําบุญเลี้ยงพระด้วย ซึ่งปัจจุบันบางบ้านก็ทําเป็นประจําทุกปี บางบ้านก็ไม่ได้ทํา แล้วแต่ความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละบ้าน

  • การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ เป็นความเชื่อเรื่องการขอสถานที่จากเจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปู่ ย่า ตา ยาย ที่ดูแลปกปักรักษาสถานที่อยู่ และบูชาเจ้าที่ทั้งบนพิภพและใต้พิภพ เช่น เทวดาอารักษ์ แม่ธรณี แม่คงคา พญานาค ฯลฯ

  • การไหว้นาและทําขวัญข้าว เชื่อกันว่าเป็นการให้ความเคารพและบูชาพระแม่โพสพ เทวดาแห่งต้นข้าว ผู้ดูแลปกปักรักษาต้นข้าวให้ออกรวงอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านมีข้าวกิน เช่นเดียวกับการไหว้นา ซึ่งเชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพและแสดงความขอบคุณต่อสิ่งที่มีพระคุณกับชาวนา ไม่ว่าจะเป็น ดิน พืช ข้าว หรือทุกสิ่งอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทํานา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง


นโยบายการพัฒนาประเทศกับวิถีชีวิตชาวนาบ้านนาหลวง

สังคมการเกษตรในพื้นที่บ้านนาหลวง มีวิวัฒนาการมาจากการผลิตแบบยังชีพ อาศัยปัจจัยการผลิตและบริโภคจากภายในพื้นที่ กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ทำให้ระบบการทํานาถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบการค้า การทำนาแบบ “ซอแรง” เริ่มเปลี่ยนเป็นการว่าจ้าง ในปี พ.ศ. 2504 เมื่อรัฐมีนโยบายพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทําให้วิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมที่เป็นไปเพื่อการยังชีพต้องหยุดชะงัก เนื่องจากนโยบายพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงเริ่มส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนา โดยเฉพาะช่วงหลัง พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา การส่งเสริมภาค เกษตรกรรมตามนโยบาย “การปฏิวัติเขียว” ส่งผลให้ชาวนาต้องปรับตัวจากวิถีชาวนาดั้งเดิมกลายเป็น วิถีชาวนาสมัยใหม่ นําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทํานาตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตด้านแรงงานแล้วยังส่งผลให้ชาวนาต้องลงทุนในการทํานาสูงขึ้น วิถีชีวิตชาวนาเข้าสู่ระบบทุนนิยมพึ่งพากลไกตลาด ลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ รูปแบบการทำนาในลักษณะนี้ได้บีบบังคับให้ชาวนาบางส่วนต้องหลุดออกนอกวงโคจร โดยเฉพาะลูกหลานชาวนารุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เลือกมุ่งเข้าสู่ระบบการศึกษา หลีกหนีวิถีการทำนาที่เห็นว่ายากลำบากและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนเกษตรกรที่เคยทำนาบางส่วนก็ได้แปรสภาพที่นาเป็นสวนปาล์ม ทำให้การทำนาในหมู่บ้านนาหลวงลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้ระยะห่างมากยิ่งขึ้น สายใยคความสัมพันธ์ที่เคยเชื่อมโยงด้วยการทำนาแบบดั้งเดิมค่อย ๆ ลดน้อย กระทั่งสูญหายไปหมดสิ้นแล้วในปัจจุบัน

“ทุ่งไชยา” เป็นคําใช้เรียกบริเวณที่ราบหรือทุ่งขนาดใหญ่ในอดีตซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวอยู่บริเวณที่ราบตอนกลางของอําเภอไชยา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 4 ตําบล ได้แก่ ตําบลตลาดไชยา ตําบลทุ่ง ตําบลเวียง และตําบลเลม็ด สภาพทุ่งไชยาในอดีตเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ มีคลองไชยาไหล ผ่านสภาพจึงเหมาะแก่การ ทํานา ชุมชนบริเวณทุ่งไชยาจึงเป็นชุมชนชาวนา ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกัน มากที่สุด คือ “ข้าวหอมไชยา” เป็นพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอมมาก น่ารับประทาน แต่ข้าวหอมไชยาก็แทบจะ สูญหายไปในปัจจุบัน (ลิขิต ดิษยนาม และคณะ, 2554: 12)

ลิขิต ดิษยนาม และคณะ. (2554). การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองและฟื้นฟูการทำนาแบบดั้งเดิมของชุมชนบ้านนาหลวง ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1536-9145, อบต.เสม็ด โทร. 0-7743-5060