Advance search

ย่านเมืองเก่าสงขลา

เมืองเก่าสงขลา

ชุมชนเมืองเก่าสงขลาเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี ภายในชุมชนมีสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่มีหลากหลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งรูปแบบอาคารตึกแถวแบบจีน แบบไทยและแบบตะวันตกปะปนสองข้างถนนภายในชุมชน จุดนี้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของหลากหลายวัฒนธรรมภายในเมืองเก่าสงขลา ทั้งนี้ปัจจุบันจึงสามารถสัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์ความเป็นพหุวัฒนธรรมในอดีตของเมืองสงขลาได้ในพื้นที่นี้

บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
วีรวรรณ สาคร
23 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
28 เม.ย. 2023
ย่านเมืองเก่าสงขลา
เมืองเก่าสงขลา

มาจากในพื้นที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลางของสงขลาทำให้เรียกว่า "ตัวเมือง" ประกอบกับพื้นที่นี้มีการตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานและมีสถาปัตยกรรมเก่ามากมายเลยเรียกว่า "เมืองเก่า" ส่วนคำว่าสงขลามาจากการเรียกเพี้ยนเสียงของคำว่า "ซิงกอร่า" และ "สิงขร" ที่ชาวต่างประเทศเรียก ซึ่งชาวไทยออกเสียงยากจึงเพี้ยนเป็น "สงขลา" เมื่อรวมคำกันจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "เมืองเก่าสงขลา"


ชุมชนเมืองเก่าสงขลาเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี ภายในชุมชนมีสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่มีหลากหลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งรูปแบบอาคารตึกแถวแบบจีน แบบไทยและแบบตะวันตกปะปนสองข้างถนนภายในชุมชน จุดนี้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของหลากหลายวัฒนธรรมภายในเมืองเก่าสงขลา ทั้งนี้ปัจจุบันจึงสามารถสัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์ความเป็นพหุวัฒนธรรมในอดีตของเมืองสงขลาได้ในพื้นที่นี้

บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
9000
เทศบาลสงขลา โทร. 0-7431-1015
7.19626514080671
100.590658038854
เทศบาลนครสงขลา

พื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา ซึ่งชุมชนนี้ถือเป็นชุมชนที่สำคัญอย่างมากเพราะเป็นชุมชนศูนย์กลางของเมืองสงขลาในปัจจุบัน โดยกล่าวได้ว่าก่อนที่พื้นที่นี้จะมีคนมาอาศัยอยู่เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองสงขลา พบว่าผู้คนในอดีตได้มีจุดศูนย์กลางในบริเวณอื่นของสงขลามาก่อน ซึ่งเมื่อย้อนไปในอดีตเริ่มแรกการตั้งชุมชนพื้นที่เมืองสงขลาได้มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องเรื่อยมาเป็นชุมชนทำให้พื้นที่นี้มีแหล่งโบราณสถานและแหล่งโบราณวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมหลายประการ

ทั้งนี้ในส่วนชื่อเมืองสงขลาปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในชื่อของเมืองซิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" ซึ่งสาเหตุการเรียกชื่อทั้ง 2 คำ สามารถอธิบายได้ คือคำว่า “ซิงกอร่า” (singora) ของชาวฝรั่งมาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองไกล ๆ จะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองนี้ว่า "สิงหลา" เมื่อฝรั่งเรียกจะเรียกว่า ซิงกอร่า ส่วนคำว่า "สิงขร" สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียเมื่อเดินทางมาค้าขายกับชาวเมืองที่ตั้งอยู่เชิงเขาแดง จึงได้เรียกชาวเมืองว่า "สิงขรนครา" ดังนั้นคำว่า สิงหลาหรือสิงขร ที่ชาวต่างชาติเรียก เมื่อชาวไทยมาเรียกตามเสียงจึงเพี้ยนมาเป็น “สงขลา” นั่นเอง

พัฒนาการของเมืองสงขลาก่อนมาตั้งศูนย์กลางการปกครองในพื้นที่บ่อยาง พบว่าได้มีการตั้งศูนย์กลางการปกครองก่อนหน้านี้มา 2 ช่วง โดยในช่วงแรกมีการตั้งศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองสงขลาฝั่งริมเขาแดง ซึ่งเมืองสงขลานี้อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองชาวมุสลิมที่อพยพหนีภัยจากโจรสลัดที่คุกคามจากเมืองมาเลย์มาสร้างชุมชนใหม่บริเวณริมเขาแดง ซึ่งพบว่าเจ้าเมืองนี้มีลักษณะเป็นพ่อค้าทำให้ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่นานนักเมืองนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าค้าขายทางเรือที่เจริญรุ่งเรือง

