Advance search

เวียงกาหลง

ป่าส้าน

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา เขตเมืองเก่าวัดเวียงกาหลง

หมู่ที่ 5
บ้านป่าส้าน
เวียงกาหลง
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
วีรวุฒิ ปากหวาน
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
เวียงกาหลง
ป่าส้าน

คำว่า "เวียงกาหลง" เป็นชื่อของเมืองเก่า ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณเขาดอยหลวง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เวียงก๋าหลง” ที่มาของชื่อสันนิษฐานว่ามาจากผังเมืองไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเช่นเดียวกับเมืองโบราณส่วนใหญ่ในภาคเหนือ คูเมืองและกำแพงดินขุดเป็นรูปคล้ายตัววีหรือปีกกา ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ กว้าง 18 เมตร ลึก 8.80 เมตร ยาว 3,350 เมตร กำแพงเป็นคันดินจากการขุดคูเมืองมาถมทั้งสองข้าง โดยชั้นในสูงกว่าชั้นนอก ไม่มีการใช้วัสดุอื่นเสริมความแข็งแรงของกำแพง ในเมืองมีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น ผู้ไม่ชำนาญเส้นทางจึงหลงทางได้ง่าย และเป็นที่มาของชื่อ “เวียงกาหลง”

ส่วนคำว่า "ป่าส้าน" เป็นชื่อท้องถิ่นของชุมชน มีที่มาจากบริเวณที่ตั้งนั้นมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีไม้ส้าน (เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ) ขึ้นหนาแน่น


ชุมชนชนบท

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา เขตเมืองเก่าวัดเวียงกาหลง

บ้านป่าส้าน
หมู่ที่ 5
เวียงกาหลง
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
57260
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-2917-6337, เทศบาลเวียงกาหลง โทร. 0-5370-4510
19.2087979
99.5403908
เทศบาลตำบลเวียงกาหลง

ประวัติความเป็นมาของบ้านป่าส้าน 

บ้านป่าส้านเป็นชุมชนเกษตรกรรม โดยชุมชนก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2420 โดยกลุ่มชาวบ้านอพยพมาจากบ้านถ้ำ บ้านขอ บ้านเอื้อม และบ้านแจ้ห่ม ในเขตจังหวัดลำปาง ชื่อของชุมชน มาจากบริเวณที่ตั้งนั้นมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีไม้ส้านขึ้นหนาแน่น หมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาระหว่างป่ากับพื้นราบ มีถนนตัดผ่านกลางหมู่บ้าน มีแม่น้ำลาวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และมีระบบจัดการป่าที่ดี ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม

ความสำคัญและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

เมืองเวียงกาหลงซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเมืองโบราณซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน คือแนวคูดินและกำแพงเมืองเก่า ซึ่งผุพังเหลือเพียงแนวที่สามารถเห็นได้ 

จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ โดยโครงการวิจัยเมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิม ของที่ราบภาคกลางประเทศไทย : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์ พบว่าในบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้าพบว่าบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้ามีทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งเวียงกาหลงเป็นแหล่งที่สำคัญและมีหลักฐานทางโบราณคดีชัดเจนมากที่สุด จากหลักฐานทางโบราณคดีนี้เองทำชื่อเสียงของเวียงกาหลงได้ตื่นจากการหลับใหล และรอการค้นหาปริศนา ความรุ่งเรืองของกลุ่มชนที่สร้างเมืองโบราณแห่งนี้ หลักฐานชิ้นสำคัญคือ “เตาเผาเวียงกาหลง” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาประวัติศาสตร์อันยาวนาน

การค้นพบเมืองโบราณเวียงกาหลง เริ่มต้นจากการค้นพบเครื่องถ้วยเวียงกาหลงและเตาเวียงกาหลงซึ่งมีการขุดค้นพบครั้งแรกโดย พระยานครราม และได้มีการบันทึกเรื่องราวของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงและเมืองโบราณแห่งนี้ลงในนิตยสารของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 29 ตอนที่ 1 ประจำเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 โดยในคำบรรยายดังกล่าวพระยานครราม เชื่อว่าเครื่องถ้วยจากป่ากาหลงนี้ เก่าแก่ยิ่งกว่าเครื่องถ้วยที่ผลิตในสวรรคโลก (ชะเลียง) และสุโขทัย และความสนใจในเรื่องเมืองเวียงกาหลงนี้ก็มีมากขึ้น ภายหลังการศึกษาเชื่อว่าเมืองเวียงกาหลงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 5 (พ.ศ. 500-599) และในส่วนของบันทึกพงศาวดารเชื่อว่า เมืองเวียงกาหลงนั้น น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวดับเมืองเชียงลาว ทั้งสองเมืองนี้อยู่ในจังหวัดเชียงราย

