ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำชีและเป็นท่าน้ำสัญจรไปมาระหว่างคนเดินทางตามลำน้ำชีในอดีต
บริเวณที่ทำการตั้งหมู่บ้านท่าตูมอยู่บริเวณติดลำน้ำชีและมีท่าน้ำที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ทำมาหาเลี้ยงชีพและบริเวณท่าน้ำมีต้นไม้มะตูม ซึ่งถือว่าเป็นศิริมงคลจึงตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านท่าตูม”
ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำชีและเป็นท่าน้ำสัญจรไปมาระหว่างคนเดินทางตามลำน้ำชีในอดีต
บ้านท่าตูมมีผู้นำก่อตั้งคือ หลวงปู่ประเคน โมเธระ หรือ หลวงปู่ถาวร หรือหลวงปู่หลวง ซึ่งเป็นนามที่ลูกหลานบ้านท่าตูมเรียกท่าน หลวงปู่ถาวรถือกำเนิดที่บ้านกล้วยกาสีเขตจังหวัดอุบลราชธานี ได้บวชเป็นสาเณรตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 23 ปีและได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่วัดป่าพงเป็นเวลา 11 ปี
ขณะที่หลวงปู่อายุได้ 34 ปี หมู่บ้านกล้วยกาสีได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านอดอยาก หลวงปู่จึงพิจารณาเห็นความยากลำบากของหมู่บ้านจึงชักชวนญาติโยมอพยพเพื่อหาที่อยู่ใหม่ การเดินทางครั้งนี้ใช้ช้างเป็นพาหนะเมื่อเดินทางออกจากวัดป่าพงมาแล้วเจอกับหนองน้ำขนาดเล็กจึงหยุดพักผ่อน หลวงปู่เห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนจึงพาญาติโยมถางป่าสร้างที่อยู่อาศัยใกล้กับกนองน้ำที่พบตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านหนองอ้อยช้าง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่ออาศัยได้ประมาณ 2 ปีมีญาติโยมคนหนึ่งบอกกับหลวงปู่ว่า ได้พบสถานที่หนึ่งในป่าดงดิบอุดมสมบูรณ์ด้วยผลไม้และสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่น เสือ สิงห์ กระทง แรด ประกอบกับมีแม่น้ำลำธารไหลผ่านถึง 2 สาย เมื่อหลวงปู่ทราบจึงเดินทางไปดูพื้นที่ดังกล่าว จึงพบว่าเป็นภูมิลำเนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร สัตว์นานาชนิด จึงนำพาญาติโยมเคลื่อนย้ายออกจากบ้านหนองอ้อยช้างมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ดอนป่ามะตูม
เมื่อมีการตั้งบ้านเรือนสร้างที่พักอาศัยเสร็จแล้ว ก็ได้นำพระสงฆ์และญาติโยมที่เดินทางมาพร้อมกันสร้างที่พักสงฆ์ชั่วคราวใกล้กับหนองแห้วทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ต่อมาได้ย้ายวัดมาตั้งที่บริเวณริมแม่น้ำชีอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านเมื่อสร้างที่พักสงฆ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าตูม” และตั้งชื่อวัดว่า “วัดบ้านตามป่าตูม” เช่นกัน ซึ่งเอานามไม้มะตูมที่เป็นไม้มงคลมาตั้งชื่อ ในสมัยนั้นผู้คนนับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพหลักคือทำไร่ทำนา การทำมาหาเลี้ยงชีพก็อาศัยน้ำทั้งสองสายเป็นน้ำอุปโภคบริโภค
บริเวณชุมชนใกล้กับลำน้ำชีนั้นมีท่าน้ำที่สำคัญสำหรับชาวบ้านอยู่ 3 ท่าคือท่าตูม ท่าช้าง ท่าวัด เป็นท่าน้ำสำหรับใช้ตักน้ำมาอาบ ท่าน้ำสหรับนำช้างลงอาบน้ำ ท่าน้ำสำหรับภิกษุสามเณรใช้อสรงน้ำและตักมาใช้ในวัด ต่อมาเมื่อหลวงปู่อาพาธญาติโยมจึงพาท่านขึ้นหลังช้างกลับไปที่บ้านเกิด ท่านสั่งญาติโยมว่าเมื่อท่านสิ้นเมื่อใดให้นำศพกลับไปฝังที่วัดบ้านตามป่าตูม เมื่อท่านมรณภาพแล้วญาติโยมก็นำท่านขึ้นหลังช้างกลับมาฝังที่วัดบ้านตามป่าตูมตามท่านสั่ง ข้างหลุมฝังหลวงปู่มีการสร้างศาลขึ้น 1 หลังและมีการอัญเชิญดวงวิญญาณของหลวงปู่มาประดิษฐานอยู่ที่ศาลแห่งนี้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ ปกปักรักษาคุ้มครองป้องกันให้ลูกหลานได้บูชาสืบทอดต่อกันมา