เมืองนี้ช่วงแรกได้ขึ้นอยู่ภายใต้กรุงศรีอยุธยาแต่มีอิสระจากรัฐบาลกลางสามารถค้าขายได้เสรีกับต่างชาติ ทำให้ไม่นานนักเมืองนี้จึงมั่งคั่งและมีอิทธิพลมากขึ้น เมื่อครั้นอยุธยาเกิดความไม่สงบภายใน เมืองนี้จึงสามารถแยกตัวและตั้งตัวเป็นเอกราช โดยอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททองได้พยายามส่งทหารมาปราบหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระนาราย์มหาราชพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสจึงสามารถปราบเจ้าเมืองสงขลานี้ได้ กองทัพของอยุธยาได้ทำลายบ้านเรือนและป้อมปราการจนหมด ทำให้ชาวเมืองส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกกวาดต้อนอพยพไปอยู่ทางทิศใต้นำไปสู่สงขลาช่วงที่ 2

สงขลาช่วงที่ 2 นี้อยู่บริเวณแหลมสนเป็นพื้นที่เชิงเขาริมฝั่งทะเล ช่วงเวลานี้ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเริ่มมีบทบาทแทนที่ชาวมุสลิม โดยเฉพาะด้านการค้าซึ่งทำให้ต่อมาส่งผลให้มีบทบาททางด้านการเมือง โดยสมัยกรุงธนบุรีมีชาวจีนชื่อ เหยี่ยง แซ่เฮา ได้ขยับบทบาทจากทางการค้าจนสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสงขลาได้ ได้รับเป็นต้นสกุล ณ สงขลา ในภายหลังสายสกุลนี้ปกครองสงขลามาถึง 8 รุ่น ช่วงเวลานี้เมืองได้พัฒนาจนเป็นลักษณะของเมืองท่าค้าขายทางทะเลกับประเทศจีน ชาวจีนได้อพยพตั้งฐานและทำการค้าจำนวนมาก การค้าขายรุ่งเรืองจนเมืองขยายตัวมากขึ้น ผู้คนอยู่หนาแน่น พื้นที่เมืองเริ่มไม่เพียงพอไม่สามารถขยายเมืองเพิ่มได้ ประกอบกับประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภค ทำให้ต้องย้ายเมืองอีกครั้งนำมาสู่ช่วงสงขลาที่ 3

การย้ายเมืองมาสู่ช่วงที่ 3 ถือเป็นการย้ายมาในบริเวณพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน โดยพื้นที่นี้มีจุดศูนย์กลางบริเวณตำบลบ่อยาง รัชกาลที่ 3 สั่งให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เจ้าเมือง) ทำการตั้งเมืองสงขลาในฝั่งบ่อยางในปี พ.ศ. 2379 ทำให้ต่อมามีการสร้างกำแพงเมือง ประตูเมืองและสมโภชน์หลักเมืองในบริเวณนี้ในปี พ.ศ. 2385 และทำการเรียกพื้นที่นี้ว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” การปกครองแบบเจ้าเมืองได้ดำเนินภายใต้สายสกุล ณ สงขลา เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล มีการตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชโดยมีสงขลาอยู่ในมณฑลนี้ ช่วงนี้มีการลดบทบาทเจ้าเมืองให้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ถือเป็นการสิ้นสุดยุคการปกครองแบบเจ้าเมือง อย่างไรก็ตามระบบการปกครองถูกเปลี่ยนมาหลายครั้งจนในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองทำให้ยกระดับเมืองสงขลาขึ้นมาเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ทั้งนี้บริเวณชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งอยู่ในจุดศูนย์กลางของเมืองสงขลาแห่งที่ 3 นี้ กล่าวว่าภายในบริเวณชุมชนได้กลายเป็นบริเวณที่เป็นศูนย์กลางความเจริญต่าง ๆ เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมนับตั้งแต่ก่อตั้งเมืองขึ้น โดยมีชาวบ้านที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยมี 3 กลุ่ม คือ ชาวจีน ชาวไทย ชาวมลายู โดยพบชาวไทยได้ตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิมก่อนมีการย้ายศูนย์กลางความเจริญมาสมทบเพราะพื้นที่ตั้งเหมาะแก่การทำการเกษตร ทำให้ในพื้นที่จึงมีวัดโบราณตั้งอยู่เป็นโบราณสถานถึงปัจจุบัน

กลุ่มต่อมาที่เข้ามาอยู่บริเวณนี้คือ ชาวจีน โดยได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการค้าขายเพราะมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมีเป็นเมืองท่าเหมาะต่อการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าจึงอพยพเข้ามาอยู่อาศัยตั้งอาคารเรือนไม้ค้าขายในพื้นที่ มีการทำถนนนครในสัญจร โดยในบริเวณเขตถนนนครในจะเป็นที่ตั้งอยู่อาศัยของจีนจำนวนมาก