จากหลักฐานจารึกที่อนุสาวรีย์ พ่อเมืองเวียงป่าเป้า พบว่าเวียงกาหลงสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 5 โดยอ้างถึงพงศาวดารชาติเล่มที่ 3 ของพระบริพารเทพธานี จากการศึกษาของผู้เขียน พงศาวดารดังกล่าวระบุว่าเมืองเวียงกาหลงอยู่ในยุคเดียวกับเมืองเชียงลาว แต่ไม่ได้ระบุถึงผู้ก่อตั้งเมืองโบราณนี้ ความขัดแย้งของหลักฐานเริ่มมีมากขึ้น เมื่อมีการศึกษาถึงประวัติเมืองเชียงลาว เมืองเชียงลาวนี้ปกครองโดยกษัตริย์ในราชวงศ์ลาวจักราชการเริ่มต้นของราชวงศ์ลาวจักราชนี้ในตำนานเมืองเชียงใหม่ระบุว่า ราว พ.ศ. 1182 หรือในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12

ความขัดแย้งเริ่มมีมากขึ้นเมื่อนายเรจินาลค์ เลอเมย์ ได้คัดค้านของพระยานครราม ว่าเตาเวียงกาหลงน่าจะมีอายุไม่เกิน ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งหมายถึงว่าเมืองโบราณเวียงกาหลง มีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 21 และทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดเมืองเวียงกาหลง 2 ทฤษฎีแรกถูกคัดค้านมากขึ้น เมื่อมีการตรวจสอบทางโบราณคดีพบว่าเมืองเวียงกาหลงและเตาเผาเครื่องเคลือบมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-22 โดยการยืนยันของกรมศิลปากร แต่ข้อยุติเรื่องเมืองโบราณเวียงกาหลงยังไม่ยุติลง เพราะมีผู้ที่เชื่อว่าเวียงกาหลงสร้างขึ้นในยุคก่อนสร้างล้านนาประเทศ (พุทธศตวรรษที่ 5) หรือผู้ที่เชื่อว่าเวียงกาหลงเกิดในยุคเดียวกับเมืองเชียงลาว ยังมีข้อสันนิษฐานว่า เครื่องปั้นดินเผาของเวียงกาหลง อาจเกิดในยุคหลัง เพราะตามธรรมดาเมืองโบราณต้องใช้เวลาสั่งสมอารยะธรรมอย่างน้อยเป็นชั่วอายุคน

จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเวียงกาหลงเกิดขึ้นในยุคใด อีกทั้งเวียงกาหลงไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเดินทัพของพม่าจึงไม่มีการบันทึกเรื่องราวไว้ในประวัติศาสตร์ข้ามพรมแดน แต่ที่น่าสนใจก็คือเวียงกาหลงได้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมตลอดจนการติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ในอดีต จนเห็นเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงมีลักษณะการเขียนลายที่เหมือนกับเครื่องถ้วยชิงไป๋ของจีน ส่วนของชาติไทยด้วยกัน เมืองเวียงกาหลงก็ติดต่อกับเมืองใกล้เคียง เช่น ชะเลียง สวรรคโลก แต่กลับไม่มีการจดบันทึกกับเมืองเหล่านี้ไว้อาจเป็นไปได้ว่าเมืองเวียงกาหลงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาต่อไป

การเสื่อมสลายของเมืองเวียงกาหลงจากหลักฐานที่มีการค้นพบเมืองเวียงกาหลง มีเตาเผากว่า 200 เมือง จึงเป็นเมืองที่ใหญ่โต ตลอดจนเวียงกาหลงอยู่ท่ามกลางเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านนา และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านขึ้นไปทางทิศเหนือ สภาพภูมิประเทศเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบกับตัวเมืองเวียงกาหลงได้สร้างปราการกั้นเป็นเนินดินสูง และมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำ เป็นที่ตั้งของชุมชนที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้และปลอดภัยจากการเดินทัพ สันนิษฐานว่าเมืองโบราณเวียงกาหลง เกิดน้ำท่วมใหญ่ บ้านเมืองจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนอพยพย้ายถิ่น หลักฐานที่ปรากฏได้แก่ แหล่งเตาเผาจำนวนมากที่จมอยู่ใต้ดิน

ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์กับเวียงกาหลง 

ประวัติศาสตร์เมืองเวียงกาหลง ยังมีปรากฏในตำนานทางศาสนา กล่าวว่า ในสมัยปฐมกัลป์ มีพญากาเผือก 2 ตัวผัวเมีย ทำรังอยู่ที่ใต้ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นธรรมชาติสถานที่รื่นรมย์ ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ปฏิสนธิเกิดในครรภ์พระมารดาแม่พญากาเผือก พร้อมกันทั้ง 5 พระองค์ เมื่อครบทศมาส แม่กาเผือกก็เกิดออกไข่ ณ ที่รังต้นมะเดื่อจำนวน 5 ฟอง (สถานที่นี้ ในการต่อมาคือ วัดพระเกิด) แม่กาเผือกดูแลฟักด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระยากาเผือก ได้ออกไปหากินถิ่นแดนไกล ได้ไปถึงสถานที่ที่หนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร แม่กาเผือกได้เพลินหากินอาหารชื่นชมกับธรรมชาติอันแสนรื่นรมย์จนมืดค่ำ พอดีฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง ลมพายุใหญ่พัดกระหน่ำทำให้มืดครึ้มทั่วไปหมด ทำให้พญากาเผือกหาหนทางออกไม่ถูกจึงหลงอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น (สถานที่นั้นในกาลต่อมาได้ชื่อว่าเวียงกาหลง) แม่กาเผือกได้พักอยู่ที่เวียงกาหลงคืนหนึ่ง พอรุ่งเช้า แม่การีบบินกลับที่พัก ณ รังต้นมะเดื่อริมฝั่งน้ำ แต่ปรากฏว่ากิ่งมะเดื่อที่ทำรังถูกพายุพัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ แม่กาเผือกตกใจรีบถลาไปหาลูก แต่อนิจจา หาเท่าไรก็หาไม่พบ แม่กาเผือกพยายามหาไข่ลูกของตนเองไปทุกสถานที่ ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักอย่างสุดซึ้ง จนไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้ในที่สุดก็สิ้นใจตายอย่างน่าสงสาร

