ธรรมาสน์เสาเดียว ศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน และมรดกภูมิปัญญาของชาวผู้ไท
ธรรมาสน์เสาเดียว ศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน และมรดกภูมิปัญญาของชาวผู้ไท
บ้านหนองบัวทอง ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวผู้ไทที่คาดว่าแยกออกมาจากตำบลบัวขาว เมื่อปี พ.ศ. 2525 และแบ่งเขตบ้านหนองบัวทองไปขึ้นกับตำบลสมสะอาด
“ชาวผู้ไท” จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทมีถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไท ประเทศเวียดนาม ก่อนเดินทางเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศลาว และประเทศไทยตามลำดับ การอพยพของชาวผู้ไทเข้ามายังประเทศไทยนั้นมี 3 ระลอกใหญ่ ครั้งแรกในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้งที่สองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตกและจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งกลับมายังกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2335-2338 กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถง และเมืองพวน ซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนผู้ไทดำ และลาวพวนส่งมาเป็นเชลยที่กรุงเทพฯ โดยมีรับสั่งให้ชาวผู้ไทกลุ่มดังกล่าวไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรี การอพยพครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของชาวผู้ไท เมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อสยาม เมื่อราชอาณาจักรสยามส่งทหารไปปราบปรามจนเหตุการณ์สงครามสงบลง ได้มีนโยบายอพยพชาวผู้ไทจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาที่ไทย เพื่อตัดกำลังทหารฝั่งเวียงจันทน์ โดยเข้ามาอาศัยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เช่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครพยม เป็นต้น ต่อมามีการแยกกลุ่มเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยครั้ง ด้วยเหตุผลทางความเชื่อ สภาพแวดล้อม และสถานที่ทำกิน ซึ่งชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองบัวทอง ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านหนองบัวทอง อำภอกุฉินารายณ์ มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ดินค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับปานกลางเหมาะสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ชุมชนถูกล้อมรอบไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีสถานที่สำคัญประจำชุมชน
วัดบ้านหนองบัวทอง
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ศาสนสถานสำคัญของชาวชุมชนบ้านหนองบัวทอง อำเภอกุฉินารายณ์ สำหรับใช้ประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระโอกาสต่าง ๆ ที่ชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองจัดขึ้น ภายในวัดมีกุฏิซึ่งเป็นอาคารตึกไม้ครึ่งหลัง และศาลาการเปรียญที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์เสาเดียวบ้านหนองบัวทอง
ประชากรชุมชนผู้ไทบ้านหนองบัวทอง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ข้อมูลเมื่อปี 2555 ระบุว่ามีประชากรทั้งสิ้น 409 คน แยกเป็นประชากรชาย 211 คน และประชากรหญิง 198 คน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวผู้ไท มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาปะปนเล็กน้อย เช่น ชาวไทอีสาน แต่นับเป็นจำนวนน้อยมาก เนื่องจากชาวผู้ไทมีการปลูกฝังค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่นว่าควรแต่งงานกับชาวผู้ไทด้วยกันเท่านั้น
ผู้ไทชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองบัวทองมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยมีอาชีพหลักคือการทำนา ในแต่ละปีเกษตรกรบ้านหนองบัวทองจะทำนาปีละ 1-2 ครั้ง คือนาปีและนาปรัง ตามแต่ความต้องการ ผลผลิตข้าวที่ได้จากการทำนาจะเก็บใส่ยุ้งฉางไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี และอีกส่วนหนึ่งจะแยกออกไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โดยแรงงานที่ใช้ในการทำนาคือแรงงานจากเครือญาติหมุนเวียนช่วยเหลือกัน และอาจมีการจ้างแรงงานเสริมบ้างในบางครั้ง ข้าวที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวจ้าว ส่วนอาชีพเสริมของชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองคือการทำไร่ในฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำนา พืชไร่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง หน่อไม้ฝรั่ง และถั่วลิสง นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ เป็ด ไก่ และสุกรเพื่อจำหน่ายและบริโภค โดยเลี้ยงไว้ในพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและพื้นที่ไร่นา
อนึ่ง ชาวบ้านในชุมชนมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพหนึ่ง โดยใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรมารับจ้าง ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางคนก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลักเนื่องจากไม่มีที่นาและพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม
นอกจากการทำนา ทำไร่ และรับจ้างแล้ว อาชีพค้าขายก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมของชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองบัวทอง โดยเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน สินค้าที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรจำพวกพืชผักสวนครัว เนื้อสัตว์ เช่น พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วฝักยาว เป็ด ไก่ สุกร และของป่า เป็นต้น
ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านหนองบัวทองประกอบอาชีพเกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ เป็นหลัก ฉะนั้น วิถีชีวิตของชาวชุมชนหนองบัวทองจึงดำเนินไปกับการดูแลพืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ มีคติความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไท สืบทอดขนบธรรมเนียมฮีตสิบสองคองสิบสี่ นับถือพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทุกปีชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองจะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนผ่านการแสดงออกในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนอันอยู่บนฐานความเชื่อ และความศรัทธาของคนในชุมชนต่ออำนาจหรือสิ่งอื่นใดที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองบัวทองมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา และวันอัฐมีบูชา ประเพณีพิธีกรรมของชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณีพิธีกรรมของชาวไทอีสานทั่วไป คือ การยึดถือฮีตสิบสองและคองสิบสี่ การประกอบประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้นับเป็นวาระโอกาสอันดีที่ทำให้สมาชิกในชุมชนได้มาร่วมชุมนุมกัน ประเพณีสิบสองเดือนหรือ ฮีตสิบสองของชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทอง มีดังนี้
- เดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม : เป็นพิธีกรรมที่พระสงฆ์ผู้กระทำความผิดจะได้สารภาพความผิดต่อหน้าคณะสงฆ์ และสำนึกในความผิดของตน
- เดือนยี่ บุญคูณลาน : พิธีกรรมการทำขวัญข้าวหลังนำข้าวขึ้นยุ้ง โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์และทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ จะเข้าสู่ช่วงของการประพรมน้ำมนต์ไปตามกองข้าว วัว ควาย อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำการเกษตรเพื่อความเป็นสิริมงคล
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ : ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวและอุปกรณ์การทำข้าวจี่มารวมกันที่วัดเพื่อทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์
- เดือนสี่ บุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) : เป็นบุญใหญ่ประจำปีของชาวบ้านหนองบัวทอง โดยชาวบ้านจะร่วมกันกันหาปัจจัยเพื่อถวายอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ ห่อข้าวต้มมัด และฟังเทศน์มหาชาติร่วมกัน
- เดือนห้า บุญสงกรานต์ : ประเพณีที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บุญสงกรานต์นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบุญรวมญาติก็ได้ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในรอบปี
- เดือนหก บุญบั้งไฟ : บุญบั้งไฟจะไม่มีการกำหนดวันแน่นนอน แต่จะทำการกำหนดวันขึ้นใหม่ในปีที่จะจัดงาน แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้โดยทั่วกัน ในการเข้าร่วมงานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวผู้ไท นับเป็นงานประเพณีที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี
- เดือนเจ็ด บุญซำฮะ หรือบุญชำระ : งานบุญซำฮะคือการชำระล้างจิตใจให้สะอาดก่อนเข้าพรรษา มีการทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ และทำบุญที่ดินผีปู่ตาให้คุ้มครองหมู่บ้านและคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความวุ่นวาย ประเพณีบุญซำฮะหรือการเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประเพณีที่มีความสำคัญกับชาวบ้านหนองบัวทองเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองมีความเชื่อว่าผีปู่ตาคือผู้ดูแลคุ้มครองหมู่บ้านและคนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความวุ่นวาย การไหว้ปู่ตาจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีเฒ่าจ้ำประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม
- เดือนแปด เข้าพรรษา : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ และเวียนเทียนรอบศาลาวัด
- เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน : คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ภูตผีไร้ญาติ โดยการนำอาหารใส่กระทงวางไว้ตามโคนไม้หรือชายคาบ้าน เพื่อไม่ให้ภูตผีไร้ญาติมาทำร้ายบุตรหลาน
- เดือนสิบ บุญข้าวสาก : บุญข้าวสากหรือกระยาสารท เป็นประเพณีการทำบุญที่จะมีการเขียนสลากแจ้งของสำรับอาหารและเครื่องไทยทานไว้ในถาดอาหาร พระภิกษุรูปใดจับได้สลากสำรับใด ก็รับปัจจัยเครื่องไทยทานของเจ้าภาพผู้นั้น