กลุ่มสุดท้ายที่เข้ามา คือ ชาวมุสลิมที่เข้ามาลงหลักปักฐานในช่วงหลังจากที่มีการย้ายศูนย์กลางการปกครองเมือง กล่าวว่าชุมชนนี้หลังการย้ายจุดศูนย์กลางได้เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะการค้ามีการติดต่อค้าขายกับชาติต่าง ๆ โดยพ่อค้าชาวจีนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างเป็นตัวแทนการค้าที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนนี้เฟื่องฟูจนถึงขีดสุด 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเมืองช่วงรัชกาลที่ 5 พบว่าภายในพื้นที่เมืองเก่าได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและเป็นศูนย์กลางบัญชาการมณฑลนครศรีธรรมราช ทำให้มีการสร้างที่ทำการราชการต่าง ๆ ขึ้นในเมือง อีกทั้งจัดระเบียบและปรับปรุงสภาพแวดล้อม ซึ่งการปรับปรุงที่เด่นชัดคือในช่วงเวลานี้คือ การรื้อกำแพงเมืองและป้อมปราการเมืองที่สร้างล้อมเมืองตั้งแต่ช่วงย้ายศูนย์กลางอำนาจ โดยกำแพงเมืองที่ถูกรื้ออถอนลงไปส่วนใหญ่เป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันตก ภายหลังการรื้อตรงพื้นที่แนวกำแพงเมืองได้กลายเป็นถนนนครนอกวิ่งขนานกับแนวของถนนนครในที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ยังมีการตัดถนนใหญ่ที่สามารถใช้รถได้ทั้งนอกเมืองกว่า 200 เส้น ช่วงเวลานี้จึงกล่าวได้ว่าพื้นที่เมืองเก่าสงขลานอกจากเป็นศูนย์กลางทางการค้าแล้วยังเป็นศูนย์กลางราชการและยังเป็นชุมทางการสัญจรที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้ากับเมืองสำคัญในบริเวณใกล้เคียง ทำให้พื้นที่มีความเจริญอย่างมาก แม้ว่าต่อมาการค้าทางน้ำจะเปลี่ยนมาเป็นการค้าทางบกพื้นที่นี้ก็ยังคงเจริญส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีพื้นที่ศูนย์กลางอื่น เศรษฐกิจอื่นเจริญเท่าพื้นที่นี้ ยิ่งเมื่อต่อมามีการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟเมืองสงขลา พ.ศ. 2452 การค้าพื้นที่นี้ก็ยิ่งรุ่งเรืองเกิดการสร้างท่าเรือ เพื่อเชื่อมต่อกับรางรถไฟขนส่งสินค้า อีกทั้งยังเกิดโรงงาน โรงสีขนาดใหญ่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีความเจริญของพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาได้เข้าสู่ช่วงซบเซาลงหลังการเจริญขึ้นของเมืองหาดใหญ่ โดยพื้นที่อำเภอหาดใหญ่มีการพัฒนาหลาย ๆ ด้านทั้งคมนาคม การเกิดชุมทางรถไฟและการพัฒนาสาธารณูปโภคจนทำให้พื้นที่นี้เจริญขึ้น ความเจริญของหาดใหญ่ประกอบกับการยกเลิกการขนส่งทางรถไฟในเขตเมืองสงขลาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2521 ทำให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจและคมนาคมถูกย้ายไปอยู่ที่หาดใหญ่แทนเมืองสงขลา เมืองสงขลาจึงถูกลดบทบาททางเศรษฐกิจลง ผู้คนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่พื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาเริ่มออกจากพื้นที่ไปสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่เจริญกว่าอย่างหาดใหญ่ นอกจากนี้ชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวยสามารถส่งบุตรหลานเรียนได้สูงเมื่อบุตรหลานเรียนจบคนเหล่านี้ก็จะทำงานนอกพื้นที่ไม่กลับมาสงขลาทำให้ประชากรใหม่ ๆ ลดลง บางครอบครัวย้ายออกไปพร้อมบุตรหลาน พื้นที่นี้จึงเข้าสู่ความเงียบเหงาบ้านถูกทิ้งทรุดโทรม

ต่อมาชุมชนนี้เปลี่ยนจากย่านเศรษฐกิจเป็นย่านการทำประมงทำให้มีกิจการขนส่งบรรทุกขนาดใหญ่ทุกวัน ส่งผลให้ย่านเก่าทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดทั้งมวลปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้พื้นที่บริเวณเมืองสงขลาที่เคยรุ่งเรืองจึงซบเซาไม่คักคักและเข้าสู่ความเงียบพร้อม ๆ กับเข้าสู่ความทรุดโทรม ผู้คนย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่ค้าขายสินค้าชาวจีน

หลังการซบเซาของเมืองเก่าสงขลาในช่วงนับแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ได้มีการพยายามอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่นี้ให้กลับมาอีกครั้งด้วยการร่วมแรงใจของคนในพื้นที่ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยมีการพยายามร่วมกับคนในชุมชนฟื้นฟูและเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมทำให้ในปัจจุบันภายในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาจึงมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่นี้

บริเวณย่านเมืองเก่าสงขลาอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ถนนนครนอก ถนนนครใน ถนนนางงามและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีเนื้อที่ประมาณ 141,626.40 ตารางเมตร ทั้งนี้พื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลายังตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ่อยางที่มีลักษณะเป็นแหลมอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับฝั่งทะเลอ่าวไทยพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบ โดยมีริมฝั่งทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่เหมาะแก่การจอดเรือ เนื่องจากคลื่นลมสงบและลักษณะของชายฝั่งไม่ลาดชันทำให้ในอดีตพื้นที่นี้จึงเจริญเพราะเรือสามารถจอดติดต่อค้าขายได้ง่ายทำให้มีเรือจำนวนมากบริเวณนี้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ถนนสงขลาบุรี
  • ทิศใต้ ติดกับ ถนนพัทลุง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนไทรบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลสาบสงขลา

ภายในเมืองเก่าสงขลาในอดีตเคยมีกำแพงเมืองซึ่งสร้างขึ้นช่วงรัชกาลที่ 3 แต่ต่อมาหลังการปฎิรูปการปกครองได้มีการปรับปรุงและขยายพื้นที่ได้รื้อถอดกำแพงเมืองออกไปเพื่อปรับภูมิทัศน์ใหม่ โดยแนวกำแพงฝั่งติดชายทะเลถูกรื้อแล้วนำมาถมถนนเกิดเป็นถนนนครนอก ทั้งนี้ในอดีตพื้นที่นี้มีทั้งชาวไทยและชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยและค้าขาย ทำให้กายภาพโดยรอบของชุมชนจึงมีรูปแบบอาคารบ้านเรือนตึกแถวโบราณรอบเมืองแตกต่างรูปแบบทั้งไทยและจีน ประกอบกับพื้นที่นี้มีการเข้ามาของชาวต่างชาติติดต่อค้าขายทำให้ได้รับรูปแบบสถาปัตยกรรมเข้ามาผสมผสานเกิดกลุ่มอาคารที่มีการผสมทางสถาปัตยกรรม โดยรอบชุมชนจึงเห็นอาคารบ้านเรือนหลากหลายแบบ เช่น อาคารแบบไทย อาคารแบบจีน อาคารแบบชิโนโปรตุกีส เป็นต้น โดยอาคารเหล่านี้จะตั้งกระจายตามเส้นทางถนนภายในชุมชน

พื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลาจากข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 2,532 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,162 คน และ หญิง 1,370 คน มีจำนวนครัวเรือน 1,280 ครัวเรือน โดยในพื้นที่นี้ตั้งแต่อดีตมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรมสามเชื้อชาติ คือ ไทย จีน มุสลิม ทำให้พื้นที่เมืองมีสถาปัตยกรรมหลากหลาย แต่ในชุมชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักพบว่าเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยเป็นส่วนมากของชุมชน อาชีพส่วนใหญ่ของผู้คนในชุมชนย่านเมืองเก่าคือการค้าขายและการทำประมง

จีน

ภาคีคนรักเมืองสงขลา กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 จากการที่เล็งเห็นว่าเมืองสงขลาเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่ความเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คนหลากหลายอาชีพที่เป็นผู้มีจิตสำนึกรักท้องถิ่นต้องการรักษาอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตภายใต้ชื่อภาคีคนรักเมืองสงขลา โดยกลุ่มนี้จะทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนฟื้นฟูและรักษาเมืองเก่าสงขลาอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ.2556 กลุ่มนี้ได้จดทะเบียนเป็นทางการ โดยสำนักงานกลุ่มนี้ตั้งอยู่ที่อาคารสีแดง หับ โห้ หิ้น ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ในเมืองเก่าสงขลา หน้าที่หลักของกลุ่มนี้คือ รวบรวม รักษา และเผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลา เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองเก่าสงขลา ร่วมกันควบคุม คัดค้านและผลักดันไม่ให้มีการทำลายคุณค่าและบรรยากาศของเมืองเก่า พร้อมทั้งปลุกชีวิตชีวาของเมืองเก่าสงขลาส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า เป็นตัวกลางสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุนกระบวนการที่จะนำเมืองสงขลาสู่มรดกโลกกลุ่มนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองสงขลาถูกฟื้นฟูได้ในปัจจุบัน

พื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการเข้ามาอยู่ของทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนที่อยู่หนาแน่นในพื้นที่ ทำให้พื้นที่นี้มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีสมโภชเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนานของคนในพื้นที่โดยเฉพาะชาวจีน โดยการจัดงานฉลองสมโภชเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาเมื่อถึงวันคล้ายวันประสูติของเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งตรงกับวันที่ 27 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน โดยสถานที่หลักสำหรับจัดประเพณีนี้จะอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถนนนางงาม ในงานจะมีขบวนแห่พระรอบเมือง ซึ่งพระเปรียบเสมือนองค์เจ้าพ่อหลักเมืองที่เสด็จเยี่ยมประชาชน นอกจากนี้ยังมีองค์เทพในขบวนแห่เพื่อเป็นการอำนวยอวยพรประชาชนต่าง ๆ ทั้งนี้ระหว่างขบวนแห่ประชาชนที่อยู่ตามทางผ่านของขบวนจะตั้งโต๊ะหมู่บูชาหน้าบ้าน เมื่อขบวนแห่มาถึงหน้าบ้านก็จะจุดธูปเทียนและประทัดรับขบวนเมื่อขบวนผ่านไปก็จะเผากระดาษเงินทองส่งเทพเจ้า ทั้งนี้ในงานประเพณีนี้ยังมีกิจกรรมอีกหลายประการที่เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่คนในชุมชน