ด้วยอานิสงส์ในความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อลูก ทั้งที่ลูกของแม่กาเผือกเป็นพระโพธิสัตว์ถึง 5 พระองค์เป็นกุศลหนุนส่งให้แม่กาเผือกตายไปเกิดอยู่บนแดนพรหมโลกชั้น สุทธาวาสมีวิมานทองคำสดใสริสุทธ์ งดงามตระการตา ได้พระนามว่า “ฆติกามหาพรหม” จักได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง 5 พระองค์ เมื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนไข่ทั้ง 5 ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไข่ฟองที่ 1 แม่ไก่ได้เก็บและนำไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 2 แม่นาคราชได้เก็บนำไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 3 แม่เต่าเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 4 แม่โคเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 5 แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา ครั้นในกาลเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ทั้ง 5 ก็ประสูติออกจากไข่ทั้ง 5 ปรากฏเป็นมนุษย์รูปร่างสวยสดงดงามทั้ง 5 พระองค์ ในเวลาเดียวกันตามลำดับของแม่เลี้ยงทั้ง 5 ที่นำไข่ไปดูแลรักษา พระโพธิสัตว์ทั้ง 5 ได้เจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยง ด้วยความกตัญญูจึงรู้ทำหน้าที่ทุกอย่างทดแทนบุญคุณแม่เลี้ยงเป็นอย่างดี จนถึงอายุครบ 12 ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่ง ก็มีสิทธิ์คิดที่จะออกบวชบำเพ็ญ เนกขัมมะบารมี เป็นฤาษีอยู่ในป่า จึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั้ง 5 พระองค์ ฝ่ายแม่เลี้ยงถึงแม้จะมีความรักและอาลัยลูกเพียงใดก็ไม่สามารถขัดขวางความประสงค์ตามเจตนาที่เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จึงอนุญาตให้ลูกออกบวชด้วยความอนุโมทนา

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ ของพระโพธิสัตว์ทั้ง 5 พระองค์ ที่มุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีพระโพธิญาณเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก แม่เลี้ยงทั้ง 5 เห็นปณิธานอย่างนั้นจึงฝากนามของแม่เลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ตำนานให้แก่โลกต่อไป ตามลำดับพระนามดังต่อไปนี้

  • องค์ที่ 1 มีพระนามว่า พระกกุสันโธ เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นไก่
  • องค์ที่ 2 มีพระนามว่า พระโกนาคมโน เพราะนามแม่เลี้ยงเป็นนาค
  • องค์ที่ 3 มีพระนามว่า พระกัสสโป เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า
  • องค์ที่ 4 มีพระนามว่าพระโคตรโม เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
  • องค์ที่ 5 มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นราชสีห์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทั้ง 5 เมื่ออกบวชเป็นฤๅษีก็ได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐานสำเร็จฌาน อภิญญาสมาบัติ จึงสามารถเหาะไปหาอาหารผลไม้ และบำเพ็ญเพียรที่ป่า ดอยสิงกุตตระ ณ ใต้ต้น อณิโครธ อันร่มรื่นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลมีธรรม ฤาษีทั้ง 5 ได้มาพบกัน ณ ที่นี้ โดยมิได้นัดหมายรู้จักกันมาก่อนจึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน จึงได้รู้ว่าแต่ละองค์มีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ฤๅษีทั้ง 5 จึงได้ตั้งสัจจะอธิฐานขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริงเป็นเหตุให้เท้า ฆติกามหาพรหมซึ่งเป็นแม่ทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงจำแลงเป็นแม่กาเผือกขาวสวยงามยิ่งนัก มาปรากฏอยู่หน้าฤๅษีทั้ง 5 ฝ่ายฤๅษีทั้ง 5 ก็รู้ด้วยญาณทัศนะทันทีว่า นี่แหละเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง จึงสอบถามวามเป็นมาของแม่กาเผือกตั้งแต่ต้นว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร แม่กาเผือกจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ลูกฟัง

เมื่อลูกฤๅษีได้ทราบเหตุเช่นนั้น แล้วรู้สึกสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งและสำนึกในบุญคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก จึงน้อมกราบนมัสการฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดชีวิต จึงกราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกไว้บูชา แม่กาเผือกได้ประทานผ้าฝ้ายเป็นด้ายฟั่นตีนกาสัญลักษณ์อนุสรณ์ ให้แก่ลูกฤๅษีทั้ง 5 ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระและต่อมาเป็นประเพณีจุดประทีป ตีนกาบูชาแม่กาเผือก ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ลอยกระทง เป็นตำนานสืบไว้ในโลกาตลอดกาลนาน เมื่อแม่กาเผือกประทานสัญลักษณ์ไว้ให้กับฤๅษีทั้ง 5 ก็ลากลับเทวสถาน