เมื่อชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญขึ้นในหมู่บ้านเริ่มมีการตั้งสถานศึกษา โดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน เมื่อมีความเจริญมากขึ้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อของหมู่บ้านและวัดใหม่ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านท่าตูม” เอาชื่อจากท่าน้ำมาแฝงเป็นชื่อบ้านเพราะท่าน้ำแห่งนี้เอานามไม้มะตูมถือว่าเป็นสิริมงคล เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดท่าตูมวารินทราวาส” เดิมบ้านท่าตูมขึ้นกับตำบลเขวา หมู่ที่ 10 อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบันมีการขยายตัวของชุมชนและมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจนเปลี่ยนเป็นตำบลท่าตูมในปัจจุบัน
บ้านท่าตูมมีอาณาเขตติดกับพื้นที่ดั งนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยแอ่ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
บ้านท่าตูมมีจำนวนประชากรประมาณ 792 คน มีบ้านเรือนทั้งหมด 226 กลังคาเรือน ชาวบ้านท่าตูมอาศัยกลุ่มเครือญาติในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน
- กลุ่มทอผ้าครั่งคราม บ้านท่าตูม เป็นการทำผ้าฝ้ายโดยการย้อมครั่ง ย้อมคราม แล้วนำมาทอผ้าตามลายที่ต้องการหรือลายตามความต้องการของลูกค้า และรูปแบบตามต้องการ
- วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้า บ้านท่าตูม เป็นกลุ่มที่รับผ้าจากชุมชนมาตัดเย็บชุดตามความต้องการของผู้ซื้อ
ชุมชนบ้านท่าตูมส่วนมากมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ด้วยความเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองเมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็จะมีอาชีพรับจ้าง ส่วนแม่บ้านในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็จะไปปฏิบัติงานที่กลุ่มทุกวัน เนื่องจากการสั่งตัดเย็บเสื้อผ้ามีจำนวนมากเนื่องจากเป็นที่รู้จักของหน่วยงานราชการภายในจังหวัดมหาสารคาม
งานนมัสการหลวงปู่ถาวร หลวงปู่ถาวรเป็นผู้ก่อตั้งหมาบ้านท่าตูมหลังจากที่ท่านมรณภาพแล้วนั้นจึงมีการสร้างศาลไว้เพื่อสักการะสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ด้วยวัดอยู่ติดริมแม่น้ำชีจึงมีการจัดงานแข่งเรือยาวซึ่งเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปและใกล้เคียง นับเป็นงานประเพณีประจำปีของชาวบ้านท่าตูม ปัจจุบันมีการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
สรรเสริญ ไชยคำภา. (2540). หลวงปู่หลวง(ถาวร) โมเธระ ผู้กำเนิดบ้านท่าตูม ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม.บันทึกประวัติชุมชน
กลุ่มผ้าย้อมครามบ้านท่าตูม. (2562).ผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมคราม.(ออนไลน์).ค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566. จาก, https://www.facebook.com/
แจ้งข่าวชาวมหาสารคาม. (2561). "ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่นจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี".(ออนไลน์).ค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566.จาก, https://www.facebook.com/jangkhao.sarakam/photos/