
ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเนื่องจากอยู่ใกล้กับภูเขา มีภูผา จำนวนมาก ปัจจุบันยังเป็นแหล่งผลิตผ้าทอที่มีชื่อเสียง
ชุมชนบ้านหนองสูงมีหนองน้ำที่อยู่บนภูเขาใกล้กับชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนในชุมชน คนในชุมชนเรียกหนองน้ำแห่งนั้นว่าหนองสูง (หนองน้ำบนที่สูง)จึงตั้งชื่อชุมชนตามชื่อของหนองน้ำ “หนองสูง”
ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเนื่องจากอยู่ใกล้กับภูเขา มีภูผา จำนวนมาก ปัจจุบันยังเป็นแหล่งผลิตผ้าทอที่มีชื่อเสียง
ตำนานชาวผู้ไทที่รวบรวมได้จากบ้านหนองสูง ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีดังนี้
ระยะแรก ในเรื่องต้นกำเนิดของชาวผู้ไทเชื่อกันว่า อาณาจักรดั้งเดิมอยู่ที่เมืองราษฎร์ เขตประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองเดียวกันที่พระเวสสันดรเคยอยู่ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อว่าชาวผู้ไทสืบเชื้อสายมาจากพระราชบิดาของพระเวสสันดร ต่อมาย้ายมาอยู่เมืองนาอ้อยหนูซึ่งอยู่บริเวณสิบสองจุไทย
ระยะที่สอง เชื่อกันว่าบ้านหนองสูง ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหารเป็นชุมชนที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน จากการค้นคว้าเอกสารและสอบถามผู้รู้ในหมู่บ้านทราบว่า ชาวผู้ไทกลุ่มนี้อพยพจากแคว้นสิบสองจุไทยชาวผู้ไทยที่อยู่แคว้นสิบสองจุไทย ซึ่งอยู่ในความปกครองของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2321 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่1 และต่มาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
ชาวผู้ไทยในประเทศไทย ได้อพยพโดยการถูกกวาดต้อนก็มี หรืออพยพติดตามมาภายหลังก็มี เมื่อทราบว่ามีที่ทำกินก็มีชาวผู้ไทยบ้านหนองสูงเป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง และเมืองคำอ้อ เพราะสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 ได้เกิดภัยธรรมชาติคือ ความแห้งแล้ง นอกจากนี้ตัวบุ้งและแมลงเช่น ตั๊กแตนได้ลงทำลายกัดกินพืชพันธุ์ธัญญาหาร ราษฎรเดือดร้อนทั่วกัน ผู้ปกครองบ้านเมืองบังคับกดขี่ราษฎร เกิดการทะเลาะกันกับหัวหน้ากลุ่มคือ ท้าวก่า (ต้นตระกูล “แก้วก่า” ผู้ครองเมืองพรรณนานิคม)
ระยะที่สาม คือช่วงที่กองทัพไทยขึ้นไปกวาดต้อนบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นช่วงที่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์กบฏต่อประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ส่งกองทัพปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์จนราบคาบแล้ว จึงได้แผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองเวียงจันทร์ ได้อพยพจากเมืองเวียงจันทร์และเมืองขึ้นต่างๆ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งภูมิลำเนาที่ภาคอีสาน ชาวผู้ไทจากเมืองวังและเมืองคำอ้อก็ได้อพยพเข้ามาด้วย โดยการนำของพระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวอุปคุต ท้าวสุวรรณ จากเมืองวังอพยพครอบครัวพร้อมด้วยราษฎรจากเมืองวัง 806 คน จากเมืองคำอ้อ จำนวน 852 คน เข้าสู่บรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองหนองสูง เมื่อปี พ.ศ.2387 ขึ้นกับเมืองมุกดาหารและโปรดเกล้าให้ท้าวสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อเป็นพระไกรสารราช เจ้าเมืองหนองสูงคนแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เดือนสิงหาคม 2387 มีเจ้าเมืองปกครองต่อจากพระไกรสรราชอีก 2 พระองค์ได้แก่ เจ้ากลาง(ต้นตระกูลกลางประพันธ์) และเจ้าราชอาจ (ต้นตระกูล อาจวิชัย)ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหนองสูงคนสุดท้าย
เมืองหนองสูง ได้ยกฐานะเป็นตำบลหนองสูงมีกำนันเป็นผู้ปกครอง ขึ้นกับอำเภอมุกดาหารในวันที่ 5 เดือนมิถุนายน 2484 และเมื่ออำเภอมุกดาหารได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร ตำบลหนองสูง จึงขึ้นตรงกับอำเภอคำชะอี เมื่อวันที่ 6 เดือนมิถุนายน 2499 ต่อมา พ.ศ.2519 สภาตำบลหนองสูง เห็นว่าบ้านหนองสูงใต้และบางหมู่บ้านของอำเภอคำชะอี มีการพัฒนาขึ้นหลายด้าน สมควรยกฐานะ ตำบลหนองสูงขึ้นเป็นกิ่งอำเภอหนองสูง จึงได้เสนอขอตั้งกิ่งอำเภอไปยังกระทรวงมหาดไทยและได้รับอนุมัติ โดยประกาศกระทรวงมหากไทยให้ตั้งเป็น กิ่งอำเภอหนองสูง เมื่อวันที่1 เดือนมีนาคม 2528 โดยเขตการปกครองเริ่มแรก 6 ตำบล 42 หมู่บ้าน