พระโพธิสัตว์ทั้ง 5 ต่างก็พากันตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรรักษาศีลธรรมภาวนามิได้ขาด ทุกวันพระก็จุดประทีปตีนกาบูชาพระแม่กาเผือกผู้เป็นแม่อยู่เสมอ เป็นเวลานานหลายปีชีวีฤๅษีทั้ง 5 ก็ดับขันธ์ได้ไปเกิดบนเทวโลก ชั้นดุสิตพิภพอันเป็นที่อยู่ขององค์พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในที่นั้น และในกาลต่อมาก็ได้เวียนบำเพ็ญบารมีทุกภพชาติที่เนิดเกิดในสังสารวัฏนี้ จนบารมีเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ทั้ง 30 ทัศแล้ว ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ไหนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ต้นกัปโลกาก็จะนำเอาบริขาร คือ บาตรไตรจีวร มาถวายลูกโพธิสัตว์ทั้ง 5 พระองค์ ในชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกทุกพระองค์ กาลเวลาอันยาวนานผ่านไปจนถึงปัจจุบันนี้ พระโพธิสัตว์ลูกแม่กาเผือกต้นปฐมกัปก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกไปแล้วถึง 4 พระองค์ ตามลำดับดังนี้คือ

  1. พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 4 หมื่นปี มีเขมวตีนครของพระเจ้าเขมะเป็นราชธานี
  2. พระโกนาคมโนสันโธ สัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 3 หมื่นปี มีโสภวตีนครของพระเจ้าโสภะเป็นราชธานี
  3. พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 2 หมื่นปี มีพาราณสีนครของพระเจ้ากิงกิเป็นราชธานี
  4. พระโคตโมสัมามสัมพุทธเจ้า มีอายุ 80 ปี มีกบิลพัสดุ์ของพระเจ้าวสุทโธทนะเป็นราชธานี

ส่วนพระโพธิสัตว์องค์ที่ 5 อันเป็นลูกองค์สุดท้ายของแม่กาเผือก คือพระศรีอริยเมตไตรย์ จักเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัททกัปป์นี้ จะมีอายุถึง 8 หมื่นปีในยุคพระศรีอริยเมตไตรย์นั้น สภาพสังคมมนุษย์จะอุดมสมบูรณ์พูนสุขมาก เพราะผู้คนมีศีลธรรมอยู่กันด้วยความเมตตาธรรม มีศีล 5 บริสุทธิ์ทุกคน จึงมีทรัพย์สมบัติมาก มีอายุยืนยาว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม ผ่องใสเบิกบานด้วยศีลธรรมกันหมดและเพราะบารมีของพระพุทธเจ้า

ศรีอริยเมตไตรย์ ที่สั่งสมบารมีเพื่อความสุขสันติของโลก ซึ่งมีพระเจ้าสังขจักพรรดิทรงปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรมในเมืองเกตุมวดีนคร แผ่ธรรมจักรพรรดิให้คนรักษาศีล 5 ทั้งโลก เมื่อพระศรีอริยเมตไตรย์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วผู้คนจึงได้ฟังพระธรรมจักร ได้ดื่มรสอมตะธรรมแห่งพระศรีอริยเมตไตรย์ ได้บรรลุธรรมถึงสวรรค์นิพพานโดยแท้ ผู้คนในยุคนั้นจึงโชคดีที่สุดเกิดมาเพื่อสันติสุข เข้าถึงศีลธรรมอันดีงามทั้งหมด

ประวัติความเป็นมาของตำบลเวียงกาหลง 

ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายแต่เดิมชื่อตำบลหัวฝาย ต่อมาชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นได้ร้องขอต่อทางราชการให้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบล เวียงกาหลง เนื่องจากที่ตั้งของตำบลมีพื้นที่ของเมืองโบราณเวียงกาหลงรวมอยู่ด้วย และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่อง การขอเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัด อำเภอ และตำบล หมู่บ้านหรือสถานที่ราชการอื่น ครั้งที่ 2/2533 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 สำหรับประวัติของเมืองโบราณเวียงกาหลง อันเป็นที่มาของชื่อตำบลนั้น ตามการสันนิษฐานของนักโบราณคดีและผู้รู้ได้กล่าวว่า เมืองโบราณเวียงกาหลง สร้างขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 1500 - 1600 อยู่ในอาณาจักรแว่นแคว้นยวนเชียง (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเชียงลาวหรือเชียงรายในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพุกาม ได้ยกทัพไปยังกัมพูชา เพื่อทวงถามขอพระบรมสารีริกธาตุ พระไตรปิฎก พระแก้วมรกต คืนจากเมืองกัมพูชา และได้หยุดพักทัพที่บริเวณเมืองโบราณเวียงกาหลงในปัจจุบัน คืนหนึ่งพระเจ้าอโนรธามังช่อ ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงลอยขึ้นจากยอดดอยซึ่งโหรทำนายว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี จึงทรงให้ทหารไปสำรวจพื้นที่ แล้วให้ก่อสร้างพระธาตุขึ้น (ปัจจุบันคือ พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย) ในการสร้างพระธาตุต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน ดังนั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อ จึงให้สร้างเมืองขึ้นในบริเวณที่หยุดพักทัพ และให้ดูขุดคูล้อมรอบตัวเมือง สร้างป้อมปราการ เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูและสัตว์ร้ายต่าง ๆ  พระองค์ได้ให้ไพร่พลขุดดินขึ้นมาปั้นแล้วเผาเป็นก้อนอิฐ เพื่อใช้ก่อเป็นพระธาตุแม่เจดีย์ ไพร่พลของพระเจ้าอโนรธามังช่อ นอกจากจะทำอิฐแล้ว ยังมีฝีมือในการปั้นถ้วย ชาม หม้อ แจกัน ฯลฯ ซึ่งพม่าในสมัยนั้นได้ติดต่อค้าขายกับจีน จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีเห็นว่าเครื่องปั้นเวียงกาหลงมีลักษณะการ เขียนลายที่เหมือนกับ เครื่องถ้วยชิงไป๋ของจีน