ประเพณีลากพระ (ชักพระ) เป็นประเพณีสำคัญที่ถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณในเทศกาลออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11โดยแต่ละวัดได้ตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม 2 ค่ำ เดือน 11 จึงลากพระกลับวัด ปฏิบัติตามความเชื่อว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่ แหน ซึ่งสิ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในประเพณีชักพระ คือ เรือพระ ซึ่งเป็นรถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นเรือ

เทศกาลตรุษจีน เทศกาลนี้สำคัญมากกับชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ โดยก่อนวันตรุษจีนจะพบชาวจีนเริ่มทำความสะอาดบ้านประดับตกแต่งบ้านสวยงาม เทศกาลนี้ชาวจีนจะทำการประกอบพิธีเซ่นไหว้เจ้าครัวไฟ ของเซ่นจะเป็นอาหารคาวหวานหน้าเตาไฟ จากนั้นจุดธูปอัญเชิญเจ้ามารับของไหว้ในตอนเช้าของวันสิ้นปีที่เป็นวันไหว้ ชาวจีนจะไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าหรือศาลหลักเมืองที่ตนเองนับถือ มีการถวายของเซ่นไหว้เทพพระเจ้าที่ศาลเจ้านั้น ๆ เมื่อกลับบ้านจะไหว้พระภูมิเจ้าที่ จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายจะเผากระดาษเงินกระดาษทองและจุดประทัดหน้าบ้านเป็นอันเสร็จ

เทศกาลเช็งเม็ง เทศกาลนี้สำคัญกับคนในชุมชนมากเพราะผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนที่สืบทอดตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ตั้งแต่การเกิดขึ้นของสงขลาบ่อยาง ผู้คนในพื้นที่มักจะสำนึกรักและกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตนอย่างมาก โดยเทศกาลนี้ลูกหลานชาวจีนในพื้นที่พากันไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย มีการเซ่นไหว้แป๊ะก๋งผู้ดูแลสุสานและไหว้บรรพบุรุษ มีการทำความสะอาดพื้นที่ฝังศพโดยรอบ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วบางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อเพื่อแสดงความสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ ก่อนกลับจะจุดประทัดเพื่อเป็นการบอกลาบรรพบุรุษและแป๊ะก๋ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

รูปแบบอาคารบ้านเรือน ภายในเมืองเก่าสงขลามีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เลย คือ กลุ่มอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ภายในชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา กลุ่มอาคารเหล่านี้บ่งบอกได้ถึงปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในชุมชนในอดีต โดยกลุ่มอาคารที่พบในชุมชนมีลักษณะส่วนใหญ่แบ่งตามรูปแบบวัฒนธรรมจากชนชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและจากการติดต่อค้าขาย ทำให้ที่นี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายดังนี้

1. แบบไทย รูปแบบอาคารแบบไทย มีมาตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มบ่อยางช่วงรัชกาลที่ 3 โดยรูปแบบลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมนี้คือหลังคาจั่วหรือมนิลา มีความลาดชันประมาณ 60 องศาขึ้นไปเพื่อป้องกันน้ำรั่ว ในสมัยแรกอาคารเหล่านี้จะมุงด้วยจากต่อมาจะเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องดินเผาที่มาจากเกาะยอ ส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้มีชั้นเดียว ส่วนโครงสร้างเป็นเสากับคานไม้มีกันสาดด้านหน้าและหลังบานประตูมักเป็นบานเฟี๊ยม มีช่องแสงเหนือบานประตู อาคารแบบไทยมักไม่ค่อยมีการประดับประดา

2. แบบจีน ด้วยพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่ามักเป็นที่อยู่อาศัยส่วนมากของชาวจีนนับตั้งแต่ย้ายศูนย์กลาง คนจีนจึงถือเป็นส่วนมากของชุมชนเพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งค้าขายสำคัญในอดีตชาวจีนต่างเข้ามาค้าขายอย่างหนาแน่น ทำให้อาคารบ้านเรือนจีนมีหลากหลายลักษณะ โดยแบ่งออกเป็น