ระยะที่สี่ ใน พ.ศ. 2509 และ 2511 นักวิชาการจากอเมริกาได้ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พบหลักฐานว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ในแถบนี้นานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว มีการปลูกข้าว เลี้ยงหมู วัว ทำและใช้สำริด โลหะผสมทองแดงและดีบุกกันอย่างแพร่หลาย ก่อนจะพัฒนามาใช้เหล็ก การค้นพบสรุปได้ว่าคนโบราณแถวโนนนกทานั้นแบ่งออกเป็นสามยุค สมัยแรกมีอายุระหว่าง 5,400 ปีมาแล้ว ค้นหลักฐานได้จากหลุมฝังศพพบเครื่องมือหินขัด และพบเครื่องมือโลหะ สมัยกลาง คืออีกประมาณ 1,000 ปีต่อมามีการใช้สำริดภาชนะรูปทรงต่างๆ และสมัยปลายปีคือราว 1,000 ปีมาแล้ว พบว่า มีการใช้เครื่องมือเหล็ก พ.ศ.2510 และ 2515 มีการสนับสนุนหลักฐานที่โนนนกทาแจ่มชัดขึ้น มีการพบภาชนะดินเผาสีดำลายขูดขีด อายุประมาณ 5,600 ปี วัฒนธรรมบ้านเชียงเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เพราะสามารถลบล้างประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่นักประวัติศาสตร์เก่าๆได้เชื่อกันมานาน เป็นการยืนยันว่าภาคอีสานของไทยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมชุมชนเกษตรกรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ประเทศอินเดีย ชุมชนโบราณแถบประเทศจีน
จากหลักฐานดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่าชาวผู้ไทยหนองสูง ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานมานานไม่ได้อพยพมาจากอินเดีย หรือสิบสองจุไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น
บ้านหนองสูงตั้งอยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมือง จังหวัดมุกดาหารเป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร โดยแยกจากถนนสายมุกดาหาร-กุฉินารายณ์บริเวณกิโลเมตรที่ 50 มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองสูงใหม่
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองแต้
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านคันแท
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโนนยาง
ลักษณะพื้นที่ของบ้านหนองสูง เป็นที่ราบระหว่างภูเขาที่มีความสุงกว่าระดับพื้นรายทั่วไป มีสภาพเป็นที่ราบสูง ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีภูเขาล้อมรอบเป้นแนวยาวสลับกับ ภูผากูด ภูผาขาม ภูจ้อก้อ ภูถ้ำแม่น และภูผาแดง ทางทิศตะวันออกเป้นที่ราบสลับเขา ใช้เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูกเช่น ปลูกข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง เป็นต้น
ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านหนองสูงมีทั้งหมด 1,778 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 421 ครัวเรือน ผู้คนบ้านหนองสูงส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธ์ผู้ไท
ผู้ไท- กลุ่มทอผ้า ซึ่งประกอบด้วย ผ้ามัดหมี่ ผ้าหางกระรอก ผ้าขิด ผ้าจก ผ้าแพรวา เป็นต้น
- วิสาหกิจชุมชน ทอผ้าดั้งเดิมบ้านหนองสูงจังหวัดมุกดาหาร
ชาวบ้านหนองสูงประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักทุกครัวเรือน ผู้หญิงหากว่างเว้นจากการทำนาก็จะทอผ้าเนื่องจากผ้าทอชุมชนหนองสูงมีชื่อเสียงสามารถขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้
ภาษาที่ใช้ในชุมชนสำหรับคนในชุมชนสื่อสารกันจะใช้ภาษาผู้ไท
วิทยา นาควิเชียร. (2564). เล้าข้าวผู้ไทย : ศึกษากรณีบ้านหนองสูง ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดี.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชลดา จันปุ่ม. (2539). การจัดการผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าดั้งเดิม บ้านหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑ์ สาขาการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม.มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ภาพเก่าหนองสูง. (2566). ชาวผู้ไทหนองสูง. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566, จาก https://www.facebook.com/photo/