จากการขุดค้นบริเวณเมืองโบราณ พบเตาเผา เครื่องเคลือบ 200 กว่าเตา แสดงให้เห็นว่า ในอดีตเมืองนี้ต้องเป็นชุมชนใหญ่ และตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองต่างๆ ของอาณาจักรล้านนา มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านเชื่อว่าสภาพภูมิประเทศบริเวณนี้คงเป็นบริเวณที่อุดม สมบูรณ์ไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของคนในเมืองเวียงกาหลง ผู้คนอยู่ดีกินดีความสุขถ้วนหน้า อารยธรรมเจริญรุ่งเรือง ต่อมาอีกกี่ร้อยปีไม่ปรากฏเวียงกาหลงได้ถึงกาลล่มสลายลงจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดหรือสาเหตุอื่นใดไม่แน่ชัด ปัจจุบันเมืองโบราณเวียงกาหลงคงเหลือแต่ซาก คูเมือง เตาเผา ภาชนะเครื่องเคลือบที่ขุดค้นพบ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่ในตำบลเวียงกาหลงขณะนี้นั้นได้ อพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา

สภาพภูมิประเทศ โดยทั่วไปของตำบลเวียงกาหลงเป็นที่ราบลุ่มสลับที่ราบสูง มีภูเขาล้อม เทือกเขามีความสูงของประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีแม่น้ำลาวไหลผ่าน เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม พื้นที่ทั้งตำบล ประกอบด้วยพื้นที่ราบ 16,830 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 68 พื้นที่ดอน 5,445 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 และเป็นภูเขา 2,475 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10

  • ทิศเหนือ ตำบลเวียงกาหลงติดต่อกับตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากริมแม่น้ำลาวฝั่งขวา บริเวณพิกัด NB 595313 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวห้วยโป่งนก ห้วยน้อย ห้วยป่าเหมือด ไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่สันดอยม่วงงาม บริเวณพิกัด NB 595313 รวมระยะทางด้านทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร
  • ทิศใต้ ตำบลเวียงกาหลงติดต่อกับตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมีแนวเริ่มต้น จากดอยสันป่าแป บริเวณพิกัด NB 572234 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวขนานกับถนนสายวังเหนือ - แม่ขะจาน ผ่านถนนทางหลวงจังหวัดสายเชียงใหม่ – เชียงราย ที่กิโลเมตรที่ 14 ทางใต้ที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตามทุ่งนา ไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านป่าจั่น บริเวณพิกัด NB 515255 ตามแนวห้วยป่าครั่ง สิ้นสุดที่ฝั่งน้ำห้วยปูลอง บริเวณพิกัด NB 495260 รวมระยะทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร
  • ทิศตะวันออก ตำบลเวียงกาหลงติดต่อกับตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันดอยม่วงงาม บริเวณพิกัด NB 595313 ไปทางทิศใต้ ตามแนวสันดอยเวียงกาหลงผ่านบริเวณพิกัด NB 577273 ไปทางทิศใต้ สิ้นสุดที่ดอยป่ากีบ บริเวณพิกัด NB 572234 รวมระยะทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร
  • ทิศตะวันตก ตำบลเวียงกาหลงติดต่อกับตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากฝั่งน้ำห้วยปูลอง บริเวณพิกัด NB 495260 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพิกัด NB 510276 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงบ้านป่าจั่น ผ่านทุ่งนา บริเวณพิกัด NB 535276 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวห้วยบง ผ่านถนนทางหลวงจังหวัดเชียงใหม่ - เชียงราย ที่หลักกิโลเมตรที่ 8 ผ่านแม่น้ำลาว สิ้นสุดทีฝั่งขวาแม่น้ำ บริเวณพิกัด NB 542295 รวมระยะทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 8 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ ตำบลเวียงกาหลงมีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่หอบเอาความหนาวเย็นจากไซบีเรีย พัดผ่านประเทศจีนเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่หอบเอาความชุ่มชื่นจากมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้อากาศหนาวเย็นมากในช่วงเดือนมกราคม และฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ จึงทำให้อุณหภูมิแตกต่างกันมาก โดยมีอุณหภูมิสูงสุด 34 องศา ในเดือนเมษายน และต่ำสุด 8 - 10 องศา ในเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ในฤดูฝน ฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากสุดในเดือนกันยายน 82.3 มิลลิเมตร โดยมีฤดูต่างๆ แบ่งตามเวลา ดังนี้