  • แบบจีนดั้งเดิม เป็นกลุ่มอาคารที่มีมาตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง พ.ศ. 2379 เป็นต้นมา โดยมักเป็นกลุ่มอาคารกลุ่มใหญ่ สร้างติดแนวถนน อาคารมักมีความยาวประมาณ 30-40 เมตร มีพื้นที่ค้าขายด้านหน้า กลางบ้านจะมีการช่องเปิดโล่งเป็นบ่อน้ำและซักล้าง ส่วนพื้นที่อาคารด้านหลังเป็นที่พักอาศัย โดยอาคารมีทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น ผนังเป็นการก่ออิฐฉาบปูน โครงสร้างเป็นกำแพงรับน้ำหนัก โครงสร้างหลังคาเป็นไม้มุงกระเบื้องดินเผาโค้งแบบจีน หน้าต่างเป็นช่องเปิดทำด้วยไม้ขนาดเล็กและแคบ ไม่นิยมทำกันสาด อาคารอาจมีลวดลายประดับประดาบ้างในลักษณะปูนปั้นเขียนสีตามหลังคา สันหลังคา เชิงชายและช่องเปิด อาคารเหล่านี้พบมากตอนกลางถนนนครในและจุดตัดบนถนนนครนอก
  • แบบจีนพาณิชย์ เป็นกลุ่มอาคารจีนที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาผสมเกิดความเป็นสากลมากขึ้นแต่ก็ยังคงลักษณะและองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบจีนอยู่ โดยอาคารเหล่านี้มักสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2420 เป็นต้นมา อาคารเหล่านี้มีลักษณะเด่น คือ จะมีแผงบังหลังคา อาจมีหลังคาจั่วหรือปั้นหยาซ้อนอยู่และอาจมีหลังคาแบบแบนก็ได้ มักมีชั้นตั้งแต่ 2-4 ชั้นโครงสร้างเป็นเสาและคานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการตกแต่งประดับประดา มักมีประตูอยู่ตรงกลางอาคาร ทั้งนี้หน้าตาอาคารมักรูปแบบแข็งกร้าวแต่สมมาตร อาคารเหล่านี้พบมากบนถนนนครนอก
  • แบบจีนสมัยใหม่ เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างในช่วงนับตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา โดยรูปแบบนี้จะมี 2 ลักษณะ คือลักษณะแบบแรกจะเป็นอาคารที่ก่อสร้างใหม่โดยยังกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมีความสูง 1-2 ชั้น หน้าตาจะคล้ายจีนดั้งเดิมแต่ประยุกต์ให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุหลังคา บางหลังอาจมีแผงบังหนังคาเพิ่มเข้ามา ส่วนรูปแบบลักษณะที่สองเป็นอาคารเก่าแบบจีนดั้งเดิมแต่นำมาปรับปรุงใหม่ โดยจะเป็นการใช้วัสดุใหม่มาผสมกับโครงสร้างของเดิม เช่น อาจเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องลอน มีการทาสีและตกแต่งใหม่แต่ส่วนใหญ่ยังคงภาพลักษณ์จีนไว้ อาคารเหล่านี้พบมากในถนนนครใน

3. แบบชิโนโปรตุกีส เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกโดยเฉพาะโปรตุเกสเข้ามาผสมผสานกับอิทธิพลจีน โดยลักษณะอาคารนี้เริ่มเกิดขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ 3 และเด่นชัดมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 อาคารนี้ได้รับรูปแบบมาจากปีนังและสิงคโปร์จากการติดต่อทางการค้าของคนในพื้นที่ โดยลักษณะอาคารจะสร้างชิดถนน บางอาคารจะมีทางเดินหน้าอาคาร ส่วนภายในจะมีช่องโล่งสำหรับบ่อน้ำและซักล้างคล้ายจีน อาคารส่วนใหญ่ช่วงแรกมักมี 2 ชั้น ในช่วงหลังจะเป็น 3 ชั้น ส่วนด้านโครงสร้างมีการใช้อิฐก่อสร้างแบบจีน ในสมัยแรกโครงสร้างมีกำแพงรับน้ำหนักช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็นโครงสร้างเสาและคาน คสล.ในส่วนหลังคาเป็นทรงจั่วแบบจีน ส่วนการมุงหลังคามักใช้วัสดุกระเบื้องดินเผา เช่น กระเบื้องกาบกล้วยแบบจีนหรืออาจใช้กระเบื้องแบบเกาะยอ หน้าต่างส่วนใหญ่เป็นบานเกล็ดไม้เปิดยาวถึงพื้นช่วงหลังรูปแบบอาคารจะมีการเพิ่มระเบียงกันสาดและแผงบังหลังคาและเน้นลวดลายประดับในช่องเปิดและมีการประดับลายปูนปั้นในส่วนช่องเจาะ หัวเสา ระเบียง ค้ำยัน ในลักษระลวดลายตะวันตก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยแต่เดิมพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งเศรษฐกิจศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่ติดต่อการค้ากับพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงกับพื้นที่ภายนอกมากมาย ทั้งนี้การที่เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งเศรษฐกิจเพราะสมัยก่อนผู้คนใช้เส้นทางทางทะเลเป็นหลักในการค้าขายและขนส่งสินค้า ซึ่งพื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเพราะติดทะเลสาบสงขลาและมีลักษณะของชายฝั่งไม่ลาดชัน เรือสามารถจอดซื้อขายหรือขนส่งได้ง่ายพื้นที่นี้จึงเจริญอย่างมากทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่จึงมีผู้คนโดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและร้านค้าขายสินค้าในบริเวณนี้จำนวนมาก ทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยอาคารหรือสิ่งก่อสร้างของจีนมีศาลเจ้าภายในชุมชน