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา : ถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อแสดงอาบัติต่อกัน จากนั้นจะทําวัตรและทําปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์ ส่วนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารไปทําบุญตักบาตรที่วัดในตอนรุ่งเข้า และถวายผ้าจํานําพรรษาแด่ภิกษุสามเณร ตอนค่ำมีการเวียนเทียน
- เดือนสิบสอง บุญกฐิน : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังออกพรรษาภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยการตั้งองค์กฐินไปทอดถวายที่วัด พร้อมสิ่งของปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์เทศน์ฉลองกฐิน 1 กัณฑ์ พร้อมให้ศีลให้พร
นอกจากฮีตสิบสองคองสิบสี่แล้ว ชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทองยังมีความเชื่อเรื่องอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย และเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี ชาวผู้ไทจะเดินทางไปหาหมอเหยาประจำหมู่บ้านเพื่อประกอบ “พิธีกรรมเหยา” หมอเหยาจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผีกับผู้ป่วย และถามไถ่ที่มาของอาการเจ็บป่วย หากผลปรากฏว่าผีเป็นผู้ดลบันดาล หมอเหยาจะให้ผู้ป่วยขอขมาผี และทำพิธีเรียกขวัญคืนกลับมาให้ ปัจจุบันพิธีกรรมเหยายังคงได้รับความนิยมอย่างมากจากคนในชุมชนชาวผู้ไทบ้านหนองบัวทอง และได้รับการปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่อดีต และเป็นประเพณีที่ปรากฏเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวผู้ไทเท่านั้น คือ “ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท” ชาวผู้ไทมีการปลูกฝังค่านิยมสำหรับบุตรหลานมาอย่างยาวนานว่าควรแต่งงานในหมู่ชาวผู้ไทด้วยกันเท่านั้น ไม่นิยมแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแต่งงานกับคนจากชาติพันธุ์อื่น เนื่องจากจะสามารถทราบได้ว่าผู้ที่จะมาเป็นเขยหรือสะใภ้เป็นลูกหลานครอบครัวใด มีฐานะ ที่นา อุปนิสัยอย่างไร ก่อนพิธีแต่งงานฝ่ายชายจะต้องสร้างเรือนหอ และจะยึดเอาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่เป็นวันแต่งงาน การแต่งงานของชาวผู้ไทจะมีคู่แต่งงานซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นสื่อกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” คู่บ่าวสาวจะนับถือพ่อล่ามแม่ล่ามเปรียบเสมือนพ่อแม่อีกคนหนึ่ง ยามชีวิตคู่เกิดการทะเลาะวิวาท พ่อล่ามแม่ล่ามจะทำหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือและเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ธรรมาสน์เสาเดียววัดบ้านหนองบัวทอง
ธรรมาสน์เสาเดียวเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวผู้ไท ธรรมาสน์เสาเดียวของชาวผู้ไทนั้นมีความแตกต่างจากธรรมาสน์ทั่วไปคือ มีเสาค้ำยันตัวเรือนธรรมาสน์เพียงเสาเดียวซึ่งทำมาจากเสาหลักกลางบ้าน สะท้อนถึงการผสมผสานรวมระหว่างพุทธศาสนากับการนับถือผี โดยการนำความเชื่อเรื่องหลักบ้านผนวกเข้ากับความเชื่อของศาสนาพุทธ อันเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวผู้ไท ตามคติของชาวผู้ไทเชื่อว่าหากผู้ใดสร้างธรรมาสน์นับเป็นการสร้างมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ผลบุญจะบันดาลให้ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คน และเมื่อเกิดชาติหน้าจะพบแต่ความสุขความเจริญ
ธรรมาสน์เสาเดียววัดบ้านหนองบัวทอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 โดยพระครูทา (ท่านเป็นชาวบ้านจุมจัง จึงเป็นที่สันนิษฐานว่าพระครูทาอาจเป็นผู้สร้างธรรมาสน์เสาเดียววัดจุมจังเหนือด้วยเช่นเดียวกัน) ปัจจุบันตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ (หอแจก) ซึ่งเป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง เสาธรรมาสน์ทำจากไม้แคนหรือไม้ตะเคียน เสาแบบเดิมปกติจะฝังเสาธรรมาสน์ลงดินทะลุพื้นศาลา แต่เมื่อเสาเดิมผุพังลงไปจึงได้มีการซ่อมแซมบูรณะเป็นเสาปูนคอนกรีตต่อฝังดินใหม่เพื่อป้องกันความชื้นและปลวกทำลาย ตัวเรือนธรรมาสน์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โครงสร้างตัวเรือนทำด้วยไม้จิก (ไม้เต็ง หรือไม้มุจลินทร์) ผนังตัวเรือนแกะสลักฉลุลายเครือเถาสอดประสานเป็นลายขัด ตกแต่งแต้มสีด้วยสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีขาวเป็นหลัก หลังคาเป็นทรงมณฑป 2 ชั้น มีเครื่องบนหลังคา ตกแต่งด้วยการแกะสลักและฉลุไม้เป็นลวดลายประยุกต์แต้มสี มุมหลังคาทุกชั้นแกะสลักรูปนาคติดปีกมีหงอนแต้มสีทองประจำทั้งสี่ทิศ บันไดทำด้วยไม้เนื้อแข็งธรรมดา แกะสลักรูปพญานาค 2 ตัว เป็นนาคเกี้ยวซ่อนศีรษะแนบกับลำตัวม้วนหางเกี้ยวมหาศีรษะ
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ลักษณะการแต่งกายของชาวผู้ไทนิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ผ้าทอมือ ผ้าเย็บมือ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าดำ สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ผู้ชายใส่เสื้อม่อฮ่อมสีคราม นุ่งกางเกงขาสั้น โสร่ง หรือผ้าขาวม้า
ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท และภาษาอีสาน
ภาษาเขียน : ชาวผู้ไทไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ฉะนั้นจึงใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาเขียน
คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.