  • ฤดูร้อน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 27.4 องศาเซลเซียล ปริมาณน้ำฝน 42.8 มิลลิเมตร
  • ฤดูฝน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 27.2 องศาเซลเซียล ปริมาณน้ำฝน 267.7 มิลลิเมตร
  • ฤดูหนาว ช่วง ระยะเวลาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 22.4 ปริมาณน้ำฝน 20.97 มิลลิเมตรปริมาณน้ำฝน

จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 15 ปี (พ.ศ.2524 - 2538) มีฝนตกเฉลี่ยประมาณปีละ 1,638 มิลลิเมตร จำนวนวันฝนตก 131 วันต่อปี เดือนที่มีฝนตกมากที่สุด คือ ช่วงเดือน กรกฎาคม - กันยายน

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่หมู่ที่ 5 ป่าส้าน ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย  มีประชากรรวมทั้งสิ้น 387 คน เป็นเพศชาย 204 คน และเพศหญิง 183 คน

ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่บางส่วนอพยพมาจากบ้านถ้ำ บ้านขอ บ้านเอื้อม และบ้านแจ้ห่ม ในเขตจังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2420

ไทยวน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. ทัน ธิจิตตัง  เป็นสล่า (ช่าง) ที่เป็นลูกหลานชาวนาที่ถือกําเนิดในชุมชนเวียงกาหลง ได้เล็งเห็นคุณค่าและมีความรู้สึกสูญเสียทรัพย์สินอันมีค่าที่มีอยู่ในเวียงกาหลง เมื่อชาวบ้านไปช่วยกันขุดเศษซากเตาโบราณ และเครื่องเคลือบดินเผาไปขาย สล่าทันจึงได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมา และร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนเวียงกาหลง และเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ทําให้สล่าทันได้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิต การเผา วัตถุดิบที่สําคัญ คือ ดินที่อยู่ในพื้นที่เวียงกาหลง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความเบาของเนื้อดินและบาง หลังจากการเผา รวมถึงลาดลายที่วิจิตรงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของเวียงกาหลง จึงได้ทําการทดลองผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ สามารถผลิตเครื่องเคลือบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบดั้งเดิม

กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบเวียงกาหลง เเครื่องเคลือบดินเผาโบราณที่ขุดพบมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ทั้งลายเถา ลายสัตว์ ลายเทวดา ลักษณะพิเศษของเครื่องเคลือบมีความบางเบา เนื่องจากเนื้อดินที่ใช้เป็นสีดํา ที่ทน ความร้อนสูงกว่าดินชนิดอื่น ๆ สามารถเผาในความร้อนสูงโดยไม่เสียรูปทรง ความยากของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ความชํานาญและประสบการณ์ของช่างลวดลาย ทั้งเนื้อดินและขี้เถ้าไม้ที่นํามาทําเป็นน้ำเคลือบ

2. พระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง   เป็นผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนาวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง ซึ่งอดีตเดิมได้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นอยู่บนเนื้อที่เขตติดต่อของที่พักสงฆ์ป่าอุดมธรรม ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทางคณะศรัทธาได้มอบพื้นที่ดังกล่าวถวายแด่พระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง สภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวไร่ชาวนา และยังมีร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองเวียงกาหลงเก่า ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาโบราณ เศษกระเบื้องเคลือบ ซึ่งแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ที่พักสงฆ์ป่าอุดมธรรมจึงมีสภาพทางภูมิศาสตร์ เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมกับการที่จะบำเพ็ญปฏิบัติธรรม บนเนื้อที่ที่มีหุบเขาล้อมรอบ มีสายน้ำลำธารไหลผ่านอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ทั้งหมดบางส่วนอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนวังแม่ป้ายแปลงที่ 3 อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ดังนั้นพระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง จึงได้ริเริ่มดำเนินการสร้างสรรค์ปรับภูมิทัศน์ พัฒนาสถานที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ให้เป็นสถานที่พักอาศัย ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญธรรมจัดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน เรื่องราวอุทยานธรรมพระพุทธเจ้า 5 พระองค์และแปลงสาธิตการเรียนรู้ในเรื่องภาคการเกษตรอินทรีย์ทั้งยังจัดกิจกรรมการเรียนรู้พื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ดังนั้นใน ปี พ.ศ. 2542 จึงได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริม พระพุทธศาสนา การบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ สามเณร เพื่อมาอยู่จำพรรษา ณ สถานที่ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญธรรม ที่พักสงฆ์ป่าอุดมธรรมเป็นต้นมา และยังเป็นสถานที่ฝึกฝนอบรมศึกษา ปฏิบัติ พัฒนา พระภิกษุสงฆ์ สามเณร แม่ชีตลอดจนสถานที่ที่ใช้ในการอบรมพุทธศาสนิกชน ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2547 จึงได้จัดโครงการค่ายพัฒนาคุณธรรมและขยายพื้นที่บนเนื้อที่ 16 ไร่ เพื่อเป็นฐานจัดกิจกรรมโครงการเข้าค่ายอบรมเพิ่มขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง 83 หมู่ 15 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวัดในปัจจุบันและได้ติดต่อกับเขตพื้นที่เมืองโบราณสถานเวียงกาหลง ปัจจุบันเป็นศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง

การศึกษาทางโบราณคดีด้วยวิธีการโบราณคดีชุมชน 

งานศึกษาของสายัณห์ ไพรชาญจิตต์ (2559) เรื่องโบราณคดีของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงสะท้อนให้เห็นว่า แหล่งเตาเวียงกาหลง ซึ่งพบในบริเวณดังกล่าวมีคุณค่าทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยพบเตาเผาห้องเดี่ยวชนิดระบายลมร้อน ผ่านแนวนอนที่สร้างเชื่อมต่อกัน 2 เตา หรือเตาพ่วง (connected kiln) ซึ่งการศีกษาที่ผ่านมายังไม่เคยพบในแหล่งผลิตเครื่องถ้วยสมัยโบราณที่ไหนมาก่อน อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับพื้นที่โดยรอบ

แหล่งเตากาหลง หรือเตาเวียงกาหลง เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยสมัยโบราณแห่งแรกในล้านนาที่ได้รับการสํารวจและขุดค้นเพื่อผลทางวิชาการประวัติศาสตร์ เครื่องถ้วยไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 โดย พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ท่านสํารวจ และขุดค้นศึกษาหลักฐานเตาเผาในพื้นที่ใกล้เคียงเมืองโบราณเวียงกาหลงท้องที่บ้านทุ่งม่าน บ้านหัวหวาย เขตติดต่ออําเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายกับอําเภอแจ้ห่ม (ปัจจุบันคือ อําเภอวังเหนือ) จังหวัดลําปาง ท่านได้เขียนบทความผลการสํารวจและศึกษา วิเคราะห์นําเสนอต่อที่ประชุมสยามสมาคม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2478 และตีพิมพ์ ในวารสารสยามสมาคม (JSS) เมื่อ พ.ศ. 2480 ประเด็นสําคัญทางโบราณคดีที่ท่านเสนอไว้ในสมัยนั้น ได้แก่ แนวคิดที่ว่าแหล่งเตาเวียงกาหลงเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาด้านการผลิตเครื่องถ้วยชามของสยามตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 หรือตั้งแต่สมัยโยนกเชียงแสน จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังสุโขทัย 

การศึกษาทางโบราณคดีโดยการสํารวจและขุดค้นศึกษาหลายครั้งระหว่าง ปี พ.ศ. 2515 - 2551 พบว่านอกจากตามริมฝั่งแม่น้ำลาวในเขตบ้านทุ่งม่าน บ้านดงป่าร้าน ในท้องที่ตําบลเวียงกาหลง อําเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายแล้ว ยังมีหลักฐาน แหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามจํานวนมากกระจัดกระจายอยู่ตามริมลําห้วย ลําธาร ร่องน้ำขนาดเล็ก และลําน้ำสาขาของแม่น้ำวังในหุบเขาทางตะวันออกของเมืองโบราณ เวียงกาหลงในเขตตําบลวังเหนือ อําเภอวังเหนือ จังหวัดลําปาง ที่สําคัญได้แก่ บริเวณห้วย ป่าหยุม บ้านโป่งอ้อ น้ำแม่เฮียว ห้วยลึก ห้วยทราย น้ำแม่แล้ว สบแล้ว เรื่อยไปจนถึงบริเวณ ทุ่งหืด ทุ่งพร้าว ริมน้ำเหล่ายาว ห้วยหินฝน ใกล้บ้านทุ่งฮั้ว และที่บ้านไผ่เหนือ ตําบลแม่พริก อําเภอวังเหนือ จังหวัดลําปาง

แหล่งเตาทางด้านตะวันออกของเวียงกาหลงเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอําเภอ วังเหนือ จังหวัดลําปาง บางท่านจึงเรียกชื่อกลุ่มเตาในเขตบ้านไผ่เหนือ ตําบลแม่พริก ว่าแหล่งเตาวังเหนือ หรือ เตาวังเหนือ แยกออกไปเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง (กรมศิลปากร, 2523) นอกจากนี้ทางตะวันตกของเวียงกาหลงก็พบซากเตาเผาและร่องรอยกิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยจํานวนมากด้วย แต่ในปัจจุบันแหล่งเตาในบริเวณนี้ถูกทําลายไปมากแล้ว คือ ในเขตชุมชนบ้านทุ่งม่าน ตามริมฝั่งน้ําแม่ลาวขึ้นไปทางเหนือจนถึงบ้านสันมะเค็ด เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังพบว่า เตาเผาในแหล่งเตาเวียงกาหลง - วังเหนือที่สํารวจและขุดค้นพบใน พ.ศ. 2515, 2522, 2525 และ พ.ศ. 2551 เป็นเตาในกลุ่ม “เตาล้านนา : Lan Na Kiln” ชนิดเตา ห้องเดี่ยวระบายความร้อนผ่านแนวนอน (cross draft kiln) มีโครงสร้าง 2 ลักษณะ คือ (1) เตาดินก่อ (Tao Din Ko : clay - constructed kiln) คือ โครงสร้างเตาทุกส่วน รวมทั้งปล่องก่อพอกด้วยดินเหนียวเป็นผนังหนาเชื่อมกันตลอด และ (2) เตาดินก้อน (Tao Din Kon : earth block constructed kiln) สร้างโดยใช้วัสดุดินเหนียวที่ปั้น เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ ตากแห้งแล้วนํามาก่อเรียงกันเป็นโครงสร้างผนังและหลังคาเตาคล้ายก่ออิฐ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเตาดินก่อเป็นวิทยาการเตาเผารุ่นแรก ๆ ของแหล่งเตาเวียงกาหลง (พุทธศตวรรษที่ 21 - 23) ในขณะที่เตาดินก้อนเป็นวิทยาการเตาเผารุ่นหลัง (พุทธศตวรรษที่ 23 - 24)