ทั้งนี้แม้ว่าต่อมาความเจริญแบบสมัยใหม่ได้เข้ามาโดยการขนส่งสินค้าหลักจะเปลี่ยนมาเป็นทางบกแต่ในพื้นที่นี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะในพื้นที่ได้มีสถานีรถไฟเมืองสงขลาที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 ทำให้มีรถไฟเข้าถึงพื้นที่อันทำให้เศรษฐกิจภายในพื้นที่นี้จึงยังไม่ซบเซาลงไป ประกอบกับส่วนหนึ่งการเจริญของพื้นที่นี้คือการที่ยังไม่มีแหล่งเศรษฐกิจอื่นเป็นคู่แข่งได้ยังคงเป็นพื้นที่ที่เจริญที่สุดอยู่ ดังนั้นการค้าขายพื้นที่นี้จึงยังเจริญรุ่งเรืองมาก มีโรงงานของชาวจีนเกิดขึ้นหนาแน่นการค้าคึกคักภายในเมือง

อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นเมื่อศูนย์กลางเศรษฐกิจอื่นเริ่มเข้มแข็งและเข้ามาเป็นคู่แข่งประกอบกับสถานีรถไฟเมืองสงขลาได้ถูกปิดลงไปทำให้การค้าต่า งๆ ของบริเวณมืองเก่าสงขลาเริ่มซบเซาและค่อยหมดความสำคัญทางเศรษฐกิจลงไป โดยพบว่าบริเวณพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแทนที่เมืองสงขลา

อำเภอหาดใหญ่กล่าวได้ว่าได้มีการพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการพัฒนาระบบทางหลวงและระบบไปรษณีย์โทรเลข และที่สำคัญคือพื้นที่นี้มีการสร้างทางรถไฟและชุมทางรถไฟหาดใหญ่ในปี พ.ศ.2460 เชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ กับจังหวัดภายในภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ดังนั้นเมื่อต่อมาสถานีรถไฟสงขลาได้ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2521 ทำให้พื้นที่เมืองสงขลาจึงถูกลดบทบาททางเศรษฐกิจลง การขนส่งสินค้าไม่สะดวกเท่าพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ อีกทั้งผู้คนก็เข้ามาในพื้นที่น้อยลง บริการสมัยใหม่ต่าง ๆ ก็ไม่เท่ากับที่มีในอำเภอหาดใหญ่ ดังนั้นผู้คนที่ค้าขายในเมืองสงขลาก็พบกับความซบเซาของเศรษฐกิจลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนที่เคยค้าขายก็ปิดร้านในพื้นที่เมืองสงขลาและย้ายไปสู่แหล่งความเจริญทางเศรษฐกิจใหม่อย่างพื้นที่หาดใหญ่ เมืองสงขลาจึงเข้าสู่ความเงียบและเปลี่ยนจากแหล่งเศรษฐกิจเป็นย่านการทำประมงนั่นเอง


การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากรในย่านเมืองสงขลา ส่วนแรกมาจากผลของการที่เศรษฐกิจในเมืองสงขลาซบเซาลงหลังการเจริญของอำเภอหาดใหญ่ ผู้คนพ่อค้าแม่ค้าโดยเฉพาะชาวจีนที่ทำการค้าขายในพื้นที่เมืองสงขลาต่างอพยพเคลื่อนย้ายออกไปค้าขายในพื้นที่อื่นที่เจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างหาดใหญ่และกรุงเทพฯ ส่งผลให้ร้านค้าถูกปิดจำนวนมากและถูกปล่อยเช่าเป็นที่พักอาศัย

อีกส่วนหนึ่งของประชากรที่เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่คือ ลูกหลานชาวจีนที่ได้รับการศึกษา โดยกลุ่มนี้จะเป็นลูกหลานของชาวจีนที่มีกำลังทรัพย์ได้รับการศึกษาที่สูงโดยอาจถูกส่งไปเรียนที่ปีนังหรือกรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาแล้วก็มักจะทำงานต่อในต่างประเทศ กรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่เจริญและมีงานรองรับและไม่กลับมาใช้ชีวิตที่สงขลาอีกโดยบางส่วนครอบครัวย้ายถิ่นฐานตาม ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ประชากรที่มีลดจำนวนลงชาวจีนค้าขายและลูกหลานชาวจีนในพื้นที่มักย้ายออกจากพื้นที่ไปสู่พื้นที่ที่เจริญกว่า เมืองสงขลาจึงเงียบเหงาลงนับแต่ช่วงการซบเซาลงของเศรษฐกิจ


สภาพแวดล้อมของเมืองสงขลาที่ทรุดโทรมหลังการเคลื่อนย้ายออกไปของผู้คนค้าขายโดยเฉพาะชาวจีน ชาวจีนส่วนหนึ่งไม่ได้ปล่อยพื้นที่ดินเดิมในเมืองสงขลาขายทอดต่อ เพราะด้วยความเชื่อที่ว่าหากขายที่ดินหรือที่อยู่อาศัยแก่ผู้อื่นจะเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษ แต่ด้วยไม่ได้เข้าอยู่อาศัยทำให้บางอาคารร้าง บางอาคารแปรสภาพเป็นที่เก็บของหรือบางอาคารปล่อยให้เช่าแต่ไม่มีการปรับปรุงเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการลงทุนซ่อมแซม ทำให้อาคารต่าง ๆ ในย่านเมืองเก่าสงขลาทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก

ส่วนผู้ที่ขายต่อก็มักขายให้แก่อุตสาหกรรมทำประมงไม่ได้สนใจดูแลอาคารบ้านเรือนรูปแบบเดิมจึงทรุดโทรมลง บางส่วนถูกรื้อถอนไป โดยรวมบ้านเรือนเมืองสงขลาก่อนการฟื้นฟูมักเก่าและทรุดโทรมไร้การดูแลรักษาสภาพของบ้านเรือนแบบเดิมไว้ ทั้งนี้ความทรุดโทรมของพื้นที่ยังเกี่ยวข้องกับการที่เมืองสงขลาเปลี่ยนจากย่านเศรษฐกิจเป็นย่านการทำประมง เพราะหลังการที่ย่านนี้เปลี่ยนมาทำประมงได้นำไปสู่การที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าออกพื้นที่ทุกวันถนนหนทางเสียหาย ส่งผลให้ยิ่งเร่งแก่การทรุดโทรมของพื้นที่มากยิ่งขึ้น ดังนั้นจากปัญหาต่าง ๆ หลังการซบเซาลงของเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมย่านเก่าสงขลาเข้าสู่สภาพเสื่อมและทรุดโทรมอย่างมาก

จากการซบเซาและทรุดโทรมของพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาของผู้คนที่มีจิตสำนึกรักท้องถิ่นที่ต้องการรักษามรดกของเมืองและต้องการฟื้นฟูที่ชุมชนที่เก่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผู้คนเหล่านี้รวมตัวจากหลากหลายอาชีพภายใต้ชื่อ “ภาคีคนรักเมืองสงขลา” โดยเข้ามาดูแลฟื้นฟูและรักษาพื้นที่ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษา โดยมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้พื้นที่เมืองเก่าเกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการรักษาพื้นที่รูปแบบสถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้ การรักษาสภาพแวดล้อม การซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ และการกระตุ้นให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของชุมชน การดำเนินต่าง ๆ ของกลุ่มนี้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันศึกษาได้ทำให้ในปัจจุบันพื้นที่เมืองเก่าสงขลาเริ่มกลับมาสวยงามและเจริญคึกคักอีกครั้ง ทั้งการฟื้นฟูยังทำให้ในพื้นที่มีสถานที่และการทำกิจกรรมต่าง ๆ รองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมในชุมชนย่านเมืองเก่า ดังนั้นพื้นที่ย่านเก่าสงขลาจึงกลายเป็นพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคใต้แห่งหนึ่งนั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิรศักดิ์ เพ็ญมาศ. (2558). การปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสายวัฒนธรรมเมืองสงขลาเพื่อการท่องเที่ยว. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ตะวัน ตนยะแหละ และสายใจ เบ็ญโส๊ะ. (2563). การสร้างสรรค์ลวดลายและผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสู่ชุมชนผ่านวิถีเมืองเก่าจังหวัดสงขลา. (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

ธนธรณ์ ก้งเส้ง. (2563). การศึกษาบริบทเมืองเก่าสงขลา บ่อยาง สู่การสร้างสรรค์ศิลปะจัดวางในพื้นที่ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นวัทตกร อุมาศิลป์และณัฐชนา นวลยัง. (2563). การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา. (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

คมชัดลึก. (2560). เล่าเรื่องเมืองเก่าสงขลา ตระการตาสมโภช 174 ปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.komchadluek.net/

วชญานุตม์ ถาวโรฤทธิ์. (2560). การศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา. วิทยานิพนธ์การวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อมมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศราวัสดี นวกัณห์วรกุล. (2562). แนวทางการพัฒนาประสบการณ์ร่วมทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเก่าสงขลาและเมืองจอร์จทาวน์. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศุภชัย ชูศรี. (2556). พัฒนาการของการจัดองค์ประกอบระดับเมืองในเขตเมืองเก่าสงขลาปี พ.ศ. 2379 -2483. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศุภชัย ชูศรี. (2560). กำเนิดและพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานบริเวณเขตชุมชนชาวจีนในเมืองเก่าสงขลา. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 29(2), 13-36.

สวรรษ์พร อุดมรัตน์. (2556). รูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตเมืองเก่าสงขลา. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สุนิสา มุนิเมธีและเก็ตถวา บุญปราการ. (2556). พื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา: การทำสถาปัตยกรรมให้กลายเป็นสินค้า ภายใต้บริบทการท่องเที่ยว. ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการประชุมหาดใหญ่วิชาการครั้งที่ 4. (น. 53-64). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

สุภาวดี เชื้อพราหมณ์. (2546). ตึกแถว ผลผลิตทางกายภาพและวัฒนธรรมในชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อนุสรณ์ กำบัง. (2546). ห้องแถวเมืองสงขลา : รูปแบบ องค์ประกอบและพัฒนาการ (พ.ศ.2385-2504). วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อริสา สายศรีโกศล. (2565). ย่านเมืองเก่าสงขลา: มิติของการจัดการชุมชน สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. วารสารบัณฑิตแสงโคมคำ, 7(3), 578-598.

Sakura Pink. (2565). The Beautiful Chapter of Songkhla สงขลา เสน่ห์เมืองเก่าสิงหนคร. ค้นจาก https://myworld-online.com/