เอกลักษณ์ที่โดดเด่น

  • เครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่นี่ได้มีการขุดพบเตาเผาเครื่องเคลือบกว่า 200 เตา และเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง เช่น เศษภาชนะดินเผา อิฐ เบี้ยดินเผา หินลับมีด เป็นต้น ซึ่งกระจายอยู่โดยทั่วไปในหมู่บ้าน 
  • เครื่องเคลือบเวียงกาหลง เป็นเครื่องเคลือบดินเผาที่มีสารเคลือบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ลวดลายหลายอย่างบ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หลายอย่างกล่าวถึงเรื่องราวในพระพุทธศาสนา แฝงด้วยคติธรรม ความสวยงามของลวดลายเหล่านี้ได้สูญหายไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนมีศิลปินหรือสล่า เมืองเชียงรายได้เข้ามาทำการศึกษาฟื้นฟู จนกลับมีชีวิตขึ้นมาและยังได้สอนลูกศิษย์ต่อ ๆ มาอีกหลายรุ่น เชื่อกันว่าตำแหน่งที่ตั้งเวียงกาหลง ห่างจากเส้นทางการทำศึกสงคราม ทำให้เวียงกาหลงเป็นเมืองที่สงบจนชาวบ้านมีเวลาในการสร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านี้ออกมา
  • เครื่องถ้วยเวียงกาหลง มีลักษณะเด่น คือ เป็นเครื่องถ้วยที่มีน้ำหนักเบา เนื้อบาง เนื่องจากเนื้อดินที่นำมาใช้ทำการปั้นภาชนะมีคุณสมบัติดี เนื้อดินมีสีขาว สีเหลืองนวลหรือสีเทา เนื้อละเอียด มีเม็ดทรายเล็ก ๆ ปะปนบ้างเล็กน้อย สามารถขึ้นรูปภาชนะได้บางกว่าเครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาอื่น ๆ ส่วนการเคลือบนั้นนิยมเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ น้ำเคลือบใส มีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อนและมีสีเหลืองอ่อน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงกาหลง วัดเวียงกาหลงเป็นศูนย์พัฒนาศีลธรรม หรือสำนักปฏิบัติธรรมที่มีผู้เข้าไปฝึกจิตใจศึกษาธรรมะอยู่ตลอดไม่ขาดสาย ตั้งอยู่ใน ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อีกหนึ่งความสำคัญของวัดเวียงกาหลงคือเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงกาหลง ที่ได้รวบรวมความรู้ประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเวียงกาหลงซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองมากในอดีต โดยเฉพาะเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วแว่นแคว้นต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล จากหลักฐานการค้นพบคูเมืองโบราณที่มีลักษณะไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเหมือนกับเมืองสำคัญต่าง ๆ ในภาคเหนือ คูเมืองและกำแพงเมือง 2 ชั้นที่เกิดจากดินที่ขุดคูเมืองขึ้นมา เป็นรูปปีกกาทอดยาวตั้งแต่ด้านทิศเหนือจรดทิศใต้ ผู้ไม่ชำนาญเส้นทางย่อมหลงทางได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อเวียงกาหลง ด้วยลักษณะคูเมืองรูปปีกกา อยู่ในอาณาจักรแว่นแคว้นยวนเชียง (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเชียงลาวหรือเชียงรายในปัจจุบัน) และชื่อเวียงกาหลง ก็พ้องกับพุทธประวัติส่วนหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตำนานที่เล่าขานถึงกำเนิดของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์อีกด้วย

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). เมืองวัฒนธรรมเวียงกาหลง. จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). เวียงกาหลง. จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). บ้านป่าส้าน. จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). เวียงกาหลง. จาก: https://thai.tourismthailand.org/

เทศบาลตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไป. จาก: http://wiangkalong.go.th/

ผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา. (2524). เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิม ของที่ราบภาคกลางประเทศไทย: การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิสิฐ ตีรณวัฒนากูล. (2531). การศึกษาเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผากลุ่มเวียงกาหลง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศักดิ์สิทธิ์ เทียนทอง. (ม.ป.ป.). เครื่องเคลือบดินเผา เวียงกาหลง อําเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย. จาก: http://123.242.164.131/dashboard5/